ทุกข์และการกำหนดรู้ทุกข์ โดย อ.แนบ มหานีรานนท์

ทุกข์และการกำหนดรู้ทุกข์ 

โดย

อาจารย์แนบ  มหานีรานนท์

เมื่อ  พ. ศ.  ๒๕๐๖

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺดพุทฺธสฺสฯ

 

      ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพ และท่านผู้ฟังทั้งหลาย

เรื่องที่จะพูดกันในวันนี้ คือเรื่องทุกข์และการกำหนดรู้ทุกข์ ว่าจะกำหนดอย่างไร จึงจะเป็นการถูกต้อง เพราะว่าการเจริญวิปัสสนานั้น คือ ให้ดูทุกข์  แต่บางท่านที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องของวิปัสสนา ก็เข้าใจว่าการเจริญวิปัสสนาเพื่อจะให้ได้รับความสุข

เพราะฉะนั้น ตัวที่ว่าวิปัสสนา คือการดูทุกข์ หรือการกำหนดรู้ทุกข์ ก็อาจจะสงสัยว่า เรื่องอะไรจึงให้ดูทุกข์ ทุกข์มันดีอย่างไร และดูไปทำไม และการกำหนดทุกข์นั้น กำหนดอย่างไร? จึงเป็นการถูกต้องตามหลักฐานและเหตุผลแห่งคำสอนของพระพุทธองค์

ฉะนั้น ก่อนที่จะรู้ว่า ทุกข์ คืออะไร?  เราก็ควรจะทราบเสียก่อนว่า  ทุกข์นั้น มีกี่อย่าง?  อะไรบ้าง?  เพื่อจะได้ทราบว่าวิปัสสนานั้น ดูทุกข์อะไร ทุกข์นั้น พอสรุปได้ มี  ๔  หรือ ๕ ประการ  คือ  :-

.  ทุกข์เวทนา ทุกข์เวทนาเป็นทุกข์ขั้นต้น  ซึ่งหยาบหน่อย  ดูง่าย  เห็นง่าย และใครๆก็ได้ประสบมาแล้วทุกคน ทุกขเวทนา คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ทุกท่านคงทราบกันแล้ว และทุกคนก็คงรู้แล้วว่า ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจนั้นเป็นอย่างไร?

. สังขารทุกข์ คือทุกข์ เพราะการแก้ไข สังขารทุกข์ หรือทุกข์สภาวะนั้น จะนับว่าเป็นอย่างเดียวกัน  หรือจะแยกเป็นสังขารทุกข์และสภาวะทุกข์ก็ได้ ถ้าแยกเป็นสอง ก็แยกสภาวะทุกข์เป็นข้อ  ๓

๓. สภาวทุกข์ คือตัวขันธ์ ๕ ที่มีการเกิดดับ เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

 

       ๔.  ทุกขลักษณะ ทุกขลักษณะ คือทุกข์ในสามัญลักษณะ มีอนิจจัง  ทุกขัง อนัตตา ได้แก่ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สามัญลักษณะนี้ มีอยู่อย่างละ ๔ ขั้น คือ

อนิจจะ            อนิจจลักษณะ

อนิจจนุปัสสี     อนิจจวิหารี

และทุกข์ก็มีความหมาย ๔ ขั้น คือ

ทุกข์               ทุกขลักษณะ

ทุกขนุปัสสี       ทุกขวิหารี

ส่วนอนัตตาก็เช่นเดียวกัน  มีอยู่ ๔ ขั้น ได้แก่

อนัตตะ            อนัตตลักษณะ

อนัตตนุปัสสี     อนัตตวิหารี

. ทุกข์สัจจะ ทุกขสัจจะ คือทุกข์ทั้ง ๔ อย่างดังกล่าวแล้วทั้งหมด

ถ้าจะถามว่า ทุกข์ใน ๔ อย่างนี้ วิปัสสนาดูทุกข์อะไร?

ขอตอบว่า ดูทุกข์ทั้งหมด คือ ต้องรู้ทั้งหมด ถ้ารู้ทุกข์หมดทุกอย่าง ผู้นั้นก็จะได้เห็นอริยสัจจธรรม เพราะสัจจธรรมที่สุดสายปลายทางของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายอยู่ที่ทุกขสัจ คืออยู่ที่ตรง อริยสัจจธรรม ซึ่งทุกๆ ท่านย่อมทราบแล้วว่า อริยสัจจธรรม เป็นพุทธประสงค์ ที่ต้องการจะให้สัตว์ทั้งหลาย ได้รู้ได้เห็น

ฉะนั้น ถ้าเราเข้าถึงทุกข์สัจเมื่อใด  เราก็จะแจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ เมื่อนั้น  นี่คือการรู้ทุกขด้วยวิปัสสนาปัญญา

       ทุกข์สัจ กับทุกข์อื่นๆ ต่างกันอย่างไร?

ถ้าจะถามว่า ทุกข์สัจต่างจากทุกข์เวทนาอย่างไร? ต่างจากสังขารทุกข์ ต่างจากสภาวะทุกข์ และต่างจากทุกขลักษณะหรือไม่?

ขอตอบว่า  ไม่ใช่อย่างนั้น “ทุกข์ทั้งหมดก็รวมอยู่ในทุกขสัจ”  และเราจะต้องเข้าใจว่า ตามที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้ จะเป็นพระไตรปิฏกก็ดี หรืออีกมากมาย ใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็ดี ก็อยู่ในอริยสัจจธรรมทั้งหมด  จะต้องเนื่องอยู่ทั้งหมด ไม่มีอะไรที่นอกเหนือจากอริยสัจ

เพราะว่า คำสอนของพระองค์ มิได้มีจุดมุ่งหมายอย่างอื่นเลย มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้เรารู้อริยสัจเท่านั้นเอง

เพราะอริยสัจเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนาก็เพื่อต้องการให้สัตว์ทั้งหลายได้บรรลุ  หรือได้แจ้งอริยสัจธรรมเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ทุกข์ทั้งหมดที่อธิบายมาแล้วก็รวมอยูในทุกขสัจ

จุดประสงค์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น  เพื่ออะไร?

เมื่อเราพูดกันในเรื่องปฏิบัติ เราก็ต้องรู้ถึงจุดหมายปลายทางของการปฏิบัตินั้นว่า  เพื่ออะไร?

ก็เพื่อการบรรลุอริยสัจธรรม อันเป็นผลให้ผู้ปฏิบัติถึงความพ้นทุกข์ทั้งปวง เราต้องทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องเสียก่อน หรือการเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อการบรรลุอริยสัจธรรมเช่นเดียวกัน ข้อปฏิบัติทั้งหมดตามนัยนี้  เพื่อบรรลุอริยสัจธรรมทั้งนั้น

กิจของอริยสัจ มีอย่างไร? ในอริยสัจนี้ พระพุทธองค์ท่านวางกิจไว้อย่างไร? คือการปฏิบัติในอริยสัจธรรมนี้ เราจะทำอย่างไร? อริยสัจนั้น มีทุกข์  สมุทัย  นิโรธ มรรค  และท่านวางกิจในอริยสัจไว้ ดังนี้

๑. ทุกข์   เป็นกิจที่ต้องกำหนดรู้ (ปริญฺเยฺยกิจ)

๒. สมุทัย เป็นกิจที่ต้องละให้หมดไป (ปหานกิจ)

. นิโรธ เป็นกิจที่ต้องทำให้แจ้ง (สจฺฉิกิริยากิจ)

. มรรค เป็นกิจที่ต้องเจริญให้เกิดขึ้น (ภาวนากิจ)

เราจะต้องเข้าใจในกิจ หน้าที่อย่างนี้เสียก่อน เมื่อเราเข้าใจในกิจหน้าที่ของอริยสัจดีแล้ว เวลาปฏิบัติก็ให้เป็นไปตามกิจ หรือหน้าที่นั้น

ถ้าจะถามว่า :- ปฏิบัติอย่างไร? ก็ปฏิบัติกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำนิโรธให้แจ้ง ทำมรรคให้เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอริยสัจ จะต้องทำไปตามกิจของอริยสัจ และการปฏิบัติจะต้องทำจำเพาะเจาะจงลงไปในกิจของอริยสัจนี้ จึงจะเป็นทางที่ถูก

