ประวัติอาจารย์แนบ มหานีรานนท์

สังเขปประวัติอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์

ชาติภูมิ

          อาจารย์แนบ  มหานีรานนท์  เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐  ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา จ.ศ. ๑๒๕๘  เป็นบุตรีของอำมาตย์เอก พระยาสัตยานุกูล ตม.ตช. (นุช  มหานีรานนท์)[๑]  ตำแหน่งผู้กำกับถือน้ำ  กับคุณหญิงแปลก  สัตยานุกูล (โรจนกุล)

การศึกษาทางโลก

          ในวัยเยาว์  เนื่องจากบิดาไม่สนับสนุนให้ไปศึกษาวิชาการสมัยใหม่นอกบ้าน  แม้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  จะทรงขอบุตรีให้เข้าศึกษาในโรงเรียนราชินี  บิดาของทานก็ไม่อนุญาต  แต่จัดการศึกษาโดยนำครูมาสอนความรู้ให้ที่บ้าน เพื่อให้สามารถอ่านออกเขียนได้เท่านั้น

          เมื่อโตเป็นสาวแล้ว บิดาจึงส่งไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมโดยเป็นข้าหลวงในสมเด็จที่บน (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ) นั่นเอง

          ขณะเป็นข้าหลวง ได้รับการศึกษาวิชาแนวประเพณีนิยม ได้แก่การศึกษาที่มุ่งหมายให้สตรีในราชสำนักเป็นกุลสตรีหรือผู้ดี  ส่วนใหญ่จะเป็นการฝึกงานฝีมือ  ซึ่งถือเป็นวิชาคู่กับหญิงชาววังมาแต่โบราณ เช่น การเย็บ ปัก ถัก ร้อย ตัดเย็บเสื้อผ้า สบง จีวร การปักด้าย ปักไหม ปักดิ้น ทั้งเครื่องละคร พัดยศ เครื่องยศผู้ชาย และงานดอกไม้ เช่น ร้อยมาลัย ทำตาข่ายคลุมผ้าไตร ดอกไม้แขวน ทั้งแบบพวงและแบบกระเช้า  ตลอดจนการจัดพาน จัดขวด ปักดอกไม้ จัดดอกไม้ช่อสำหรับงานมงคล ทำบุหงา และงานพับผ้าเช็ดหน้าเป็นรูปต่างๆ รวมทั้งงานครัว เช่น การทำอาหารว่าง ของคาว ของหวาน การจัดลูกไม้พาน (การจัดสำรับผลไม้ชนิดหนึ่ง) จัดผักลงจาน ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมีงานเครื่องสำอาง เช่น การทำน้ำอบ น้ำปรุงอบผ้าย้อมผ้า ฟั่นเทียน และทำธูป ฯลฯ

การศึกษาทางธรรมและการปฏิบัติธรรม

          ท่านเริ่มสนใจในพระพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะที่บ้านของท่าน  บิดามารดาจัดให้มีการทำบุญและสนทนาธรรมอยู่เป็นประจำ  โดยเฉพาะคุณหญิงแปลก  สัตยานุกูล (โรจนกุล) จะรักษาอุโบสถศีลประจำในวันพระ

          พ.ศ. ๒๔๗๐  อายุ ๓๐ ปี ได้เกิดความรู้สึกจากผลการปฏิบัติของตนว่า  วิธีละกิเลสที่เรียกว่ามรรค ๘ นั้น  ต้องรู้อยู่ที่อารมณ์ปัจจุบันเท่านั้น  แต่การทดลองปฏิบัติขณะนั้น  ได้แต่ทางตาอย่างเดียว  และยังไม่รู้ว่าเป็นรูปเป็นนามอีกด้วย  จึงเที่ยวแสวงหาอาจารย์ที่จะบอกธรรมที่เป็นปัจจุบันให้เข้าใจ  เที่ยวแสวงหาอยู่นาน  ก็ยังไม่พบเหตุผลตรงกับที่ความรู้สึกกับตนเองดังกล่าว  ดังท่านได้กล่าวไว้ว่า

          “…ข้าพเจ้าเป็นคนชอบไปในที่ประชุมต่างๆ จนคนตามที่ประชุมต่างๆ นั้น  ทราบกันโดยมากว่า  ข้าพเจ้าเป็นคนต้องการรู้ธรรมที่เป็นปัจจุบัน  ไม่ต้องการรู้ธรรมที่เป็นอดีตอนาคต…”[๒]

          พ.ศ. ๒๔๗๒ อายุ ๓๒ ปี ได้เริ่มสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาและเริ่มเข้าวัดอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

          พ.ศ. ๒๔๗๕  ภัททันตะวิลาสมหาเถระ ได้เข้ามาเผยแผ่วิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดปรก  อำเภอบ้านทะวาย  จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ แขวงทุ่งวัดดอน  เขตสาทร  กรุงเทพมหานคร) เป็นปีที่ ๒

