สังเขปประวัติภัททันตะวิลาสมหาเถระ
ชาติภูมิ
ภัททันตะ[๑] วิลาสมหาเถระ เป็นพระภิกษุชาวพม่า ถือกำเนิด ณ หมู่บ้านเป้ามะไย เมืองสาวัตถี[๒] จังหวัดเปียงมะนา ประเทศเมียนมา เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๕๘ ตรงกับวันพุธที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๓๙ (๔๐)[๓] บิดาชื่อ นายอูจ่อง มารดาชื่อ นางด่อล่าเวง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๔ คน รวมกับท่านอีก ๑ คน เป็น ๕ คน ๓ คนแรกเป็นหญิง ไม่ทราบชื่อ ๒ คนหลังเป็นชาย คือ นายหม่องออ และภัททันตะวิลาสมหาเถระ
บรรพชาอุปสมบท
พ.ศ. ๒๔๔๖ อายุ ๖ ปี บิดามารดานำไปฝากตัวกับอูคุณวังสมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดปุปผาราม (โหย่งซู่จอง) ห่างจากบ้านเป้ามะไย เมืองสาวัตถี ประมาณ ๑๕ ก.ม. ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือภาษาพม่ามาตามลำดับ
พ.ศ. ๒๔๕๒ อายุ ๑๒ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดปุปผาราม (โหย่งซู่จอง)
พ.ศ. ๒๔๕๙ อายุ ๑๙ ปี ๑๐ เดือน อุปสมบทเป็นภิกษุ ในนิกายชเวจิน วัดมหาวิสุทธาราม กรุงมัณฑะเลย์
การศึกษาทางธรรม (คันถธุระ)
พ.ศ. ๒๔๕๒ – ๒๔๕๙ คือช่วงเวลาที่เป็นสามเณรนั้น ได้ศึกษากัจจายนไวยากรณ์ อภิธัมมัตถสังคหะ ธัมมสังคณีมาติกา ธาตุกถา ยมก และปัฏฐาน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาพระบาฬีไตรปิฎกของคณะสงฆ์พม่า เป็นเวลา ๘ ปี
พ.ศ. ๒๔๖๐ – ๒๔๖๗ หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาต่อที่วัดมหาวิสุทธาราม กรุงมัณฑะเลย์ เป็นเวลา ๗ ปี
หลักสูตรพระปริยัติธรรมวัดมหาสุทธาราม
๑. วิชาพระวินัย
(๑) กังวีตรณี (อธิบายปาติโมกข์ สิกขาบท ๒๒๐ และอธิกรณ์ ๗)
(๒) ขุททสิกขา (ประมวลสิกขาบทเล็กน้อย)
(๓) มูลสิกขา (ประมวลสิกขาบทพื้นฐาน)
(๔) วินยโกสัลละ หรือ นวโกสัลละ (ว่าด้วยความเป็นผู้ฉลาดในพระวินัย)
(หลักสูตรพระวินัยสำหรับภิกษุใหม่ รจนาโดย มหาวิสุทธาสยาดอ)
๒. วิชาบาฬีไวยากรณ์
(๑) ปทรูปสิทธิ (ทำตัวรูปคำตามกัจจายนไวยากรณ์)
(๒) สังวัณณนา (ว่าด้วยหลักการอธิบายความในพระไตรปิฎก)
(๓) นยะและอุปจาระ (ว่านัยและอุปจาระของศัพท์และประโยค)
(๔) สุโพธาลังการะ (ว่าด้วยสำนวนภาษาบาฬีที่มีคุณและโทษ)
(๕) วุตโตทยะ (ว่าด้วยฉันทลักษณ์และประเภทคาถา)
(๖) อภิธานัปปทีปิกา (ว่าด้วยศัพท์ในความหมายต่างๆ)
๓. วิชาพระอภิธรรม
(๑) อภิธัมมัตถสังคหะ (ประมวลอภิธรรม ๗ คัมภีร์)
(๒) อภิธัมมัตถภาวินีฎีกา (อธิบายอภิธัมมัตถสังคหะ)
(๓) ปรมัตถสรูปเภทนี (จำแนกองค์ธรรมโดยพิสดาร)
(๔) หลักสูตรปิดหนังสือ ปิดไฟ สวดสาธยายธาตุกถา ยมก และปัฏฐาน
พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๖๙ เข้าศึกษาหลักสูตรพระบาฬีไตรปิฎก อรรกถา ฎีกา อนุฎีกา โยชนา แปลและอธิบาย (แบบไม่สอบ) ณ วัดมหาวิสุตาราม เมืองปะขุกกู่ เป็นเวลา ๒ ปี
การปฏิบัติวิปัสสนา (วิปัสสนาธุระ)
พ.ศ. ๒๔๗๐ อายุ ๓๐ ปี พรรษา ๑๐ ได้หยุดพักการเรียน และเดินทางกลับมาจำพรรษา ณ วัดปุปผาราม (โหย่งซู่จอง) เมืองสาวัตถี และได้เริ่มออกแสวงหาอาจารย์สอนปฏิบัติวิปัสสนา ต่อมาได้พบกับอูจันดุน ศิษย์ของอาจารย์อูมินกุนสยาดอ และเริ่มฝึกปฏิบัติวิปัสสนาในสำนักของอาจารย์อูจันดุน เป็นเวลา ๔ เดือน
พ.ศ. ๒๔๗๒ – ๒๔๗๓ เป็นพรรษาที่ ๑๒ – ๑๓ หลังจากได้ปฏิบัติวิปัสสนาเรื่อยมา ก็ได้ประจักษ์ความเป็นหนทางมีจริงแห่งยถาภูตญาณ
การเข้ามาเผยแผ่ธรรมในประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๗๓ ช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน (จ.ศ. ๑๒๙๒ เดือน ๗)[๔] บรรดาพ่อค้าพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกันไปกราบอาราธนานิมนต์ท่านมาสอนวิปัสสนากรรมฐานที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
