**อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม

อานิสงส์ของการปฏิบัติ

โดย อ.แนบ มหานีรานนท์

        ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ศีลก็มีอยู่แล้ว ในโลกนี้ ทานก็มีอยู่ สมาบัติ เหาะเหินเดินอากาศก็มีอยู่ก่อนแล้ว มีผู้ที่เขาทำกันอยู่แล้ว พระพุทธเจ้ายังมาสร้างบารมีอยู่กับเขา สิ่งที่ยังไม่มีในเวลานั้นก็คือ สติปัฏฐาน ๔ มรรค ๘ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็คือ ธรรมะอย่างเดียวกันนั่นเอง วิสุทธิ ๗ ไม่มี สติปัฏฐานไม่มี มรรค ๘ ไม่มี วิปัสสนาไม่มี (ถ้าทำถูกต้องแล้วธรรมเหล่านี้จะเข้าหมดเลย) ธรรมเหล่านี้ยังไม่มีจนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว คนทั้งหลายในสมัยนั้นไม่มีโอกาสเลย สัตว์โลกทั้งหลาย ไม่มีโอกาสที่จะได้สร้างกุศลอย่างนี้เลย

        เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว จึงได้ประกาศกุศลอย่างนี้ (ทางไปนิพพานจึงปรากฏขึ้นในโลก พระพุทธศาสนาสิ้นแล้วหนทางก็สิ้นด้วย) ท่านจึงได้กล่าวว่า “ผู้ใดมาเกิดพบพระพุทธศาสนาแล้ว เป็นลาภ อันประเสริฐ” มีอานิสงส์มากเหลือเกิน เป็นลาภอย่างไร เป็นลาภก็เพราะว่า จะได้สร้างกุศลอย่างนี้ เพื่อเป็นปัจจัย ที่จะพ้นจากสังสารทุกข์ กุศลอย่างอื่นไม่มีพ้นได้เลย จึงได้กล่าวว่าเป็นลาภอันประเสริฐ เราทั้งหลายก็ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แต่ว่าเราไม่เคยรู้จักเลยกุศลอย่างนี้ ไม่เคยได้สร้างเลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วการพบพระพุทธศาสนาก็เป็นหมัน หาประโยชน์ไม่ได้ เราก็มัวแต่จะมาสร้างทาน สร้างศีลอะไรต่ออะไร ซึ่งนอกพระพุทธศาสนาก็สร้างได้ เพราะว่าเขามีมาก่อนแล้วประจำโลก อันนี้น่ะสิไม่มี ที่กล่าวว่าเป็นลาภอันประเสริฐนั้น ก็คือได้มีโอกาสสร้างกุศลอย่างนี้ ถือว่าเป็นอานิสงส์มากนัก

        เพราะฉะนั้นเราควรสร้าง เราจะได้หรือไม่ได้ก็ช่าง แต่กุศลวิปัสสนานี้เราต้องสร้าง เพราะว่าเรามีโอกาสแล้ว ที่จะสร้างได้ เราก็ต้องสร้างเพื่อให้เป็นปัจจัยต่อไป เพราะว่า ถ้าตายแล้วสูญ เราก็ไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด แต่นี่เราเชื่อแล้วว่าตายแล้วไม่สูญ สังสารวัฎมีอยู่ เพราะฉะนั้น เราก็สร้างไว้ให้เป็นปัจจัย อันนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้เคยเทศนาแก่พระอานนท์ว่า “ตถาคตคงยังอยู่ก็ตาม หรือจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม จะเป็นอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี คนใดคนหนึ่งก็ตาม ถ้าตั้งอยู่ในธรรมอันนี้แล้ว ตถาคตก็ยกย่องว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ประเสริฐ” อะไรตั้งอยู่ จิตตั้งอยู่ในธรรมอันนี้ คือพิจารณากาย เวทนา เป็นต้น ได้แก่ สติปัฏฐาน พระองค์ก็ทรงยกย่องว่า ผู้นั้น เป็นผู้ประเสริฐ แล้วยังได้ทรงตรัสว่า

       “อานนท์จงมีตนเป็นที่พึ่งของตน อย่าเอาสิ่งอื่น เป็นที่พึ่ง จงเอาตนเป็นที่พึ่งและเอาธรรมเป็นที่พึ่งด้วย”

