**สัมมาทิฏฐิ ๖

สัมมาทิฏฐิ

โดย อุบาสิกา แนบ มหานีรานนท์

แสดง ณ ศาลาโรงธรรมโพธิ์ลังกา วัดพระเชตุพนฯ

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙

นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

สวัสดีคะ  ท่านที่เคารพ

        วันนี้ จะขอนำเรื่อง “สัมมาทิฏฐิ” มาทำความใจกันนะคะ  สัมมาทิฏฐิ นี่ คือ ความเห็นถูก ได้แก่ ความเห็นที่ถูกตรงตามเหตุ และผล แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลของตน หรือของใคร ๆ ทั้งนั้นนะคะ ต้องเป็นเหตุผลของธรรมชาติ  ตัวสัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นถูกนี้  โดยสภาวะก็ได้แก่ ปัญญาเจตสิก นะคะ ตามที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาว่า ตัวปัญญา ก็คือ  ธรรมชาติที่รู้ตามความเป็นจริง

        ปัญญานี่ ในทางโลกเขาก็เอาไปใช้พูดกันเหมือนกันนะคะ คนไหนฉลาด มีปฏิภาณ ความคิดอ่านดี เขาก็ว่าเป็นคนมีปัญญา คนที่ขยันหมั่นเพียร เรียนเก่ง พูดเก่ง เขาก็ว่ามีปัญญา หรือใครคิดค้นคว้าประดิษฐ์ข้าวของใหม่ ๆ มาใช้กัน เขาก็ว่ามีปัญญา ยิ่งเดี๋ยวนี้ การเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก ไปประเทศฝรั่ง อังกฤษ อเมริกา ใครรู้หลายภาษา พูดได้หลายภาษา ก็ยิ่งว่าเขามีปัญญามากนะคะ  ซึ่งอันที่จริงแล้ว ความฉลาดในวิชาทางโลก เรียนเก่ง สอนเก่ง เป็นครูบาอาจารย์ เป็นศาสตราจารย์ เหล่านั้น มันไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นสัญญา  ที่จำได้หมายรู้ในสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รู้ได้เห็นมามากมายหลายอย่างนั่นเอง ใครหมั่นสังเกต ใครหมั่นจดจำ ก็เกิดความรู้ความชำนาญในวิชาการนั้น ๆ เพราะฉะนั้น วิชาการทางโลก ที่ต้องอาศัยสัญญาเป็นตัวการนี้ เรียนไปเถอะค่ะ ไม่มีวันจบหรอก ให้เรียนไปเมืองนอกเมืองนา ได้ปริญญามาแล้ว มันก็ไม่รู้จักจบ ต้องไปประชุมสัมมนาปรับปรุงวิชาการกันอยู่เรื่อย ๆ นั้น เพราะอาศัยสัญญานั่นแหละ มันวิจิตร เลยทำให้ตัณหาวิจิตร เมื่อตัณหามันวิจิตร ความรู้เก่า ๆ เรื่องเก่า ๆ ที่เคยรู้มา มันก็ล้าสมัยไปสู้ยุคใหม่ สมัยใหม่เขาไม่ได้ จึงต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมกันใหม่อยู่เรื่อย ๆ นี่เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ความรู้เหล่านั้น มันเกิดจากสัญญา คือความกำหนดจดจำ ที่อาจลืมเลือน หรือดัดแปลงปรุงแต่งขึ้นใหม่ได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น จึงว่าวิชาการทางโลกเรียนกันไม่มีวันจบ

        แต่ปัญญา ในความหมายของพุทธศาสนานั้น เป็นความรู้ที่ตรงต่อเหตุผลตามความเป็นจริง ยิ่งรู้เหตุผลตามความเป็นจริงของธรรมชาติมากขึ้นเท่าใด  ก็ยิ่งจะละกิเลสตัณหาออกไปได้มากขึ้นเท่านั้น  และยิ่งละกิเลสได้มากเท่าใด ปัญญาก็จะแจ้งในความจริงยิ่งขึ้นเท่านั้น ปัญญายิ่งแจ้งความจริงมากขึ้นเท่าใด  ก็จะสามารถละกิเลสที่ละเอียดลงไปได้ยิ่งขึ้นเท่านั้น จนสามารถทำลายอาสวะกิเลสให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท พ้นจากวัฏฏทุกข์ได้ ปัญญาในความหมายของพระพุทธศาสนา จึงเป็นปัญญาที่ให้รู้จบสิ้นได้ โดยพระพุทธองค์รับรองไว้ว่าปัญญาในอรหัตมรรค อรหัตผล เป็นปัญญาที่รู้จบ คือกระทำอาสวะกิเลสให้สิ้น กระทำภพชาติให้สิ้น จนประกาศได้ว่าพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ภพชาติสิ้นแล้ว ภพอื่นเป็นอันไม่มี

          นี่คือปัญญาในพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีวันที่จะเรียนรู้จบได้ แต่ปัญญาที่ทางโลกยืมไปใช้นั้น ไม่ใช่ตัวปัญญาที่แท้จริง แต่เป็นตัวสัญญาตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้นั่นเอง

          เพื่อจะทำความเข้าใจ เรื่องของปัญญาในพระพุทธศาสนาที่เจริญขึ้นได้โดยลำดับ จะได้ขอนำเอาปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิมาแสดงในวันนี้ ดิฉันจะพูดเรื่องของสัมมาทิฏฐิ เพราะว่าเรื่องการเห็นถูก ๖ อย่าง เมื่อคราวที่แล้วมาพูดเรื่องสัจจะความจริงมี ๖ อย่าง มาวันนี้พูดถึงเรื่อง ความเห็นถูก ๖ อย่างนะคะ แต่ว่าผู้ที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้ว จะต้องมีความเห็นถูกทั้ง ๖ อย่างนี้ อย่างบริบูรณ์นะคะ เห็นถูก ๖ อย่างนี้ คือสัมมาทิฏฐิ ๖ อย่างนี้ล้วนแต่เป็นญาณทั้งหมดนะคะ ที่มีมาจากสัมมาทิฏฐิสูตร ดิฉันจะได้กล่าวไปตามลำดับ  ดังนี้

          .กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ คือว่ากัมมัสสกตาญาณ หรือกัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิก็ได้ คือสัมมาทิฏฐินี้ เป็นชื่อของปัญญา คำว่าญาณ ก็เป็นชื่อของปัญญา ฉะนั้นก็เป็นอันเดียวกันค่ะ ในข้อที่ชื่อว่ากัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ หมายถึงความเห็นถูกในกรรมและในผลของกรรม เห็นว่ากรรมนี้ต้องมีการกระทำด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ถ้าทำกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมมีผล ไม่ใช่ไม่มีผล แปลว่า ความเห็นประกอบด้วยเหตุและผล และก็ถูกต้องด้วยนะคะ ถ้าหากว่า มิจฉาทิฏฐิก็เห็นตรงข้ามอย่างนี้ ความเห็นอันนี้ก็ชื่อว่า เป็นความเห็นถูกอันหนึ่ง พระพุทธศาสนาก็รับรองว่าเป็นความเห็นถูก ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นถูกตามกรรมบถ

