**จิตฺตวิสุทฺธิ

จิตฺตวิสุทธิ

โดย

อาจารย์แนบ มหานีรานนท์

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾

สวัสดีคะ  ท่านที่เคารพ

     วันนี้ เราจะได้พูดกันถึงเรื่อง จิตฺตวิสุทธิ เป็นวิสุทธิที่ ๒ นะคะ คือ จิตฺตวิสุทธิ ในที่นี้ก็บอกไว้เหมือนกันคะ ว่าขณะเจริญสติปัฏฐานอยู่นั้น   อารมณ์ของศีลอาจจะไม่มีการงดเว้น

     แต่ว่ากิจของศีลนั้นมีอยู่ คือว่าศีลนี้ ห้ามกิเลสอย่างหยาบ  ระหว่างที่เราเจริญสติปัฏฐานอยู่นั้น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว กิเลสอย่างหยาบมีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ต้องเกิดไม่ได้ เกิดไม่ได้แน่ในขณะที่มีจิต ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นกุศลอยู่อกุศลน่ะเกิดไม่ได้แน่

      เพราะฉะนั้นเมื่ออกุศลเกิดเกิดไม่ได้ ก็เป็นอันว่า  กิจของศีลที่ห้ามปรามกิเลสอย่างหยาบไม่ให้เกิดขึ้น  ก็มีอยู่ด้วยแล้วในที่นั้น คือ กิจของศีลก็เข้าร่วมไปด้วย เมื่อท่านเข้าใจในเรื่องของศีลวิสุทธิแล้ว ก็จะขอทำความเข้าใจในเรื่องจิตตวิสุทธิต่อไป 

     จิตตวิสุทธิ คืออะไร?

     จิตตวิสุทธิ ก็ได้แก่สมาธิ

     จิตตวิสุทธิก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับศีลวิสุทธิ คือว่าทำสมาธิด้วยอะไร? ปรารภอะไร?  อันนี้อย่างหนึ่ง

      แต่ขอให้เข้าใจเถิดว่า จิตตวิสุทธิ หรือ สมาธิที่เป็นวิสุทธิในที่นี้นะ จะต้องร่วมกันไปกับสติปัฏฐาน  คืออารมณ์ของสติปัฏฐาน หรืออารมณ์ของวิปัสสนา  และร่วมไปในวิปัสสนาจิตนั้นเอง นี่ขอให้เข้าใจอย่างนี้นะคะ

       เพราะว่า สมาธิที่จะเป็นอธิจิตนั่นนะ ได้แก่อะไร?  ได้แก่สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คือ เป็นองค์สมาธิ และองค์ของสมาธิในที่นั้น อย่าลืมว่า  ตัวสัมมาสติเป็นองค์ของสมาธิ และสัมมาสติ นี้นะ เป็นอย่างไร? มีการระลึกอย่างไร? ในที่ใหน? จึงเรียกว่า สัมมาสติ ในมรรคนะคะ หรือสัมมาสมาธิในมรรคนั้นหมายถึงว่า ต้องมีสติปัฏฐาน ๔ เป็นอารมณ์ ขอให้ทำความเข้าใจไว้อย่างนี้ เพราะท่านบอกไว้แล้วว่า สัมมาสติที่อยู่ในกองสมาธินั้นนะ ต้องระลึกอยู่ในสติปัฏฐาน ๔

        เพราะฉะนั้น สมาธิใดที่ไม่ได้ระลึกอยู่ใน      สติปัฏฐาน ๔ แล้ว จะเรียกว่าสัมมาสมาธิ ไม่ได้  โปรดเข้าใจ ให้แน่นอนไว้ทีเดียวนะคะ

        จิตวิสุทธิ คือ สมาธิ นี้ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับศีลเหมือนกัน คือ ตั้งใจทำสมาธิเพื่ออะไร?   เพื่อพ้นทุกข์ หรือเพื่ออยากได้ความสุข เพราะว่าสมาธินั้นก็ทำให้สบายใจ หรือว่าอยากจะได้ไปเกิดเป็นพรหม อยากได้อานิสงส์ อย่างนี้ก็ไม่บริสุทธินะคะ 

        โดยมากไม่ค่อยมีละค่ะ เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้วก็, ไม่ค่อยมีละค่ะ พวกที่ผ่านมาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าแล้วน่ะ จะทำสมาธิหรือทำฌานเพื่อไปเป็นอย่างนั้นน่ะไม่มี หรือแม้การทำฌาน ท่านก็ไม่รู้สึกว่ามีความจำเป็นเท่าไร เพราะความจำเป็นของท่าน คือ ความพ้นทุกข์ด้วยการเจริญวิปัสสนา ที่เป็นตัวทำลายกิเลส ซึ่งเป็นต้นเหตุของสังสารวัฏฏให้ดับสิ้นไป นั่นแหละเป็นจุดหมายของท่าน

        โดยมากสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่, ผู้ที่ได้ฌานก็มีมาก,  ไม่ใช่มีเล็กน้อย แต่ว่าโดยมากท่านพวกนั้นเคยทำฌานมาก่อนแล้ว เพราะสมัยนั้นอาจารย์ที่ทำณานสมาบัติ ที่สอนฌานมีอยู่มาก ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้

         ฉะนั้น ท่านเหล่านั้นก็ได้เคยศึกษาเล่าเรียนมาจากอาจารย์ต่างๆ ที่ได้ฌานมาแล้วโดยมาก แล้วกลับมาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ก็อาศัยฌานที่เคยได้มาเป็นบาทเจริญวิปัสสนาอีกทีหนึ่ง 

         ทีนี้สำหรับพวกที่ไม่ได้ฌานก็มีมากเหมือนกัน  การทำวิปัสสนาล้วนๆ ก็ไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธินี่ได้ฌาน ก็มีไม่ได้ฌาน ก็มีสัมมาสมาธินี้ มีทั้งสองอย่าง

         แต่ว่าจะได้ฌานก็ตาม, ไม่ได้ฌานก็ตาม  ต้องร่วมกันไปกับวิปัสสนา  ต้องเป็นไปตามมหาสติปัฏฐานเท่านั้น ทั้งจะได้ฌานหรือไม่ได้ฌาน แต่ว่าสมาธินั้น จะเป็นอธิจิตขึ้น จะเป็นของประเสริฐขึ้น  เป็นบาทของวิปัสสนา จะต้องมายกขึ้นสู่สติปัฏฐานอีกที ถ้าอย่างนี้ละก็ สมาธินั้นก็เป็นอธิจิต ได้  สมาธินี้ จึงมี ๒ อย่าง คือ ได้ฌานก็ได้ ไม่ได้ฌานก็ได้คะ

         สมาธิที่ว่านี้เป็นสัมมาสมาธิได้ทั้ง 3  อย่างคะ คือ อัปปนาสมาธิก็ได้ อุปจารสมาธิก็ได้ เป็นขณิกสมาธิก็ได้ ได้ทั้ง ๓ เลย สัมมาสมาธินี่ แต่ว่าทั้ง ๓ อย่างนี่นะต้องมีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ ทั้ง ๓ อย่าง ที่ให้เข้าใจอย่างนี้ไว้ แล้วต่อไปก็สะดวกค่ะ

        สมาธิ ที่ต้องการความสุข สมาธินั้นก็ไม่บริสุทธิ์  แต่ถ้าเราทำสมาธิเพื่อต้องการอานิสงส์ที่จะให้เป็นปัจจัยแก่การพ้นทุกข์ สมาธินั้นจึงจะเรียกว่า วิสุทธิ หรือจะเรียกว่า จิตตวิสุทธิก็ได้ อันเดียวกัน เพราะจิตตวิสุทธิ ก็หมายถึงสมาธินั่นเอง แต่โดยมากเราทำสมาธิกัน เพื่อต้องการมีความสุข เพราะฉะนั้น คนที่ทำสมาธิแล้ว ยังไม่ถึงวิปัสสนา เมื่อได้ความสุขแล้ว ก็ติดความสุข  พวกฌานนี่ทำให้ติด ฉะนั้น พวกฌานนี้จึงเป็น สังโยชน์ อันนี้จึงไม่เป็นจิตตวิสุทธิ

        เพราะฉะนั้น ศีลวิสุทธิก็ดี จิตตวิสุทธิก็ดีจึงเป็นบาทของวิปัสสนา ที่เป็นบาทของวิปัสสนาน่ะ จะต้องเป็นไปในอารมณ์ของวิปัสสนานั้นด้วย

         ถ้าจะพูดให้ตายตัวแล้ว ศีลหรือสมาธิที่เป็นไปในอารมณ์อย่างนี้ คือเป็นไปในอารมณ์ของวิปัสสนาหรืออารมณ์ของสติปัฏฐานแล้ว ศีลและสมาธิก็เป็นวิสุทธิได้ คือว่าทั้งศีล สมาธิและปัญญา มีทั้งที่วิสุทธิและไม่วิสุทธิ

         เพราะฉะนั้นหนทางที่จะบรรลุพระนิพพานนี้ต้องไปด้วยทางวิสุทธิ ทั้งศีล สมาธิและปัญญา ต้องวิสุทธิทั้งนั้น ปัญญาที่จะเป็นวิสุทธิ ก็จะต้องไปจากอารมณ์ของสติปัฏฐาน และปัญญาที่เห็นความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ของกาย เวทนา จิตหรือธรรม ปัญญานั้นจึงจะเป็นวิสุทธิ

        ถ้าปัญญาใดไม่เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  หรือไม่เห็นว่าขันธ์ ๕ หรือรูปนาม ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว   ปัญญานั้นก็ไม่เรียกว่าวิสุทธิ เพราะว่ากิเลสจับได้ปัญญานี่ ท่านก็ทราบกันแล้วว่าปัญญานั้นประหารกิเลสได้ และปัญญาที่จะประหารกิเลสได้ ปัญญานั้นจะต้องมีไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอารมณ์ของปัญญานั้น อารมณ์นั้นแหละ ปัญญาที่รู้อย่างนี้ จึงจะประหารกิเลสได้ ฉะนั้น วิปัสสนาเท่านั้นจึงจะประหารกิเลสได้ 

       วิปัสสนาคืออะไร?  ก็คือปัญญาที่รู้ว่านามรูปไม่เที่ยง,  เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั่นเองนะคะ

       ถ้าปัญญาไม่มีอารมณ์อย่างนั้นแล้วไม่เรียกว่าปัญญานั้น วิสุทธิเพราะปัญญาอย่างนั้นกิเลสสามารถจะเข้าอาศัยได้ แต้ถ้าเป็นปัญญาที่เข้าไปรู้ว่ารูปนามไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอันนั้นเป็นปัญญาที่ประหารกิเลสแล้ว กิเลสก็ไม่สามารถจะอาศัยอารมณ์นั้นได้

     กิเลสจะอาศัยความไม่เที่ยงได้อย่างไร? ความไม่เที่ยงนี้ไม่ใช่เป็นของที่น่าปรารถนา หรือที่น่ายินดีเลย

     เมื่อเรามีความไม่เที่ยงเป็นอารมณ์อยู่อย่างนี้แล้ว ความยินดี ยินร้ายจะเกิดขึ้นในจิตดวงนั้นที่กำลังมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั้นไม่ได้เลย, ไม่ใช่ว่ามีอารมณ์อันใดอันหนึ่งก็ประหารกิเลสได้

       เพราะฉะนั้น ปัญญาอันนี้จึงเป็นวิสุทธิถ้าสมาธิเป็นบาทของวิปัสสนา สมาธินั้นก็เป็นวิสุทธิเรียกว่าจิตตวิสุทธิได้ และจะเป็นบาทได้อย่างไรนั้น จะขอเรียนว่าสมาธิจะต้องเป็นไปร่วมกับอารมณ์ของปัญญาหรือวิปัสสนา หรือร่วมไปกับอารมณ์ของสติปัฏฐาน สมาธินั้นจึงเป็นจิตตวิสุทธิได้ อันนี้แน่นอนค่ะ

       หน้าที่ของสมาธิ และอานิสงส์ของสติปัฏฐานนั้นกิเลสเข้าอาศัยไม่ได้ และกิเลสที่อาศัยอยู่แล้ว, ที่ดองอยู่ในสันดาน ก็ยังถูกทำให้หมดไปเสียอีกกิเลสใหม่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทำลายความยินดี ยินร้ายที่มีอยู่ในใจให้หมดไปด้วยยังไม่ล่วงออกมาทางกายและวาจา

       การทำลายเช่นนี้ ศีลไม่สามารถจะทำลายได้เพราะว่ากายวาจายังไม่ได้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์หรือพูดปด ใช่ไหม?  หน้าที่ของศีลก็ยังไม่ต้องทำงานก็เป็นหน้าที่ของสมาธินะคะ

       ศีลน่ะ ไม่สามารถจะทำลายกิเลสในจิตใจได้ศีลนั้นก็ไม่ขาด เป็นแต่เพียงคิดว่าจะฆ่าสัตว์ แต่ว่ายังไม่ได้ฆ่า เมื่อโกรธขึ้นมา แหม! อยากจะฆ่าแต่ว่ายังไม่ได้ฆ่า ศีลก็ยังไม่ขาด ถ้าพูดถึงเจตนาที่รับศีลนั้น แต่ว่าศีลก็ไม่บริสุทธิ์ ไม่สะอาด ต้องด่างพร้อยไป เพราะองค์ที่บริสุทธิ์น่ะ ต้องไม่คิดจะฆ่าด้วย คิดจะฆ่า แต่ว่ายังไม่ได้ฆ่า ศีลก็ไม่ขาดต้องครบองค์แล้ว ศีลถึงจะขาด เพียงแต่คิดฆ่าเท่านั้น  ศีลยังไม่ขาด แต่ก็ไม่ดี ด่างพร้อยไม่บริสุทธิ์เพราะว่าศีลไม่สามารถจะทำลายได้ในกิเลสอย่างนี้เพราะคิดแต่เพียงว่า เราไม่ชอบ หรือชอบ เราโกรธหรือรักเกิดขึ้นในใจ  เพียงอย่างนี้ ศีลก็ไม่ขาด เว้นแต่ว่าถ้าล่วงออกมาทางกาย มีการฆ่าสัตว์ หรือลักทรัพย์ หรือทางวาจา มีมุสา เป็นต้น ถ้าครบองค์แล้วศีลจึงขาด