         เอาตนเป็นที่พึ่งนั้นอย่างไร? ผู้ชื่อว่ามีตนเป็นที่พึ่ง ของตน คือผู้ที่พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม สติปัฏฐานอันใดอันหนึ่ง ผู้ที่นำจิตของตน ไปตั้งอยู่ในสติปัฏฐานได้ ชื่อว่าผู้นั้นมีตนเป็นที่พึ่ง และมีธรรมเป็นที่พึ่งด้วย และผู้ที่จะนำจิตมาตั้งอยู่ใน สติปัฏฐานได้ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับกิเลส จริงๆ แล้ว คือผู้ที่ไม่มีตนเป็นที่พึ่ง แล้วมาไม่ได้ มาไม่ได้ หรือมีอุปสรรคอย่างโน้นอย่างนี้ คนที่จะเอาจิตมาตั้งอยู่ใน สติปัฏฐานได้ จะต้องเป็นคนที่ชนะกิเลสได้ ชนะกิเลสมา แล้วก็มีปัจจัยของกุศลที่จะให้โอกาสให้จิตมาตั้งอยู่ได้ จึงจะมาได้ จะต้องชนะกิเลสมาชั้นหนึ่งแล้ว มิฉะนั้น มันไม่ยอม กิเลสมันจะลากไปทีเดียวนรกน่ะ ไม่มีกุศลลากไปเลยมีแต่กิเลสลากไปทั้งนั้น ถ้าไปสวรรค์ก็ต้องกุศลนั่นแหละเป็นผู้ลาก ถ้าคนที่เอาชนะกิเลสไม่ได้ก็ไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ในธรรมอันนี้ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ตั้งอยู่ได้ ชื่อว่า “มีตนเป็นที่พึ่ง” มีอำนาจสามารถจะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ สามารถจะได้ธรรมเป็นที่พึ่ง

        อีกประการหนึ่งในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพานแล้ว ขณะนั้นเทวดาทั้งหลายก็รู้ว่าพระพุทธเจ้าประชวรมาก วันนี้บอกว่าเวลาเท่านั้นทีเดียว จะเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว ก็พากันบอกกล่าวว่าเราจะพากัน ไปบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสียในวันนี้เถอะ ต่อไปจะไม่ได้บูชาอีกแล้ว ดังนั้นต่างก็พากันไปโปรยดอกมณฑารพ อันเป็นดอกไม้ทิพย์เพื่อเป็นพุทธบูชา ในป่านั้นเต็มไปด้วยดอกไม้ทิพย์ ที่เหล่าเทวดาพากันบูชาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสแก่พระอานนท์ว่า

        “อานนท์เทวดาเหล่านั้นบูชาตถาคตด้วยดอกไม้อันเป็นทิพย์มากมายเหลือเกิน เต็มไปหมดทั้งป่าแต่ถึงเช่นนั้น ก็ยังไม่ชื่อว่าตถาคตรับบูชาของพวกเทวดาเหล่านั้น ถ้าเราเอาของไปให้ใครแล้วเขาไม่รับ จะชื่อว่าให้เขาไหม ก็ไม่ชื่อว่าให้ ถูกไหม”

        การที่เราบูชาก็เหมือนกัน ถ้าพระองค์ไม่รับก็ไม่ชื่อ ว่าบูชา ต่อเมื่อใด ผู้ใดผู้หนึ่งก็ตามมาเห็นภัยในวัฏฏะ แล้วก็ทำความเพียรเพื่อออกจากสังสารวัฏนั่นแหละ การกระทำของบุคคลเช่นนั้นชื่อว่า “ตถาคตรับบูชา” เห็นไหมที่เรามาปฏิบัตินี้ เป็นการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดมาพิจารณาเพื่อตัวจะได้พ้นจากทุกข์คือสังสารทุกข์ นี่แหละชื่อว่าตถาคตรับบูชาเราน่ะ เป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งนั้น ทำไมเราจะบูชาพระตถาคตสัก ๗ วัน ๑๕ วันไม่ได้หรือ การบูชาของเรานี่แหละชื่อว่า ตถาคตรับบูชา พระองค์ต้องการปฏิบัติบูชา ทำไมไม่ถวายท่าน