          . สมถญาณ หรือว่าฌานสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกว่า ในฌานนั้นน่ะ  ผู้ที่ได้ความสงบระงับกิเลสด้วยสมาธิ หรือถึงฌานอันนี้แหละ ย่อมมีอานิสงส์ทำให้เป็นสุข ในปัจจุบันและในภพหน้าก็ไปเกิดในสุคติภูมิ มีอานิสงส์มาก ไม่ใช่เป็นมหากุศลนะคะ ซึ่งความเห็นอย่างนี้  ก็ชื่อว่าเห็นถูกเหมือนกัน ทีนี้กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐินี้น่ะ อาจสงเคราะห์ว่าได้กับศีล หรือสุตมยปัญญา ได้แก่ศีลก็ได้นะคะ กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐินี้น่ะ เพราะเห็นถูกแล้ว ถือศีลก็ได้ ทำฌานก็ได้ ตามบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เท่านั้นนะ  อันนี้ก็ใช้ได้ แต่เมื่อขึ้นมาถึงฌานนี้แล้ว ต้องทำสมาธิ แล้วก็ต้องได้ถึงอัปปนาฌานด้วย อานิสงส์ที่จะได้เข้าไปถึงผล อานิสงส์หรือผลอันนี้ต้องมีสมาธิแล้ว ถึงจะเข้าไปรู้ว่า สมาธินั้น มีลักษณะเป็นอย่างไร มันทำให้ใจสงบ มีอานิสงส์ ได้รับอานิสงส์อย่างไรบ้าง เมื่อสงบแล้วนะคะ นี่ก็เป็นอันหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นการเห็นถูกเหมือนกัน แล้วผู้ที่จะทำฌานได้นี่ ก็ต้องเป็นผู้มีปัญญาติดตัวมาแล้ว ถ้าไม่มีปัญญาก็ทำไม่ได้ ฌานนี่น่ะ จะต้องเป็นคนมีบารมีมาแล้วด้วยถึงจะทำได้ และเป็นคนที่มีปัญญามา ถ้าไม่มีปัญญาก็ทำไม่ได้  ฉะนั้น สัมมาทิฏฐิทั้งสองอันนี้ ข้อที่ ๑ กับข้อที่ ๒ นี้น่ะ อยู่ภายนอกศาสนาก็มีได้ สัมมาทิฏฐิทั้งสองอย่างนี้นะ เพราะภายนอกศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จปรากฏขึ้นในโลก คือยังไม่ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณนั้นน่ะ ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ฌานสมาบัติ หรืออภิญญาเหาะเหินเดินอากาศได้ ในเวลานั้นมีอยู่แล้ว เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ได้มาตรัสรู้ เขาก็มีกันอยู่แล้วค่ะ ฉะนั้นสัมมาทิฏฐิ ๒ อย่างนี้ ภายนอกศาสนาก็มีได้ เรียกว่าฌานสัมมาทิฏฐิก็มีได้ภายนอกพระศาสนา

          . วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ ข้อที่ ๓ นี้ยังมีไม่ได้ ถ้ายังไม่มีพระพุทธเจ้าตรัสรู้  คือพระพุทธเจ้ายังไม่บังเกิดขึ้นในโลกนี้ ข้อที่ ๓ คือ วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ  ยังมีไม่ได้เลยนะคะ เพราะในสมัยเมื่อก่อนตรัสรู้นั้น ก็ถึงฌาน ถึงสมถะและมีอภิญญา มีอยู่แค่นี้เอง แต่ว่าส่วนวิปัสสนานี้มีไม่ได้ อันนี้นะคะ นี่ทำให้เรามองเห็นแล้วว่า ฌานน่ะ ไม่ใช่จะไปถึงนิพพานได้ ฉะนั้น  ฌานกับวิปัสสนาน่ะ มีความหมายต่างกันอย่างไร ถ้าหากว่าเราจะถือว่า ทำสมาธิก็ถึงนิพพานได้  อันนี้ไม่ถูกค่ะ ถ้าทำสมาธิไปนิพพานได้แล้ว เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่ได้มาตรัสรู้น่ะ ก็ไม่มีใครเลยที่บรรลุนิพพาน ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นไปไม่ได้นะคะ เว้นแต่ว่าผู้ที่ได้ฌานแล้วก็ได้มาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มาฟังธรรมเทศนา ก็มาเจริญวิปัสสนาต่อ จึงได้ ถ้าไม่เจริญวิปัสสนาต่อแล้วก็ไม่ได้ ไม่มีหวังเลย ฉะนั้น วิปัสสนาสัมมาทิฏฐินี้น่ะ จึงต้องมีได้แต่ ภายในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะวิปัสสนานี้เป็นทางที่ละกิเลสให้หมดจด ตลอดทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เป็นทางที่จะทำให้ถึงความบริสุทธิ์ มีวิสุทธิเป็นอานิสงส์ตลอดไป และวิปัสสนานั้นต้องเห็นถูกตามวิปัสสนา ทีนี้คำว่า วิปัสสนาสัมมาทิฏฐินี้ต้องเห็นถูกนะคะ  เห็นถูกคือต้องเข้าใจว่า วิปัสสนานี้น่ะรู้อย่างไร? รู้อะไร? ตั้งแต่ต้นไปทีเดียว  ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณไปทีเดียวว่า ปัญญาที่มีความรู้นามและรูป ที่ได้นามว่า นามรูปปริจเฉทญาณนั้นน่ะ รู้อย่างไร  อันนี้ต้องเข้าใจ เพราะการรู้นามรูปนี้มันมี ๓ ขั้นด้วยกัน คือว่า รู้ด้วยปริยัติก็ได้ รู้ด้วยการปฏิบัติ ที่กำลังกำหนดนามรูปอยู่ก็ได้ หรือด้วยปฏิเวธก็ได้ ที่ได้ชื่อว่านามรูปปริจเฉทญาณนี้ก็อย่างหนึ่ง

           ฉะนั้นผู้ที่รู้ถูกในวิปัสสนานี่ ก็ต้องรู้ถูกว่าเห็นอย่างไร วิปัสสนานี่เห็นนาม เห็นรูป ด้วยวิปัสสนานี่น่ะ มีลักษณะอย่างไร แล้วก็เห็นตลอดไปจนกระทั่งถึงปัจจยปริคคหญาณน่ะ เขารู้อย่างไร สัมมสนญาณรู้อย่างไร อุทยัพพยญาณรู้อย่างไร ต้องรู้ถูกด้วย  ถ้ารู้ไม่ถูกแล้ว ผู้ปฏิบัติก็ยังไม่เข้าถึงอุทยัพพยญาณ อาจไปสำคัญผิดว่า เข้าถึงอุทยัพพยญาณ ถ้าอย่างนี้ ก็เพราะรู้ไม่ถูกนะคะ แล้วก็ไม่ได้ผล ทีนี้อุทยัพพยญาณที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะว่าเขาเข้าใจผิดไปเสียแล้วว่า  เราเข้าถึงอุทยัพพยญาณแล้วอย่างนี้ ก็ไม่ถูกไม่เกิด อันนี้ก็ชื่อว่ารู้ไม่ถูก ถ้ารู้ถูกตามวิปัสสนาจะต้องรู้ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณถูกต้องตลอดไปทุกขั้น จนกระทั่งถึงโคตรภูญาณ อันนั้นก็ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิรู้ถูกแล้ว ฉะนั้นถ้าหากว่า เราไม่รู้ถูกต้องตามวิปัสสนาแล้วก็ลำบากมากทีเดียว ที่จะเดินไปถึงนิพพานได้ เพราะอันนี้เป็นข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพาน มีจิตใจอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร ต้องถูกต้องหมด อันนี้เป็นข้อที่ ๓ ค่ะ

