**ปฏิปทาญาณทัสสนาวิสุทธิตอนที่๔ (ตอนจบ)

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ตอนที่๔ (ตอนจบ)

โดย อาจารย์แนบ มหานีรานนท์

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

สวัสดีค่ะ ท่านที่เคารพ

                     เมื่อครั้งที่แล้ว ได้พุดมาถึงภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ พูดมาถึงตรงนั้นแล้ว ก็ได้ทำการสงเคราะห์ ในญาณทั้ง ๓ นั้นด้วยอรรถะ คือเนื้อความนั้นน่ะ ในญาณ ทั้ง ๓ นั้น เป็นอย่างเดียวกัน ตั้งแต่ภยญาณเห็นเป็นภัย และก็ อาทีนวญาณเห็นเป็นโทษ และนิพพิทาญาณ เบื่อหน่ายในญาณทั้ง ๓ นั้นน่ะ ถือเอาโดยเนื้อความแล้ว ท่านบอกว่าเป็นอย่างเดียวกัน แต่ว่าต่างกันด้วยพยัญชนะ เท่านั้นเองหรือว่า เป็นไวพจน์กัน ต่างกันแต่ชื่อญาณ เท่านั้นแหละ ที่เป็นอย่างนี้ก็ถือว่า ถ้าเกิดญาณใดญาณ หนึ่งขึ้นแล้ว อารมณ์จะต้องเดินไปถึงญาณทั้ง ๓ เมื่อเกิด เห็นภัยขึ้นแล้ว ก็ต้องรู้สึกว่าเป็นโทษ จะรู้สึกว่าเป็นคุณ ไม่ได้ในที่นั้น หรือเห็นโทษแล้ว ก็ต้องรู้สึกว่าเป็นภัย ไม่ใช่ เป็นไปเพื่อความสุข และก็ต้องมีความเบื่อหน่ายเป็นธรรมดา  เมื่อเห็นภัยก็ต้องเบื่อหน่าย เมื่อเห็นโทษก็ต้อง เบื่อหน่าย เมื่อความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น ก็ต้องมีสิ่งที่ถูก เบื่ อหน่าย เบื่อหน่ายอะไร ก็ คื อเบื่ อหน่ายในโทษเบื่ อหน่าย ในภัยนั้นเอง เมื่ออันใดเกิดขึ้นในอารมณ์ใด ก็ในอารมณ์  ทั้ง ๒ นั้น ก็จะต้องร่วมอยู่ในที่นั้นด้วยแล้ว ไม่ต้องแยกออก ต่างหากอีกก็ได้ เช่นเดียวกันกับไตรลักษณ์นั้นเอง  เหมือน  ไตรลักษณ์นั้นน่ะ ท่านแยกออกเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ว่าอันใดอันหนึ่งก็ได้เหมือนกัน ใครเห็นอนิจจังก็ได้  เห็นอนิจจังอย่างเดียวก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ด้วยเห็นอนัตตาด้วย ใครเห็นทุกข์ก็ชื่อว่าเห็นอนิจจังด้วยเห็นอนัตตาด้วย  ใครเห็นอนัตตาก็ชื่อว่าเห็นอนิจจังและเห็นทุกข์ด้วย ฉะนั้น  ญาณทั้ง ๓ นี้  ก็อย่างเดียวกันนะคะ

                  ต่อไปนี้  จะได้พูดถึงมุญจิตุกัมยตาญาณซึ่งเป็นญาณ  ที่ ๙ ต่อจากนิพพิทาญาณ ที่มีความต้องการจะพ้นทุกข์ คือว่าเป็นญาณที่บ่ายหน้าเข้าทางนิพพานแล้ว เราได้อุปมา  แล้วนะคะว่า เมื่อถึงอาทีนวญาณนั้น เหมือนกับทางแยก  ที่เดินทางมา เมื่อมาถึงทางแยกแล้ว ทางไหนที่เป็นไป  เพื่อความทุกข์ หรือทางรก  ไม่เป็นไปเพื่อความสบาย  อีกทางหนึ่ง ก็มองดูแล้ว เห็นเป็นทางราบรื่น ตามที่เข้าใจ  ในความรู้สึกของผู้ปฏิบัตินั้นน่ะ  เมื่อเข้าใจอย่างนั้นแล้วก็ต้องเบื่อหน่ายในทางที่รก เบื่อหน่ายในทางที่จะเป็นไป เพื่อทุกข์ นิพพิทาญาณก็ต้องหันมาเดินในทางที่เห็นว่า  ทางนี้จะเป็นสุข เพราะมีฉันทะอยู่แล้วในพระนิพพาน  เพื่อจะพ้นจากทุกข์  นิพพิทาญาณนี่แปลว่าหันหน้าแล้ว  บ่ายหน้ามาแล้วในทางพระนิพพาน เข้าทางพระนิพพาน แล้ว อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา นั่นแหละ  ทางที่บริสุทธิ์ทีเดียว  ถ้าความเบื่อหน่ายในทุกข์เกิดขึ้นแล้ว นี่เป็นทางบริสุทธิ์

               ฉะนั้น นิพพิทาญาณนี้น่ะ ได้บ่ายหน้าเข้าทางแล้ว เดินทางพระนิพพานแล้ว มุญจิตุกัมยตาญาณนี้ จึงหมายถึง เป็นผู้ที่กำลังเดินทางอยู่ บ่ายหน้าเข้าทาง กำลังเดินอยู่ ในทางนิพพานนั้น ก็เป็นธรรมดาของผู้เดินทางใช่ไหม จิตใจของผู้เดินทางน่ะ ก็ต้องมีความรู้อยากจะให้ถึง จุดหมาย คนเดินทางทุกคนนี่น่ะ ต้องการจะให้ถึงจุดหมาย ที่ตนจะไปถึงใช่ไหม ทีนี้ในนิพพิทาญาณนี่น่ะ อะไรล่ะ เป็นจุดหมาย ก็คือพระนิพพานเป็นจุดหมาย

              ทีนี้ถามว่า นิพพิทาญาณน่ะ เห็นพระนิพพานแล้ว หรือยัง ถึงได้อยากไปนิพพาน

              เปล่า ! นิพพิทาญาณยังไม่เห็น แต่ว่าการไปถึง พระนิพพานในที่นี้นะคะ เป็นจุดหมายปลายทางที่ตนต้องการจะถึงนั้นน่ะ เพื่อพ้นจากทุกข์โทษที่เห็นใน อาทีนวญาณ

              นี่แหละ การอยากให้พ้นทุกข์โทษอย่างนี้ล่ะ ท่าน ถือว่า จิตนั้นได้หยั่งลงในพระนิพพาน แต่ว่ายังไม่ถึง นิพพานจริงๆ หรอก ธรรมที่พ้นทุกข์จริงๆ ก็ยังไม่ถึง แต่ว่า มีความเห็นว่า ถ้าเราได้พ้นจากทุกข์ คือสังขาร หรือได้พ้นจากสังขาร นามรูปนี้แล้ว เราจะพ้นจากทุกข์ เราจะเป็นผู้ปลอดภัย อันเป็นที่อันเกษม คือ ความรู้สึก อย่างนี้แหละ ชื่อว่ามีฉันทะในพระนิพพาน ชื่อว่าต้องการพระนิพพาน จิตใจในที่นี้ ก็ต้องมีความเพียรอย่าง ไม่ท้อถอย จะเพียรไปให้ถึงที่ เพราะรู้สึกว่า ที่ที่จะไปถึงน่ะ ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่เรา ก็มีความเพียรอย่างไม่ท้อถอย ในความพยายามที่จะให้ถึงที่สุดแห่งทางนั้น โดยไม่มี การแวะเวียนอยู่ในที่หนึ่งที่ใด ให้เป็นการเสียเวลาเลย รีบเร่งเดินไปด้วยความไม่ประมาท เพื่อพ้นจากทุกข์นั้น คนที่เข้าถึงขั้นนี้ จิตใจจะต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีว่าจะ เหลียวหลังกลับมา คือว่า จะกลับมาอีกคราวนี้ เอาไว้แค่นี้ ก่อนเถอะนะ หยุดไว้แค่นี้ก่อนเถอะ ออกจากกรรมฐาน แล้ว วันหลังมาทำใหม่ นี่แปลว่า แวะแล้วใช่ไหม เดินทาง แล้วยังไม่อยากถึงจริงๆ ถ้าอยากถึงจริงๆ ต้องเร่งรีบ  คนที่กำลังหนีทุกข์น่ะ เราคิดดูว่า เรากำลังหนีอันตราย ที่เราวิ่งหนีไปจากอันตรายต่างๆ เหล่านี้น่ะ มีไหม อยากจะแวะโน่น แวะนี่ มีไหมคะ เราต้องพยายามที่สุด ที่จะรีบเดินไปให้พ้น เพื่อความปลอดภัย นี่ต้องเป็น อย่างนี้ทีเดียว ไม่มีหรอกที่จะแวะไปที่โน่นก่อน มาคุยกัน ที่นี่ก่อน อย่างนี้ไม่มีเลย ก็ต้องเร่งรีบเดินไปด้วยความ ไม่ประมาทนะคะ เพื่อความพ้นทุกข์ที่เราเห็นนั่นน่ะ

                ที่ความรู้สึกของมุญจิตุกัมยตาญาณนี้ ท่านอุปมา เหมือนกับผู้ต้องโทษ หรือสัตว์ทั้งหลายที่ถูกคุมขังไว้ ก็จะมีแต่ความใคร่อยู่เสมอ หรือแทบจะทุกลมหายใจ เข้าออกก็ว่าได้ ที่มีความต้องการจะพ้นโทษ หรือออกจาก ที่คุมขังนั้น เหมือนกับมุญจิตุกัมยตาญาณ ที่อยากจะ ออกจากที่คุมขัง คือสังสารวัฏฏ์ ท่านเห็นว่าสังสารวัฏฏ์ เหมือนกับคุกเหมือนกัน ก็ด้วยความรู้สึกของผู้เดินทาง ที่ต้องการจะให้ถึงจุดหมายที่ตนต้องการ หรือต้องการ จะพ้นทุกข์ภัย คือออกจากสังสารทุกข์ ตามในปัญญาของ มุญจิตุกัมยตาญาณนั้น จึงเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสังขาญาณ ซึ่งเป็นญาณขั้นที่ ๑๐ นับจากนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้นมานะคะ

               ปฏิสังขาญาณนี่ ก็เป็นชื่อของปัญญาที่ทำให้รู้สึก ต้องการที่จะหาวิธีให้พ้นจากทุกข์ไปโดยเร็ว ถ้าพูดตามนี้ ก็คล้ายๆ กับว่า เอาธรรมอันใดอันหนึ่งมาพิจารณาหาวิธี หาหนทางที่จะออกจากทุกข์ คล้ายๆ กับอย่างนี้ ถ้าเรา ฟังดูแล้ว ปฏิสังขาญาณนี่น่ะคล้ายๆ กับเป็นผู้มีอุบายที่จะ ทำให้ออกจากทุกข์ได้นะคะ ที่จริงปฏิสังขาญาณนี่น่ะ เป็นผู้เดินทางมาแล้ว รู้จักทางดีแล้ว ใช่ไหมล่ะคะ เพราะนี่ อยู่ในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินะ และญาณอันนี้น่ะ ยังอยู่ในวิสุทธิอันนั้นแล้วก็บอกว่าจะ หาทาง ถ้าเราฟังดู เผินๆ ไม่นึกถึงจิตใจ เราไม่เอามาปรับปรุงดูกับรอยของ จิตใจแล้ว ก็ยากเหมือนกันที่จะเข้าใจ คำว่า หาทาง ในที่นี้น่ะ จะต้องหาอะไร เดินมาจนถึงวิปัสสนาขั้นที่ ๑๐ แล้ว

              ในวิสุทธิมรรค ท่านแปลว่า ปัญญาที่จะหาอุบายที่จะ ให้พ้นจากสังขาร ทีนี้ เราก็ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า คำว่า อุบาย ของท่านในที่นี้น่ะ หมายความว่า อย่างไร อันนี้ เราต้องเข้าใจนะคะ

               ก็การที่ปัญญาได้อารมณ์เช่นนี้ ก็เพราะเหตุว่า ในนิพพิทาญาณ ที่ได้ความรู้สึกอย่างนั้นน่ะ รู้สึกที่ว่า จะหาอุบายที่จะพ้นทุกข์ ก็เพราะเหตุว่า ในนิพพิทาญาณ นั้นน่ะ เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในทุกข์โทษของสังขาร นามรูป ด้วยลักษณะต่างๆ ซึ่งมีชาติ เป็นต้น ใน อาทีนวญาณนั้น เป็นทุกข์ เห็นโทษในอาทีนวญาณนั้น

                ลักษณะต่างๆ นี่ หมายความว่าอย่างไรคะ?

              คือว่า ไตรลักษณ์นี่น่ะ ท่านวางลักษณะไว้ ๔๐ ด้วยกัน อนิจจลักษณะ มี ๑๐ อย่าง ทุกขลักษณะ มี ๒๕ อย่าง อนัตตลักษณะ มี ๕ อย่าง รวมเป็น ๔๐ อย่าง ด้วยกัน เมื่อรวมเป็น ๔๐ ด้วยกันแล้ว นี่ก็เป็นกรรมฐาน อารมณ์ของวิปัสสนา ฉะนั้น วิปัสสนากรรมฐานนี่ก็มี ๔๐ อย่างเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่ ๔๐ อย่างสมถะ ไม่ใช่ อสุภ ๑๐, กสิน ๑๐ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่เที่ยง ๑๐ เป็นทุกข์ ๒๕ อนัตตา ๕ รวมเป็น ๔๐ นี่เป็นลักษณะของวิปัสสนา ที่จะพึงเห็นในวิปัสสนาญาณนั้น

                   การที่วางไว้มากมายอย่างนี้ เพราะว่าอะไร ที่ไหน เห็นดูอย่างไร จึงจะเห็นมาก?

                     ความจริงน่ะ เห็นไตรลักษณ์มาแล้ว ความไม่เที่ยงน่ะ เห็นตั้งแต่อุทยัพพยญาณแล้ว เห็นเกิดขึ้นดับไป ความ ไม่เที่ยงก็มีแล้ว จากเดิมตั้งแต่ตรงนั้นมาทีเดียว แต่ว่าก็ยัง ไปไหนไม่ได้ ตามธรรมดาของผู้ที่เดินอยู่ในวิปัสสนานี้ ไม่ไปในอารมณ์อย่างอื่นเลย นอกจากจะอยู่ในไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง หรือเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่ตัวได้กำหนดเห็นอยู่

                   เท่านั้น ไม่ได้ไปทางอื่น ทีนี้ เมื่อตัวกำหนดมากเข้าๆ ใช่ไหมคะ ความไม่เที่ยงต่างๆ ไม่ยั่งยืน อะไรต่ออะไร ไม่มีสาระ ไม่คงทน มีความประลัย อะไรอย่างนี้น่ะ นี่แหละ เห็นอยู่อย่างนี้แหละ ก็เห็นมากเข้าทุกที เห็นตัว ไม่เที่ยงมีลักษณะต่างๆ แล้วแต่ความรู้สึกที่จะเกิดขึ้น ในที่นั้น ที่เกิดมากที่สุด ๔๐ นี่น่ะ ท่านวางไว้ใน ปฏิสังขาญาณ ในปฏิสังขาญาณนี่น่ะ มีกำลังแก่กล้า และก็ไม่ไปอื่นหรอกค่ะ ก็เพราะในเวลานั้น มีไตรลักษณ์ เป็นอารมณ์ และมีชาติ เป็นต้น ตามที่เห็นในอาทีนวญาณ นั้น จึงมีใจใคร่จะพ้นจากนามรูปในมุญจิตุกัมยตาญาณ เมื่อใจใคร่จะพ้นจากนามรูปนั้น มีกำลังมากขึ้น ความ เบื่อหน่ายมากขึ้น ความต้องการจะพ้นก็ต้องมีกำลังมากขึ้น

                   คำว่า อุบาย ในที่นี้ หมายถึงอะไร ?