ฉะนั้น จึงขอให้ท่านผู้ฟังได้โปรดทำความเข้าใจตามเหตุผลนี้เสียก่อน

       ทุกข์ที่ต้องกำหนดรู้นั้น  ควรกำหนดรู้ทุกข์อะไรก่อน

ตามที่อธิบายมาแล้วว่า  ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้นั้น  คือทุกข์อะร? ในบรรดาทุกข์ ๕ อย่างนั้น ขั้นแรกก็ต้องรู้ทุกขเวทนาก่อน เพราะเมื่อกี้นี้ก็ได้เรียนให้ท่านผู้ฟังทราบแล้วว่า ทุกข์ทั้งหมดอยู่ที่ทุกขอริยสัจ และที่บอกว่ารู้ทุกข์เวทนาก่อน เพราะอะไร?  เพราะว่า  ทุกข์ทั้งหมดนั้น ทุกข์เวทนาเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่แก่เราเสมอ  แทบจะทุกเมื่อ  และทุกอิริยาบถ ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมา เราก็แก้ทุกขเวทนาเรื่อยไปจนกระทั่งหลับ  แต่ว่าการหลับนั้น  ก็เป็นการแก้ทุกข์อยู่ในตัวแล้วเหมือนกัน  ดังนั้น  เราจึงต้องกำหนดทุกขเวทนาก่อน

ทุกขเวทนากำหนดอย่างไร?

ท่านทราบด้วยเหตุผลแล้วว่า   การกำหนดทุกข์นั้น  ต้องมีทุกข์ให้กำหนด จึงจะกำหนดทุกข์ได้  ถ้าไม่มีทุกข์แล้ว  เราก็กำหนดไม่ได้

ที่ท่านให้กำหนดทุกข์ คือให้กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ใช่ให้กำหนดรู้ความสุข ทุกข์เป็นตัวอริยสัจ เป็นของจริง ความสุขไม่ใช่ของจริง

การที่จะกำหนดทุกข์ที่ง่ายที่สุด ก็ต้องกำหนดรู้ทุกขเวทนาก่อน  เพราะทุกขเวทนานั้น  วันหนึ่งๆ  เกิดแก่เรามากมายจนนับไม่ถ้วน ไม่รู้ว่าแก้ทุกข์กันกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

ในการปฏิบัติเราก็ตามกำหนดรู้ ก็จะรู้ว่าเราถูกทุกขเวทนาบีบคั้นเบียดเบียนมากมายแค่ไหน?

สังขารทุกข์กำหนดอย่างไร?

สังขารทุกข์นี้ไม่ได้หมายถึงทุกขเวทนา  หมายถึงต้องการแก้ไขเมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้วต้องแก้ไข  การแก้ไขนี้แหละ เป็นทุกข์อันหนึ่งเหมือนกัน คือเราต้องแก้ไขมันอยู่เสมอ

ถ้าอุปมาก็เหมือนกับทุกขเวทนานั้น ได้แก่คนไข้ สังขารทุกข์ก็เหมือนกับคนพยาบาล  เมื่อเราเจ็บอยู่เสมอ  ตั้งแต่ตื่นนอนก็เจ็บเรื่อยมา เราต้องแก้ทุกข์เรื่อยมา  ที่เห็นง่ายๆ ก็คือ ต้องกิน ต้องอาบน้ำ  ต้องถ่ายอุจจาระ  ต้องถ่ายปัสสวะ   ต้องนั่ง นอน ยืน เดิน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เรื่อยเหล่านี้ ต้องทำเพื่อแก้ทุกข์ทั้งนั้น  ถ้าเราไม่แก้ไข เช่นไม่กิน  ไม่นอน  ไม่ถ่ายอุจจาระ  ไม่ถ่ายปัสสวะ  ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ก็ต้องเป็นทุกข์อย่างใหญ่หลวงทีเดียว อาจต้องถึงตาย แต่เราไม่รู้กันเอง และทั้งที่เราก็ไม่ได้กำหนดรู้ด้วยว่า เราจะต้องแก้ไขทุกข์ กันอยู่เป็นนิตย์

การยืน  เดิน  นั่ง นอน ก็คือเราต้องเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เรื่อย การเปลี่ยนอิริยาบถนี้แหละ เป็นการแก้ทุกข์อยู่เหมือนกัน ซึ่งเราต้องแก้ไขอยู่ทุกอิริยาบถ แต่เราไม่ทราบกันเองเท่านั้นเอง ที่ไม่ทราบก็เพราะไม่ได้พิจารณา นี่คือสังขารทุกข์ เหมือนกับคนพยาบาลที่ต้องพยาบาลคนเจ็บ  ให้นั่ง ให้นอน ให้ยืน ให้เดิน ต้องให้คนเจ็บทำอย่างนี้ เพราะอะไร? ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นทุกข์ เพราะว่าคนเจ็บจะนั่งอย่างเดียว นอนอย่างเดียว เดินอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลย จะเป็นอย่างไร? ก็ต้องเป็นทุกข์อย่างมากมาย และที่เราเปลี่ยนไปก็เพื่อจะแก้ทุกข์นั่นเอง เราจึงเปลี่ยนไป ก็เหมือนกับเราพยาบาลตัวเราเอง แต่เราก็ไม่เห็นสภาวะที่เป็นอยู่อย่างนี้

เราไม่เคยเห็นทุกข์อย่างนี้เลย เพราะอะไร?

ก็เพราะขาดการพิจารณาในสิ่งที่เป็นกฎธรรมดา อันเป็นของจริง ซึ่งเป็นไปตามธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย เพราะเราเข้าใจว่าเป็นการดีที่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงอิริยาบถนี้

การเจริญวิปัสสนา ถ้าผู้ที่ไม่เข้าใจ ก็จะมุ่งไปหาทางพิเศษอื่นๆ ส่วนกฎธรรมดาไม่ดูกันเลย อาจจะเห็นอะไรต่อมิอะไรที่เป็นพิเศษขึ้นมา ก็เลยไม่รู้ในสิ่งที่เป็นกฎธรรมดา แต่ความจริงแล้ว วิปัสสนานั้น  จะต้องเห็นกฎอันเป็นไปตามธรรมดานั่นเอง เพราะของจริงต้องเป็นไปตามกฎธรรมดา และจะต้องรู้กฎธรรมดา แต่ที่เราไม่รู้กฎธรรมดานี่เอง เรียกว่า”อวิชชา ไม่รู้ทุกข์ก็เรียกว่า อวิชชา

เพราะอวิชชา คือความไม่รู้นั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า คือความไม่รู้อริยสัจ ๔ การที่เราไม่รู้ทุกข์ โดยทุกข์นั้นเป็นตัวอริยสัจ  การไม่รู้ทุกข์จึงเป็น อวิชชา นี่เราไม่ได้พิจารณากันเลย เราพยาบาลตัวเราเองอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งถึงบัดนี้ สภาพที่จะต้องพยาบาลอยู่อย่างนี้นั้น  ควรหรือที่จะเห็นว่า เป็นความสุข

สภาวะของทุกข์ที่เรียกว่า สังขารทุกข์นี้  ต้องเป็นอยู่อย่างนี้เสมอ คือต้องแก้ไข ต้องเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เรื่อยไม่หยุดหย่อน นี่เป็นสังขารทุกข์ แต่ว่าเราไม่เห็น เพราะอะไร?  เพราะเราไม่ได้พิจารณา เห็นเหตุผล และก็ไม่ได้ดูด้วย

สภาวะทุกข์ ตัวขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เป็นตัวสภาวธรรมทั้งหมด สภาวะอันนี้ มีความฉิบหายเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ธรรมชาติของเขาไม่ยั่งยืน ท่านถือว่า เป็นสภาวะทุกข์  เช่นที่ท่านตรัสว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา คือตัวขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ทั้งหมด ต้องพิจารณาตัวสภาวะ ถ้าสภาวะนั้นไม่มีแล้ว ทุกข์ทั้งหลายก็จะไม่มีเลย

