วิสาขบูชารำลึก

วิสาขบูชารำลึก

                             อาสาธปุณฺณโมกฺกนฺโต          วิสาเข นิกฺขมิ ตทา

                           วิสาขปุณฺณมิสมฺพุทฺโธ            วิสาเข ปรินิพฺพุโต.[๑]

          ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ปฏิสนธิแล้วในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ (เดือน ๘ ไทย) ประสูติแล้วในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน ๖ ไทย) ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองแล้วในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน ๖ ไทย) เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน ๖ ไทย).

                             โย’ยํ สธีตุเสนสฺส                 มารสฺสา’จลโก อโห

                             สมุจฺเฉเทน เกฺลสา จ             ฉินฺนา สจฺจานิ พุชฺฌิตา.

                             หตฺถมฺพุเชหิ เม นิจฺจํ             ชินํ นมามิ ตํ สทา

                             มยฺหํ อจลนํ โหตุ                  ขมนํ โหตุ เม ธุวํ.

                             ชินสฺส สาสเนเยว                 วิรูฬฺโห โหมิ สพฺพทา

                             มมํ มรณกาเล’สฺส                อโธปาเทสุ เสฏฺฐิ’หํ.

          โอน่าอัศจรรย์หนอ ! พระพุทธเจ้าผู้ทรงชำนะมารพระองค์ใด ทรงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อพญามารผู้เป็นไปกับด้วยธิดาและเสนามาร, ก็กิเลสทั้งหลาย พระพุทธเจ้าผู้ทรงชำนะมารพระองค์นั้น ก็ทรงตัดขาดโดยสิ้นเชิงแล้ว, สัจจะทั้งหลาย (อริยสัจ ๔) พระพุทธเจ้าผู้ทรงชำนะมารพระองค์นั้น ก็ทรงตรัสรู้แล้ว.

          ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้ทรงชำนะมารพระองค์นั้น ด้วยดอกบัวคือมือทั้งหลายของข้าพระองค์ ในกาลทุกเมื่อเนืองนิตย์, ขอความไม่หวั่นไหวจงมีแก่ข้าพระองค์, ขอความอดกลั้นจงมีแก่ข้าพระองค์แน่แท้.

          ขอข้าพระองค์ จงเป็นผู้เจริญในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชำนะมาร ในกาลทุกเมื่อนั่นแล, ก็ในกาลแห่งการตายของข้าพระองค์ ขอข้าพระองค์จงเป็นเถ้าถ่าน ภายใต้แห่งพระบาททั้งหลายของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชำนะมารพระองค์นั้นด้วยเทอญ.

ความเป็นมาของวิสาขบูชา

          “วิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนาสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คำว่า“วิสาขบูชา” ย่อมาจาก “วิสาขบูรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระโพธิสัตว์ เป็นวันคล้ายวันตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระโพธิสัตว์ และเป็นวันคล้ายวันปรินิพพานของสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทั้ง ๓ เหตุการณ์สำคัญนี้ ได้เกิดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันเพ็ญเดือนวิสาขะ) ต่างปีกัน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือว่าวันนี้ เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์สำคัญอันเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง

          ถ้าปีใดมีอธิกมาส (เดือน ๘ สองหน) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๗ แต่ในประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทที่ไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ แม้ในปีนั้นจะมีเดือน ๘ สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ นี้ สำหรับประเทศไทย เป็นปีอธิกมาส (เดือน ๘ สองหน) ดังนั้นวันวิสาขบูชาปีนี้ จึงเป็นขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ ซึ่งตรงกับวันอังคาร ที่ ๒๙ พฤษภาคม