                  หมายถึงว่า ทำให้เกิดมีความรู้สึกรำพึงขึ้นในใจ แปลว่า กำลังเดินทางอยู่นั้นแหละ ทางนี้ไม่ใช่เป็นทางใกล้ เป็นทางไกล ทางที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์นี่ ก็เป็นทางไกล เพราะสังสารวัฏฏ์นี่ ไกลมากนะคะ ไกลไม่มีที่สุดทีเดียว เมื่อออกเดินแล้วก็รู้สึกว่า แหม เมื่อไรน่ะ จะถึง เหมือน อย่างเราเดินทางมานาน เมื่อไรจะถึงเสียที ถ้าเราเห็นทุกข์ เห็นโทษเข้า มีอาการเมื่อยล้า เหนื่อย อ่อนเพลีย อ่อนใจ  เห็นทุกโทษที่ปรากฏน่ะ เห็นมากเข้าทุกที เราก็ต้องบ่น เมื่อไรจะถึงสักทีนะ เดินมาเยอะแยะแล้ว คือว่า ท่านได้ ทำวิปัสสนามา พิจารณาไตรลักษณ์มามากมายเหลือเกิน แล้วก็เมื่อไรจะพ้นเสียที ที่ว่าเมื่อไรจะถึงน่ะ หมายถึง เมื่อไรจะพ้นเสียที แหมเห็นไม่เที่ยงมามากมายหลายอย่าง เมื่อไรจะพ้นไปจากไม่เที่ยงเสียที ทุกข์ก็เห็นมากมาย เมื่อไรจะพ้นไปจากทุกข์เสียที อนัตตาสิ่งไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร ก็เมื่อไรจะพ้นเสียที ความรู้สึกอย่างนี้แหละ ชื่อว่า เมื่อไรจะถึงเสียที คือเมื่อไรจะถึงนั้น หมายถึงว่า เมื่อไรจะพ้น เพราะว่า การพ้นจากสังขารทั้งปวงนั่นแหละ คือการถึงอยู่แล้ว ท่านก็ถือว่า จิตเป็นสันติบท บทหนึ่ง ที่จิตใจหรือปัญญานั้นได้หยั่งลงในพระนิพพาน ท่านเรียกว่า นี่เป็นญาณสันติบท ความรู้สึกที่หยั่งลงถึงพระนิพพาน นี่เป็นบทหนึ่ง ท่านวางไว้หลายบท ๕ บทด้วยกัน นี่น่ะ ว่าเมื่อไรจะถึงสักที รำพึงนึกอย่างนี้ว่า เมื่อไรจะพ้นเสียที นึกรำพึงในใจว่า ทำอย่างไรหนอ หรือเมื่อไรหนอ จึงจะ พ้นจากสังขารเหล่านี้ได้ หรือเราจะต้องเกิดอีกซักกี่ภพ กี่ชาติกันหนอจึงจะพ้น นี่แหละ คิดอยู่ในใจอย่างนี้ หรือ คิดว่า เราจะต้องมีปัญญารู้อะไรอีกหนอ จึงจะพ้นทุกข์ นี่แหละที่รำพึงอย่างนี้น่ะ ถือว่าเป็นอุบายหาทางที่จะพ้นทุกข์ แต่ในที่นั้นก็หามีอะไรที่นอกจากนามรูป กับลักษณะของนามรูปที่มีลักษณะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งมีอยู่ในจำนวน ๔๐ อย่างนั้นไม่ ๔๐ อย่างนี้ คืออะไร มีการเห็นว่า ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นไปชั่วขณะหนึ่ง นี่อย่างนี้ ใน ๔๐ อย่าง ก็มี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานะคะ ใน ๓ อย่างนี้น่ะ มีความไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน หรือเป็นไปชั่วขณะหนึ่งเป็นต้น หรือการบีบคั้น ทำให้เป็นไปเพื่ออาพาธ นี่เป็นลักษณะของทุกข์ นี่ยกขึ้นมาพอเป็นตัวอย่างนะคะ หรือเป็นธรรมที่ไม่มี สาระแก่นสาร เป็นธรรมที่ว่างเปล่าจากเจ้าของ สังขาร ทั้งหลายนี่น่ะ เป็นธรรมที่ว่างเปล่าจากเจ้าของ ไม่มี ผู้ปกครอง ไม่อยู่ใต้อำนาจใคร นี่เป็นลักษณะของอนัตตา เห็นเบญจขันธ์เหมือนกับบ้านร้าง ไม่มีเจ้าของ ในบางแห่ง ก็แสดงว่า เจ้าของหรือผู้ปกครอง ได้แก่ สติสัมปชัญญะ ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะแล้ว ก็เหมือนกับบ้านร้าง ไม่มีผู้ปกครอง ฉะนั้นโจรผู้ร้าย คือ กิเลสต่างๆ น่ะ ย่อมเข้า มาอาศัยอยู่ในเบญจขันธ์นี้ คืออยู่ในบ้านนี่น่ะ ใช่ไหมล่ะ ถ้าบ้านไหนที่มีผู้ปกครอง มีสติสัมปชัญญะ หรือมี อินทรีย์สังวร อย่างนี้ละก็บ้านนั้น โจรผู้ร้ายก็ไม่สามารถ จะเข้ามาอาศัยได้ที่ท่านอุปมาอย่างนี้ก็มีนะคะ

                เมื่อยิ่งพิจารณาหนักเข้า ก็เห็นในลักษณะใด ลักษณะหนึ่ง ก็ยิ่งเห็นในลักษณะนั้นมากขึ้น ท่านจำแนก ลักษณะของไตรลักษณ์ไว้ ๔๐ ประการนะคะ ตามที่ได้ อธิบายมาแล้วค่ะ มีความไม่ยั่งยืน หรือแตกสลายไป ในชั่วขณะหนึ่ง เป็นอนิจจลักษณะ ๑๐ อย่าง ทุกขลักษณะ มี ๒๕ อย่าง มีการข่มเหง และบีบคั้น ให้เป็นไปเพื่ออาพาธ เป็นต้น อนัตตลักษณะ มี ๕ อย่าง มีความไม่เป็นแก่นสาร และเป็นธรรมที่ไม่มีเจ้าของ เป็นต้น รวมเป็น ๔๐ ใน ๔๐ ประการนี้ เป็นกรรมฐานของวิปัสสนา หรือจะว่า เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาก็ได้ ที่จำแนกอารมณ์ของ วิปัสสนาออกเป็น ๔๐ อย่างนี้ ก็เพราะเหตุว่า เป็นไปตาม อำนาจของวิปัสสนา ของปัญญาที่ผู้จะเข้าไปเห็นผู้จะ เข้าไปพิจารณาน่ะ บางคนน่ะพิจารณาเห็นเพียงอย่างเดียว เท่านั้น ก็สำเร็จได้ บางคนก็ยังไม่พอเห็นเพียงอย่างเดียวน่ะ ไม่สามารถจะทำลายความยินดีของตัณหาและทิฏฐินั้นได้ ต้องพยายามเห็นมาก ยิ่งเห็นมาก ยิ่งเบื่อมาก ยิ่งเห็นโทษ มากเท่าไร ใจก็จะยิ่งเร่งเร้าเพื่อจะพ้นทุกข์อันนั้นมากขึ้น อย่างนี้ก็ตามอัชฌาสัยนะคะ นี่ด้วยอำนาจของวิปัสสนา หรือของปัญญา ถ้าผู้พิจารณาทุกข์มาก ก็เห็นทุกข์มาก ใน ๒๕ อย่างนั้นน่ะ อาจจะเห็นมากตั้ง ๒๕ อย่าง

                แต่ปัญญาบารมีนั้นมีน้อยก็ยังไม่พบไตรลักษณ์อันใด อันหนึ่งนะ แล้วก็ผู้นั้นน่ะ ไม่มีทางที่จะออกจากทุกข์นี้ ได้เลย เด็ดขาด แน่นอน เพราะมีทางเดียวเท่านั้นนะ อย่าลืม นี่นะถือว่าไตรลักษณ์นี้ เป็นตัวอุบายนะคะ เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ด้วยลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้นำส่งถึงวิโมกข์ ๓ ไตรลักษณ์นั้น จะเป็นผู้นำเรา ไปส่งพระนิพพานนะ ไม่ใช่คนอื่นนำ ใครๆ นำไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ไตรลักษณ์แล้วละก็ จึงถือว่าเป็น ผู้นำแล้ว ไตรลักษณ์น่ะ เป็นผู้นำไป ไม่ใช่อย่างอื่นเลย ส่งถึงวิโมกข์ ๓ หรือนิพพาน ๓ มีอนิมิตตนิพพาน เป็นต้น ที่มีอนิจจลักษณะเป็นผู้นำส่ง ถ้าหากว่า นิพพานที่ อนิจจลักษณะนำส่ง นิพพานนั้นชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน กับ เป็นธรรมที่พ้นจากโทษภัย ตามที่เห็นด้วยอนิจจานุปัสสนา ในลักษณะ ๑๐ อย่าง ในปฏิสังขาญาณนั้น เพราะท่าน จำแนกไตรลักษณ์ออกเป็น ๔๐ อย่างนั้น ก็เป็นไปด้วย อำนาจอารมณ์ของปัญญาที่ชื่อว่า ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ซึ่งแปลว่า หาอุบายในทางพ้นทุกข์ ซึ่งหมายความว่า จิตที่ประกอบด้วยปัญญานั้น มิได้เป็นไปในอารมณ์อื่น ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสนั้น พิจารณาอยู่แต่ในอารมณ์ ของไตรลักษณ์เท่านั้น ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ตาม นิสัยปัจจัยของตนๆ ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสของไตรลักษณ์

                 ที่จะเกิดขึ้นให้เห็นมากกว่าในโอกาสของญาณอื่นๆ นี่น่ะ ในปฏิสังขาญาณนี่น่ะ เพราะการเห็นไตรลักษณ์มากมาย หรือชัดเจนนั้นเอง ก็เป็นการทรมานกิเลสให้หมดไปมาก เท่านั้น เพราะปัญญาที่สามารถจะทำลายกิเลสได้นั้น ปัญญานั้นจะต้องอาศัยไตรลักษณ์เป็นอารมณ์อย่างเดียว เท่านั้น ฉะนั้น ทางไปพระนิพพานนั้นจึงมีทางเดียวเท่านั้น

ตามพระบาลี ที่กล่าวไว้ในติลักขณาทิคาถานั้นว่า

สพฺเพสงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺายปสฺสติ

ผู้ใดเห็นสังขารทั้งหลายด้วยปัญญาว่าไม่เที่ยง

อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา

เมื่อนั้น ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ อันนั้นแหละเป็น หนทางอันบริสุทธิ์

สพฺเพสงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺายปสฺสติ

อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา

ผู้ใด เห็นสังขารทั้งหลาย ด้วยปัญญาว่าเป็นทุกข์ ผู้นั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นหนทางอันบริสุทธิ์

สพฺเพธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺาย ปสฺสติ

อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา

            ผู้ใดเห็นธรรมทั้งหลาย ด้วยปัญญาว่าไม่ใช่ตน เมื่อนั้น ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ เห็นไม่เที่ยง ก็เบื่อหน่ายในทุกข์ เห็นทุกข์ก็เบื่อหน่ายในทุกข์ เห็นอนัตตาก็เบื่อหน่ายในทุกข์ นี่แหละ ท่านมีทุกข์เป็นตัวยืน ฉะนั้น ในสัจจธรรม ย่อมมีทุกข์เป็นประธาน ก็ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์เหมือนกัน เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา นั่นเป็นหนทางอันบริสุทธิ์นี่แสดงว่า มีทางเดียว ใช่ไหมคะ ทางบริสุทธิ์นั้นที่จะให้ถึงวิสุทธิน่ะ

              ในพระคาถาบทนี้ ก็พอจะเป็นเครื่องยืนยันรับรอง ให้เราเห็นแล้วว่า ปัญญาที่เข้าไปรู้ไตรลักษณ์เท่านั้น ที่จะประหารกิเลสให้เข้าถึงทางที่บริสุทธิ์ได้ ส่วนปัญญา อย่างอื่นนอกจากนั้นแล้วไม่มีเลย

                เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าถึงความบริสุทธิ์จาก กิเลสได้ เราจะต้องประหารกิเลสเสียก่อน จะเอาอะไร มาประหารกิเลสล่ะ ก็ต้องเอาปัญญา ปัญญาที่รู้อะไรล่ะ ปัญญาที่รู้ไตรลักษณ์เท่านั้น

                ฉะนั้น ปัญญาที่จะพิจารณาไตรลักษณ์ใน ปฏิสังขาญาณนั้น ท่านจึงถือว่าเป็นอุบายในทางที่จะให้ พ้นทุกข์ เข้าใจเนื้อความตามนี้นะคะ เพราะว่า อ่านตาม พยัญชนะแล้ว ถ้าไม่เข้าใจความมุ่งหมายของจิตใจ ในความรู้สึกละก็อาจจะทำให้เขวไป และอาจจะเอา จินตามยปัญญามาใช้ในที่นั้นด้วย อันนี้ไม่ใช่นะ เป็นตัว ภาวนาญาณ ฉะนั้น ก็ขอจบปฏิสังขาญาณโดยสังเขป นะคะ

                ทีนี้ ต่อจากปฏิสังขาญาณนี่อะไร

               ก็คือสังขารุเปกขาญาณ ซึ่งเป็นญาณที่ ๑๑ เรียก ตามพระบาลีว่า “สังขารุเปกขาญาณ”

              ในคำว่า สังขารุเปกขาญาณนี้ เป็นชื่อของปัญญา ที่วางเฉยต่อสังขาร คือในลักษณะ ไม่เที่ยง เป็นต้น หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา อันใดอันหนึ่ง วางเฉย อยู่ในลักษณะนี้นะคะ ในทุกข์ในโทษที่เห็นมาแล้วนั่นนะ วางเฉยตามที่ได้เห็นมาแล้วในปฏิสังขาญาณนั้นเอง เพราะ สังขารุเปกขาญาณนั้นก็ได้ปัจจัยมาจาก ปฏิสังขาญาณ นั้นเอง ด้วยเหตุที่ได้พิจารณา เห็นไตรลักษณ์ อันใดอันหนึ่ง โดยมากในปฏิสังขาญาณนั้น ปัญญาที่รู้เห็นในอารมณ์ อันแน่ชัดนั้น ก็ทำลายกิเลส ความยึดมั่น ถือมั่น ในที่นั้นว่า เป็นของเที่ยง เป็นความสุข หรือว่าเป็นตัวเป็นตน หรือ เป็นสิ่งที่มีสาระแก่นสารที่ควรเห็นว่า เป็นสรณะที่พึ่ง ในสังขารทั้งปวงนั้น ไม่มีเลยแม้แต่สติ และปัญญาใน ที่นั้นๆ ตอนนี้ก็ไม่มีความยินดี ไม่มีความปรารถนา เห็นว่า จะเป็นสรณะ สังขารในอุเบกขาญาณนี่นะ ตอนนี้ใน พระบาลีมหาสติปัฏฐานกล่าวไว้ว่า

                “ยาวเทว าณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตฺตายแปลว่า ปัญญาก็เพียงสักแต่ว่าเป็นที่รู้ สติก็เพียงสักแต่ว่าเป็น ที่อาศัยระลึก นี่ในมหาสติปัฏฐาน ท่านก็วางของท่านไว้นะ

                ซึ่งแปลว่าปัญญา ก็เพียงสักว่าเป็นที่เข้าไปรู้เท่านั้น คือ ที่เห็นไตรลักษณ์นั่นเองแหละ ที่เราปรารถนาอยากได้กัน เหลือเกินนะ แต่ว่าท่านผู้ที่เกิดวิปัสสนาแล้ว ก็เห็นว่า ปัญญา ก็เพียงสักแต่ว่ารู้เท่านั้น ไม่ใช่วิเศษวิโสอะไร จะเป็นสรณะอะไร ปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีหน้าที่ แต่ว่ารู้เท่านั้นแหละ ต่างก็ไม่ใช่เที่ยง แน่นอนอะไร เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน สติก็เป็นเพียงแต่อาศัยระลึก เท่านั้น หาได้เป็นสรณะแก่นสาร ที่จะเป็นที่พึ่งอันแท้จริงไม่ เพราะสติเกิดแล้ว ก็ดับเหมือนกัน ไม่เที่ยง ไม่มีแก่นสาร ไม่ยั่งยืน สิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่มีแก่นสาร ไม่ยั่งยืนน่ะ สิ่งนั้นน่ะ หรือจะเป็นสรณะอันแท้จริงได้ ท่านถือว่าไม่ใช่