           ๔. มรรคญาณ คือว่าทางมาของมรรคนี่น่ะ เป็นทางมา เพราะว่าวิปัสสนานี่น่ะ เป็นทางมาของมรรค มาถึงมรรค ทีนี้ทางที่ถึงมรรคญาณนี้ ถ้าวิปัสสนานี้ถูกต้องแล้ว มรรคญาณก็ถึงได้ มรรคญาณนี้ หมายถึงมรรคจิตนะคะ แต่ว่ามรรคทั้ง ๔ นั้นก็ชื่อว่ามรรคญาณด้วยกัน ทีนี้การที่จะเข้าถึงมรรคญาณนี้ได้ ต้องรู้วิปัสสนาถูกต้องแล้ว  จึงจะเข้าถึงมรรคญาณนี้ได้ ทีนี้เมื่อเข้าถึงมรรค ก็ต้องรู้ถูกต้องอีก ว่าตนนี่เข้าถึงมรรคแล้วหรือยัง มรรคมีลักษณะอย่างไร  มรรคจิตอย่างนี้ ต้องรู้ซึ่งผู้ทำวิปัสสนาต้องรู้ใช่ไหมคะ ไม่รู้ไม่ได้เลย เพราะว่ารู้ไปตั้งแต่วิปัสสนาแล้ว ทีนี้เมื่อเข้าถึงนิพพานแล้ว มรรคนี่เป็นตัวที่ถึงนิพพาน มีนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว การที่จะถึงนิพพานเป็นอารมณ์ได้ เป็นอารมณ์ของปัญญา เรียกว่ามรรคญาณ คือว่าปัญญาที่เกิดร่วมกับมรรคจิตนั้น เราก็เรียกว่า มรรคญาณ ถ้าเมื่อเรารู้ถูกต้องแล้วในมรรคญาณนั้น ต้องรู้ เพราะว่ามรรคญาณนี้สงเคราะห์ด้วยญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธินั้น คือว่า ทั้งรู้ด้วยแล้วต้องเข้าถึงด้วย  ไม่ใช่ว่าเป็นเพียงรู้เฉย ๆ นะคะ ต้องแจ้งนิพพาน ขณะนั้นจะต้องมีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่ เพราะเหตุนั้น ผู้เข้าถึงนิพพานแล้ว จะไม่รู้ตัวว่าตัวถึงนิพพานนี้ เป็นไปไม่ได้เลยเป็นอันขาด เพราะถ้าตัวไม่รู้ว่าตัวถึงนิพพาน ว่าตัวเองผ่านมรรค ผ่านผลมาแล้ว ได้ถึงนิพพานแล้ว ถ้าไม่รู้อย่างนั้นละก็ ปัจจเวกขณะก็มีไม่ได้หรอกคะ ตอนหลังจะมามีปัจจเวกได้อย่างไร ปัจจเวกก็เหมือนการที่เราฝันเท่านั้น แล้วก็นึกออกว่า เมื่อคืนนี้ฝันว่าอย่างไร ก็นึกไม่ออก ถ้าหากว่าเราฝันน่ะ ไม่รู้เลยว่าฝันอะไร ปัจจเวกก็มีไม่ได้เหมือนกัน

            ฉะนั้นผู้ที่เข้าถึงมรรคนี่น่ะ ในมรรคทั้ง ๔ นี่นะคะ บุคคลที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏนี่น่ะ จะเกิดขึ้นขณะเดียวเท่านั้น เป็นโลกุตตรกุศลจิต และโลกุตตรกุศลที่ชื่อว่า มรรคญาณนี้น่ะ เป็นตัวแจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ แล้วโลกุตตรกุศลอันนี้น่ะ ในสังสารวัฏของคนที่ท่องเที่ยวมา ไม่รู้เบื้องต้นว่ามาตั้งแต่เมื่อไร ไม่รู้สิ้นสุดว่าจะไปถึงเมื่อไร ไม่เคยเกิดขึ้นเลยกุศลชนิดนี้ สัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏจะไม่มี ไม่เคยพบและไม่เคยเจอะเลย แล้วโลกุตตรกุศลนี้ จะเกิดขึ้นขณะจิตเดียวเท่านั้น มีอุปาทะ ฐีติ ภังคะ ขณะเดียวเท่านั้นเอง ในสังสารวัฏ แม้แต่เพียง ๒ ขณะก็ไม่มี  เกิดขึ้นขณะเดียวเท่านั้นเอง และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นมรรคที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ อะไรก็ตามเถอะ โสดาปัตติมรรคหรือสกทาคามิมรรคก็ตามนะคะ อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มรรคทั้ง ๔ นี้เกิดขณะเดียวเท่านั้น แล้วก็มีอุปาทะ ฐีติ ภังคะ เกิดขึ้นแล้วก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย อย่างโสดาปัตติมรรคนี่ ก็เกิดขึ้นขณะเดียวเท่านั้นในสังสารวัฏ แล้วจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยจนกว่าจะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน กุศลอันนี้จะเกิดขึ้นแก่บุคคลในสังสารวัฏขณะเดียวเท่านั้น แต่ถึงแม้ว่าเกิดขณะเดียวก็จริงอยู่ แต่ว่ามีความสามารถแรงกล้ามาก แม้เกิดขณะเดียวนี่ ก็เป็นรู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ครบสมบูรณ์ด้วยกิจ ด้วยญาณ ขณะเดียวสามารถจะทำลายกิเลสให้เป็นสมุจเฉทได้ สามารถจะทำลายสังสารวัฏได้ มีอบายภูมิเป็นต้น ทำลายได้นะคะ อันนี้เป็นความสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เพราะพุทธประสงค์ที่ต้องการหนักหนาจะให้สัตว์เข้าถึงปัญญาอันนี้ แต่ว่ากุศลอย่างนี้จะถึงได้ด้วยศีลไม่ได้  ถึงได้ด้วยสมาธิไม่ได้ จะเข้าถึงได้ด้วยปัญญา แล้วปัญญาอันอื่นก็ไม่ได้ คือต้องถึงด้วยวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น อย่างเดียวเท่านั้นเอง อย่างปัญญาในโลกียะนั่นน่ะ จะเป็นปัญญาวิทยาศาสตร์ หรือเป็นปัญญาธรรมศาสตร์ จะเป็นปัญญาแพทย์ศาสตร์ ทุกอย่างไม่ได้เลย เข้าถึงไม่ได้เลย ถึงได้เฉพาะวิปัสสนาเท่านั้น แล้วก็มีขณะเดียวนะคะ พอถึงขณะหนึ่งแล้ว และจะเกิดกับอริยบุคคลเท่านั้น  ปุถุชนไม่มีเลย พอเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้ว ก็สถาปนาบุคคลนั้นเป็นพระอริยบุคคลทันที ถ้าเกิดครั้งแรกก็เป็นโสดาบัน ถ้าเกิดครั้งที่ ๒ ก็เป็นสกทาคามีบุคคล  ถ้าเกิดครั้งที่ ๓ ก็เป็นอนาคามีบุคคล ถ้าเกิดครั้งที่ ๔ ก็เป็นอรหันตบุคคล เพราะฉะนั้นมีกำลังแรงกล้ามากเหลือเกิน ทีนี้กุศลอันนี้ อย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อพระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นเท่านั้น เพราะกุศลอย่างนี้ไม่มีทางเลย ที่บรรดาศาสดาทั้งหลายในโลกจะทำได้

            เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้นนั้นน่ะ ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจเลยว่าจะทำอย่างไร กุศลอย่างนี้ถึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะวิปัสสนาก็ไม่มีในสมัยนั้นนะคะ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าไม่เกิดขึ้นในโลก กุศลอย่างนี้ก็ไม่มีโอกาสทำให้เกิดขึ้นได้เลยทีเดียว ถ้าไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้แล้ว สังสารวัฏไม่มีที่สุดเลย นับไม่ได้เลยว่า จะมีที่สิ้นสุดแค่ไหน  เมื่อมรรคจิตเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง ปฐมมรรคนั้นสามารถจะทำลายสังสารวัฏได้แทบทั้งหมด ที่จะเป็นไปโดยนับไม่ถ้วนนั้นน่ะ ทำลายจนหมดสิ้นเลย เหลืออีก ๗ ชาติเท่านั้น โลกุตตรกุศลเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็สามารถทำลายวัฏฏะ ความเวียนว่ายตายเกิด ที่เราไม่รู้ที่สุดว่าเราจะสิ้นสุดเมื่อไร ทำลายจนหมดเหลือเพียงอย่างมาก ๗ ชาติเท่านั้น  หรืออาจจะเหลือ ๖ ชาติก็ได้  หรืออาจจะเหลือเพียงชาติเดียวก็ได้                 เพราะฉะนั้น ถึงได้มีกำลังแรงกล้ามาก และถ้าพระพุทธศาสนาไม่มีแล้ว กุศลอย่างนี้ก็ไม่เกิดแล้ว เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าน่ะ  ถือว่าเป็นธรรมสมัย  คือสมัยของธรรมที่จะเกิดได้ง่าย เวลานั้นเป็นกาลสมบูรณ์   ถ้ากาลสมบูรณ์หรือเป็นธรรมสมัยละก็ โลกุตตรกุศลนี้จะเกิดได้ง่าย เกิดได้มากนะคะ แก่บุคคลที่มีความสามารถที่จะมีบารมี ที่จะพ้นจากสังสารวัฏน่ะ ก็เกิดได้มากในเวลานั้น แต่ถ้าหากว่า พระพุทธศาสนาหมดแล้ว  ก็ยังหวังว่าเวลาที่เหลือในมนุษย์นี่ วางศาสนาไว้ ๕ พันปี ๕ พันปีสำหรับในมนุษย์เท่านั้นนะคะ  ถ้าหมด ๕ พันปีแล้ว กุศลอย่างนี้ก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นทีเดียว ก็หมดเลย หมดเพราะเหตุอะไร เพราะเหตุว่ากิเลสก็มาก  ไม่สามารถจะทวนกระแสของกิเลสได้อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งวิปัสสนาก็เป็นธรรมที่สุขุมคัมภีรภาพมากเหลือเกิน ยากที่จะหยั่งลงไปรู้ได้  ศรัทธา ฉันทะ และความเพียร ก็ถูกกิเลสปิดบังทำลายได้นะคะ ไม่สามารถจะทวนกระแสกิเลสได้เลย ก็หมกมุ่นอยู่ในลาภ ในยศ เป็นต้น ทีนี้ก็เมื่อพระพุทธศาสนาหมดแล้ว เวลานี้ ๒๕๐๐ กว่าปีแล้วนะคะ คอยพิสูจน์ก็แล้วกันว่า จะเป็นความจริงหรือไม่  เวลานี้เราไม่พูดกันหรอก ถึงเรื่องมรรค ผล นิพพานน่ะ เราจะพูดกันแต่เพียงว่า วิปัสสนาเป็นกุสล ซึ่งเป็นทางมาของโลกุตตร หรือเป็นทางที่จะให้ถึงซึ่งโลกุตตรกุศลนั้นน่ะ เวลานี้เป็นอย่างไร ใช่ไหมคะ ความว้าวุ่นในเรื่องวิปัสสนา เพราะวิปัสสนานี้ เป็นเรื่องพุทธศาสนาทีเดียวค่ะ พุทธศาสนาจะยั่งยืนอยู่ได้ก็เพราะวิปัสสนาธุระนี้ ถ้าหากว่า วิปัสสนาธุระก็ไม่มีคนทำแล้ว หมายถึงการทำที่ถูกต้องนะคะ แล้วก็ผลที่จะเกิดจากเหตุนี้ ที่เกิดจากรรมอันนี้ หรือเกิดจากธุระอันนี้ ก็เป็นอันว่าไม่มี ไม่เกิดขึ้นเลย  ฉะนั้นเวลานี้น่ะ ถ้าเราจะพูดว่า วิปัสสนาไม่มีแล้วละก็  นี่ดิฉันหมายถึงว่า วิปัสสนานี่เป็นทางให้ถึงมรรคผลที่ถูกต้องนะคะ  เพราะฉะนั้น วิปัสสนาอันนี้จะต้องเป็นไปด้วยความเห็นถูกหรือสัมมาทิฏฐิ แต่ว่าเท่าที่เราสังเกตเวลานี้ วิปัสสนามีมากเหลือเกิน เวลานี้วิปัสสนามีมาก มีทุกหนทุกแห่งหนเลยนะคะ ออกอากาศเอย  ออกโทรทัศน์เอย อะไรต่ออะไรทุกอย่าง เพราะฉะนั้นผู้ที่สอนวิปัสสนาก็มีมากนะคะ ในต่างจังหวัดก็ดี ในกรุงเทพฯ  ก็ดีมีมากเหลือเกิน แต่ว่าจะหาท่านผู้ศึกษา หรือผู้สนใจทั้งหลายนี่น่ะ ท่านจะสามารถตัดสินได้ไหมว่า วิปัสสนาอันไหนถูก และวิปัสสนามีมากอันไหนผิด ได้หรือไม่ได้ ท่านตัดสินได้อย่างไรคะ วิปัสสนาที่มีมากนี่น่ะ ไม่เหมือนกันนะคะ มีต่าง ๆ กัน มีหลายอย่าง มีหลายวิธี นี่เป็นอย่างนี้  เพราะฉะนั้น  เมื่อมีหลาย ๆ อย่างแล้ว ท่านก็บอกว่ามีทางเดียวเท่านั้นเอง เอกายโน มคฺโค ใช่ไหมคะ มีทางเดียวเท่านั้นแหละ แต่ทีนี้มันเกิดมีมากขึ้นมาหลายอย่างนี้น่ะ มันจำเป็นเหลือเกิน ที่จะต้องมีผิดบ้าง ถูกบ้าง  เพราะมันไม่เหมือนกันนี่คะ มันก็ต้องมีผิดบ้าง ถูกบ้างเป็นธรรมดา  ทีนี้ท่านจะตัดสินได้อย่างไร ว่าอันไหนถูก  หรืออันไหนผิด  วิปัสสนาที่แท้จริง  เราก็ยังไม่รู้  แล้วเราจะตัดสินได้อย่างไรว่า  อันไหนถูกหรือผิด  ฉะนั้นการที่เกิดขึ้นมานี่น่ะ แต่ว่า ถ้าถูกก็เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนา ถ้าผิดล่ะ ถ้าผิดก็เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา คือว่า ถ้าเขาไปเผยแพร่ความผิดนั้นมาก คนก็รับเอาความเข้าใจผิดไปมาก ทีนี้พระพุทธศาสนาที่แท้จริงก็เลยไม่มีคนรู้ไปเลย แปลว่าหายหมด เพราะว่าถูกความเข้าใจผิดปิดบังหมด เราก็ไม่สนใจ เราก็ไม่ศึกษากันใช่ไหมล่ะคะ โดยเหตุนี้แหละพระพุทธเจ้าจึงสั่งนักสั่งหนา ในกาลามสูตรว่า ไม่ให้เชื่อตำรา ไม่ให้เชื่อบุคคล เวลานี้ตำราก็เกิดมาก ไม่ให้เชื่อความเห็นของตัวเองหลายอย่าง สิบข้อนะคะ อย่าเชื่อว่าสมณะองค์นี้เป็นผู้ที่ควรจะเชื่อถือได้ ถ้าเราจะเชื่อ เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าก็ห้ามอีก อย่าเชื่อว่า คน ๆ นี้ เป็นอาจารย์ของเรา เคยเป็นอาจารย์ของเรา เพราะฉะนั้น เราต้องเชื่อ เราควรจะเชื่อ ความเชื่ออย่างนี้ก็ยังไม่ถูกพุทธประสงค์ พระพุทธเจ้าก็ห้ามอีก อย่าเชื่อว่า สมณะองค์นี้อยู่ป่ามานาน  และก็มีคนนับถือมากอะไรอย่างนี้  ก็ไม่ให้เชื่ออีก หรือจะเชื่อความเห็นของตัวเอง ตัวเองก็คาดคะเนว่าเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น  ยึดเอาความเห็นของตัวเองไม่ได้อีก เพราะความเห็นของตัวเอง ก็ยังไม่มีอะไรไปตัดสิน  ยังไม่มีอะไรตัดสินว่า ความเห็นของเราผิดหรือถูกอย่างไร ถ้าจะถามว่าความเห็นที่เราเชื่อแล้วว่าเป็นอย่างนั้นน่ะ อะไรเป็นข้อตัดสิน เราก็ยังไม่มีข้อตัดสิน การที่เรายังไม่มีข้อตัดสิน ว่าผิดถูกนี่เอง จะถือว่าเราเป็นผู้เข้าถึงสรณะที่พึ่งแล้ว หรือเราเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่งนี้น่ะ ยังไม่ได้เลย ผู้ที่เข้าถึงธรรมเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะแน่นอนแล้ว นั่นหมายถึงว่า จะไม่ตกไปในมิฉาทิฏฐิ นะคะ เพราะฉะนั้นอันนี้แหละ  เราก็จะเป็นผู้ที่มีที่พึ่ง  ที่พึ่งว่าอย่างไร  ที่พึ่งว่ากันไม่ให้เราตกไปในมิจฉาทิฏฐิ กันไม่ให้ถูกหลอกลวงไปในสิ่งที่ไม่เจริญ หรือไม่มีเหตุผล  อย่างนี้เป็นต้น ท่านก็ห้ามนักหนาว่า ไม่ให้เชื่อ หรือจะเชื่อว่าเออ ! ความเห็นของคนนี้ เขาพูดอย่างนี้ดี  มันถูกกับความคิดเห็นของเรา เราก็เลยเชื่อ อันนี้ก็ห้ามอีก อย่าเชื่อในเหตุนี้ เชื่อในเหตุนี้ก็ผิดได้ จะเอาความเห็นของตัวมาตัดสินไม่ได้ และใครจะแสดงความเห็นผิดออกมาก็เชื่อ อย่างนี้ก็ไม่ได้เหมือนกัน ต้องมีเหตุผลที่ถูกต้อง และตัดสินความเห็นนั้นได้แล้วว่าถูกก็เชื่อได้ ต้องตัดสินด้วยเหตุผลเท่านั้น และเหตุผลนั้นต้องเป็นผู้เข้าถึงด้วย ต้องเป็นผู้เข้าถึงเหตุผลด้วยตัวของตัวเอง และเหตุผลนั้น  พระพุทธเจ้าก็รับสั่งว่า ธรรมอันไหนมีโทษ ธรรมอันไหนมีคุณ ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นให้มาก แล้วจะเกิดความทุกข์ หรือจะเกิดความสุข พิจารณาด้วยตัวเองเช่นนี้แล้วนั่นแหละ ถึงค่อยเชื่อ เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นของยาก