          ณ ที่ประชุมธรรมแห่งหนึ่ง ท่านได้พบหลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน  สามโกเศศ)[๓] และท่านได้บอกกับอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์ ว่า “มีพระพม่ามาอยู่ที่วัดทางบ้านทะวาย สอนทำวิปัสสนา และวิธีของท่านห้ามไม่ให้คิด ให้รู้ขึ้นมาเองโดยการเพ่ง…”[๔]

          จากนั้นท่านได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับภัททันตะวิลาสมหาเถระ เรียนรู้รูปนามตามทวารทั้ง ๖ อยู่ประมาณ ๒ เดือน  แล้วจึงปฏิบัติติดต่อกันประมาณ ๔ เดือน  หลังจากนั้น ภัททันตะวิลาสมหาเถระ  ได้ขอร้องท่านให้เรียนพระอภิธรรม  โดยบอกว่าขณะนี้สภาวธรรมกำลังชัดเจน  จะทำให้เข้าใจดียิ่งขึ้น  วิธีการสอนนั้น ภัททันตะวิลาสมหาเถระได้เขียนเป็นภาษาพม่า  แล้วให้หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน  สามโกเศศ) แปลเป็นภาษาไทย  การเรียนการสอนจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก

งานเผยแผ่ธรรม

          พ.ศ. ๒๔๘๓ ผ่านมา ๘ ปีหลังจากได้ปฏิบัติวิปัสสนาและศึกษาพระอภิธรรม  ท่านได้เรียบเรียงหนังสือแนวปฏิบัติธรรมและวิปัสสนาภูมิ  ชื่อว่า “ความเบื้องต้น” (หนา ๔๐ หน้า) พิมพ์แจกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม เป็นงานหนังสือธรรมะเล่มแรกของท่าน

          พ.ศ. ๒๔๘๙  ได้ร่วมกันคิดตั้งสถานที่เล่าเรียนพระอภิธรรมที่สนทนาธรรมสมาคม  หลังวังบูรพา  เขตพระนคร  กรุงเทพมหานคร  โดยนิมนต์ภัททันตะวิลาสมหาเถระ  มาสอนทุกวันเสาร์บ่าย ๒ โมง  แต่สอนได้แค่ ๒ เดือน  เพราะหลังจากที่ท่านได้รับนิมนต์ไปบ่อพลอยไพลิน  จังหวัดพระตะบอง[๕]  กลับมาเกิดไม่สบายขึ้น  และไม่สะดวกในเรื่องล่าม  การเรียนการสอนพระอภิธรรมครั้งนี้จึงต้องหยุดไป

          พ.ศ. ๒๔๙๐  เดือนกรกฎาคม  เริ่มเปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรม ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร  แขวงศิริราช  เขตบางกอกน้อย  กรุงเทพมหานคร โดยมีพระครูสังฆรักษ์สุข  ปวโร  เป็นอาจารย์ใหญ่  และมีอาจารย์สาย  สายเกษม[๖]  อาจารย์แนบ  มหานีรานนท์  เป็นครู  โดยใช้หลักสูตรพระอภิธรรม ๙ ปริจเฉท  ที่อาจารย์สาย  สายเกษม ได้เรียบเรียงไว้  ในครั้งนั้นมีนักศึกษาทั้งหมดประมาณ ๑๐๐ คน

          พ.ศ. ๒๔๙๔  ทางพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งตั้งอยู่หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร  ได้เชิญท่านไปแสดงปาฐกถาพระอภิธรรมทุกวันเสาร์

          พ.ศ. ๒๔๙๖  ร่วมกับอาจารย์บุญมี  เมธางกูล และคุณพระชาญบรรณกิจ ตลอดจนอาจารย์ท่านอื่นๆ เริ่มสอนอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๑ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๖  สอบจบปริจเฉทที่ ๙ เมื่อปี ๒๕๒๐

          พ.ศ. ๒๔๙๗  ได้ย้ายการบรรยายพระอภิธรรมจากพุทธสมาคมฯ มาที่หอประชุมกระทรวงวัฒนธรรม  ซึ่งจุคนได้ประมาณ ๕๐๐ คน มีผู้เข้าฟังแน่นทุกครั้ง รัฐบาลก็ให้ความสนับสนุนค่าใช้จ่าย  ต่อมาสภาวัฒนธรรมได้ถูกยกเลิกไป  จึงกลับมาใช้สถานที่พุทธสมาคมฯ

          พ.ศ. ๒๔๘๗  จัดตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนาที่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร,  วัดสามพระยา,  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร,  สำนักนาฬิกาวัน อยุธยา,  วัดป่าโสภณ ลพบุรี,  เดินทางไปสอนวิปัสสนาที่นครหลวงเวียงจันทร์ ประเทศลาว  และสนับสนุนการตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนา  รวม ๔๑ จังหวัด

          พ.ศ. ๒๕๐๖  จัดตั้ง “สมาคมศูนย์ค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา” และ “สมาคมสงเคราะห์ทางจิต” ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมทั้ง ๒ แห่ง มาตลอดอายุของท่าน ในระหว่างนั้นได้นำคณะกรรมการฯ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ หลายครั้ง และยังเคยกราบบังคมทูลตอบพระราชปุจฉาในเรื่องธรรมะอีกด้วย