       ฉะนั้น องค์ศีลนี่ ท่านนักศึกษาก็ควรทราบนะคะ ประเดี๋ยวรู้อะไรต่ออะไรมามาก รู้ทุกอย่างอภิธรรมเอย สติปัฏฐาน นิโรธ นิพพาน อริยสัจ ๔ วิปัสสนา  แต่ว่าศีลมีองค์เท่าไร นี่กลับไม่รู้ อย่างนี้ก็ไม่เหมาะสมเหมือนกัน ไม่เหมาะสมกับที่ท่านนักศึกษา รู้แต่สูงๆ ส่วนต่ำๆ ไม่รู้ ก็ไม่ถูกนะคะ

       เพราะฉะนั้น ที่เราคิดอยู่ในใจว่า รักก็ดีโกรธก็ดี แต่ว่าไม่เป็นเหตุให้เกิดกายทุจริต วจีทุจริตขึ้นแล้วละก็ ศีลก็ไม่มีอำนาจที่จะประหารกิเลสอย่างนั้นได้ ท่านที่เคยทำสมาธิมาแล้วก็คงจะรับรองได้ว่า เมื่อจิตเข้าถึงสมาธิแล้ว ความยินดี ยินร้าย ในกามคุณอารมณ์ทั้ง ๕ เป็นต้น จะเกิดขึ้นไม่ได้เวลาที่เราสงบจิต เป็นสมาธิเฉยอยู่อย่างนี้นะ

      สมาธิจะทำลายอภิชฌาและโทมนัส ความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นในจิตใจ ยังไม่ล่วงออกมาถึงกาย  วาจา อันนี้แหละเป็นหน้าที่ของสมาธิ และท่านได้กล่าวว่าอานิสงส์ หรือประโยชน์ของสติปัฏฐานนั้น  ก็คือทำลายอภิชฌาและโทมนัสให้พินาศไป ใน  ขณะที่เราเจริญสติปัฏฐานอยู่นั่นเอง คือเราไม่ต้องไปคิดเอาว่าไม่ควรจะไปยินดียินร้าย ไม่ควรจะโกรธ ไม่ควรไปยึดไปถือ ไม่ต้องละ อันนั้นเป็น จินตามยญาณนะ ถ้าตั้งอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐานแล้วเป็นภาวนาญาณ

         ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานแล้ว ทำลายกิเลสหมดไป กิเลสอันนั้นก็ถูกภาวนาประหารไม่ใช่จินตามยปัญญาประหารนะคะ และในขณะที่เราพิจารณากาย เวทนา จิตหรือธรรมอยู่นั้น ขณะนั้นเองจิตก็ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอภิชฌาและโทมนัสก็พินาศไป

        เมื่อความยินดี ยินร้ายไม่มีแล้ว นิวรณ์  อันเป็นหัวหน้า ที่เป็นข้าศึกของสมาธิ สมาธินั้นก็ต้องประหารคือกิเลสนั้นเกิดขึ้นไม่ได้  กิเลสอย่างกลางเกิดขึ้นไม่ได้แล้วนะคะ เมื่อนิวรณ์เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว กิจของสมาธิก็มีอยู่ในขณะที่เจริญสติปัฏฐานนั่นเอง

         แต่ว่า สมาธินั้นประหารกิเลสเป็นตทังคะ ตทังคะ  นี่หมายถึงว่าละกิเลสเป็นไปได้ในอารมณ์ต่างๆ ขณะที่จิตรับอารมณ์นะคะ จะรับอารมณ์อะไรก็แล้วแต่ นิวรณ์ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ในอารมณ์นั้น หรืออารมณ์นั้นไม่เป็นปัจจัยแก่นิวรณ์ แล้วในขณะนั้นก็เป็นสมาธิด้วย นิวรณ์เกิดไม่ได้ในขณะนั้น ก็ถือว่าเป็นสมาธิด้วย แต่ว่าเป็นขณิกสมาธิจะย้ายไปรับอารมณ์รูป เสียง กลิ่น รส อะไรก็ได้ แต่ถ้าอัปปนาสมาธิ แล้วย้ายไปไม่ได้ ต้องอยู่ในอารมณ์อันเดียว ถึงจะเป็นอัปปนาสมาธิได้ ต่างกันอย่างนี้ แต่ว่าเป็นสมาธิได้ ต่างกันอย่างนี้แต่ว่าเป็นสมาธิเหมือนกัน

         ทำไมถึงเป็นสมาธิเหมือนกัน?  เพราะว่านิวรณ์เกิดไม่ได้เหมือนกัน แม้ขณิกสมาธิก็เกิดไม่ได้เหมือนกัน  ทีนี้เมื่อต่อกันทุกๆ อารมณ์ไป ก็เป็นสมาธิได้ทุกอารมณ์ในปัจจุบันอารมณ์นั้น

        เพราะนิวรณ์จะเกิดได้ ก็ต้องอาศัยอารมณ์ที่เป็นอดีตหรืออนาคตเข้ามา ถ้าขณะจิตใดตั้งอยู่ที่อารมณ์ปัจจุบันแล้ว นิวรณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยก็จะเป็นอันประหารกิเลสไปในตัวในขณะที่จิตรับอารมณ์ปัจจุบันนั้น

         เพราะฉะนั้น ในขณะที่เราเจริญสติปัฏฐานอยู่นี้ จะพิจารณากาย เวทนา จิตหรือพิจารณาธรรมก็ตามจะต้องใช้อารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน ถ้าเราใช้อารมณ์ที่เป็นปัจจุบันแล้ว นิวรณ์ก็เข้าไม่ได้ก็เป็นอันห้ามนิวรณ์อยู่ในตัว จึงถือว่าสมาธินั้นก็มีอยู่ในที่นั้นแล้ว

        การที่มีสมาธิในอารมณ์ของสติปัฏฐานนั้นน่ะต่างกันกับสมาธิในอารมณ์ของกรรมฐานอื่นๆ ที่นี้ต่างกันอย่างไร? 

         องค์ของสัมมาสมาธินั้น ทุกท่านก็ทราบอยู่แล้วว่า ได้แก่วิริยะ สติ สมาธิ  ๓ องค์ วิริยะ สติ สมาธินี่เองเป็นองค์ของสมาธิ อยู่ในกลุ่มขององค์มรรค ๘ จึงเรียกว่า สัมมาสมาธิ

        ฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานก็ต้องมีความเพียรเรียกว่าอาตาปี ต้องมีปัญญาเรียกว่าสัมปชาโน แล้วก็ต้องมีสติ เรียกว่าสติมา ทั้งวิริยะและสตินั้น เป็นองค์ของสมาธิอยู่แล้ว  องค์คุณของสติปัฏฐานนั้นน่ะ เป็นองค์ของสมาธิด้วย เมื่อเราเจริญสติปัฏฐานไป สมาธิก็จะต้องเกิดตามองค์นั้นๆ ก็ชื่อว่าเจริญสมาธิไปด้วย กิจของสมาธิก็เข้าร่วมไปกับอารมณ์ของวิปัสสนาแต่ว่า เป็นขณิกสมาธิ

       คำว่า ขณิกะ โปรดเข้าใจด้วยว่าหมายถึง เป็นไปในขณะจิตที่รับอารมณ์หนึ่งๆ คือตามธรรมดาของสมาธิที่จะให้เข้าถึงอัปปนาสมาธินั้นน่ะอารมณ์นั้นต้องเป็นอารมณ์เดียวกันจะเปลี่ยนหรือย้ายอารมณ์ไม่ได้ ถ้าเราเปลี่ยนอารมณ์บ่อยๆ หรือย้ายอารมณ์บ่อยๆ  ก็ไม่เข้าถึงอัปปนาสมาธิได้ หรืออารมณ์นั้นไม่เป็นที่ตั้ง ที่จะให้จิตนั้นจับอยู่ได้มั่นคงอารมณ์ก็เป็นกรรมฐานของวิปัสสนาไม่ได้เหมือนกันเช่นอย่าง เสียง กลิ่น รสนี่ จะเอาเป็นกรรมฐานของฌานเป็นไม่ได้ อย่างเสียงนี่น่ะ เป็นข้าศึกกับฌาน จึงเป็นกรรมฐานของฌานไม่ได้

        เพราะฉะนั้น ฌานจะมากำหนดอายตนะทางหูนี่ไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะว่าเสียงนั้นไม่ได้ยั่งยืน  เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปๆ สมาธินั้นก็ไม่สามารถจะเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้ ย้ายบ่อยๆ ไม่ได้ก็ตอนที่ย้ายอารมณ์บ่อยๆ นั้น ก็เป็นด้วยอำนาจของอุทธัจจนิวรณ์ เมื่ออุทธัจจนิวรณ์มีอยู่อัปปนาสมาธิก็เป็นไปไม่ได้

        ฉะนั้น อารมณ์ที่จะมาเป็นกรรมฐานของสมาธิให้เข้าถึงอัปปนาสมาธินั้น อารมณ์นั้นต้องยืนคงที่ มีกสิณ เป็นต้น ต้องเอาดินมาทำให้เป็นดวงแล้วก็ต้องอยู่เฉพาะหน้า อาศัยตาเพ่ง ดวงนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิปริตไปเป็นอย่างอื่น ความแน่วแน่ของอารมณ์นั้นก็เป็นปัจจัยให้สมาธิจิตจับมั่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้ จึงจะเข้าถึงอัปปนาได้

        แต่ส่วนอารมณ์ของวิปัสสนานั้น กรรมฐานนั้นไม่ใช่ต้องเป็นอย่างนั้น ได้ทุกอารมณ์เลยอารมณ์อันใดก็แล้วแต่ ที่มีการเกิดขึ้นแล้วดับไปอารมณ์นั้น  ควรเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เพราะว่า ถ้าอารมณ์ใดไม่มีการเกิดขึ้นและดับไป เอาไปทำวิปัสสนา วิปัสสนาก็ไม่เกิด วิปัสสนาก็เห็นไม่ได้ว่าอารมณ์นั้นเกิดขึ้นแล้วดับไป หรือเห็นว่าอารมณ์นั้นไม่เที่ยงน่ะ เห็นไม่ได้ เพราะว่าอารมณ์ยังอยู่ อารมณ์ยังไม่ได้แสดง จะเอาอารมณ์อย่างนั้นมาทำวิปัสสนาไม่ได้ วิปัสสนาต้องเอาอารมณ์ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ตามสภาวธรรมที่เขาเป็นอยู่ ทีนี้เมื่อเราเข้าไปตามเพ่งตามพิจารณาอารมณ์นั้น แล้วจึงจะเห็นว่าอารมณ์นั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไปได้ หรือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาจึงต้องใช้อารมณ์อย่างนี้ ก็ต่างกันนะคะ กับอารมณ์ที่เป็นกรรมฐานของอัปปนาสมาธิ

       ฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานต้องมีความเพียร ที่เรียกว่าอาตาปี มีสัมปชัญญะที่เรียกว่าสัมปชาโน แล้วก็มีสติ คือสติมา นี่ก็เป็นองค์ของสมาธิอยู่แล้ว

       ฉะนั้น ในขณะที่เจริญสติปัฏฐานนั้นน่ะ มีความเพียรและมีสติ ซึ่งเป็นองค์ของสมาธิแล้วเจริญสติปัฏฐานไป สมาธิก็ต้องเกิดไปตามองค์ของสมาธินั้นๆ  ก็ชื่อว่าเจริญสมาธิ ไปด้วยสมาธินั้นก็เข้าร่วมไปกับอารมณ์ของวิปัสสนา โปรดเข้าใจด้วยว่าความต่างกันของตทังคะกับวิกขัมภนะ หรือขณิกสมาธิกับอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ ที่จะเป็นบาทให้เข้าถึงวิปัสสนา โดยมากอุปจารสมาธิเกิดในอารมณ์กรรมฐานของกสิณ เป็นต้น เพราะก่อนที่จะเข้าถึงอัปปนานี่ต้องได้อุปจารเสียก่อนจึงจะเข้าถึงได้ ทุกๆ อย่างนะคะ ถ้าหากว่าเจริญสติปัฏฐานแล้วละก็ สมาธินั้นก็จะต้องเป็นขณิกสมาธิ จะกำหนดโดยอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดก็แล้วแต่ แต่ก็ต้องให้เป็นปัจจุบันทั่วไปทุกๆ อารมณ์ จะย้ายไปในอารมณ์ไหนก็ได้ แต่ว่าต้องกำหนดให้ได้ปัจจุบันแล้วก็เป็นสมาธิในอารมณ์นั้น สมาธิก็จะเกิดในอารมณ์นั้น เราจะย้ายไปทางจมูกก็ได้ ทางตาก็ได้ ทางหู หรือทางลิ้น ทางใจได้ทั้งหมด หรืออิริยาบถก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ ก็มีสมาธิทุกอิริยาบถ

      ถ้าทำอัปปนา หรือเข้าถึงอัปปนาแล้วทำไม่ได้นะ ต้องใช้อิริยาบถนั่งอย่างเดียว ทีแรกผู้ที่จะทำนะ ต่อเมื่อได้แล้วละก็ อาจจะเป็นฌานได้ทุกอิริยาบถก็ได้นะคะ แต่ว่าถ้าแรกๆ ทำแล้วทำไม่ได้ จะต้องใช้อิริยาบถนั่งอันเดียว เดิน ยืน นอน ทำไปทุกอิริยาบถน่ะ ไม่ได้ แต่ถ้าวิปัสสนาทำได้ทุกอิริยาบถ เป็นสมาธิได้ทุกอิริยาบถแต่ว่าต้องเป็นขณิกสมาธินะคะ ในขณะที่เราย้ายอารมณ์ไปสมาธิก็ติดตามไปด้วย เหมือนอย่างกระจกใสแล้วส่องทีไร ก็ย่อมเห็นเงาปรากฏชัดเจนทุกครั้งไป

       โดยเหตุนี้เอง การที่จะย้ายจิตไปในอารมณ์ต่างๆ หรืออารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นแล้วดับไป จึงปรากฏชัดในสมาธิ สิ่งใดที่เกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นดับไปเพราะว่าจิตของเราผ่องใส จึงอุปมาว่า เหมือนกระจกเงา ก็แลเห็นชัดหมด เงาอะไรปรากฏมีรูปร่างลักษณะอย่างไรก็รู้ได้ชัด แต่ถ้าหากกระจกเงานั้นเป็นฝ้าขุ่นมัวมีอารมณ์  อะไรผ่านกระจกนั้นไป เราดูเงาในกระจกนั้นไม่ชัด