เพราะฉะนั้น  ทุกข์ก็ได้แก่ตัว ขันธ์  ๕  นี้เอง

ทุกข์ลักษณะ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่เที่ยงของเบญจขันธ์  คืออนิจจังนั้น มีความหมาย ๔ ขั้น คือ

อนิจจะ อนิจจลักษณะ อนิจจนุปัสสี, อนิจจวิหารี ผู้เจริญวิปัสสนาที่จะเข้าไปเห็นไตรลักษณ์นั้น ต้องได้ถึงลักษณะ ๔ อย่าง

อนิจจะ ได้แก่ เบญจขันธ์เป็นตัว อนิจจะ

อนิจจลักษณะ ได้แก่ ความไม่เที่ยงต่างๆ ของเบญจขันธ์

และผู้ที่เข้าไปเห็นเบญจขันธ์ว่า เป็นธรรมที่ไม่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงไป มีเกิดขึ้น มีการดับไป เป็นต้น ของเบญจขันธ์นั้น ผู้เจริญวิปัสสนาเข้าไปเห็นอย่างนี้ เรียกว่าอนิจจนุปัสสี

ส่วนอนิจจวิหารีนั้น เมื่อเข้าไปเห็นอยู่อย่างนี้แล้ว จิตใจก็ต้องเข้าไปอยู่ในอารมณ์อันนั้น  คือไตรลักษณ์ โดยจะเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  หรืออนัตตา อันใดอันหนึ่ง คือเห็นไตรลักษณ์ ก็ชื่อว่า เห็นทั้ง ๓ เหมือนกัน  จิตใจของผู้ปฏิบัติเข้าไปอยู่ในอารมณ์อันนั้น มีการไม่เที่ยง เป็นต้น ไม่ไปอยู่ที่อื่นเลย

เมื่อพิจารณาเนืองๆ  จิตใจก็เข้าไปอยู่ในอารมณ์นั้น  จิตใจที่อยู่ในอารมณ์นั้น  เรียกว่าอนิจจวิหารี    คือเข้าไปอยู่ในความรู้สึกแห่งอารมณ์ที่เห็นว่าไม่เที่ยงนั้น

ถ้าผู้ที่เข้าไปอยู่อย่างนี้จริงๆ จิตใจประกอบอยู่ในอารมณ์ไม่เที่ยงแล้ว กิเลสก็จับไม่ได้ เพราะเห็นความไม่เที่ยง ความไม่เป็นสาระแก่นสาร เป็นอารมณ์อยู่อย่างนี้  กิเลสความยินดีในอารมณ์ก็เกิดไม่ได้ ทุกข์ก็เหมือน หรือจะเป็นอนัตตาอันใดอันหนึ่งในสามัญลักษณะนั้น เมื่อเห็นลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ก็สามารถชำระกิเลสบรรลุถึงนิพพานได้

ในทุกข์ ๔ อย่างดังกล่าวมานี้  อนิจจังก็มี  ๔  ในทุกข์ก็มี  ๔  อนัตตาก็มี ๔ เหมือนกัน ใน ๓ ลักษณะนั้น  มีอย่างละ ๔ ผู้เจริญวิปัสสนาจะต้องเข้าถึงลักษณะ ๔ อย่างนี้ แล้ววิปัสสนาจึงจะดำเนินไป เพื่อบรรลุอริยสัจ หรือแจ้งนิพพานได้ เช่น

ท่านผู้ฟังที่ฟังอยู่ในขณะนี้ ท่านก็ทราบกันมาแล้วว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง  ไม่เที่ยง อย่างไร? อนิจจลักษณะ คือลักษณะไม่เที่ยงนั้น ท่านวางไว้  ๑๐  อย่าง มีความไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มีแก่นสาร เคลื่อนไหวไป แตกดับ เป็นต้น จะเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่างนี้ ก็ชื่อว่า ผู้นั้นเห็นความไม่เที่ยง  คือเห็นอนิจจัง  โดยใครจะเห็นอันใดอันหนึ่งก็ได้

อนิจจัง  คือความไม่เที่ยงของขันธ์  ๕  นั้น ท่านผู้ฟังที่อยู่ในที่นี้ ก็ศึกษามาแล้วว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง อนิจจลักษณะ คือความไม่เที่ยงของขันธ์ ๕ แต่ละขันธ์นั้น รูปไม่เที่ยงอย่างไร? เวทนาไม่เที่ยงอย่างไร?  สัญญา  สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยงอย่างไร? เราทราบกันแล้วหรือยัง เรารู้แต่ว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เพราะได้ศึกษามาแล้ว

รูปขันธ์ที่เห็นว่าไม่เที่ยงนั้น  พอจะรู้ได้  เพราะอะไร  เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มีแก่ มีเจ็บ มีตาย อย่างนี้เป็นต้น มีการเปลี่ยนแปลงไป จะเป็นผมหงอก หรือตามืดตามัว อะไรๆ ก็แล้วแต่ สำหรับรูปขันธ์นี้ เราพอจะเห็นได้ แต่การเห็นอย่างนี้ เป็นจินตามยปัญญา ไม่ใช่วิปัสสนาปัญญา คือว่าอาศัยพิจารณาลูบไล้ประกอบ เอาอดีตกาลเข้ามาและก็จำได้ว่า ในอดีตเป็นอย่างนี้ และก็อาศัยสัญญากับมนสิการเชื่อว่าไม่เที่ยง

แต่เรื่องเวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยงนั้น ไม่เที่ยงอย่างไร? อนิจจลัษณะอันนี้ เราเห็นไหม? เราก็ไม่เห็นนั้นที่ว่า  อนิจจังไม่เที่ยงนั้น เรารู้ เรารู้แล้วโดยการศึกษามาแล้ว เข้าใจแล้ว ก็นำมาคิดนึกเอา

          

อนิจจลักษณะ คือ ลักษณะ ความไม่เที่ยงนั้น เป็นอย่างไร?

อนิจจลักษณะ  ความไม่เที่ยงของเบญจขันธ์เป็นอย่างไร? อันนี้เราต้องเข้าไปเห็น  เห็นตอนกำลังที่ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยงจริงๆ ในขณะนั้น ไม่ใช่เห็นด้วยอดีต  อนาคต เพราะขันธ์ ๕ นี้เขาแสดงความไม่เที่ยงอยู่เรื่อย ตั้งแต่เกิดมา มีความเกิดมาฉิบหายไป เกิดไป ดับไปอยู่เรื่อย ไม่มีหยุดเลย แต่ว่าเรามองไม่เห็น

เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเข้าไปเห็นอันนี้ เรียกว่าปัญญาของเราเข้าถึง อนิจจลักษณะ ว่าอนิจจลักษณะ ไม่เที่ยงนี้เป็นอย่างไร?

อนิจจนุปัสสี คือ เห็นความไม่เที่ยงนี้เป็นอย่างไร?

