มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ โดย อ.แนบ มหานีรานนท์

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

โดย

อาจารย์แนบ มหานีรานนท์

 

v v v

 

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

 

v v v

 

สวัสดีค่ะ ท่านที่เคารพ

กังขาวิตรณวิสุทธิ จบลงแล้วนะคะ เมื่อคราวที่แล้วมา ฉะนั้น วันนี้ก็จะอธิบายเรื่อง “มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ”

กังขาวิตรณวิสุทธิน่ะ เป็นวิสุทธิที่ ๔ ที่ได้อธิบายมาแล้ว เป็นวิสุทธิที่หมดจดจากความสงสัยที่สงสัยว่า รูปนาม หรือคนสัตว์ในโลกนี้น่ะ มีผู้สร้างหรือเปล่า? นี่สงสัยอย่างนี้นะคะ ที่เข้าใจอย่างนี้นั้นน่ะ เพราะไม่รู้แน่ ความไม่รู้อันนั้น หมดไป คือ ความสงสัย ความกังขา หมดไป หมดจดจากความกังขา เรียกว่า วิสุทธิจากความกังขา ก็เป็นวิสุทธิของปัญญา นับแต่ ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นต้นไป

เพราะเหตุว่ามีปัญญา จึงได้เข้าไปรู้อย่างนี้ อันนี้ก็เป็นวิสุทธิของปัญญา ไม่ใช่อำนาจของศีล และก็ไม่ใช่อำนาจของสมาธิ ที่จะเข้าถึงกังขาวิตรณวิสุทธินี้ ก็จะต้องเข้าถึงด้วยปัญญา เพราะอำนาจของปัญญาที่เข้าไปรู้เหตุผลได้ถูกต้องแน่นอน แล้วความสงสัยอันนั้น จึงหมดไป

เพราะฉะนั้น วิสุทธิอันนี้ ก็เป็นไปด้วยอำนาจของปัญญา ถ้าหากไม่มีปัญญาแล้ว ก็จะเข้าถึงวิสุทธิอันนี้ไม่ได้ เพราะว่า มี อวิชชา เป็นผู้ปกปิดอยู่ อันนี้ต้องมีปัญญาทำลาย อวิชชา ความที่ตนไม่รู้นั้นเสียก่อน

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิที่จะพูดกันในวันนี้นะคะ ก็ได้ปัจจัยมาจากกังขาวิตรณวิสุทธิ คือว่า เมื่อหมดจดจากความสงสัยแล้ว ในเรื่องคน ในเรื่องสัตว์นี้ว่า ใครเป็นผู้สร้าง ?

เพราะว่า รู้แน่แล้วว่า คนสัตว์นั้น ไม่มีใครเป็นผู้สร้าง ไม่ได้เกิดด้วยอำนาจของใคร มีพระอินทร์ พระพรหม เป็นต้น แต่เกิดด้วยอำนาจของเหตุปัจจัยนั้นเอง

ถ้าหากว่า วิสุทธิที่ ๔ นี้ไม่มี คือเมื่อไม่มีความรู้อย่างนี้แล้ว วิสุทธิที่ ๕ คือมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ ก็เกิดไม่ได้ เพราะว่า รู้ถูกแล้ว เมื่อรู้ถูกแล้ว ปัญญาอันนี้ ก็พิจารณานามรูป ก็รู้ว่านามรูปนี้ เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยแล้ว

อันนี้น่ะ เวลานามรูปเกิดขึ้น ตัวก็รู้ ผู้ปฏิบัติพิจารณาการเกิดขึ้น ก็รู้ว่า นามอันนี้เกิดด้วยเหตุนี้ รูปอันนี้เกิดด้วยปัจจัยอย่างนี้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ที่จะรู้ปัจจัยนี้ ต้องรู้เวลาเกิด

เพราะปัจจัยนี้ ปรุงแต่งให้เกิดใช่ไหม? เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยแล้ว ก็ปรากฏขึ้น

เพราะฉะนั้น ธรรมอันใด ที่ปรากฏขึ้นแล้ว นอกจากพระนิพพานละก็ ธรรมอันนั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัยทั้งหมดเลย

ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยแล้ว ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเกิดไม่ได้ ใช่ไหม? เพราะธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดแต่เหตุ ย่อมมีเหตุเป็นแดนเกิด ถ้าไม่มีเหตุก็เกิดไม่ได้

เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง ก็ต้องเกิดด้วยเหตุปัจจัย เพราะการที่เข้าไปรู้ความเกิดอย่างนี้แหละ ก็เข้าถึงปัจจยปริคคหญาณ

เมื่อรู้ความเกิดแล้ว สัมมสนญาณ รู้ความดับ คือ เวลานั้น เมื่อนามรูปเกิดขึ้นก็รู้ เมื่อนามรูปเกิดขึ้นก็รู้ เพราะเกิดด้วยเหตุปัจจัย ก็รู้ล่ะ แต่ว่ารู้ขณะเกิดนะ ขณะที่เกิดน่ะ จะรู้เหตุปัจจัยของนามรูป ต้องรู้ขณะที่เกิด

ถ้านามรูปดับแล้ว จะรู้ได้อย่างไร? เพราะเหตุปัจจัยดับแล้ว ผลอันนั้น จึงดับ เพราะเหตุดับ ผลนั้นจึงดับ

เพราะฉะนั้น จะมารู้เหตุไม่ได้ในเมื่อผลนั้นดับแล้ว จะรู้ไม่ได้เพราะเหตุดับแล้ว ใช่ไหมล่ะ? การดับของนามรูปนี้ รู้จากเหตุปัจจัยไม่ได้ รู้ได้แต่ขณะนามรูปเกิด จึงรู้ว่า เกิดเพราะเหตุปัจจัย

เมื่อนามรูปดับแล้ว ก็แสดงว่า เหตุปัจจัยดับแล้ว แล้วตรงดับจะรู้ได้อย่างไร?

ทีนี้ การรู้นามรูปเกิดนี้ อยู่ในปัจจยปริคคหญาณนะคะ เพราะฉะนั้น จะชำระว่าเกิดด้วยอะไร? เกิดขึ้นด้วยใครสร้างขึ้น หรือใครบันดาลขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเมื่อตัวพิจารณาแล้ว จึงรู้ได้ว่า อ๋อ! เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ไม่ใช่เกิดขึ้นด้วยพระอินทร์ พระพรหม หรือใครบันดาลสร้างเลย

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็พิจารณาดับ นามรูปเกิดขึ้นทีไรก็รู้ แต่ว่า นามรูปดับ ยังไม่รู้

เรานี่น่ะ รู้ไหม นามรูปเกิด? ก็ไม่รู้ เกิดก็ไม่รู้ นามรูปดับรู้ไหม? ไม่รู้ ไม่รู้ทั้งสองอย่าง เกิดก็ไม่รู้ ดับก็ไม่รู้ใช่ไหมคะ ทำไมถึงเกิดขึ้นก็ไม่รู้? เพราะเราไม่ได้พิจารณาดูนี่ ว่าอะไรมันเกิดบ้าง รูปอะไร มันเกิดขึ้นกับเรา ขณะนี้ นามอะไรเกิดขึ้นกับเราขณะนี้ รู้ไหม? ไม่รู้ใช่ไหม เราไม่ได้พิจารณานี่ ได้ยินเกิดขึ้นเมื่อไร? รู้ละว่า ได้ยิน แต่ได้ยินน่ะ เกิดเมื่อไร ก็ไม่รู้ อาศัยเหตุปัจจัยอะไรบ้าง รู้ไหม? ไม่รู้ใช่ไหมล่ะคะ

ตาเห็นนี่ มันก็เห็นอยู่แล้วว่า เกิดตั้งแต่เมื่อไร เราก็ไม่รู้ ใช่ไหมล่ะคะ แล้วเมื่อเราไม่รู้ว่ามันเกิดเมื่อไร เราก็ยิ่งไม่รู้ว่า มันเกิดเพราะอะไร?

ทีนี้ เมื่อไม่รู้เกิดแล้ว แล้วเวลามันดับล่ะ? รู้ไหม? เวลามันดับ ก็ไม่รู้อีก ถ้ารู้ว่าดับละก็ ต้องเห็นอนิจจัง เห็นอะไรต่ออะไร ใช่ไหมล่ะ ดับเมื่อไร ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน

เพราะอะไร ถึงเป็นอย่างนั้น เพราะไม่ได้คอยจ้องดู ใช่ไหมล่ะ? เพราะเราไม่ได้คอยดูนี่!

ถ้าเราคอยดูอยู่นี่ เหมือนกับเราดูมดตัวนี้น่ะ เราคอยดูว่า มันจะเดินไปไหน เราก็คอยตามไปดู ใช่ไหมล่ะ? อ้อ! มดนี่มันเข้าไปในรูนั้น ช่องนั้นๆ และมดนี่ มันเกิดจากที่ไหนนะ? อ้อ! มันเกิดมาจากช่องนี้ มันเกิดจากรูนี้ อย่างนี้ เราก็รู้ได้ใช่ไหมล่ะ สมมุติว่าอย่างนี้ แต่ทีนี้เราไม่ได้ดูนี่

เมื่อเราไม่ได้ดูนี่ ก็แปลว่า ทั้งเกิดและทั้งดับน่ะ เราไม่รู้ทั้ง ๒ อย่าง

สำหรับผู้ปฏิบัตินี่ ต้องดู ต้องพิจารณาใช่ไหมล่ะคะ เอานาม มาคอยดูนาม คอยดูรูป พิจารณาตามจนกระทั่ง อ้อ! รูปอันนั้นเกิดขึ้นมาเมื่อไรก็รู้ นามอันนั้นเกิดขึ้นมาเมื่อไร ก็รู้ เพราะคอยดูอยู่ ใช่ไหมล่ะคะ?

ทีนี้ เมื่อรู้ว่า เกิดขึ้นมาแล้ว พอเกิดขึ้นมาก็รู้ว่า เกิดขึ้นมาแล้วใช่ไหม? แล้วเมื่ออันนั้นหมดไปเมื่อไร ก็รู้อีก ใช่ไหมล่ะ? อันนั้นหมดไปเมื่อไรก็ต้องรู้ เพราะเกิดขึ้นมาเมื่อไรก็รู้ เพราะธรรมอันนั้นตัวก็พิจารณาอยู่ ทีนี้ เมื่ออันนั้นมันดับไปเมื่อไร เราก็ต้องรู้อีกเหมือนกัน ก็กำลังดูอยู่นี่ เมื่อมันเกิดขึ้นมาเมื่อไร ตายลงไปเมื่อไร ก็ต้องรู้เหมือนกัน ใช่ไหมละคะ ?

เพราะฉะนั้น ต่อมาในสัมมสนญาณ ก็ต้องเห็นการดับ ในสัมมสนญาณนี่ เห็นความดับ ปัจจยปริคคหญาณ คือ กังขาวิตรณวิสุทธินี่ เห็นเกิด เห็นเกิดมาน่ะ เข้าถึงกังขาวิตรณวิสุทธิหรือยัง? ยังซี! ต้องมารู้เหตุปัจจัยเสียก่อน ว่าเกิดเพราะเหตุนั้นๆ ปราศจากสัตว์บุคคล ปราศจากอำนาจของใครๆ ทั้งนั้น ที่สร้างขึ้น ใช่ไหม?

ต้องรู้อย่างนี้เสียก่อน แล้วจึงตัดสินแน่นอนลงไปว่า ไม่มีสัตว์บุคคลแน่ ธรรมทั้งหลายเกิดด้วยเหตุปัจจัย แต่ก่อนก็อย่างนี้ ถึงแต่ก่อนมีภพมีชาติ นามรูปของเราก็เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยอย่างนี้ และนามรูปของเราต่อไปในอนาคตก็ต้องเกิดอย่างนี้ด้วยอาศัยเหตุปัจจัยอย่างนี้ แน่นอนอย่างนี้แล้ว ถึงจะเข้าถึงกังขาวิตรณวิสุทธิ

รู้ว่าเกิด แต่ไม่รู้ว่า เกิดเพราะอะไร? วิสุทธินี่ก็เข้าไม่ถึง เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัตินี่ จะต้องมีวิสุทธินี่เป็นบรรทัดเลย

ถึงแม้จะมีวิปัสสนา มีปัญญา แต่ยังไม่เข้าถึงวิสุทธิก็ได้ ก็เป็นอันว่า ปัญญานั้น ยังไม่เข้าทางเหมือนกัน ยังนับว่า เป็นทางอันแท้จริง ที่จะดำเนินไปถึงพระนิพพานได้ จะต้องมี วิสุทธินี่เป็นบรรทัดฐานกำกับไป ความรู้อันนั้นแหละ จะต้องเข้าถึงวิสุทธิ หยั่งถึงวิสุทธิเสมอ มี ๗ อย่างอันนั้น ถึงจะเป็นไปได้

คราวนี้ เมื่อรู้ดับแล้ว ใช่ไหมคะ รู้เกิดญาณหนึ่ง รู้ดับญาณหนึ่ง ทีนี้ พอมาถึงอุทยัพพยญาณนี้ ทั้งเกิดและดับ พร้อมกันในอารมณ์เดียวกัน ก็ทำไมเล่า รู้เกิดก็รู้แล้ว รู้ดับก็รู้แล้ว ทำไมจะต้องมารู้ทั้งเกิดทั้งดับอีก น่าจะตั้งคำถามอย่างนี้ใช่ไหมคะ? ในนั้นน่ะ ท่านบอกอย่างนี้ว่า รู้เกิดน่ะ อันหนึ่ง เมื่อเกิดแล้ว อันนั้นหมดไปแล้ว มันหมดไป แล้วถึงรู้ทีหลัง คือมันหมดไปแล้ว เมื่ออันใหม่เกิดขึ้นมาแทน แล้วอันเก่าก็หมดไป นี่รู้อย่างนี้ ไม่ใช่อันเดียวกัน ไม่ใช่ในอารมณ์เดียวกัน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่า อารมณ์นั้นดับไปแล้ว อารมณ์ใหม่เกิดขึ้นมา นั่นแหละ ถึงรู้ แล้วรู้ว่าอันเก่าหมดไปอย่างนี้

ทีนี้ ส่วนในอุทยัพพยญาณนั้น ไม่ใช่อย่างนี้ อันนั้นยังเป็นอดีตอยู่ แล้วก็ลูบไล้ไปในอนาคต นี่ต่อไป ต้องเป็นอย่างนี้ อะไรๆ ก็ไม่เที่ยงนะคะ

แต่ส่วนในอุทยัพพยญาณนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น ในอารมณ์อันเดียวกัน รู้ทั้งอารมณ์อันนั้นเกิด และรู้ทั้งอารมณ์อันนั้นดับ เพราะว่า รู้ไม่เที่ยงก็จริงอยู่ ในสัมมสนญาณเห็นเหมือนกันว่า ดับ เห็นไม่เที่ยงเหมือนกัน เห็นไตรลักษณ์เหมือนกัน แต่ว่าความไม่เที่ยงนั้น ไม่ใช่สันตติขาด

ที่ไม่ใช่สันตติขาดในอารมณ์เดียวกันนะคะ อารมณ์นั้นหมดไปแล้ว แล้วก็อารมณ์ใหม่เกิดขึ้น ก็ไม่รู้ว่า อารมณ์เก่าดับ ไม่ใช่สันตติขาด

รู้ชนิดสันตติขาดน่ะ อารมณ์นั้นยังอยู่เหมือนกันที่เรากำลังนั่งอยู่นี่นะคะ แล้วก็กำลังดูรูปนั่งที่เราเห็นไม่เที่ยงนะ ต้องเห็นขณะที่เรากำลังนั่งอยู่ นี่สำหรับอุทยัพพยญาณนะ แต่ว่า ถ้าเราเปลี่ยนไปแล้ว ทีแรก เราจะต้องเห็นว่า นั่ง พอเราเลิกจากนั่งแล้วใช่ไหม เราลุกขึ้นยืน หรือว่า นอนก็ตาม รูปนอนเกิดขึ้นแล้ว รูปนั่งหมดไปแล้ว รูปนั่งนั้นไม่เที่ยงแล้ว ต้องรูปนั่งหมดไปแล้ว แล้วก็รูปใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว

แต่ส่วนอุทยัพพยญาณไม่ใช่อย่างนั้น เห็นรูปนั่งไม่เที่ยง ต้องเห็นกำลังนั่งอยู่ ยังไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบทเลย นี่คนละขั้นแล้วนะคะ