        เพราะฉะนั้น สมาธินี่ทำให้จิตใจผ่องใสเพราะว่ากันกิเลสที่จะเกิดขึ้นมาปิดบังในจิตนั้นกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเกิดขึ้นได้ ก็ทำให้จิตนั้นเศร้าหมอง วิปัสสนาก็ไม่ปรากฏชัดเจน

       เพราะฉะนั้น เราก็สามารถจะเห็นได้ในอารมณ์เดียวนะ ที่เป็นปัจจุบันนั่นเอง

       ฉะนั้น สมาธิและปัญญาจึงเข้าพร้อมกัน จึงได้มีไปด้วยกัน ทั้งศีลด้วย ก็มีอยู่ในที่นั้นด้วยนะคะ

       เพราะการเปลี่ยนอารมณ์นั้นเอง จึงทำให้จิตเข้าถึงความดับของอารมณ์ ที่จิตกำลังรับรู้อยู่นั้นได้ ถ้าหากว่าเราไม่เปลี่ยนอารมณ์แล้วจะไม่เป็นเหตุให้เข้าถึงความดับของจิต และของอารมณ์นั้นเลย คือว่าอารมณ์นั้นมันไม่เปลี่ยนไปมันก็ไม่เป็นปัจจัยให้เราเห็น ถ้าจะมีผู้ค้านว่า ถ้าเช่นนั้นผู้ที่เขาไม่ได้เอาอารมณ์ภายนอก คือเขาปฏิบัติโดยกำหนดเวทนาหรือกำหนดจิตอย่างนี้ จะไปสามารถเห็นอารมณ์ข้างนอกเปลี่ยนไปได้อย่างไร อันนี้ต้องไม่ลืมว่า ตัวเวทนาก็ดี ตัวจิตก็ดี มันมีเกิดขึ้นและดับไปอยู่แล้ว ใช่ไหมคะ ธรรมชาตินั้นมันเกิดดับอยู่แล้ว

      เพราะฉะนั้น ที่จะเอาจิตมาเป็นอารมณ์ก็เกิดวิปัสสนาได้ ที่เกิดวิปัสสนาได้น่ะ รู้อะไร? ก็รู้ความเกิดขึ้นและดับไปของจิตนั่นเอง เวทนาก็เหมือนกันเอาเวทนามาเป็นอารมณ์ก็ได้ ไม่ต้องเอาอารมณ์ภายนอก แล้วก็เกิดวิปัสสนาได้ เกิดวิปัสสนาคือเห็นเวทนานั้นไม่เที่ยงนั่นเอง เกิดขึ้นแล้วดับไป หรือเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

        เพราะว่า จิตเกิดขึ้นอารมณ์เดียว และความเกิดของจิตในอารมณ์นั้นก็รวดเร็วมากเพราะว่าเกิด-ดับ หมุนไปเร็วมาก เหมือนอย่างไฟฟ้านี่นะ มันเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดใหม่ขึ้นมาแทน แล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ใช่ไหม แต่ว่ามันรวดเร็วแล้วเราก็มองดูเหมือนว่า ไฟฟ้านี่น่ะ มันมีอยู่เรื่อยติดกันอยู่ตลอดกาลเลย เราก็ไม่เห็นสักทีว่า มันดับนอกจากว่า มันขาดตอนไป สันตติความสืบต่อมันขาดไป เราก็จะเห็นว่า มันดับไปได้ มันเกิดดับเร็วมาก

       ถ้ามันไม่หมดไป มันไม่สิ้นไป ไม่เปลืองไปน้ำมันที่ใส่ตะเกียงจุดแล้วมันก็ไม่หมด แต่เหตุเพราะมันหมดไป แล้วก็เกิดขึ้นใหม่โดยอาศัยปัจจัยน้ำมันและไส้ที่สืบเชื้อกันอยู่นั้นน่ะ ถึงเกิดได้ไฟก็ต้องหมดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น น้ำมันถึงหมดถ้าไฟไม่หมดไป เราก็ไม่ต้องใช้น้ำมันใหม่อีก นี่เพราะไฟมันหมดไป เราก็ต้องใช้น้ำมันใหม่อยู่เรื่อยแล้วก็หมดเร็วมาก อย่างท่านผู้ที่ทำสมาธินี่นะ จิตนั้นหมุนเร็วมาก หมุนอยู่ที่เดียว หมุนอยู่ในอารมณ์อันเดียวเร็วมาก! อะไรที่หมุนเร็วมาก เราจะไม่เห็นว่าสิ่งนั้นหมุนเลย ก็จะเห็นนิ่งอยู่อย่างนั้นแล้วก็จะไม่เห็นว่า จิตนั้นดับเหมือนกัน จะเห็นติดต่อสืบเนื่องกันอยู่เรื่อยไป

        เพราะฉะนั้น สมาธิอันนั้น จึงไม่เป็นบาทของวิปัสสนา และก็จะไม่เป็นเหตุให้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของจิตและอารมณ์ได้ เพราะว่าถ้าจิตอยู่ที่เดียวแล้ว อารมณ์ก็ต้องอยู่ที่เดียวด้วยเพราะว่าจิตมันเกิดขึ้นมาขณะใด มันก็รู้อยู่เรื่อยความรู้มันก็ติดต่อกันอยู่เรื่อย อยู่ในอารมณ์นั้นน่ะ เมื่อความรู้มีอยู่อารมณ์ที่จิตรับรู้มันก็ต้องมีอยู่เรื่อยก็ไม่เห็นทั้งจิตและทั้งอารมณ์ อารมณ์ดับก็ไม่เห็นจิตดับก็ไม่เห็น ไม่เห็นทั้งสองอย่าง

       โปรดเข้าใจด้วยว่า การที่จะเข้าไปพิจารณาทุกข์ในจิตหรือในอารมณ์นั้น การพิจารณานั้น หรือที่จะรู้ได้นั้น ไม่ใช่รู้ด้วยสมาธินะคะ สมาธินั้นเป็นเพียงเป็นบาทให้รู้เท่านั้นเอง แต่ว่าการรู้นั้นเป็นหน้าที่ของปัญญา แต่ว่าปัญญาก็ต้องอาศัยสมาธิด้วย  ถ้าไม่มีสมาธิทำให้จิตใจผ่องใสแล้ว จิตขุ่นมัวอยู่ก็ไม่ได้เหมือนกัน ปัญญาก็รับรู้ไม่ได้

        เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นความเกิดขึ้นและดับไปนั้นน่ะ ต้องรู้ด้วยปัญญานะคะ

       โดยเหตุนี้แหละ ผู้ที่เข้าไปทำสมาธิแล้วจะไม่เห็นว่า จิตนั้นเกิดดับเมื่อไม่เห็นว่าจิตนั้นเกิดดับ ก็จะมีความสำคัญว่า อ๋อ!  จิตนี้มันเที่ยง ส่วนที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นอาการของจิตต่างหาก ก็จะมีความเข้าใจอย่างนี้เกิดขึ้น

       การเข้าใจอย่างนี้น่ะ ถูกหรือไม่ถูก? ไม่ถูกกับความจริง เพราะความจริงนั้นจิตมันเกิดดับอยู่หากแต่ว่า มันเกิดดับเร็ว ตัวไม่เห็น ก็เลยเข้าใจว่ามันไม่เกิดไม่ดับ ความสำคัญอย่างนี้ก็เกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดไม่ดับแล้ว ก็ถือว่าจิตนั้นเป็น  นิพพาน บริสุทธิ์หมดจดอะไรอย่างนี้ แล้วก็จิตนี้ไม่มีการดับ ก็เพราะว่าการเกิดดับ นั้นไม่ได้เห็นด้วย สมาธิ ต้องเห็นด้วยปัญญา

      ฉะนั้น สมาธิจึงไม่สามารถจะทำลายวิปลาสให้หมดไปได้ และยังเกิดความเข้าใจว่าเที่ยงอีก ว่าสุขอีก ว่าเป็นสาระอีก เป็นตัวเป็นตนด้วย

    อารมณ์ของสติปัฏฐาน มีความสำคัญอย่างไร?  เพราะฉะนั้น เราใช้อารมณ์อะไร เราก็ควรจะรู้แต่ว่าทางที่ดีที่สุด สำหรับวิปัสสนาแล้วไม่ควรใช้อารมณ์อื่น นอกจากมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ต้องใช้มหาสติปัฏฐาน จึงจะไม่ผิดเลย ถ้าอยู่ในสติปัฏฐานเป็นไม่ผิดแน่ และพระพุทธองค์ก็ได้แสดงไว้ว่ามีทางเดียว เอกายโนมคฺโค เป็นหนทางเดียวที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพาน ท่านก็บอกไว้อย่างชัดเจน

      ฉะนั้น ถ้าจิตเราตั้งอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐานแล้ว ก็จะเป็นบาทให้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปหรือไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้เมื่อพิจารณากาย ก็เห็นกาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พิจารณาเวทนา ก็เห็นเวทนา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าพิจารณาจิต ก็เห็นจิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พิจารณาธรรม คืออะไรนิวรณ์ ขันธ์ ๕ อายตนะ โพชฌงค์ อริยสัจ ๔ นี่อยู่ในธรรมานุปัสสนา ก็เห็นธรรมพวกนี้ พิจารณานิวรณ์ ก็เห็นนิวรณ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พิจารณาขันธ์ ๕ ก็เห็นขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่แล้วแต่จะพิจารณาอะไรได้ทั้งหมดเลย จะเป็นกายหรือเวทนา จิต ธรรมอะไรก็ได้ เป็นทางของสติปัฏฐานที่สืบเนื่องกันไป

        เพราะฉะนั้น ในอารมณ์เดียว ก็เป็นได้ทั้งศีล  สมาธิ ปัญญาในอารมณ์เดียวนั้น เพราะว่า เมื่อปัญญาเกิดแล้ว จะพูดว่า สมาธิไม่มีได้ไหม?  พูดไม่ได้แล้ว ทีนี้เมื่อสมาธิและปัญญามีแล้ว จะพูดว่าศีลไม่มีได้ไหม? ไม่ได้! ต้องมีด้วย แปลว่าการงานของศีลสมาธิ ปัญญา ต้องมีไปด้วย

      เพราะฉะนั้น สำคัญอยู่ที่อารมณ์ ที่เป็นเครื่องมือ  อารมณ์นี้แหละสำคัญ ฉะนั้นก่อนที่จะทำวิปัสสนา จึงต้องเรียนรู้อารมณ์ของวิปัสสนาเสียก่อนว่าเวลานั้นจะใช้อะไรเป็นอารมณ์? กำหนดอย่างไร? ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องรู้ว่า ทางนั้นจะกำหนดอะไร?  กำหนดรูป หรือกำหนดนาม?    กำหนดที่ไหน? นี่ท่านนักศึกษาที่จะไปทำวิปัสสนานี้ ต้องเข้าใจอันนี้เสียก่อนแล้วถึงจะไปทำได้ถูก ไม่อย่างนั้นก็กำหนดไม่ถูกนะคะ ต้องรู้ว่าอารมณ์ อะไรที่น่าเอามาใช้เป็นเครื่องมือของการพิจารณา

       การที่เราจะศึกษาให้ถูกต้องนี้ เราก็จะต้องศึกษาจากอารมณ์ เพราะมันต่างกันด้วยอารมณ์จิตเรารับอารมณ์อย่างหนึ่ง ก็ต้องเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งใช้ไหมคะ? เรารับอารมณ์ที่ดีๆ ที่สวยงาม ความรู้สึกในจิตใจเราก็อย่างหนึ่ง เรารับอารมณ์ที่ดีๆที่สวยงามความรู้สึกในจิตใจเราก็อย่างหนึ่ง เรารับอารมณ์ที่ไม่สวย ไม่งาม สกปรกน่าเกลียด ความรู้สึกของจิตใจในขณะรับอารมณ์ก็อีกอย่างหนึ่งไม่เหมือนกันทำไมจึงให้จิตใจเราต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น  เพราะอารมณ์นั้นเอง เป็นปัจจัยให้จิตใจเราต้องเปลี่ยนแปลงไป ทางจิตนี้ก็เกิดด้วยมีอารมณ์เป็นปัจจัย

      ถ้าอารมณ์ใดเป็นที่ตั้งแห่งความไม่พอใจแล้ว จิตนั้นก็เกิดร่วมกับความไม่พอใจ เรียกว่าโทสมูลจิต ถ้าอารมณ์ใดเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจแล้ว จิตนั้นก็เกิดร่วมกับความไม่พอใจ จิตนั้นก็เรียกว่า โลภมูลจิต เพราะความชอบใจในอารมณ์นั้น ด้วยอำนาจของโลภที่ชอบใจ จิตนั้นจึงเกิดขึ้นด้วยอำนาจของโลภ ถ้าโลภไม่มีแล้ว เมื่อได้อารมณ์นั้นน่ะ โลภมูลจิตจะเกิดไหม?  ไม่เกิดใช่ไหม?  ผู้ที่ละโลภได้แล้ว ก็ไม่เกิด  หรือละโทสะได้แล้ว เมื่อประสบอารมณ์ใดที่ไม่ดี ก็ไม่เกิด เพราะอะไร ถึงไม่เกิด ทำไมจิตนั้นถึงไม่เกิด เพราะไม่มีโลภ และไม่มีโทสะแล้ว

     ฉะนั้น จิตที่เกิดด้วยโลภเป็นเหตุ หรือโทสะเป็นเหตุ ก็เกิดไม่ได้ อารมณ์นี้จึงเป็นสาธารณปัจจัยแก่จิตทีเดียว อารมณ์นี้นะ แต้จิตก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่ง

      การเปลี่ยนแปลงไปของจิตนั้น ไม่ใช่อยู่ที่จิตอย่างเดียว อยู่ที่อารมณ์เป็นปัจจัยด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง สมมุติว่า เรากินรสต่างๆ หรือเราได้รสต่างๆ นั้น รสต่างๆ ไม่ใช่เกิดจากการกิน กิริยาที่กินของเรานั้น ก็กินอย่างเดียวกัน อิ่มก็อย่างเดียวกัน แต่ทำไมเรารู้รสต่างๆ การที่ทำให้เรารู้รสต่างๆ นั้น ก็มาจากวัตถุที่ถูกกิน  คือมาจากรสของวัตถุที่ถูกกินนั่นเอง ทำให้เราได้รู้รสต่างๆ เพราะวัตถุนั้นมีรสต่างๆ กัน เราจึงจะได้รู้รสต่างๆ ไม่ใช่ว่าการรู้รสต่างๆ นี่เป็นเพราะการกินของเรา จึงรู้รสต่างๆ ได้  ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเรากินพริกก็ต้องเผ็ด กินเกลือก็ต้องเค็ม เพราะฉะนั้นที่เราได้รับรสต่างๆ หรือเราได้ประโยชน์ต่างๆ กันนั้นไม่ใช่อยู่ที่การกินของเรา แต่อยู่ที่อารมณ์ ผู้ที่ทำกรรมฐานสมถะก็ดี หรือวิปัสสนาก็ดี ข้อสำคัญก็อยู่ที่อารมณ์ทั้งนั้น

   เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะเจริญวิปัสสนาจะต้องศึกษาเรื่องอารมณ์ว่าเราจะใช้อารมณ์อันใดจึงจะเป็นปัจจัยแก่วิปัสสนา และอารมณ์อันใดที่จะเป็นปัจจัยแก่สมาธิ อันนี้สำคัญที่สุดที่เราจะต้องศึกษา ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติที่ไปเจริญวิปัสสนานะ รู้ทีเดียว และก็แก้ตัวเองก็ได้ ด้วยว่า เวลานี้สมาธิเรานี่ มีกำลังมากกว่าวิปัสสนาอินทรีย์นี้ไม่เสมอกันแล้ว

     ทีนี้เรารู้ได้ทีเดียวว่าการสที่เราได้สมาธิมากนี้น่ะ?  เพราะเหตุอะไร? มาจากอารมณ์อะไร?  เราใช้อารมณ์อะไร สมาธิจึงมีมาก เราก็จะต้องแก้ไขให้สมาธินั้นถอยกำลังลงไป ถอยกำลังของสมาธิลงไป ปัญญาจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากว่า อารมณ์ของสมาธิกำลังให้ผลอยู่อย่างชัดเจนแล้ว ปัญญาก็เกิดไม่ได้

     เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต้องอาศัยความสังเกตแล้วก็แก้ตัวเองก็ได้ ก็รู้ว่า อ้อ! อันนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ ถ้าจะให้ผลอย่างนี้หมดไป ก็จะต้องทำเหตุอย่างไร ต้องสังเกตุว่าอารมณ์ไหนทำแล้วได้สมาธิมาก  อารมณ์ไหนทำแล้วไม่ได้สมาธิมาก

     ทีนี้ผู้ทำวิปัสสนาโดยมากอารมณ์ใดได้สมาธิมากละก็ชอบใจเลย ทำอารมณ์นั้นเสมอเลยที่เดียว

     สมาธิที่จัดว่าเป็นจิตตวิสุทธิอย่างไร ท่านก็คงทราบแล้วนะคะ ว่าศีล สมาธิ ปัญญา จะให้ถูกต้องแน่นอนแล้ว ก็จะต้องเป็นไปในอารมณ์ของสติปัฏฐาน ถ้าสมาธิเกิดจากอารมณ์ของสติปัฏฐานแล้ว ก็ต้องเป็นจิตตวิสุทธิแน่นอน เพราะทำลายกิเลส, กิเลสจับไม่ได้

      อีกอย่างหนึ่ง สมาธิที่ไม่มีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์แล้ว ต้องมีความสุขใช่ไหมคะ

    ธรรมดาจิตที่ได้สมาธิแล้ว สมาธินั้นต้องทำให้จิตรู้สึกมีความสุข แต่ว่าสมาธิที่เป็นไปกับอารมณ์ของสติปัฏฐานนั้นน่ะ ไม่ทำให้จิตรู้สึกว่าเป็นความสุข

     เพราะว่ามีปัญญาเป็นหัวหน้า ปัญญานี้ไม่เคยบอกเลยว่า  ปัญญานี้ต้องรู้ว่าเป็นสุข หรือรู้ว่าเป็นตัวเป็นตน ความสำคัญว่าเที่ยง เป็นสุข หรือเป็นตัวตนนี้  ไม่ใช่อารมณ์ของปัญญา แต่เป็นอารมณ์ของวิปลาส  คือมิจฉาทิฏฐินะคะ

     เพราะฉะนั้น ปัญญาไม่มีเลยโปรดเข้าใจอย่างนี้ ถ้าสมาธิอันใดไม่ได้เกิดจากอารมณ์ของสติปัฏฐาน ไม่ได้เป็นบาทของปัญญาแล้ว สมาธิอันนั้นจะทำให้รู้สึกว่าเป็นสุขสบาย อย่างนี้

    เมื่อรู้สึกว่าเป็นสุข วิปลาสก็เกิดขึ้นในที่นั้นความจริงคือทุกข์ ที่เป็นตัวอริยสัจก็ปรากฏไม่ได้ เห็นไม่ได้ขณะนั้น จะต้องรู้สึกว่าเป็นความสุข ทำให้เราเกิดมีความสุข แล้วทำให้เกิดความพอใจในความสุข  หรือความสงบนั้น ความพอใจอันนั้นเป็นกิเลสเกิดขึ้น  เพราะอาศัยสมาธิ

    ถ้าสมาธิอันใดที่มีความรู้สึกสุขเกิดขึ้นในสมาธิจิตนั้นละก็ สมาธิอันนั้นไม่เป็นวิสุทธิแล้วใช่ไหม  เพราะวิปลาสทำให้รู้สึกว่า แหม! เป็นสุขสบายจริงอย่างนี้ละก็ นั่น! กิเลสคือตัววิปลาสเข้าไปอาศัยแล้ว ความพอใจจะเกิดขึ้นในสมาธินั้นอาศัยสมาธินั้น

    ความพอใจนี้เป็นกิเลส คือโลภะ หรือ  ตัณหาทำให้เพลิดเพลินทำให้พอใจ ทีนี้สมาธินั้นจะเป็นวิสุทธิได้ไหม? เป็นจิตตวิสุทธิได้ไหม?  ไม่ได้ สมาธินั้นไม่เรียกว่าจิตตวิสุทธิ เพราะว่า กิเลสเกิดเข้าไปอาศัยในอารมณ์ของสมาธิได้  เกิดความพอใจในที่นั้นได้นะคะ

     ความพอใจอันนั้นเป็นกิเลสเกิดขึ้น เพราะอาศัยสมาธิ ผู้ที่ทำสมาธิแล้วจะปฏิเสธว่าไม่พอใจ ในความสงบนั้น เป็นไปไม่ได้เลย เป็นกฎธรรมดาทีเดียว ที่เมื่อเข้าไปพบสมาธิแล้ว จะไม่ว่าละ  ว่าไม่เห็นว่าเป็นสุข หรือไม่พอใจ ไม่มีเลย และก็ไม่มีเหตุผลที่จะเป็นไปได้เลย ต้องพอใจ ต้องชอบใจ นี่เป็นธรรมดา ต้องเห็นว่าเป็นความสุข ต้องรู้สึกว่าเป็นสุขจริงๆ

      เพราะเหตุนี้กิเลสจึงเข้าอาศัยได้ ด้วยเหตุนี้แหละ สมาธิจึงไม่สามารถที่จะทำลายอารมณ์ที่เป็น วิปลาสได้ วิปลาสได้แก่อะไร ก็ได้แก่เห็นว่าสวยงาม  เที่ยง เป็นสุข เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน

     ฉะนั้น สมาธิที่เกิดขึ้น นอกจากอารมณ์ของสติปัฏฐานแล้ว สมาธิอันนั้นจะทำลายวิปลาสไม่ได้ แล้ววิปลาสก็เข้าอาศัยได้ด้วย เพราะอะไร?  เพราะสำคัญว่าเที่ยง สำคัญว่าเป็นสุข ความรู้สึกอย่างนี้จะต้องเกิดขึ้นในสมาธินั้น เพราะสำคัญว่า เป็นตัวตน ไม่เห็นว่าการเกิดดับ เห็นว่าในที่นั้นเป็นสาระ ธรรมชาติของจิตนั้นเกิดดับหมุนเร็ว ปัญญาอย่างเรานี้หยาบ ไม่สามรถที่จะเข้าไปเห็นธรรมที่ละเอียดสุขุมที่เกิดจากสมาธินั้นได้ 

      เมื่อไม่เห็นแล้ว ก็สำคัญว่าจิตนั้นเที่ยง เมื่อสำคัญว่าจิตเที่ยง จิตนี้เป็นตัวตน เป็นอัตตาหรือจิตนี้เป็นนิพพาน สำคัญเอาอย่างนี้ก็มี เช่น อย่างว่า “จิตนี้บริสุทธิ์ไม่มีกิเลสแล้วนั่นแหละ! เป็นนิพพานละ”

     ความสำคัญในวิปลาส อันมีนิจวิปลาส สุขวิปลาส อัตตวิปลาส เป็นต้น เกิดขึ้นจะปฏิเสธไม่ได้เลย มันต้องเกิดขึ้นเองโดยเหตุและผล ตามธรรมดาทีเดียว

    เมื่อจิตได้รับอารมณ์อย่างนั้น จะไม่รู้สึกหรือว่า  เป็นสุข ก็เป็นไปไม่ได้ ทีนี้ทำอย่างไร จึงจะสามารถทำลายวิปลาสในสมาธินั้นได้ เพื่อสมาธินั้นเข้าถึงความเป็นวิสุทธินั้น

     สำหรับผู้ที่ทำสมาธิจนได้ถึงฌานแล้ว บางคนก็ถึงกับร้องว่า โอ! มีความสุขจริงหนอ หรือรำพึงอยู่ในใจ เพราะคนที่เกิดมานี้น่ะ น้อยนักที่จะได้เข้าถึงความสุขของสมาธิ โดยมากเราก็อาศัยความสุขที่เกิดจากกามคุณ คือรูปดีๆ เสียงดีๆ กลิ่นดีๆ เมื่อเราได้อารมณ์ที่ดีๆ อย่างนี้แล้ว เราก็จะมีความสุข เราอาศัยกับกามคุณนี้แหละเป็นที่ตั้งเป็นที่เกิดแห่งความสุข

      เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายท่าน จึงไม่ยินดีในความสุขอย่างนี้เลย

    ที่ว่าอาศัยความสุขในกามคุณนั้นน่ะ ก็หมายถึงว่า  ได้รูปดีๆ เสียงดีๆ นะคะ อย่างนี้ละก็ โดยอาศัยกามคุณทั้ง ๕ หรืออารมณ์ทั้ง ๖ นั่นเอง และความสุขของเรา เป็นไปไม่ได้  ถ้าไม่ได้รูปดีๆ เสียงดีๆ กลิ่นดีๆ รสดีๆ เป็นต้น อย่างนี้ ได้ยิน เสียงไม่ดี กลิ่นไม่ดี รสไม่ดี เห็นรูปไม่ดี ถูกต้องไม่ดีนี่น่ะ เราจะมีความสุขไหม?

     เพราะว่า เราอาศัยความสุขจากกามคุณ แต่ว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายนี่ ท่านมีความสุขได้ เพราะท่านไม่ได้อาศัยความสุขที่เกิดจากกามคุณ ท่านอาศัยความสุข จากคุณธรรมจากตนของตนเองอย่างนี้ ท่านไม่ได้อาศัยภายนอก ความสุขนั้นเกิดจากตนของตนเอง ถ้าเราไม่ได้อย่างนั้น เราไม่มีความสุขทีเดียว หาความสุขไม่ได้ เราน่ะ หาความสุขไม่ได้ ก็พูดกันอยู่เสมอๆ ว่า “หาความสุขไม่ได้”  ก็พบกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจอยู่เสมอๆ นั่นเอง

    ส่วนความสุขของผู้ที่เข้าสมาธินั้น ละเอียดยิ่งกว่ากามคุณนี้มากมายนัก บางคนไม่เคยพบเลย ไม่เคยได้ลิ้มรส ของที่วิเศษ ความสุขที่ประณีตอย่างนั้นน่ะ ไม่เคยพบเลย  เพราะว่าไม่เคยได้ทำสมาธิ ไม่เคยจิตสงบและไม่เคยรู้สึกเลยใช่ไหมละคะ

     เพราะความสุขที่เคยได้รับนั้น เกิดจากรูปดีๆ  เสียงดีๆ กลิ่นดีๆ รสดีๆ ส่วนความสุขที่เกิดจาก  ความสงบนั้นไม่เคย ความสุขของสมาธินั้น สงบแล้วจากกามคุณ จากความยินดีในกามคุณ หรือความต้องการในกามคุณ หรือความต้องการในกามคุณนั้น ต้องสงบเสียก่อนสงบจากความปรารถนาดิ้นรนในกาม

     เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าถึงขั้นนี้แล้ว จะเห็นว่าความสุขในกามนั้นเป็นของเลว เพราะเข้าไปพบสิ่งที่ดีกว่านั้นแล้ว ท่านจึงยินดีอยู่ในความสงบ ท่านก็ไม่ออกมาเกลือกกลั้วกับกามคุณนี้ เพราะว่าไม่ต้องการแล้ว ท่านได้ความสุขที่ดีกว่านี้แล้ว ความสุขของท่านไม่ต้องการอาศัยด้วยกามและอาจจะกล่าวได้ว่าความสุขอันนี้มีตนเป็นที่พึ่งก็ได้  เพราะไม่ต้องอาศัยอารมณ์ภายนอก หรือไม่ต้องอาศัยความสุขจากผู้อื่น แต่ว่ากิเลสวิปลาสอย่างละเอียดนั้น ยังไม่สามารถจะกำจัดได้ถ้ากำจัดได้แล้ว พระองค์ก็ไม่จำเป็นจะต้องแสดงเหตุที่จะให้เกิดปัญญาอีกใช่ไหม? ถ้าสมาธินี้น่ะกำจัดกิเลสได้หมดจดแล้ว คือกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ก่อสังสารวัฏนั้น ถ้ากำจัดได้แล้วก็ไม่ต้องแสดงปัญญาอีก ศีล กับสมาธิก็พอแล้ว แต่นี่กำจัดไม่ได้

    ความวิปลาสนั้นจะต้องกำจัดได้ด้วยปัญญาเท่านั้น นี่พูดถึงศีล กำจัดกิเลสอย่างหยาบ, สมาธิ  กำจัดกิเลสอย่างกลาง ปัญญา กำจัดกิเลสอย่างละเอียด ท่านแสดงไว้ ๓ ชั้นอย่างนี้ ถ้าหากว่าสมาธินี่สามารถจะทำได้แล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยวิปัสสนาปัญญาอีก

     ฉะนั้น พวกฤาษีชีพราหมณ์ เมื่อครั้งก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ท่านเหล่านี้ก็มีสมาธิ  แข็งแกร่งอยู่มาก แล้วก็มีถึงที่สุดยอดของสมาธิทีเดียว

      ถึงแม้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทำให้มากเกินไป ในสมาธินั้นก็เพียงแค่อรูปฌานนะคะ จนกระทั่งสามารถเป็นบาทของอภิญญาได้ ก็ไม่สามารถทำให้ท่านเหล่านั้นเกิดปัญญาได้ คือเกิดปัญญาที่จะทำลายกิเลสอย่างละเอียดนะคะ คือปัญญา วิปัสสนาน่ะ

      ถึงแม้สมาธิที่พระพุทธเจ้าจะทำตามลำดับของฌาน ก็ไม่ได้ยิ่งไปกว่าของเขา ไม่เกินของเขา ของเขาก็มีเป็นที่สุดแล้ว

     ฉะนั้น สมาธิในโลกไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านั้น ใครจะทำให้วิเศษอย่างไรก็ไม่เกินนั้น แม้ในที่สุดถึงแม้ว่าได้ธรรมที่ประณีตถึงแค่นั้นแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ทำให้ท่านเหล่านั้นเกิดปัญญาได้

     สมาธิของท่านนั้น จะทำให้ถึงที่สุดยอดไม่ได้เพราะฉะนั้น สมาธิอันนั้นไม่เรียกว่าอธิจิตนะคะหรือยังไม่เรียกว่าวิสุทธิ เพราะยังทำลายกิเลสไม่ได้  กิเลสยังอาศัยได้ แล้วก็พระพุทธองค์ยังได้กล่าวถึงดาบสทั้งสองนั้นว่า “ฉิบหายเสียแล้วจากมรรคผล”

     ถ้าหากว่าสมาธิอันนั้นเป็นประโยชน์แก่ปัญญาสมาธินั้น เมื่อทำให้มากแล้วปัญญาก็จะต้องเกิดขึ้นเอง เขาก็ต้องเกิดปัญญาแล้ว ถ้าเราเข้าใจว่าทำสมาธิให้มากๆ เถอะเมื่อทำไปๆ  แล้ว เมื่อสมาธิมีกำลังแก่กล้าแล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้นเอง ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้ละก็ ไม่ถูกนะ ไม่ถูกเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเช่นนั้นละก็เขาก็ต้องเกิดปัญญากันแล้ว เพราะสมาธินั้นจะทำให้มากอย่างไร ก็ไม่เกินเท่าที่เขาทำกันมาที่เขาได้กันอยู่แล้ว

     ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจะไม่กล่าว ถ้าสมาธินั้นเป็นเหตุให้เกิดปัญญาแล้ว พระองค์ก็จะไม่กล่าวว่า เขาฉิบหายแล้วจากมรรค ผล นั้นเลยเพราะผลนั้นจะบรรลุได้  ก็บรรลุได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่บรรลุได้ด้วยสมาธิอย่างนั้น

    ฉะนั้นการเจริญวิปัสสนาของท่านผู้ที่ได้ฌานเมื่อทำฌานได้แล้ว จะทำอย่างไรเล่า จึงจะทำลายวิปลาสในสมาธินั้นออกได้ เพราะว่าในระหว่างที่อยู่ในฌานนั้นเห็นว่าเป็นสุข แล้วทำไมถึงจะเข้าใจว่าในที่นั้นเป็นทุกข์ได้ ก็ต้องเกิดวิปัสสนาเห็นทุกข์ในที่นั้น

     นี่จะทำอย่างไร? เพราะตามธรรมดาของผู้ที่ได้ฌานแล้วนั้น ย่อมเป็นสุข ย่อมเพลิดเพลินในสุข

    ก็อีกนัยหนึ่ง ซึ่งเป็นนัยของวิปัสสนาที่เกิดจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทาง แนะทางให้โดยมีพราหมณ์ถามว่า “เมื่อเข้าถึงรูปฌานหรืออรูปฌาน, แล้ว พระองค์จะแนะนำอะไรให้กับเขาอีกบ้าง มีพราหมณ์ไปทูลถามนะคะ พระองค์ก็ตอบว่า มีอยู่ทางเดียว คือต้องพิจารณาว่า ความสุขอันนั้น เช่น อย่างปฐมฌานมีองค์ฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นองค์ปฐมฌานซึ่งมีอยู่ ๕ องค์ และพิจารณาว่า สุขนั้นเกิดจากอะไรเป็นเหตุ ก็เกิดจากปีติเป็นเหตุ ปีตินั้นก็เกิดจากสมาธิ เมื่อมีสมาธิมากๆ ก็ทำให้ปีตินั้นเกิดขึ้น แต่ที่ทำให้เรารู้สึกเป็นสุขนั้นเพราะปีติ เป็นองค์สำคัญในที่นั้นที่ทำให้มีความอิ่ม มีความปลาบปลื้มใจในที่นั้น  นี่แหละเป็นตัวการสำคัญ ที่จะทำให้เราวิปลาสไป  ในที่นั้นว่ามีความสุข

   เมื่อมีปีติเป็นสำคัญแล้ว ก็ชี้ให้เห็นว่า ปีตินี้ไม่ใช่เป็นความสุขหรอก ทีนี้จะทำอย่างไรในเวลานั้น เวลานั้นก็จะต้องเอาปีติขึ้นเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาท่านจึงให้ยกเอาปีติที่เป็นองค์ฌานนั้นแหละยกขึ้นสู่วิปัสสนา

     เมื่อยกเอาปีติขึ้น สำหรับผู้ที่ได้ปฐมฌานนะคะ  ปีติ มีกำลังกล้าก็ยกเอาปีตินั้นขึ้นพิจารณาวิธียกปีติน่ะ ยกอย่างไร?

    ตามธรรมดาผู้ที่ได้ปฐมฌานหรือทุติยฌานมาแล้ว ก็ต้องมีกรรมฐาน ในกรรมฐาน ๒๕ มีกสิณเป็นต้น เป็นอารมณ์อยู่ ทีนี้เวลาที่จะยกขึ้นสู่วิปัสสนานี่ ไม่ได้เอากสิณมาเป็นอารมณ์ ต้องยกขึ้นสู่อารมณ์ที่เป็นนาม  และเป็นรูป

     ทีนี้ท่านผู้นั้นท่านได้ฌานอยู่แล้ว ท่านก็ยกเอาองค์ฌานที่เป็นนามนั่นแหละขึ้นมามนสิการทำความเข้าใจว่า เอาปีติ เพราะเวลานั้นปีติเด่นชัดกว่าองค์ฌานอื่นๆ จึงยกเอาปีติขึ้นมนสิการว่า ปีตินี้แหละเป็นนาม และปีตินี้เกิดจากอะไร? อาศัยอะไรเกิดขึ้น ก็อาศัยหทัยวัตถุที่เป็นรูปนั้นแหละเกิดขึ้น เพราะว่า ปีติในองค์ฌานนี้ เป็นเฉพาะในมโนทวาร ไม่ได้เป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าจิตเหล่านี้เกิดขึ้นจะต้องอาศัยวัตถุทั้ง ๕ ส่วนจิตที่เป็นกับฌานนั้น หรือจิตที่เป็นฌานนั้น  เกิดขึ้นเฉพาะมโนทวาร จิตนั้นต้องอาศัยหทัยวัตถุอย่างเดียวเกิดขึ้น ท่านก็ยกขึ้นมนสิการเป็นนาม เป็นรูป แล้วก็เพ่งปีตินั้น เพ่งเฉพาะปีตินั้น ไม่เพ่งละ กสิณ เลิก!  ยกเอาปีติขึ้นเป็นอารมณ์ ทีนี้ธรรมชาติของปีตินี้มันเกิดดับอยู่แล้ว เพราะจิตอยู่ในฌานก็ต้องเกิดดับทีนี้ปีติเป็นไปในที่นั้น ก็ต้องเกิดดับเหมือนกันเพ่งจนกระทั่งเห็นว่า ปีตินี้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นั่น! จึงปรากฏความไม่เที่ยงเป็นลักษณะ เป็นทุกข์เป็นลักษณะ นี่สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นต้องฉิบหายไปอย่างนี้ จึงถือว่าไม่ควรจะเห็นว่าเป็นความสุขในที่นั้น นั่นแหละ! เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว นั่นแหละฌานอันนั้นแหละ ก็เป็นอธิจิต  หรือเป็นจิตตวิสุทธิ ได้ สมาธิอันนั้นถึงจะเป็นวิสุทธิได้ และกิเลสก็ไม่จับความยินดีในปีติ หรือในฌานนั้นก็เกิดไม่ได้ เพราะเห็นความเกิดขึ้นและดับไปอยู่ กิเลสก็เกิดขึ้นไม่ได้อันนั้นถึงจะเข้าถึงวิสุทธิได้ นี่พูดถึงท่านที่ได้ฌานแล้วนะคะ

    ฌานอะไร?  ฌานอันไหน?  ที่ควรจะยกเอาองค์อันไหน นี่ท่านก็บอกไว้ละเอียด นี่ดิฉันยกมาพอเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ผู้ที่ได้ฌานแล้ว จะยกขึ้นสู่วิปัสสนา แล้วก็ฌานอันนั้นก็สงเคราะห์ด้วยอธิจิต ได้ สงเคราะห์ด้วยจิตตวิสุทธิ ได้ เพราะว่าเป็นบาทของวิปัสสนา

     คราวที่แล้วมาก็ได้อธิบายถึงเรื่องจิตตสุทธิ ซึ่งได้แก่สมาธิ สมาธินี้ก็มี ๓ อย่าง คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ และที่เป็นสัมมาสมาธินี่ก็เป็นได้ทั้ง ๓ อย่าง ขณิกนี่เป็นได้ในขณะไหน เวลาไหน อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ และที่เป็นสัมมาสมาธิ นี่ก็เป็นจิตตวิสุทธิก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ แต่ส่วนจะเป็นได้อย่างไร หรือไม่เป็นอย่างไรนั้น ก็ได้อธิบายมาแล้วนะคะ

    สมาธิที่เป็นปัจจัย หรือเป็นบาทให้เกิดวิปัสสนา ก็เป็นขณิกสมาธิ ที่เป็นขณิกะก็เพราะว่ามีการเปลี่ยนอารมณ์ได้ เปลี่ยนอารมณ์อะไรไปก็ตามก็เป็นสมาธิไปได้ทุกๆ ขณะ ในขณะที่จิตเราตั้งอยู่ในขณะของอารมณ์ปัจจุบัน ขณะนั้นก็ถือว่าเป็นขณิกสมาธิทุกคราวไป แล้วก็ในอารมณ์ปัจจุบัน นี้อาจจะได้อยู่เสมอๆ หรืออาจจะได้ทุกๆ อารมณ์ก็ได้

     ฉะนั้น ขณิกสมาธิก็เป็นได้ทุกๆ อารมณ์ จะเป็นได้ ๓ วันก็ได้ จะเป็น ๗ วันก็ได้

    คำว่า “ขณิกสมาธิ” นี้ ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นประเดี๋ยวเดียวนะคะ จะเป็นอยู่กี่วันเป็นได้ ๓ วัน  ๑๐ วัน หรือ ๑๕ วัน ก็เป็นได้ แต่ว่าไม่ได้เป็นในอารมณ์เดียว คือ เป็นในอารมณ์ทั่วๆ ไปได้ในอารมณ์ทั้ง ๖ นะคะ ถ้าจิตเราตั้งอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันอยู่เรื่อย จะเป็นกี่วันก็ตาม อารมณ์ก็เป็นขณิกสมาธิ หมายถึงว่า ขณิกสมาธินี่นะ เป็นไปได้ในขณะรับอารมณ์ปัจจุบันทุกๆ อารมณ์ คือไม่ใช่ยืนประจำอยู่ในอารมณ์เดียว

    ส่วนอัปปนาสมาธิหรืออุปจารสมาธินั้น จะได้น้อยหรือมากก็ตาม ต้องเป็นได้ในอารมณ์อันเดียว  ไม่ได้เปลี่ยนอารมณ์ ถ้าเปลี่ยนแล้วไม่ได้โปรดเข้าใจความหมายของคำว่า ขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธินะคะ

     ฉะนั้น การเปลี่ยนอารมณ์นั้นเอง โดยมากวิปัสสนานี่ก็เป็นไปด้วยขณิกสมาธิ แล้วการประหารกิเลสก็เป็นตทังคปหาน การประหารนี่มี ๓ อย่าง ตทังคปหาน เป็นไปกับวิปัสสนา ทางสมาธิหรือสมถะ ท่านเรียกว่าวิกขัมภนปหาน ถ้าสมุจเฉทปหาน ละกิเลสด้วยมรรค  คืออริยมรรค กิเลสที่ถูกละด้วยอริยมรรคนั้น ก็ถูกละตัดขาดเป็นสมุจเฉทเลย ก็เรียกว่า “สมุจเฉทปหาน”

     ทำไมการเปลี่ยนอารมณ์ จึงเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนา เพราะถ้าหากว่าเราไม่เปลี่ยนอารมณ์แล้ว ก็ยากที่เราจะเห็นความดับ หรือจิตกับอารมณ์ที่ดับไปจากในขณะอารมณ์หนึ่งๆ การเปลี่ยนอารมณ์นี่เป็นเหตุให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือความเกิดขึ้นและดับไปของอารมณ์นั้น และจิตนั้นได้ง่ายกว่าที่จะตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียว ถ้าไม่เปลี่ยนอารมณ์ ก็จะไม่เป็นเหตุให้เข้าถึงความดับของจิตและของอารมณ์นั้นเลย เพราะว่า  วิปัสสนานั้นจะต้องใช้อารมณ์ที่มีความเกิดขึ้นและดับไป ดังที่อธิบายไว้แล้วนะคะ

     เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ต้องใช้สมาธิที่เป็นอารมณ์เดียว ถ้าหากสมาธิที่เป็นอารมณ์เดียวยังไม่เปลี่ยน เมื่อเราใช้สมาธิในอารมณ์เดียวไม่เปลี่ยนแล้ว จิตก็จะเกิดในอารมณ์เดียว การเกิดของจิตในอารมณ์เดียวนั้นรวดเร็วมาก หมุนเร็วมากจนกระทั่ง เราไม่สามารถที่จะเห็นความดับของจิตนั้นได้ ก็จะเห็นสืบเนื่องติดต่อกันไปอยู่เรื่อย