                   ฉะนั้น พวกเราที่เข้ากรรมฐานอยู่น่ะ โดยมากตัณหา และทิฏฐินั้นเข้าอาศัย กิเลสใช่ไหมเพราะถือว่า ไม่ได้ ต้องทำสติให้มากอย่างนี้นะคะ ถูกแล้ว การทำสติให้มาก เป็นของดี แต่ว่า มันเป็นไปด้วยอำนาจของตัณหาที่มี ความปรารถนา ไม่ได้ สติจะขาดไม่ได้เลย ถ้าขาดแล้วไม่ได้ จะต้องเป็นโมหะ ต้องตกเป็นอกุศลไป แม้แต่จะนั่งอยู่ เฉยๆ ก็ไม่ได้ ต้องทำไปอย่างนี้ นั่นแหละ เป็นปัจจัยมาจาก ตัณหา เพราะทำอะไรทุกอย่างจะต้องมีเหตุผล ถ้าไม่มี เหตุผลแล้วสิ่งนั้นไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่อารมณ์ของปัญญาเลย เมื่อความรู้สึกในที่นั้นเกิดขึ้นว่า ไม่ได้ ต้องทำอย่างนี้

                  จะได้เกิดสติ เห็นว่าสตินั้นมีสาระ ความปรารถนาในสติ ก็เกิดขึ้น สตินั้นก็เป็นที่อาศัยของกิเลสตัณหา เห็นใน วิปัสสนูปกิเลส ยังเป็นที่อาศัยของกิเลสตัณหา เห็นใน วิปัสสนูปกิเลส ยังเป็นที่อาศัยอยู่นะคะ เมื่อท่านเห็นว่า สักแต่ว่าเพียงอาศัยระลึกเท่านั้น หาได้เป็นสรณะแก่นสาร ที่จะเป็นที่พึ่งอันแท้จริงไม่ เพราะเหตุว่า สติและปัญญา ที่เกิดขึ้นในที่นั้น ก็ยังต้องตกอยู่ในคติของไตรลักษณ์ นั่นเอง หาควรที่จะยึดถือว่า นั่นเป็นตน หรือเป็น ของตนไม่ ท่านก็อยากพ้นเหมือนกัน ท่านก็อยากพ้นจาก สติและปัญญาใช่ไหม ไม่ใช่แต่เพียงว่าท่านพยายามจะหา สติปัญญา ในที่นั้น ตัณหาและทิฏฐิไม่มีที่อาศัยแล้ว เพราะ ในที่นี้เป็นวิสุทธิแล้วนะคะ ทั้งนี้เพราะปัญญาแก่กล้าขึ้น ที่มีความรู้สึกอย่างนี้น่ะ ก็รู้สึกด้วยอำนาจของปัญญา นั่นเอง ปัญญาก็ไม่ได้ยินดีในตัวของปัญญาเองนะคะ เพราะอำนาจของปัญญาแก่กล้าขึ้น จึงทำลายความเห็นผิด อันเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่น ถือมั่นนั้น หมดไปจากโลก คือเบญจขันธ์ ด้วยอาการ ๑๒ อย่าง ละความยึดมั่น หรือว่าอุเบกขาวางเฉยอยู่ด้วยอาการ ๑๒ อย่าง เช่นอย่างไร

๑. เห็นว่า เบญจขันธ์นี้มิใช่สัตว์

๒. มิใช่บุคคล

๓. ไม่ใช่ชีวะ

 ๔. ไม่ใช่ตน

๕. ไม่มีตน

๖. ไม่ใช่เรา

๗. ไม่ใช่ของเรา

๘. ไม่ใช่ของคนอื่นด้วยไม่มีใครเป็นเจ้าของ เบญจขันธ์ ตัวเองก็ไม่มีที่จะเป็นเจ้าของเบญจขันธ์ และ เบญจขันธ์นั้นก็ไม่ใช่ของใครอีกด้วย

๙. ไม่ใช่หญิง

๑๐. ไม่ใช่ชาย

๑๑. ไม่ใช่ของยั่งยืน

๑๒. ไม่ใช่ของที่ควรยินดี

            นี่ในสังขารุเปกขาญาณ ความรู้สึกในสังขารุ- เปกขาญาณ เพราะความรู้สึกอย่างนี้ วางเฉยอยู่ในอาการ ในปัญญาที่มีความรู้สึกอย่างนี้ จึงเป็นเหตุให้วางเฉย

                ก็เมื่อปัญญา ได้พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย ว่างเปล่าจากตัวตนและตัวเรา เช่นนั้นแล้วก็ต้องเห็นว่า สิ่งทั้งหลายในโลก หรือแม้แต่เบญจขันธ์ทั้ง ๕ นั้น ก็ไม่ใช่ของตน หรือไม่ใช่ของเรา ก็เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ของตน หรือไม่ใช่ของเราแล้ว ก็ต้องเห็นว่า เราไม่มีหน้าที่อะไร ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องในสิทธิของคนอื่น ใช่ไหม ทุกอย่างน่ะ

                ไม่ว่าอะไรมันจะเป็นอะไรไปน่ะ ในเมื่อเรารู้สึกว่าไม่ใช่ ของเราแล้ว เราก็ไม่เดือดร้อนใช่ไหม เราก็ต้องวางเฉย แต่ว่าถ้ามันรู้สึกว่า เป็นของเราแล้ว ก็ไม่ได้ละ มันต้อง ทำให้เรานี่กระสับกระส่ายถ้าเป็นอย่างนี้นะคะ ที่ท่าน วางเฉยน่ะ ท่านรู้ไม่ใช่ตน และไม่ใช่ของตนแล้วแต่ซิ แม้เบญจขันธ์นี่ ก็ไม่ใช่ตน มันจะมีอะไร จะเป็นอะไร ก็ตามเถอะ ท่านก็ถือว่าตนไม่มีสิทธิอะไรที่จะเข้าไป เกี่ยวข้องและแก้ไข และก็ไม่มีส่วนที่จะเข้าไปรับผิดชอบ ในสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นด้วย นี่แหละ ความรู้สึกใน สังขารุเปกขาญาณนะคะ

                       ก็เมื่อปัญญาได้เข้าไปถึงความรู้ดังว่านั้นแล้ว ก็ต้อง เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จะต้องวางเฉยในสังขารเหล่านั้น จิตใจก็ต้องเป็นอุเบกขา ไม่มีความยินดียินร้ายในสังขาร ทั้งปวง แต่เฉยในที่นั้น ต้องเป็นไปร่วมกับความเบื่อหน่าย นะ ความเบื่อหน่ายนี่น่ะ เป็นเหตุให้เร่งเร้าจิตที่จะให้ พ้นจากทุกข์ ไม่ใช่เฉยๆ นะ ต้องมีความเบื่อหน่ายด้วยนะคะ ต้องเบื่อหน่ายความเป็นไปของสังขารในภพทั้ง ๓ มีชาติ เป็นต้น

                  ก็เพราะเหตุแห่งความรู้สึก ดังที่ได้อธิบายมานั้นเอง ที่เป็นปัจจัยอุดหนุนให้จิตนั้น มีฉันทะในพระนิพพาน

                 ยิ่งขึ้น อยากจะถึงธรรม อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์นั้นยิ่งๆ ขึ้น ก็คำว่า ต้องการให้ถึงธรรม อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ในที่นี้ หมายความว่า ความไม่เกิดขึ้นของสังขารทั้งหลาย เมื่อจะ พ้นจากความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ใช่ไหมคะ หมายถึง ความไม่เกิดขึ้นของสังขารทั้งหลายที่ทุกแห่ง ทั้งนี้ก็ เพราะเหตุว่า ปัญญาที่เข้าไปพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของสังขารทั้งปวงในที่นั้น ซ้ำๆ ซากๆ อยู่เช่นนั้น ไม่รู้จัก จบสิ้นไปสักที รู้สึกว่า เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย และเป็นของ ที่ไม่น่ายินดี และกำลังเบื่อหน่ายอยู่ด้วย ไม่ใช่แต่เพียงว่า น่าเบื่อหน่ายเฉยๆ นะ ของเราน่ะยังมี มันยังมีน่าเบื่อหน่าย แต่ว่ามันยังไม่เบื่อหน่าย มันเป็นแต่เพียงว่า น่าเบื่อหน่าย ของท่านน่ะ เห็นเป็นที่น่าเบื่อหน่าย และกำลังเบื่อหน่าย ด้วย

                 เพราะความเบื่อหน่ายนั่นแหละ จึงทำให้คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดแล้ว ก็พ้นจากทุกข์ มีกิเลส เป็นต้น นั่นแหละ เบื่อหน่าย และอยากจะพ้นจากสิ่งนั้น

           สิ่งนั้น คืออะไร

          สิ่งนั้น ก็คือ ความเกิดขึ้นและความดับไปของสังขาร ทั้งหลายนั้นเอง ไม่มีสิ่งอื่นเลยค่ะ ความรู้สึกในที่นั้นน่ะ คือ การเกิดขึ้นและดับไปแค่ นั้นเอง

            ฉะนั้น ท่านจึงมีอุปมาในความรู้สึกพอใจในการ ที่จะถึงนิพพาน ในธรรมที่จะพ้นจากสังขารทั้งปวง ในสังขารุเปกขาญาณนั้น ท่านอุปมาเหมือนบุรุษที่ เดินทางไกลไปในฤดูแล้งถูกความร้อนแดดแผดเผา และ ประกอบด้วยความเหน็ดเหนื่อย จึงมีความกระหายน้ำ เป็นที่สุด และมีความปรารถนาอันยิ่งที่จะได้ดื่มน้ำ พวกที่ มีจิตใจอยากจะเข้าถึงพระนิพพานน่ะ ท่านยกข้ออุปมา ไว้อย่างนี้นะคะ

                ข้ออุปมานี้ฉันใด ผู้ที่ปรารถนานิพพานในสังขารุเปกขาญาณก็ฉันนั้น

              เมื่อใดพูดมาถึงในที่นี้แล้ว ก็ควรจะเข้าใจในเหตุของ การที่วางเฉยในที่นั้นด้วยว่า ความวางเฉยที่เกิดในที่นั้นน่ะ ไม่ใช่เฉยด้วยอำนาจของเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะอาศัย มัชฌัตตารมณ์ คืออารมณ์ที่จะไม่เป็นเหตุให้เกิดยินดี ยินร้าย แล้วมันก็เฉยๆ ที่เฉยด้วยอุเบกขาเวทนา เพราะว่า อารมณ์นั้น ไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดความรัก หรือความโกรธ แต่ว่าในที่นี้ ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ และก็ไม่ใช่เฉยเพราะ ด้วยอำนาจของสมาธิ เมื่อทำสมาธิมากๆ เข้า จิตก็สงบ จากนิวรณ์ทั้งปวง ใจก็ไม่มีความยินดียินร้ายเกิดขึ้น เหมือนกัน อันนี้ก็ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ ไม่ใช่เฉยๆ อย่างนั้น  หรือไม่ใช่เฉยเพราะโมหะ คือ จิตที่ไม่รู้ประสีประสา อะไรเลย โมหะนี่น่ะ ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ใช่ไหมคะ คือว่าธรรมดาโมหะน่ะ ไม่รู้จักประสีประสา เหมือนเด็กที่ไม่รู้จักประสีประสาเหมือนกันนะ ใครจะด่า ใครจะแช่ง ก็เฉย เฉยเพราะไม่รู้ นี่เฉยเหมือนกัน เพราะโมหะ เป็นเหตุ

                แต่ว่า เฉยในสังขารุเปกขาญาณ ไม่ใช่เฉยอย่างนั้น เป็นความเฉยที่อยู่ในอารมณ์ไตรลักษณ์ เฉยที่รู้ไตรลักษณ์ อยู่นะ ไม่ใช่เฉยโดยที่ไม่มีอารมณ์ของไตรลักษณ์ ฉะนั้น เฉยอย่างโมหะ ก็ไม่มีไตรลักษณ์ เพราะไตรลักษณ์นี่ เป็นอารมณ์ของปัญญา ไม่ใช่อารมณ์ของโมหะ เพราะฉะนั้น การเฉยในที่นั้น เฉยอยู่ในปัญญาที่มีไตรลักษณ์เป็น อารมณ์อยู่นะ หรือว่าเฉยด้วยอุเบกขาเวทนา ก็ไม่ใช่ เพราะ อุเบกขาเวทนาไม่สามารถจะมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ได้ หรือว่าเฉยด้วยสมาธิ เมื่อทำจิตสงบมากๆ เข้า มันก็เฉย เหมือนกัน แต่ว่ามีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์หรือเปล่า ในที่นั้น ไม่มีใช่ไหมคะ แต่อันนี้เฉยอยู่ในอารมณ์ของ ไตรลักษณ์ อันใดอันหนึ่งนะคะ ที่เกิดจากปัญญาที่รู้ไตรลักษณ์เป็นเหตุ เพราะปัญญาอันนี้ได้เข้าไปทำลาย ความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นเหตุให้เกิดความยินดียินร้าย ในที่นั้นน่ะ ปัญญาได้ทำลายเสียแล้ว

               โดยเหตุนี้ ปัญญาในที่นั้น จึงชื่อว่า สังขารุเปกขาญาณ นี่เฉยเพราะปัญญานะ ปัญญาเข้าไปทำลายกิเลสความ ยินดียินร้ายได้แล้ว จึงเฉย ไม่ใช่เฉย เพราะไม่รู้อะไร? รู้ไตรลักษณ์ และในสังขารุเปกขาญาณนี้ ท่านสงเคราะห์ ด้วยอารมณ์ของญาณทั้ง ๓ ประการ คือ :-

๑. มุญจิตุกัมยตาญาณ

๒. ปฏิสังขาญาณ

๓. สังขารุเปกขาญาณ

                 ญาณทั้ง ๓ นี้ ท่านถือโดยอรรถแล้วเป็นอันเดียวกัน แต่ว่ากำลังอ่อน กำลังแก่เท่านั้นเอง เป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่ด้วยพยัญชนะ แต่เนื้อความนั้น ถือว่า เป็นอย่างเดียวกัน เพราะเหตุว่า ในอารมณ์ของปัญญา ทั้ง ๓ นี้ เมื่ออารมณ์ของปัญญาอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาอีก ๒ ขั้นนั้น ก็ร่วมอยู่ด้วย หรือเป็นไปด้วยอารมณ์ ทั้ง ๓ แต่ที่แยกไว้เป็น ๓ ในที่นี้นั้น ก็ให้เป็นไปตาม อัชฌาสัยของสัตว์ ของบุคคลที่มีปัจจัยมาไม่เหมือนกัน ก็ขอจบสิ้นสังขารุเปกขาญาณโดยสังเขปเพียงเท่านี้ก่อน นะคะ

               เมื่อคราวที่แล้ว ได้อธิบายจบสังขารุเปกขาญาณ นะคะ

               สังขารุเปกขาญาณน่ะอะไรคะ ที่ ได้ อธิ บายมาแล้ วน่ะคือ ความวางเฉยในอารมณ์ คือในสังขาร หรือใน นามรูป ที่ตนกำลังเพ่งดูอยู่นั้นเอง