พ.ศ. ๒๔๗๔ ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม (จ.ศ. ๑๒๙๓ เดือน ๖)[๕] คณะกรรมการและอุบาสกอุบาสิกาชาววัดปรก อำเภอบ้านทะวาย จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร) ร่วมกันไปกราบอาราธนานิมนต์ท่านมาอยู่จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นับตั้งแต่ภัททันตะวิลาสมหาเถระมาอยู่ประจำ ณ วัดปรก ท่านได้สอนสมถวิปัสสนากรรมฐาน เทศนาชี้แจงให้เป็นที่เข้าใจในการแก้ทุกข์ และสอนธัมมานุธัมมปฏิบัติแก่เหล่าศิษย์ ในข้อใดที่ศิษย์ควรจะจดจำ ก็ได้เขียนจดเป็นหนังสือ ส่วนเนื้อหาการสอนที่ท่านรวบรวมไว้ ตามฉบับเดิมได้เขียนไว้เป็นภาษาพม่า หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน สามโกเศศ) [๖] เป็นผู้แปลเป็นภาษาไทย และเป็นล่ามแปลภาษาพม่าให้แก่สาธุชนผู้มาฟังธรรม และเป็นผู้ชี้แจง ชักชวน แนะนำการเรียนวิปัสสนากรรมฐานให้แก่เหล่าสาธุชนผู้สนใจ
ต่อมาพระผดุงสุลกกริตย์ ทายกวัดปรก ได้รวบรวมบทความต่างๆ ของภัททตะวิลาสมหาเถระ ที่หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน สามโกเศศ) เป็นผู้แปลไว้นั้น รวมเป็นเล่มหนังสือ ชื่อว่า “ยถาภูตธรรม (หมายเหตุเพื่อความรู้แจ้ง)” และ “ภาวนามยะ (เพ่งรู้)” ทั้งสองเล่มนี้รวมเป็นเล่มเดียวกัน จัดพิมพ์ ๑,๐๐๐ เล่ม เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ และยังมีหนังสือธรรมปฏิบัติอื่นๆ อีกหลายเล่ม
พ.ศ. ๒๔๘๙ เปิดสอนพระอภิธรรมที่สนทนาธรรมสมาคม หลังวังบูรพา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทุกวันเสาร์บ่าย ๒ โมง แต่สอนได้แค่ ๒ เดือน เพราะหลังจากที่ท่านได้รับนิมนต์ไปบ่อพลอยไพลิน จังหวัดพระตะบอง[๗] กลับมาเกิดไม่สบายขึ้น และไม่สะดวกในเรื่องล่าม การเรียนการสอนพระอภิธรรมครั้งนี้จึงต้องหยุดไป
พ.ศ. ๒๔๙๐ เดือนพฤษภาคม อาจารย์สาย สายเกษม[๘] ผู้ชำนาญทางปรมัตถธรรมเดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมาช่วยท่านสอนปรมัตถธรรมในพระนคร โดยการเชิญของท่านในคราวไปกิจนิมนต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ในปีนั้น และต่อมาเดือนกรกฎาคมในปีเดียวกัน เริ่มเปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรม ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกพระอภิธรรม ได้เปิดสอนอย่างเป็นระบบแห่งแรกในพระนคร โดยมีพระครูสังฆรักษ์สุข ปวโร เป็นอาจารย์ใหญ่ และมีอาจารย์สาย สายเกษม อาจารย์แนบ มหานีรานนท์ เป็นครูสอน ใช้หลักสูตรพระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท ที่อาจารย์สาย สายเกษม ได้เรียบเรียงไว้ ในครั้งนั้นมีนักศึกษาทั้งหมดประมาณ ๑๐๐ คน
มรณกาล
พ.ศ. ๒๔๙๐ อายุ ๕๐ ปี พรรษาที่ ๓๐ และเป็นปีที่ ๑๗ ในการเข้ามาเผยแพร่ธรรมของภัททันตะวิลาสมหาเถระ ท่านได้มรณภาพลง ด้วยการถูกทำร้ายร่างกาย (ไม่พบหลักฐานวันเดือนที่มรณภาพ)
พระผู้มาฟื้นฟูการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทย
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การศึกษาพระอภิธรรมอย่างเป็นระบบในส่วนกลางได้สูญหายไปแล้ว แต่ในส่วนภูมิภาคยังคงมีอยู่ในภาษาท้องถิ่นล้านนา ดังปรากฏในประวัติวัดหนองเงือก จังหวัดลำพูน ภูมิภาคพายัพ ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ จนถึงก่อน พ.ศ. ๒๔๙๐ ยังมีการเรียนการสอนพระอภิธรรมอยู่ โดยใช้คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหนิสสยะ (แปลยกศัพท์ภาษาล้านนา) เป็นคัมภีร์พื้นฐานในการศึกษาพระอภิธรรม[๙] ต่อมาได้หมดความสำคัญลงและหยุดชะงักไป แต่ก็ยังปรากฏหลักฐานทางเอกสารใบลาน พับสา (สมุดไทย) ให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน และก่อนหน้านี้ ในสมัยล้านนา มีคัมภีร์โยชนาอภิธรรม[๑๐] เกิดขึ้นหลายเล่ม ซึ่งเป็นผลงานของพระญาณกิตติเถระ ชาวเชียงใหม่ รจนาในช่วง พ.ศ. ๒๐๒๘ – ๒๐๔๓[๑๑] คือ