           มนุษย์เราก็ต้องศึกษา นี่ก็จะต้องอาศัยการศึกษา แต่ว่าเราเวลานี้น่ะ เราก็จะต้องศึกษาโดยอาศัยตำรับตำรา ก็ยากเหมือนกัน ตำราอันเดียวก็มีคนแปลไปคนละอย่าง สองอย่าง เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นความสำคัญนะคะ ท่านนักศึกษาต้องตระหนักให้จงดีทีเดียว อันนี้น่ะ อย่าเพิ่งไปเชื่ออะไรง่าย ๆ และเชื่อแล้ว แกะยากที่สุดเลย ยังไม่รู้เสียเลยยังดีกว่า ไม่รู้ว่าอะไร  ผิดก็ยังไม่รู้  ถูกก็ยังไม่รู้ ก็ยังไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น แต่ทีนี้ถ้าเราเชื่อแล้ว  ยึดมั่นในสิ่งนั้นแล้ว ก็เป็นตัวอุปาทาน อันนี้ลำบากที่สุด เพราะฉะนั้น  จะต้องสำรวม  จะต้องสังวรนะคะ ไม่ใช่ว่า จะเชื่อตามกันง่ายๆ หรือเชื่อเพราะเขามีคนนับถือกันมาก อย่างนี้ก็ไม่ได้  เพราะพุทธศาสนานี้ไม่ใช่อยู่ที่ปริมาณ แต่อยู่ที่คุณภาพค่ะ อันนี้เป็นความสำคัญ นี่สำหรับว่าเข้าถึงมรรคนะคะ เพราะฉะนั้น เวลานี้ดิฉันก็รู้สึกว่า โลกุตตรกุศลนะคะ คือมรรค ๔ นี่น่ะ เอาตั้งแต่มรรคที่ ๑ ขึ้นไป ก็รู้สึกว่าลำบากเต็มที ทีนี้สำหรับตัวดิฉันนี่ ดิฉันรู้สึกลำบากมาก เพราะฉะนั้นตัวเราที่จะเข้าถึง อันนี้ก็เป็นของยากลำบากเต็มที ไม่ใช่ของง่ายเลย แต่ว่าเราสังเกตดูเวลานี้ ก็รู้สึกว่า มีคนถึงมรรคผลกันมาก ไม่ใช่ถึงแค่ปฐมมรรคนะคะ สกทาคามีก็มี อนาคามีก็มีเยอะ พระอรหันต์ก็มีเยอะ อย่างนี้น่ากลัวที่สุดเลย  ถ้าคนยังไม่ถึงเสียอีกซิ ไม่ค่อยน่ากลัว คนถึงนี่นะ น่ากลัวที่สุดเลย เพราะถ้าคนยังไม่ถึง ก็ต้องหาทางให้ถึงได้  ใช่ไหมคะ ถ้าถึงแล้วก็เลยเลิก  ปิดหนทางกันเลย นี่อันนี้ก็ลำบากเหมือนกัน เพราะมรรคสัมมาทิฏฐิ  นี่น่ะ  ไม่ใช่ถึงกันง่ายๆ  แต่ว่าสำหรับพวกเรานี่น่ะ มีหวังนะคะ ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนนี่น่ะ  ถ้าเราจะพูดแล้วละก็ ถ้าพวกเรานี่ไม่สามรถจะเข้าถึงได้ หรือไม่เข้าใจทางที่จะเข้าถึงโลกุตตรได้แล้ว ก็จะเอาใครเล่า ก็ดูน้อยที่สุดแล้วนี่น่ะ ที่มานั่งอยู่ในนี้น่ะ ก็น้อยเหลือเกิน  เพราะฉะนั้นพุทธศาสนานี่น่ะ ถ้าไม่มีให้แก่พวกเราไว้ พระพุทธศาสนานี่ หมายถึงได้มรรคผลนะคะ คือแสดงถึงว่า การที่ตัวจะได้มรรคนี่น่ะ ได้ ๕ พันปีเท่านั้น ถ้านอก ๕ พันปีแล้วน่ะ กุศลอื่นยังมีอยู่ แต่ว่ามรรคผลเท่านั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้ ทีนี้ถ้าได้ ๕ พันปีนี่น่ะ เราคิดหรือว่า ๕ พันปีนี่น่ะ คนตั้งเยอะแยะ ท่านนึกหรือว่า  มรรคผลยังเกิดได้ ท่านลองคิดดูทีหรือว่า ถ้าไม่เกิดกับคนอย่างพวกเรานี่แล้วจะไปเกิดกับใคร เรานึกอย่างนี้แล้ว น่าพอใจนะคะ เราก็เห็นมีกันไม่กี่คนนี่น่ะ คนศึกษาหรือว่าสนใจธรรมะจะมีที่ไหนล่ะ  นอกจากพวกเรา อันนี้ก็น่าจะภูมิใจนะคะ ว่าเราจะต้องได้ แต่ก็อย่าประมาทนะ สองพันห้าร้อยปีมาแล้ว  ปีหน้าก็ ๒๕๑๐ แล้ว เหลืออีกไม่ถึงครึ่งหรอกค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราอาจจะได้ก็จริง แต่จะต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทนะคะ ถ้าประมาทแล้ว ก็ไม่มีหวังเลยว่าจะได้ ถึงแม้ว่าธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมที่ควรจะเกิดได้ง่ายก็จริง แต่ถ้าตั้งอยู่บนความประมาทก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น  ถ้าเราอยู่บนความไม่ประมาท เราก็มีหวังที่จะได้ เว้นแต่เราอยากจะได้หรือไม่อยากได้  ดิฉันก็คิดว่า เราทุกคนนี่น่ะ อยากได้แต่ว่าทุกคนจะอยากได้หรือเปล่าเท่านั้น เอาแต่เพียงเท่านี้ก็พอ อย่าเพิ่งไปถึงมรรคผลเลย ฉันทะ วิริยะที่พอใจในพระนิพพานนี่น่ะ ต้องมีกำลังเป็นอิทธิบาทนะคะ เรามีหรือเปล่า เอาแค่นี้ก่อน เรามีกำลังพอที่จะทวนกระแสของกิเลสได้หรือเปล่า ถ้าเรามี ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็มีหวังที่จะได้ อย่างนี้นะคะ ทำให้ฉันทะเกิดเสียก่อน นี่เราจะทำอย่างไรให้ฉันทะเกิด และวิริยะมีกำลัง ขั้นต้นทีเดียวนะคะ ที่เราจะเข้าถึงโลกุตตรกุศลนี้ได้ เราจะต้องทำถูกในเบื้องต้น ทำให้เกิดศรัทธา ให้เกิดฉันทะนะคะ ให้เกิดวิริยะความเพียรพยายามนี่น่ะ เป็นขั้นต้นทีเดียว เราจะทำอย่างไร เราถึงจะเกิดได้ เมื่ออันนี้เกิดแล้ว ทางที่จะเข้าถึงโลกุตตรกุศลก็ไม่ลำบากนะคะ เพราะโลกุตตรกุศลนี่ ก็เป็นสัมมาทิฏฐิที่ ๔ นะคะ เพราะอย่างนั้นก็ถ้าใครจะเข้าถึงสัมมาทิฏฐิอันนี้ได้  ก็เป็นการยากแล้ว ทีนี้ก็เมื่อเข้าถึงสัมมาทิฏฐิขั้นที่ ๔ นี่แล้ว ก็ต้องเข้าถึงขั้นที่ ๕ แน่นอน