ทีนี้ว่า รูปนั่ง ที่เกิดขึ้นมาติดๆ กัน ทำไมเราจึงนั่งอยู่ได้นี่ สันตติของรูปนั่งสืบต่อในรูปนั่งนั้นน่ะ ติดๆ กัน เกิดขึ้นเร็วมาก แล้วก็รู้สึกว่ายังนั่งอยู่ๆ นี่น่ะ ต้องสันตติที่ติดต่อในอารมณ์เดียวกัน ในรูปเดียวกันนี้ขาดนั่นแหละ อุทยัพพยญาณต้องเห็นอย่างนั้น สันตติขาด จึงเห็นอนิจจัง นี่นะคะ โปรดฟังเหตุผล

ทีนี้ เมื่อท่านไปปฏิบัติแล้ว จะได้รู้เอง และสามารถจะตัดสินได้เองว่า ความรู้ของเรานี่ เข้าในขั้นไหน เข้าขั้นสัมมสนญาณ หรือเข้าขั้นอุทยัพพยญาณ นี่ถ้าเราศึกษาให้เข้าถึงเหตุผลอย่างนี้ เวลาเราไปทำงาน เราจะตัดสินความรู้ของเราได้เอง

เพราะฉะนั้น คนที่เป็นอาจารย์ ต้องสามารถตัดสินอารมณ์ของศิษย์ ผู้ปฏิบัติได้เหมือนกัน

ฉะนั้น ที่เขาซักถามนี่ ว่าเห็นอย่างไร? เห็นเวลาไหน เห็นอะไร? อะไรต่ออะไร เขาซักละเอียด เขาซักถามน่ะ เพื่อเขาจะรู้ เพราะผู้ ปฏิบัตินั้นไม่ได้เล่าเรียนศึกษาใช่ไหม? แต่ว่า ปริยัติอาจจะไม่รู้ว่า การเห็นนี่ เข้าขั้นไหน? แต่สำหรับอาจารย์สอบกรรมฐานน่ะ รู้ว่าลูกศิษย์นี่ ถึงจะไม่รู้ปริยัติ แต่ก็สามารถจะรู้ได้ว่า ความรู้ที่เข้าไปรู้นี่ ในขณะนี้เข้าถึงขั้นไหน? อาจารย์ก็ต้องรู้ได้

ลูกศิษย์ จะไม่รู้ปริยัติ แต่ว่า สภาวะที่เข้าไปประสบ มันต้องรู้ เหมือนอย่างกับเราหยิบอะไร กินเข้าไปอย่างนี้ หยิบอาหารกินเข้าไป ถึงแม้จะไม่รู้ว่าอาหารนั้น มันชื่ออะไรก็ตาม รูปรสที่ปรากฏนั้นนะ ชื่ออะไร? หวาน หรือเค็ม รสนี้ก็ไม่นึกว่าจะหวานตามพยัญชนะ ตามหลักปริยัติ รสที่เกิดจากน้ำตาลนั้นน่ะ เขาเรียกว่า หวาน ผู้ปฏิบัติที่ไม่ได้ศึกษา อาจจะไม่รู้ว่า รสที่ตนปรากฏนั้น เขาเรียกว่า หวาน หรือน้ำตาลใช่ไหมคะ

เพราะเหตุนี้ ถึงแม้ว่า จะไม่รู้ว่า ชื่ออะไรก็ตาม ไม่รู้จักว่า เขาเรียกว่า อะไร แต่ว่า รูปรสที่ปรากฏแก่ลิ้นตัวนั้นน่ะ ต้องรู้สึก! ใช่ไหมคะ ต้องรู้สึกว่ามันมีอาการเป็นอย่างไร รสชาติมันปรากฏแก่ตัวอย่างไร นี่ตัวต้องรู้ แต่ว่า ไม่สามารถจะรู้ถึงบัญญัติได้ อันนั้นก็เป็นไปได้ แต่ว่า ก็บอกได้ลักษณะอันนั้นน่ะ เหมือนกับไปเห็นอะไรเข้าอย่างหนึ่ง ไม่รู้ว่าอะไร มันมีรูปร่างอย่างนั้น มันมีลักษณะอย่างนั้นใช่ไหมคะ แต่ว่า เรียกว่าอะไรไม่รู้ อะไรอย่างนี้น่ะ ไปเห็นสัตว์เข้าตัวหนึ่ง เอ๊! ไอ้สัตว์นี้ตัวอะไร มันชื่ออะไร ไม่รู้ แต่ว่ามาเล่าได้ จำได้ว่ามันมีรูปร่างอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น มันมีขนอย่างนั้น มันมีตาอย่างนั้น มันมีปากอย่างนั้น เล่าได้นะ แต่ว่าบัญญัตินั้นชื่ออะไร ก็อาจจะไม่รู้ได้อย่างนี้

เหมือนกับผู้ปฏิบัติก็เหมือนกัน อาจจะไม่รู้ชื่อก็ได้ เพราะฉะนั้น อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้เคยเดินแล้ว เคยปฏิบัติแล้ว ก็สามารถที่จะรู้ว่า ความรู้ที่ลูกศิษย์เข้าไปรู้นี้ อยู่ในขั้นไหน ก็สามารถที่จะรู้ได้

เมื่อเข้าไปเห็นในอุทยัพพยญาณ ทั้งเกิดและดับแล้วนะคะ นี่น่ะ ในอุทยัพพยญาณ มีทั้งเกิดและดับ

ทีนี้ การเกิดดับในอุทยัพพยญาณนี้น่ะ มีทั้งมรรค หนทาง และสิ่งที่ไม่ใช่หนทาง กิเลสก็ยังอาจจะเกิดในอารมณ์ของปัญญาที่เข้าถึงอุทยัพพยญาณแล้ว ได้เหมือนกัน เพราะว่า เวลานั้นน่ะอินทรีย์นี้ สมาธิ อาจจะหนัก อาจจะมีกำลังมากกว่าปัญญาที่ปฏิบัติ

เมื่อสมาธิมีกำลังมากกว่า อารมณ์ของสมาธิก็ปรากฏเด่นชัด เช่น มีความสุข หรือเมื่อทำไปสมาธิก็กล้า ปัญญาก็มี แต่เมื่ออารมณ์ของสมาธิมันหนักไป อารมณ์ของปัญญาก็ไม่ปรากฏ

เหมือนกับเราทำกับข้าว ถ้าเราใส่เค็มมากลงไป รสเปรี้ยวมันก็ไม่ปรากฏ ชิมทีไร ก็เจอะแต่เค็มทุกที ชิมทีไร ก็เจอะแต่เค็มทุกที อย่างนี้ แต่รสเปรี้ยวมีไหม? มี! ในที่นั้นก็มี แต่เปรี้ยวน่ะมันไม่ปรากฏ เพราะเค็มมันมากไป

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัตินี่ ถ้าอินทรีย์มันไม่เสมอกัน มันก็เกิดความรู้สึกในอารมณ์อย่างหนึ่ง คือสมาธิแก่ขึ้นมาละก็ อาจจะมีความรู้สึกเยือกเย็น หรือเกิดแสงสว่าง เกิดทำให้มีความสุขใจ ปลอดโปร่ง มีสติ บางทีที่เกินนี่ เกินเพราะมีสติมาก เพราะสติก็เป็นองค์ของสมาธิ ใช่ไหมคะ วิริยะก็เป็นองค์ของสมาธิ มีความเพียรแรงกล้า เกินไปก็ได้

ทีนี้ เมื่ออันไหนมันเกินไป ไม่เสมอกัน มันก็ไม่พอดี ใช้ไม่ได้นะคะ ก็อารมณ์นั้นน่ะ จิตก็ตกไปในอารมณ์นั้น ทำให้เข้าใจผิด เพราะไม่รู้นี่ ว่าอารมณ์นี้ มันเป็นอารมณ์ของสมาธิ หรือมันเป็นอารมณ์ของปัญญา ทีนี้ ผู้ปฏิบัติก็ยังไม่เคยพบเห็น แล้วก็ยังไม่เคยปฏิบัติด้วย ทั้งปริยัติก็อ่อน การศึกษายังไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงเหตุผลนั้น ก็ทำให้รู้สึกไปอีกอย่างหนึ่งว่า แหม! มีความสุข เข้าไปพบความสุข ความเยือกเย็น ความอะไรต่ออะไร ไม่เคยพบเลย ดีใจ ดีใจแล้ว แหม! เราเห็นธรรมะแล้ว เราได้พบธรรมะแล้ว ใช่ไหม?

แต่ว่า อารมณ์นั้นน่ะ มันเป็นข้าศึกกับปัญญา ก็ทำความพอใจให้เกิดในอารมณ์นั้นได้ กิเลสก็เกิด กิเลสเป็นที่อาศัยแล้ว นี่ไม่เป็นวิสุทธิ ไม่เข้าถึงวิสุทธิแล้ว ใช่ไหมคะ

กิเลสก็เป็นที่อาศัย พอใจในสิ่งที่ตัวพบนั้น

เมื่อความพอใจเกิดขึ้น ถามว่า พอใจอะไร? พอใจในขันธ์นั่นเอง พอใจในนามรูปนั้นเอง ไม่ใช่พอใจอื่นหรอก มีสติ ปัญญา มีปีติ มีฉันทะ มีอะไรต่ออะไร ที่เกิดในที่นั้นนะคะ มีสมาธิ ก็รู้ว่าเป็น นามธรรม รูปธรรมทำให้ร่างกายนี้เบาโปร่ง แหม! เดินอย่างนี้ รู้สึกว่า ตัวจะลอยไปเชียว นี่เกิดพอใจในรูปอีก ไม่ใช่พอใจในอย่างอื่น ก็พอใจในนามรูปนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ความพอใจนั้นก็เป็นกิเลส อาศัยเกิดขึ้นในที่นั้นได้ ทีนี้ ถ้าหากว่า มีอาจารย์ ก็ไปเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ที่เข้าใจก็รู้ว่า นี่จิตตกไปเสียแล้วจากอารมณ์ที่ถูกของวิปัสสนา แลเห็นความที่ถูกนั้นตกไปแล้ว

ทีนี้ อาจารย์ก็ต้องมีวิธีแก้ไข ถ้าแรงเกินไปในที่นั้น อารมณ์นี้ เพราะอำนาจอะไรเกินไป อะไรหย่อนไปในความรู้สึกอย่างนี้

อาจารย์ก็ต้องเข้าใจแก้อารมณ์นั้น อะไรเกินไปก็ต้องมีวิธี ทำให้อารมณ์นั้นถอยลงมา อะไรอ่อนไป ก็ต้องบำรุงอันนั้นให้มากเสมอกัน นี่อย่างนี้ ต้องมีวิธีค่ะ นี่สำหรับที่เหมือนกันนะคะ

ถ้าหากว่า ท่านไม่ต้องมีอาจารย์ ท่านเข้าใจการศึกษานี่ เป็นพระสูตร เข้าใจเหตุผลและหลักฐานของปริยัติดี ที่วางไว้อย่างนี้ได้เป็นจิตใจอย่างไหน

ทีนี้ เมื่อจิตใจเราเข้าไปถึงจิตใจอย่างนั้น ความรู้อารมณ์อย่างนั้นได้ปรากฏขึ้นแล้ว ท่านตัดสินได้ทีเดียวว่า นี่ไม่ใช่ !

เมื่อความรู้นั้น แม้แต่จะรู้เอง หรือไปรู้มาจากอาจารย์ก็ตาม เมื่อรู้อย่างนั้นแล้ว พออารมณ์นี้เกิดขึ้น อารมณ์นี้เกิดขึ้น ถ้าไม่รู้ใช่ไหม? ตัวไม่รู้ และความพอใจก็เกิดขึ้นในอารมณ์นั้น

เมื่อความพอใจเกิดขึ้น ในอารมณ์นั้น ชื่อว่าในที่นั้นไม่เป็นวิสุทธิ เพราะความพอใจนั่นเอง ยังเป็นกิเลสอยู่ ตัณหาและทิฏฐิยังอาศัยเกิดขึ้นได้ในอารมณ์นั้นได้อยู่ ก็ไม่เข้าถึงวิสุทธิ

แต่เมื่อใด จะเป็นปัญญาของตนเองได้มาจากการศึกษา หรือจะได้มาจากอาจารย์ก็ตาม ตัดสินได้ พออารมณ์นั้นเกิดขึ้น ก็ตัดสินได้ทันทีว่า อันนี้ไม่ใช่ทางแล้ว

อารมณ์ที่ไม่ใช่ทางน่ะ ต้องมีความรู้สึกอย่างนั้นเชียว อะไรเล่า ที่ได้มาจากอุทยัพพยญาณนั่นแหละ

การเห็นความเกิดขึ้น และดับไป ของรูปและนามที่เป็นปัจจุบันอยู่เฉพาะหน้านั้นเอง

นี่แหละ เราต้องอาศัย อารมณ์นี้ถึงจะถูก แต่อารมณ์นี้ ทำให้เรารู้สึกเยือกเย็น โปร่งเบา อะไรต่ออะไร จิตใจ สว่าง สะอาด สงบ อะไรอย่างนี้นะ ตัดสินทีเดียว บอกว่า ไม่ใช่

เมื่อปัญญาอันนี้เกิดขึ้นตัดสินได้แน่นอนแล้ว นั่นจึงจะเข้าถึง มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

ถ้าปัญญาอันนี้ยังไม่เกิดแล้ว ตัดสินไม่ได้ ยังตัดสินไม่ได้ ก็ยังไม่เข้าถึงวิสุทธิอันนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติต้องมีความเข้าใจอย่างนี้ด้วย ถึงไปได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ คงจะต้องไปติดสุขอยู่ตามอารมณ์นั้น โดยมากมาจากสมาธิค่ะ นี่แหละ ที่เป็นอันตราย คือเป็นกิเลสของวิปัสสนาเท่านั้นนะคะ ไม่ใช่เป็นในสิ่งอื่น

เพราะอารมณ์นี้ เกิดจากกุศลนะ ไม่ใช่เกิดจากอกุศล เกิดจากสมาธิ สมาธิที่เป็นกุศลธรรมนะคะ เป็นกุศลเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่ทาง ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะนำไปให้ถึงพระนิพพาน

กุศลบางอย่างนะ ไม่ใช่จะเป็นกุศลทุกอย่างที่จะเป็นปัจจัยไปให้ถึงพระนิพพาน ไม่ใช่อย่างนั้น กุศลบางอย่างไม่เป็นก็ได้ เป็นปัจจัยให้ไปเกิด เป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง หลายอย่างเหมือนกัน แล้วก็กุศลบางอย่างเป็นปัจจัยให้เป็นอริยบุคคล มีโสดาจนถึงพระอรหันต์ ก็ได้มีหลายประเภทด้วยกัน ก็เป็นกุศลเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนจริงๆ แล้ว น่ากลัวติด น่ากลัวไปไม่พ้น น่ากลัวตัดสินไม่ได้

ถ้าตัดสินไม่ได้แล้ว ก็ไม่ใช่ถึงวิสุทธิ

เมื่อไม่ใช่ถึงวิสุทธิ อันนี้ละก็ไป ไม่ได้แน่นอนละค่ะ ถึงไม่ได้แน่นอนพระนิพพาน

เพราะพระนิพพาน จะต้องมีวิสุทธิถึง ๗ นี่วิสุทธิที่ ๕ เท่านั้น อีก ๒ วิสุทธินี่ ขึ้นไม่ได้

เมื่อขึ้นอีก ๒ วิสุทธิ ไม่ได้ จิตก็ถึงพระนิพพานไม่ได้เหมือนกัน

นี่แหละค่ะ โปรดฟังให้เข้าใจเหตุผลไว้บ้าง แล้วท่านผู้ที่ปฏิบัติแล้ว เมื่อได้ฟังอย่างนี้แล้วนะคะ ผู้ปฏิบัติคงย่อมผ่านอารมณ์เหล่านี้มาบ้าง คงจะได้เคยผ่านมาไม่มากก็น้อย มันมีหลายอย่างนะ มีตั้ง ๑๐ อย่าง

ความรู้สึกที่เป็นที่อาศัยของกิเลส มีตั้ง ๑๐ อย่าง แต่อารมณ์ดีๆ นะ ที่จริง ถ้าเราตายไปในอารมณ์นั้น เวลานั้น

น่ะ ไม่ตกหรอก นรกน่ะ ไม่ตกเลย ไม่ไปนรกเลย เพราะอารมณ์นั้นเกิดจากสมาธิ จิตประกอบด้วยสมาธิ หรือจะไปนรกได้อย่างไร ไปไม่ได้

แต่ว่า ไปนิพพานไม่ได้ เท่านั้นแหละ ไปสวรรค์ ไปพรหมได้ แต่ไปนิพพานไม่ได้ เท่านั้นเอง ใช่ไหมคะ?