        เพราะฉะนั้นขอให้รู้เถิดว่า การที่เรามาเข้าปฏิบัตินี้ สมแล้วกับที่เราเคารพเลื่อมใสพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจึงมาบูชาเพื่อพระองค์ และทุกครั้งที่เรามีสติรู้รูปก้าว ก็เท่ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสาธุทุกครั้งสำรวมตาเห็น ก็สักแต่ว่าเห็น รู้อยู่ที่เห็น แต่ว่าไม่ออกไปข้างนอก เวลา เห็นเรามีสติรู้อยู่ที่นามเห็น พระพุทธเจ้าทรงกล่าวไว้ “จกฺขุนา สํวโร สาธุ” นามได้ยินก็เหมือนกัน “สาธุ โสเตน สํวโร” พระองค์ทรงสาธุ เมื่อมีสติรู้ที่ได้ยิน กิเลสเข้าไม่ได้ เพราะอารมณ์ปัจจุบันนี่กิเลสเข้าไม่ได้ ทำลายอภิชฌาและโทมนัส

        คิดดูซิว่า กุศลเท่าไรในการที่เรามาทำอยู่นี้ เว้นแต่ผู้ที่มีบาปหนาหรือมีกิเลส ก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะกิเลส มาตั้งอยู่ในธรรมอันนี้ได้ นอกจากนั้นยังได้กุศลทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินทุกก้าวไปก็ได้กุศล กินข้าวเพื่อสร้างสังสารวัฏก็ได้ กินเพื่อพ้นจากสังสารวัฏ ก็ได้ กินแล้วก็พิจารณาว่ากินเพื่ออะไร กินเพื่อแก้ทุกข์ เบญจขันธ์นี้ต้องอาศัยอาหาร การมีเบญจขันธ์นี้ก็เป็น ทุกข์เพราะต้องอาศัยอาหาร เพื่อยังอัตภาพให้อยู่ได้แล้ว พิจารณาต่อไปว่า อยู่เพื่ออะไร? อยู่เพื่อมรรค ผล นิพพาน ธรรมที่ควรที่จะรู้ยังไม่มีธรรมที่ควรจะแจ้งยังไม่แจ้ง ทุกข์ที่ควรจะพ้นยังไม่พ้น เพื่อจะเอาอัตภาพนี้ไว้เพื่อ อย่างนี้เท่านั้น

        ทีนี้เรากินข้าวได้ถูกต้อง ไม่ได้กินเพื่ออร่อย ถ้าอร่อยก็โลภะ ถ้าไม่อร่อยก็โทสะอย่างนี้เรื่อยไป ก็สร้างสังสารวัฏ กิเลสเป็นตัวสังสารวัฏก็สร้างสังสารวัฏเรื่อยไป กินข้าวหนหนึ่งก็ไม่รู้ว่าสังสารวัฏยาวเท่าไร จนไม่รู้เบื้องต้นและที่สุด นี่แหละพิจารณาอย่างนี้ จะอาบน้ำอาบด้วยปัญญาเพื่ออออกจากทุกข์ กินข้าว เพื่อออกจากทุกข์ การเห็น การได้ยิน การนั่ง นอน ยืน เดิน ก็เพื่อออกจากสังสารวัฏทั้งนั้น เดินก็ได้กุศล นั่งก็ได้กุศล อาบน้ำก็ได้กุศล ถ่ายอุจจาระก็ได้กุศล ปัสสาวะก็ได้กุศล วันหนึ่งกุศลก็นับไม่ถ้วน ไม่รู้กี่ร้อยครั้ง กี่พันครั้ง

        เราจะไปสร้างกุศลอะไรที่ได้มากอย่างนี้ นานๆ ทำบุญครั้งหนึ่ง นานๆ เลี้ยงพระครั้งหนึ่ง นานๆ จะ ทอดกฐินสักที แล้วอย่านึกว่าไปทอดกฐินเลี้ยงพระนั้น อกุศลจะเข้าไม่ได้ ไม่ได้โดยบริสุทธิ์เต็มที่แน่นอน เพราะระหว่างที่ทำนั้นไม่ได้ดังใจ ก็จะเอะอะไม่ชอบใจแล้ว บางคนไปทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ทะเลาะกันกลับมาเป็นความกันก็มี มันไม่ได้บริสุทธิ์อย่างนี้เลย เพราะฉะนั้น อย่ามีความประมาทผลัดเวลาว่า “เอาไว้ก่อนเถอะ วันหลังถึงจะมา” อย่างนี้ก็เป็นความประมาท แล้วเราเกิดมาทีหลัง กุศลอย่างนี้อาจจะไม่รู้ว่าเขาสร้างกันอย่างไรก็ได้ แม้ขณะที่ยังสับสนอลหม่านเต็มที่ แล้ววิปัสสนา สติปัฏฐานเวลานี้ก็มีนับไม่ถ้วนหลายอย่างเหลือเกิน