          .  ผลสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิขั้นนี้  ไม่ลำบากนะคะ เมื่อเข้าถึงมรรคแล้ว ผลก็ต้องเกิดขึ้นเอง ไม่มีละที่เข้าถึงมรรคแล้วผลจะไม่เกิด  ไม่ได้เลยค่ะ ผลทั้ง ๔ นี้จะต้องเกิดในวิถีเดียวกันกับมรรคนั่นเอง แต่เป็นคนละขณะเท่านั้น เมื่อขณะมรรคเกิดขึ้น อุปาทะ ฐีติ ภังคะ มรรคจิตก็ดับไป แล้วต่อจากนั้น ผลจิตก็จะเกิดติดต่อกันไม่มีอะไรคั่นเลย ข้อสำคัญให้เราไปถึงมรรคก็แล้วกัน มรรคจิตนี่ เป็นโลกุตตรกุศล คือมรรคเป็นกุศล ส่วนผลนั้นเป็นวิบากที่เกิดติดต่อกันมา ถ้าจะพูดให้เข้าใจมากขึ้น ก็คือ มรรคเป็นกุศลกรรม ผลเป็นกุศลวิบาก แต่ว่า มรรค เป็นโลกุตตรกุศลนี้ ส่วนวิบากที่เป็นผล ก็ต้องเป็นโลกุตตรวิบาก ไม่ใช่โลกียวิบาก อันนี้แหละค่ะ ไม่สำคัญ ไม่สำคัญหรอก ผลนี่น่ะ  ต้องเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อมรรคเกิดแล้ว  ผลต้องเกิดติดต่อกัน ฉะนั้น  คำว่าอกาลิโก คือ คั่นผลไม่มีกาลนี่น่ะ ก็ขอให้ทราบโดยทั่วกันว่าอยู่ระหว่างมรรคกับผลเท่านั้น โดยเฉพาะเลยนะคะ ไม่ได้ไปใช้ในทางอื่นเลย อกาลิโก ไม่มีกาลนี่น่ะ ไม่ใช่หมายถึงว่า กลางวัน กลางคืน วันเดือนปี ไม่ใช่นะคะ ไม่มีกาลในที่นี้ ไม่ใช่หมายถึง กลางวันและกลางคืน หมายถึง กาลระหว่างขณะจิตของมรรค แล้วผลก็ติดต่อกัน ในคุณธรรมที่เป็นอกาลิโกน่ะ  ใช้คำว่าอกาลิโก ใช้เฉพาะในคุณธรรม คือมรรค ๔ ผล ๔ ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ หรือนวโลกุตตรธรรม ๙ เท่านั้นเอง ไม่มีในที่อื่นอื่นเลย เพราะฉะนั้น ขอให้เข้าใจในที่นี้ว่า เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เข้าใจว่า  พระพุทธศาสนาไม่มีกาล ทำเมื่อไรก็ได้ ทำปีนี้ก็ได้ ทำปีหน้าก็ได้ ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ หมายถึงว่าอกาลิโกธรรม นี่เป็นชื่อของมรรคนะคะ เพราะว่ามรรค ๔ นี่ให้ผลไม่มีระหว่างคั่นเลย ธรรมนอกนั้นไม่มี ใครจะมาให้ผลติดต่อกันเดี๋ยวนั้นไม่มีเลย อย่างน้อยก็ต้องผ่านจิตอื่น ๆ ไป วิบากถึงจะเกิดได้ แล้ววิบากก็เปลี่ยนบุคคลไม่ได้  บุคคลนี่ หมายถึงว่า เวลานี้เราเป็นปุถุชนใช่ไหมคะ แล้วก็ชาติหน้าเราจะเปลี่ยน เราจะทำกุศลอะไรให้ชาติหน้าเปลี่ยนเป็นอริยบุคคล ที่เปลี่ยนไม่ได้ อย่างว่าเป็นสัตว์เดียรัจฉานชนิดใหนก็ตาม ก็ต้องเป็นไปจนถึงตาย จะมาเปลี่ยนเป็นบุคคลไม่ได้เลย มีโลกุตตรกุศลอันเดียวเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนบุคคลให้เป็นอริยบุคคลในภพนี้ได้ ทำไมถึงเปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่า บุคคลนี่น่ะ ท่านต้องเข้าใจด้วยนะคะ คำว่าบุคคลนี่น่ะ หมายถึงอะไร หมายถึงตรงไหน  ที่เขาเรียกกันว่า บุคคลน่ะ หมายความถึง ปฏิสนธิจิตนะคะ ปฏิสนธิจิตนั้นน่ะ เป็นอะไรอย่างไหนแล้ว บุคคลนั้นก็เป็นไปตามนั้น  ถ้าปฏิสนธิเป็นทวิเหตุ ก็เรียก ทวิเหตุกบุคคล ถ้าปฏิสนธิเป็นไตรเหตุ ก็เรียกว่าเป็น ติเหตุกบุคคล ถ้าเป็นอเหตุก็เรียก อเหตุกบุคคล อย่างนี้เรื่อยมาจนกระทั่งตาย ถ้าปฏิสนธิอย่างไรตายก็อย่างนั้น หมายความว่า  หมาเกิดแล้วหมาก็ตาย ไม่ใช่ว่าหมาเกิดแล้วก็บุคคลตาย คนเกิดก็ต้องเป็นคนตาย หมาเกิดก็ต้องเป็นหมาตาย มันต้องตรงกันอย่างนี้ใช่ไหมคะ  แต่ว่าโลกุตตรกุศลเท่านั้นนะ ให้ผลได้ทันตา เป็นปุถุชนอยู่แล้ว เมื่อปฏิสนธินำมาน่ะ เป็นปุถุชนแล้วพอมาถึงกุศลอันนี้ แล้วเปลี่ยนปุถุชนให้เป็นอริยบุคคลได้อย่างน่าอัศจรรย์ที่สุดเลย เห็นไหมคะ ไม่มีเลยจะมาให้ผลได้ในชาตินี้ ไม่มีเลย เช่นทำอนันตริยกรรมไว้แล้วไปนรก ไม่ได้ให้ผลในชาตินี้ ต้องไปชาติหน้า หรือเป็นเทวดาในชาตินี้ไม่ได้ เป็นคนก็ให้ผลในชาตินี้ไม่ได้ จะต้องไปให้ชาติหน้าอย่างมาก หรือว่าจะให้ผลในชาตินี้ได้ก็ต้องผ่านวิถีของชวนจิตไปแล้ว ที่จะให้มาติดต่อกันเหมือนกุศลในปฐมมรรค หรือในขณะมรรคเกิดขึ้นเป็นกุศล ผลเป็นวิบากให้ผลติดต่อกัน ในวิถีเดียวกันน่ะ  มีในที่ไหนบ้าง ท่านนักศึกษาเคยเรียนกันมาแล้วนะคะ มีที่ไหนบ้างไหม ไม่มีเลย ในวิถีเดียวกันนั้นไม่มีเลย วิบากกับกุศล หรืออกุศล จะมาเกิดในวิถีเดียวกัน  มีบ้างไหม ไม่มีเลย มีแต่โลกุตตรกุศลนี้เท่านั้น ที่แรงกล้ามาก เพราะฉะนั้นในคุณธรรมที่แสดงไว้ ตั้งแต่ สวากฺขาโต ภควตาธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก  นี่แน่ะ เป็นคุณธรรมของมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เท่านั้น  ไม่ใช่อันอื่น เพราะฉะนั้น ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ เข้าถึงแล้ว ทีนี้เมื่อมรรคจิตเกิดแล้ว ผลก็เกิดตามนะ อย่างมากก็ ๓ ขณะในมรรควิถีนะคะ  ๓ ขณะเท่านั้นเอง หรืออาจจะ ๒ ขณะก็ได้ แล้วแต่จะตรัสรู้ช้าหรือเร็ว  ถ้าคนตรัสรู้ช้าก็เกิด ๒ ขณะ เพราะว่า อนุโลมจะต้องเกิด ๓ ขณะ เพราะในชวนจิตนั้นเกิดได้ ๗ ขณะเท่านั้น ในวิถีนั้นถ้าหากอนุโลมเกิด ๓ ขณะ ผลจิตก็ต้องเกิด ๒ ขณะ จึงครบ ๗ ถ้าอนุโลมเกิด  ๒  ขณะ ผลจิตก็เกิด ๓ ขณะอย่างมากทีเดียว ก็เสวยผลคือมีนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนกัน เรียกว่าโลกุตตรจิต แต่ว่าเป็นวิบาก  ไม่ใช่กุศลนะคะ โลกุตตรวิบาก เขาว่าอย่างนั้นใช่ไหมคะ ทีนี้พอจบแล้วสุดวิถี หมดแล้ววิถีทางที่จะเข้าถึงโลกุตตรน่ะ หมดแล้ว แจ้งแล้ว แปลว่า ผู้นั้นแจ้งแล้ว อริยสัจ ๔ ก็ถึงสมบูรณ์แล้วทุกอย่าง กิจของอริยสัจ ๔  ก็สมบูรณ์ ญาณที่เกิดในอริยสัจ ๔ ก็สมบูรณ์ แปลว่า ถ้าสมบูรณ์ทั้งหมดกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้เกิดขึ้น แล้วก็ทำกุศลให้ถึงพร้อม  เพราะฉะนั้น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๓ ข้อ ใคร ๆ ก็ได้ยินใช่ไหม  แล้วก็ทำกุศลให้ถึงพร้อม กุศลที่ถึงพร้อมในที่นี้ หมายถึงโลกุตตรกุศลนะคะ ก็กุศลน่ะ มีกามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล  และโลกุตตรกุศลพร้อม ทำมาถึงโลกุตตรกุศล แสดงว่ากุสลนั้นถึงพร้อมแล้วทุกอย่างนี่น่ะ ที่ใน ๓ ข้อนั้น ใช่ไหมคะ และจิตก็บริสุทธิ์แล้ว เมื่อกุศลถึงขั้นโลกุตตรแล้ว เพราะชำระกิเลสให้หมดไปจากใจ ก็ถึงความบริสุทธิ์  ทีนี้เมื่อกุศลถึงแล้วใช่ไหมคะ ผลจิตเกิด ๓ ขณะ ทีนี้เมื่อผลจิตเกิด ๓ ขณะนี่น่ะ ไม่ใช่ว่า ผู้ประพฤติจะไม่รู้อีกนะ เวลาที่เสวยนิพพานเป็นอารมณ์น่ะ ผลจิตน่ะ ทั้งมรรคและทั้งผลประกอบด้วยปัญญา และไม่ใช่ปัญญาโลกียด้วย เป็นปัญญาโลกุตตร ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ของปัญญา ในขณะนั้นก็ต้องรู้เหมือนกัน ต้องรู้คะ ผ่านไปก็ต้องรู้ พอหมดวิถีของโลกุตตรแล้ว ก็เป็นอันว่าหมดกัน ก็คงจะเหลืออยู่แต่ปัจจเวกขณะวิถี