เพราะฉะนั้น อย่าไปนึกว่า ถ้าไปสวรรค์ได้แล้ว จะต้องไปนิพพานได้ เหตุมันคนละอย่างผลมันก็ต้องคนละอย่าง

เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ถึงจะเข้าถึงวิสุทธิ คือ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ได้

เท่าที่ดิฉันได้อธิบายมาแล้วนะคะว่า จิตที่รู้ปัจจัย ที่รู้ปัจจัยของนามรูปนี่ จะพูดแต่สิ่งที่พอจะติดตามกันได้เท่านั้น เช่น การกำหนดอิริยาบถเป็นต้น ก็จะรู้ว่า รูปนั่งนั้น เกิดขึ้น เพราะจิตเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะให้เกิดขึ้นของอิริยาบถทั้งหลาย มีรูปนั่ง เป็นต้น อันนี้ท่านก็พอจะพิสูจน์ตามได้แล้วใช่ไหมคะ ว่าอิริยาบถต่างๆ นี่แหละ ถ้าไม่มีจิตเสียอันเดียว อิริยาบถไม่มี ใช่ไหมคะ นี่อันนี้อย่างง่ายที่สุดแล้ว

เพราะจิตคิดจะนั่ง หรือต้องการจะนั่ง รูปนั่งจึงเกิดขึ้น นี่รู้แล้วซินะว่า รูปนั่งเกิดเพราะอะไร? อะไรเป็นปัจจัย มีจิตเป็นปัจจัย จิตต้องการจะนั่งไม่ใช่ว่า เกิดเองเฉยๆ ถ้าไม่มีจิตก็เกิดไม่ได้ ไม่มีปัจจัยอย่างนั้น เกิดไม่ได้เหมือนกัน อิริยาบถก็ไม่มีนะคะ

เพราะจิตอยากจะนั่ง รูปนั่ง จึงมีขึ้น ถ้าหากว่า ไม่ต้องการจะนั่ง รูปนั่งก็จะไม่เกิดขึ้น ปัญญาที่รู้อย่างนี้ เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ นี่ก็เป็นวิปัสสนาอันหนึ่งนะคะ วิปัสสนาเป็นปัญญาขั้นที่ ๒ และเป็นญาณขั้นที่ ๒ ในวิปัสสนาญาณ คือ ญาณที่รู้เหตุปัจจัยที่ให้นามรูปเกิด แต่ยังไม่เห็นความดับ

นี่สำหรับรูปใช่ไหมคะ? ทีนี้สำหรับนามล่ะ การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รสนี่น่ะ ก็ต้องมี รูป คือ มีอารมณ์ มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส ใช่ไหมคะ?

ถ้าไม่มีรูปพวกนี้ ก็เห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ มันไม่มีอะไร จะมาเป็นปัจจัยให้เห็น ให้ได้กลิ่น ให้รู้รส ไม่มีรส นี่ ลิ้นจะรู้รสได้ไหม? ชิวหาวิญญาณน่ะ จะเกิดขึ้นมารู้รสได้ไหม? ไม่ได้ ใช่ไหมคะ?

ไม่มีเสียง โสตวิญญาณเกิดได้ไหม? ไม่ได้! ไม่มีรูป จักขุวิญญาณเกิดได้ไหม? ไม่ได้

นี่เพราะนามเหล่านี้ ที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยรูปเป็นปัจจัย อย่างนี้ เพราะว่าตามดูอยู่

ที่รู้อย่างนี้ ก็เพราะเหตุว่า ต้องตามดูนามรูปอยู่

ฉะนั้น คนทำวิปัสสนานี่ ที่สำคัญ จึงต้องเข้าใจนามรูป เข้าใจนามรูปแล้ว จึงต้องกำหนดนามรูปด้วย

ถ้าไม่กำหนดนามรูป ปัญญาอย่างที่อธิบายมานี้ ก็ไม่สามารถจะเกิดได้ เพราะว่าไม่มีเหตุใช่ไหม? ต้องทำเหตุให้ถูก

ค่ะ ผลถึงจะเกิดได้ เห็นแต่เกิด แต่ยังไม่เห็นดับ เพราะเหตุว่า ปัญญาในขั้นนี้ยังอ่อนอยู่ ยังต้องกำหนดนามรูปอยู่อีกต่อไป จนกระทั่งเห็นความดับของนามรูป ที่ตนเห็นเกิดนั้น ที่เห็นเกิดขึ้นในปัจจยปริคคหญาณ คือเห็นในญาณนี้ หรือในกังขาวิตรณวิสุทธินั้น

แต่ว่า การดับของนามรูป ที่ตนเห็นในตอนนี้ เป็นความเห็นที่อยู่ในขั้นของสัมมสนญาณ เป็นญาณที่ ๓ ในวิปัสสนาญาณ ๑๖ ยังไม่ใช่ความรู้ในขั้นอุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่ ๔ ในวิปัสสนาญาณ แต่ท่านก็จัดสงเคราะห์สัมมสนญาณ เข้าไว้ในวิสุทธิที่ ๕ ก็สงเคราะห์เข้าในมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี่ เหมือนกัน แต่ว่ายังไม่แท้จริง คือเพียงแต่อารมณ์ของสัมมสนญาณ ได้เข้าไปอยู่ในเขตของมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ด้วยส่วนหนึ่ง

เพราะในมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินั้น มีทั้งความเกิด คือ รู้ทั้งความเกิดขึ้น และรู้ทั้งความดับไปในวิสุทธิอันนี้ แล้วก็รู้ทั้งอารมณ์กิเลสที่เกิด ขั้นในวิปัสสนาญาณ ที่นอกจากความเกิดขึ้นและดับไปของนามรูป มีอยู่ในนี้ด้วย

ทีนี้ อันนี้แหละ ความเกิดขึ้นและดับไป เมื่อสัมมสนญาณ เห็นความดับ นี่ก็ถือว่า อารมณ์ของสัมมสนญาณที่เข้าไปเห็นความดับนั้นน่ะ อารมณ์ส่วนหนึ่งได้เข้าไปอยู่ในมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะในวิสุทธิอันนั้น เห็นทั้งเกิดและดับ ทีนี้ เมื่อเข้าไปเห็นดับ ก็เข้าไปอยู่ในนั้นส่วนหนึ่งนะคะ แต่ว่า ยังไม่แท้จริง คือเพียงแต่อารมณ์ของสัมมสนญาณเข้าไปอยู่ในเขตของมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิด้วยส่วนหนึ่ง คือความดับของนามรูปนั้น

แต่การเห็นความดับในสัมมสนญาณ ยังไม่เห็นความดับของนามรูป ที่เกิดขึ้นในอารมณ์ปัจจุบัน เพราะปัญญายังไม่กล้าแข็งพอ เพราะการเพ่งยังไม่พอนะคะ

การเห็นนามรูปดับในสัมมสนญาณ จะเห็นเมื่อมีนามรูปใหม่เกิดแล้ว จึงเห็นว่า นามรูปเก่าดับไป

เพราะปัญญายังอ่อนอยู่ จึงทำลายสันตติยังไม่ได้

สมมุติว่า ผู้ปฏิบัติกำลังนั่งอยู่ และผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะ คือ ทำความรู้ตัวว่า พิจารณารูปนั่งอยู่ ทำความรู้สึกตัวอยู่ว่า เวลานี้ กำลังดูรูปนั่งอยู่ แต่ยังไม่เห็นรูปนั่งดับ เพราะยังรู้สึกว่า นั่งอยู่ยังไม่เห็นว่า รูปนั่งในท่านั้นหมดไป ยังรู้สึกว่า มีอยู่เพราะยังรู้อยู่ในท่านั้น

แต่เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ โดยเป็นรูปยืนหรือนอนก็ตาม เกิดขึ้นมาแทนรูปนั่งนั้นแล้ว จึงรู้ว่ารูปนั่งนั้นดับไปแล้ว หรือหมดไปแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถใหม่ รูปใหม่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังไม่เห็นรูปเก่า หรืออิริยาบถเก่านั้นดับไป เมื่อได้เปลี่ยนอิริยาบถใหม่และรูปใหม่เกิดขึ้นแล้ว จึงรู้ว่า รูปเก่านั้นดับไป

แต่ผู้ปฏิบัติก็ยังคงกำหนดนามรูปนั้นอยู่ นามรูปที่เกิดขึ้นมานั้นแหละ ก็ยังคงกำหนดอยู่ รูปเก่าน่ะ รู้แล้วว่า ดับไป ทีนี้ รูปใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นมาแทนนั้นน่ะ ผู้ปฏิบัติก็ต้องกำหนดรูปนั้นอีกต่อไป กำหนดเรื่อยไป

เมื่อปัญญามีกำลังมากขึ้น ก็จะเข้าไปเห็นนามรูปที่เกิดขึ้นมา ที่ตัวกำลังพิจารณาอยู่นั้นน่ะ รับรองแล้ว! ไม่ต้องมีรูปใหม่เกิดขึ้นละ รูปนั้นแหละ เห็นรูปนั้นแหละ ดับไป โดยไม่ต้องมีรูปใหม่มาแทน ไม่ต้องมีใหม่มาเกิด เห็นนามรูปในอารมณ์เดียวกันนั้นแหละ ทั้งเกิดและดับ รูปนั้นเกิดขึ้นและรูปนั้นดับไป โดยไม่ต้องมีรูปใหม่มาเกิดแทนในขณะปัจจุบันนั้นเอง หมายความว่า รู้อารมณ์ มีรูปนั่งเป็นต้น เกิดขึ้นและดับไป ทั้งๆ ที่ยังนั่งอยู่โดยไม่ต้องเปลี่ยนอารมณ์ใหม่เลย

ปัญญาที่เข้าไปรู้อย่างนี้ เรียกว่า อุทยัพพยญาณนี่แหละ เป็นตัวสำคัญทีเดียว ถ้าได้อันนี้แล้วละก็มีหวังทีเดียว เป็นญาณที่ ๔ ในวิปัสสนาญาณ

อุทยัพพยญาณนี้ จัดอยู่ในมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ อยู่ในวิสุทธิอันไหน? เพราะวิสุทธิ นี้สงเคราะห์ด้วยปัญญา ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ คือตั้งแต่ศีล สมาธิ และปัญญา ที่นับตั้งแต่นามรูปปริเฉทญาณมา

เมื่อมีปัญญาเกิดแล้ว ก็ต้องสงเคราะห์เข้าวิสุทธิ ถ้าปัญญาอย่างนั้นเข้าถึงวิสุทธินั้น แต่วิสุทธินี้ยัง ปัญญาที่เข้าถึงวิสุทธิ บางวิสุทธิก็มีปัญญาหลายๆ อันรวมกันอยู่ในวิสุทธิเดียวกันนะคะ

ทีนี้ อุทยัพพยญาณนี้ ตั้งแต่สัมมสนญาณมานะคะ จัดเข้าในมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ สงเคราะห์เข้าในวิสุทธินี้ อันนี้เหมือนกัน แต่ยังมีกิเลสในวิปัสสนา ที่ยังเกิดได้อยู่ จึงยังไม่จัดว่า วิปัสสนาในที่นี้ เป็นวิสุทธิ

แต่ที่จริง ในอุทยัพพยญาณนี้ ก็เป็นปัญญาที่เป็นปฏิปทา ที่ถูกต้องแล้ว สำหรับอารมณ์ของอุทยัพพยญาณเท่านั้นนะคะ ถูกต้องแล้ว หากแต่ว่า ปัญญานั้น ยังไม่สมบูรณ์พอ ที่จะรู้เท่าทันในอารมณ์กิเลส ที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง มีโอภาส แสงสว่างเป็นต้น มีอยู่ ๑๐ อย่างค่ะ แล้วก็มีความเยือกเย็น มีปีติ มีปัสสัทธิ ก็แล้วแต่ จะเกิดขึ้นในที่นั้นอันหนึ่งก็ได้ เป็นกิเลสของวิปัสสนา

วิปัสสนูปกิเลสนี้ เป็นเฉพาะกิเลสของวิปัสสนาเท่านั้นนะคะ ถ้าสมถะละก็ไม่เป็นกิเลสหรอกเพราะสมถะต้องอาศัยอารมณ์เหล่านี้ ถ้าไม่มีอารมณ์เหล่านี้ แสดงว่า สมาธินั้นยังอ่อน ใช้ไม่ได้ ต้องมีนิมิต ต้องมีแสงสว่าง ต้องมีความสงบ มีปีติ มีปัสสัทธิ เยือกเย็น แล้วก็ไม่เป็นกิเลสของสมถะ สมถะต้องอาศัยเป็นต้นไป

เพราะฉะนั้น เป็นกิเลสเฉพาะวิปัสสนาเท่านั้น ถ้าอารมณ์อย่างนี้เกิดขึ้นละก็ เป็นกิเลสสำหรับวิปัสสนาอย่างเดียว เป็นเครื่องปลิโพธขัดขวางทีเดียว วิปัสสนาจะต้องหยุดชะงัก ดำเนินต่อไปในขั้นสูงไม่ได้ ถ้าหากว่า ไม่ชำระอารมณ์ของกิเลสให้หมดไปเสียก่อน ไปไม่ได้เลย ฉะนั้น จึงเรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส คือ กิเลสของวิปัสสนา เป็นกิเลสของวิปัสสนา ที่เกิดจากกำลังของสมาธิ

เพราะกิเลสในที่นั้นละเอียดมาก และปัญญายังอ่อนอยู่ จึงรู้ไม่ทัน ปัญญาจึงไม่สามารถจะปรับปรุงอินทรีย์ให้เสมอกันไป เพราะในที่นั้น มีสมาธิแรงมากกว่าปัญญา

โดยเหตุนี้ อารมณ์ของสมาธินั้น จึงดึงเอาจิตไปจากอารมณ์ของวิปัสสนา ทำให้เกิดมีแสงสว่าง มีความสุข มีความสงบเยือกเย็น เป็นต้น และอารมณ์ของสมาธินั้น ยังเป็นที่อาศัยให้กิเลสเกิดได้อยู่

เมื่อจิตตกไปในอารมณ์นั้นแล้ว ตัณหา คือความยินดี หรือความพอใจในอารมณ์นั้น ก็ย่อมอาศัยเกิดขึ้นได้ในที่นั้น และอารมณ์นั้น ก็เป็นปัจจัยแก่มานะว่า “เราเป็นผู้เข้าถึง ธรรม ที่แท้จริงแล้ว” ก็ตั้งเราขึ้นทีเดียว ที่ถูกแล้ว ต้องไม่มีเรา ไม่มีเขา ต้องไม่มีตัวตน ใช่ไหม? แต่ว่า เมื่ออารมณ์นั้นเกิดขึ้น ก็รู้สึกตัวว่า แหม! เราได้พบแล้วธรรมะ เราเข้าถึงแล้วธรรมะ อันนี้ เราได้พบธรรมะที่แท้จริงแล้ว

ทิฏฐิ คือ ความเข้าใจผิดว่า ธรรมะนั้นแหละ คือ พระนิพพาน อันเป็นสรณะที่แท้จริง

เมื่อการรู้อารมณ์ เป็นไปในลักษณะดังกล่าว คือความรู้สึกดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาแล้วนะคะ อารมณ์ของวิปัสสนา ซึ่งเป็นอาวุธที่จะทำลายกิเลสก็เกิดขึ้นไม่ได้ ก็ปรากฏขึ้นไม่ได้ เพราะอันนี้สมาธิมันแรงกว่า และปัญญาในที่นั้น ก็ยังไม่เข้าถึงวิสุทธิ

เพราะเหตุว่า วิปัสสนูปกิเลสยังเกิดปะปนอยู่ได้ ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า ผู้ปฏิบัติบางคนเคยได้อารมณ์ของสมาธิมาแล้ว แปลว่า บางคนเคยทำทางสงบมา เคยทำสมาธิมา เคยนั่ง มีการกำหนดลมหรืออะไร ก็แล้วแต่เถอะ