บางที่เรากำหนดอยู่ แต่ว่ายังไม่เห็นความไม่เที่ยงของขันธ์ ๕ ก็ได้ หรือว่าเจริญวิปัสสนาอยู่ แต่ยังไม่เห็น

อนิจจานุปัสสนานี้ คือ วิปัสสนาเกิดขึ้นแล้ว และการเห็นอนิจจังนี้  ต้องเห็นด้วยวิปัสสนาปัญญา ไม่ใช่เห็นด้วยสัญญา  ไม่ใช่รู้ด้วยสัญญา ต้องรู้ด้วยภาวนาปัญญา ไม่ใช่รู้ด้วยจินตามยญาณ หรือสุตมยญาณ ฟังแล้วไม่ใช่ว่าจะรู้ จะเห็นขึ้นมา ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเห็นด้วยวิปัสสนาปัญญา  ตัวนุปัสสีนี้  คือตัวเห็น 

อนิจจวิหารี คือ เห็นความไม่เที่ยงเป็นอารมณ์อยู่ในความรู้สึกนั้น  ได้แก่ เห็นความไม่เที่ยงเข้าไปตั้งอยู่ในจิตใจ รู้สึกอยู่ตลอดเวลา และที่จะเข้ามาตรฐาน หรือชำระกิเลสนั้น ก็แล้วแต่วาสนาบารมีของใครจะเห็นความไม่เที่ยงนานกี่มากน้อย  อาจจะเห็นเมื่อเทศนาจบ หรือว่าจะต้องดูไปถึง ๗ เดือน ๗ ปี อย่างนี้ ก็แล้วแต่บารมีของผู้นั้น เมื่อจิตเข้าไปตั้งอยู่ในอารมณ์ไม่เที่ยงนั้นแล้ว  ก็ชำระกิเลสจนกว่าจะถึงที่สุด หมดจดด้วยความบริสุทธิ์เมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็บรรลุอริยสัจจธรรม  อันเป็นที่สุดของวิปัสสนา

นี่พูดถึงอนิจจัง ส่วนทุกขัง อนัตตา ก็เป็นไปทำนองเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วในเรื่องของอนิจจัง

ทุกข์ทั้งหมดที่อธิบายมาแล้ว จะเป็นทุกขเวทนา  หรือสังขารทุกข์  หรือสภาวะทุกข์ หรืทุกขลักษณะก็ตาม ก็จะต้องไปรวมลงอยู่ที่ทุกขสัจ  เพราะอะไร? เพราะทุกขสัจนี้ เห็นด้วยปัญญา โดยเห็นว่าทุกข์นี้เป็นสัจจะหมดทุกอัน

เท่าที่อธิบายมานี้ เป็นเรื่องสัจธรรมทั้งหมด แต่ว่าการที่จะเข้าถึงธรรมที่เห็นทุกข์เป็นตัวสัจจธรรม เป็นของจริง แก้ไขไม่ได้ เบญจขันธ์เป็นทุกข์จริงอย่างนี้ ต้องเห็นด้วยปัญญา แล้วแต่ปัญญาของใคร  เมื่อพิจารณาในทุกข์ตามที่ได้อธิบายมาแล้ว ซึ่งมีทุกขเวทนาเป็นต้น และการที่จะเข้าถึงปัญญาได้นั้น เป็นความสำคัญมาก

ถ้าเราเห็นทุกข์ทั้งหมดที่ได้เห็นมาแล้ว หรือเห็นความไม่เที่ยงก็ตาม ความไม่เที่ยงนี้ในที่สุดก็ต้องเห็นทุกข์เหมือนกัน หรือว่าเห็นทุกข์ลักษณะก็ต้องเห็นความไม่เที่ยงเหมือนกัน หรือเห็นอนัตตลักษณะก็ต้องเห็นทุกข์เหมือนกัน คือเห็นว่าเบญจขันธ์ไม่ใช่ของดี ไม่ใช่ของมีสาระแก่นสารอะไรอย่างนี้ ต้องอยู่ในทุกขสัจทั้งหมด นี่ปัญญาเราเข้าถึงทุกขสัจได้ไหม ได้เหมือนกัน

ถ้าผู้มีปัญญาแล้ว พิจารณาเฉพาะทุกขเวทนาอย่างเดียว ก็สามาจะเข้าถึงทุกขสัจได้ เข้าถึงได้อย่างไร? คือว่าเมื่อเข้าไปแลเห็นแล้วว่า ทุกขเวทนาเกิดจากอะไร? ทุกขเวทนามาจากไหน? ก็มาจากนามรูป มาจากขันธ์ ๕ เพราะมีนามรูป  มีขันธ์ ๕ จึงมีทุกขเวทนา ถ้าไม่มีนามรูป ไม่มีขันธ์ ๕ ไม่มีสภาวะทุกข์แล้ว  ทุกขเวทนาจะมีมาจากไหน? นี่อย่างนี้  เมื่อเห็นแล้ว ทีนี้เราจะแก้ไขได้ไหม  ในเมื่อมีนามรูปแล้ว แก้ไขไม่ได้ สัตว์ทั้งหลายใครจะแก้ไม่ให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น แก้ไม่ได้ เพราะเป็นของจริง เรื่องนี้ปัญญาที่เข้าถึงของจริงแล้ว ก็รู้ทีเดียวว่า เรื่องนี้แก้ไม่ได้ ถ้าจะแก้ไม่ให้มีทุกข์เลยจะทำอย่างไร ก็ต้องไม่ให้มีขันธ์ ๕ ต้องไม่ให้มีรูปนาม จึงจะไม่มีทุกข์ได้ นี่ปัญญาก็หยั่งลงไปทีเดียว  เมื่อแลเห็นแล้ว ก็รู้ว่า ทุกข์มาจากไหน? มาจากเบญจขันธ์

เมื่อเห็นแล้วก็รู้สึกว่า ทุกข์ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพราะมีเบญจขันธ์ มาจากเบญจขันธ์ทั้งนั้น ถ้าจะแก้ไม่ให้มีทุกข์เลย ก็ต้องไม่ให้มีเบญจขันธ์ นี่ตามหลักฐานที่พิจารณาอย่างมีเหตุผลจริงๆ

เมื่อจะไม่ให้มีเบญจขันธ์ จะทำอย่างไร? การมีเบญจขันธ์ เกิดจากอะไรเป็นเหตุ เมื่อสาวไปแล้วก็รู้ว่า เกิดจากกิเลสเป็นเหตุ  และก็เป็นปัจจัยให้มีการเกิดทับถมขึ้น เมื่อกิเลสมี ขันธ์ ๕ ก็ต้องเกิดขึ้น  นี่วัฏฏะวนเวียนกันอย่างนี้ กิเลสมีอวิชชา ซึ่งเป็นที่มาของกิเลสทั้งหมด อวิชชากับตัณหา ๒ อย่างนี้ เกิดจากกิเลสอะไร? อวิชชาเกิดอย่างไร? เกิดเพราะไม่รู้ว่าเบญจขันธ์นี้เป็นทุกข์  เข้าใจว่าเบญจขันธ์นี้เป็นสุข  ทำให้วิปลาสเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น  บุคคลทั้งหลายที่ยังไม่เข้าถึงความจริง  หรือยังไม่บรรลุอริยสัจ  ก็จะไม่รู้สึกเลยว่า เบญจขันธ์นี้เป็นทุกข์ แล้วก็จะมีความยินดีพอใจกันอยู่ทุกวันนี้ เราพอใจในเบญจขันธ์ใช่ไหม ทุกท่านพอใจในเบญจขันธ์ของตัวเองบ้าง เบญจขันธ์ของคนอื่นบ้าง หรือในวัฎฎะ คือความวนเวียนอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ของเบญจขันธ์  เพราะในโลกนี้มีแต่ขันธ์  ๕  เท่านั้น  ไม่มีอะไรเลยที่นอกไปจากขันธ์ ๕ ที่เรายินดีพอใจกันทุกวันนี้ ก็คือยินดีพอใจเบญจขันธ์ นั่นเอง

ทำไมจึงพอใจ? ก็เพราะความไม่รู้ว่าเบญจขันธ์นี้ เป็นของไม่เที่ยง ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร เป็นไปเพื่อทุกข์ เราไม่เคยรู้อย่างนี้เลย นี่เป็นตัวอวิชชา จึงทำให้เกิดตัณหา มีความปรารถนายินดี อยากได้ขันธ์ ๕ ต้องการขันธ์ ๕ มีความเสียดาย  มีความอาลัย  ไม่ยากปราศจากขันธ์ ๕ เลย นี่เป็นไปกันอย่างนี้  คนอื่นหรือญาติพี่น้องของเรา ก็ไม่ยากให้เราตาย เราเองก็ไม่อยากตาย และไม่ยากให้คนอื่นที่เรารักเราชอบตาย จะทุกข์ทรมานสักเท่าใด ก็ยังยินดีพอใจในขันธ์ ๕ อยู่นั่นเอง ยังอยากให้ทุกข์นั้นยังอยู่นั่นแหละ แม้จะตาบอด หรือจะได้รับความทุกข์ทรมานอย่างไร ก็ยังไม่อยากตาย ตัวเองก็เป็นทุกข์ แต่ก็ยังไม่เห็น  ก็ยังอยากอยู่กับทุกข์ ยังเห็นว่าเบญจขันธ์ดีอยู่นั่นเอง