        . ปัจจเวกขณะสัมมาทิฏฐิ พอต่อจากผลจิตแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากจุดที่ถึงผลจิตแล้ว จิตนั้นก็ดับลง ภวังคจิตอย่างเดิมเหมือนเก่า แต่ว่านับแต่วันนั้นไป จิตที่เกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด เป็นโสดาบันหมด เป็นจิตของพระโสดาบันทั้งนั้น ที่เกิดหลังจากมรรคผลแล้ว  คือหลังจากโคตรภูมาแล้ว ได้เป็นอริยบุคคลทั้งหมดเลย แม้แต่โลภ โกรธ หลง ก็เป็นอริยบุคคล ที่ยังละไม่หมดนั่นน่ะค่ะ ก็ต้องเป็นอริยบุคคลเหมือนกัน แต่ทีนี้ ถ้าเราไม่เข้าใจนี่น่ะ ถ้าหากว่าโลภ โกรธ หลง เป็นโสดาบัน เราก็บอกว่าโลภ โกรธ หลงนี่น่ะ เป็นโสดาบัน เราคงไม่ยอมใช่ไหมคะ แล้วจะให้ใครเป็นล่ะ โสดาบัน ถ้าไม่ยอมให้พวกนี้ แล้วก็จะต้องเอาอันไหน เอามรรคจิต ผลจิต เกิดแล้วในชาตินั้น ไม่เกิดอีกเลย ตลอดจนกระทั่งเข้านิพพาน ถ้าโลกุตตรจิตไม่เกิดก็ไม่ใช่โสดาบันซิ อย่างนั้นใช่ไหม กลับไปเป็นปุถุชนอย่างเก่าอีกใช่ไหม ไม่ใช่นะคะ  ต้องเป็นตลอดไปเลยนี่น่ะ  ทีนี้เราไม่เข้าใจนะคะ เราไม่ยอมนะคะ  ใครอย่ามาพูดว่า โลภ โทสะ โมหะ  เป็นโสดาบันเลย เราคงไม่ยอม  ถึงได้ให้เราเข้าใจกันไว้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นโสดาบันน่ะ ต้องเกิดหลังจากมรรคผลแล้ว จิตที่เกิดหลังจากมรรคผลแล้ว จะเป็นกุศล อกุศล กิริยา อะไรก็ตามเถอะ เป็นโลกียจิตนะคะ แล้วก็ต้องเป็นพระอริยบุคคลทั้งหมดเลย ถ้าเราไม่เอา นี่ก็บุคคลไม่มี ก็ไม่มีคน  และปฏิเสธสัตว์บุคคลแล้วมิใช่หรือ แล้วจะตั้งใครเล่า บุคคลที่ไหนเป็นโสดาบัน ก็เอาธรรมเหล่านี้แหละตั้งขึ้นเป็นบุคคล เพราะฉะนั้นก็เป็นที่พึ่งแล้ว ถึงแม้จะมีความโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นก็ตาม กระแสของโลภ โกรธ หลง นั่นก็ไม่มีอำนาจที่จะลากไปสู่อบายได้ ไม่มีเลย ของท่านเบาบางลงไปแล้วนะคะ พอปัจจเวกเกิดขึ้นก็พิจารณามรรค  ผล นิพพาน  กิเลสที่ละแล้ว  กิเลสที่ยังไม่ได้ละ  อันนี้ต้องปัจจเวกที่เป็นโลกียะแล้ว เป็นโลกียจิต แต่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุต ๔ ดวงนั่นน่ะ ดวงใดดวงหนึ่งจะเป็นโสมนัส หรืออุเบกขา ดวงใดดวงหนึ่งก็ตามเถอะ ทีนี้ก็เกิดขึ้นเพื่อพิจารณารู้