ทีนี้ พอเวลาทำวิปัสสนาเข้า ความสงบอันนั้นเกิดง่ายจริง เกิดง่ายกว่าอารมณ์ของวิปัสสนา มีกำลังมากกว่า เพราะเคยทำมาแล้ว ความชำนิชำนาญที่จิตจะตกไปในอารมณ์นั้น ก็ชำนาญกว่าวิปัสสนา ซึ่งยังไม่เคยเดินใช่ไหมคะ อันนี้ เคยเดินมาแล้วโดยมากพวกนี้ มักจะเกิดอารมณ์อย่างนี้

เพราะฉะนั้น ระวังยาก บางคนแก้ไม่ได้นะคะ บอกแล้วว่า ไม่ใช่นะๆ ให้ตัวพยายามแก้ซะ ไม่เข้าใจก็ช่วยไม่ได้ บางทีแก้ไม่ได้เลย ถ้าไม่หายต้องออกจากกรรมฐาน บางทีเมื่อสมาธิแรงกล้าขึ้นแล้ว ก็เกิดนิมิต เห็นอะไรต่ออะไรขึ้นมาน่ากลัว ถ้าไม่น่ากลัวก็ไม่เป็นไร บางทีเห็นน่ากลัว แล้วทำให้ใจนี่เสีย นอนไม่หลับบ้าง อะไรบ้าง อย่างนี้แหละค่ะ ก็เลยไม่ได้ ถ้าขืนให้ทำต่อไปละก็ ประเดี๋ยวโรคประสาทจะเข้า อย่างนี้แหละค่ะ ตัวเองแก้ไม่ได้ อาจารย์ก็ช่วยไม่ได้เหมือนกัน เพราะตัวจะต้องแก้ตัวเองนี่ จะให้เข้าไปจับจิตใจ จะเข้าไปจับได้อย่างไร ไม่ได้! เราก็ไม่มีปัญญาสามารถเหมือนกับพระพุทธเจ้าท่านๆ อาจจะแก้ได้ ท่านอาจจะบันดาลอะไรให้จิตใจรับรู้ก็ได้ แต่อย่างเรานี่ไม่ได้

ผู้ฟังถามว่า อาจจะแก้ได้ด้วยการรดน้ำมนต์ได้ไหมครับ? ก็อาจจะหายได้ ด้วยการเปลี่ยนอารมณ์ใหม่ โดยไปยึดน้ำมนต์ เป็นสรณะ

พอไปยึดน้ำมนต์เข้า จิตหันไป ไปยึดมั่นถือมั่นในน้ำมนต์นั้น ไปเชื่อถือมั่นเข้า อารมณ์เก่ามันก็คลายไปบ้างได้เหมือนกันนะคะ

ทีนี้ ปัญญานั้น ยังไม่เข้าถึงวิสุทธินะคะ ผู้ปฏิบัติบางคนเคยได้สมาธิมาแล้ว อารมณ์ของสมาธิ อินทรีย์จะเกิดขึ้นมาเอง เป็นอุปสรรคแก่อารมณ์ของวิปัสสนา หรือ

อีกนัยหนึ่ง ก็คือ ผู้ปฏิบัติมีความปรารถนา ต้องการให้สำเร็จเร็วๆ อย่างนี้ก็มี หรือต้องการจะถึงนิพพานเร็วๆ ก็มีศรัทธาแรงบ้าง มีความเพียรไม่หยุดไม่หย่อน มีวิริยะแรงเกินไป วิริยะนี่ ก็เป็นอินทรีย์อันหนึ่ง ซึ่งแรงเกินไป แล้วก็เป็นองค์ของสมาธิด้วย หรือมีสมาธิแรงไปดังนี้ เป็นต้น

จึงเป็นเหตุให้อารมณ์เหล่านั้น มีแสงสว่าง มีความเพียร ทีนี้ตัวก็สงบมาก สมาธิก็เกิดมาก มีแสงสว่างเกิดขึ้นเป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติ มีความสงบสุขเยือกเย็น พอใจมาก บางทีก็เข้าใจว่า อารมณ์นั้นเป็นพระนิพพาน ถึงแม้ว่า ท่านผู้ใดจะมาชี้แจงเหตุผลอย่างไร ก็ยากนัก ที่จะมาทำให้เชื่อได้ หรือจะรู้ตัวได้ คือ

ถ้าแก้อารมณ์นั้นให้หายเสียก่อน และอารมณ์วิปัสสนาปรากฏขึ้นมา นั่นแหละ ตัวถึงจะเชื่อ ทีนี้ถ้าแก้อารมณ์นั้นไม่หายละก็ แม้แต่อาจารย์บอกก็ไม่เชื่อ ทีนี้ก็หาว่า เฮ้อ! อาจารย์นี้คงจะยังไม่ได้พบหรอก อาจารย์ทำมาอาจจะไม่ถึงอันนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น ถึงได้ไม่เข้าใจอารมณ์นี้ นี่แหละอาจารย์บอกก็ไม่เชื่อนะ หาว่าอาจารย์ทำไม่ถึงอารมณ์นี้เสียด้วย

ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ยากค่ะ ที่จะพบวิปัสสนาที่ถูกต้องได้

ฉะนั้น อารมณ์ของวิปัสสนูปกิเลส จึงเป็นกิเลสของวิปัสสนา นี่แหละคะ ในวิปัสสนูปกิเลสนี่มี ๑๐ อย่างนะคะ จำไว้ด้วย เข้าใจไว้ด้วย เผื่อจะไปพบผู้ปฏิบัติอย่างนี้เข้านะคะ

.โอภาส เห็นแสงสว่างผู้ปฏิบัติเข้าใจว่า ได้มรรคผลแล้ว นี่อารมณ์นี้ทำให้เข้าใจผิด ก็เป็นกิเลส เห็นผิดเป็นทิฏฐิ ความพอใจ เป็นตัณหา

.ญาณ คือ ความรู้ ความรู้ชัดเจนจนเสียปัจจุบัน ปัญญานี่ พอไปถึงพิจารณา อันนั้น ฉันก็รู้ พอเห็นอย่างนี้ ฉันก็รู้ แหม! ฉันรู้สิ่งนั้นมันเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้มันไปเป็นอย่างนั้นเชียว ผู้มีปริยัติมากๆ นะ เวลาเข้าปฏิบัตินะ แหม! ปริยัติมันเข้า เออ! นี่มันไปอย่างนั้น นั่นมันไปอย่างนี้ทีเดียว ปัญญานี่ มันเกินไป ทีนี้ปัจจุบันมันก็น้อยน่ะซี เสียปัจจุบันไปใช่ไหมล่ะ? อารมณ์ที่จับอยู่น่ะ สภาวธรรมที่แสดงความจริงอยู่ต่อหน้านี่น่ะ ปัจจุบันน้อยไปแล้ว มันก็ฟุ้งไปในปริยัติ แหม! ไอ้นั่นก็รู้ ไอ้นี่ก็รู้ โอ้โฮ! คราวนี้ก็นึกว่า ตัวนี่ แหม! มีปัญญาแตกฉานก็ภูมิใจในความรู้ของตัวนี่ท่องเที่ยวไป

เพราะฉะนั้น โดยมากคนที่ศึกษาเล่าเรียนมากๆ แล้ว อาจจะตกไป ในความรู้อย่างที่เป็นวิปัสสนูปกิเลส ในขณะปฏิบัติวิปัสสนาก็ได้นะคะ

. ปีติ ความอิ่มใจด้วยอำนาจสมาธิ เวลามีสมาธิ เมื่อเข้าไปถึง แหม!   มันรู้สึกปลาบปลื้มในใจนี่น่ะ ทำให้รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจด้วยอาการอย่างนี้ โปรดจำไว้ด้วย โดยมากผู้ปฏิบัติคงจะต้องได้พบ

. ปัสสัทธิ ความสงบเยือกเย็นเกินไป ความสงบเยือกเย็นเกินไป วิปัสสนาจะไม่ปรากฏ ไม่มี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ไม่ทำให้ใจนี้ฝักใฝ่ในการที่จะดำเนินไปในวิปัสสนาญาณที่สูงขึ้นไปอีก เพราะว่าอะไร? มันพอใจอยู่ที่ตรงนี้เสียแล้ว ไม่เอาละ ไม่อยากจะขยับเขยื้อนจิตจากอารมณ์ที่ตรงนั้นเลย แหม! ที่ตรงนี้มันก็พอใจแล้วนี่ ธรรมะอันนี้อยู่ที่นี่น่ะ มันชักไม่อยากขึ้นไป ไม่อยากจะตะเกียกตะกายละ ไม่เอาแล้ว อยากจะอยู่ตรงนี้ละ อยากจะได้อารมณ์สุขนี่ อยากจะเสวยอารมณ์อันนี้อยู่ใช่ไหม? นี่ก็เลยทำให้วิปัสสนาที่จะก้าวขึ้นต่อไปอีกน่ะ ทำให้หยุดอยู่ เมื่อให้หยุดอยู่ก็เป็นอุปสรรคแล้วซี ไม่ก้าวขึ้นไปก็เพราะอารมณ์นี้ ที่ได้จากสมาธินี่เองค่ะ

. สุข ความเป็นสุขยิ่งเกินไป แหม! รู้สึกสบายเหลือเกิน ย่อมทำให้ไม่เห็นทุกข์แล้วตอนนี้ใช่ไหมละ ก็เห็นแต่ความสุขซี เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว จะไปเห็นทุกข์ได้อย่างไร? ทุกขานุปัสสนา พิจารณาเห็นว่า เบญจขันธ์นี้น่ะ เป็นทุกข์นะ หรือนามรูปนี้เป็นทุกข์น่ะ รู้สึกได้ไหมในเวลานั้น ไม่ได้! นี่วิปัสสนา ตัวทุกขานุปัสสนา นี่เป็นวิปัสสนา อารมณ์ที่รู้สึกว่านามรูปเป็นทุกข์นี้เป็นตัววิปัสสนา แต่ว่า เมื่อเกิดสมาธิแรง ทำใหรู้สึกเป็นสุข แหม! สบายเหลือเกินใช่ไหม? แล้วก็ทุกขานุปัสสนา มันก็เกิดไม่ได้ นี่อย่างนี้ จึงได้ถือว่า เป็นอุปสรรค เป็นกิเสลของวิปัสสนาด้วยนะคะ

. อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อเกิดศรัทธา อธิโมกข์ในที่นี้ คือน้อมใจเชื่อว่าแน่แล้ว นี่ทางปฏิบัติอันนี้ถูกแน่ทีเดียว และธรรมอันนี้ที่เราพบก็แน่เชียว เกิดจากความตัดสินปุ๊บปั๊บ เชื่อเลย นี่อันนี้ศรัทธา ศรัทธานี่ก็เป็นอินทรีย์อันหนึ่งค่ะ พอตัดสินลงไปอย่างนั้นแล้วก็อารมณ์ต่างๆ ก็เลิก ไม่ต้องสันนิษฐาน ไม่ต้องอะไรอีกละ เหตุผลของใครก็ไม่อยากจะฟัง ทีนี้ถ้าจะฟังละก็ คนที่มาเล่านี่ต้องถูกกัน ต้องเล่าเรื่องนี้ด้วยกันละก็ แหม! ถูกกันเลย โอ๊ย ! นี่เห็นเหมือนกัน เห็นธรรมะเหมือนกัน แต่ถ้าพอเขามาเล่าไม่ถูกกัน เช่น อย่างเขา เล่าถึงวิปัสสนาที่ถูกต้องน่ะ เป็นอย่างนี้ใช่ไหม? ไม่ถูก! ไม่ถูกกับที่ตัวเข้าไปเจอะ ที่ตัวเข้าไปเชื่อไว้ ที่น้อมใจเข้าไปตัดสิน เข้าไปเชื่อไว้แล้วนี่ไม่ตรงกัน เฮ้! ไม่ใช่แล้ว คนนี้ไม่เข้าถึงธรรมะ ไม่เคยปฏิบัติ คนนี้ยังไม่ถึงธรรม ตัวก็ตัดสินไปอย่างนั้น ก็จึงเป็นเหตุให้ปัญญาเกิดยาก เพราะศรัทธานั่นเป็นหัวหน้าเกินไป

คนที่มีศรัทธามากนี่ เชื่อเร็วเหลือเกิน เชื่อง่าย เพราะรู้อะไรปั๊บก็เชื่อแล้ว ไม่ต้องพิจารณาละ เหตุผลต่างๆ ใช่ไหมล่ะคะ? เหตุผลนี่ต่างหากเป็นตัวส่งเสริม เป็นเหตุที่จะให้เข้าถึงปัญญา

ปัญญาน่ะ รู้เหตุผลที่ถูกต้องใช่ไหม? นั่นซิ แต่ทีนี้เมื่อศรัทธาแล้ว ไม่ต้องละเหตุผลอะไรๆ จะมีหรือไม่มี จะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เพียงพอหรือไม่ ไม่รู้ละ เชื่อแล้ว! ทีนี้ เมื่อศรัทธามากเกินไป ซึ่งศรัทธากับปัญญา นี่ต้องเสมอกัน ต้องพิจารณาเสียก่อน ได้เหตุผลแล้ว ศรัทธาจึงเชื่อ ถ้าอย่างนี้ละก็ ศรัทธาอันนี้ไม่เป็นกิเลส ไม่เป็นอุปสรรคแก่ปัญญาค่ะ ก็ไม่เป็นอธิโมกข์ในข้อนี้

. ปัคคาหะ มีความเพียรเกินไป ทำให้จิตใจต้องคับแคบ คือเพียรมาก หมายความว่า มันบีบคั้นจิตใจมาก ทำให้จิตนี้ไม่ปลอดโปร่ง เหนื่อยอ่อนวิงเวียนอะไรอย่างนี้ ทีนี้เมื่อคับแคบเกินไป จิตมันก็ไม่เป็นมัชฌิมา โดยมากมันก็จะเกิดความทุกข์เวทนานี่มาก บางทีก็เกิดไม่สบาย เพราะว่าความเพียรมากเกินไป บางทีก็ความเพียรมากนี่ เกิดอุทธัจจะมาก จิตใจถูกบีบคั้นเสียจนทำให้จิตนี้ไม่สงบสุข ฟุ้งซ่านมากก็ได้ เฉพาะความเพียรแรงเกินไป ไม่พอดีกับสมาธิ

ความเพียรกับสมาธิ คือความสงบนี่ต้องเสมอกัน ต้องเดินไปคู่กัน ถ้าเพียรเกินไปทำให้ฟุ้งซ่านก็ได้ สมาธิเกินไปทำให้เกิดท้อถอย ไม่พยายามที่จะก้าวขึ้นไป

เพราะฉะนั้น ความเพียรกับสมาธินี่จะต้องเสมอกัน

. อุปัฏฐานะ ความปรากฏเห็นนิมิตต่างๆ

อุปัฏฐานะ นี่ท่านกล่าวว่า องค์ธรรมได้แก่ สติ คือว่า สตินี่ บางคนที่มีสมาธิมากแล้วละก็ นึกอะไรก็เห็น บางคนทำวิปัสสนานี่ ไปเห็นอะไรต่ออะไร แหม! เห็นคนนั้น เห็นคนนี้ พอนึกถึงอะไร พอจะดูอะไร มันก็เห็นขึ้นมา ทีนี้ไปเพลิน ไหนลองดูบ้างซิ ลองระลึกถึงตรงนี้ซิ นึกถึงซิ คนนี้เขาอยู่ที่ไหน? นึกนั่นแหละ มันทำให้เห็นขึ้นมา มันก็ทำให้นิมิตขึ้นมา เพราะว่า จิตนั้นเป็นสมาธิอยู่ สตินั้นก็เป็นองค์ของสมาธินี่ เหมือนอย่างกับพวกหมอดูน่ะ ดูซิ! นี่เวลานี้คนนั้นหายไปที่ไหน? บ้านนี้เป็นอย่างไรนะ มันมีอะไรนะลองดูซิ! หมดดูก็รับทันทีว่า “มี” ที่ตั้งบ้านนั้นน่ะ ที่ดินตรงนั้นน่ะ มันมีอาถรรพณ์ มีอะไรต่างๆ เหมือนกับว่า เขาเห็นนั่นน่ะ เขานั่งเห็นกันนั่นแหละ ใช่ไหมล่ะ? ด้วยอำนาจสมาธิ ทีนี้พอเห็นตัว ตัวก็เพลิน เออ! นึกตรงนั้นซิ เออ! นึกถึงเรื่องนี้ ก็เห็น พอนึกถึงคนนั้น ก็เห็นคนนั้นขึ้นมาทีเดียว นี่อย่างนี้ อันนี้ก็เลยทิ้งแล้วอารมณ์วิปัสสนา เพราะว่า มัวไปนึกดูอะไรต่ออะไรนี่ ก็เสียใช่ไหม อารมณ์ของวิปัสสนาก็เสียไป อันนี้ก็เป็นข้าศึก เป็นกิเลสเบียดเบียนวิปัสสนานี้ให้ตกไป นี่เรียกว่า อุปัฎฐานะ

. อุเบกขา ทำจิตให้เฉยเกินไป อะไรก็ไม่รู้ รู้อะไร เฉยน่ะ เฉยอยู่ในที่ไหน? ก็ไม่รู้ รู้แต่ว่ามันเฉย เวลานั้นมีอารมณ์หรือเปล่า ไม่รู้อีก มีอะไรอยู่เป็นอารมณ์ ก็ไม่รู้อีก มีแต่เฉยอย่างเดียว ก็เข้าใจว่า อ๋อ! เรานี่ปล่อยวางแล้ว เฉยแล้ว ไม่มีความยินดี ยินร้ายแล้ว กิเลสฉันหมดแล้ว นึกอย่างนี้ อ๋อ! กิเลสฉันหมดแล้ว ฉันไม่มีความยินดี ยินร้ายแล้ว โลภก็ไม่มี โกรธก็ไม่มีแล้ว ใช่ไหมล่ะ ก็เข้าใจว่าอย่างนั้น นี่เป็นอุปสรรคอันหนึ่ง เมื่อกิเลสหมดแล้วนี่ คงเฉยแล้ว ไม่มีกิเลสแล้ว นี่ใช่ไหมล่ะ ไม่ต้องทำแล้ว พอแล้ว ก็เป็นเหตุให้หย่อนความเพียร ที่จะให้วิปัสสนาก้าวหน้าขึ้นไปในทางที่ควรจะได้ ควรจะถึง นี่จำไว้นะคะว่าอารมณ์อย่างนี้เป็นข้าศึกแก่วิปัสสนา ไม่ใช่ทางนิพพาน

๑๐. นิกกันติ ความใคร่ ความพอใจ คืออารมณ์นี้เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ ความพอใจทั้งนั้น ความพอใจก็เกิด นี่แหละเป็นตัวตัณหา ความใคร่ ความพอใจ ความเพลิน อยู่ในอารมณ์อันสงบนั้น เป็นโอกาสของตัณหา เพราะนี่เป็นอารมณ์ของตัณหานี่ ที่จะเข้าอาศัย เพราะฉะนั้น ตัณหาและทิฏฐิที่เข้าอาศัยนี่ สติปัฏฐานท่านจึงบอกว่า ต้องปฏิบัติเกิดปัญญาและชำระกิเลส ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว อย่างนั้นถึงจะเรียกว่า เข้าถึง “วิสุทธิตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว อันนี้ คือ อนิสฺสิตฺโต จ วิหรติ ในสติปัฏฐาน ท่านบอกไว้ทุกปัพพะเลย

นั่นแหละ เมื่อตัณหาเข้าอาศัยแล้วไม่เป็นเหตุให้เกิดนิพพิทาญาณในที่นั้นเกิด เบื่อหน่ายไหม? ไม่เกิดเบื่อหน่ายละ พอใจให้เพลิน! ก็จากการเบื่อหน่ายของนิพพิทาญาณนี่ เป็นอารมณ์ของปัญญา เบื่อหน่ายด้วยปัญญา เข้าไปเห็นว่า สังขารทั้งหลายนี่ไม่เที่ยง หรือเป็นทุกข์ หรือไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร มันเกิดไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีความพอใจในอารมณ์นั้น เมื่อทำให้เกิดความพอใจเสียแล้ว ความเบื่อหน่ายในที่นั้นก็เกิดไม่ได้ ก็ย่อมเป็นการขัดขวางต่อหนทางมรรคผล มรรคผลนี่จะต้องเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายในสังขาร ในเบญจขันธ์นี่ในชาติ ความเกิด สังสารวัฏฏ์อะไรทุกอย่าง ก็ขัดขวางต่อมรรคผลใช่ไหมคะ

ที่ท่านจัดธรรม ๑๐ ประการ เป็นกิเลสของวิปัสสนา ก็เพราะเหตุว่า เมื่อเกิดขึ้นแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็ไม่สามารถที่จะยกขึ้นสู่อารมณ์ ซึ่งมีนิพพิทา หรือวิราคะ คือ คลายความกำหนัดได้ เพราะว่าอารมณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดนิพพิทานั้น เป็นหนทางที่บริสุทธิ์

นั่นแหละ! อันนั้นแหละ ความรู้สึกที่เบื่อหน่ายในเบ็ญจขันธ์นั่นแหละ ความรู้สึกอันนั้นแหละ จะนำเราไปถึงนิพพานได้

วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง ที่เกิดร่วมกับมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ ที่ท่านจัดธรรม ๑๐ ประการ ที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลสน่ะ ต้องให้ถือว่าเป็นกิเลสของวิปัสสนา ต้องเกิดวิปัสสนาแล้ว ถ้าหากว่าวิปัสสนายังไม่เกิด เกิดแต่อารมณ์ของกิเลส เกิดแต่โอภาส แสงสว่าง ปีติ ปัสสัทธิ อะไรพวกนี้ละก็ ไม่เรียกว่า พวกนี้เป็น วิปัสสนูปกิเลส ไม่เรียกว่า ธรรมเหล่านี้เป็น วิปัสสนูปกิเลส เพราะว่า ยังไม่เกิดวิปัสสนา ถ้ายังไม่เกิดวิปัสสนา ธรรมเหล่านี้ยังไม่เป็นกิเลสของวิปัสสนา ต้องเกิดวิปัสสนาแล้วเสียก่อน เข้าถึงขั้นอุทยัพพยญาณแล้วเสียก่อน เมื่อธรรมพวกนี้เกิดขึ้น นั่นแหละถึงจะเรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ถึงจะเรียกว่าเป็นกิเลสของวิปัสสนาได้ คือว่า ทำให้วิปัสสนานั้นเศร้าหมองไป ไม่กล้าแข็ง

เมื่อวิปัสสนานั้นไม่กล้าแข็งเศร้าหมองไป ก็ไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาอื่นๆ ขั้นสูงๆ ขึ้นไปเกิดได้

เมื่อวิปัสสนาขั้นสูงๆ เกิดไม่ได้ การบรรลุมรรคผลก็เป็นไปไม่ได้ ไม่มีหวังที่จะถึงได้

ฉะนั้น ในธรรม ๑๐ อย่างนี้ มีแสงสว่างเป็นต้น ก็ให้เข้าใจว่า ต้องเกิดวิปัสสนาเสียก่อนนะคะ

เพราะเหตุว่า เมื่อเกิดขึ้นแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็ไม่สามารถจะยกขึ้นสู่อารมณ์นิพพิทาญาณ และวิราคะได้ และอารมณ์เหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วในวิปัสสนา ซึ่งตามธรรมดาหลักของวิปัสสนาน่ะ จะต้องเข้าถึงนิพพิทาญาณ จะต้องเข้าถึงความเบื่อหน่ายในอารมณ์ต่างๆ

ความเบื่อหน่ายในที่นี้ หมายถึง คลายความยินดี คลายความยินดี มันละเอียด ขอให้สังเกตว่า ความไม่พอใจในอารมณ์นั้น อย่างหนึ่งนะ ไม่พอใจ ไม่ยินดี เพราะว่า เราไม่พอใจอารมณ์เหล่านั้น นี่อันหนึ่งนะ อันนี้มีมูลจากโทสะ

แต่คลายความยินดี นี่ไม่ใช่พอใจนะ เข้าใจไหมคะ หน้าตาของพยัญชนะอันนี้น่ะ ไม่เหมือนกัน

เหมือนอย่างกับคำหนึ่ง บอกว่า “อยากได้ความสุข” พอใจในความสุข   อีกคำหนึ่งบอกว่า “พอใจในความพ้นทุกข์” เห็นไหมคะ เราพอใจในความสุขนี่ กิเลสเข้าอาศัยได้ ในความรู้สึกนั้น เมื่อพอใจในความสุข เราปรารถนาในความสุขใช่ไหม? อันนี้กิเลสเป็นปัจจัยได้นะคะ แต่ปรารถนาความพ้นทุกข์นี่ ก็คล้ายกันเหลือเกินนะ กับที่อยากได้ความสุข ผู้ที่อยากได้ความสุข ก็คือ ไม่อยากได้ความทุกข์นั่นเอง ใช่ไหม?

เพราะไม่อยากได้ความทุกข์ ไม่พอใจในความทุกข์ จึงอยากได้ความสุข อย่างนี้ก็ไม่อยากมีทุกข์เหมือนกัน แต่ว่าความสุขยังเป็นที่ตั้งแห่งความปรารถนาของผู้นั้นอยู่

ทีนี้ คำว่า “พ้นทุกข์” ต้องการจะพ้นทุกข์เท่านั้น ไม่อยากได้ความสุขเลย สมมุติว่าอย่างนี้ใช่ไหมคะ? อะไรๆ เขาไม่ต้องการ ต้องการแต่เพียงให้พ้นไปจากทุกข์เท่านั้น

ความปรารถนาอันเป็นที่ตั้ง หรือวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความปรารถนาในการพ้นทุกข์ของเขาน่ะ ไม่มี

เพราะฉะนั้น ความปรารถนาพ้นทุกข์น่ะ ชื่อว่า ปรารถนาพระนิพพาน ผู้ปรารถนาในพระนิพพาน จึงไม่ถือว่าเป็นตัณหา อย่างปรารถนาความสุขนี่ยังเป็นที่อาศัยของตัณหาได้

ในทีนี้ก็เหมือนกัน คือ มีความละเอียดสุขุมมาก ในความหมายของคำ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เข้าถึงความหมายจริงๆ แล้ว เราจะเปลี่ยนคำนิดหนึ่งน่ะ บางทีเนื้อความก็ผิดกันไป ไม่เหมือนกัน บางทีเรานึกว่าเหมือนกัน แต่ที่จริงไม่เหมือนกัน เหมือนอย่างนี้

เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย “ความเบื่อหน่าย” กับ “ความไม่พอใจ” แหม! มันคล้ายกันเหลือเกิน “คลายความยินดี คลายความรัก กับไม่ชอบ” นี่น่ะ ที่จริงแล้วไม่เหมือนกัน ไม่ชอบนี่โทสะกิเลสอาศัยได้

คลายความยินดีนี่ ไม่ใช่อย่างนั้น คือว่าทำลาย หรืออารมณ์นั้นตัณหาอาศัยไม่ได้ ตัณหาอาศัยไม่ได้แล้ว โทสะก็อาศัยไม่ได้เหมือนกัน เพราะตัณหานี่เป็นมูลของโทสะ

ทีนี้โทสะนั้นน่ะ เกิดจากตัณหา โทสะนี่เกิดจากตัณหานะคะ เพราะว่า ต้องการแล้วไม่ได้ หรือสิ่งที่ต้องการนั้นเสียไป สิ่งที่รักนั้นเสียไป อย่างนี้ ความโกรธต่างๆ ความเสียใจต่างๆ ก็เกิดขึ้น เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รักบ้าง ประสบสิ่งที่ไม่รักบ้าง เพราะมี รัก นั่นแหละเป็นประธานตั้งให้ ทีนี้เมื่อไม่ได้แล้ว โทสะจึงเกิด เพราะฉะนั้น โทสะ นี้เป็นทุกขสัจจะ ไม่ใช่สมุทยสัจจะ แต่ส่วนตัณหาน่ะ เป็นสมุทยสัจจะ เห็นไหมคะ

เพราะฉะนั้น ในนิพพิทานี้ เป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอารมณ์ หรือความรู้สึก หรือปัญญาที่เข้าไปรู้ถูกต้อง โดยปราศจากกิเลสแล้ว ถึงจะเข้าถึงวิสุทธิได้

ฉะนั้น นิพพิทาความเบื่อหน่ายในที่นี้ คลายความกำหนัด เพราะฉะนั้น ตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะ เมื่อเหตุมันไม่มี คลายออกไปแล้ว ผลคือ โทสะ จะเข้าอยู่ได้อย่างไร นี่แหละค่ะ เหตุผลน่ะ มันลึกซึ้ง มันลึกซึ้งมาก ขอให้พยายามฟังให้เข้าใจในเหตุผลนี่แหละสำคัญมาก พยัญชนะแต่ละอันคล้ายๆ กัน แต่บางทีมีความหมายในเหตุผล นั้นไม่เหมือนกัน

ถ้าหากวิปัสสนูปกิเลส เกิดในวิปัสสนานั้นละก็ อารมณ์ของวิปัสสนูปกิเลสก็เป็นที่อาศัยของตัณหา ความพอใจเกิดได้ คือว่า เป็นกิเลสน่ะ ไม่เข้าถึงวิสุทธิ ไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุว่า กิเลสคือความพอใจยังอาศัยอารมณ์นั้นได้อยู่ ก็เป็นเหตุไม่ให้เกิดนิพพิทา

ตามธรรมดา อารมณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดนิพพิทานั้น ต้องเป็นหนทางที่บริสุทธิ์ใช่ไหมคะ ทำให้บรรลุถึงพระนิพพาน และอารมณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดนิพพิทา หรือเป็นเหตุให้ถึงอารมณ์นิพพิทาได้นั้น จะต้องเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาปัญญา ใน ๓ อย่างเท่านั้น คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

นิพพิทา จะเกิดได้ด้วยอารมณ์ ๓ อย่างนี้ ไม่ใช่ว่า เอ้อ! ฉันไม่พอใจเลย ฉันอยู่อย่างนี้ไม่เห็นมันมีความสุขสบายใจเลย มันเจอแต่ของที่ไม่ชอบใจเสมอ แหม! ฉันเบื่อเหลือเกิน อย่างนี้นะ เบื่อหน่ายเหลือเกิน ไม่อยากจะอยู่เลย อยากจะหลีกหนีเข้าไปอยู่วัดอยู่วา หรืออะไรต่ออะไรอย่างนี้ นี่! เบื่อเหลือเกิน เบื่อเหมือนกันนะ นี่เบื่ออย่างนี้ก็เบื่อ แต่ไม่ใช่เบื่ออย่างนิพพิทาใช่ไหม? เบื่อเพราะว่า โทสะนั้นเป็นเหตุ เจอะแต่อารมณ์ที่ไม่พอใจเรื่อย โทสะเกิดเรื่อยๆ บ่อยๆ ทำให้ใจนี่ไม่สบาย ก็เกิดเบื่อหน่าย อย่างนี้ ความเบื่อหน่ายมันมาจากโทสะเป็นเหตุ ไม่ใช่มาจากปัญญา

ส่วนนิพพิทานี้ ปัญญาเป็นเหตุ แล้วอารมณ์ที่ให้เบื่อน่ะ อะไร? คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสาระ ไม่ใช่ของตน นี่อย่างนี้ อารมณ์ทั้ง ๓ อันนี้ ความเบื่อหน่ายที่จัดเป็นนิพพิทาน่ะ เป็นหนทางเพื่อจะพ้นจากทุกข์นั้น ต้องไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ๓ อย่าง ถ้าเบื่อหน่ายอื่นนอกจากนี้ละก็ ไม่ใช่นิพพิทา อันนั้นเบื่อหน่าย เพราะเหตุว่า โทสะกิเลสมันเข้าไปเบื่อหน่ายเพราะอารมณ์ของโทสะ

อารมณ์ของปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ มีผลตรงกันข้ามกับอารมณ์ของวิปัสสนา เพราะทำให้รู้สึกว่า เป็นสุข เป็นเหตุให้เกิดความพอใจ

เมื่อความพอใจเกิดขึ้นแล้ว ความรู้สึกว่านามรูปเป็นทุกข์ หรือไม่เที่ยง ก็เกิดขึ้นไม่ได้เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นอารมณ์ของตัณหาและทิฎฐิ ใช่ไหมคะ?