(๑) อัฏฐสาลีนีอัตถโยชนา (อธิบายอรรถกถาธัมมสังคณี)
(๒) สัมโมหวิโนทนีอัตถโยชนา (อธิบายอรรถกถาวิภังค์)
(๓) ปัญจปกรณัฏฐกถาอัตถโยชนา (อธิบายอรรถกถาปัญจปกรณ์)
(๔) อภิธัมมัตถภาวินีอัตถโยชนา[๑๒] (อธิบายฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ)
แสดงให้เห็นว่าในเขตพื้นที่ของประเทศไทยในอดีตเคยมีการศึกษาพระอภิธรรมอยู่ก่อนแล้ว
ครูบาญาณมหาเถระ (คำแสน ญาณวุฑฺฒิ)
เจ้าอาวาสวัดหนองเงือก รูปที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๕๓ – ๒๔๙๐
พระอาจารย์ผู้สอนพระอภิธรรม (ปรมัตถธรรม)
รูปสุดท้ายในสำนักพระปริยัติธรรมวัดหนองเงือก ในภูมิภาคพายัพ จังหวัดลำพูน
หลังจากการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยได้ห่างหายไปนาน ภัททันตะวิลาสมหาเถระ ได้เดินมาสู่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ เพื่อสอนวิปัสสนากรรมฐาน ณ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และมาอยู่จำพรรษา ณ วัดปรก อำเภอบ้านทะวาย จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร) ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ตราบจน พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงได้เปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรมอย่างเป็นระบบขึ้น ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นอันว่าสมมโนปณิธานของภัททันตะวิลาสมหาเถระแล้วในปีที่ท่านมรณภาพนั่นเอง ดังข้อความที่อาจารย์แนบ มหานีรานนท์กล่าวไว้ว่า
“…เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ ท่านอาจารย์สาย (สายเกษม) ได้ลงมือสอน เมื่อเดือนกุมพาพันธ์ ๒๔๙๐ เป็นเวลา ๘ เดือนได้ จำนวนนักเรียนปรมัตถ์ทั้งหมดประมาณ ๑๐๐ คน เป็นที่น่าปลื้มใจมาก จึงเป็นอันว่า ท่านอาจารย์สาย (สายเกษม) และข้าพเจ้า (อาจารย์แนบ มหานีรานนท์) ได้จัดการสนองความเจตนาของอาจารย์วัดปรก ภัททันตะ(วิลาสะ) สำเร็จไปตามความประสงค์ของท่านแล้ว…”[๑๓]
ในการเปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรมที่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารครั้งนั้น มีผู้สนใจมาเรียนพระอภิธรรมมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องขยายการศึกษาชั้นสูงยิ่งขึ้นไป จนจบอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท ดังนั้นจึงมีการดำริที่จะหาผู้เชี่ยวชาญพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ มาสอนต่อไปจนจบหลักสูตรอภิธรรมปิฎก[๑๔]
ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา การศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยก็ได้รื้อฟื้นขึ้น ด้วยอุปการคุณของภัททันตะวิลาสมหาเถระ พระมหาเถระชาวพม่า ผู้เข้ามาจุดประทีปคือพระอภิธรรมให้แก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยด้วยประการฉะนี้[๑๕]
หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน สามโกเศศ)
ล่ามแปลภาษาพม่าให้กับภัททันตะวิลาสมหาเถระ
ตั้งแต่แรกมาจำอยู่วัดปรก ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๙
และเป็นผู้แนะนำอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ให้มาศึกษาธรรมกับภัททันตะวิลาสมหาเถระ
อาจารย์สาย สายเกษม
ผู้ชำนาญทางปรมัตถธรรม เดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อมาช่วยภัททันตะวิลาสมหาเถระสอนปรมัตถธรรมในพระนคร โดยการเชิญของภัททันตะวิลาสมหาเถระในคราวไปกิจนิมนต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือหลักสูตรพระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท ที่ใช้ประกอบการศึกษาพระอภิธรรม ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในยุคนั้น
[๑] ภัททันตะ เป็นคำเรียกนำหน้าชื่อของพระภิกษุ (นิยมใช้ในพม่า)