          การจัดพิธีวิสาขบูชาในประเทศไทย ได้รับอิทธิพลมาจากลังกา สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานี โดยปรากฏหลักฐานจากหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งกล่าวถึงการพิธีวิสาขบูชาไว้ว่ามีมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว โดยในหนังสือได้กล่าวไว้ว่างานวิสาขบูชาเป็นงานเฉลิมฉลองใหญ่สำหรับอาณาจักร ทั้งพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์และพสกนิกรทั้งปวงจะมาร่วมกันประกอบพิธีนี้ โดยมีการพร้อมใจกันทำความสะอาดและตกแต่งประดับประดาดอกไม้โคมไฟเพื่อเฉลิมฉลอง และพร้อมใจกันบำเพ็ญบุญกุศลและทานต่าง ๆ เช่น เข้าวัดทำบุญ รักษาศีล ๕ ฟังพระธรรมเทศนา และการสาธารณะสงเคราะห์สาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ตั้งโรงทานเลี้ยงดูคนยากจนเป็นต้น เป็นเวลาถึงสามวันสามคืน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อถึงวันวิสาขบูชา เวลาเย็นจะมีการเวียนเทียนรอบสถูปเจดีย์ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันวิสาขบูชาในพุทธประวัติ

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระนามเดิมว่า “สิทธัตถะ” ประสูติในพระราชวงศ์ศากยะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และพระนางสิริมหามายา

          หลักฐานจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา กล่าวว่าหลังจากพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญพระบารมีครบถ้วนแล้ว ทรงดำรงอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต และได้รับคำอาราธนาของเหล่าเทวดาเพื่อจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือนแล้ว ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี พระองค์มีพระประสงค์ที่จะเสด็จกลับไปประสูติพระโอรส ณ เมืองเทวทหะ อันเป็นเมืองบ้านเกิดของพระองค์ ในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินกลับ ก็เกิดประชวรพระครรภ์ในระหว่างภายในสวนอุทยานลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดร่มไม้สาละถวาย พระนางจึงประสูติพระโอรส ณ ใต้ร่มไม้สาละนั้น โดยขณะประสูติพระนางประทับยืน พระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละไว้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว (โดยอาการที่พระบาทออกจากพระครรภ์ก่อน) พระโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำเนินไปได้ ๗ ก้าว และได้ทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาประกาศความเป็นผู้สูงสุด) ขึ้นว่า[๒]

          อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส. อยมนฺติมา ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.[๓]

          แปลความว่า : เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก, ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย, บัดนี้ภพใหม่ย่อมไม่มี ดังนี้.

          เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา[๔] ทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า ‘เรามีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้า และความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้า และความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก’ ทางที่ดี เราเองมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้า และความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าและเกษมจากโยคะ[๕]

          เมื่อทรงมีพระดาริเช่นนี้แล้ว ในกาลต่อมาได้ทรงออกจากพระราชนิเวศน์ผนวชเป็นบรรพชิต ในขณะที่พระราชมารดาและพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้ผนวช มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่  และได้เดินทางไปศึกษาในสำนักของอาฬารดาบส และสำนักของอุทกดาบสในเวลาต่อมา ศึกษาจนบรรลุสมาบัติทั้ง ๘ แล้ว ก็ทรงไม่พอพระทัย ในครั้งสุดท้ายที่สำนักของอุทกดาบส ทรงมีพระดำริว่า “ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น”[๖]   

          ในช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญตบะทางกาย คือ “ทุกกรกิริยา” ตั้งแต่ทรงเป็นอเจลก (เปลือยกาย) จนกระทั่งอดพระกระยาหารเป็นที่สุด[๗]

          โดยในระหว่างบำเพ็ญตบะทางกายนั้น ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ผู้เป็นพราหมณ์และบุตรแห่งพราหมณ์ ที่ได้ร่วมงานทำนายลักษณะมหาบุรุษแห่งเจ้าชายสิทธัตถะ (ในคราว ๕ วันหลังจากประสูติ) ว่า “ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก” เมื่อท่านเหล่านั้นได้ทราบข่าวการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงชักชวนกันออกบวชเพื่อตามหาเจ้าชาย และได้พบเจ้าชายสิทธัตถะในขณะกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาจึงคอยเฝ้าอยู่ปฏิบัติ ต่อมาเมื่อพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญตบะทางกายถึงขั้นยิ่งยวดแล้ว แต่ก็ยังทรงไม่ตรัสรู้ พระองค์ได้ทราบอุปมาแห่งพิณ ๓ สาย ว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นหนทางอันสุดโต่ง จึงได้ทรงละทุกกรกิริยาเสีย หันกลับมาเสวยอาหาร เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จึงพาคิดว่าพระองค์ทรงละตบะทางกายด้วยทุกกรกิริยาแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะทรงตรัสรู้ได้ จึงพากันละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

          เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะกลับมาเสวยพระกระยาหารจนพระวรกายกลับมามีพระกำลังขึ้นเหมือนเดิมแล้ว จึงทรงเปลี่ยนมาเริ่มบำเพ็ญตบะทางใจต่อไป จนล่วงเข้าเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน ๖) หลังทรงผนวชได้ ๖ ปี นางสุชาดา ธิดากุฎุมพีเสนานิคม ได้นำข้าวมธุปายาสไปถวายพระองค์ ขณะประทับอยู่ ณ ต้นไทรต้นหนึ่งใกล้กับบ้านของนาง ด้วยคิดว่าพระองค์เป็นเทวดา ตามที่นางได้เคยทำความปรารถนาเอาไว้ ณ ต้นไทรต้นนั้น เพราะวันนั้นพระองค์มีรัศมีผ่องใส เมื่อทรงรับเสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ได้ทรงนำเอาถาดทองคำไปอธิษฐานลอยในแม่น้ำเนรัญชรา จวบจนเวลาเย็นทรงรับหญ้าคา (หญ้ากุศะ) ๘ กำมือ จากโสตถิยพราหมณ์ แล้วทรงนำไปปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ ณ ใต้ต้นอัสสัตถะ (หลังจากการตรัสรู้จึงได้ชื่อใหม่ว่า “ต้นมหาโพธิ์” หรือ “ต้นโพธิ์”) ต้นหนึ่ง ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา แล้วทรงอธิษฐานความเพียรว่า “เราไม่บรรลุโพธิญาณแล้ว จักไม่ทำลายบัลลังก์” ทรงประทับนั่งโดยผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระปฤษฏางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นอัสสัตถะ และทรงตรัสรู้พระโพธิญาณภายในปัจฉิมยามวันนั้นเอง[๘]

          นับจากพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงประกาศพระศาสนาเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี จวบจนทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ทรงมีพระวรกายชราภาพเหมือนคนทั่วไป[๙] พระองค์ทรงประดิษฐานพระศาสนาไว้อย่างมั่นคงแล้ว ดังที่ตรัสกับนายจุนทะว่า “ดูกรจุนทะ ก็บัดนี้ เราแลเป็นศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ เกิดขึ้นแล้วในโลก ธรรมเล่าก็เป็นธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ประกาศดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมอันเราผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้แล้วสาวกทั้งหลายของเราเล่า ก็เป็นผู้รู้แจ้งอรรถในสัทธรรม และพรหมจรรย์อันบริบูรณ์สิ้นเชิงเล่า ก็เป็นพรหมจรรย์อันเราทำให้แจ้งแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว ทำให้มีบทรวบรวมไว้พร้อมแล้ว ทำให้มีปาฏิหาริย์พอที่เทพดามนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ด้วยดีแก่เหล่าสาวกแล้ว”[๑๐]

          ในเวลาสามเดือนก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ขณะพระองค์ประทับอยู่ ณ ปาวาลเจดีย์ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ก็ทรงปลงอายุสังขาร ณ ที่นั้น ว่าอีกสามเดือนจักเสด็จปรินิพพาน จากนั้นก็เสด็จไปบ้านภัณฑคาม บ้านหัตถิคาม จนเสด็จถึงเมืองปาวา โดยลำดับ ที่นี่พระองค์ได้ประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ กัมมารบุตร ทรงแสดงธรรมแก่นายจุนทะ และเสด็จไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงอนุญาตรับบิณฑบาตเสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะจัดไว้ ลำดับนั้นพระองค์ประชวรด้วยพระโรคปักขันธิกาพาธอย่างกล้า และได้เสด็จไปสู่เมืองกุสินารา ในระหว่างทางทรงพักที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดสังฆาฏิเพื่อประทับนั่งและเสวยน้ำดื่ม จากนั้นทรงสนทนากับปุกกุสสะ มัลละบุตร จนเขาเกิดศรัทธาถวายผ้าเนื้อดีสองผืน ทรงรับสั่งให้นำมาห่มคลุมพระองค์ผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งรับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ เมื่อปุกกุสสะถวายผ้านั้นแล้วหลีกไป พระอานนท์ได้น้อมถวายผ้าของตนแก่พระพุทธเจ้า