ฉะนั้น แต่ลำพังอารมณ์ของสมาธิเพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถจะเข้าถึงวิสุทธิได้

นี่แหละค่ะ กิเลสของวิปัสสนานี่ เป็นอารมณ์ที่เกิดจากสมาธิทั้งนั้น ฉะนั้น สมาธิอย่างเดียวก็ไม่สามารถจะเข้าถึงวิสุทธิได้ เพราะยังเป็นที่อาศัยให้ความพอใจเกิดขึ้นได้ ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่างนั้น นี่ขอให้สังเกตด้วยนะคะ อารมณ์เหล่านั้น จึงทำลายตัณหาไม่ได้

เมื่อตัณหาเกิดขึ้น ความเข้าใจผิดก็เป็นได้ เราเป็นผู้เข้าถึงมรรคผล หรือเราเป็นผู้สงบอย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น แต่ว่า วิปัสสนานี่ ไม่รู้สึกแล้วใช่ไหมคะ? ว่า มีตัว มีตน เป็นเรา เป็นเขา แต่ว่า เมื่อแสงสว่างเกิดขึ้น ความสงบเกิดขึ้นปัสสัทธิเกิดขึ้น ในที่นั้น ก็ทำให้รู้สึกว่า อ้อ! เราได้เข้าถึงธรรมที่ประณีตแล้ว เราได้เข้าถึงธรรมที่ไม่มีกิเลสแล้ว เราได้เข้าถึงมรรค ผล นิพพานแล้ว เพราะเรานี่ยังมีตามเข้าไป ยังมีเกิดตามความรู้สึกอันนั้น เพราะฉะนั้น จึงถือว่า ไม่บริสุทธิ์ เป็นกิเลส ซึ่งเป็นข้าศึกแก่อารมณ์ของวิปัสสนา ที่ว่าไม่ใช่เราและเข้าใจว่า เป็นธรรมที่เข้าถึงนิพพานซึ่งเป็นสรณะก็เข้าไปติดอยู่ในอารมณ์นั้น เพราะเหตุนี้ จึงถือว่า เป็นกิเลสของวิปัสสนา เพราะทำให้วิปัสสนาตกไป ทำให้วิปัสสนาเสียไป

ที่จริงนั้น วิปัสสนานั้นทำลายตัวตน เรา เขา ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น เมื่อเรา – เขา เกิดขึ้นแล้วความรู้สึกที่ไม่ใช่เราก็เสียไป

แต่ว่า ไม่เป็นกิเลสของสมาธิ หรือของสมถะเพราะว่า สมถะนั้นต้องอาศัยอารมณ์อย่างนี้ สมาธิจะต้องอาศัยอารมณ์อย่างนี้ จึงจะใช้ได้

หมายความว่า สมาธิจะต้องมีกำลัง จึงจะเกิดอารมณ์อย่างนั้นได้ เหมือนกับว่า แสงสว่างนั้นก็เหมือนนิมิตของสมาธิถ้าสมาธิอ่อนๆ ก็ไม่สามารถจะมีอารมณ์เป็นแสงสว่าง เป็นต้น ก็เกิดไม่ได้ ถ้าสมาธิอ่อน สมาธิจะต้องมีกำลังจึงจะเกิดอารมณ์อย่างนั้นได้

วิปัสสนูปกิเลส ก็เป็นกิเลสเฉพาะวิปัสสนาเท่านั้น จึงเรียกว่า   วิปัสสนูปกิเลส และเมื่อไปหยุดอยู่อย่างนี้แล้ว จิตก็ไม่เดินขึ้นไปให้ถึงที่สุดสิ้นทางวิปัสสนา จึงเป็นอุปสรรคแก่วิปัสสนา จิตจะดำเนินต่อไปจากอุทยัพพยญาณก็ไม่ได้ เพราะความพอใจเกิดขึ้นในที่นั้น จึงไม่ยอมไปจากที่นั้น มีความเข้าใจว่า ตนได้บรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน แล้ววิปัสสนาก็เป็นอันว่าหยุดไป ไม่ดำเนินต่อไป และวิปัสสนาเพียงแค่นั้น ก็บรรลุมรรค ผล นิพพานไม่ได้

ถ้าผู้ปฏิบัติไม่มีการศึกษา หรือไม่เข้าใจในปริยัติดี ก็จะไม่ทราบว่า กิเลสอันนั้นที่เกิดขึ้นได้อย่างนี้ ถ้าไม่มีปริยัติ ไม่มีการศึกษาให้เข้าใจ ก็จะไม่ทราบได้เลยว่า อันนั้นน่ะ เป็นกิเลส

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องถือว่า ปริยัติเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง มิฉะนั้น การที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงมรรค ผล นิพพาน หรือแจ้งอริยสัจธรรม ก็จะดำเนินต่อไปไม่ได้ หรือมิฉะนั้น ก็ต้องมีอาจารย์ผู้สอนที่ท่านได้เคยผ่านอารมณ์ที่ถูกมาแล้ว

เมื่อศิษย์ไปเล่าความรู้สึก ที่เกิดขึ้นให้ท่านฟัง ท่านก็จะรู้ทันทีว่า คนนี้ ปัญญาของผู้นี้ตกไปจากทางที่ถูก หรือจากอารมณ์ที่ถูกแล้ว แปลว่า จิตตกไปจากอารมณ์ของวิปัสสนาที่แท้จริงที่ถูกแล้ว

เมื่ออาจารย์รู้อย่างนี้แล้ว ก็พยายามหาอุบายแนะให้ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ตามทางที่ถูก ที่เคยได้ไว้แล้วในอุทยัพพยญาณ มิฉะนั้น จะดำเนินต่อไปไม่ได้เลย จะต้องเกิดอยู่เพียงนี้

อีกนัยหนึ่ง ผู้ปฏิบัติมีปริยัติที่ถูกต้องดีแล้ว คือ เข้าใจดีว่า อารมณ์อย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนี้ เมื่อเรียนปริยัติแล้ว ก็ต้องเอามาใช้ในสภาวธรรมที่เกิดขึ้นแก่ตัว ในโอกาสที่ธรรมอันนี้จะเกิดขึ้น เป็นขึ้นในเวลาไหน

แต่ว่าเราธรรมดานี่ จะมีไหม? วิปัสสนูปกิเลสอย่างนั้นน่ะ ไม่มีใช่ไหมคะ? ทีนี้เมื่อเวลาที่เราไปปฏิบัติวิปัสสนา เราก็จะต้องรู้ว่า ธรรมอันนี้น่ะเกิดในเวลาที่เราปฏิบัติวิปัสสนา แล้วก็ไม่ถูก

ธรรมที่ไม่ถูกนี่ มีลักษณะอย่างไร ทำให้เรารู้สึกอย่างไร? ทำให้เราเข้าใจอย่างไร? นี่เมื่อเราเรียนแล้ว เวลาเราเข้าปฏิบัติ จิตดำเนินอยู่ในวิปัสสนานั้น เราก็จะรู้ได้ว่า อาการอย่างนี้มีไหม? ถ้ามีก็จะได้รู้ว่า อันนี้ไม่ใช่ ผิดไป ก็จะได้พยายามแก้ไขให้ถูกต้องได้

ถ้าปฏิบัติมีปริยัติที่ถูกต้องดีแล้วนะคะ จึงจะเข้าใจโยนิโสมนสิการได้ถูกต้อง คือ จะละอารมณ์ที่ผิด แล้วยกจิตขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนาที่ถูกได้

ในขณะที่ยังอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสนั้นยังไม่ชื่อว่า เข้าถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ที่เป็นวิสุทธิที่ ๕ ที่เรากำลังพูดกันอยู่นะคะ ชื่อว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

ถ้าหากว่าวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นแล้ว ไม่รู้ปัญญา นั้นไม่ชื่อว่า เข้าถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ยังไม่ชื่อว่า ความรู้นั้นถึงวิสุทธินั้นนะคะ เพราะว่า ยังมีกิเลสอาศัยอยู่ได้ ความรู้นั้นยังไม่แน่ที่จะประหาณกิเลสได้ ต่อเมื่อเกิดความรู้ขึ้นมา จะเป็นการศึกษา หรือจะเป็นเพราะมีอาจารย์บอกเหตุผลให้ก็ตาม จึงทำให้ทราบว่า อารมณ์อย่างนั้นไม่ใช่ทางที่ถูก นี่ต้องมีความเข้าใจอย่างนี้เกิดขึ้นจึงทำให้อารมณ์ ซึ่งเป็นที่อาศัยของกิเลสนั้นหมดไปได้

เมื่อความรู้สึกที่ผิดนั้นไม่มีแล้ว ความรู้สึกในอารมณ์ของอุทยัพพยญาณ จึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะว่าเมื่อเกิดขึ้นได้ อารมณ์นั้นก็ปราศจากกิเลสแล้วนะคะ อย่างนี้ ผู้ปฏิบัติก็จะต้องเข้าใจ มิฉะนั้นจะเข้าหาอารมณ์ที่ถูกต้องไม่ได้ ก็เมื่ออารมณ์ที่ถูกหมดไปแล้ว หรือเสียไปแล้ว ก็กลับมาไม่ได้ นี้มันต้องย่อมมีผิด เพราะ เป็นทางที่สุขุมและคดเคี้ยวลำบากมาก จิตที่จะดำเนินไปต้องเข้าใจ ถ้ามิฉะนั้น ก็อาจจะหลงทางได้ มันไม่เหมือนกับทางบก ทางเท้าที่เราเดินไป นี้ก็ยังหยาบอยู่ แต่อย่างนั้นเราก็ยังหลงได้ ในกรุงเทพฯ นี่แหละค่ะบางที่ก็ไปไม่ถูกหรอก ว่าจะไปที่นี้แล้ว ก็เลยไปโน่นอะไรอย่างนี้ยังผิดได้ นี่เห็นไหม?

ทีนี้ เรื่องของจิตใจแล้วยิ่งละเอียดมาก แล้วทางที่จะไปถึงพระนิพพานก็ยิ่งลำบากมาก ลำบากเพราะอะไร? เพราะว่ากิเลสนี้แหละมันคอยขัดขวางทำให้รกปิดบังไม่ให้แลเห็นทางที่ถูกต้องได้

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่รู้แล้วละก็ เราก็ดึงเอาจิตนั้นมาสู่ อารมณ์ที่ถูกไม่ได้นะคะ

อุปมาเหมือนกับผู้ที่เขียนรูป เขียนได้ดีมากต่อมาภายหลังจะทำให้ดี อย่างนั้นอีก ก็ทำไม่ได้ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุอะไร? เพราะความเข้าใจยังไม่พอ ที่จริงทำไปจนเกิดวิปัสสนาแล้วนะ ถึงอุทยัพพยญาณแล้ว วิปัสสนาก็เกิดแล้ว ยังมีความเข้าใจไม่พอก็ทำให้เสียไปได้ ที่รู้ว่าดีด้วยเหตุผลอะไร? ไม่รู้ ยังไม่รู้ว่า ที่ดีน่ะ เพราะเหตุอะไร? ที่ว่าไม่ดีน่ะ เสียเพราะเหตุอะไร? นี่เราก็ไม่รู้

ถ้ารู้ล่ะ ไม่ดีเพราะเหตุนั้น เราก็ไม่ทำเหตุอย่างนั้น เพราะเหตุนั้นมันไม่ถูก เราก็ไม่ทำ อย่างนี้ความผิดก็เกิดขึ้นไม่ได้ รู้ว่าดีเพราะเหตุนั้น เราก็พยายามทำเหตุนั้นให้ถูก ถึงจะดีได้ นี่แหละเราไม่รู้ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็อาจจะเสียได้ ดีก็ดีไป คล้ายๆ จะเสี่ยงนะคะ แต่ว่าเหตุผลน่ะ ยังไม่แน่นอน เสียเพราะเหตุอะไร? เข้าใจไม่ดีพอ เมื่อเสียแล้วจะกลับทำให้ดี จึงทำไม่ได้ เราจะกลับทำให้ดีได้ ก็ต้องเข้าใจแก้ที่เสียได้

เราจะต้องรู้จักวิธีแก้ ว่าจะแก้อย่างไร เวลาที่ปฏิบัตินั้นน่ะ จิตดำเนินเข้าไปถูกต้องอารมณ์อย่างนั้น ในความรู้สึกอย่างนั้น ก็จะต้องมีปัญญาชี้ขาดว่า จิตที่ตกเข้าไปอยู่ในอารมณ์อย่างนั้นน่ะ ผิดหรือถูก ผู้ทำงาน ผู้ปฏิบัติต้องชี้ขาดได้ว่า ผิดหรือถูก

ถ้าผิดก็ต้องทำให้อารมณ์ที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลสนั้นหมดไป คือ ต้องเปลี่ยนอารมณ์ให้จิตใหม่ ต้องมนสิการใหม่ แล้วจะเข้าสู่อารมณ์ที่ถูกได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า รู้อารมณ์ได้ถูก รู้ว่าอารมณ์ใดถูกหรือรู้ว่าอารมณ์ใดผิด

เมื่อมีความรู้ถูกต้องอย่างนี้แล้ว ก็สามารถจะกันจิตมิให้ตกไปในอารมณ์ที่ผิดนั้นอีกต่อไปได้

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจอย่างนี้แหละ ที่เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ แปลว่าอย่างไร? หมายความว่า อย่างไร? หมายความว่า ปัญญาที่รู้เกิดขึ้น รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่ ธรรมะอันนี้ไม่ใช่ทาง ความรู้สึกอย่างนี้ไม่ใช่ทาง อารมณ์อย่างนี้ไม่ใช่ทาง อารมณ์ที่ถูกนั้น ที่เป็นทางที่ถูกนั้นคืออย่างไร? รู้อย่างนี้ พอมีความรู้เข้าใจชี้ขาดอย่างนี้ได้ ท่านถือว่า ปัญญาของผู้นั้นพ้นจากความผิดแล้ว บริสุทธิ์แล้ว วิสุทธินี่หมายถึง บริสุทธิ์แล้วจากความเข้าใจผิด จากตัณหาและทิฏฐินะคะ

นี่แหละ พอปัญญานี่เกิดขึ้น ก็แปลว่ากำจัดความผิดได้แล้ว เมื่อกำจัดความผิดได้แล้ว ถึงจะ เรียกว่า เข้าถึงวิสุทธิ จึงเรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ แปลว่า รู้ผิด รู้ถูก ความรู้นั้นไม่เจือด้วยกิเลส ไม่ตกไปในกิเลส หรือกิเลสที่ผิดนั้นอาศัยไม่ได้ ถึงจะเรียกว่า วิสุทธิได้นะคะ

ถ้ายังไม่มีความเข้าใจว่า อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด ยังรู้แน่ไม่ได้ ยังตัดสินไม่ได้ ก็ถือว่ายังเข้าได้ไม่ถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ และมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ จะต้องเกิดตั้งแต่อุทยัพพยญาณ   ไม่ใช่เกิดก่อนหน้านั้น คือ วิปัสสนาที่แท้จริงนะ ต้องนับตั้งแต่อุทยัพพยญาณไป แต่ว่าอย่าลืมว่า อุทยัพพยญาณก็ต้องมาจากญาณต้นๆ ถ้าไม่มีญาณต้นๆ มาแล้ว มีนามรูปปริจเฉทญานเป็นต้น ไม่มีแล้ว
อุทยัพพยญาณก็เกิดไม่ได้ แต่ว่าถือว่า จิตใจ ที่ได้นำเข้าถึงอารมณ์ที่แท้จริง หรือปัญญาที่ถูกเรียกว่า วิปัสสนา อันเป็นทางที่จะให้บรรลุถึงพระนิพพาน ที่ถูกต้องแล้ว ต้องนับตั้งแต่อุทยัพพยญาณไป

ถ้าก่อนหน้าอุทยัพพยญาณแล้ว ก็ยังถือว่าธรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้น ก็ยังไม่ถือว่า เป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะยังไม่มาทำให้วิปัสสนาเสียหาย ก็ไม่เรียกว่า กิเลสของวิปัสสนา ต้องเกิดตั้งแต่อุทยัพพยญาณ ไม่ใช่เกิดก่อนหน้านั้น

ถ้ายังเข้าไม่ถึงวิปัสสนาที่แท้จริง ก็ยังไม่เกิดวิปัสสนูปกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสของวิปัสสนา ต้องเกิดวิปัสสนาแล้ว และทำให้วิปัสสนานั้นเสียไป จึงจะเรียกว่า เป็นกิเลสของวิปัสสนาได้

ถ้ายังไม่ถึงอุทยัพพยญาณ ก็อาจจะเกิดแสงสว่าง หรืออาจจะเกิดปีติ ปัสสัทธิ ความสงบเยือกเย็นก็ได้นะคะ แต่ก็ยังไม่จัดว่า เป็นกิเลสของปัสสนา เพราะว่า วิปัสสนายังไม่เกิด หรือว่ายังไม่ได้ทำลายวิปัสสนา ก็ถือว่าเป็นกิเลสของวิปัสสนาไม่ได้ จะถือว่า เป็นวิปัสสนูปกิเลสไม่ได้ และมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ ก็ยังไม่มี ต้องได้แล้วทั้งอารมณ์ที่ถูกและอารมณ์ที่ผิด

โดยเหตุนี้ จึงตัดสินได้ว่า อารมณ์ที่ถูก คืออย่างนั้น. อย่างนี้ไม่ใช่อารมณ์ที่ถูก ความรู้อย่างนี้เรียกว่า ปัญญาที่เข้าถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

เข้าถึงอย่างไร? เข้าถึง เพราะรู้แน่ว่า ผิดหรือถูก

เพราะฉะนั้น รู้ผิด ก็ผิดจริงๆ ไม่ใช่ผิดแล้วเข้าใจว่าถูก รู้ว่าอันนี้ถูก ก็ถูกจริงๆ ไม่ใช่ถูกแล้วเข้าใจว่าผิด ความรู้นี้ จึงถือว่า บริสุทธิ์ ความรู้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว จึงจะได้ชื่อว่า เข้าถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิได้

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีการศึกษา ถ้าไม่มีการศึกษา ก็อาจจะเข้าใจผิดได้ แล้วก็ยากที่จะแก้ไขได้ด้วย เพราะว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิเข้าไปยึดมั่นเสียแล้ว ใช่ไหมคะ? พอลงได้อาศัย ตัณหา มานะ ทิฏฐิเข้าแล้วละก็ ความเข้าใจอันนั้นก็เป็นอุปาทาน เกิดเป็นอุปาทานยึดมั่นทีเดียว เป็นอุปาทานหรือคันถะ อย่างนี้ละก็ลำบาก แล้วแก้ไม่ได้ เป็นปมที่แน่นทีเดียว แก้ไม่ออก ยึดถือมั่น

เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามเถอะ ท่านนักศึกษาน่ะ อย่างพึ่งทึกทักเข้าใจ เข้าใจแล้ว เชื่อแล้ว เชื่อก็อย่าเพิ่งเชื่อง่ายๆ ถ้าเชื่อง่ายๆ ละก็ ถ้ามันผิดไป ความเชื่อนี้ผิดไป ก็เป็นเหตุให้เข้าถึงอุปาทาน

ถ้าเข้าถึงอุปาทานละก็ แก้ยากที่สุดเลย ใช่ไหม?

พอความเชื่อที่ผิดนี่ ถึงอุปาทานได้ เพราะตัวมิจฉาทิฏฐิเป็นตัวอุปาทานด้วย

ถ้าหากว่า เชื่อที่ถูกล่ะ เป็นอุปาทานไหม? ไม่เป็น! ถ้าเชื่อที่ถูก จะต้องทำลายอุปาทาน อย่างนี้

ทีนี้ เราก็ไม่รู้จัก หน้าตาของอุปาทานนี่เป็นอย่างไร ก็ไม่รู้ ใช่ไหม? ถึงแม้จะเข้าถึงอุปาทานแล้ว ก็ไม่รู้ หน้าตามันเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จิตใจเป็นอย่างไร?

จิตที่อุปาทานเกิดขึ้นแล้ว ใจที่ไปรู้สึกในอารมณ์นั้นอย่างไร อย่างนี้ เราก็รู้ไม่ได้เหมือนกันใช่ไหมคะ? ไม่สามารถจะรู้ได้เหมือนกัน แต่ว่าเพราะความไม่รู้นั่นแหละ แล้วก็แก้ไม่ได้ด้วย ใครพูดอย่างไรก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อแล้ว ฉันพอใจอย่างนี้ ฉันชอบอย่างนี้ ครั้นจะถามว่า ที่ชอบน่ะ ใช้เหตุผลอะไร? ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน

เพราะถ้าอาศัยเหตุผลแล้ว รู้เหตุผลแล้ว ความรู้อันนั้น ต้องเป็นปัญญา ถ้าเป็นปัญญาแล้ว ปัญญาไม่เป็นอุปาทาน ทำลายอุปาทาน เชื่อในเหตุผลนั้นแล้ว ใช่ไหมคะ? ก็ไม่เป็นอุปาทานนะคะ

เพราะฉะนั้น ถ้าเชื่อยึดมั่นด้วยอุปาทานแล้วไม่ได้เหตุผล หาเหตุผลไม่ได้ ไม่ได้เชื่อด้วยเหตุผลอะไรเลย ที่เหมาะสม ที่จะถูกจริง หรือทำลายความเห็นผิดนี่ ไม่ได้ แต่ว่า พอใจเชื่อแล้ว ก็แก้ไม่ได้ทีเดียว ถึงแม้พระพุทธเจ้าก็ยังแก้ไม่ได้ สมัยพระพุทธเจ้าก็มีอยู่หลายท่านที่แก้ไม่ได้

ส่วนผู้ที่ไม่มีวิปัสสนูปกิเสนั้น มีอยู่ ๓ จำพวก คือว่า พวกที่วิปัสสนูปกิเลสเกิดไม่ได้นะ มีอยู่ ๓ จำพวก คือ :-

๑. ผู้ที่มีความเพียรน้อย เพราะว่าความเพียรก็ดี สติก็ดี นี่เป็นองค์ของสมาธิ ทีนี้ เมื่อมีความเพียรน้อย สมาธิน้อย ความสงบก็น้อย เมื่อความสงบน้อยแล้ว โอภาส ปีติ ปัสสัทธิ พวกนี้ก็เกิดไม่ได้ เพราะพวกนั้น ต้องเกิดจากสมาธิที่มีกำลัง ทีนี้ ผู้ที่มีความเพียรน้อย ความสงบก็น้อย สมาธิก็น้อย ใช่ไหมคะ? ก็เกิดไม่ได้ วิปัสสนูปกิเลสก็เกิดไม่ได้ พวกที่ ๑ นะคะ

เมื่อวิริยะ ซึ่งเป็นองค์ของสมาธิอ่อน สมาธิไม่มีกำลัง เพราะว่า อารมณ์เหล่านี้ เกิดมาจากสมาธิที่มีกำลัง

๒. วิปัสสนูปกิเลส ไม่มีแก่ผู้ปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ ผู้ปฏิบัติถูกแล้ว เคยเดินทางถูกแล้ว เขาเข้าใจทางที่ถูกแล้ว จิตเขาก็ต้องรู้ เข้าใจในอารมณ์ที่ถูกว่า ดำเนินอย่างไร? มนสิการอย่างไร? ตั้งสติอย่างไร? กำหนดอะไร? เพราะเคยเดินทางถูกแล้ว เมื่อเขาเดินทางถูกแล้ว เขาก็ไม่หลงทาง ไม่ทำให้เขาหลงทาง

เมื่อไม่ทำให้เขาหลงทางแล้ว เขาต้องอยู่ในอารมณ์ที่ถูกแล้ว อารมณ์ที่ผิด ความเข้าใจที่ผิดก็เกิดไม่ได้ เมื่อความเข้าใจผิดก็เกิดไม่ได้ เมื่อความเข้าใจผิดเกิดขึ้นไม่ได้แล้วนะคะ วิปัสสนูปกิเลสก็เกิดขึ้นไม่ได้แก่ผู้ที่เข้าใจถูกแล้ว เมื่อคนเข้าใจถูกดีแล้ว มันก็ไม่ทำผิด เมื่อไม่ทำผิดแล้ว วิปัสสนูปกิเลส มันก็เกิดไม่ได้ นี่พวกที่ ๒ ไม่มีแก่ผู้ปฏิบัติที่ถูกต้อง มีพระโสดา เป็นต้น ท่านจะทำวิปัสสนา เป็นสกิทาคามี อนาคามี หรือพระอรหันต์ก็ตาม ไม่มีแล้ว วิปัสสนูปกิเลสน่ะ

ไม่ต้องระวัง ท่านไม่ต้องกลัว เพราะอะไร? เพราะว่าท่านเคยเดินผ่านมาแล้ว

ถ้ากลับย้อนถามอีกว่า ถ้าเช่นนั้นน่ะ พระโสดาไม่มีมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิน่ะซี? ตอนที่จะขึ้นสกิทาคาน่ะ ปฏิบัติเพื่อจะถึงสกิทาคาน่ะ ก็ไม่มีมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ใช่ไหมล่ะ? เพราะวิปัสสนูปกิเลสไม่มีแล้วนี่ อย่างนี้ใช่ไหม? ลองนึกตอบซิ หัดตอบ หัดเข้าใจ หัดคิดซิ ได้หรือไม่ได้ ได้ไหม? ไม่ต้องมีวิสุทธิได้ไหม? ทำไมล่ะ? ก็ไม่มีวิปัสสนูปกิเลสให้ตัดสินแล้วนี่ นั่นซิ! ทำไมถึงได้ล่ะคะ เพราะอย่าลืมว่า มีได้ และต้องมีด้วย ถ้าไม่มี ไม่รู้ว่า ที่ถูกอย่างนี้ อันนี้ถูกใช่ไหม? ผิดก็ต้องเกิดได้ ใช่ไหมล่ะ? อันนี้ผิดก็ต้องรู้ได้

ที่จริง พระโสดาที่ทำถูกแล้ว จึงไม่มีวิปัสสนูปกิเลส เพราะท่านเข้าใจถูก เพราะความเข้าใจถูกนั้น ที่รู้ว่า อันนี้ถูกนี่ เป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิไหม? เป็น! ใช่ไหมล่ะ เป็น! อันนี้ไม่ถูก เป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิไหม? เป็น! ทีนี้พระโสดาบันนี่ ท่านมีซิ วิสุทธินี้ เพราะท่านรู้ถูกนี่ อันนี้ถูกนี่ ใช่ไหมล่ะคะ? ท่านรู้ว่าอย่างไรถูก ท่านก็เดินไปในอารมณ์ที่ถูกก็ต้องมีวิสุทธินี้ด้วยเหมือนกัน ที่ปฏิบัติถูกแล้วนะคะ มีพระโสดา เป็นต้น ไม่มีละ วิปัสสนูปกิเลส ไม่มี มีแต่วิปัสสนาล้วนๆ

พระโสดา ท่านได้ปฏิบัติถูกแล้ว เดินทางถูกแล้ว รู้จักทางถูกแน่นอนแล้ว เพราะได้เคยถึงพระนิพพานแล้ว ได้เคยแจ้งสัจธรรมทั้ง ๔ แล้ว ท่านพวกนี้ ไม่มีวิปัสสนูปกิเลส ก็เพราะเหตุว่า เคยเดินมาแล้ว เข้าใจว่า อะไรผิด อะไรถูกแล้ว ทำไม่มีผิดแล้ว ท่านพวกนี้ จึงไม่มีวิปัสสนูปกิเลส ที่จะมาเกิดขึ้นเป็นอุปสรรคของวิปัสสนาได้นะคะ

๓. พวกที่ ๓ อีกพวกหนึ่ง ก็ไม่มีวิปัสสนูปกิเลสเหมือนกัน คือ พวกปฏิบัติผิดทาง พวกผิดทางนี่ ไม่มีวิปัสสนูปกิเลสแล้ว เพราะเหตุอะไรคะ? ดิฉันคิดว่า ท่านก็ตอบได้นะ เพราะได้อธิบายไปแล้ว เมื่อตะกี้นี้ เห็นไหมคะ? ท่านต้องเข้าใจนะคะว่า พวกที่ ๓ นี่วิปัสสนูปกิเลสเกิดไม่ได้ ใช่ไหม? คือพวกที่ปฏิบัติผิดทางวิปัสสนา เมื่อวิปัสสนามันไม่เกิดแล้ว มันไม่มีแล้ว วิปัสสนูปกิเลสจะมีไหม กิเลสของวิปัสสนาก็ไม่มีละซี นั่นซี

เพราฉะนั้น พวกที่ทำผิดจากทางวิปัสสนานี่ ไม่มีหรอก วิปัสสนูปกิเลส เพราะเมื่อวิปัสสนาไม่มีแล้ว กิเลสของวิปัสสนาจะมีได้อย่างไร? ก็ไม่มีใช่ไหม?

เพราะเหตุนี้แหละ คนที่ทำผิด ไม่ถูกทางวิปัสสนา ปฏิบัติผิดทางนี่ จึงไม่มีวิปัสสนูปกิเลส เกิดได้ไหม? พวกที่ทำผิดทางนี่ เกิดได้ไหม? ธรรมนั่นน่ะ เกิดได้ไหม? เกิดได้ไหม? เพราะอะไร? แสงสว่างก็เกิดได้ ปีติเกิดได้ ปัสสัทธิก็เกิดได้ สงบก็เกิดได้ เกิดได้ทั้งนั้นไหม? พวกที่ทำไม่ถูก วิปัสสนาเกิดได้ทั้งนั้น แต่ว่า ไม่เป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะอะไร? เพราะว่า ยังไม่มีวิปัสสนา นี่! เพราะฉะนั้น จึงยังไม่เป็นวิปัสสนูปกิเลส

ท่านถึงบอกว่า คนที่ทำไม่ถูกทางแล้วน่ะ ไม่ใช่ทางของวิปัสสนาแล้ว พวกนั้นไม่มีวิปัสสนูปกิเลส ธรรมเหล่านั้นเกิดได้เหมือนกัน แต่เขาไม่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส

ดังนั้น วิปัสสนูปกิเลส มีไม่ได้แก่พวกที่ปฏิบัติผิดนะคะ

ฉะนั้น คำว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ก็คือ ยังมีวิปัสสนูปกิเลสอยู่ ในที่นี้ ยังมีวิปัสสนูปกิเลสอยู่ เพราะว่า วิสุทธิอันนี้น่ะ วิปัสสนูปกิเลสก็ยังมีอยู่ในวิสุทธินี้ แต่ว่า วิสุทธินี้ เป็นวิสุทธิของปัญญา ปัญญาต้องเข้าถึงวิสุทธิ

เพราะว่า ปัญญาที่รู้ว่า วิปัสสนูปกิเลสนี้ไม่ใช่ นั่นแหละ ปัญญานั้นแหละ ถึงจะเข้าถึงวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิของปัญญา ไม่ใช่วิสุทธิของศีล หรือของสมาธิ โปรดเข้าใจอย่างนี้ด้วยนะคะ

ท่านบอกไว้ ๒ อย่าง คือ รู้ว่า อย่างนี้ไม่ใช่ทาง ก็เป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ รู้ว่า อย่างนี้ใช่ทางนิพพานแน่ ก็เป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิเหมือนกัน และไม่มีการ รู้ผิด ในที่นั้น คือรู้แล้วว่าอย่างนี้ไม่ใช่ รู้แล้วว่าอย่างนี้ผิด ก็ถือว่าเป็นความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องหมดจด ไม่ได้เจือด้วยความเข้าใจผิด ก็สามารถเข้าถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิได้เหมือนกัน หรือเมื่อรู้ว่า เป็นทางถูกหรือทางผิด คือ รู้ทั้ง ๒ ทาง รู้ถูกและรู้ผิดด้วยก็ได้ ถ้าสามารถที่จะเข้าถึงวิสุทธินี้ได้เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ท่านควรจะเข้าใจ ก็คือ ความรู้อย่างไร หรือมีความเข้าใจอย่างไร จึงจะเข้าถึงวิสุทธินี้ได้ เพราะว่า วิสุทธินั้น ไม่ใช่อยู่เฉยๆ แล้วก็เกิดเป็นวิสุทธิขึ้นมาเองได้ จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เข้าถึงวิสุทธินี้ได้ เพราะคำว่า วิสุทธิ ต้องไม่มีกิเลส ต้องทำความเข้าใจอย่างไร ความรู้และความเข้าใจนั้น จึงไม่เจือปนด้วยกิเลส ความรู้ความเข้าใจในที่นั้นถึงจะไม่มีกิเลสได้ อันนี้แหละ เราจะต้องทำความเข้าใจอย่างไร?