[๒] เมืองสาวัตถี ปัจจุบันเป็นชุมชนเล็กๆ อยู่ทางใต้สุดของมณฑลมัณฑะเลย์
[๓] เทียบหาวันทางสุริยคติจาก http://www.payakorn.com/moondate.php
[๔] เทียบหาวันทางสุริยคติจาก http://www.payakorn.com/moondate.php
[๕] เทียบหาวันทางสุริยคติจาก http://www.payakorn.com/moondate.php
[๖] หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน สามโกเศศ) เกิดปีมะแม วันที่ ๗ กรกฎกาคม พ.ศ. ๒๔๑๔ ตำบลบ้านทะวาย จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร) เป็นล่ามแปลภาษาพม่าให้กับภัททันตะวิลาสมหาเถระ ตั้งแต่แรกมาจำอยู่วัดปรก ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ และเป็นผู้แปลหนังสือ “ยถาภูตธัมม์” ภาษาพม่ามาเป็นภาษาไทย และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๖ อายุ ๘๒ ปี ๗ เดือน [ดูเพิ่มเติมในหนังสือ “ยถาภูตธัมม์ และ ทินมาลี” พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน สามโกเศศ) และฌาปนกิจศพ นางประพันธ์พัฒนการ (สุณา สามโกเศศ) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ๙ เมษายน ๒๔๙๖, หน้า (ค) – (ง)]
[๗] จังหวัดพระตะบอง ช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๔๘๙ อยู่ในเขตปกครองของประเทศไทย (อ้างอิง: วิกิพีเดีย)
[๘] อาจารย์สาย สายเกษม มีเชื้อสายเป็นชาวพม่า สามารถพูดได้ถึง ๒๔ ภาษา ทำงานเป็นล่ามให้กับบริษัทตะวันตกแห่งหนึ่ง เมื่อเดินทางเข้าป่าก็จะขนพระไตรปิฎกไปอ่านด้วย และถูกขอร้องให้มาช่วยสอนพระอภิรรมในเมืองไทย ท่านก็ยินดีสละรายได้จำนวนมหาศาลนั้นเสีย เล่ากันว่าเมื่อท่านเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็ง มีคนเห็นท่านสวมชุดขาวออกจากร่าง แล้วเดินออกจากห้องหายไป ในท้ายคัมภีร์พระอภิธรรมพิสดาร มีข้อความระบุว่าท่านปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ (หนังสือ “เพื่อทัสสนานุตตริยคุณสวนานุตตริยคุณ” ในวาระอายุครบ ๙๐ ปี อ.ปราโมช น้อยวัฒน์ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๙, หน้า ๖)
[๙] ประวัติวัดหนองเงือก ต.แม่เรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน, พ.ศ. ๒๕๕๒.
[๑๐] โยชนา คือ คัมภีร์ที่อธิบายความหมายของศัพท์และความสัมพันธ์ในประโยคของภาษาช่วยให้การแปลคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามสายแห่งพระไตรปิฎก คือ โยชนาพระวินัยปิฎก โยชนาพระสุตตันตปิฎก และโยชนาพระอภิธรรมปิฎก (วิกิพีเดีย)
[๑๑] อยู่ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ ๙ (พ.ศ. ๑๙๔๘ – ๒๐๓๐) พญายอดเชียงราย รัชกาลที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๐๓๐ – ๒๐๓๘) และพญาแก้ว หรือ พระเมืองแก้ว รัชกาลที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๐๓๘ – ๒๐๖๘) พระราชวงศ์มังราย (วิกิพีเดีย)
[๑๒] พรรณเพ็ญ เครือไทย, บรรณาธิการ, วรรณกรรมพุทธศาสนาในล้านนา, หน้า ๑๔-๑๕.
[๑๓] ปัญญาสาร ฉบับที่ ๑๖ หน้า ๗๔
[๑๔] ดูรายละเอียดใน สำนักงานกลางอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย, “ผลของการศึกษาพระอภิธรรม”, อภิธรรมานุสรณ์, (กรุงเทพมหานคร : นิยมวิทยา, ๒๕๑๔ หน้า ๒๒.
[๑๕] ประวัติภัททันตะวิลาสมหาเถระนี้ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยประมวลเนื้อหาหลักจากหนังสือ “ตามรอย พระภัททันตวิลาสมหาเถระ ผู้สืบสานการศึกษาพระอภิธรรม และวิปัสสนากรรมฐานหมวดอิริยาบถในเมืองไทย” ของ ปุญฺญวุฑฺโฒ ภิกฺขุ เรียบเรียงไว้ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔, และจากหนังสือ “ยถาภูตธรรม” ของภัททันตะวิลาสมหาเถระ พิมพ์เผยแพร่โดยพระมหาประกอบ ปภงฺกโร สำนักวิปัสสนาวัดสะแกแสง อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา ๙ เมษายน ๒๕๔๓.
Oct 27 2017
ประวัติภัททันตะวิลาสมหาเถระ ผู้ฟื้นฟูการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทย
สังเขปประวัติภัททันตะวิลาสมหาเถระ
ชาติภูมิ
ภัททันตะ[๑] วิลาสมหาเถระ เป็นพระภิกษุชาวพม่า ถือกำเนิด ณ หมู่บ้านเป้ามะไย เมืองสาวัตถี[๒] จังหวัดเปียงมะนา ประเทศเมียนมา เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๕๘ ตรงกับวันพุธที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๓๙ (๔๐)[๓] บิดาชื่อ นายอูจ่อง มารดาชื่อ นางด่อล่าเวง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๔ คน รวมกับท่านอีก ๑ คน เป็น ๕ คน ๓ คนแรกเป็นหญิง ไม่ทราบชื่อ ๒ คนหลังเป็นชาย คือ นายหม่องออ และภัททันตะวิลาสมหาเถระ
บรรพชาอุปสมบท
พ.ศ. ๒๔๔๖ อายุ ๖ ปี บิดามารดานำไปฝากตัวกับอูคุณวังสมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดปุปผาราม (โหย่งซู่จอง) ห่างจากบ้านเป้ามะไย เมืองสาวัตถี ประมาณ ๑๕ ก.ม. ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือภาษาพม่ามาตามลำดับ
พ.ศ. ๒๔๕๒ อายุ ๑๒ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดปุปผาราม (โหย่งซู่จอง)
พ.ศ. ๒๔๕๙ อายุ ๑๙ ปี ๑๐ เดือน อุปสมบทเป็นภิกษุ ในนิกายชเวจิน วัดมหาวิสุทธาราม กรุงมัณฑะเลย์
การศึกษาทางธรรม (คันถธุระ)
พ.ศ. ๒๔๕๒ – ๒๔๕๙ คือช่วงเวลาที่เป็นสามเณรนั้น ได้ศึกษากัจจายนไวยากรณ์ อภิธัมมัตถสังคหะ ธัมมสังคณีมาติกา ธาตุกถา ยมก และปัฏฐาน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาพระบาฬีไตรปิฎกของคณะสงฆ์พม่า เป็นเวลา ๘ ปี
พ.ศ. ๒๔๖๐ – ๒๔๖๗ หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาต่อที่วัดมหาวิสุทธาราม กรุงมัณฑะเลย์ เป็นเวลา ๗ ปี
หลักสูตรพระปริยัติธรรมวัดมหาสุทธาราม
๑. วิชาพระวินัย
(๑) กังวีตรณี (อธิบายปาติโมกข์ สิกขาบท ๒๒๐ และอธิกรณ์ ๗)
(๒) ขุททสิกขา (ประมวลสิกขาบทเล็กน้อย)
(๓) มูลสิกขา (ประมวลสิกขาบทพื้นฐาน)
(๔) วินยโกสัลละ หรือ นวโกสัลละ (ว่าด้วยความเป็นผู้ฉลาดในพระวินัย)
(หลักสูตรพระวินัยสำหรับภิกษุใหม่ รจนาโดย มหาวิสุทธาสยาดอ)
๒. วิชาบาฬีไวยากรณ์
(๑) ปทรูปสิทธิ (ทำตัวรูปคำตามกัจจายนไวยากรณ์)
(๒) สังวัณณนา (ว่าด้วยหลักการอธิบายความในพระไตรปิฎก)
(๓) นยะและอุปจาระ (ว่านัยและอุปจาระของศัพท์และประโยค)
(๔) สุโพธาลังการะ (ว่าด้วยสำนวนภาษาบาฬีที่มีคุณและโทษ)
(๕) วุตโตทยะ (ว่าด้วยฉันทลักษณ์และประเภทคาถา)
(๖) อภิธานัปปทีปิกา (ว่าด้วยศัพท์ในความหมายต่างๆ)
๓. วิชาพระอภิธรรม
(๑) อภิธัมมัตถสังคหะ (ประมวลอภิธรรม ๗ คัมภีร์)
(๒) อภิธัมมัตถภาวินีฎีกา (อธิบายอภิธัมมัตถสังคหะ)
(๓) ปรมัตถสรูปเภทนี (จำแนกองค์ธรรมโดยพิสดาร)
(๔) หลักสูตรปิดหนังสือ ปิดไฟ สวดสาธยายธาตุกถา ยมก และปัฏฐาน
พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๖๙ เข้าศึกษาหลักสูตรพระบาฬีไตรปิฎก อรรกถา ฎีกา อนุฎีกา โยชนา แปลและอธิบาย (แบบไม่สอบ) ณ วัดมหาวิสุตาราม เมืองปะขุกกู่ เป็นเวลา ๒ ปี
การปฏิบัติวิปัสสนา (วิปัสสนาธุระ)
พ.ศ. ๒๔๗๐ อายุ ๓๐ ปี พรรษา ๑๐ ได้หยุดพักการเรียน และเดินทางกลับมาจำพรรษา ณ วัดปุปผาราม (โหย่งซู่จอง) เมืองสาวัตถี และได้เริ่มออกแสวงหาอาจารย์สอนปฏิบัติวิปัสสนา ต่อมาได้พบกับอูจันดุน ศิษย์ของอาจารย์อูมินกุนสยาดอ และเริ่มฝึกปฏิบัติวิปัสสนาในสำนักของอาจารย์อูจันดุน เป็นเวลา ๔ เดือน
พ.ศ. ๒๔๗๒ – ๒๔๗๓ เป็นพรรษาที่ ๑๒ – ๑๓ หลังจากได้ปฏิบัติวิปัสสนาเรื่อยมา ก็ได้ประจักษ์ความเป็นหนทางมีจริงแห่งยถาภูตญาณ
การเข้ามาเผยแผ่ธรรมในประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๗๓ ช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน (จ.ศ. ๑๒๙๒ เดือน ๗)[๔] บรรดาพ่อค้าพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกันไปกราบอาราธนานิมนต์ท่านมาสอนวิปัสสนากรรมฐานที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
พ.ศ. ๒๔๗๔ ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม (จ.ศ. ๑๒๙๓ เดือน ๖)[๕] คณะกรรมการและอุบาสกอุบาสิกาชาววัดปรก อำเภอบ้านทะวาย จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร) ร่วมกันไปกราบอาราธนานิมนต์ท่านมาอยู่จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นับตั้งแต่ภัททันตะวิลาสมหาเถระมาอยู่ประจำ ณ วัดปรก ท่านได้สอนสมถวิปัสสนากรรมฐาน เทศนาชี้แจงให้เป็นที่เข้าใจในการแก้ทุกข์ และสอนธัมมานุธัมมปฏิบัติแก่เหล่าศิษย์ ในข้อใดที่ศิษย์ควรจะจดจำ ก็ได้เขียนจดเป็นหนังสือ ส่วนเนื้อหาการสอนที่ท่านรวบรวมไว้ ตามฉบับเดิมได้เขียนไว้เป็นภาษาพม่า หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน สามโกเศศ) [๖] เป็นผู้แปลเป็นภาษาไทย และเป็นล่ามแปลภาษาพม่าให้แก่สาธุชนผู้มาฟังธรรม และเป็นผู้ชี้แจง ชักชวน แนะนำการเรียนวิปัสสนากรรมฐานให้แก่เหล่าสาธุชนผู้สนใจ
ต่อมาพระผดุงสุลกกริตย์ ทายกวัดปรก ได้รวบรวมบทความต่างๆ ของภัททตะวิลาสมหาเถระ ที่หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน สามโกเศศ) เป็นผู้แปลไว้นั้น รวมเป็นเล่มหนังสือ ชื่อว่า “ยถาภูตธรรม (หมายเหตุเพื่อความรู้แจ้ง)” และ “ภาวนามยะ (เพ่งรู้)” ทั้งสองเล่มนี้รวมเป็นเล่มเดียวกัน จัดพิมพ์ ๑,๐๐๐ เล่ม เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ และยังมีหนังสือธรรมปฏิบัติอื่นๆ อีกหลายเล่ม
พ.ศ. ๒๔๘๙ เปิดสอนพระอภิธรรมที่สนทนาธรรมสมาคม หลังวังบูรพา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทุกวันเสาร์บ่าย ๒ โมง แต่สอนได้แค่ ๒ เดือน เพราะหลังจากที่ท่านได้รับนิมนต์ไปบ่อพลอยไพลิน จังหวัดพระตะบอง[๗] กลับมาเกิดไม่สบายขึ้น และไม่สะดวกในเรื่องล่าม การเรียนการสอนพระอภิธรรมครั้งนี้จึงต้องหยุดไป
พ.ศ. ๒๔๙๐ เดือนพฤษภาคม อาจารย์สาย สายเกษม[๘] ผู้ชำนาญทางปรมัตถธรรมเดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมาช่วยท่านสอนปรมัตถธรรมในพระนคร โดยการเชิญของท่านในคราวไปกิจนิมนต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ในปีนั้น และต่อมาเดือนกรกฎาคมในปีเดียวกัน เริ่มเปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรม ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกพระอภิธรรม ได้เปิดสอนอย่างเป็นระบบแห่งแรกในพระนคร โดยมีพระครูสังฆรักษ์สุข ปวโร เป็นอาจารย์ใหญ่ และมีอาจารย์สาย สายเกษม อาจารย์แนบ มหานีรานนท์ เป็นครูสอน ใช้หลักสูตรพระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท ที่อาจารย์สาย สายเกษม ได้เรียบเรียงไว้ ในครั้งนั้นมีนักศึกษาทั้งหมดประมาณ ๑๐๐ คน
มรณกาล
พ.ศ. ๒๔๙๐ อายุ ๕๐ ปี พรรษาที่ ๓๐ และเป็นปีที่ ๑๗ ในการเข้ามาเผยแพร่ธรรมของภัททันตะวิลาสมหาเถระ ท่านได้มรณภาพลง ด้วยการถูกทำร้ายร่างกาย (ไม่พบหลักฐานวันเดือนที่มรณภาพ)
พระผู้มาฟื้นฟูการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทย
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การศึกษาพระอภิธรรมอย่างเป็นระบบในส่วนกลางได้สูญหายไปแล้ว แต่ในส่วนภูมิภาคยังคงมีอยู่ในภาษาท้องถิ่นล้านนา ดังปรากฏในประวัติวัดหนองเงือก จังหวัดลำพูน ภูมิภาคพายัพ ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ จนถึงก่อน พ.ศ. ๒๔๙๐ ยังมีการเรียนการสอนพระอภิธรรมอยู่ โดยใช้คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหนิสสยะ (แปลยกศัพท์ภาษาล้านนา) เป็นคัมภีร์พื้นฐานในการศึกษาพระอภิธรรม[๙] ต่อมาได้หมดความสำคัญลงและหยุดชะงักไป แต่ก็ยังปรากฏหลักฐานทางเอกสารใบลาน พับสา (สมุดไทย) ให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน และก่อนหน้านี้ ในสมัยล้านนา มีคัมภีร์โยชนาอภิธรรม[๑๐] เกิดขึ้นหลายเล่ม ซึ่งเป็นผลงานของพระญาณกิตติเถระ ชาวเชียงใหม่ รจนาในช่วง พ.ศ. ๒๐๒๘ – ๒๐๔๓[๑๑] คือ
(๑) อัฏฐสาลีนีอัตถโยชนา (อธิบายอรรถกถาธัมมสังคณี)
(๒) สัมโมหวิโนทนีอัตถโยชนา (อธิบายอรรถกถาวิภังค์)
(๓) ปัญจปกรณัฏฐกถาอัตถโยชนา (อธิบายอรรถกถาปัญจปกรณ์)
(๔) อภิธัมมัตถภาวินีอัตถโยชนา[๑๒] (อธิบายฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ)
แสดงให้เห็นว่าในเขตพื้นที่ของประเทศไทยในอดีตเคยมีการศึกษาพระอภิธรรมอยู่ก่อนแล้ว
ครูบาญาณมหาเถระ (คำแสน ญาณวุฑฺฒิ)
เจ้าอาวาสวัดหนองเงือก รูปที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๕๓ – ๒๔๙๐
พระอาจารย์ผู้สอนพระอภิธรรม (ปรมัตถธรรม)
รูปสุดท้ายในสำนักพระปริยัติธรรมวัดหนองเงือก ในภูมิภาคพายัพ จังหวัดลำพูน
หลังจากการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยได้ห่างหายไปนาน ภัททันตะวิลาสมหาเถระ ได้เดินมาสู่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ เพื่อสอนวิปัสสนากรรมฐาน ณ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และมาอยู่จำพรรษา ณ วัดปรก อำเภอบ้านทะวาย จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร) ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ตราบจน พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงได้เปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรมอย่างเป็นระบบขึ้น ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นอันว่าสมมโนปณิธานของภัททันตะวิลาสมหาเถระแล้วในปีที่ท่านมรณภาพนั่นเอง ดังข้อความที่อาจารย์แนบ มหานีรานนท์กล่าวไว้ว่า
“…เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ ท่านอาจารย์สาย (สายเกษม) ได้ลงมือสอน เมื่อเดือนกุมพาพันธ์ ๒๔๙๐ เป็นเวลา ๘ เดือนได้ จำนวนนักเรียนปรมัตถ์ทั้งหมดประมาณ ๑๐๐ คน เป็นที่น่าปลื้มใจมาก จึงเป็นอันว่า ท่านอาจารย์สาย (สายเกษม) และข้าพเจ้า (อาจารย์แนบ มหานีรานนท์) ได้จัดการสนองความเจตนาของอาจารย์วัดปรก ภัททันตะ(วิลาสะ) สำเร็จไปตามความประสงค์ของท่านแล้ว…”[๑๓]
ในการเปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรมที่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารครั้งนั้น มีผู้สนใจมาเรียนพระอภิธรรมมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องขยายการศึกษาชั้นสูงยิ่งขึ้นไป จนจบอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท ดังนั้นจึงมีการดำริที่จะหาผู้เชี่ยวชาญพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ มาสอนต่อไปจนจบหลักสูตรอภิธรรมปิฎก[๑๔]
ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา การศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยก็ได้รื้อฟื้นขึ้น ด้วยอุปการคุณของภัททันตะวิลาสมหาเถระ พระมหาเถระชาวพม่า ผู้เข้ามาจุดประทีปคือพระอภิธรรมให้แก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยด้วยประการฉะนี้[๑๕]
หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน สามโกเศศ)
ล่ามแปลภาษาพม่าให้กับภัททันตะวิลาสมหาเถระ
ตั้งแต่แรกมาจำอยู่วัดปรก ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๙
และเป็นผู้แนะนำอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ให้มาศึกษาธรรมกับภัททันตะวิลาสมหาเถระ
อาจารย์สาย สายเกษม
ผู้ชำนาญทางปรมัตถธรรม เดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อมาช่วยภัททันตะวิลาสมหาเถระสอนปรมัตถธรรมในพระนคร โดยการเชิญของภัททันตะวิลาสมหาเถระในคราวไปกิจนิมนต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือหลักสูตรพระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท ที่ใช้ประกอบการศึกษาพระอภิธรรม ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในยุคนั้น
[๑] ภัททันตะ เป็นคำเรียกนำหน้าชื่อของพระภิกษุ (นิยมใช้ในพม่า)