เราเคยเห็นคนเจ็บป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ต้องถูกผ่าตัด  ตัดแขน  ตัดขาต่างๆ  เหล่านี้ อยู่ในสภาพที่ต้องลำบาก เจ็บปวด เห็นแล้วเป็นภาพที่น่ากลัว  น่าหวาดเสียว  เพราะอะไร  จึงต้องเป็นไปเช่นนั้น? ก็เพราะมีเบญจขันธ์ แล้วทำไมเราจึงยอมทนทุกข์ทรมานอยู่ได้ สบายหรืออย่างนั้น ก็ต้องไม่สบาย แต่ก็อยากจะอยู่ ไม่อยากตาย เพราะยังเห็นว่าขันธ์ ๕ นั้นดี  ทั้งๆ ที่ขันธ์ ๕ นั้นลำบาก  เป็นทุกข์ ที่เราต้องลำบาก ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย อะไรๆ  ต่างๆ  เหล่านี้  ก็ยังไม่เห็นว่าเบญจขันธ์ มันมีโทษมากมายเพียงใด

ที่เรายังไม่เห็น เพราะอะไร  เพราะอำนาจของอวิชชาและตัณหา ก็เลยยินดีแม้แต่เขาเอาไปขังคุกไว้ จะต้องถูกประหาร  ถูกทรมานอยู่ในห้องมืดเหล่านี้ เวลาเขาจะเอาไปประหารชีวิต  ก็ยังเสียดายถึงกับเป็นลม ทั้งๆ ที่ทรมานอยู่ในนั้น ก็ยังไม่อยากจะพ้นจากเบญจขันธ์  อยากเป็นอยู่อย่างนั้น  ยังเสียดายเบญจขันธ์อยู่  อันนี้เป็นตัวตัณหา  เพราะความไม่รู้  ซึ่งเป็นตัวอวิชชา  ตัณหาจึงได้เกิดความยินดี  มีความใคร่กำหนัดอยู่ในเบญจขันธ์

 

ท่านอุปมา รูปขันธ์เหมือนกับโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลเป็นที่รับคนเจ็บป่วย ร้อยอย่างพันอย่าง โรคต่างๆ ที่เกิดในร่างกายของเราทั้งนั้น  ร่างกายของเราเป็นที่เกิดของโรค  รับโรคต่างๆ ได้ และเราก็พยายามรักษาไปท่านจึงอุปมารูปขันธ์เหมือนกับโรงพยาบาล

เพราะฉะนั้น ท่านที่เกิดปัญญาแล้ว  ท่านจึงเห็นอย่างนี้  เมื่อเราพิจารณาเป็นอย่างนี้แล้ว  ก็จะเห็นโทษของเบญจขันธ์ แต่ที่ยังมองไม่เห็นก็ด้วยอำนาจของอวิชชาและตัณหาก็ยังยินดีอยู่เช่นนี้ เราจะทำอย่างไร?

ผู้ที่เกิดวิปัสสนาปัญญา เห็นโทษของเบญจขันธ์แล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์ ก็คือ เบื่อหน่ายในเบญจขันธ์นั่นเอง ไม่อยาก ไม่ยินดีในเบญจขันธ์เลย เมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษอย่างนั้น ก็รู้สึกขึ้นมาว่า  เพราะมีเบญจขันธ์นี่เอง ทุกข์โทษต่างๆจึงมี และจะต้องได้รับความบีบคั้นคุกคามจากทุกข์ตราบเท่าที่ยังมีเบญจขันธ์อยู่ และท่านอุปมาเบญจขันธ์  เหมือนกับเพชฌฆาตผู้ฆ่าที่กำลังเงื้อดาบจะฟันคอ เพียงแต่ว่าลงดาบเมื่อไร่  เมื่อนั้นแหละ เราก็จะตาย

      

ผู้ที่เจริญวิปัสสนา เห็นทุกข์โทษของเบญจขันธ์ว่า ร้ายกาจเช่นนี้  ก็คลายความกำหนัดยินดีในเบญจขันธ์ และจะมีความรู้สึกเกิดขึ้นตามลำดับของวิปัสสนาญาณ โดยเห็นเบญจขันธ์เป็นภัย เป็นโทษและเกิดความเบื่อหน่ายเอง เห็นว่าเบญจขันธ์นี้เป็นทุกข์ เป็นโทษมากมายเหลือเกิน ก็เบื่อหน่ายคลายกำหนัดยินดีในเบญจขันธ์

ใจของผู้เจริญวิปัสสนาในเวลานั้น ต้องการแต่จะพ้นเท่านั้น  รู้สึกทีเดียวว่า ถ้าหากเรายังมีเบญจขันธ์อยู่ หรือความเกิดของนามรูปยังมีอยู่  แม้จะไปเกิดในสวรรค์  ในรูปพรหม อรูปพรหมก็ตาม  ทุกข์ก็ต้องตามติดอยู่เรื่อยไป ไม่เชื่อว่าจะพ้นทุกข์ได้เลย ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ภพไหนภูมิไหนก็ตาม

      

เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา ท่านก็เห็นแล้วว่าเบญจขันธ์เป็นทุกข์ทั้งนั้น  ก็เกิดความเบื่อหน่าย  ไม่มีความยินดี  นิพพิทาญาณเกิดความเบื่อหน่ายในเบญจขันธ์ คือทุกข์โทษของเบญจขันธ์ที่แลเห็นแล้วนั้น ท่านก็นึกทีเดียวว่า ถ้าเราไม่มีเบญจขันธ์เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละ ก็จะพ้นทุกข์

แต่จะทำอย่างไร จึงจะพ้นเบญจขันธ์เสียได้ความรู้สึกอันนี้ ที่ท่านอยากจะพ้นจากเบญจขันธ์นั้น ตามนัยท่านอรรถกถาจารย์ ท่านบอกว่าความรู้สึกของท่านผู้นั้นได้หยั่งลงแล้วในพระนิพพาน คือ มุ่งไปแล้ว บ่ายหน้าไปแล้วยังพระนิพพาน

เพราะอะไร? เพราะเห็นโทษโดยประจักษ์ชัดแล้วว่า  ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นโทษ  ไม่อยากจะมีขันธ์ ๕ เห็นการเกิด เห็นการปฏิสนธิเป็นภัย  ท่านอุปมาไว้มากมายในความรู้สึกของท่าน

โดยเหตุนี้เอง  กิเลสคือความยินดี ความกำหนัดในเบญจขันธ์จึงละได้ กิเลสเข้าไม่ได้  ทำลายความยินดีออกไป ยิ่งเห็นโทษมาก ก็ยิ่งคลายกำหนัดยินดีออกไปทุกทีๆ  ท่านบอกว่าจิตนี้ได้บ่ายหน้าเข้าหาพระนิพพานแล้ว

ผู้ที่เห็นว่าไม่มีเบญจขันธ์นี้แหละ  จะพ้นทุกข์ เพราะว่าใน ๓๑ ภูมิ ที่ไม่มีขันธ์นั้นไม่มีเลย มีแห่งเดียวเท่านั้น ที่ไม่มีขันธ์เลย  คือพระนิพพาน

ดังนั้น ถึงแม้จะไม่รู้ ยังทำนิพพานให้แจ้งไม่ได้  แม้ทางพระนิพพานเป็นทางที่พ้นทุกข์ จะมีจริงหรือไม่ก็ตาม จิตนั้นก็บ่ายไปในที่ตรงนั้นแล้ว คือคลายความยินดีแล้วในขันธ์ ๕ ทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นอะไร ไม่มีความยินดีเลย และจิตก็บ่ายหน้าไปหาความไม่มีเบญจขันธ์  นี่ชื่อว่า  บ่ายหน้าเข้าหาพระนิพพาน

เมื่อเห็นทุกข์โทษว่า  มาจากเบญจขันธ์เพิ่มมากขึ้นเท่าไร  ความอยากพ้นจากเบญจขันธ์ ก็มากขึ้นเท่านั้น จิตก็เขยิบใกล้พระนิพพานเข้าไปทุกขณะ  เพราะอะไร? เพราะกิเลสก็น้อยลงไป และตัณหาก็น้อยลงไปทุกที จิตก็ยิ่งเพ่งแน่นเข้าทุกขณะ เมื่อตัณหาหมดถึงที่สุดลงเมื่อไร เมื่อนั้นก็สิ้นตัณหา ถึงพระนิพพาน  นี่เหตุผลต้องเป็นอย่างนี้

แต่เท่าที่เคยได้ยินได้ฟังท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนา คือแทนที่ท่านจะเห็นทุกข์ในเวลาเจริญวิปัสสนา ท่านกลับไปเห็นความสุข ความสงบ ปีติ เยือกเย็น แล้วก็เกิดความพอใจ พอใจอะไร ก็พอใจเบญจขันธ์นั่นเอง ตัวสงบ  ตัวปีติ เยือกเย็นเหล่านี้ ก็คือเบญจขันธ์ทั้งนั้น ไม่ใช่อะไรอื่นเลย  เบญจขันธ์ที่เกิดกับสุขเวทนาก็มี เกิดกับทุกเวทนาก็มี เกิดกับอุเบกขาเวทนาก็มี  หากแต่ว่าผู้ปฏิบัตินั้นรู้จักแต่ชื่อ

พอเห็นเบญจขันธ์ในขณะที่ได้รับความสุข  ก็เลยสำคัญว่าความสุขเป็นเบญจขันธ์  แล้วก็เลยไม่อยากจะพ้นจากเบญจขันธ์  กลับเพลิดเพลินยินดีพอใจอยู่ในเบญจขันธ์ แล้วก็ทึกทักเอาความสุขเช่นนี้ เป็นความสุขในนิพพาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่าย  ไม่เป็นเหตุที่อยากพ้นจากเบญจขันธ์ และไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ตัณหาคลายออก  เพราะตัณหาความยินดีในที่นั้นจะก่อตัวขึ้น

โดยเหตุนี้  ผู้ที่ทำสมาธิมากยิ่ง  หรือเจริญทางสมาธิจนได้ฌาน  เมื่อตายแล้วในความยินดีของสมาธินั้น  ท่านก็ไปเกิดในอารมณ์นั้น  มีรูปพรหม  หรืออรูปพรหม  เป็นต้น คือท่านพอใจในเบญจขันธ์ลักษณะอย่างไร  ท่านก็ไปเกิดในที่จะให้ได้เบญจขันธ์อย่างนั้น เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอีก  วนเวียนกลับไปกลับมา นี่ทุกข์สังสารวัฏฏ์

แต่ท่านผู้ที่เจริญวิปัสสนา  ท่านเห็นโทษภัยอย่างนี้ ท่านจึงเบื่อหน่ายทั้งหมดใน ๓๑ ภูมิ ท่านเห็นว่าจิตจะไปปฏิสนธิในที่ใดก็ตาม การปฏิสนธินั้นเหมือนกับหยั่งลงในหลุมถ่านเพลิง เมื่อความรู้สึกอันนี้เกิดขึ้นแล้ว  กิเลสความยินดีพอใจในอะไร ๆ จะเข้าจับท่านไม่ได้เลย

เมื่อปัญญาเห็นความจริงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็เป็นปัญญาที่เข้าถึงทุกขสัจ  จะมองไม่เห็นเลยว่าในโลกนี้มีความสุข จะเห็นว่าในโลกนี้มีแต่ความทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  และดับไป นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเลย ที่เกิดขึ้นเลย  ไม่มีอะไรเลย ที่ดับไป

แต่ของเรายังเข้าไม่ถึงความจริงเช่นนี้ เพราะอะไร? เพราะเรายังมีอวิชชาปกคลุมให้เราติดอยู่ เพราะอวิชชาทำไม่ให้เราเห็น  เราจึงควรต้องทำความเพียรเจริญปัญญาเพื่อละอวิชชา  จะได้พ้นทุกข์อันเป็นพุทธประสงค์ในศาสนานี้

วิธีละอวิชชาทำอย่างไร? ก็ต้องทำปัญญาให้เกิดขึ้นเราต้องเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญาตามที่อธิบายมาแล้วว่า ทุกข์นั้นเป็นธรรมที่เห็นได้ด้วยปัญญา นี่เป็นประโยชน์

ถึงแม้ท่านผู้ฟังจะยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติวิปัสสนา  หรือลงมือแล้ว แต่ยังไม่เห็นก็ตาม แต่ขอให้ทราบเหตุผลว่าวิปัสสนานั้น  จะต้องเดินทางไปอย่างนี้ จึงจะชำระกิเลสให้หมดจดถึงความบริสุทธิ์ได้ แม้จะเห็นทุกขเวทนา เมื่อเห็นจริงลงไปอย่างนี้แล้ว ก็รู้สึกว่าจริงแล้ว ทุกขเวทนามาจากเบญจขันธ์ก็สามารถเข้าถึงทุกขสัจได้ หรือเห็นสังขารทุกข์ซึ่งต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิตย์  ก็สามารถเข้าถึงทุกขสัจได้ โดยรู้มาจากเบญจขันธ์  ก็เข้าถึงทุกขสัจได้ทั้งนั้น

แม้ทุกขลักษณะก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีขันธ์แล้วลักษณะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของขันธ์จะมีได้อย่างไร?  ก็มีไม่ได้  แล้วก็ต้องสาวไปจนถึงเบญจขันธ์ จะต้องเห็นโทษของเบญจขันธ์นั้น จึงจะเข้าถึงทุกขสัจได้

ฉะนั้น จึงควรทราบว่า จิตจะต้องดำเนินไปอย่างนี้ และพระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า ให้กำหนดทุกข์ ทุกข์เป็นกิจที่ต้องกำหนดรู้  แต่เราลืมกันเสียเอง  จึงไม่เห็นทุกข์

กำหนดทุกข์นั้น กำหนดที่ไหน?  ท่านกล่าวว่า  กำหนดทุกขเวทนาก่อน  ทุกขเวทนากำหนดที่ไหน จึงจะเห็นได้ง่าย?

ท่านให้กำหนดที่อิริยาบถ  ๔  มี ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกข์เวทนามีในทุกอิริยาบถ วันหนึ่ง ๆ มีนั่งกี่หน  เดินกี่หน  ยืนกี่หน  เปลี่ยนอิริยาบถใช่ไหม เราจะรู้ทีเดียว เราเปลี่ยนอิริยาบถมากมายเหลือเกิน นี่ต้องเห็นก่อนและเป็นตัวสติปัฏฐานซึ่งเป็นอารมณ์ที่เป็นปัจจัยจะให้เกิดวิปัสสนา จะเข้าถึงนิพพาน จะให้บรรลุอริยสัจ

ท่านกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายที่ไม่เห็นทุกข์เพราะอะไร? เพราะไม่ได้พิจารณาอิริยาบถ ท่านกล่าวไว้ชัดเจนเช่นนี้  และการไปนิพพานนั้น  ถ้าไม่มีอนิจจลักษณะ หรือทุกขลักษณะ หรืออนัตตะลักษณะเป็นอารมณ์แล้ว  ไปนิพพานไม่ได้ ท่านวางอนิจจลักษณะไว้ ๑๐ อย่าง  ทุกขลักษณะ  ๒๕  อย่าง   อนัตตลักษณะ ๕ อย่าง รวมทั้งหมดเป็น ๔๐ ด้วยกัน นี่กรรมฐานของวิปัสสนา

ส่วนอารมณ์ของสมถกรรมฐานก็มี ๔๐ เหมือนกัน ถ้ารวมกันแล้วเป็น ๘๐ นี่ท่านผู้ฟังอาจจะไม่ค่อยได้ยินพูดกัน แต่เคยรู้ว่า อารมณ์ของสมถะมี ๔๐ แต่ว่ากรรมฐาน ๘๐ นั้นอาจไม่เคยได้ยิน แต่ท่านวางกรรมฐานของท่านไว้ว่าเป็นคนละอย่าง ก็ต้องเดินคนละอย่าง ไม่ใช่ทำสมถะแล้วจะเกิดวิปัสสนาขึ้นมาเอง ถ้าเช่นนั้น ท่านก็ไม่ต้องวางอารมณ์ของวิปัสสนาไว้ต่างหาก จึงควรที่เราจะต้องเข้าใจเหตุผลนี้ด้วย

เทศนาของพระพุทธองค์นั้น ถ้าหากผู้มีปัญญาบารมีมาก  พอฟังจบคำเทศนาก็สามรถบรรลุพระนิพพานได้ เพราะอะไร?  เพราะปัญญาของท่านผู้นั้นตรองเห็นไปตามที่ทรงเทศนานั้นทีเดียว เห็นทุกข์  เห็นโทษของเบญจขันธ์ กิเลสความยินดีในเบญจขันธ์ ก็คลายออกได้ในขณะที่ฟังอยู่นั้น แต่ว่าต้องเป็นผู้มีปัญญาบารมีแก่กล้ามาแล้ว เมื่อฟังแล้วก็เกิดความเข้าใจได้ถูกต้อง

สำหรับพวกเรานั้น บางทีฟังไปๆ ก็พอจะเข้าใจได้  แต่ไม่ชัดเจน  หรือบางทีก็ไม่เข้าใจหรือเพียงจับความได้ว่า พูดเรื่องนี้ก็มี แต่จะเอาความเข้าใจหยั่งลงไป อาจไม่ถึงก็ได้ เพราะว่ากิเลสของเรามีทับถมอยู่มาก  ถ้ากิเลสห่างออกไปมาก อริยสัจก็แจ้งมากเช่นกัน

การชำระกิเลสให้หมดก็ต้องด้วยการกำหนดทุกข์ กำหนดให้เข้าถึงทุกขสัจ ผู้ใดเมื่อเห็นทุกข์เป็นสัจธรรมแล้ว ตัณหาก็ละหมดไปเหมือนกัน  หมดความยินดีเพราะเห็นจริงแล้ว เมื่อหมดความยินดี ตัณหาก็ละ เมื่อละตัณหาหมดแล้ว นิโรธก็แจ้งในขณะนั้นเหมือนกัน

การเห็นอริยสัจ  ๔  นั้น  เห็นได้เมื่อมรรคเจริญเต็มที่ เพราะมรรคเป็นทางดำเนินไปถึงพระนิพพาน  คือขณะใดที่ชื่อว่าถึงพระนิพพาน ขณะนั้นมรรคก็เจริญแล้ว จึงได้พระนิพพาน มรรค คือตัวปัญญาที่รู้เห็นทุกข์สัจนี้เป็นตัวมรรค เป็นมรรคที่แท้จริงทีเดียว เพราะฉะนั้นทุกข์อะไรต่ออะไรต่างๆ ต้องเข้ารวมอยู่ในปัญญาวิปัสสนาทั้งหมด เมื่อเข้าถึงวิสุทธิความหมดจดจากกิเลสแล้ว  กิเลสอาศัยไม่ได้แล้ว  ก็แจ้งอริยสัจจธรรม

เรื่องทุกขเวทนานั้น ท่านกล่าวว่า ให้พิจารณาอิริยาบถ ท่านประสงค์ให้เราพิจารณาอิริยาบถ เพื่อให้เราเห็นทุกข์อย่างเดียวก็พอแล้ว หรือเห็นไม่เที่ยงอย่างเดียวก็ไปถึงนิพพานได้ หรือเห็นอนัตตาอย่างเดียวก็ไปถึงได้ และง่ายที่สุดสะดวกที่สุด สำหรับคนที่มีปัญญาน้อย ท่านก็ขอให้พิจารณาอิริยาบถ

 

การพิจารณาอิริยาบถ จะทำให้เราเห็นทุกขเวทนาในอิริยาบถเก่า  และเห็นสังขารทุกข์  คือการเปลี่ยนแปลงในอิริยาบถใหม่ เพราะในอิริยาบถใหม่เป็นสังขารทุกข์ที่ต้องแก้ไข เหมือนกับผู้ต้องพยาบาลคนไข้ แต่ว่าไม่ใช่คนไข้  คนไข้คือทุกขเวทนา สังขารทุกข์ไม่ใช่คนเจ็บ ไม่ใช่คนป่วย เช่นอย่างในสัมปชัญญะบรรพะนั้น เรายกมือ เหลียวหน้า เหลียวหลัง อย่างนี้ไม่ใช่ทุกขเวทนา ทุกขเวทนาก็มีแต่ว่าไม่ปรากฏออกมา หรือการใช้บาต ใช้จีวร  คู้  เหยียดเหล่านี้  อันนี้ทุกขเวทนาก็ยังไม่ปรากฏ แต่ที่จริงทุกขเวทนาก็ยังเกิดอยู่  แต่ว่าอ่อนมาก  เพราะฉะนั้น  จะไม่แลเห็นเลย

เมื่อพิจาณาทุกข์แล้ว จึงจะรู้ว่าคนเรากระดุกกระดิกอยู่ตลอดเวลา  ร่างกายเคลื่อนไหวก็ดี จะยกมือก็ดี หันหน้า หรือจะทำอะไรๆ ก็ดี ทุกอย่างทำเพื่อแก้ทุกขเวทนาบ้าง บางทีก็ทำเพื่อกันทุกขเวทนาบ้าง  เช่นเรากินอาหารเวลาหิว  เราก็กินเพื่อแก้ทุกขเวทนา แต่บางทีเวลาไม่หิวก็ต้องทนกิน  กันไว้เพื่อไม่ให้ทุกขเวทนาเกิด เพราะรู้ว่า เมื่อถึงเวลากินแล้ว ถึงจะไม่หิวก็ต้องกินกันไว้ เพื่อไม่ให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นต่อไป

เพราะฉะนั้น เป็นการกันก็ได้  เป็นการแก้ก็ได้สัมปชัญญะนี้ สูงกว่าอิริยาบถบรรพะ  โดยมากสัมปชัญญะเกิดจากการแก้ที่เรากระดุกกระดิก แม้กระดิกตัว ถ้าสังเกตดูให้ดีๆ จะเห็นว่า เราแก้ทุกขเวทนาทั้งนั้น แม้แต่คนเจ็บ ถ้าเจ็บมากมีทุกขเวทนาแรงกล้า ท่านจะเห็นว่ากระสับกระส่าย เราดูคนป่วยที่กระสับกระส่าย บิดไปบิดมา เราก็รู้ว่าแก้ทุกขเวทนาที่บีบคั้น จึงแก้ไปเพื่อให้ทุกขเวทนานั้นตกไป ถ้าใครทุกขเวทนาน้อยลง ความกระสับกระส่ายก็จะลดน้อยลงไปด้วย

เพราะฉะนั้น  ที่เรากระสับกระส่าย  เราเคลื่อนไหวอยู่นี้  ถ้าสังเกตดูให้ดีๆ จะเห็นว่า เราแก้ทุกข์ทั้งนั้น นี่เราจะเห็นสังขารทุกข์ คือการเปลี่ยนแปลงด้วยอิริยาบถ

แต่ว่าเวลาปฏิบัติ ต้องมนสิการอิริยาบถเก่านั้นอย่างหนึ่ง มนสิการอิริยาบถใหม่อีกอย่างหนึ่ง อย่างนี้ เราก็ต้องมนสิการเรื่อยไป

ข้อสำคัญที่เราควรเข้าใจ คือตัณหาไม่ได้อยู่ที่อิริยาบถเก่า เพราะอิริยาบถเก่าเกิดทุกข์แล้ว ตัณหาไม่มีแล้ว ไม่ยินดีแล้ว ไม่อยากได้แล้วในอิริยาบถเก่า เช่นเมื่อนั่งนานแล้ว ก็เป็นทุกข์ปวดเมื่อยแล้ว ก็อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถเสียใหม่ อยากเปลี่ยนจะไปนอน คือไม่อยากได้แล้วในอิริยาบถนั่ง  ไม่ยินดีแล้ว เพราะว่าเกิดทุกข์แล้วในรูปนั่ง แต่ว่าตัณหาไปยินดีในอิริยาบถนอน คือในอิริยาบถใหม่เกิดขึ้น