          พ.ศ. ๒๕๒๓  ในโอกาสอายุครบ ๘๒ ปี คณะศิษย์ได้ร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิและขออนุญาตใช้ชื่อท่านเป็นชื่อของมูลนิธิว่า “มูลนิธิแนบมหานีรานนท์” ตั้งเป็นสำนักปฏิบัติปัสสนาและสำนักศึกษาพระอภิธรรม โดยท่านย้ำว่า “อย่าเอาธรรมะไปซื้อขายกันนะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราด้วยความบริสุทธิ์[๘]

มรณกาล

          วันอังคารที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖  เวลา ๑๓.๑๑ นาฬิกา  ท่านได้จากโลกนี้ไปด้วยอาการอันสงบ  สิริอายุ ๘๖ ปี

          วันพุธที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖  เวลา ๑๘.๓๐ นาฬิกา  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์  วาสนมหาเถร) เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีฌาปนกิจศพ ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร[๘]

 

อัฐิอาจารย์แนบ มหานีรานนท์

คุณสุมนี โภคาชัยพัฒน์ ผู้เก็บรักษา

 


[๑] อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๒๔๖๐ รวม ๑๘ ปี บรรดาศักดิ์ในขณะนั้นเป็น พระยาประสิทธิ์สงคราม

[๒] มูลนิธิแนบมหานีรานนท์, แนวปฏิบัติธรรมและวิปัสสนาภูมิ. พิมพ์ครั้งที่ ๓ กรุงเทพมหานคร : สุทธิสารการพิมพ์ พศ. ๒๕๒๓, หน้า ๖.

[๓] หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน  สามโกเศศ) เกิดปีมะแม วันที่ ๗ กรกฎกาคม พ.ศ. ๒๔๑๔ ตำบลบ้านทะวาย  จังหวัดพระนคร  (ปัจจุบันคือ แขวงทุ่งวัดดอน  เขตสาทร  กรุงเทพมหานคร) เป็นล่ามแปลภาษาพม่าให้กับภัททันตะวิลาสมหาเถระ ตั้งแต่แรกมาจำอยู่วัดปรก ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ และเป็นผู้แปลหนังสือ “ยถาภูตธัมม์” ภาษาพม่ามาเป็นภาษาไทย  และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๖ อายุ ๘๒ ปี ๗ เดือน (ดูเพิ่มเติมในหนังสือ “ยถาภูตธัมม์ และ ทินมาลี” พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน  สามโกเศศ) และฌาปนกิจศพ นางประพันธ์พัฒนการ (สุณา  สามโกเศศ) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ๙ เมษายน ๒๔๙๖, หน้า (ค) – (ง)  

[๔] มูลนิธิแนบมหานีรานนท์, แนวปฏิบัติธรรมและวิปัสสนาภูมิ. พิมพ์ครั้งที่ ๓ กรุงเทพมหานคร : สุทธิสารการพิมพ์ พศ. ๒๕๒๓, หน้า ๗ – ๑๙

[๕] จังหวัดพระตะบอง  ช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๔๘๙  อยู่ในเขตปกครองของประเทศไทย (วิกิพีเดีย)

[๖] อาจารย์สาย  สายเกษม  มีเชื้อสายเป็นชาวพม่า  สามารถพูดได้ถึง ๒๔ ภาษา ทำงานเป็นล่ามให้กับบริษัทตะวันตกแห่งหนึ่ง  เมื่อเดินทางเข้าป่าก็จะขนพระไตรปิฎกไปอ่านด้วย และถูกขอร้องให้มาช่วยสอนพระอภิรรมในเมืองไทย  ท่านก็ยินดีสละรายได้จำนวนมหาศาลนั้นเสีย  เล่ากันว่าเมื่อท่านเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็ง  มีคนเห็นท่านสวมชุดขาวออกจากร่าง  แล้วเดินออกจากห้องหายไป  ในท้ายคัมภีร์พระอภิธรรมพิสดาร มีข้อความระบุว่าท่านปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ (หนังสือ “เพื่อทัสสนานุตตริยคุณสวนานุตตริยคุณ” พิมพ์ในวาระอายุครบ ๙๐ ปี อ.ปราโมช  น้อยวัฒน์ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๙, หน้า ๖.

[๗] ปัญญาสาร ฉบับที่ ๑๕, หน้า ๙

[๘] ประวัติอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์ นี้  เนื้อหาหลักรวบรวมจากหนังสือ “เพื่อทัสสนานุตตริยคุณสวนานุตตริยคุณ” พิมพ์ในวาระอายุครบ ๙๐ ปี อ.ปราโมช  น้อยวัฒน์ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ และหนังสือ “ตามรอย พระภัททันตวิลาสมหาเถระ ผู้สืบสานการศึกษาพระอภิธรรม และวิปัสสนากรรมฐานหมวดอิริยาบถในเมืองไทย” ของ ปุญฺญวุฑฺโฒ ภิกฺขุ  เรียบเรียงไว้  พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔.