- Home
- ภาพกิจกรรม
- **กฐินกาล 2560
- **งาน 120 ปี ภัททันตะวิลาสะและอาจารย์แนบ มหานีรานนท์
- **ทอดผ้าป่า วันวิสาขบูชา 2560
- **วันมาฆบุชา 2560
- **เชิญชวนร่วมทำบุญถวายภัตตาหารที่มูลนิธิแนบมหานีรานนท์
- **กฐินกาล 2561
- **ถวายผ้ากฐินสามัคคี ๒๕๕๙
- **อุโบสถ
- **วันอาสาฬหบูชา ๒๕๕๙
- **วันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๕๙
- **วันมาฆบูชา พ.ศ.๒๕๕๙
- **วันมาฆบูชา พ.ศ. ๒๕๕๘
- **วันวิสาขบูชา 2558
- **วันอาสาฬหบูชา 2558
- **วันวิสาขบูชา พ.ศ.2556
- วารสารและบทความ
- **ควรทำอะไรในวันปีใหม่
- **ความสำคัญในพระพุทธศาสนา
- **สัมมาทิฏฐิ ๖
- **หนังสืออนุสรณ์ 120 ปี ชาตกาล ภัททันตะวิลาสมหาเถระ และอาจารย์แนบ มหานีรานนท์
- Vipassana Bhavana
- ทุกข์และการกำหนดรู้ทุกข์ โดย อ.แนบ มหานีรานนท์
- ปัญญาสาร ฉบับที่ 139
- ปัญญาสาร ฉบับที่ 140
- ปัญญาสาร ฉบับที่ 141
- ปัญญาสาร ฉบับที่ 142
- ปัญญาสาร ฉบับที่ 143
- ปัญญาสาร ฉบับที่ 144
- ปัญญาสาร ฉบับที่ 145
- ปัญญาสารฉบับที่ 116
- ปัญญาสารฉบับที่ 128
- ปัญญาสารฉบับที่ 129
- ปัญญาสารฉบับที่ 130
- ปัญญาสารฉบับที่ 131
- ปัญญาสารฉบับที่ 132
- ปัญญาสารฉบับที่ 133
- ปัญญาสารฉบับที่ 134
- ปัญญาสารฉบับที่ 135
- ปัญญาสารฉบับที่ 136
- **ศีลวิสุทธิ
- **จิตฺตวิสุทฺธิ
- **ทิฏฐิวิสุทธิ
- **กังขาวิตรณวิสุทธิ
- **มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
- **ปฏิปทาญาณทัสสนาวิสุทธิ ตอนที่ ๑
- **ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ตอนที่ ๒)
- **ปฏิปทาญาณทัสสนาวิปสุทธิ(ตอนที่ ๓)
- **ปฏิปทาญาณทัสสนาวิสุทธิตอนที่๔ (ตอนจบ)
- **ญาณทัสสนวิสุทธิ
- **อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม
- **มรดกธรรมอันล้ำค่า
- **การเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
- หนังสือเรียน
- คู่มือการศึกษาคัมภีร์มหาปัฏฐาน
- คู่มือการศึกษาธัมมสังคณีมาติกา
- อภิธัมมัตถสังคหะแปลไทย
- อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๑
- อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๒
- อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๓
- อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๔
- อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๕
- อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๖
- อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๗
- อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๘
- อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๙
- หนังสือการปฏิบัติวิปัสสนา (อ.แนบ)
- วิสุทธิมัค(สังเขป)
- พระพุทธศาสนาพื้นฐาน
- กิจกรรม
- อภิธัมมัตถสังคหะบรรยาย
- ธรรมบรรยาย
- สำนักปฏิบัติธรรม
- เกี่ยวกับ
Sep 22 2017
การสังคายนาพระไตรปิฎกจากสมัยอดีตสู่สมัยรัตนโกสินทร์ (ร.๑)
การสังคายนาพระไตรปิฎกจากยุคอดีตสู่ยุครัตนโกสินทร์ (ร.๑)
ปิยธรรมอุบาสก หริภุญชัยบุรี
การสังคายนาพระไตรปิฎก คือ การร้อยกรอง หรือ การรวมรวม จัดหมวดหมู่พุทธบัญญัติ พุทธภาษิต สาวกภาษิต ตลอดจนเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา รวมขึ้นเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก ประกอบด้วย พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก และรวบรวมคำอธิบายความต่างๆ ของพระไตรปิฎกขึ้น เรียกว่า “อรรถกถา” ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นภาษาบาลี (มาคธีภาษา) ทำในครั้งแรก (ปฐมสังคายนา) หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานการสังคายนาและเป็นผู้ปุจฉา พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย และพระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม (พระสูตรและพระอภิธรรม) ซึ่งการสังคายนาในครั้งที่ ๒ – ๓ (ทุติยสังคายนา-ตติยสังคายนา) ต่อมา ได้มีการเพิ่มเติมเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องเข้ามาประกอบบ้างเล็กน้อย ในการสังคายนาต่อๆ มาเป็นเพียงการทบทวน ตรวจสอบ ซักซ้อม สอบทานบทและพยัญชนะของพระไตรปิฎกเท่านั้น
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๔๔๓ รัชสมัยพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย ณ ประเทศศรีลังกา ได้มีการจารึกพระไตรปิฎกภาษาบาลีลงบนใบลานด้วยอักษรสีหล พร้อมทั้งจารึกอรรถกถาขึ้นเป็นภาษาสีหล และได้มีการเพิ่มเติมเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศศรีลังกาประกอบเข้าไว้ในอรรถกถาอีกด้วย
ใน “คัมภีร์สังคีติยวงศ์” (ภาษาบาลี) รจนาโดย สมเด็จพระวันรัต เมื่อครั้งเป็นพระพิมลธรรม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมัยรัชการที่ ๑ แห่งพระราชวงศ์จักรี ได้กล่าวถึงลำดับการสังคายนาพระไตรปิฎกตามสายที่ได้รับสืบทอดมา คือ จากอินเดียสู่ลังกา และจากลังกาสู่ดินแดนแถบประเทศไทยในอดีต ๙ ลำดับ หนึ่งใน ๙ ลำดับนั้น ลำดับที่ ๘ มีการกล่าวถึงการสังคายนาพระไตรปิฎกในประเทศล้านนาด้วย ดังนี้
ครั้งที่ ๑ ในประเทศอินเดีย พุทธศักราช ๓ เดือน
ครั้งที่ ๒ ในประเทศอินเดีย พุทธศักราช ๑๐๐
ครั้งที่ ๓ ในประเทศอินเดีย พุทธศักราช ๒๓๔
ครั้งที่ ๔ ในประเทศศรีลังกา พุทธศักราช ๒๓๘
ครั้งที่ ๕ ในประเทศศรีลังกา พุทธศักราช ๔๓๓ (จารึกลงใบลานยุคแรก พร้อมทั้งอรรกถา)
ครั้งที่ ๖ ในประเทศศรีลังกา พุทธศักราช ๙๕๖ (พระพุทธโฆสะแปลอรรถกถาสีหลสู่บาลี)
ครั้งที่ ๗ ในประเทศศรีลังกา พุทธศักราช ๑๕๘๗ (รจนาคัมภีร์ฎีกา)
ครั้งที่ ๘ ในประเทศล้านนา นครเชียงใหม่ (อภินวปุระ) พุทธศักราช ๒๐๒๐
ครั้งที่ ๙ ในประเทศสยาม พุทธศักราช ๒๓๓๑ (สมัยรัชกาลที่ ๑)
(ดูเพิ่มเติมได้ในพระไตรปิฎกสำหรับประชาชน ภาค ๑ ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก)
“ล้านนา” เป็นอาณาจักรของชนกลุ่มชาติพันธุ์ “ไท” กลุ่มหนึ่ง (ไทยวน ไทลื้อ ไทขึน) ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เดียวกันกับชาวสยามและชาวล้านช้าง ที่มีภาษาพูด ภาษาเขียน เป็นของตนเอง สถาปนาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ โดยพระเจ้ามังรายมหาราช (ไทยวน) พระราชวงศ์มังราย มีเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๑๐๑ ได้เสียเอกราชให้แก่พม่า จนกระทั่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ผู้นำท้องถิ่นล้านนา (พระราชวงศ์เชื้อเจ็ดตน) ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี และสามารถขับไล่พม่าออกไปได้ หลังจากนั้นประเทศล้านนาจึงมีฐานะเป็นประเทศราชของประเทศสยาม มาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้จัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล จึงยกเลิกเมืองประเทศราชลง
เขตพื้นที่ที่เรียกว่า “ล้านนา” ในปัจจุบัน หมายถึง ๘ จังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย คือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน
พระพุทธศาสนาเถรวาทในล้านนา
ล้านนารับพระพุทธศาสนาเถรวาทจากอาณาจักรมอญหริภุญชัย (ลำพูน) ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๓๑๐ มีพระนางจามเทวี จากเมืองละโว้ (ลพบุรี) เป็นปฐมกษัตริย์ ดังข้อความในคัมภีร์มูลศาสนาญาณคัมภีร์ว่า
“…พระญากือนา ไปรับมาอยู่วัดป่าไผ่หลวงวันออกเมืองหริภุญชัย ฝายน้ำพายหน้าแล้วอาราธนาพระเชื้อเก่าทังมวล อันสืบเช่นนางจามเทวีนั้น บวชใหม่ขับเสี้ยง เหตุพระญาบ่เชื่อพระเก่าอันต่างฅนต่างว่า…”
ถอดเป็นใจความว่า “…พระเจ้ากือนา ไปรับ(พระสงฆ์นิกายมอญที่อาราธนามาจากกรุงสุโขทัย) มาอยู่วัดป่าไผ่หลวง ทิศตะวันออกของเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ฝายน้ำด้านหน้า แล้วอาราธนาพระภิกษุที่สืบมาจากนิกายมอญสมัยพระนางจามเทวีให้บวชใหม่ทั้งหมด เพราะพระองค์ไม่ทรงเชื่อถือนิกายเดิมซึ่งต่างคนต่างว่า…”
จากหลักฐานนี้ ทำให้ทราบว่าล้านนารับพระพุทธศาสนาเถรวาทมาจากมอญหริภุญชัย (ลำพูน) มาก่อน และต่อมาพระเจ้ากือนา รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๑๘๙๘ – ๑๙๒๘) แห่งพระราชวงศ์มังราย ทรงเลื่อมใสพระสงฆ์นิกายมอญที่อยู่ในกรุงสุโขทัย ทรงไม่เชื่อถือนิกายเดิมที่สืบทอดมาจากสมัยพระนางจามเทวี โดยทรงอาราธนาคณะสงฆ์นิกายมอญจากกรุงสุโขทัย ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พ.ศ. ๑๙๑๑ – ๑๙๔๒) มานครเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๑๙๑๒ และอาราธนาพระสงฆ์ล้านนาทุกรูปให้บวชใหม่ในนิกายมอญจากกรุงสุโขทัย
ต่อมารัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน รัชกาลที่ ๘ (พ.ศ. ๑๙๕๔ – ๑๙๘๔) พระญาณคัมภีร์และบริวาร ได้เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทและภาษาบาลีที่ประเทศศรีลังกา ในรัชสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๖ (พ.ศ. ๑๙๕๕ – ๒๐๑๐) ณ สำนักพระมหาสุทัสสนเถระ พระสังฆราช ที่โรหณชนบท และเดินทางกลับถึงเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๑๙๖๘ ได้นำคัมภีร์บาลีต่างๆ กลับมาด้วย ดังข้อความในคัมภีร์วินยสังคหะ (ล้านนา) ว่า
“…ไปเอาธัมม์เมืองลังกา เท่าเอาธัมม์อันเปนตัวบาฬี แลอัฏฐกถา ฏีกา วินัยวินิจฉัย แลสัททา (บาลีไวยากรณ์) ทังมวลเปนตัวบาฬีเสี้ยง นิสสยะคือนิไสร (แปลยกศัพท์ภาษาสีหล) บ่เอาสักผูก ได้หนังสือ ๒ สะเพลา (เรือสำเภา) คันมารอดท่าสะเหลียงแล้ว เอาออกแปลงเปนหาบได้พัน ๑ เอามาตั้ง(ไว้ที่เมือง)ละพูร (ลำพูน) เชียงใหม่ นานได้ร้อยวัสสา ครูบาเจ้าทังหลายก็เอามาพิจารณาดูรอดเสี้ยงซ้ำทังมวล ก็รู้ที่ถูกที่แม่นถี่แล้ว…”
ถอดเป็นใจความว่า “…ไปเอาคัมภีร์พระธรรมจากประเทศศรีลังกามา เอาเฉพาะพระบาลีไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา วินัยวินิจฉัย และสัททา (บาลีไวยากรณ์) ทั้งมวลเป็นภาษาบาลีหมด นิสสยะคือนิสสัย (แปลยกศัพท์ภาษาสีหล) ไม่ได้นำมาด้วย ได้หนังสือ ๒ ลำเรือสำเภา ครั้นมาถึงท่าสะเหลียงแล้ว นำออกจัดเป็นหาบได้ ๑๐๐๐ หาบ นำมาประดิษฐานไว้ที่เมืองลำพูนและเมืองเชียงใหม่ ยาวนานได้ร้อยพรรษา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้นำมาพิจารณาดูทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว ก็ทราบที่ถูกที่ชอบแล้ว…”
การสังคายนาพระไตรปิฎกที่นครเชียงใหม่
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ ปลายรัชสมัยพระเจ้า ติโลกราช รัชกาลที่ ๙ (พ.ศ. ๑๙๘๔ – ๒๐๓๐) พระธรรมทินเถระพิจารณาเห็นพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น ฉบับเดิมพิรุธมาก จึงถวายพระพรแก่พระเจ้าติโลกราช พระองค์จึงทรงรับเป็นองค์ศาสนูปถัมภก จากนั้นพระธรรมทินเถระได้คัดเลือกพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกมากกว่าร้อยรูป ร่วมทำการสังคายนา ตรวจชำระพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น เป็นเวลา ๑ ปีจึงสำเร็จ ณ วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด ปัจจุบัน) ดังข้อความจากหนังสือพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนหนึ่ง ที่กล่าวถึงการสังคายนาในครั้งนั้นว่า
“…ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒๐๒๐ ปี จึงพระธรรมทินเถรเจ้าผู้เป็นมหาเถรอยู่ ณ เมืองนพีสี-นคร คือ เมืองเชียงใหม่ พิจารณาเห็นพระไตรปิฎกพิรุธมาก ทั้งพระบาลี อรรถกถา ฎีกา จึงถวายพระพรแก่พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิดิลกราชาธิราช (พระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๑๙๘๔ – ๒๐๓๐) ผู้เสวยราชสมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่ ว่าจะชำระพระปริยัติให้บริบูรณ์ บรมกษัตริย์จึงให้กระทำมณฑปในมหาโพธารามวิหารในพระนคร พระธรรมทินเถรจึงเลือกพระสงฆ์ ซึ่งทรงไตรปิฎกมากกว่าร้อย ประชุมกันในมณฑปนั้น กระทำชำระพระไตรปิฎก ตกแต้มให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ ปีหนึ่งจึงสำเร็จ มีพระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิดิลกราชาธิราชเป็นศาสนูปถัมภก นับเนื่องในอัฏฐมสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง…”
ในการสังคายนาครั้งนี้ ได้ทำหลังจากคณะของพระญาณคัมภีร์นำพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น กลับมาจากประเทศศรีลังกา เป็นเวลา ๕๒ ปี (ระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๖๘ – ๒๐๒๐) จึงสันนิษฐานได้ว่าในการสังคายนานั้น ได้ใช้คัมภีร์บาลีที่นำมาจากประเทศศรีลังกาเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๖๘ มาสอบทาน เทียบเคียง กับฉบับของมอญเดิมที่มีอยู่ และอักษรที่จารึกพระบาลีไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เป็นต้นนั้น ใช้อักษรธรรมล้านนาที่พัฒนามาจากอักษรมอญโบราณนั่นเอง
สืบเนื่องมาสู่การสังคายนาในสมัยรัชกาลที่ ๑
หลังจากล้านนาสูญเสียเอกราชให้แก่พม่า พ.ศ. ๒๑๐๑ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ผู้นำท้องถิ่นล้านนาเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี และสามารถขับไล่พม่าออกไปได้ หลังจากนั้นล้านนาจึงตกอยู่ในฐานะประเทศราชของสยาม ต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรีและรัชกาลที่ ๑ แห่ง พระราชวงศ์จักรี ได้ทรงมีพระราชดำริสร้างพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงรวบรวมพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น ฉบับต่างๆ ที่มีอยู่ คือ ฉบับอักษรภาษาไทย (สยาม) อักษรภาษามอญ (รามัญ) และอักษรภาษาลาว (ล้านนา ล้านช้าง) จากนั้นทรงให้ชำระและปริวรรตสู่อักษรขอม (ขอมไทย) แล้วประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรมและถวายแก่พระสงฆ์ได้เล่าเรียนตามความปรารถนา
ดังคำประกาศเทวดาครั้งสังคายนา ปีวอก สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๑๕๐ พ.ศ. ๒๓๓๑ (ประกาศพระราชพิธี เล่ม ๒ หน้า ๑๐) ว่า
“…ครั้นพระพุทธศักราชได้ ๒๓๐๐ ปีเศษนั้น พม่าก็แต่งยุทธสงครามยกมารบรันทำย่ำยีเมืองสัมมาทิฏฐิทั้งนี้สาบสูญร่วงโรยไป เพราะภัยเกิดแต่พม่าเป็นต้นเหตุ มีผู้ร้ายเผาวัดวาอารามพระไตรปิฎกสาบสูญสิ้นไป จนถึงกรุงศรีอยุธยาก็พินาศฉิบหาย พระไตรปิฎกเจดียฐานก็สาบสูญ สมณพราหมณาจารย์ผู้จะรักษาร่ำเรียนพระไตรปิฎกนั้นก็พลัดพรากล้มตายเป็นอันมาก หาผู้ใดที่จะเป็นที่พำนักป้องกันต้านทานข้าศึกศัตรูมิได้ แต่สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าทั้งสองพระองค์ (พระเจ้ากรุงธนบุรีและรัชกาลที่ ๑) ผู้ทรงปณิธานปรารถนาพระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณ ทรงพระกรุณาอุสาหะผู้เสียพระชนมชีพถวายพระศรีรัตนไตรย คุมพลทหารกู้แก้บำรุงบวรพุทธสาสนาและสมณอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ช่วยรับรบต้านทานอริราชศัตรูหมู่พม่าข้าศึกไว้ได้ชัยชำนะแล้ว ทรงพระอุสาหะจัดแจงพระนคร ราชธานี นิคม ชนบท สมณพราหมณประชาราษฎร บวรเจดียฐาน อาราม บริเวณาวาศอันพินาศฉิบหายนั้น และบวชกุลบุตร ฐาปนาการพระพุทธบาท เจดียฐาน ปรารถนาจะให้รุ่งเรืองขึ้น ดุจหนึ่งกาลแต่ก่อน ตั้งพระไทยบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เป็นอันมาก และเอาพระไทยใส่บำรุงบวรพุทธสาสนา เป็นต้นว่า นิสสัคคียวัตถุ ภิกษุรับเงินทองบริโภคพระสาสนานี้เสียมาช้านาน มหากระษัตริย์องค์ใดจะห้ามปราบลงมิได้ ด้วยพระเดชพระบารมีทรงบำรุงครั้งนี้ พระสาสนาสิกขานี้คงคืนรุ่งเรืองขึ้น มีคุณในพระสาสนาฉนี้ แล้วทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกอันเป็นมูลรากพระสาสนา ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้ช่างจาน ๆ จาฤกพระไตรปิฎกบรรดามีในที่ใด ที่เป็นอักษรภาษาไทย ภาษามอญ ภาษาลาว ให้ชำระแปลออกเป็นอักษรขอม ขึ้นไว้ในตู้หีบหอพระมณเฑียรธรรม อันวิจิตรบรรจงงามพร้อมทุกสิ่งสรรพพระราชกุศล และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ ให้เล่าเรียนตามความปรารถนา…”
ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๑ ปราบดาภิเษกแล้ว ต่อมา พ.ศ. ๒๓๓๑ จมื่นไวยวรนารถ กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น ที่ทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นทุกวันนี้ มีบทพยัญชนะผิดเพี้ยนอยู่เป็นอันมาก จากนั้นจึงทรงพระราชปรารภที่จะสังคายนาพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ ๑๐๐ รูปมาฉัน ทรงตรัสถามเรื่องบทพยัญชนะที่ผิดเพี้ยนในพระไตรปิฎก สมเด็จพระสังฆราชจึงถวายพระพรแล้วตรัสเล่าเรื่องการสังคายนาทั้ง ๘ ครั้งที่ล่วงมาแล้ว (ตามคัมภีร์สังคียวงศ์) ให้ทรงสดับ เมื่อทรงสดับดังนี้แล้ว จึงทรงอาราธนาให้พระสงฆ์ทำการสังคายนา
ซึ่งครั้งนั้นได้คัดเลือกพระสงฆ์ ๒๑๙ รูป ราชบัณฑิตอุบาสก ๓๒ คน แบ่งงานออกเป็น ๔ กอง คือ
(๑) สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระ “พระสุตตันตปิฎก”
(๒) พระวันรัตเป็นแม่กองชำระ “พระวินัยปิฎก”
(๓) พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระ “พระอภิธรรมปิฎก”
(๔) พระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระ “พระสัททาวิเสส” (หลักภาษาบาลี)
กระทำที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาเสด็จไปพระอารามทุกๆ วันๆ ละ ๒ ครั้ง เวลาเช้าทรงถวายภัตตาหาร เวลาเย็นทรงถวายน้ำอัฐบาน (น้ำผลไม้คั้น) และเทียน อย่างนี้เป็นเวลา ๕ เดือน การสังคายนาจึงสำเร็จลงด้วยดี
จึงนับได้ว่าพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น ชุดนี้ เป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดในยุคแรกของการก่อร่างสร้างตัวของประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในรูปแบบหนังสือใบลาน ซึ่งนับว่าเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกในภูมิภาคแถบประเทศไทยในอดีตครั้งที่ ๒ ต่อจากครั้งที่ ๑ ที่นครเชียงใหม่ ประเทศล้านนา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐
(รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ในพระไตรปิฎกสำหรับประชาชน ภาค ๑ ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก)
พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าติโลกมหาราช
รัชกาลที่ ๙ แห่งพระราชวงศ์มังราย (พ.ศ. ๑๙๘๕ – พ.ศ. ๒๐๓๐)
วัดโพธรามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าติโลกราช
By ผู้ดูแลระบบ • Uncategorized •