     เพราะฉะนั้น สมาธิอันนั้นจึงไม่สามารถจะเป็นบาทของวิปัสสนาได้ การมีอารมณ์ที่ไม่เป็นบาทหรือสมาธิที่ไม่เป็นบาทของวิปัสสนานี่ ต้องเกี่ยวกับอารมณ์ด้วยนะคะ ถ้าอารมณ์นั้นไม่เป็นปัจจัยในการเกิดขึ้นและดับไปละก็ อารมณ์นั้นก็ไม่ควรจะเป็นกรรมฐานของวิปัสสนา และไม่เป็นเหตุที่จะให้เห็นความเกิดขึ้นและดับไป

      โปรดเข้าใจว่า การที่จะเข้าไปพิจารณา ทุกข์  ในจิตหรือในอารมณ์นั้น การพิจารณานั้น หรือจะรู้ได้ในที่นั้น ไม่ใช่รู้ด้วยสมาธิ การเห็นการเกิดดับหรือเห็นไตรลักษณ์นั้น ไม่ใช่รู้ได้ด้วยสมาธิ ต้องรู้ได้ด้วยวิปัสสนาปัญญา

      ทีนี้วิปัสสนา ก็ต้องอาศัยสติปัฏฐานเป็นอารมณ์  ก็อารมณ์ของสติปัฏฐานน่ะ มีความสำคัญอย่างไรแก่วิปัสสนา

      เพราะฉะนั้น เราก็ต้องรู้ว่าเราใช้อารมณ์อะไร  เราก็ควรจะรู้ แต่ว่าทางที่ดีที่สุดแล้ว สำหรับวิปัสสนาเราก็ไม่ควรจะใช้ อารมณ์อื่นนอกไปจากมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔  อันนี้ละก็แน่นอนแล้วก็ไม่มีการผิดพลาดด้วย  ต้องใช้มหาสติปัฏฐาน ก็จะไม่มีผิดเลย นี่พูดถึงอารมณ์ไม่ผิดนะคะ

    แต่ว่าในการปฏิบัตินั้น ถึงแม้ว่าใช้อารมณ์นั้นถูกแล้ว แต่เราทำไม่ถูกนะ อีกเรื่องหนึ่งต่างหากนะเพราะฉะนั้น เราจะต้องศึกษา เมื่อเข้าใจในอารมณ์นั้นแล้ว เวลาที่เราจะปฏิบัติเอาอารมณ์นั้นมาเป็นกรรมฐานในขณะปฏิบัตินั้น เราก็ต้องทำให้ถูกด้วยไม่ใช่ว่าถูกเฉพาะแต่วัตถุนั้นอย่างเดียว การกระทำก็ต้องให้ถูกด้วยนะคะ

    ฉะนั้น ถ้าจิตเราตั้งอยู่ในอารมณ์สติปัฏฐานแล้ว  ก็เป็นบาทที่จะให้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปหรือไตรลักษณะ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ คือพิจารณากายก็เห็นกาย ถ้าพิจารณาเวทนาก็จะเห็นเวทนาเป็นต้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเห็นสิ่งนั้น ไม่ใช่ว่าจะเห็นไปหมดทุกอย่าง เพราะจิตนี่ต้องรับอารมณ์อันเดียว ดูอันไหนก็ต้องเห็นอันนั้น แต่ว่าการเห็นสิ่งนั้นที่ถูกต้อง ตามสภาวะที่เป็นจริงแล้วโดยสามัญลักษณะแล้วละก็ ถึงแม้ธรรมที่ยังไม่เห็น ปัญญาที่เข้าไปเห็นนั้นก็เป็นไปได้ทั่วตลอด ธรรมที่ยังไม่เห็นก็รู้ได้เหมือนกันว่า เป็นไตรลักษณ์ ว่าเกิดขึ้นและดับไป แต่ว่าพิจารณาอันใดอันหนึ่งก็เฉพาะอันนั้น อย่างไปเข้าใจว่าผู้ปฏิบัตินี่จะต้องรู้สติปัฏฐานทั้งหมดไม่ใช่อย่างนั้น รู้อันเดียวค่ะ แต่ว่ารู้อันเดียวก็ถือว่ารู้ทั้งหมด เพราะได้ประโยชน์เท่ากัน

      ในสติปัฏฐานทั้งหมด ได้ประโยชน์จากสติปัฏฐานก็คือ มรรค ผล นิพพาน มีพระอรหันต์เป็นที่สุด การแจ้งพระนิพพานอันเป็นที่สุดของข้อปฏิบัติ

      ฉะนั้น ทุกๆ ปัพพะ ก็จะต้องได้รับผลอย่างนี้ทั้งนั้น  ถ้าเราพิจารณาปัพพะอันใด ก็ได้ผลอย่างนี้เหมือนกัน ก็เชื่อว่ารู้ทั้งหมดเหมือนกัน เพราะว่าได้ผลเท่ากัน จะเป็นวิชาอะไรก็ตามเถิด ทางสติปัฏฐานก็ต้องสืบเนื่องกันนะคะ

    เพราะฉะนั้น ในอารมณ์เดียวก็เป็นได้ทั้งศีลทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา อันนี้เราก็เข้าใจแล้วนะ แต่ว่าต้องเข้าใจเหตุผลว่า ทำไมถึงเป็นได้ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา อันนี้ก็ขออุปมาว่า ถ้าเราตัดใบต้นไม้ทิ้งเสียเพื่อจะไม่ให้ต้นไม้นี้มันเป็นต่อไปได้อีก เราก็ปลิดใบทิ้งเสีย เวลานั้นจึงไม่มีใบชั่วขณะหนึ่ง แต่ว่าปัจจัยที่จะให้เกิดใบนั้นน่ะ ยังไม่หมด ก็เมื่อถึงคราวได้ปัจจัย ได้ฝน ได้น้ำ พอกำลังที่ใบนั้นจะเกิด ก็เกิดได้อีก ก็ยังไม่ชื่อว่า ตัดก้าน

      แต่ทีนี้เราไม่ตัดใบละ เราตัดก้านเสีย กิ่งก้านทั้งหมดนั่นน่ะ เราตัดเสียอย่างนี้ กว่าจะเกิดใบขึ้นมาได้อีก มันก็นาน เวลานั้นก็ไม่มีทั้งใบ ทั้งกิ่งก้านก็ไม่มี ชื่อว่าละไปเหมือนกัน แต่ต้นยังอยู่นะ รากก็ยังอยู่ ไม่ชื่อว่าเราตัดกิ่งด้วย ในขณะที่เราตัดใบนั่นก็ไม่ชื่อว่าเราตัดรากด้วย ในขณะที่เรานั่น ก็ไม่ชื่อว่าเราตัดกิ่งด้วย ในขณะที่เราตัดกิ่งก็ไม่ชื่อว่าเราตัดต้นด้วย แต่ทีนี้เราขุดรากทิ้งเลย เราไม่ตัดละต้นไม้  ทั้งกิ่งทั้งก้าน ใบเราก็ไม่ตัด เราจะขุดรากทิ้งเลย

     ทีนี้ในระหว่างที่เราขุดรากทิ้งนั่นน่ะ ชื่อว่าเราตัดใบด้วยด้วยไหม?  ใบจะเหี่ยวเฉาตายด้วยไหม?  ก็ต้องตายด้วย แล้วชื่อว่าตัดกิ่งด้วยไหม?  กิ่งจะงอกอีกไหม? ชื่อว่าตัดต้นด้วยไหม?

       เพราะฉะนั้น เหมือนกับการปฏิบัติวิปัสสนาวิปัสสนาที่ละตัวอนุสัย ขุดรากเง่าของมูลอกุศลอย่างนี้

       เพราะฉะนั้น ในวิปัสสนานั้นจึงมีกิจเข้าได้พร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา เหมือนดังที่อุปมาว่า เมื่อเราขุดรากของต้นไม้แล้ว ชื่อว่าเราตัดใบด้วย ตัดกิ่งด้วย ตัดต้นด้วยหมดเลยไปพร้อมกันในขณะที่เราขุดรากทิ้งนั่นแหละ

       ฉะนั้น วิปัสสนานี่น่ะ ศีลใด สมาธิใด  เป็นไปร่วมกันกับอารมณ์วิปัสสนา ก็ถือว่าเป็นวิสุทธิถึงจะเข้าถึงวิสุทธิได้ เพราะปัญญานี่เป็นตัวทำลายรากเง่าของกิเลส มีอนุสัย เป็นต้น

     เพราะฉะนั้น เมื่อปัญญาขุดรากเง่าทิ้งแล้วอย่างอื่นก็ไม่ต้องพูดกัน คือกิเลสอย่างอื่น ก็ชื่อว่าละได้ด้วย ทั้งกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็ชื่อว่ามีศีลด้วย มีสมาธิด้วย มีปัญญาด้วย มีไปพร้อมกันในอารมณ์อันเดียวกัน เหมือนกับมรรคทั้ง ๘ ก็จะต้องปฏิบัติให้เกิดขึ้นในอารมณ์อันเดียวกัน

       เพราะฉะนั้น ความสำคัญอยู่ที่อารมณ์ ซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะนำมาใช้ และเราจะต้องศึกษาในวิธีกระทำด้วย เมื่อได้อารมณ์มาแล้ว ตอนพิจารณาอารมณ์นั้นน่ะ จะต้องทำโยนิโสมนสิการอย่างไร ในเวลาที่พิจารณา อันนี้จะต้องเข้าใจด้วยมิฉะนั้น ถึงได้อารมณ์มาแล้ว เอามาทำก็ทำให้ไม่ถูกก็ไม่ได้ผลตามที่ตนประสงค์นั้น

       ฉะนั้น การที่เราจะปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น  เราก็จะต้องศึกษาจากอารมณ์ด้วย เพราะมันต่างกันด้วยอารมณ์ จิตรับอารมณ์ด้วย เพราะมันต่างกันด้วย  อารมณ์ จิตรับอารมณ์อย่างหนึ่ง ก็เป็นเหตุให้มีความรู้สึกอย่างหนึ่ง อันนี้ก็เข้าใจแล้วนะคะเพราะได้อธิบายมาแล้ว และอารมณ์อะไรที่เป็นปัจจัยแก่สมาธิ  หรือเป็นปัจจัยแก่ปัญญา โดยมากในสติปัฏฐานน่ะ ถ้าพูดถึงองค์ธรรมแล้ว ท่านใช้สมาธิกับปัญญา  ๒ อย่างเท่านั้นเอง

     ศีลที่เป็นบาทของวิปัสสนา ก็จะต้องเป็นไปร่วมกับอารมณ์ของวิปัสสนา สมาธิที่เป็นบาทของวิปัสสนา ก็ต้องเป็นไปร่วมอารมณ์ของวิปัสสนา ก็ต้องเป็นไปร่วมอารมณ์ของวิปัสสนาเป็นสหชาตปัจจัยด้วยกัน

      ฉะนั้น อันนี้ก็มีความสำคัญที่สุดที่เราจะต้องศึกษา นี่สมาธิที่ว่ามี ๒ อย่าง ท่านก็ทราบแล้วนะคะ แต่จะขอซ้ำอีกนิดหน่อยค่ะ

  สมาธิกับปัญญาที่ถูกต้องแล้วจะต้องเป็นไปในอารมณ์ของสติปัฏฐาน ถ้าสมาธินั้นเกิดจากอารมณ์ของสติปัฏฐาน สมาธินั้นเป็น สัมมาสมาธิ  แน่นอน เมื่อเป็นสัมมาสมาธิแล้ว ก็เป็นจิตตวิสุทธิด้วย  เพราะว่า ทำลายกิเลสไปพร้อมกัน กิเลสอาศัยไม่ได้ นอกจากนี้ ก็ยังมีเหตุผลบางอย่างที่ว่าลำพังสมาธิอย่างเดียว ไม่เป็นเหตุที่จะให้ละวิปลาสได้

     อันนี้ก็ได้อธิบายแล้ว เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนาของผู้ที่ได้ฌานนี่น่ะ เมื่อทำฌานได้แล้ว จะทำอย่างไรที่จะทำลายวิปลาสได้ อันนี้ได้อธิบายมาแล้วว่า ผู้นั้นจะต้องยกองค์ฌานขึ้นพิจารณาให้เห็นว่า องค์ฌานนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน คือไม่มีสาระว่าเป็นแก่นสาร หรือไม่เป็นสรณะ แท้จริงในฌานนั้นเมื่อไหร่ เมื่อนั้นจะต้องเกิดความเบื่อหน่าย หรือเกิดความไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือจะเกิดความไม่พอใจถึงกับเป็นสังโยชน์ติดมาในอารมณ์นั้นได้  ตัดไม่ได้เลยค่ะ

     เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฌานแล้ว เมื่อจะทำวิปัสสนาก็จะต้องยกองค์ฌานขึ้นพิจารณานะคะแต่เรื่องตัวกรรมฐานที่จะให้ได้ฌานนั้น อันนี้ก็ทราบกันแล้ว แต่ก็จะอธิบายเพื่อความชัดเจนอีกหน่อยว่า ความจริงสติปัฏฐานนั่นน่ะ ถ้าเราจะพูดอย่างย่อๆ แล้วละก็ องค์ธรรมน่ะ มีสมาธิ กับปัญญา ๒ อย่าง มีองค์ของสมาธิ กับองค์ของปัญญา คือ วิริยะกับสติ หรืออาตาปีกับสติ เป็นองค์ของสมาธิ หรือได้แก่สัมมาวายาโม กับสัมมาสมาธิ เป็นองค์ของสมาธินั่นเอง สัมปชาโน คือ สัมปชัญญะ นี่เป็นองค์ของปัญญา

        เราจะพูดว่า ในสติปัฏฐานนั้น มีสมถะกับวิปัสสนาก็ได้ หรือจะพูดว่าสมาธิ กับปัญญาก็ได้ ได้ทั้ง ๒ อย่าง แต่ว่าจะต้องไปด้วยกัน