              ที่วางเฉยในที่นี้ เพราะอะไร ? เพราะความเฉยนี่ มีหลายอย่างนะคะ เฉยเพราะโมหะก็ได้ เฉยเพราะสมาธิ ก็ได้ เฉยเพราะปัญญาก็ได้มีหลายอย่าง  เฉยในสังขารุเปกขาญาณ ไม่ใช่เฉยด้วยอุเบกขาเวทนา หรืออำนาจของสมาธิ หรืออำนาจของโมหะ ที่ไม่รู้ อะไร ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่า เฉยในสังขารุเปกขาญาณ นี้ เฉยเพราะความรู้ เฉยเพราะปัญญาที่เข้าไปรู้ความเป็นจริง แล้วว่า สังขารทั้งหลายเป็นอย่างไร ไม่ควรจะไปยึดมั่น ก็จึงปล่อยวางเสีย รู้สึกว่า ไม่ใช่ตน และไม่ใช่ของตน โดยเหตุนี้เอง ท่านจึงเฉย เบญจขันธ์ของท่าน ก็ถืออย่างนั้น เหมือนกัน และในสังขารุเปกขาญาณนี้ สงเคราะห์ด้วย ญาณ ๓ ท่านสงเคราะห์รวมไปว่า ในสังขารุเปกขาญาณ นี้ สงเคราะห์รวมด้วยญาณทั้ง ๓ คือ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ รวม ๓ ประการด้วยกัน ถ้าถือเอาโดยอรรถแล้ว ก็เป็นอย่างเดียวกัน คือว่า ได้ญาณใดญาณหนึ่ง ก็ถือว่าได้ทั้ง ๓ ญาณเหมือนกัน เมื่อได้ญาณใดญาณหนึ่ง ญาณอันนั้นจะต้องเป็นปัจจัยให้อารมณ์ของทั้ง ๓ ญาณ จะต้องรวมอยู่ในที่หนึ่ง เช่นเห็นว่าสังขารเป็นทุกข์ เป็นโทษอยากจะพ้นจากสังขาร และ หาอุบายจะพ้นจากสังขาร แล้ววางเฉยต่อสังขาร นี่อารมณ์ ต้องร่วมกัน ถึงแม้ว่า ที่วางเฉยอยู่ในสังขารนี่ ก็ต้องมี นามรูปเป็นอารมณ์เหมือนกัน ก็เพราะเห็นแล้วว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน จึงได้อยากจะพ้น เพราะความจะพ้นนั่นแหละ กิเลสก็จับไม่ได้ ความยินดียินร้ายที่จะเป็นไปเพื่อวัฏฏะนี่ ก็ไม่มี จึงได้วางเฉยได้ เพราะละความยึดมั่นถือมั่น ที่ละ ความยึดมั่นถือมั่น เพราะอะไร ก็เพราะเห็นว่าสังขาร ทั้งหลายนี้ เป็นโทษ จึงได้ละความยึดมั่น ละความยินดี ในที่นั้น เพราะฉะนั้น จึงว่าอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้น อารมณ์นั้น ก็ถือว่า ต้องมีร่วมกัน ต้องถือว่าเป็นอันเดียวกัน ต่างกัน ก็แต่พยัญชนะเท่านั้น เพราะเหตุว่า ในอารมณ์ของปัญญา ทั้ง ๓ นั้น เมื่ออารมณ์ของปัญญาอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ปัญญานั้นก็ย่อมร่วมอยู่ด้วย หรือเป็นไปด้วยในอารมณ์ ทั้ง ๓ แต่ที่แยกไว้เป็น ๓ นั้น ก็โดยให้เป็นไปตามอัชฌาสัย ของบุคคล จะมีปัจจัยไม่เหมือนกัน และบางคน เมื่อเข้าถึง มุญจิตุกัมยตาญาณแล้ว ก็สามารถบรรลุนิพพานได้ ไม่ต้อง มาถึงปฏิสังขาญาณก็ได้ หรือเมื่อเข้าถึงปฏิสังขาญาณ ก็บรรลุได้ ไม่ต้องมาถึงสังขารุเปกขาญาณก็ได้ นี่ก็จบ สังขารุเปกขาญาณโดยสังเขปเพียงแค่นี้นะคะ

              ต่อไปก็จะอธิบายเรื่องอนุโลมญาณ ซึ่งเป็นญาณ ที่ ๑๒ นับแต่นามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้นมา

              ก็ในคำว่า อนุโลมญาณนี้ เป็นชื่อของปัญญาที่มีกำลังแก่กล้า เต็มรอบ มาจากสังขารุเปกขาญาณ ถ้าจะสงเคราะห์โดย โพธิปักขิยธรรมนั้น ก็ได้แก่ปัญญาที่สมบูรณ์ ด้วย องค์โพชฌงค์สมบูรณ์แล้ว ซึ่งเป็นปัญญาที่มีกำลังพอที่จะ อนุโลมให้เห็นอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ประการได้ นี่แหละ ปัญญาอันนี้แหละ เรียกว่า อนุโลมญาณ ญาณนี้ก็คือปัญญานั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าพระโยคีบุคคลนั้นได้ส้องเสพอารมณ์ในสังขารุเปกขาญาณมามากมายแล้ว ศรัทธาและฉันทะในการพ้นทุกข์ ย่อมมีกำลังมากขึ้น สติและความเพียร ก็ย่อมมีกำลังสมบูรณ์พร้อมเพรียงสม่ำเสมอ ที่จะอนุโลมให้เห็นอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ อนุโลมนี่หมายถึงว่า ปัญญานี้พร้อมที่จะอนุโลมให้เห็น อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นะคะ และอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ท่านจัดว่าเป็นโลกียะอยู่ ๒ สัจจะ ซึ่งได้แก่ ทุกข์สัจจะ และสมุทัยสัจจะ ส่วนนิโรธสัจจะกับมัคสัจจะนั้น เป็นโลกุตตรสัจจะ

          ในส่วนโลกียะทั้ง ๒ สัจจะนั้น ปัญญาที่เป็น โลกียวิปัสสนา ได้กำหนดมาดีแล้ว หรือว่าได้ทำกิจมาดีแล้ว ทุกข์มีกิจควรกำหนดรู้ สมุทัยควรละแล้วลงมือรู้ ลงมือละ ในกิจ ๒ สัจจะนี่นะ ในปัญญาวิปัสสนาโลกียะ กำหนด มาดีแล้ว จนกระทั่งถึงอนุโลมญาณนี้ แปลว่า แก่รอบ เต็มที่แล้ว ถ้าจะสงเคราะห์ด้วยปริวัฏฏ์ ๓ และญาณ ๑๒ ซึ่งได้แก่ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ เพราะใน อริยสัจนี้มีญาณ ๓ แต่ละอันๆ กำกับไว้ สัจจญาณรู้ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ สมุทัยควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง มัคควรเจริญ ที่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันนี้ ควรมีกิจทำอย่างไร หรือว่า กิจของธรรมอันนี้ ควรอยู่ในกิจอันไหน ถึงแม้จะ เป็นไปร่วมกันก็ตาม แต่ท่านก็แยกกิจหน้าที่ไว้เพราะกิจนั้น อาจร่วมไปได้เหมือนกับศีล สมาธิ ปัญญา สำหรับกาย สำหรับใจ สำหรับปัญญาก็อย่างเดียวกันค่ะ คือร่วมกันไป มีสัจจญาณ มีกิจจญาณ มีกตญาณ มี ๓ ญาณนะคะ สัจจะ ๔ สัจจะ ญาณ ๓ ก็ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เรียกว่า ญาณ ๑๒ ในญาณทั้ง ๓ นี้ จะเป็นไปในอริยสัจจธรรม ทั้ง ๔ มี ๔ สัจจะๆ ๓ รวมเป็น ๑๒

              ญาณรอบที่ ๑ คือ สัจจญาณนั้น ได้แก่ ความรู้ หรือความเข้าใจในกิจที่พึงจะกระทำ หรือปฏิบัติ ในสภาวะธรรมที่กำหนด จำแนกไว้ในสัจจะทั้ง ๔ นั้นว่า ทุกข์นั้นเป็นสิ่งหรือเป็นธรรมที่ควรแก่การกำหนดรู้ สมุทัยนั้นเป็นธรรมควรที่จะต้องประหารให้หมดไป นิโรธสัจจะนั้น เป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง หรือทำให้ถึง

ส่วนมัคสัจจะนั้น เป็นธรรมที่ควรเจริญให้เกิดขึ้น รู้ว่า มัคไปนิพพานนี่ มี ๘ ใครๆ ก็รู้ใช่ไหม มัคมีองค์ ๘ คือ หนทางไปนิพพาน นี่เป็นเรื่องของรู้ แต่ว่า ตัวยังไม่ได้ทำ มัค ๘ ให้เกิดขึ้นแก่ตัว อันนี้ยังใช้ไม่ได้ ยังไปนิพพานไม่ได้ นะคะ ต้องเจริญด้วย รู้น่ะเป็นรอบแรก เป็นสัจจญาณ รู้ว่า มัค ๘ นี้ ต้องเจริญให้เกิดขึ้น แล้วก็ต้องเจริญให้เกิดขึ้นด้วย ถึงจะใช้ได้ เป็นธรรมที่ต้องเจริญให้เกิดขึ้น ความเข้าใจ ในกิจที่พึงจะต้องเป็นไปในสัจจญาณนั้น คือกำหนดรู้ทุกข์ และก็ลงมือ นี่อันนี้น่ะ เรียกว่า สัจจญาณ ส่วนกิจจญาณนั้น ก็ต้องลงมือปฏิบัติ คือ รู้ว่าทุกข์นี่ ควรจะกำหนดรู้ นี่สัจจญาณ พอถึงกิจจญาณ ก็ต้องลงมือกำหนดทุกข์ และลงมือละตัณหา ลงมือทำเพื่อให้แจ้งนิโรธ และต้องเจริญมัค

          ญาณรอบที่ ๒ คือ กิจจญาณ ลงมือปฏิบัติ เรียกว่า กิจจญาณ ลงมือปฏิบัติกิจตามที่รู้มาแล้วในสัจจญาณนั้น คือ กำหนดทุกข์ ลงมือละสมุทัย กระทำให้แจ้งนิโรธ และเจริญมัค มีองค์ ๘ ให้เกิดขึ้นนี่แหละ อันนี้เป็นญาณ รอบที่ ๒ ได้ลงมือกระทำแล้วนะ แต่ต้องเข้าใจทำให้ถูกด้วย อันนี้เป็นญาณรอบที่ ๒ เรียกว่า กิจจญาณ ส่วนกตญาณ

          ญาณรอบที่ ๓ คือ กตญาณ เป็นความสำเร็จผลของ สัจจญาณ และกิจจญาณมาแล้ว โดยถูกต้องสมบูรณ์นั้นเอง คือ ทุกข์ที่ควรกำหนดรู้นั้น ก็ได้รู้แล้ว รู้แล้วนะถ้ากำลัง รู้อยู่ ยังอยู่ในกิจจญาณนะ ต้องรู้แล้ว ถึงจะเป็นกตญาณค่ะ สมุทัยที่ควรละนั้น ก็ต้องละแล้วด้วย ถ้ากำลังละอยู่ก็ยัง ไม่เข้าถึงกตญาณ ส่วนนิโรธที่ควรทำให้แจ้งนั้น ก็แจ้งแล้ว แล้วก็ต้องแจ้งนิโรธด้วย ไม่ใช่ทำเพื่อจะแจ้ง ต้องแจ้งด้วย และมัคมีองค์ ๘ ที่ควรเจริญนั่น ก็เจริญแล้ว นี่ ! เป็นปัญญา เป็นความเข้าใจ เป็นความรู้รอบที่ ๓ นะคะ รวมเป็น ๑๒ ในอริยสัจจะนี่ ต้องมีความเข้าใจ ๑๒ อย่าง คนที่จะ เจริญอริยสัจจะ ที่จะแจ้งอริยสัจ ที่พึงจะต้องเป็นไปใน อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ อย่าง พวกเรารู้แล้วใช่ไหม บางคนก็ ไม่รู้ว่า ทุกข์จะต้องละหรือจะต้องรู้ สมุทัยจะต้องละ หรือจะต้องรู้ ไม่รู้ทั้งนั้น บางคนก็ไม่รู้ มัคนี่จะต้องทำ อย่างไร บางคนก็ไม่รู้ อย่างเราเป็นนักศึกษานี่ เรารู้แล้ว ใช่ไหม ว่าทุกข์ควรกำหนดรู้ ตัณหาควรละ นิโรธควร ทำให้แจ้ง และมัคควรเจริญ เรารู้แล้วใช่ไหม อย่างนี้ นี่สัจจญาณเราได้แล้วนะ ถ้ายังไม่ได้ลงมือกำหนดทุกข์ หรือละตัณหา ทำนิโรธให้แจ้ง แล้วก็ยังไม่ได้ลงมือ เจริญมัค ก็แปลว่า ได้ ๔ ญาณเท่านั้นแหละ ได้รอบหนึ่ง เท่านั้นเอง รอบที่ ๒ ยังไม่ได้

                ทีนี้คนที่เข้ากรรมฐานเจริญวิปัสสนาแล้ว แปลว่า ได้ลงมือทำแล้วใช่ไหม ลงมือกำหนดทุกข์ กำหนดทุกข์ คือ กำหนดอะไร รู้ไหม ? กำหนดรูปนามนั่นแหละ เป็นทุกขสัจจะใช่ไหม ? ฉะนั้น การกำหนดรูปนามนั่นแหละ คือ กำหนดทุกขสัจจะแล้ว คนที่ไปทำวิปัสสนากำหนด รูปนามนั่นแหละ ชื่อว่าลงมือกำหนดทุกข์แล้วใช่ไหม พอกำหนดทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์แล้ว ตัณหาก็ละไปใน ตัวทีเดียว แล้วละตัณหาหมดไปเท่าไร ก็แปลว่า ใกล้ถึง นิโรธ อันเป็นธรรมที่สิ้นตัณหา หรือดับตัณหา ใช่ไหม ตัณหาหมดมากไปเท่าไร เห็นทุกข์มากเท่าไร ตัณหาละไป มากเท่าไร ก็ใกล้จะถึงที่สุดของทุกข์มากขึ้น ใช่ไหมล่ะ

                   นี่แหละ ถ้าคนที่ได้ปฏิบัติแล้ว ได้ญาณรอบที่ ๒ แต่ยังไม่แล้วนะ ทุกข์ก็ยังกำหนดไม่แล้ว ตัณหาก็ยังละ ไม่แล้ว นิโรธก็ยังไม่ได้แจ้ง ทำเพื่อจะแจ้ง แต่ยังไม่แจ้ง แจ้งแล้วหรือยังคะ ? ยังไม่แจ้งนะ มัคน่ะ เจริญแล้ว หรือยัง ? กำลังทำ แต่ยังไม่แล้ว ใช่ไหมล่ะ ยังไม่แล้ว ก็ได้แล้ว ๘ ญาณ ๒ รอบแล้วนะ ยังเหลืออีก ๔ ญาณ เท่านั้นแหละ ก็ดูไม่ลำบากอะไรใช่ไหม ? เหลืออีก ๔ เท่านั้นแหละ ก็จะครบ ๑๒ เราก็จะแจ้งอริยสัจ ก็จะได้ เป็นพระอริยบุคคล ก็ดูไม่ลำบากอะไรใช่ไหม ? เท่านั้น  เองแหละ ยังดีละ เหลืออีก ๑ รอบ เหลืออีก ๔ ญาณ ใช่ไหมล่ะ นี่เข้าไป ๘ แล้วนี่ 

              เพราะฉะนั้น เราก็มีหวังนะ มัคผลน่ะ ยังเหลือไว้ ให้เราอีก ๕,๐๐๐ ปีนะ เรามีหวังที่จะได้ ทุกข์ที่ควรจะ กำหนดรู้นั้น ก็ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยที่ควรละนั้น ก็ละแล้ว ส่วนนิโรธที่ควรทำให้แจ้งนั้น ก็แจ้งแล้ว และมัคที่มีองค์ ๘ ที่ควรเจริญนั้น ก็เจริญแล้ว นี่เป็น ญาณรอบที่ ๓ รวมเป็น ๑๒ แต่ทีนี้ ใครจะกำหนด ได้ไหมว่า ทุกข์กำหนดแล้วน่ะ คำว่า “แล้ว” นี่เป็น อย่างไร ? รอบ ๓ นี่ เป็น ๑๒ ที่พึงจะต้องเป็นไปใน อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ในสัจจะหนึ่ง จะต้องมีญาณ ๓ นะคะ มีสัจจญาณเป็นต้น จึงรวมเป็น ๑๒

                 ฉะนั้น การเป็น อริยบุคคล คือ เป็นผู้แจ้งในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นั้น ทุกคนจะต้องมีความรู้หรือความเข้าใจ ครบจำนวน ๑ นั้นแล้วจึงจะเรียกว่า เป็นผู้บรรลุ หรือแจ้งในอริยสัจจธรรมได้

               คำว่า “พระอริยบุคคล” ที่ได้นามว่า เป็นอริยบุคคล ผู้ประเสริฐ ก็หมายความว่า บรรลุผู้รู้แจ้งในอริยสัจจธรรม ทั้ง ๔ ด้วยญาณ ครบทั้ง ๑๒ นั่นเอง เพราะในญาณ ๑๒ ที่เป็นไปกับอริยสัจธรรมทั้ง ๔ นั้น มีทั้งโลกียและ โลกุตตร ในญาณรอบที่ ๑ ที่ ๒ เป็นไปด้วยสัจจญาณ กับกิจจญาณนั้น ยังเป็นโลกียะอยู่ เพราะเนื่องอยู่ด้วย ปริยัติกับปฏิบัติ คนที่จะได้สัจจญาณแรกนั่นน่ะ คนนั้น ต้องเข้าใจปริยัติ ต้องศึกษาปริยัติ ญาณรอบแรกจึงจะ เกิดขึ้น แล้วก็ลงมือปฏิบัติ ถึงจะได้ญาณรอบที่ ๒ ถ้าปริยัติไม่มีแล้วละก็ รอบไหนๆ ก็ไม่มีทั้งนั้น ส่วน กตญาณนั้นเป็นโลกุตตระ เพราะเป็นญาณความรู้ที่พ้นแล้ว จากญาณทั้ง ๒ นั้น หมายความว่ามากถึงที่สุดแห่งการ เดินทางแล้ว เพราะฉะนั้น มัคที่ว่า เจริญแล้วน่ะ แปลว่า ต้องถึงที่แล้วใช่ไหมมัคนี่ เป็นทางเดินไปถึงพระนิพพาน ใช่ไหม ก็ต้องถึงที่แล้ว ถึงนิพพานแล้ว ถึงจะเรียกว่า แล้ว ใช่ไหม ถึงจะเรียกว่าเดินแล้ว ถ้ายังไม่ถึงน่ะ แปลว่า เดินยังไม่ถึงที่ ยังไม่สุดทางเดินนี่ จะเรียกว่า แล้ว ได้ยังไง ก็ไม่เรียกว่า แล้ว ใช่ไหมคะ เมื่อถึงที่สุดแห่งการเดินทาง แล้ว เมื่อได้ถึงจุดมุ่งหมายแห่งการเดินทางมาแล้ว ความรู้อันนี้ จึงเรียกว่า กตญาณ เป็นญาณรอบที่ ๓