          เมื่อเสด็จถึงพระราชอุทยานของมัลลกษัตริย์ พระองค์ทรงให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างต้นสาละคู่ แล้วทรงประทับนอนในท่าสีหไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ จากนั้น พระองค์ทรงได้ทรงอนุญาตให้พวกมัลละกษัตริย์เข้าเฝ้าและได้ตรัสตอบปัญหาของสุภัททปริพาชก จนเขาเกิดศรัทธาและได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท และทรงอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระสุภัททะนี้เป็นพระสาวกองค์สุดท้ายในบรรดาพระสาวกที่ได้เห็นพระพุทธองค์ จากนั้นก็เสด็จดับขันธปริพพานในปัจฉิมยามวันนั้นเอง ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น มีพระดำรัสที่สำคัญสำหรับพุทธบริษัทข้อหนึ่ง คือ พระดำรัสในเรื่องผู้ที่จะเป็นพระศาสดาสืบทอดต่อจากพระองค์ไว้ว่า[๑๑]

          “สิยา โข ปนานนฺท, ตุมฺหากํ เอวมสฺส ‘อตีตสตฺถุกํ ปาวจนํ, นตฺถิ โน สตฺถา’ติ. น โข ปเนตํ อานนฺท เอวํ ทฏฺฐพฺพํ. โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺตฺโต, โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. [๑๒]

          แปลความว่า : ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี, ดูก่อนอานนท์ ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น, ธรรมและวินัยอันใด ที่เราได้แสดงไว้แล้ว ได้บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ, ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น   ศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา.

          อกฺขรํ เอกเมกญฺจ                พุทฺธรูปํ สมํ สิยา

          ตสฺมา หิ ปณฺฑิโต โปโส        ลิเขยฺย ปิฏกตฺตยํ.

          จตุราสีติสหสฺสานิ                สมฺพุทฺธา ปริมาณกา

          ฐิตา นาม ภวิสฺสนฺติ              ติฏฺฐนฺเต ปิฏกตฺตเย.

          (สทฺธมฺมสงฺคห)

          อักษรตัวหนึ่งหนึ่ง เสมอด้วยพระพุทธรูป ๑ องค์ เพราะฉะนั้นบุรุษผู้เป็นบัณฑิต ควรจดจารึกพระไตรปิฎกไว้, เมื่อพระไตรปิฎกยังคงดํารงอยู่ พระสัมพุทธเจ้า มีประมาณ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ ก็ชื่อว่าจักทรงดำรงอยู่.

 

[๑] าโณทยปกรณํ, ประณีต ก้องสมุทร จัดพิมพ์ พ.ศ.๒๕๖๑.

[๒] พึงทราบความพิสดารในอัจฉริยัพภูตธัมมสูตรและอรรถกถา ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย (เล่มสีแดง) หน้า ๓๗-๖๙

[๓] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๒๖/๑๗ (สฺยา.)

[๔] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๑๓๙/๑๗๖ (สฺยา.)

[๕] ม.มู. (บาลี) ๑๒/๓๑๖/๓๑๔-๓๑๕ (สฺยา.)

[๖] ม.มู. (บาลี) ๑๒/๓๑๗/๓๑๕-๓๑๘ (สฺยา.)

[๗] ม.มู (บาลี) ๑๒/๑๗๘-๑๘๖/๑๕๕-๑๖๑ (สฺยา.)

[๘] พึงทราบความพิสดารในอรรถกถารัตนจังกมนกัณฑ์ ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย (เล่มสีแดง) หน้า ๒๑-๑๒๙

[๙] สํ.ม. (บาลี) ๑๑/๙๖๓/๒๘๗ (สฺยา.)

[๑๐] ที.ปา. (บาลี) ๑๑/๑๐๕/๑๓๗ (สฺยา.)

[๑๑] พึงทราบความพิสดารในมหาปริพพานสูตรและอรรถกถา ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย (เล่มสีแดง) หน้า ๒๒๖-๔๕๙

[๑๒] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๑๔๑/๑๗๘ (สฺยา.)