        เพราะฉะนั้นก็น่าปลื้มใจกันทุกคน ขอให้ตั้งใจให้ดี เพราะเป็นของนำมายากที่สุด เป็นธรรมอันประเสริฐที่สุด พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์จะให้เราได้รับกุศลอย่างนี้ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ มัวทำทานถือศีลเสียซึ่งกุศลเหล่านั้น จะทำเมื่อไรก็ได้ มีอยู่เสมอในโลก แต่นี้ถ้าหมดศาสนาแล้ว จะไม่มีโอกาสทำเลย อีกประการหนึ่งเราจะเชื่อละหรือว่า เกิดมาอีกแล้วจะได้พบพระพุทธศาสนาอีกหรือเปล่า ถึงหากจะพบก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้ามาเพราะว่าผู้ที่พบอีกตั้ง เยอะแยะก็ไม่ได้เข้ามา

        ดังนั้นเราจะได้หรือไม่ได้ก็ตาม ก็ยังได้สร้างบารมีเข้าไว้ ต่อไปเมื่อเกิดขึ้นมาอีก ก็ยังมีปัจจัยให้ได้มีโอกาส สร้างบารมีต่อไปอีก ทุกท่านที่เข้ามานี่ ดิฉันเชื่อแน่ว่าต้องมีบารมีมาแล้ว อยู่ถึงไหนๆ ถึงเชียงรายก็ยังมา ถ้าไม่มีบารมีแล้วมาไม่ได้เลยแม้อยู่อ้อมน้อยนี่ ยังไม่เคยมีพวก ใกล้ๆ อ้อมน้อยมาเข้ากรรมฐานเลย เพราะฉะนั้นโอกาสที่เราเข้ามานี่ เป็นโอกาสสร้างมหากุศลอย่างยิ่งทีเดียว โอกาสที่เราจะทำบาปนั้นหาง่ายทีเดียว และอันนี้หายากเหลือเกิน เมื่อเราได้โอกาสที่ประเสริฐแล้ว เราก็ต้องรู้ตัวว่านี่เป็นของมีคุณค่าเหลือเกิน และชื่อว่าเราบำรุงพระพุทธศาสนาด้วย เพราะว่าพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแก่เราก็ชื่อว่าบำรุงและรักษาพระพุทธศาสนาให้ยืนยงอยู่ด้วย ตราบใดที่ยังคงมีคนเข้าใจแพร่หลายรับไว้ได้ จะต้องมีผู้รับไว้ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่มีอยู่ในตำรา อยู่ในตำราก็ไม่มีประโยชน์ ต้องมีอยู่ที่เราเข้าใจแล้วก็เผยแพร่ไป ถ่ายทอดไปให้คนอื่น พระพุทธศาสนาจะได้เจริญแพร่หลาย ถ้าคน ที่รู้ตายไปไม่มีคนรับไว้ ก็เป็นอันว่าหมดไป

        ถ้าธุระทั้งสองยังมีอยู่ก็แสดงว่า พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่ พระพุทธศาสนาจะยังมีอยู่ได้ ก็เพราะธุระการงานทั้งสองยังมีอยู่ ถ้าการงานอย่างนี้ไม่มีเสียแล้ว ก็เป็นอันว่าหมดไป เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามานี้ ดิฉันถือว่า มีบุญมาแล้ว แต่ว่าอุปฆาตกรรมอะไรที่จะมาตัดรอนนั้น อีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่มีเรื่องอื่นหรอก มันจะไม่ให้เรามาก็เพราะกิเลส มันจะให้เราออกไปก็เพราะกิเลส ถ้าไม่ชนะกิเลสแล้วเราก็มาไม่ได้ เราต่างก็อยู่ใต้อำนาจของพระยามารทั้งนั้น เหนือขึ้นไปสวรรค์ชั้นที่ ๖ ก็อยู่ใต้อำนาจเขาทั้งหมด พวกเดียวเท่านั้นที่จะไม่อยู่ใต้อำนาจ คือพวกพระอรหันต์ พญามารจะบังคับจะทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เหนืออำนาจของพญามารจะบังคับคือกิเลส คนมีกิเลสแล้วต้องอยู่ใต้อำนาจพญามารทั้งนั้น