                ความจริง ญาณในรอบที่ ๓ นั้นก็ได้แก่ พระศาสนา ๓ ประการนั้นเอง คือ :-

                สัจจญาณ ได้แก่ ปริยัติศาสนา

                กิจจญาณ ได้แก่ ปฏิบัติศาสนา

                กตญาณ ได้แก่ ปฏิเวธศาสนา

           นี่เป็นคนเข้าถึงศาสนาแล้วโดยแท้จริง พระรัตนตรัย ได้บูชาแล้วในศาสนาทั้ง ๓ นี่อยู่ในธุระ ๒ อัน คือใน คันถะธุระ และวิปัสสนาธุระ นั่นแหละ นี่แหละ ธุระ ๒ อัน นี่แหละเป็นเหตุให้เข้าถึงศาสนา ๓ ส่วนกตญาณนั้น เป็นผลสำเร็จมาจากธุระทั้ง ๒ นั้นเอง ถ้าจะเทียบกับ ปริญญาทางโลกก็ได้ ๓ ขั้นเหมือนกัน คือ ได้ศึกษาปริยัติ จนเข้าใจในหลักของวิชาที่เรียนนั้นดีแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติ ตามหลักวิชานั้น อันนี้หมายถึงวิปัสสนานะคะ ทำมาจนถึง สัมมสนญาณ นับเป็นขั้นปริญญาตรี เรียกว่า “ญาตปริญญา” ถ้าปัญญานั้นเข้าถึงอุทยัพพยญาณ ก็จัดเป็นขั้นปริญญาโท เรียกว่า “ตีรณปริญญา” นับเป็นปริญญาขั้นที่ ๒ ถ้าเข้าถึงภังคญาณ ก็ให้นับตั้งแต่ภังคญาณเป็นต้นไป จนถึงปัจจเวกขณญาณ เป็นปริญญาเอก แล้วต้องมี วิปัสสนาอยู่ในนั้นหลายอันทีเดียว ในปริญญาเอกนี้นะคะ ในทางพุทธศาสนาเรียกขั้นนี้ว่า “ปหาณปริญญา”

                      ฉะนั้น การเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนานี้ นับแต่พระโสดาเป็นต้นไป จะต้องมีปริญญาครบ ๓ ขั้น แต่การได้ปริญญาในทางพุทธศาสนานี้ ไม่มีกำหนดวัน เดือน ปี เหมือนทางโลก ปริญญานั้น ต้องเรียนเท่านั้นปี เท่านั้นเดือนใช่ไหม ต้องมีขีดคั่นนี่ แต่ในทางพุทธศาสนานั้นกำหนดขีดขั้นด้วยปัญญาบารมีของแต่ละคน ไม่ใช่เอาปี เอาเดือนนะคะ ไม่ใช่กาลเวลา เพราะพระอริยะบางท่าน ก็ใช้เวลาแค่เพียงฟังเทศนาจบเท่านั้น ก็สำเร็จได้แต่ บางบุคคลก็จะต้องใช้เวลาศึกษาถึง ๗ ปีก็มี เพราะฉะนั้น ไม่ใช่กำหนดปี เดือน วัน ทั้งนี้ก็แล้วแต่ปัญญาบารมีของ แต่ละท่าน แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็จะต้องครบ ๔ ครั้ง ใช่ไหมคะ โสดานี่ ได้ญาณรอบขั้นโสดาที่ ๑๒ สกทาคา อีกรอบหนึ่ง พระอนาคาอีกรอบหนึ่ง พระอรหันต์อีก รอบหนึ่ง ต้องครบ ๑๒ รอบ ๔ ครั้ง จึงจัดเป็นอเสกขบุคคล หมายความว่า เป็นบุคคลที่จบกิจแล้ว จบพรหมจรรย์ จบการศึกษาแล้ว คนที่พ้นจากการศึกษา “อเสกขะ” เสขะนี่น่ะ นับตั้งแต่ โสดาไปถึงพระอนาคา เสกขบุคคลนี่น่ะ ได้แก่ พระอริยบุคคลนี่น่ะ ได้แก่ พระอริยะ ๗ บุคคล มีโสดาปัตติมัคไปจนถึงอรหัตตมรรค ยังเป็นเสกขบุคคลอยู่ เมื่อถึงอรหัตตผลแล้ว จึงเป็นอเสกขบุคคล คือ เป็นบุคคล ที่จบกิจแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว กิจที่พึงจะต้องทำ เพื่อประหารกิเสลน่ะ ไม่มีแล้ว วิปัสสนาธุระ คือธุระ ในพระศาสนานี้ได้ทำจบแล้ว ฉะนั้น ในวิปัสสนาธุระนั้น ก็ได้ลงมือทำกิจมาแล้วตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาญ เป็นต้นมา คือ ทำการกำหนดรู้ทุกข์ และตัณหาเรื่อยมา ตามวิปัสสนาญาณ จนกระทั่งถึงโคตรภูญาณ ละเรื่อยมา กำหนดเรื่อยมา แต่ในกิจทั้ง ๒ นี้ ยังเป็นโลกียะอยู่ ฉะนั้น กิจของโลกียสัจจะทั้ง ๒ นี้ จึงยังอยู่ในญาณรอบที่ ๒ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ ในกิจของโลกียสัจจะทั้ง ๒ นี่ มาสมบูรณ์ที่ไหน? ที่อนุโลมญาณ มาสมบูรณ์ที่อนุโลมญาณนะคะ

                ก็เมื่ออนุโลมญาณได้ทำกิจของโลกียสัจจะทั้ง ๒ นั้นสมบูรณ์แล้ว ด้วยอาศัยอารมณ์ของวิปัสสนา ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งนั้น เรื่อยตลอดมา เมื่อสมบูรณ์ แล้ว จึงอนุโลมไปให้แก่โคตรภู เพื่อให้ทำกิจในโลกุตตร- สัจจะอีก ๒ สัจจะ แปลว่า โลกียะทำแล้ว ทีนี้ก็ยังเหลือ กิจของโลกุตตรอีก ๒ สัจจะ ก็อนุโลมให้แก่โคตรภูนะคะ เพื่อให้ทำกิจของโลกุตตรอีก ๒ สัจจะ คือ นิโรธสัจจะและ มัคสัจจะ เพื่อให้สมบูรณ์ในกิจทั้ง ๔ เพราะอนุโลมนั้น ทำมาเพียง ๒ กิจ ในโลกียกิจ เท่านั้น ส่วนสัจฉิกิริยากิจ คือการทำนิโรธให้แจ้งนั้น ยังไม่มีในอนุโลมกิจ และมัคกิจ นั้น ก็ยังไม่สมบูรณ์ในอนุโลมญาณ เพราะมัคคสัจจะนั้น จะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อแจ้งนิโรธแล้ว เมื่อถึงแล้วถึงที่แล้ว เรียกว่า การเดินนั้นสมบูรณ์แล้วใช่ไหมคะ เป็นทางถึง นิพพานนี่ เมื่อถึงนิพพานแล้ว ถึงชื่อว่ามัคนั้นสมบูรณ์ 

                  เพราะฉะนั้น มัคนี้ยังไม่ชื่อว่าสมบูรณ์ในอนุโลมกิจ และ ในมัคกิจก็ยังไม่สมบูรณ์ นิโรธก็ยังไม่สมบูรณ์ ที่ทำให้แจ้ง ก็ยังไม่แจ้ง เพราะมัคคสัจจะสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อแจ้งนิโรธ แล้ว จึงจะสมบูรณ์ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า คำว่ามัคนั้น เป็นทางเดินให้ถึงนิพพาน ฉะนั้นมัคจะสมบูรณ์ได้ จึงต้องถึงนิพพานเสียก่อน

                  โดยเหตุนี้ กิจของสัจจะทั้ง ๒ นั้น จึงเป็น โลกุตตรธรรม พึ่งได้รับปัจจัยจากอนุโลมญาณที่ทำกิจ ในโลกียสัจจะทั้ง ๒ นั้น โดยบริบูรณ์แล้ว ก็นำส่งให้แก่ โคตรภูญาณ รับไปทำกิจอีก ๒ สัจจะ คือนิโรธสัจจะกับ มัคคสัจจะ ที่เป็นโลกุตตรสัจจะ และก็ในการที่อนุโลมญาณ ได้ทำหน้าที่เป็นปัจจัยส่งให้แก่โคตรภูญาณนั้น ก็เพียง ๓ ขณะจิตเท่านั้น อนุโลมน่ะ ทำกิจเพียง ๓ ขณะจิตเท่านั้นนะ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าอนุโลมญาณในที่นี้ หมายถึงวิปัสสนา ปัญญา คือ ไม่ใช่หมายถึงจิต คำว่าอนุโลมญาณนี่ หมายถึงปัญญานะ ไม่ใช่หมายถึงจิตนะคะ หมายถึงปัญญาที่เกิดขึ้น ๓ ขณะน่ะค่ะ ปัญญานี่นะคะ เกิดขึ้น ๓ ขณะที่เกิดขึ้น ในเขตของมัคควิถี อนุโลมนี่น่ะ นำเอากิจการงานนะ หรือว่าอารมณ์ของไตรลักษณ์น่ะข้ามเข้าไปอยู่ในเขตนั้น ๓ ขณะ คล้ายๆ กับว่า นำเข้าไปได้ ๓ ก้าวแค่นั้นแหละ

               แต่อนุโลมญาณที่เป็นผู้รับความสำเร็จในโลกียจิตนั้น ความสำเร็จหรือความสมบูรณ์ในโลกียจิตนั้น ก็ได้มาจาก สังขารุเปกขาญาณนั่นเอง เป็นผู้ทำให้ไม่ได้เอามาจากที่อื่น ไม่ได้เป็นตัวทำหรอก ตัวเป็นผู้รับเท่านั้นเองแต่อนุโลมญาณ ประดุจจะเป็นผู้นำไปส่งให้เท่านั้นแหละ นำไปส่งให้แก่โคตรภูญาณ

                ฉะนั้น ในโอกาสนี้ก็ขอให้พยายามทำความเข้าใจ ในวิถีจิต ที่จะดำเนินเข้าสู่มัค ผลและนิพพาน ขอให้ท่าน พยายามเข้าใจนะคะ และขอให้พยายามฟังด้วย เพราะว่า มันเป็นของที่ลำบากอยู่ มีเหตุผลที่สลับซับซ้อนมาก เหลือเกินนี่แหละ การฟังก็ยาก การพูดก็ยาก เพราะฉะนั้น ดิฉันนี่ แหม ลำบากลำบนเหลือเกิน กว่าจะหาคำพูดมาพูด ให้เข้าใจได้ บางทีก็เหงื่อแตกเลย แล้วคิดดูว่า ความเหนื่อย ความหนักใจนี่น่ะ แล้วเราก็จะต้องพยายาม ทำไมถึงช้านัก ก็วิสุทธิ ๗ ก็ไม่น่าจะช้า พูดวิปัสสนาเขาลำดับญาณกัน ไม่เห็นจะช้าอย่างนี้ใช่ไหม แต่เป็นเพราะว่า เมื่อพูดไป ถึงผลแล้วอย่างนี้ ก็ต้องพยายามดึงเอาเหตุนั้นน่ะ มาต่อกับผลอยู่เสมอๆ มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจ เพราะว่า นานๆ พูด ทีหนึ่ง คิดดูซิคะ ๗ วันพูดทีหนึ่ง พูดไว้ญาณนั้นแค่นั้น แล้วมาอีก ๗ วัน พูดอีกที ลืมแล้ว ตอนที่พูดไปแล้ว

             เมื่อลืมเหตุแล้ว ผลก็ไม่รู้ว่ามาจากที่ไหน เพราะฉะนั้น บางทีน่ะ พูดไปแล้วจริง อย่างสังขารุเปกขาญาณที่พูดไป แล้ว แต่ว่าทำไมมาถึงอนุโลมญาณนี่ ต้องมาพูดอีก ถึงพูด ไปแล้วก็จริง แต่ว่า อนุโลมญาณนี่ เป็นผลของสังขารุเปกขาญาณ ก็จำเป็นอยู่เอง จะต้องไปดึงเอาสังขารุเปกขาญ าณมาต่อกัน เพราะที่พูดไปแล้วน่ะ อาจจะลืมก็ได้ เพราะว่าไม่ได้มีหนังสือแล้วอ่านติดต่อกันไป ใช่ไหมคะ ก็จึงต้องไปดึงเอาสังขารุเปกขาญาณมาอีก เพื่อให้เหตุผล มันติดต่อกันกับอนุโลมญาณนี้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องย้อน ไปอยู่เรื่อยๆ พูดไปแล้วก็ต้องย้อนไปดึงเอาไม่ใช่พูดเรื่อยไป แล้วก็เลยลืม ความเข้าใจก็จะไม่ติดต่อกัน เหตุผลก็จะไม่เป็นลำดับนะคะ

                 เพราะฉะนั้น ก็เมื่อปัญญาในสังขารุเปกขาญาณ ก็ได้ชำระล้างกิเลสในจิตสันดาน กำจัดอวิชชาและตัณหา ความรักและความหลง ที่ทำให้มืดมนให้บรรเทาเบาบาง ลงแล้ว ในสังขารุเปกขาญาณนี่นะคะ ด้วยตทังคปหาน เป็นปัญญานะคะ และปัญญานั้น ก็มีกำลังพอที่จะแล่นไป ข้ามฟากไปยังฝั่งพระนิพพาน ซึ่งเป็นโลกุตตร ตามที่ตน ปรารถนา ด้วยอำนาจของฉันทิทธิบาท นี่ปรารถนาในที่นี้ ไม่ใช่โลภนะ เพราะว่า โลภะในที่นั้น เบาบางลงแล้ว

                      ความปรารถนาด้วยโลภในที่นั้น ไม่มี แล้วก็ปัญญาในที่นี้ ก็เข้าถึงวิสุทธิแล้ว กิเลสก็ไม่มี เพราะฉะนั้นความ ปรารถนาในที่นี้น่ะ เป็นความปรารถนาด้วยอำนาจฉันทะ เมื่อความปรารถนาอันแรงกล้า มีกำลังแล้ว ด้วยอำนาจของ ฉันทิทธิบาทนั้น เมื่อชวนะที่ ๗ ทีนี้ที่ย้อนมานี่ ต้องย้อน มาถึงสังขารุเปกขาญาณอีกนะคะ ในเมื่อชวนะที่ ๗ ของ สังขารุเปกขาญาณนั้น ดับลงแล้ว แปลว่า ชวนะใน สังขารุเปกขาญาณนี่มีกำลังพอแล้ว เพราะฉะนั้น เกิดขึ้น ๗ ขณะ สังขารุเปกขาญาณนี่น่ะ ก็ดับลง กามชวนะมี ๗ เท่านั้นนะ ดับลงแล้ว จิตที่หยั่งลงสู่กระแสภวังค์นั้น เมื่อชวนะดับแล้วก็เป็นภวังค์ ตอนนี้ขึ้นมโนทวาราวัชชนะ อารมณ์นี้ ไม่มีตทาลัมพนะใช่ไหม วิถีในมโนทวารนี้น่ะ เพราะว่าไม่ได้มีอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง มากระทบ ในมโนทวารนั้น จิตก็หยั่งลงสู่กระแสภวังค์ คือ จิตก็ทำ ภวังค์กิจต่อไปนะคะ จิตที่หยั่งลงสู่กระแสภวังค์แล้วก็ เกิดขึ้นขณะหนึ่ง เรียกว่าภวังคจลนะ ซึ่งไหวตัวจะขึ้น ทางมโนทวาร รับอารมณ์ใหม่ในวิถีของมัคอันนี้น่ะ ที่ไหวตัวขึ้นจากมโนทวารนี่น่ะ และก็มีอายุเป็นไปเพียง ๓ อนุขณะ จิตดวงที่ ๒ นะคะ ก็เกิดขึ้นอีกหนึ่งขณะ เรียกว่าคือ อุปาทะ ฐีติ ภังคะ แล้วก็ดับไปในภังคขณะของจิตนั้น แล้วก็จิตดวงที่ ๒ นะคะ ก็เกิดขึ้นอีกหนึ่งขณะ เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทะ มีอายุ ๓ อนุขณะเท่ากัน และ เป็นไปอย่างเดียวกัน ทำหน้าที่ตัดกระแสภวังค์ แต่ว่าอย่าลืมนะว่า ระหว่างที่จิตลงสู่ภวังค์นั้นน่ะ ลงไปต่อจาก อารมณ์ของสังขารุเปกขาญาณใช่ไหม สังขารุเปกขาญาณ มีอารมณ์อะไรอยู่ อนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา ที่ลงไปสู่ภวังค์นั้น อารมณ์นั้นแหละ เมื่อลงไปแล้ว อารมณ์นั้น แหละเป็นกำลังที่จะดึงจิตขึ้นมา ทำให้จิตเป็นภวังคจลนะ ใช่ไหมคะ? ไหวตัวจะให้ขึ้นมารับอารมณ์คือจะให้ขึ้นวิถี ที่จะแล่นไปสู่นิพพานน่ะ อารมณ์นั้นแหละดึงขึ้นมา ภวังคจลนะ แล้วก็เป็นขณะที่ ๒ ชื่อว่า ภวังคุปัจเฉทะ ทำหน้าที่ตัดกระแสภวังค์ ในอารมณ์ของภวังค์ เพราะว่าในอารมณ์ของภวังค์นั้นก็มีอยู่ ใช่ไหม แต่ว่าไม่ใช่อารมณ์ใหม่นะคะ ภวังคุปัจเฉทก็ทำหน้าที่ตัดกระแสอารมณ์ ในภวังค์นั้น คือว่า ปล่อยจากอารมณ์ในภวังค์นั้น เพื่อจะได้รับอารมณ์ที่จะมาปรากฏทางมโนทวาร เกิดขึ้นขณะหนึ่ง แล้วก็ดับไป จิตขณะที่ ๓ ก็เกิดขึ้นทางมโนทวารจิตดวงนี้ ชื่อว่ามโนทวาราวัชชนะจิต มีอายุเท่ากัน ๓ อนุขณะ เหมือนกัน แล้วก็มีกิจมนสิการในอารมณ์ใหม่ กระทำมนสิการในอารมณ์ใหม่ ที่จะปรากฏขึ้นทางมโนทวาร  แต่การมนสิการเพื่อจะรับอารมณ์ใหม่ในที่นี้นั้น ไม่ใช่ อารมณ์อื่นมโนทวารที่จะมนสิการในอารมณ์ใหม่นั่นนะคะ เพราะว่าภวังคุปัจเฉทะปล่อยอารมณ์ในภวังค์แล้ว ก็เปิดโอกาสให้มโนทวาร จะได้ขึ้นรับอารมณ์ใหม่ แต่ว่า การรับอารมณ์ใหม่ในที่นี้น่ะ ไม่ใช่อารมณ์อื่นๆ ในอารมณ์ ทั้ง ๖ นั้น มีรูป เสียงเป็นต้น ไม่ใช่นะคะ การมนสิการใน อารมณ์ใหม่ของมโนทวาราวัชชนจิต ในที่นี้ คือมนสิการ ในอารมณ์ของไตรลักษณ์ในที่นั้นเอง ในไตรลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ตามอารมณ์ในชวนดวงสุดท้ายของสังขารุเปกขาญาณในกามวิถี ดวงสุดท้ายของสังขารุเปกขาญาณ ในกามวิถีนะคะ แต่ว่าชวนในวิถีนั้นน่ะ ต้องได้ชื่อว่าเป็น วิโมกขมุขค่ะ ต้องเป็นวิถีที่ได้นามว่า วิโมกขมุขวิถีอื่น ทั้งหมดไม่เรียก สังขารุเปกขาญาณนี่ ก็เกิดมากมาย เหลือเกิน แต่ว่า ที่จะได้นามว่าเป็นวิโมกขมุขน่ะ เครื่องนำออกน่ะ เป็นทางออกน่ะ ต้องเฉพาะวิถีสุดท้าย ของสังขารุเปกขาญาณนะคะ แล้วจากนั้นก็เป็นวิถีของมัค สังขารุเปกขาญาณในชวนะนั้น เกิดขึ้นแล้วดับไป แล้วต่อจากนั้นก็เป็นมัคควิถีทีเดียว วิถีอื่นๆ ไม่เกิดหรอก สังขารุเปกขาญาณอันนั้นแหละ จึงได้ชื่อว่าเป็นวิโมกขมุข เป็นทางออกใช่ไหมล่ะ แล้วก็มีอารมณ์เป็นไตรลักษณ์ ในอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นขณะเดียวนะ นี่สำหรับเฉพาะในมโนทวารใช่ไหม แล้วจิตใหม่ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ ๔ ซึ่งนับจากภวังคจลนะมา จิตดวงนี้เป็น มหากุศลญาณสัมปยุต ดวงใดดวงหนึ่งใน ๔ ดวงนั้น จะเป็นโสมนัส หรืออุเบกขาก็ตาม แล้วแต่ชวนะ ในสังขารุเปกขาญาณ ซึ่งต่อจากมโนทวารที่ดับไปแล้วนั้น ก็เกิดขึ้นอีกขณะหนึ่ง ชื่อว่า บริกรรม ชวนะดวงที่ ๑ นะ ชื่อว่าบริกรรม ทำหน้าที่อนุโลมญาณเหมือนกันนะคะ แล้วก็ดับไป จิตดวงถัดไปเกิดไป จิตดวงถัดไปเกิดขึ้น ในขณะที่ ๕ ก็ทำหน้าที่อนุโลมกิจ เช่นเดียวกันเหมือนกัน ชื่อว่า อุปจาระ แล้วก็ดับไป แล้วจิตก็เกิดขึ้นใหม่อีก ในขณะที่ ๖ จิตดวงนี้ ชื่อ อนุโลม มีอายุเท่ากัน และเป็น กิจอย่างเดียวกัน ทำหน้าที่อนุโลมกิจเช่นเดียวกัน แล้วก็ ดับไป เป็นอันหมดอายุของปัญญาที่ชื่อ อนุโลมญาณ ที่เกิดขึ้นใน ๓ ขณะจิตเท่านั้น หมดกิจของปัญญาที่ชื่อว่า อนุโลมญาณ และในอนุโลมกิจทั้ง ๓ ขณะนี้ มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์อย่างเดียว ก็ในปัญญาที่ชื่อว่าอนุโลมญาณนั้น มีกิจ ๒ อย่าง คือ มีกิจอนุโลมไปตามอารมณ์ ของไตรลักษณ์ ตามที่วิปัสสนาได้ทำมาแล้ว ตั้งแต่ต้นๆ มานั้นอย่างหนึ่ง และอนุโลมกิจที่ ๒ ก็เป็นอนุโลม เพื่อจะให้สำเร็จกิจในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นี่ค่ะ มีกิจ ๒ อย่าง กิจหนึ่งน่ะ อนุโลมตามวิปัสสนา และอีกกิจหนึ่ง อนุโลมเพื่อจะให้ สำเร็จกิจในฝั่งโน้น เพื่อจะให้ไปถึงฝั่งโน้น ซึ่งมีการเห็น พระนิพพานเป็นอารมณ์นะคะ

                    ก็เมื่อปัญญาได้เกิดขึ้นทำกิจในอนุโลมญาณดังนั้น แล้ว ก็เป็นปัจจัยให้โคตรภูญาณหน่วงเอาพระนิพพาน มาเป็นอารมณ์ ให้แก่มัคคจิต ซึ่งเป็น โลกุตตรธรรม แต่ว่ามัคคจิต หรือมัคคญาณ ซึ่งหมายถึงปัญญาที่เกิดร่วม ในมัคคจิตนี้ เป็นปัญญาที่เกิดในโลกุตตรจิต ไม่จัดเข้าใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินี้ เพราะพ้นจากทางปฏิบัติแล้ว

          ส่วนในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินั้น นับแต่ อุทยัพพยญาณที่ปราศจากวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่างนั้น เป็นต้นมา จนถึงโคตรภูญาณเป็นที่สุดรวม ๑๐ ญาณ ด้วยกัน ที่สงเคราะห์เข้าในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิที่ ๖

                ตั้งแต่วิสุทธิที่ ๑ จนถึงวิสุทธิที่ ๖ นี้ เป็นโลกีย์ นับเป็นสุดแดนของวิปัสสนา สำหรับวิปัสสนานั้น ถ้านับโดยจิตหรือนับโดยปัญญา ที่เกิดร่วมด้วยจิตเหล่านั้น ก็ต้องนับแต่นามรูปปริจเฉทญาณ จนถึงโคตรภูญาณ ปัญญาเหล่านี้เป็นโลกียปัญญาทั้งหมด ถ้านับโดยอารมณ์แล้ว ก็นับแต่อารมณ์ของนามรูปปริจเฉทญาณ มาจนถึงอนุโลมญาณเท่านั้น

                    ปัญญาในอนุโลมญาณ ก็ได้ปัจจัยมาจากปัญญาใน สังขารุเปกขาญาณ ที่จริงในเรื่องของวิปัสสนา หรือญาณ หรือวิสุทธิก็ดี ธรรมเหล่านี้ ต้องอาศัยปัจจัยมาจาก สติปัฏฐาน ๔ เป็นเหตุทั้งสิ้น ผู้ปฏิบัติจะนำจิตของตน ให้เดินไปในวิปัสสนานั้น จะต้องมีอารมณ์อย่างไร และ เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ต้องมีความรู้อย่างไรในเบื้องต้น ในท่ามกลาง จะต้องรู้อย่างไร จะต้องมีความรู้สึกอย่างไร และเบื้องสูง จะต้องรู้อย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร? อย่าง ในสังขารุเปกขาญาณ ซึ่งมีความเฉยร่วมไปกับความ เบื่อหน่ายในสังขารเหล่านั้น ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้น้อมไป ส่งไปในอนุโลมญาณ และโคตรภูญาณ ความเบื่อหน่าย ในสังขารเกิดแล้ว ก็ต้องทนดูอยู่ และดูอยู่ได้ไหม แล้วตน จะทำงานอยู่ได้หรือไม่ได้ ต้องทำใช่ไหมล่ะ แต่ว่า จิตใจนี้ ทำงานอยู่ได้ ไม่มีจบสิ้นเลย ด้วยอำนาจของปัจจัยที่เกิด ติดต่อกัน จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นก็มีปัจจัย จิตดวงไหนตั้งอยู่ ขณะที่ตั้งอยู่ก็มีปัจจัย แม้ขณะที่จิตดวงหน้าดับไปแล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยให้จิตเกิดอีกเรื่อยติดต่อกันไปทีเดียว ไม่มีระหว่างเลย อย่างนี้แหละ เราไม่เห็นอย่างนี้ เราจึงไม่เกิดความไม่พอใจ ไม่เกิดความเบื่อหน่าย แทนที่จะเกิด ความเบื่อหน่าย กลับเกิดความพอใจในจิตใจนั้นเสียอีก กลัวจะสูญสิ้นไป และเรายินดีที่สุด จิตมันจะทำงานอยู่ อย่างนี้แหละ ให้มันทำอยู่อย่างนี้แหละ กี่กัป กี่โกฏิปี ก็ขอให้จิตได้ทำงานอยู่เถอะ อย่าให้สูญไปเลย นี่ของเรา มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะตายไปแล้ว เรารู้สึกว่า จิตนี้มันจะดับไปเสีย เพราะฉะนั้น มันจะไม่มีจิต เราก็ เสียดายเหลือเกิน ต้องการให้มันเป็นไปอยู่อย่างนี้แหละ ตลอดไปแหละ เท่าไรๆ ก็ช่าง

                  ก็โคตรภู ก็ทำให้เกิดปัจจัย เป็นปัจจัยแก่มัคคจิต โคตรภูน่ะ เกิดขึ้นขณะเดียวน่ะ แล้วก็มีอายุ ๓ อนุขณะ อุปาทะ ฐีติ ภังคะ เท่านั้นนะ แต่อย่างนั้นแหละ แต่เกิดขึ้น มาขณะเดียวนั่นแหละ ยังสามารถเป็นปัจจัยให้แก่มัคคจิต ในขณะที่ ๒ ถึง ๖ ปัจจัย คิดดูว่ามันมากมายเท่าไร

                   เพราะฉะนั้น การที่จะดับเสียซึ่งเหตุปัจจัยนี้น่ะ ไม่ใช่เป็นของง่ายเลย แล้วก็ปัจจัยเหล่านี้น่ะ ใครเป็น คนสร้าง ใครเป็นคนสร้างขึ้น ก็ตัณหาซิ สมุทัยซิ เป็นตัวสร้าง เป็นตัวเหตุสร้างขึ้น ใช่ไหมล่ะ อันนี้มันเป็นตัวขันธ์นี่ อันนี้เป็นทุกขสัจจะ สภาพอย่างนี้เป็นทุกขสัจจะ ถ้าเราดับสมุทัยเสียแล้ว มีไหมจิต ไม่มี มันดับหมดใช่ไหม

                  นี่แหละ ความดับหมดนี่แหละ บัณทิตทั้งหลาย ถือว่าเป็นความสุขอย่างยิ่งทีเดียว ของเรามันเป็น ทุกอย่างยิ่งความตายน่ะ รวมโคตรภู ๖ ปัจจัยนะคะ คิดดูซิจิตดวงเดียว เท่านั้นแหละ เพราะฉะนั้นจึงเป็นของที่รู้ได้ยาก ไม่ใช่รู้ได้ง่ายๆ เลย ถ้าเราไม่ศึกษาจริงๆ แล้ว ก็ลำบากที่สุดเลย เขาก็เห็นว่าจะมานั่งเรียนนี่ ไม่เห็นมันจำเป็นอะไรเลย ไม่เรียนก็ได้ ก็สำเร็จกันได้ แต่ว่านั่นแหละ คนรู้หนังสือ กับคนไม่รู้หนังสือ ใครจะดีกว่ากัน คนไม่รู้หนังสือ ก็ถูกหลอก ใครเขาเขียนยังไงๆ ก็ไม่รู้ ก็ถูกหลอกเรื่อยไป คนรู้หนังสือก็อาจจะพ้นจากการถูกหลอกลวง

                 เพราะฉะนั้น ที่โคตรภูเป็นผู้อุปการะ ให้แก่มัคคจิต นั้นน่ะนะคะ และโคตรภูนี้ ตั้งอยู่ในระหว่างโลกียะและ โลกุตตระ เพราะเหตุว่า ตัวจิตน่ะ ยังเป็นโลกียะอยู่ ซึ่ง ได้แก่ กามาวจรมหากุศลญาณสัมปยุต แต่ส่วนอารมณ์ของ โคตรภูนั้นเป็น โลกุตตรธรรม คือ มีนิพพานเป็นอารมณ์ และปัญญาในโคตรภูนี้ ก็เกิดขึ้นขณะเดียว แต่ก็มีอำนาจ หรือมีความสามารถในกิจการที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ นั้นโดยอเนกประการ แต่ในที่นี้ ก็จะนำมาให้นักศึกษาทราบไว้พอเป็นสังเขปเท่านั้น ว่าเกิดขึ้นขณะเดียวนี่ โคตรภูทำหน้าที่อุปการะอะไร แก่มัคอย่างไร โดยอารมณ์ โดยอะไรอีกหลายอย่างนะคะ เพราะเหตุว่า ท่านนักศึกษา ไม่ควรจะรู้แต่เพียงชื่อเท่านั้น ควรจะทราบถึงลักษณะและ สภาวะของการงานนั้นๆ ด้วยทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่การที่จะถอนอัตตาตัวตน ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่มีหวังที่จะเอาตัวเรา หรือของเราออกได้เลย

          ฉะนั้น ดิฉันจึงนำเอากิจของปัญญาที่ชื่อโคตรภูนี้ มาให้ทราบไว้บ้างตามสมควรแก่การศึกษา ถึงแม้จะทราบไม่หมด ก็ไม่เป็นไรใช่ไหมคะ ก็ปัญญาในโคตรภูนั้น มีกิจ ดังนี้ค่ะ