[๒] เมืองสาวัตถี ปัจจุบันเป็นชุมชนเล็กๆ อยู่ทางใต้สุดของมณฑลมัณฑะเลย์
[๓] เทียบหาวันทางสุริยคติจาก http://www.payakorn.com/moondate.php
[๔] เทียบหาวันทางสุริยคติจาก http://www.payakorn.com/moondate.php
[๕] เทียบหาวันทางสุริยคติจาก http://www.payakorn.com/moondate.php
[๖] หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน สามโกเศศ) เกิดปีมะแม วันที่ ๗ กรกฎกาคม พ.ศ. ๒๔๑๔ ตำบลบ้านทะวาย จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร) เป็นล่ามแปลภาษาพม่าให้กับภัททันตะวิลาสมหาเถระ ตั้งแต่แรกมาจำอยู่วัดปรก ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ และเป็นผู้แปลหนังสือ “ยถาภูตธัมม์” ภาษาพม่ามาเป็นภาษาไทย และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๖ อายุ ๘๒ ปี ๗ เดือน [ดูเพิ่มเติมในหนังสือ “ยถาภูตธัมม์ และ ทินมาลี” พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน สามโกเศศ) และฌาปนกิจศพ นางประพันธ์พัฒนการ (สุณา สามโกเศศ) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ๙ เมษายน ๒๔๙๖, หน้า (ค) – (ง)]
[๗] จังหวัดพระตะบอง ช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๔๘๙ อยู่ในเขตปกครองของประเทศไทย (อ้างอิง: วิกิพีเดีย)
[๘] อาจารย์สาย สายเกษม มีเชื้อสายเป็นชาวพม่า สามารถพูดได้ถึง ๒๔ ภาษา ทำงานเป็นล่ามให้กับบริษัทตะวันตกแห่งหนึ่ง เมื่อเดินทางเข้าป่าก็จะขนพระไตรปิฎกไปอ่านด้วย และถูกขอร้องให้มาช่วยสอนพระอภิรรมในเมืองไทย ท่านก็ยินดีสละรายได้จำนวนมหาศาลนั้นเสีย เล่ากันว่าเมื่อท่านเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็ง มีคนเห็นท่านสวมชุดขาวออกจากร่าง แล้วเดินออกจากห้องหายไป ในท้ายคัมภีร์พระอภิธรรมพิสดาร มีข้อความระบุว่าท่านปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ (หนังสือ “เพื่อทัสสนานุตตริยคุณสวนานุตตริยคุณ” ในวาระอายุครบ ๙๐ ปี อ.ปราโมช น้อยวัฒน์ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๙, หน้า ๖)
[๙] ประวัติวัดหนองเงือก ต.แม่เรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน, พ.ศ. ๒๕๕๒.
[๑๐] โยชนา คือ คัมภีร์ที่อธิบายความหมายของศัพท์และความสัมพันธ์ในประโยคของภาษาช่วยให้การแปลคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามสายแห่งพระไตรปิฎก คือ โยชนาพระวินัยปิฎก โยชนาพระสุตตันตปิฎก และโยชนาพระอภิธรรมปิฎก (วิกิพีเดีย)
[๑๑] อยู่ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ ๙ (พ.ศ. ๑๙๔๘ – ๒๐๓๐) พญายอดเชียงราย รัชกาลที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๐๓๐ – ๒๐๓๘) และพญาแก้ว หรือ พระเมืองแก้ว รัชกาลที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๐๓๘ – ๒๐๖๘) พระราชวงศ์มังราย (วิกิพีเดีย)
[๑๒] พรรณเพ็ญ เครือไทย, บรรณาธิการ, วรรณกรรมพุทธศาสนาในล้านนา, หน้า ๑๔-๑๕.
[๑๓] ปัญญาสาร ฉบับที่ ๑๖ หน้า ๗๔
[๑๔] ดูรายละเอียดใน สำนักงานกลางอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย, “ผลของการศึกษาพระอภิธรรม”, อภิธรรมานุสรณ์, (กรุงเทพมหานคร : นิยมวิทยา, ๒๕๑๔ หน้า ๒๒.
[๑๕] ประวัติภัททันตะวิลาสมหาเถระนี้ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยประมวลเนื้อหาหลักจากหนังสือ “ตามรอย พระภัททันตวิลาสมหาเถระ ผู้สืบสานการศึกษาพระอภิธรรม และวิปัสสนากรรมฐานหมวดอิริยาบถในเมืองไทย” ของ ปุญฺญวุฑฺโฒ ภิกฺขุ เรียบเรียงไว้ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔, และจากหนังสือ “ยถาภูตธรรม” ของภัททันตะวิลาสมหาเถระ พิมพ์เผยแพร่โดยพระมหาประกอบ ปภงฺกโร สำนักวิปัสสนาวัดสะแกแสง อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา ๙ เมษายน ๒๕๔๓.
By ผู้ดูแลระบบ • Uncategorized •