     โดยเหตุนี้ เคยเรียนให้ทราบว่า ในสัมมาทิฏฐิสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงกับพรหมว่า “ทูต” คือสมถะ กับวิปัสสนานี่ เหมือนทูตขี่ม้าขาวมาคู่หนึ่ง ไปหาเจ้าเมือง เมืองนั้นมีประตูเข้าออก ๖ ทาง จึงไปถามเจ้านายประตูว่าเจ้าเมืองอยู่ที่ไหน? นายประตูก็บอกว่า เจ้าเมืองนั่งอยู่ที่สี่แยกกลางเมือง ทูต คือสมถะกับวิปัสสนา ก็เอาพระนิพพานไปฝากไว้ที่ประตูหรือตามทวาร เมื่อเจ้าเมืองต้องการพระนิพพานให้มารับเอาตามทวารต่างๆ นี้ เพราะว่าสมถะกับวิปัสสนานี่เป็นผู้นำเอามาให้แล้วนำมาร่วมกัน พร้อมกันในที่นั้น”

     เพราะฉะนั้น ตัวทูตก็ได้แก่ข้อปฏิบัติ คือ  มหาสติปัฏฐาน นี่เอง  ซึ่งมีทั้งสมถะและวิปัสสนา  แต่ว่าในสูตรนั้น ไม่อ้างชื่อว่ามหาสติปัฏฐาน แต่ที่จริงที่ทรงรับสั่งอย่างนั้นน่ะ เป็นเรื่องของมหาสติปัฏฐานนั่นเอง

     คราวนี้เราก็เข้าใจแล้วว่า สมาธิได้แก่อะไร? วิปัสสนาได้แก่อะไร?  เป็นไปร่วมกันในมหาสติปัฏฐานนั่นเอง แล้วเราก็เข้าใจด้วยว่า มหาสติปัฏฐานนั่นน่ะ มีองค์เท่าไร องค์นั้นเป็นองค์ของสมาธิหรือองค์ของปัญญา อันนี้เป็นหน้าที่ของเรา เมื่อเข้าใจแล้ว  ถึงแม้ว่า จะไม่พูดไว้ในที่นั้นเราก็สามารถจะปรับปรุงเหตุผลได้ เพราะว่า พยัญชนะอันหนึ่งอรรถะน่ะ  อันหนึ่ง พยัญชนะอาจจะพูดได้หลายชื่อหลายอย่าง แต่ว่าอรรถะเป็นอย่างเดียวกัน เช่นชื่อของคนอาจจะมีชื่อหลายชื่อ แต่ว่าชื่อนี้หมายถึงคนคนนั้น  เนื้อความต้องเป็นอันเดียวกัน แต่ชื่ออาจจะเรียกได้หลายชื่อ เรียกอย่างไรก็ได้

     ฉะนั้น สมถะและวิปัสสนา ก็เป็นไปร่วมกันในที่นั้น เมื่อทำฌานแล้ว ก็ยกองค์ฌาน ยกปีติขึ้นมาเป็นอารมณ์ วิธียกปีติขึ้นมา ก็ยกขึ้นมาตามมหาสติปัฏฐานนั่นเอง โดยมีองค์ของสติปัฏฐานในฌานนั่นเอง ทีนี้สมาธิที่ได้ฌานในเวลานั้น ก็ถือว่าเป็นบาทของวิปัสสนาด้วย เพราะว่าเกิดร่วมกัน

     เพราะฉะนั้น การยกขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนาได้หรือไม่นั้น ในฌานนั้น ท่านก็ยกเอาปีติขึ้นมาเป็นอารมณ์ ท่านก็ทราบแล้วนะคะ ท่านเป็นนักศึกษา ย่อมทราบว่าฌานน่ะ มีอะไรเป็นอารมณ์สำหรับปฐมฌาน ทุติยฌาน นี่น่ะ  ถ้าหากในปฐมฌานก็ยกเอาปีติขึ้นมา ถึงเวลาที่จะทำวิปัสสนาก็แล้วแต่ว่า ฌานองค์ไหนมีอะไรปรากฏ  ก็ยกอันนั้นขึ้นมา ถ้าได้จตุตถฌานแล้ว จตุตถฌานนี้ไม่มีปีติก็มีเวทนาเป็นองค์ฌาน ที่ปรากฏชัดในที่นั้น สุขเวทนาบ้าง อุเบกขาเวทนาบ้าง ก็ละเอียดมาก  เพราะฉะนั้นการที่จะยกจตุตถฌานขึ้นสู่อารมณ์ของวิปัสสนา ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมมาก  มีปัญญากล้ามาก เพราะคนที่ไม่มีปัญญากล้า หรือปัญญาไม่พอ  บารมีไม่พอ จะถึงจตุตถฌานน่ะ คงไม่ได้  เพราะฉะนั้น คนที่ทำถึงจตุตถฌานได้ก็สามารถที่จะยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ เพราะจิตใจละเอียดมากในที่นั้น

     ฉะนั้น ผู้ทีทำฌานจึงต้องมีปัญญาละเอียดสุขุม  จึงทำจะได้ เมื่อยกองค์ฌานขึ้นเพ่งแล้ว ก็ที่ไปเห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่เห็นจากอย่างอื่น คือเห็นจากองค์ฌานนั้นเอง ที่แสดงไตรลักษณ์ แต่ไม่ใช่ว่าท่านทำขึ้นให้เห็นนะ เพราะว่าองค์ฌานนั้นน่ะ มีลักษณะเป็นไตรลักษณ์อยู่แล้ว โดยกฎธรรมชาติ มีลักษณะอยู่แล้ว  เป็นแต่เพียงเพ่งดูเท่านั้นเอง เมื่อเพ่งปีติ เห็นปีติเป็นไตรลักษณ์แล้ว  จิตก็ดำเนินไปในอารมณ์วิปัสสนาได้ เมื่อเห็นว่าปีติไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้วนั้นเอง ก็จะไถ่ถอนความยินดีความเพลิดเพลินในฌานนั้นวิปลาสก็จะจับในอารมฌ์นั้นไม่ได้เลย เพราะอะไร?  แต่ก่อนนี้ผู้ที่ทำฌานยังไม่เกิดวิปัสสนา ก็ย่อมสำคัญว่า ฌานนี้เป็นสุขมาก เป็นประโยชน์มากสมาธินี้ และเมื่อเกิดวิปัสสนาแล้ว ก็ไม่เห็นว่าเป็นสุข เพราะวิปัสสนานี้ต้องเห็นว่าเป็นทุกข์ ถึงแม้ว่าจะมีสุขเวทนา ก็มีลักษณะเป็นทุกข์อยู่  คือทุกข์ลักษณะมีอยู่ เมื่อทุกข์ปรากฏขึ้นในที่นั้น  สุขก็ไม่มีไม่ได้ที่จะเห็นว่าเป็นสุข ก็เห็นไม่ได้นะคะ เมื่อแต่ก่อนเข้าใจว่า สุขนี้เที่ยงแน่ๆ เมื่อได้ฌานแล้ว ได้สมาธิแล้ว จิตนี้ไม่แลเห็นเลย ไม่เกิดไม่ดับเลย แต่เมื่อเกิดวิปัสสนาแล้ว ก็ปรากฏการเกิดขึ้นและการดับไปของจิตนั้น

      ฉะนั้น ความรู้สึกว่าจิตเที่ยงที่ประกอบด้วยวิปลาสก็เกิดไม่ได้ก็ต้องหายไป ความรู้สึกว่าไม่เที่ยงก็ต้องปรากฏขึ้นมาแทนความรู้สึกที่ว่าเที่ยง อัตตวิปลาสก็เหมือนกัน เห็นปีตินั้นไม่มีตัวมีตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เห็นอย่างนี้แล้วก็ ชื่อว่า  เห็นอนัตตา ความสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตนก็หมดไป

     ฉะนั้น เมื่อวิปัสสนาเกิดขึ้นแล้ว จึงทำลายวิปลาสได้ เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว จึงไถ่ถอนความเพลิดเพลินในฌานนั้นได้ แล้วจึงจะเกิดนิพพิทาญาณ   ถ้าไม่เข้าถึงนิพพิทาญาณแล้ว ก็ไม่มีหวังที่จะบรรลุถึงพระนิพพานได้ เพราะว่าตอนที่เกิดนิพพิทาญาณ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย หมายถึงว่าคลายความกำหนัดออก คลายความยินดีออกจากเบญจขันธ์เป็นต้น หรือจากอารมณ์ต่างๆ อย่างนี้นะคะ ถ้าไม่เกิดนิพพิทาญาณแล้วคลายออกไม่ได้ และต้องเกิดนิพพิทาญาณ ก่อน จึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ เพ่งลักษณะอันใดอันหนึ่ง ในลักษณะทั้ง ๓ นั้น ถ้าญาณใดไม่เพ่งลักษณะ หรือไม่มีลักษณะเพ่ง เพราะไม่ได้อาศัยอารมณ์ที่เป็นนามรูป ฌานที่จะเพ่งลักษณะได้ ฌานนั้นต้องมีนามรูปเป็นอารมณ์ ต้องเป็นบาทของวิปัสสนา  แต่ถ้าฌานที่เพ่งยังไม่เห็นไตรลักษณ์ หรือยังไม่เปลี่ยนอารมณ์เป็นรูปเป็นนามแล้ว

      ฌานนั้นก็เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน คือ  ไม่ใช่เพ่งนามรูป แต่เพ่งอารมณ์กรรมฐานของฌานอันมีกสิณ เป็นต้น ในกรรมฐาน ในกรรมฐาน ๒๕ อย่างนั้น

     กรรมฐาน ๒๕ อย่างนี้ หมายถึง ในสมถกรรมฐานนั้นมีอารมณ์ ๔๐ อย่างนะคะ กรรมฐานอะไรที่สามารถจะได้ตั้งแต่ปฐมฌาน เป็นต้นไป  คือกรรมฐานบางอย่างนี่ ไม่ใช่ทำตั้งแต่ปฐมฌานก็มี ทำตั้งแต่ตติยฌาน หรือจตุตถฌานเลยก็มี นี่ที่ว่า ๒๕ นี้ หมายเอาทำตั้งแต่ปฐมฌาน เป็นต้นไป

     อย่างอนุสติ ๑๐ นี้ ก็ได้ฌานเพียง ๒ เท่านั้น คืออานาปานสติกับกายคตาสติ เหลืออีก ๘ กรรมฐานนั้นก็ไม่สามารถจะได้ฌานใน ๒๕ อย่างนั้น เป็นกรรมฐานที่จะทำให้ได้ฌานอันใดอันหนึ่ง หมายถึงกรรมฐาน คืออารมณ์นะคะ ต้องเพ่งอารมณ์นั้น อาศัยอารมณ์นั้น เรียกว่า  อารัมมณูปนิชฌาน ฌานใดที่ยกปิติขึ้นเพ่ง เป็นต้น แล้วเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฌาน คือการเพ่งลักษณะของนามรูป ฌานอันนั้น  เรียกว่าลักขณูปนิชฌาน

     ฉะนั้น สมาธิอันนั้นจึงจะเข้าถึงวิสุทธิได้เพราะว่าทำลายวิปลาสได้แล้ว สุขวิปลาส, สุภวิปลาส, นิจวิปลาส, และอัตตวิปลาส  อันเป็นกิเลส ที่ความสำคัญผิดอาศัยอยู่นั้น ได้ทำลายหมดไปแล้ว ด้วยอำนาจของการเห็นอนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา ฉะนั้น สมาธิในที่นั้นจึงถือว่าเป็นวิสุทธิได้ ก็เรียกว่าจิตตวิสุทธิ เพราะกิเลสอาศัยไม่ได้, กิเลสจับไม่ได้ วิปลาสก็จับไม่ได้  และจิตที่เป็นสมาธิอย่างนั้นก็เรียกได้ว่า จิตตวิสุทธิ  แน่นอน

     ข้อนี้ก็ขอให้ท่านผู้ฟังทั้งหมด พึงสังเกตที่ดิฉันยกเอาปีติขึ้นมานี้น่ะ หมายถึงว่าแล้วแต่ฌานใดนะคะ ถ้าหากว่าปฐมฌาน ปีติมีกำลังเด่นชัดก็ยกปีติ แม้นฌานที่ปีติอ่อน ก็ไม่ยกปีติขึ้น ก็ยกองค์ฌานอื่น มีสุขหรืออุเบกขาขึ้นมาเป็นอารมณ์ ไม่ยกปีติขึ้นนะคะ เป็นฌานที่ละปีติไปแล้ว ก็ยกเวทนา คือ สุขหรืออุเบกขาเวทนาขึ้นเป็นประธานในที่นั้น แต่ว่าอารมณ์ละเอียด สูงมาก

     ถ้าฌานใดเพ่งลักษณะ หรือสมาธิใดๆ ที่ผู้ทำนั้นเพ่งลักษณะ สมาธินั้นก็ถือว่าเป็นบาทของวิปัสสนา ยกขึ้นสู่วิสุทธิได้ เรียกว่าจิตตวิสุทธิได้     แต่มีข้อสำคัญอยู่ว่าผู้ได้ฌานนั้น จะปรารภวิปัสสนานั้นน่ะ จะต้องออกจากฌานเสียก่อนไม่ใช่ว่าอยู่ในฌานจะปรารภได้ เพราะว่าระหว่างที่อยู่ในฌานนั้นนะ จะต้องอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานมีกสิณ เป็นต้น เพราะอารมณ์ของกสิณนั้นน่ะ จะยกมาใช้ทำวิปัสสนาไม่ได้

     เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะยกขึ้นสู่วิปัสสนานี้ จะต้องออกจากอารมณ์นั้นเสียก่อน แล้วมายกนามรูปขึ้นเป็นอารมณ์ ต้องเปลี่ยนอารมณ์ใหม่เสียก่อนจึงจะใช้ได้ ถ้าอยู่ในอารมณ์นั้นก็ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกฌาน จะได้ฌานอะไรก็ตามเถอะ แต่เวลาจะปรารภวิปัสสนาแล้ว ต้องเปลี่ยนอารมณ์ใหม่

     การที่จะเปลี่ยนอารมณ์ใหม่นี้เอง จึงต้องออกจากอารมณ์นั้น หรือออกจากฌานนั้น แล้วยกอารมณ์วิปัสสนาขึ้น ซึ่งมีนามรูป หรือมีปีติเป็นต้นอย่างนี้

     ถ้านามหรือปีติองค์ฌานนั้นไม่ชัดเจน ก็กลับเข้าฌานใหม่ การที่กลับเข้าฌานใหม่ หมายถึงว่า เข้าไปตั้งอยู่ในสมาธิที่ตัวเคยได้ฌานแล้วและอารมณ์นั้นเปลี่ยนไปตามเดิมแล้ว แต่ก่อนทำวิปัสสนาต้องออกจากฌานก่อน ต้องเข้าฌานให้คล่องแคล่วชำนิชำนาญเป็นวสี จึงยกองค์ฌานขึ้นสู่วิปัสสนาได้

     ถ้าฌานใด ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป จึงถึงจตุตถฌาน หรือปัญจมฌานก็ตาม ถ้าจะยกขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว ต้องทำฌานนั้นให้เป็นวสีเสียก่อน ถ้าฌานนั้นไม่เป็นวสีแล้ว จะยกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่ได้

     ฉะนั้น การที่จะได้เป็นวสีแต่จะฌานๆ นี่ ไม่ใช่ของง่ายเลย

     ทำไมถึงยกไม่ได้?