 ๑. ครอบงำความเกิด โคตรภูนี้น่ะ ครอบงำ ความเกิดนะ

 ๒. ครอบงำเสียซึ่งปวัตติ คือความเป็นไปน่ะ ความเป็นไปของขันธ์ ความเกิดขึ้นของขันธ์ จะเกิดขึ้นในปฏิสนธิ หรือปวัตติก็ได้ นี่โคตรภูที่มีหน้าที่ทำงาน อย่างนี้ 

           มื่อเราเข้าใจโคตรภูแล้ว ก็จะทำให้เราเข้าใจนิพพาน ดีว่า นิพพานน่ะ คืออะไร ครอบงำเสียซึ่งปวัตติ

๓. ครอบงำเสียซึ่งอุปายาส การเกิดต่างๆ อะไร เช่น อานิสงส์ที่เกิดมาเป็นผลมาจากชาตินั่นแหละ

๔. ทำลายเสียซึ่งโคตรปุถุชน โคตรภูนี่ เป็นตัวทำลายโคตรปุถุชนนะคะ

๕. ย่างขึ้นสู่อริยะโคตร คือ พระอริยบุคคล โคตรภูนี่ ก็ต้องทำงานให้แก่มัค โคตรภูไม่เกิดขึ้นทำงานอย่างนี้ มัคก็เกิดไม่ได้

๖. ครอบงำเสียซึ่งสังขารและนิมิต สังขารและ นิมิตนี่ ท่านก็ต้องเข้าใจนะ สังขารและนิมิตนี่หมายถึงอะไร หมายถึงนามรูป หรือสังขารธรรม สังขารธรรมทั้งหมด ครอบงำเสียซึ่งสังขารนิมิต คืออะไร โคตรภูทำอนิมิตตะ เป็นอารมณ์ในโคตรภูนี้ มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ว่า โคตรภูนั้น ก็มีนิพพาน ๓ เหมือนกัน โคตรภูได้อนิมิตต- นิพพานเป็นอารมณ์ หรือว่าได้อัปปณิหิตนิพพานเป็น อารมณ์ หรือว่าได้สูญญตนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานน่ะ มี ๓ อย่างนี้ ในโคตรภูก็มีนิพพาน ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งตามแนวทางของวิปัสสนา แล้วแต่ว่าวิปัสสนา ที่มาติดต่อกับโคตรภูที่ในวิถีมัคนั้น จะมาด้วยอนิจจัง หรือมาด้วยทุกขัง หรือมาด้วยอนัตตา โคตรภูก็ได้อารมณ์ นิพพานตามนั้น สังขารนิมิตในที่นี้ท่านแก้ว่า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่ารวมก็คือ รูปกับนามนั่นแหละ ครอบงำเสียซึ่งอารมณ์ของรูปนามนั้น

 ๗. แล่นไปสู่อัปปวัตติ คือ แล่นไปสู่ความไม่เป็นไปของนามรูป อัปปวัตตินี่น่ะ อะไร คือนิพพาน ฉะนั้น นิพพานนี่ มีชื่อเยอะเลยนะคะ และก็ความไม่เป็นไปใน รูปภพ และอรูปภพ รูปภพก็ไม่มีในที่นั้นใช่ไหม อรูปภพ ก็ไม่มี ในโคตรภูนั้นน่ะ ไม่มีใครจะได้ฌานอยู่อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อเข้าถึงโคตรภูแล้ว ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน ก็ไม่มีทั้งนั้น ความเป็นไปในรูปภพ และอรูปภพ ในที่นี้เราต้องเข้าใจ เดี๋ยวท่านจะไปนึกถึงว่า โคตรภูนั้นน่ะ พระโสดาอันเดียวนะ กิจของโคตภูนี้น่ะ ตั้งแต่โสดาไปถึงพระอรหันต์ การที่ท่านวางกิจไว้ในที่นี้ของโคตรภูน่ะ ความไม่เป็นไป ในรูปภพ และอรูปภพใช่ไหม โคตรภูของใคร โคตรภูที่เกิดขึ้นในอรหัตตมัค แต่ว่าท่านเปลี่ยนชื่อเป็น “โวทาน” แต่ว่า ทำกิจอย่างเดียวกัน ไม่เป็นไปทั้งในกามภพ รูปภพ และอรูปภพ

๘. แล่นไปสู่ความเกษม คือ นิโรธหรือนิพพานนั้น

๙. ครอบงำความเกิด

๑๐. แล่นไปสู่ความไม่เกิด

                 ก็รวมเป็น ๑๐ อย่าง ครอบงำความเกิด ในที่นี้น่ะ แปลว่า เกิดทุกอย่าง เพราะฉะนั้น พระนิพพานนี่ ไม่มี อะไรเข้าไปเกิดในพระนิพพาน และเมื่อไม่มีอะไรเข้าไปเกิดในพระนิพพานแล้ว จะมีอะไรเข้าไปดับในพระนิพพาน ไหม ก็ไม่มีใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะใช้คำพูดว่า “นิพพานคือกิเลสดับแล้วไม่เกิดเลย” คำพูดอย่างนี้ใช้ ได้ไหม ถูกไหม กิเลสดับแล้ว ไม่เกิดเลยนั่นแหละ คือความหมายว่า นิพพาน ถ้าท่านนักศึกษาได้ยินคำพูด อย่างนี้เข้า ถูกไหม แล้วถ้าไม่ถูกน่ะ ไม่ถูกตรงไหน ? ถูกหรือเปล่า กิเลสดับแล้วไม่เกิดเลย ถูกไหม? คำพูด อย่างนี้น่ะ กิเลสต้องเข้าไปดับในนิพพานใช่ไหม กิเลส ต้องไปดับซิ ดับอย่างชนิดนิพพานว่างั้นเถอะนะ นิพพาน เป็นที่ดับกิเลสใช่ไหมล่ะ เพราะฉะนั้นกิเลสต้องเข้าไปดับ ในนิพพาน ก็กิเลสเข้าไปดับในนิพพานแล้ว กิเลสก็ต้อง เกิดขึ้นในนิพพานใช่ไหม? ไม่อย่างนั้น กิเลสจะไปดับ ในนิพพานได้อย่างไรล่ะ ใช่ไหมล่ะ นี่นิดเดียวนะ คำพูด นิดเดียวเท่านั้นแหละ พูดก็น่าจะถูกเหลือเกินทีเดียว แต่ไม่ถูก ใครจะบอกดับแล้วไม่เกิด ตายแล้วไม่เกิด จะไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ได้เลย ก็กิเลสน่ะ ดับแล้วก็แล้วไปทั้งนั้นแหละ โลภที่ดับไปแล้วน่ะ โลภที่ดับไปแล้วน่ะหรือ มันจะมาเกิด ไม่ใช่, ใช่ไหม ? มันเกิดขึ้นใหม่ต่างหากล่ะ มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นน่ะ เราจะแต่งความให้เข้าใจ ในพระนิพพานได้ดีน่ะ หมายถึงอะไร ท่านจึงบอกว่าพระนิพพานน่ะ เป็นที่ดับเป็นที่ดับ ใช่ไหม ที่ดับในที่นี้น่ะ เราต้องหมายถึงว่า เป็นที่ไม่มีกิเลส คือ กิเลสไม่เกิดขึ้น ในที่นั้น ใช่ไหม กิเลสไม่มีเกิดเลย

                  เพราะฉะนั้ นลั กษณะของนิ พพานน่ะไม่ มี แตกสลาย หรือจุติใช่ไหม ? ก็จะมีการจุติได้อย่างไรล่ะ นิพพาน เพราะไม่มีอะไรเข้าไปเกิดในที่นั้นแล้วใช่ไหมล่ะ เมื่อไม่มีอะไรเข้าไปเกิดแล้ว ใครล่ะมันจะเข้าไปตายในที่นั้น นี่หมายความนิดเดียวนะ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เข้าใจ จริงๆ แล้วน่ะ มันยากเหลือเกินแหละ คำพูดนั้นน่ะ เพราะฉะนั้นอรรถและพยัญชนะต้องสมบูรณ์ เราเข้าใจแต่ว่าเราใช้พยัญชนะไม่ถูก นี่ก็ไม่ได้แล้วนะ ทำให้คนที่ เข้าใจเขาก็รู้แล้วว่าไม่ถูก เราใช้พยัญชนะถูก แต่ไม่เข้าใจเนื้อความก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเข้าใจพระพุทธศาสนา น่ะ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ อรรถและพยัญชนะนี่ ต้องบริบูรณ์

                   ก็การงานของโคตรภูทั้ง ๑๐ ประการนี้ ถ้าจะ รวบรวมความเข้าใจโดยย่อแล้ว ก็เป็นการงานที่อุปการะ เพื่อเข้าถึงมัค ผล นิพพานนั่นเอง แต่ที่นำมากล่าวไว้ ก็เพื่อจะให้เราทราบลำดับของจิตใจ หรือปัญญาที่จะดำเนิน ไปตามวิถีทางที่จะบรรลุมัค ผลนั้น ต้องเป็นไปตามปัจจัย ดังนี้

                    ฉะนั้น เมื่อพูดถึงโคตรภู ที่เป็นผู้ทำปัจจัยให้แก่ มัค ผล นิพพาน นั้นแล้ว ก็ขออย่าให้ท่านลืม ท่านอย่าลืม นะคะ ท่านอย่าลืมว่า โคตรภูญาณนี่น่ะได้มาจากไหน ก็ต้องได้มาจากอนุโลมญาณนั้นเอง แล้วก็อนุโลมญาณ มาจากไหน นี่เราได้อธิบายกันมาแล้วนะคะ เพราะเหตุว่า อนุโลมญาณนั้น ทำสังขารรูปนามที่เป็นโลกียธรรมให้ สิ้นสุดลง ในขณะที่ ๓ ของภังคะขณะแห่งอนุโลมญาณ นั้นเอง ก็อารมณ์ของโลกียะได้สิ้นสุดลงแล้ว พร้อมลงไป กับความดับในภังคขณะของอนุโลมญาณ ขณะที่ ๓ นะคะ ก็เมื่อโลกียะดับแล้ว ต่อไปก็เป็นโอกาสของโคตรภูญาณ เพราะว่าอารมณ์ของโลกียะดับแล้ว เป็นโอกาสของ โคตรภูญาณ ที่จะหน่วงเอาพระนิพพานมาเป็นอารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น อนุโลมจึงอนุโลมเพื่อจะให้เห็นอริยสัจจะ เพราะว่าดับอารมณ์โลกียะ โคตรภูญาณก็มีพระนิพพาน มาเป็นอารมณ์ได้ แต่ถึงแม้โคตรภูญาณนี้ จะเหนี่ยวเอา พระนิพพานมาเป็นอารมณ์ได้ก็จริงอยู่ แต่ก็ยังไม่สามารถ ที่จะทำลายอนุสัย มีตัณหานุสัยและทิฏฐานุสัย ที่ดองอยู่ ในจิตสันดาน ยังไม่หมดสิ้นไปจากจิตนั้นได้ ถึงแม้จะมี นิพพานเป็นอารมณ์ก็จริง ฉะนั้น จึงไม่เรียกว่าโลกุตตรจิต แต่อารมณ์เป็นโลกุตตรได้ เพราะเหตุว่า ยังทำลายกิเลสให้ เป็นสมุจเฉทไม่ได้ กิจของอริยสัจไม่สมบูรณ์ โคตรภูยัง ทำให้สมบูรณ์ไม่ได้ และในการที่ โคตรภูยังทำการประหาร กิเลสให้เป็นสมุจเฉทไม่ได้นั้นนะ ก็เพราะเหตุว่า เป็นที่ อุบัติขึ้นในที่นั้นขณะเดียว คล้ายๆ กับว่า เพิ่งจะเข้าไปอยู่ ในที่นั้นขณะเดียวนะคะ เปรียบเหมือนคนที่ย่างเหยียบ เข้าไปในเขตที่ตนยังไม่เคยเข้าไป ท่านอุปมาเหมือนกับว่า มีบุรุษผู้หนึ่ง ที่ต้องการจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อ กิจการของตนตามที่ปรารถนาไว้ ก็จะต้องอาศัยมีผู้นำเข้าเฝ้า ไม่ใช่ว่าจะพรวดพราดเข้าไปถึงพระเจ้าแผ่นดินได้นะ เมื่อได้พบพระเจ้าแผ่นดินแล้ว จึงอาศัยพระเจ้าแผ่นดินนั้น เป็นปัจจัย เพื่อจะให้การงานนั้นๆ ของตนสำเร็จได้

                   ฉะนั้น โคตรภูก็เหมือนกับผู้นำมัคคจิตเข้าเฝ้า พระเจ้าแผ่นดิน ก็เหมือนกับพระนิพพาน โคตรภูเป็น ผู้นำมัคคจิตเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อได้พบกับ พระเจ้าแผ่นดินแล้ว ตนเองก็ต้องหลีกไป ตนเองก็ต้อง ดับไป เพราะหมดหน้าที่ ส่วนที่จะทำกิจการอะไรต่อไป นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของผู้นำ นั่นเป็นหน้าที่ของแขกที่ตามมา ทีหลัง นั่นเขาจะต้องทำกิจการอันนั้น เพราะหมดหน้าที่ แล้ว ต่อจากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของแขกผู้ที่ได้ติดตาม โคตรภูมานั้น จึงปรารภในกิจ โดยที่อาศัยอำนาจของ พระเจ้าแผ่นดินนั้น ให้เป็นที่สำเร็จในกิจการของตนนั้นได้ ส่วนผลจิตนั้นก็เป็นแต่เพียงได้เสวยผลแห่งความสำเร็จในการงาน ซึ่งมัคได้ทำให้แล้วนั้น อย่างมากก็เพียง ๓ ขณะจิตเท่านั้น

                    ก็เหตุผลดังได้อธิบายมานี้ โคตรภู จึงยังไม่ควรที่จะ เป็นโลกุตตรจิตได้ เพราะเหตุว่า โคตรภูเป็นแต่เพียงปัจจัย ที่จะให้มัคคจิตได้พบกับพระนิพพาน เพื่อจะให้สำเร็จ ในกิจการนั้น เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า โคตรภูยังไม่ได้ อาเสวนปัจจัยเพิ่งเกิดขึ้นขณะเดียวเท่านั้นเอง ยังไม่ได้ การอุดหนุนจากใครๆ เลย เพราะยังไม่ได้อาเสวนปัจจัย จึงยังไม่มีปัจจัย ไม่มีกำลังพอที่จะให้โคตรภูญาณนั้น ได้ทำกิจให้สำเร็จไปได้ หรืออีกหนึ่ง ก็โคตรภูญาณนี่ เพิ่งได้เหยียบย่างเข้าไปในประเทศต่างแดน คือ พระนิพพาน โดยอารมณ์นั้นเพียงขณะเดียวเท่านั้น จึงยัง มิได้ส้องเสพด้วยอาเสวนปัจจัย จึงยังไม่มีกำลังพอที่จะ ทำลายข้าศึก คือกิเลสได้ ฉะนั้น โคตรภูจึงไม่สามารถ จะเปลี่ยนชาติของตัวจากกามาวจรเป็นโลกุตตรจิตได้ แต่ก็นับว่าได้เหยียบย่างเข้าไปในเขตของญาณทัสสน- วิสุทธิ เพราะเหตุที่ได้เหยียบย่างเข้าไปส่วนหนึ่งแล้วได้ ด้วยการได้อารมณ์พระนิพพาน ฉะนั้น โคตรภูญาณนี้ จึงมีนามว่า “เอกโตวุฏฐาน” คือว่า มีฐานะเดียวเท่านั้นเอง เรียกว่า เอกโตวุฏฐาน คือ ตามธรรมดาโลกียจิตนั้นน่ะ อารมณ์ก็ต้องเป็นโลกียะ มีสังขตธรรมเป็นอารมณ์ จิตก็ยัง มีกิเลส คือตัณหานุสัยยังมีอยู่ มีทั้งสองอัน การที่จะถึง มัคผล สำเร็จกิจในอริยสัจได้น่ะต้องดับอารมณ์ที่เป็น โลกียะด้วย และออกจากกิเลสด้วย ถึงจะสำเร็จได้ ส่วน โคตรภูนี้ ออกจากอารมณ์ฐานเดียวเท่านั้น คือ ออกได้แต่ เฉพาะอารมณ์ที่เป็นโลกีย์แต่ส่วนกิเลสนั้น ยังออกไม่ได้ จะต้องได้อารมณ์นิพพานอีกขณะหนึ่ง คือ มัคคจิตนั้น จึงจะออกได้ทั้งสองฐาน แปลว่า มัคคจิตนี่พ้นแล้วทั้งสอง ฐานเลย ทั้งกิเลสก็ไม่มี อารมณ์ก็ไม่มี ที่พูดอย่างนี้ ก็คล้ายๆ กับว่า ไม่เกี่ยวข้องกันเลย มัคกับโคตรภู โคตรภูน่ะ คล้ายๆ กับว่าเป็นผู้นำกิจจบหมดแล้วทุกอย่าง วิปัสสนาทำกิจ จบสมบูรณ์แล้ว ก็สถปนาขึ้นเสวยราชย์ เมื่อเสวยราชย์ แล้ว สมบูรณ์แล้ว กิจการอะไรก็สามารถทำได้สำเร็จ ทุกอย่าง จะฆ่าใคร จะประหารใคร ได้ทั้งนั้น ทำได้ทุกอย่าง แต่โคตรภูนี่ ยังทำไม่ได้