        เพราะฉะนั้นมันจึงได้มาอ้อนวอนพระพุทธเจ้า บอกให้นิพพานเถอะนิพพานเสียเถอะ ถ้าขืนอยู่นาน ประเดี๋ยวก็จะสอนคนให้เป็นอิสระเสียหมด เพราะฉะนั้น คนที่จะชนะกิเลสมารจะต้องมีบุญเหลือเกิน การที่ดิฉัน เพียรพยายามแนะนำนี่ก็เพื่ออยากได้กุศลเหมือนกัน ถ้าท่านเกิดกุศลขึ้นมาหรือได้สติปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ดิฉันก็พลอยได้กุศลด้วย เพราะฉะนั้นดิฉันก็เคยพูด เสมอๆ ว่า “ถ้าอยากจะตอบแทนบุญคุณอาจารย์ละก็ ไม่ต้องการอะไรทั้งหมด ขอให้ทำวิปัสสนาให้เกิดปัญญา อย่างเดียวเท่านั้น” ดังนั้นขอให้ทุกท่านตั้งจิตใจอยู่ใน กุศลนี้ ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆก็ขอให้อย่าได้ออกไป ขอให้เอาชนะกิเลสให้ได้ ถ้าชนะคราวนี้ได้ก็มีหวังที่จะ ชนะต่อไปได้

        เพราะฉะนั้นขอให้กุศลเจตนาที่ท่านได้ตั้งใจ บำเพ็ญกุศลเพื่อพระพุทธศาสนา และตั้งอยู่ในคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ขออำนาจกุศลอันนี้ จะเป็นพลวปัจจัยให้ท่านมีกำลังกาย กำลังใจ สมบูรณ์ด้วยกำลังสติ กำลังปัญญา และสติปัญญานั้นจงเป็นปัจจัย ให้ได้เข้าไปรู้ศีลธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามที่ต้องการมา และขออย่าได้มีอุปสรรคอะไรมากีดขวาง กางกั้นหนทางที่จะดำเนินไปสู่มรรค ผล นิพพาน เลย

        ถ้าจะมีคำถามว่า “เราได้ประโยชน์อะไรบ้าง ในการเกิดมาเป็นมนุษย์” การที่เราได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์นี้ ต้องได้มาด้วยผลของบุญกุศลเพราะนาน ๆ จึงได้เกิดมา เป็นมนุษย์สักครั้ง เช่น เต่าตาบอด อายุ ๑๐๐ ปี และ สามารถโผล่คอเข้าห่วงกลางทะเลได้ นั่นคือ โอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์สักครั้ง เพราะว่าเกิดเป็นสัตว์อื่น เสียมากกว่า เพราะฉะนั้นการได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์ และยังได้พบพระพุทธศาสนาด้วย ควรจะถือว่าเป็น บุญลาภอันยิ่งใหญ่ และพระพุทธองค์ทรงมอบมรดกไว้ให้ สาธุชนรุ่นหลังทั่วทุกคน มรดกอันประเสริฐที่พุทธบริษัท ควรจะช่วยกันรักษาไว้ มรดกนั้นคือสติปัฏฐาน ๔ เพราะเหตุที่ผู้สนใจต่อการปฏิบัติจึงจำเป็นต้องศึกษาให้ เข้าใจดีเสียก่อน ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติและต้องทราบว่า การเจริญสติปัฏฐานภาวนานี้ เพื่อให้พ้นจากชาติ (ความเกิด) พ้นจากทุกข์ทั้งปวง มิใช่เพื่อความสุขสบาย การเกิดมาเป็นมนุษย์พบกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรที่เราจะนำขันธ์ ๕ ของเราให้พ้นจากสังสารวัฏฏะ ทุกชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสมบัติของทุกชีวิต จึงควรเห็นสัจจะของชีวิตดังนี้.

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ      ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข            เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
 

เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้

เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์  นี้เป็นหนทางให้ถึงธรรมที่หมดจดวิเศษ.

สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ        ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข            เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
 

เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์

เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์  นี้เป็นหนทางให้ถึงธรรมที่หมดจดวิเศษ.

สพฺเพ ธมฺม อนตฺตาติ           ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข             เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
 

เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า  ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา

เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์  นี้เป็นหนทางให้ถึงธรรมที่หมดจดวิเศษ.