     เพราะพิจารณาองค์ฌานไม่ได้

     การที่จะรู้ว่า ฌานของต้นนั้นประกอบด้วยองค์เท่าไร? และองค์นั้นชัดเจนในลักษณะอะไรอย่างนี้  ลักษณะไหนขององค์ฌาน ที่จะยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ก็ต้องรู้จักองค์ฌานเสียก่อนว่า ฌานที่ตนได้นี้ประกอบด้วยองค์เท่าไร? ที่นี้การที่จะรู้ว่าฌานนั้นประกอบด้วยองค์เท่าไร? ไม่ใช่รู้ในฌานรู้ตอนปัจจเวก  คือพิจารณาองค์ฌาน ต้องเป็นวสีในปัจจเวกก่อน พิจารณารู้องค์ฌานได้คล่องแคล่วหมั่นพิจารณาเสมอว่า ฌานนี้ประกอบด้วยองค์เท่าไร องค์ฌานที่ประกอบในจิตนั้นมีลักษณะอย่างไรบ้าง อย่างนี้ต้องคล่องแคล่ว ต้องชำนาญ

     เพราะฉะนั้น จะต้องมีปัจจเวกเสียก่อน ทีนี้การที่จะทำปัจจเวกพิจารณาองค์ฌานนี้ ต้องเป็นวสีเสียก่อน เพราะฌานนี้ต้องมีวสี ๕ ต้องได้วสีทั้ง ๕ ก่อน

     เมื่อพิจารณารู้องค์ฌานแล้วว่า องค์ฌานอะไรบ้างประกอบ แล้วก็องค์ใดที่ปรากฏชัดในที่นั้นบ้าง แล้วจึงยกองค์นั้นนั่นแหละขึ้นสู่วิปัสสนาได้ไม่ใช่รู้ในขณะที่อยู่ในฌาน รู้ไม่ได้ ต้องมารู้ตอนทำปัจจเวกให้เป็นวสีเสียก่อน

     ฉะนั้น ก็ไม่ใช่ง่ายๆ นะคะ ยากมากทีเดียวแต่ว่า ก็เป็นที่น่าสรรเสริญ เพราะว่าสิ่งที่ทำยากนั้น ท่านทำได้ โดยมากพวกนี้ ถ้าได้แล้วย่อมมีสติปัญญาแตกฉาน ความละเอียดของจิตใจมีอยู่อย่างไร ก็สามารถจะรู้ได้ เพราะจิตใจท่านละเอียดมาก

     ทีนี้ กรรมฐานที่ทำให้เกิดวิปัสสนานั้น อยู่ที่อะไร  อันนี้ท่านก็พอเข้าใจแล้ว โปรดเข้าใจคำว่า สมาธิ  ด้วย และก็ต้องเข้าใจคำว่า วิปัสสนา ด้วยว่าจะแยกกันที่ตรงไหน ก็แยกกันที่  อารมณ์ เท่านั้น

     ถ้าท่านเข้าใจอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทำวิปัสสนาก็สะดวก ไม่สับสน รู้ว่าจะทำอย่างนี้ จะต้องใช้อะไรบ้าง ก็รู้เมื่อไปที่ไหน ใครเขาถามถึงอารมณ์เท่านั้น ก็จะรู้ว่าอารมณ์นี้ จะเป็นสมาธิ  หรือวิปัสสนา ก็จะรู้ได้ทันที

     ในกรรมฐานใด ที่จะให้เกิดวิปัสสนาได้หรือไม่นั้น ถ้าหากตนไม่เข้าใจแล้ว ก็จะต้องเป็นหน้าที่ของอาจารย์นะคะ

     ฉะนั้น เท่าที่พูดมานี้ ท่านมีความสงสัยอะไรบ้าง ถ้ามีความสงสัยก็ควรจะถาม และดิฉันคิดว่าพอจะเข้าใจกันบ้างแล้ว แต่การที่จะเข้าใจดีที่สุดก็ต้องถาม ถ้าไม่ถามแล้ว ความเข้าใจที่ยังไม่แน่ก็คงไม่แน่อยู่นั่นแหละ หรือถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้อยู่นั่นแหละ ถ้าถามแล้ว ความเข้าใจที่ไม่แน่ชัด  หรือที่ยังสงสัยอยู่ ก็จะทำให้หมดไปได้ หรือสิ่งที่ไม่แน่ชัด หรือที่ยังสงสัยอยู่ ก็จะทำให้หมดไปได้ หรือสิ่งที่ไม่รู้ ก็จะทำให้รู้ได้  อันนี้อยู่ที่การถามและความสงสัยของท่านด้วย

     ถ้าท่านมีความสงสัยเกิดขึ้น หรือฟังแล้วไม่เข้าใจ การที่ไม่เข้าใจ แล้วท่านรู้ว่ายังไม่เข้าใจนี้น่ะ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ของท่านนักศึกษาทั้งหลาย ที่รู้ว่าอะไรไม่เข้าใจ นี่แหละเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะทำให้ท่านมีความเข้าใจขึ้น

     ถ้าท่านฟังแล้ว ไม่รู้ว่าไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าเข้า  หรือไม่เข้าใจข้อไหน สมมุติว่าฟังไปแล้วละ แต่ก็ไม่รู้ว่าข้อไหนที่เข้าใจแล้ว ข้อไหนที่ยังไม่เข้าใจก็ไม่รู้ อย่างนี้ก็ไม่มีหนทางที่จะรู้ได้ ที่จะทำให้เป็นคนมีความเข้าใจได้อีกเหมือนกัน อย่างนี้ก็หาประโยชน์จากการฟังได้ยาก

     เพราะว่า ถ้าเรารู้ว่าสิ่งไหนยังไม่เข้าใจเราก็จะได้สามารถ กำจัดความไม่เข้าใจอันนั้นให้หมดไปได้ แล้วก็ทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้

     เพราะว่า ตัวไม่รู้นี่ มันก็เป็นโมหะ  อยู่แล้วใช่ไหม? เมื่อเราฟังไม่รู้ ก็เป็นโมหะอยู่แล้ว ยังไม่รู้ว่าตนไม่รู้ ไม่เข้าใจ มันก็เป็นโมหะอีก ย้ำเข้าไปอีกที ก็มีโมหะซ้ำ ๒ เพิ่มขึ้นมาอีก ก็ยากที่จะทำลายความไม่เข้าใจ คือโมหะนั้นมันมากขึ้นอีก ก็ยากที่จะทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้

     ถ้าหากว่าเราไม่เข้าใจในเรื่องนั้น แต่ว่าเรารู้ว่าเราไม่เข้าใจในเรื่องนั้น โมหะที่จะเกิดขึ้นซ้ำเป็นครั้งที่ ๒ นี่ก็ไม่มี ก็ที่รู้ว่าไม่เข้าใจนั้นแหละเป็นปัญญาแล้ว เพราะรู้ถูกตรงกับความจริงในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ อันนี้โมหะก็ไม่เพิ่ม แต่เกิดปัญญาขึ้นมาแทน

     ตัวปัญญาที่รู้ว่าไม่เข้าใจนั่นแหละ จะเป็นปัจจัยให้เราเกิดความเข้าใจ ทำลายโมหะที่เมื่อฟังแล้วไม่รู้ไม่เข้าใจนั่นแหละให้หมดไปได้ แต่ถ้าไม่รู้ซ้ำเข้ามาอีกละก็ ไม่มีปัญญาอะไรเลย ที่จะมาเป็นปัจจัยให้โมหะครั้งแรกนั้นหมดไปได้

     เพราะฉะนั้น  ให้พยายามค่ะ ให้รู้ให้ถูก สิ่งไหนเข้าใจ สิ่งไหนยังไม่เข้าใจนะคะ อันนี้เป็นความสำคัญอยู่

     เพราะฉะนั้น ท่านนักศึกษาทั้งหลายดิฉันก็เตือนหลายหนแล้ว ขอให้สนใจในสิ่งที่ท่านไม่รู้แล้วจะได้เก็บความไม่รู้นั้นให้หมดไปได้

     ถ้าเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราไม่รู้ เราก็ไม่รู้อย่างนี้ความไม่รู้นั้นก็หมดไปไม่ได้เลย

     เพราะในพุทธภาษิตนี้ แสดงไว้มากมายว่า

     ผู้ใดที่รู้ว่าตัวยังไม่รู้ หรือตัวยังโง่อยู่ในที่ใดก็ตาม  ผู้นั้นจึงมีหวังจะเป็นบัณฑิตได้

     แต่ถ้าที่ตัวไม่รู้ หรือตัวโง่ แล้วก็ไม่รู้ว่า ตัวไม่รู้ด้วย อย่างนี้นะก็ไม่มีหวังเลย ที่จะเป็นบัณฑิตและท่านยังจัดว่า เป็นคนพาลอีกด้วย

     เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องกลัวเลย เราเป็นนักศึกษา เราต้องการเรียนให้เข้าใจถูกต้อง สิ่งไหนที่ไม่เข้าใจละก็ ถามได้ ไม่ต้องกลัวเลย

     เรามีครูอาจารย์ ก็เพื่อจะทำสิ่งที่ไม่รู้นั้นให้รู้ขึ้นมาอย่างนี้ ทีนี้ไม่รู้แล้วไม่ถาม ก็ไม่รู้อยู่อย่างนั้นแหละ แล้วอาจารย์นั้นจะเป็นประโยชน์อย่างไรกับท่าน ถึงตัวอาจารย์เองก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะไม่ได้แก้ไขความไม่รู้นั้น ก็ไม่เป็นประโยชน์เหมือนกัน ที่เป็นประโยชน์นั้น ก็ต้องแก้ความไม่รู้ ให้รู้ขึ้นมา อันนี้อาจารย์จึงเป็นประโยชน์แก่ท่าน

     แต่ทีนี้อาจารย์เองก็ไม่มีปรจิตตวิชชาญาณที่จะรู้ว่า ที่อธิบายไปแล้วนั้น ผู้ฟังยังไม่รู้นะ ยังไม่เข้าใจเลย นี่ศิษย์ไม่รู้ตรงนี้ทีเดียว เดี๋ยวนี้อาจารย์ไม่รู้ ศิษย์จะต้องรู้ด้วยตัวของตัวเองว่า เราไม่รู้ตรงไหน ก็นำเอาความไม่รู้นั้น มาทำความเข้าใจความไม่รู้นั้นจะได้หมดไป

     ทีนี้เมื่อความไม่รู้มากเข้าๆ เราก็ทำความเข้าใจให้เกิดในที่นั้นมากขึ้นๆ ความไม่รู้นั้นก็หมดไปๆ ความรู้ คือปัญญา ก็เกิดมากขึ้นๆ อย่างนี้ค่ะถึงจะเป็นประโยชน์นะคะ

     เพราะฉะนั้น ดิฉันถึงได้บอกว่า หนักใจอยู่นะคะที่อธิบายอยู่นี่น่ะ หนักใจอยู่ข้อเดียว อย่างอื่นไม่หนักใจ ข้อที่นักศึกษาไม่มีความสงสัยเลยไม่ถามนี่น่ะ หนักใจมาก

     ฉะนั้น จิตตวิสุทธินี้ ก็ขอเตือนว่าให้พยายามทำความเข้าใจ ฟังแล้วถ้าไม่เข้าใจข้อไหนก็ให้ทราบ เพราะถ้าหากว่าความไม่เข้าใจน่ะ  ถ้าเรารู้ว่าเรายังไม่เข้าใจตรงนั้น ข้อนั้น ความรู้นั้นก็เป็นวิชา และจะเข้าใจไปทำลายความไม่รู้นั้นได้ทำลายที่ไม่รู้นั้นให้หมดไปได้

     แต่ถ้าหากว่า เราฟังแล้วไม่เข้าใจ  ก็แปลว่า “ไม่รู้” นะ โมหะเกิดนะคะ ระหว่างที่ไม่เข้าใจแล้วก็ ยังไม่รู้ด้วย  ยังไม่เข้าใจอะไรตรงไหน?  นี่โมหะก็เกิดซ้ำเข้ามาอีก ซ้อนขึ้นมาอีกอันหนึ่ง เพิ่มมากขึ้น ก็เลยยากที่จะทำความเข้าใจในข้อนั้นได้

     ถ้าหากเราฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่รู้ว่า เรายังไม่เข้าใจ ที่รู้ว่าเข้าใจนั้นแหละ เป็นปัญญา ปัญญาที่รู้ว่าไม่เข้าใจนั้นแหละ สามารถที่จะไปทำลาย ตัวโมหะที่ไม่รู้ ในข้อที่ตัวไม่เข้าใจนั้นได้โมหะมันก็เกิดอันเดียว ถ้าฟังไม่เข้าใจและยังไม่รู้อีกว่า ไม่เข้าใจตรงไหน? ตัวไม่รู้ไม่เข้าใจตรงไหนก็เกิดซ้อนขึ้นมา เพิ่มโมหะเข้าไปอีก ก็เลยไม่มีโอกาสที่จะทำความเข้าใจในที่นั้นได้ ปัญญาก็ไม่สามารถจะเกิดตรงที่ตัวยังไม่เข้าใจนั้นได้

     ฉะนั้น ขอให้พยายามเข้าใจ เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ  ในเวลาฟังเราก็ต้องจำข้อขอดไว้ว่า ไม่เข้าใจตรงไหน ?

    อันนี้แหละค่ะ เป็นวิชาที่จะเป็นเหตุทำลายความไม่เข้าใจนั้นให้หมดไปได้ สำหรับจิตตวิสุทธิ เท่าที่ได้อธิบายมาแล้วนี่ก็คิดว่า พอเข้าใจแล้วนะคะ ต่อไปเราจะได้ทำความเข้าใจในทิฏฐิวิสุทธิ กันต่อไป

                                                                                                             ขอจบจิตตวิสุทธิไว้เพียงเท่านี้

                                                                                                                    สวัสดีค่ะ

✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