ความทุกข์นั้นเกิดในอิริยาบถเก่า  ส่วนตัณหาก็เอื้อมไปเกิดในอิริยาบถใหม่ ยินดีในอิริยาบถใหม่ เห็นว่าอิริยาบถใหม่เป็นสุข จึงควรรู้ควรเข้าใจในอิริยาบถใหม่ คืออิริยาบถนอนนี้ว่า เป็นสุขวิปลาส

  

ถ้าเราไม่เข้าใจในการปฏิบัติ หรือไม่มนสิการให้ถูกต้อง ก็จะกันกิเลสออกจากอิริยาบถไม่ได้เลย ส่วนอิริยาบถเก่านั้น ก็เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ตัณหาจะไม่อาศัย

แต่มีความไม่พอใจเข้าอาศัย คือโทสะจะเข้าอาศัยในอิริยาบถเก่านั้น ส่วนตัณหาจะกันออกจากอิริยาบถใหม่ไม่ได้เลย ดังนั้น  โยนิโสมนสิการ  จึงเป็นความสำคัญมากในเรื่องนี้

กุศลทั้งปวงจะเป็นในทางสมาธิก็ตาม หรือวิปัสสนาก็ตาม จะต้องอาศัยโยนิโสมนสิการเป็นประการสำคัญ ที่จะให้เกิดผล หรือให้เกิดปัญญา นี่ท่านผู้ฟังก็พอจะเข้าใจแล้วว่า วิปัสสนานั้นเห็นทุกข์อะไร? และเห็นแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร?

ทุกข์เวทนานั้น  เวลาเจริญวิปัสสนา ถ้าสมาธิมากๆ แล้ว ทุกข์เวทนาก็ไม่มี ก็จะทำให้ไม่เห็นทุกข์เวทนา และสังขารทุกข์ก็ยิ่งไม่เห็นเลย  เพราะอะไร? เวลานั้นนั่งนิ่งๆ ไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ จะเห็นได้อย่างไร ก็ยังไม่เห็นความไม่เที่ยง หรือความเป็นทุกข์ก็ดี ปัญญาเราจะไม่เห็นเลยในสมาธิ เพราะละเอียดมาก จะเข้าไปเห็นสมาธิว่าเกิดดับอยู่ในที่นั้นยากนักหนา

เมื่อไม่เห็นแล้วจะเห็นอะไร? ก็เห็นว่าเที่ยง เห็นว่าดี นี่โดยมากเป็นอย่างนี้  เมื่อทำสมาธิมากๆ  เข้า  ทุกข์เวทนาก็หายไป

 

ท่านคงเคยได้ยินบางท่านผู้ปฏิบัติกล่าวว่า เมื่อทุกข์เวทนาเกิดขึ้น  เขาพยายามปฏิบัติให้ทุกข์เวทนานั้นหมดไป อย่างนี้ ท่านผู้นั้นจะเข้าใจว่าอย่างไร? ที่จริงทุกข์เวทนาเป็นตัวสติปัฏฐาน เป็นที่ตั้งแห่งการบรรลุ มรรค  ผล นิพพาน เมื่อทุกข์เวทนาเกิดขึ้น ท่านผู้นั้นกลับกำหนดให้ทุกข์เวทนานั้นหายไป

วิธีกำหนดว่าทุกข์หนอๆ อย่างนี้ เวลาที่ภาวนากำหนดทุกข์หนอๆ  นั้น ใจก็มุ่งลงไปมนสิการ จะให้ทุกขเวทนานั้นหมดไป ความเข้าใจอย่านี้ หรือความรู้สึกอย่างนี้ เป็นการเข้าใจผิด เพราะอนัตตานั้น ท่านกล่าวว่าบังคับไม่ได้

ฉะนั้น ความรู้สึกที่ตั้งใจว่าจะให้ทุกข์เวทนาหายไป จึงเป็นอัตตาเต็มที่ เพราะเขาเข้าใจว่า เขาทำให้หายได้ ให้หมดไปได้ เช่นนี้แล้ว เขาจะเข้าถึงทุกขสัจได้อย่างไร?  ทุกขสัจเป็นของจริง แก้ไม่ได้เลย

การกำหนดว่า ทุกข์หนอๆ  แล้วทุกข์ก็หายไป เมื่อทุกข์เวทนาหายไปแล้ว ก็เท่ากับว่าผู้นั้นต้องการให้มหาสติปัฏฐานหายไป ตัวเวทนานั้น เป็นสติปัฏฐาน ท่านชี้แจงให้เรากำหนดเวทนา  โดยจะเป็นสุข หรือทุกข์ก็ตาม เมื่ออันใดเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้กำหนดแต่ละอย่าง  ก็สามารถจะบรรลุพระนิพพานได้

แต่เมื่อมหาสติปัฏฐานเกิดขึ้นแล้ว กลับทำความรู้สึกให้มหาสติปัฏฐานนั้นหมดไป ซึ่งถ้าพิจารณาด้วยเหตุผลแล้ว จะเป็นการถูกต้องไหม? เมื่อการปฏิบัติเช่นนี้ โดยทุกขเวทนาหายไปด้วยอำนาจการบังคับ ก็จะรู้สึกว่าตัวเขาบังคับได้ ที่ถูกแล้วท่านกล่าวว่า ให้ดูทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเท่านั้น  ท่านไม่ได้สั่งให้ดูทุกขเวทนา  เพื่อจะให้ทุกข์เวทนานั้นหายไป

ในมหาสติปัฏฐานนั้น ท่านให้ดูทุกขเวทนาซึ่งเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครสามารถจะบังคับได้  นี่ท่านให้ดูอย่างนี้

ทุกขเวทนานั้นเป็นนามธรรม มาจากเบญจขันธ์  ให้แลเห็นทุกข์โทษของเบญจขันธ์ แล้วความอาลัย ความเยื่อใยในเบญจขันธ์ก็จะหมดไป ยิ่งเห็นทุกข์เห็นโทษในเวทนามากเท่าไหร่ ก็จะเป็นเหตุให้การบรรลุพระนิพพานใกล้เข้ามามากเท่านั้น

ถ้าทุกข์เวทนาไม่มี ก็ต้องมีสุขเวทนา สุขเวทนาไม่มี  ก็ต้องมีอุเบกขาเวทนาอันใดอันหนึ่ง เพราะเวทนานี้ ประกอบกับจิตทั้งหมดทุกดวงทั้ง ๘๙ ดวง  ไม่มีเลยที่จะไม่ประกอบด้วยเวทนา

เพราะฉะนั้น เมื่อบังคับให้ทุกข์เวทนาหายไป หรือหมดไปแล้ว ก็แสดงว่าผู้ปฏิบัตินั้นไม่พอใจในทุกข์เวทนา และก็ยินดีสุขเวทนา การที่ยินดีพอใจในสุขเวทนา ก็คือยินดีพอใจในเบญจขันธ์ เวทนาขันธ์นั่นเอง

เมื่อทุกขเวทนาที่บังคับให้หายนั้นหมดไปแล้ว อะไรเล่าที่จะมีมาแทน ก็สุขเวทนานั่นเอง จะเกิดขึ้นมาแทน ด้วยอำนาจของสมาธิที่มีกำลังมาก เพราะทำให้ผู้นั้นรู้สึกเป็นสุข ความพอใจนั้น เช่นนี้แล้วจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้อย่างไร? เรื่องที่เรียนมานี้ ท่านคงจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว ถ้าหากว่าท่านไปพบอย่างนี้เข้า ก็ย่อมจะพิจารณาได้ว่า เป็นการถูกต้องด้วยเหตุผลหรือไม่

 

ดิฉันคิดว่า ได้พูดมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ถ้าสงสัยอะไรอีก เพื่อให้เกิดความเข้าใจดีขึ้น ก็โปรดถามได้ เพื่อจะได้ชี้แจงให้ฟังกันต่อไป