        เพราะฉะนั้น เราคิดถึงว่า ถ้าหากว่า เวลาบรรลุมรรคผลนั้นน่ะ ไม่รู้ ใช่ไหมคะ ไม่รู้แล้วตอนถึงปัจจเวกนี่ เราจะพิจารณาอย่างไร ในที่นั้นน่ะ ไม่รู้ก็ไม่มีอะไรพิจารณา จำก็ไม่ได้ จำไม่ได้ไม่รู้เลย  แต่รู้สึกมันเหมือนฝัน แล้วก็ไม่รู้ว่า มันฝันอะไรอย่างนี้น่ะ แล้วเอามาพิจารณาว่า โอ ! เมื่อคืนดิฉันฝันว่าอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ได้นะคะ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาน่ะ อะไรบ้างต้องรู้ตอนปัจจเวกนี่ ต้องรู้แล้ว  เป็นญาณสัมปยุต เพราะปัญญาที่พิจารณาปัจจเวกนี้ ท่านสงเคราะห์เป็นญาณทัสสนวิสุทธิ สงเคราะห์อยู่ในญาณทัสสนวิสุทธินะคะ ทั้งรู้ ทั้งเห็นแจ้ง เห็นถูก เพราะฉะนั้นปัจจเวกขณะสัมมาทิฏฐิ เห็นถูกว่ากิเลสใดที่ละไปแล้วก็รู้ และกิเลสใดที่ยังเหลืออยู่ก็รู้ อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็ยากแล้ว ทั้งๆ ที่กิเลสยังไม่หมดเลย ก็เข้าใจว่าหมด เข้าใจว่าตัวเป็นพระอรหันต์แล้ว ทั้งๆ ที่กิเลสยังอยู่  อย่างนี้เรียกว่า  เห็นไม่ถูกใช่ไหมคะ นี่น่ะ ปัจจเวกนั้นไม่ถูกแล้ว หรือว่ากิเลสอะไรหมดไปแล้วก็ไม่รู้ ไม่หมดก็ยังว่าหมดเสียอีก วิจิกิจฉาก็ดี สักกายทิฏฐิก็ดี เพราะไม่รู้ว่าอะไร สักกายทิฏฐิน่ะอะไร เวลามันเกิดขึ้นมีความรู้สึกอย่างไร วิจิกิจฉาน่ะอะไร เวลามันหมดไปแล้ว มันมีลักษณะอย่างไร เขาไม่รู้ทั้งนั้น แต่เขาก็บอกว่า เขาไม่มีแล้ว สักกายทิฏฐิและวิจิกิจฉา ๒ อย่างนี้ไม่มีนะ มันไม่มี ๒ อย่างใช่ไหมคะ คือว่า ไม่มีโดยละแล้ว ก็แปลว่าไม่มี หรือว่าไม่เหลืออยู่เลย ก็ไม่มีเหมือนกัน หรือว่าวิจิกิจฉาน่ะ รู้เสียจนแจ่มแจ้งก็ไม่มี วิจิกิจฉาก็ดับไปแล้ว แต่ว่าไม่รู้เลย ก็ไม่มีเหมือนกันนะ วิจิกิจฉาก็ไม่มี มันก็เลยเป็นได้ ๒ อย่าง กิเลสนี่ ถ้าไม่รู้ มันก็ไม่มีเหมือนกัน ฉะนั้น ดับกิเลสนะคะ คราวก่อนนี้ดิฉันมา ก็ยังมาพูดกันถึงเรื่องว่า ดิฉันไม่ยอมให้พูดว่า กิเลสดับใช่ไหม  คำว่ากิเลสดับ ไม่ให้พูด  ให้พูดว่าดับกิเลส ต้องเป็นอย่างนั้นนะคะ ไฟดับกับดับไฟ ความหมายมันไม่เหมือนกันใช่ไหม พระนิพพานนี่ ท่านบอกว่า เป็นธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ ใช่ไหม  ไม่ใช่พระนิพพานเป็นธรรมที่ทุกข์ดับ กิเลสดับ นี่น่ะ ไม่มีเลย  พระนิพพานที่จะใช้คำว่ากิเลสดับหรือทุกข์ดับไม่มี ต้องใช้คำว่าดับกิเลสหรือดับทุกข์ ที่ท่านใช้อย่างนี้ ๒ คำนี้มีความหมายไม่เหมือนกัน ก็การดับไฟนี่น่ะ แปลว่า ไฟยังมีอยู่ แล้วเราไปดับ ใช่ไหมคะ ดับด้วยการภาวนานี่แหละ ดับด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ดับให้หมดไปได้อย่างนี้ ที่ว่าไฟดับน่ะ มันไม่มีไฟแล้วใช่ไหม มันดับไปแล้วไม่มี และจะไปดับมันได้อย่างไรก็ไม่ได้ อันนี้นะคะ  เพราะฉะนั้นน่ะ ๒ คำนี่เท่านั้นนะ ยังมีความหมายแตกต่างกันเลย  ฉะนั้นเราต้องเข้าใจให้ถูกต้องเหมือนกันนะคะ

        เพราะฉะนั้น ตั้งแต่วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ มาจนถึงปัจจเวกขณะสัมมาทิฏฐิ นี่ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิที่ ๓ มาจนถึง สัมมาทิฏฐิที่ ๖ นี้นะคะ จะไม่มีภายนอกพุทธศาสนาเลย มีเฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็คงจะมีแต่พวกเราที่อยู่ในที่นี้นะคะ พวกเราก็ต้องพยายาม  ถ้าคนอื่น ดิฉันก็เห็นไม่มีหวังค่ะ เพราะว่าสุตมยปัญญาก็ไม่มีแล้ว เดี๋ยวนี้น่ะ อย่าว่าแต่ว่าจะมีสัมมาทิฏฐิทั้ง ๖ เลย จะหาสัมมาทิฏฐิในบุคคลนั้นยากเต็มที สัมมาทิฏฐิเดี๋ยวนี้จะหาเพียง ๑ หรือ ๒ สัมมาทิฏฐิ เวลานี้ก็เกือบจะหาไม่ได้อยู่แล้ว

        ฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงภูมิใจเถิด ว่าในจำนวนบุคคลที่หาสัมมาทิฏฐิได้ยากเย็นเต็มทีนั้น ก็ยังมีพวกท่านเท่านั้นแหละ ที่ยังเป็นผู้มีโชคดี ได้ลาภอันประเสริฐ คือเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา ได้สร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นในตน ย่อมเป็นเสบียงนำติดตนไปให้พ้นทุกข์ได้ ก็พอจะเข้าใจนะคะ พุทธศาสนาสอนให้เกิดสัมมาทิฏฐิทั้ง ๖ ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ อันเป็นความบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ของสัมมาทิฏฐิทั้ง ๖ ประการ นั่นเอง.  

 

                                                                                                           สวัสดีคะ