                   ฉะนั้น โคตรภูนี้ ยังเป็นปุถุชนอยู่ ยังไม่สถาปนาขึ้น เป็นอริยบุคคล แต่พอจิตเกิดขึ้นอีกขณะหนึ่ง เรียกว่า มัคคจิต ตอนนี้สถาปนาขึ้นเป็นอริยบุคคลแล้ว มี โสดาปัตติมัค เป็นต้น ฉะนั้น ถ้าเราไม่ศึกษาในเหตุผลแล้ว ไม่น่าจะเกี่ยวกันเลย

                   ทีนี้ มัคนี่ไม่มีแล้วกิเลส หมดจดบริสุทธิ์เลย เป็น วิสุทธิขันธสันดาน หมดจดจากกิเลสเป็นขันธสุทธิ ไม่เรียกว่า ปัญจุปาทานักขันธ์ เพราะว่าอุปาทานความ ยึดมั่น ถือมั่น ในที่นั้น คือ ตัณหาก็ถูกประหารแล้ว และ ขันธ์นั้นก็จะมาเป็นอารมณ์ของอุปทานก็ไม่ได้ จะมาเป็น อารมณ์ของอาสวะก็ไม่ได้อีก เพราะฉะนั้น ขันธ์ที่เฉพาะ เป็นโลกุตตร เป็นอารมณ์ของอุปาทานไม่ได้ ขันธ์ที่เป็น อารมณ์ของอุปาทานไม่ได้ มีกี่ขันธ์คะ มี ๔ ขันธ์เท่านั้น นะคะ ทำไมถึงมี ๔ ขันธ์ ในมัคคจิตน่ะ รูปขันธ์มีไหม ? มัคคจิต ผลจิตน่ะ ก็ในมัคคจิต ผลจิต ก็มีขันธ์ ๕ นี่ จิตตชรูป มีใช่ไหม ? จิตที่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป มีเท่าไหร่คะ ? มี ๗๕ ใช่ไหม ? เพราะฉะนั้น ในจิต ๗๕ นี้ มีโลกุตตรจิต ด้วย เว้นอรูปวิบาก ๔ เท่านั้น แล้วทำไม จึงไม่นับขันธ์ ๕ เพราะว่า ขันธ์ ๕ นี้น่ะ ธรรมที่จะเป็นอารมณ์ของอุปาทาน ได้น่ะ เฉพาะโลกียธรรม รูปขันธ์นี่น่ะ เป็นโลกียธรรม หรือเป็นโลกุตตร ขณะที่ถึงนิพพานน่ะ ? มัคคจิตถึง นิพพานแล้ว ธรรมที่เกิดกับมัคคจิตน่ะ เป็นโลกุตตรธรรม ได้ไหม ? เพราะอะไร ? จิตที่เป็นโลกุตตรได้น่ะ เพราะอาศัย อารมณ์เป็นปัจจัย จิตกับเจตสิกนั่นน่ะ ถือเอานิพพานเป็น อารมณ์ได้ ได้นิพพานมาเป็น มาเป็นปัจจัย จึงเลื่อนฐาน เป็นโลกุตตรธรรมได้ใช่ไหม จิตกับเจตสิกนะ

                   แต่ส่วนรูปนั้นน่ะ ถือเอาอารมณ์ได้ไหม ? ไม่ได้ ใช่ไหมล่ะ ? โดยเหตุนี้ เขาจึงไม่นับ แต่ว่า ในที่นั้น มีรูปด้วยหรือเปล่า ? มี ! มีรูปเกิดด้วย แต่ไม่นับเป็นโลกุตตร เพราะเหตุว่า ธรรมชาติของรูปน่ะ มันมีการแตกดับ เป็นโลกียะอยู่ใช่ไหม ถึงจิตมันก็เกิด-ดับนะ มัคคจิตนี่น่ะ แต่ว่าได้อาศัยอารมณ์ แต่ส่วนรูปนั้นนะ ธรรมชาติของมัน ก็เป็นโลกียะอยู่ มีความแตกดับอยู่แล้ว แล้วก็ยังจะถือเอา อารมณ์ไม่ได้อีก เขาจึงไม่นับ ฉะนั้น วิสุทธิขันธ์ในที่นี้ ก็ถือเฉพาะขันธ์ ๔ ในโลกุตตรจิตที่จะเป็นอารมณ์ของ อุปาทานไม่ได้ ขันธ์ของพระอรหันต์ที่หมดกิเลสแล้วน่ะ เป็นอารมณ์ของอุปาทานได้ไหม เห็นไหม แม้แต่โลกียจิต ของพระอรหันต์น่ะ ก็เป็นอารมณ์ของอุปาทานได้รูปขันธ์ ก็เป็นอารมณ์ของอุปาทานได้ใช่ไหมล่ะ โดยเหตุนี้น่ะ เราก็ควรจะเข้าใจคำว่า อุปาทานขันธ์ด้วยนะ ว่าอุปาทาน- ขันธ์น่ะ ขันธ์ที่มีอุปาทานด้วย แล้วก็เป็นอารมณ์ของ อุปาทานด้วย นี่เรามาเรียนมาติกาแล้วใช่ไหมก็สะดวก หน่อยหนึ่ง พูดกันแล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ ใช่ไหมคะ

          ฉะนั้น การละอุปาทานนี่น่ะ แปลว่า ละขันธ์ ด้วยใช่ไหม ? ละอุปาทานนี่น่ะ คือ ละขันธ์ใช่ไหม ไม่ใช่ หรือ ? อุปทานนี่ ไม่ใช่ขันธ์หรือ ? ต้องชื่อว่า ละขันธ์ด้วยซิ เพราะกิเลสเป็นขันธ์หรือเปล่าเล่า ? อุปาทานเป็นขันธ์ อะไร ? เป็นสังขารขันธ์ใช่ไหม ? เพราะฉะนั้น ละอุปาทาน ก็ต้องละขันธ์ด้วย ฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า กิริยาที่ละกิเลส นั่นแหละ คือ กิริยาที่ละขันธ์ เพราะดับขันธ์ใช่ไหมล่ะ ? ดับกิเลสน่ะ ดับทุกข์น่ะ ขันธ์นี่ เป็นตัวทุกข์ กิเลสน่ะ เป็นเหตุนะ เพราะฉะนั้น อันเดียวกันนะ ดับกิเลสน่ะ ชื่อว่าดับขันธ์ด้วย และชื่อว่าดับทุกข์ เพราะฉะนั้น ปัญจขันธ์ของพระอรหันต์น่ะ ในขันธ์นั้น ไม่มีอุปาทาน แต่ว่า เป็นอารมณ์ของอุปาทานได้ ทีนี้ ถ้าเราไม่เข้าใจ ความหมายในพยัญชนะบทนี้แล้ว ถ้าเราไปพูดว่า ขันธ์ ของพระอรหันต์เป็นอุปาทานขันธ์ละก็ โอ้โฮ ! เราต้อง ถูกโจมตี ไม่มีใครเขาเชื่อ, ไม่มีใครเขาก็ยอมฟังหรอก เพราะพระอรหันต์ เป็นผู้ละอุปาทานแล้ว ทำไมขันธ์ของ พระอรหันต์ จึงมาเป็นอุปาทานขันธ์อีก เขาไม่ยอมเชื่อหรอก เพราะฉะนั้น บางทีเขาเข้าใจว่า พอละอุปาทานได้แล้ว ขันธ์ของเขา จึงไม่มีอุปาทานขันธ์แล้ว

                  เพราะฉะนั้น โคตรภูนี่ ยังออกไม่ได้นะคะ ต้องได้รับ อารมณ์พระนิพพานอีกขณะหนึ่ง คือ มัคคจิต นั้น จึงจะออกทั้ง ๒ ฐานได้ แล้วจึงจะทำกิจประหารกิเลส ได้สำเร็จ เป็นสมุจเฉทปหาน นี่ต้องมาทำตรงมัค ฉะนั้น โคตรภูญาณนี้น่ะ จะนับว่า เป็นญาณทัสสนวิสุทธิแท้ๆ ก็ยังไม่ได้ ใช่ไหมล่ะ และจะว่าเป็นวิปัสสนาหรือ อารมณ์ ของวิปัสสนาในที่นั้น ก็ไม่มี คล้ายๆ กับว่า อยู่ในระหว่าง แต่ว่า ถ้าพูดถึงโดยธรรมชาติของจิตนะ โคตรภูจิตนี่นะ ยังเป็นโลกียจิตอยู่ แล้วก็เป็นชาติเดียวกันกับอนุโลม คือ มหากุศลญาณสัมปยุตด้วยกัน ก็เป็นชาติเดียวกัน ฉะนั้น ในวิสุทธิมัค ท่านบอกว่า บางทีก็นับเอาอนุโลมญาณ เป็นที่สุดของวิปัสสนาโลกียะ นี่นับโดยอารมณ์ อารมณ์ ของโลกียวิปัสสนาน่ะ สิ้นสุดอยู่แค่อนุโลมญาณเท่านั้น ท่านนับที่สุด โดยเอาอนุโลมญาณเป็นที่สุดน่ะ โดยอารมณ์ หรือจะนับโคตรภูเป็นที่สุดของวิปัสสนา ที่นับอย่างนี้ เอาโคตรภูเป็นที่สุดน่ะ นับโดยจิต ไม่ใช่นับโดยอารมณ์ นับโดยจิตนะคะ ฉะนั้น ในที่นี้ ก็นับเอาโคตรภู อยู่ใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะว่า จัดเป็นญาณทัสสน- วิสุทธิไม่ได้ ญาณทัสสนวิสุทธินี้ จะมีแต่เฉพาะในมัค ๔ เฉพาะในมัคเท่านั้นแหละ ในมัคคจิตอันเดียว

                   ทำไมล่ะ ผลจิตนี่น่ะ ก็วิถีเดียวกัน จิตก็เป็นโลกุตตร เหมือนกัน ก็นับอยู่ในญาณทัสสนวิสุทธิด้วยเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่ได้ทำงานประหารกิเลสก็ตาม อยู่ในวิถีเดียวกัน เฉพาะญาณทัสสนวิสุทธินี้น่ะ นับตั้งแต่มัคคญาณถึง ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ เป็นญาณทัสสนวิทสุทธิ อยู่ในญาณทัสสนวิสุทธิหมด ฉะนั้น ญาณทัสสนวิสุทธิ นี้น่ะ โลกียะก็ได้ โลกุตตรก็ได้

                  แต่ว่า จะอย่างไรก็ตามเถอะ จะนับในที่ไหนก็ตาม จะต้องผ่านมัค ผลไปแล้ว จิตที่เกิดขึ้นหลังจากมัค ผล ไปแล้วนะคะ ต่อกันนั่นแหละ เขาก็สงเคราะห์เป็นญาณ- ทัสสนวิสทุธิ ทีนี้ ในปัจจเวกนั้นน่ะ มีกิเลสหมดหรือเปล่า ในโคตรภูกิเลสไม่หมด แต่ว่า ในปัจจเวกขณญาณนี้น่ะ มีกิเลสหมดหรือเปล่า มัคนี่ ประหารกิเลสใช่ไหม มัคน่ะประหารกิเลสแล้วใช่ไหม แล้วผลล่ะ ประหารกิเลส หรือเปล่า มัคก็ประหารแล้ว ผลก็ประหารแล้ว ใช่ไหม ในปัจจเวกประหารหรือเปล่า กิเลส ไม่ประหารใช่ไหม ถ้าไม่ประหารแล้ว โสดาก็กลับมาเป็นปุถุชนอีกน่ะซิ ในปัจจเวกกิเลสก็ต้องถูกประหาร เป็นสมุจเฉทแล้วทั้งนั้น ใช่ไหม ในธรรมที่เอามาสงเคราะห์ลงในญาณทัสสนวิสุทธิ นี่น่ะ ปัจจเวกก็ต้องประหารกิเลสใช่ไหม ถ้าไม่ประหารก็ กลับมาเป็นปุถุชนอีกน่ะซิ

                 ทีนี้ เมื่อผ่านมัค ผล ปัจจเวกไปแล้ว คือ ต้องทำ ความเข้าใจนะ ตรงนี้นะ

              ทีนี้มาพูดกันถึงเรื่องอกุศลจิตล่ะ อกุศลจิตน่ะ ประหารกิเลสหรือเปล่า มัคคจิตนั้นน่ะ ประหารกิเลสใน โลภะจิต โทสะจิต หรือเปล่า มัคคจิตน่ะ ? หรือประหาร แต่เฉพาะในโลกุตตร ลองคิดให้ดีซิ ประหารหรือเปล่า ในโลภะ โทสะ โมหะน่ะ มัคคจิต ประหารกิเลส ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ หรือเปล่า ไม่ประหารหรือ ? ต้องประหารนะ พระโสดามีโลภะไหม มีโทสะไหม ? โลภะ โทสะ โมหะ ของพระโสดา ถูกประหารหรือเปล่า ถูกประหารใช่ไหม ทิฏฐิสัมปยุตถูกประหารแล้ว โลภะในที่นั้นใช่ไหม เพราะฉะนั้น อย่าไปถือว่า ประหารกิเลสเฉพาะ มัคคจิต เท่านั้นนะ ประหารหมดนะ แม้แต่ในโลภะ โทสะ โมหะ ก็ถูกประหาร ถ้าโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ถูกประหาร มันก็ละ ไม่ได้ซิ กิเลสจะหมดได้อย่างไร จะหมดจากสันดาน ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เราจะยกโลภะ โทสะ โมหะ เป็นอริยบุคคลได้ไหม อย่าลืมนะ พระอริยบุคคล ไม่ได้มี แต่มัค ผล เท่านั้นนะ พระโสดาน่ะ มีโลภะ โทสะ โมหะ ก็เป็นพระโสดาก็ได้ โลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นพระโสดา ไม่สามารถจะทำอกุศลที่นำไปอบาย ไม่สามารถจะพาไป อบายได้อีกแล้ว ถึงยังมีอยู่ก็ตาม นี่ต้องเข้าใจด้วยนะ ประเดี๋ยวจะไปนึกว่า จะประหารแต่เฉพาะโลกุตตรเท่านั้น ถ้าอย่างนั้น ถ้าเป็นโสดาบันบุคคล ทำอย่างไร ดูซิ วิถีจิต ยังมีเกิดอยู่ ถ้าโลกุตตรไม่เกิด ก็ไม่มีโสดา ถ้าไม่ประหารนะ เมื่อโลภะเกิด ก็เป็นปุถุชน มันก็ใช้ไม่ได้ใช่ไหม ใช้ไม่ได้ หรอก โลภะเกิดก็ต้องเป็นโสดา โทสะเกิดก็ต้องเป็นโสดา อยู่นั่นแหละ

             เพราะฉะนั้นแหละ มันมีเหตุผลสลับซับซ้อนมาก ขอให้พยายามเข้าใจ และนำเหตุผลนั้นมาติดต่อกันให้ได้ ต้องสงเคราะห์เข้ากันได้หมดเลย

              ฉะนั้น ขอให้ท่านพยายามศึกษาให้เข้าถึงเหตุผลเถิด เมื่อได้เหตุผลเป็นครูแล้ว จะปลอดภัยจากมิจฉาทิฏฐิ

             ในวันนี้ ขอจบเรื่องปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิที่ ๖ ไว้เพียงนี้ ยังเหลืออีกวิสุทธิเดียวเท่านั้น ที่เป็นวิสุทธิสุดท้ายที่จะทำให้ถึงพระนิพพานกันละ แต่ก็ จะต้องได้อาศัยวิสุทธินี้เสียก่อน เพราะจะข้ามกันไปไม่ได้ จะต้องเป็นไปตามลำดับของเหตุผล

               สำหรับวิสุทธิที่ ๗ ไว้วันหน้า จะนำมาพูดกันต่อไป ก็พักไว้เพียงเท่านี้นะคะ