การไม่ให้มีกิเลสนี้ จะต้องทำอย่างไร? เพียงนึกๆ เอาว่า ไม่ให้กิเลสมี หรืออย่าให้มีกิเลสอย่างนี้ เราจะไม่เอากิเลส เราจะไม่เป็นคนมีกิเลส เราจะเป็นคนไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง โดยนึกเอา หรือจะห้ามว่า อย่ามี อย่ามีความยึดถือ อย่ามีความเห็นซิว่า นั่นเป็นเรา นั่นเป็นของเรานี่ ทำใจให้ว่างๆ อย่างนี้น่ะ เพียงนึกเอาอย่างนี้ จะได้ไหม? อย่างนี้ นึกเอาอย่างนี้เท่านั้นไม่ได้ ใช่ไหมคะ?

ดังนั้น เหตุที่จะเข้าถึงวิสุทธิ แต่ละวิสุทธินั้นจะเข้าถึงได้ด้วยอย่างไร ? จะต้องเข้าถึงได้ด้วย ปัญญา เข้าด้วยความเข้าใจ และไม่ใช่ว่า จะได้มาในเวลาที่กำลังปฏิบัติ ความเข้าใจนี้ ต้องได้มาก่อน ไม่ใช่ว่า จะต้องเข้าใจจากการปฏิบัติเท่านั้น

ถ้าเราไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ยิน ได้ฟัง มาก่อนว่า อารมณ์อันนี้ผิด อันนี้ถูก ใช่ไหม? แล้วเราก็ตรงเข้าไปทำวิปัสสนา แล้วทีนี้ ตอนที่เกิดอย่างนี้ขึ้นมาเราจะรู้ได้อย่างไร? แหม! มันละเอียด มันก็ทำให้เราเข้าใจผิด เกิดความพอใจ อะไรต่ออะไรในที่นั้นได้ เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าอันนี้ไม่ใช่ อย่างนี้ เรารู้ไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีความเข้าใจจากการศึกษามาก่อน

ฉะนั้น ปริยัติ จึงเป็นเหตุ เมื่อเข้าใจปริยัติถูกดีแล้ว ก็เป็นเหตุให้การปฏิบัตินั้น เข้าถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องด้วยนะคะ

ต้องเข้าใจมาก่อนแล้วจากปริยัติ หรือจากการได้ยิน ได้ฟัง ต้องเข้าใจมาตั้งแต่ขั้นปริยัติ และก็ต้องเข้ามาถึงขั้นปฏิบัติ จึงจะมีความเข้าใจได้ติดต่อกัน

ถ้าปริยัติไม่ดีพอ ไม่เข้าใจพอ เมื่อถึงขั้นปฏิบัติก็เข้าใจไม่ได้เหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะต้องมีครูอาจารย์ที่เข้าใจ เพราะท่านเคยปฏิบัติมาแล้วจึงรู้ถูกแล้ว

เรื่องการมีครูบาอาจารย์ที่เข้าใจนี่ ยากยิ่งกว่าเรียนปริยัติอีก ใช่ไหม? เพราะเราจะไปรู้เขาได้อย่างไร? ว่านี่น่ะ คนนี้เขาเข้าใจหรือไม่เข้าใจ เราจะรู้เขาได้อย่างไร? คล้ายๆ จะพูดถูก แต่เราก็ไม่เคยรู้ ใช่ไหม? ว่าอันนั้นมันถูกหรือไม่ถูกนี่ เราก็ไม่เคยรู้ เรื่องนี้มันยากยิ่งกว่าเรียนปริยัติอีกนะ ดิฉันว่า เรียนปริยัตินี่ หนังสือท่านยังบอกมา เราก็ไม่เชื่อละ เชื่อตามหนังสือ ท่านว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อีกนั่นแหละ อ่านหนังสือแล้วไม่เข้าใจ ก็อีกตั้งเยอะ ไม่ใช่ว่าอ่านหนังสือ เรียนปริยัติแล้วเข้าใจไหม? ก็ไม่เข้าใจอีก ไม่สามารถที่จะเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติอีก ก็ยังมีอีกเยอะ ใช่ไหมล่ะคะ?

ครั้งพระพุทธเจ้าก็มี อาจารย์ที่เรียกว่า ใบลานเปล่า น่ะ นั่นนะ แหม! ปริยัติเต็มที่เลย พระไตรปิฎกก็จบ แต่พอจะมาปฏิบัติเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้ นี่มันยากเหมือนกัน ก็จะต้องมาอาศัยบุคคลที่เคยปฏิบัติมาแล้ว ถึงบอกได้ นี่แหละ มันยากอย่างนี้แหละ แล้วก็ตอนที่จะรู้จักว่า ใครถูก ใครผิดนี่ แต่ว่า ถึงอย่างไรก็ตาม การศึกษาปริยัตินี่ มันก็เป็นเหตุให้รู้เหตุผลที่หลั่งไหล ออกมาจากความรู้สึกของเขา นี่ตรงกันไหม ตรงกับหลักฐานไหม? แล้วก็มีเหตุผลที่เขาพอจะชี้ให้เราพอเข้าใจได้ไหม? ถ้าเราพยายามถือเอาเหตุผลนี่เป็นครูอาจารย์เราละก็ ก็ผิดน้อยค่ะ สามารถจะเข้าถึงความเห็นที่ถูกต้อง หรือธรรมะที่ถูกต้องได้ เราอย่าถือว่า เอาบุคคลเป็นครูเป็นอาจารย์ ไม่เอาเหตุผลแล้วละก็ มีหวังผิดมาก ผิดตั้ง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ทีเดียว ถ้าเราเอาเหตุผลเป็นอาจารย์ละก็ ผิดอย่างมากทีเดียวก็ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ อาจจะน้อยกว่านั้นก็ได้

เพราะฉะนั้น เหตุผลน่ะ สำคัญนะคะ ไม่ใช่อาจารย์ว่าอย่างไร ก็จำไว้ได้ จำไว้ก็แล้วกัน มันจะมีเหตุผลอย่างไร ก็ไม่รู้ ที่จำมานี่ อย่างนี้ไม่ได้ ทุกข้อทุกบทที่จำได้ นี่ต้องได้เหตุผลด้วย ถึงจะใช้ได้นะคะ ไม่ใช่ว่า จำได้เฉยๆ แล้วอันนี้มาจากไหนล่ะ? อันนี้เป็นเหตุ หรือเป็นผลล่ะ? ผลของอันนี้จะไปปรากฏที่ไหน? เหตุของอันนี้ คืออะไร? อันนี้มาจากเหตุไหน? อย่างนี้! ถ้าเขาถามอย่างนี้ ก็บอกว่า ไม่รู้ ไม่รู้ละ อาจารย์ฉันบอกมาอย่างนี้ จำมาได้แค่นี้ อย่างนี้ก็เลยไปโทษอาจารย์

ถ้าได้เหตุผลแล้วก็ผิดน้อยมากค่ะ บางคนเรียนปริยัติมากๆ นะคะ กลับได้ปัญญาเป็นวิปัสสนูปกิเลสก็ได้ เพราะปัญญานี้ เป็นวิปัสสนูปกิเลสก็ได้ ปัญญานี้อยู่ในวิปัสสนูปกิเลสด้วย เหมือนกันนะคะ ฟุ้งซ่านคิดสงสัยไป ไอ้โน่น ไอ้นี่ อยากรู้ ไอ้นั่น อยากรู้ แหม! มีมากตามแบบปริยัติ เพราะมีปริยัติมาก พอถึงเวลาปฏิบัติเข้า อารมณ์ ที่รู้ปริยัตินี่แหละ จะเข้าไปขัดขวาง

เพราะเหตุว่า ปัญญาที่ได้มาจากอดีต ไม่ใช่ปัจจุบัน ส่วนความรู้ที่เป็นอุทยัพพยญาณนั้น เป็นภาวนาปัญญา เป็นปัญญาที่ได้มาจากอารมณ์ปัจจุบันที่กำลังพิสูจน์อยู่นะคะ

ถ้าเอาอารมณ์ปริยัติเข้ามา คือ ต้องการจะรู้เรื่องนี้ขึ้นมา เรื่องที่จะรู้นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะหน้า มันเป็นเรื่องที่เรียนมาอะไรอย่างนี้ เป็นต้น หรือเป็นเรื่องที่เรารู้มา หรือเป็นเรื่องที่เราอยากรู้ขึ้นมา เรื่องนั้นมันไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีอยู่เฉพาะหน้า เราไม่ได้พิสูจน์มันที่กำลังพิสูจน์อยู่เฉพาะหน้า มันไม่ใช่เป็นอารมณ์ปัจจุบันที่กำลังพิสูจน์อยู่ หรือกำลังแสดงอยู่ ถ้าเอาอารมณ์ปริยัติเข้ามา คือ ต้องการจะรู้เรื่องนี้ขึ้นมา ก็ทำให้การปฏิบัตินั้นเสียไป คือ เสียปัจจุบันไป

ปัญญาที่กำลังพิสูจน์ความจริงอันนั้นอยู่ ก็ทิ้งไป เมื่อทิ้งแล้วก็ไม่ได้ความจริง อดีตที่ล่วงไปแล้วเราพิสูจน์ความจริง ก็ไม่ได้ ไม่มีให้เราพิสูจน์ อนาคตก็ไม่มีให้เราพิสูจน์ ก็แปลว่า ปัจจุบันธรรม เท่านั้น ที่เราสามารถพิสูจน์ความจริงได้ เราก็ทิ้งในที่นั้นเสีย เพราะว่า ปริยัติมันเข้า ความฟุ้งซ่าน ความรู้มากเกินขอบเขตของปัจจุบันธรรม ที่กำลังพิสูจน์อยู่ แสดงอยู่

ถ้าเอาอารมณ์ปริยัติเข้ามา คือ ต้องการจะรู้เรื่องนี้ขึ้นมา ก็ทำให้การปฏิบัตินั้นเสียไป คือ เสียปัจจุบันไป ปัญญาที่กำลังพิสูจน์ความจริงอันนั้นอยู่ก็ทิ้ง เมื่อทิ้งก็ไม่ได้ความจริง พอปริยัติเข้าก็ทำให้ปฏิบัติเสียไป เพราะมัวไปนึกถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้เสีย

ดังนั้น ปัญญาที่รู้มากในปริยัติ จึงอาจจะไม่ถูกก็ได้ คือ ไปเป็นอุปสรรคก็ได้นะคะ เพราะถูกความรู้ตามปริยัติ เพราะฉะนั้น ถ้าหากความรู้อย่างนี้เกิดขึ้น ก็ทำให้ปฏิบัติเสียไป อารมณ์ของวิปัสสนาจะไม่ปรากฏอย่างนี้ ก็เป็นความสำคัญเหมือนกัน

ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจดี ก็ให้ถืออารมณ์ปัจจุบันเข้าไว้ก็แล้วกันนะคะ อารมณ์ปัจจุบันนี้สำคัญที่สุด ถ้าเรายังไม่เข้าใจหลักปริยัติดี สอนว่าอย่างไร? สอนให้เรารู้อะไร เราก็ยึดหลักอารมณ์ปัจจุบันไว้

เพราะว่า ธรรมะทั้งหมดที่สอนในพระไตรปิฎกนั้นน่ะ มาจากองค์ธรรมของสภาวะธรรมทั้งนั้น สภาวะธรรมนั้นแหละ เป็นตัวที่ยกเอามาวางไว้ในพระไตรปิฎก

เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะไม่รู้ปริยัติมากมายอะไร ก็ยึดตัวสภาวะที่เกิดจากอารมณ์ปัจจุบันเข้าไว้

อารมณ์ปัจจุบันนี่ ก็ตัวสภาวะนั่นแหละ คอยตามดูเถอะ จะแสดงความจริงให้เรา เราไม่ได้เรียนปริยัติก็จริงอยู่ แต่เราเรียนจากตัวสภาวธรรมเลย เราถือสภาวธรรม คือ เหตุผลนั่นแหละ เป็นครูของเรา แล้วเราจะได้เหตุผลจากธรรมที่ไหน ในอดีตหรือ? หรือในอนาคต? ไม่ใช่ ! ได้ในปัจจุบันที่เขากำลังแสดงนั่นแหละ เหมือนเราเรียนอยู่กับครู

เวลาที่เราพิจารณาอารมณ์ปัจจุบันอยู่นั้นน่ะ เหมือนเราเรียนอยู่กับครู เพราะว่า ตัวสภาวะธรรมนั่นแหละจะเป็นครูของเราให้ความรู้ที่แท้จริง แก่เรา ไม่หลอกลวงเลย ไม่แสดงล่อลวงอะไรทั้งหมดเลย

เพราะฉะนั้น เวลาที่เราเพ่งพิจารณาอยู่นั้น เหมือนกับเราเรียนอยู่กับครู เหมือนกับเราเรียนติดกับพระไตรปิฎกอยู่ เหมือนกับเราเรียนตำราอยู่ทีเดียว ขอให้ถือว่า เป็นอย่างนั้นทีเดียว

เพราะฉะนั้น เมื่อความจริงอันนั้นแสดงอย่างไรแล้ว เขาสอนให้เรารู้ว่า ความจริงของเขามีความจริงอยู่อย่างไร เราก็ไม่รู้ตาม แล้วความจริงอันนั้นแหละกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก แสดงไว้ตรงกันทีเดียว

เพราะฉะนั้น การปฏิบัตินี่น่ะ จึงเป็นความสำคัญที่จะให้เราเข้าถึงพระพุทธศาสนา คือ คำสอนที่วางไว้ในพระไตรปิฎกที่แท้จริงได้ เราจะต้องเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่เข้าถึงได้ด้วยตัวหนังสือ ไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ

แต่ว่าเราก็ต้องรู้หนังสือ แล้วก็ดีกว่าไม่รู้หนังสือ เป็นแน่นอนนะคะ

แต่ถ้ารู้ด้วยสภาวะ รู้ทั้ง ๒ อย่างละก็ พิจารณาสภาวะ เรียนจากสภาวะตามความจริงแล้ว ก็ดีกว่าเรียนเพียงแค่หนังสือ อันนี้ต้องดีกว่าแน่

เรียนแค่หนังสือ ก็ยังดีกว่าผู้ที่ไม่เรียนเลย อันนี้เป็นความสำคัญอันหนึ่ง ในสิ่งที่เราควรจะเข้าใจ

เพราะฉะนั้น ในความรู้สึกของดิฉันนี่ ถ้าพูดถึงผู้ที่ต้องการจะเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้ว ต้องไปเรียนจากสภาวะ ไม่ต้องเรียนมากมายค่ะ แล้วก็ออกมาเรียนหนังสือ ถ้าอย่างนี้ละก็จะดีมาก ความเข้าใจจะดีมากทีเดียว อ่านหนังสือแล้วไม่ต้องมีครู, เพราะอะไร? เพราะเรียนมาแล้วนี้จากสภาวะ อ๋อ! อันนี้ได้แก่ สภาวะอย่างนั้น อันนั้น ได้แก่ สภาวะอันนี้ ตอนนั้นถึงตอนนั้น ธรรมะอันนี้เกิดในระหว่างนั้น ธรรมะอันนี้เกิดในระหว่างตอนนั้น หรือต้นไม้นี้ตั้งอยู่ตรงนั้นข้างซ้ายมือ หรือข้างขวามือ ตั้งอยู่ตอนไหนถึงระยะไหน เราจะพบต้นไม้อย่างนี้ เพราะว่า เราเดินผ่านไปแล้วนี่ อะไรที่อยู่ในทางนั้นมาปรากฏเชียวค่ะ เขาเอามาวางไว้เป็นแผนที่ คราวนี้เราเดินมา รู้แล้วใช่ไหมคะ เราก็รู้ได้

เหมือนกับคนนำร่องนั่นแหละค่ะ เขาดูดาวเขาออกจากอ่าวนี้ เขาจะไปอ่าวโน้น ไม่มีละ แผนที่ไม่มี เขาไม่มี แต่ว่าเขาไปถูก ไปได้เอง มองแลไม่เห็นอะไรเลย ฝั่งอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ทะเลน่ะ กว้างขวางไปหมดเลย เห็นน้ำกับฟ้าเท่านั้น แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า อ่าวนั้นมันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ว่า คนนำร่องนี่เขาเคยไป เขาก็นำร่องไป เขาก็ดูดาว เขานั่งทางหัวเรือ แล้วเขาก็บอกเรือไปทางโน้น ไปทางนี้ อะไรต่ออะไร เขาดูดาวเท่านั้นแหละ เขารู้

นั่นแหละ เขาเรียนกับธรรมชาตินะ เขาเรียนกับสภาวธรรมทีเดียว เขาไม่ได้เรียนกับตัวหนังสือเลย ไม่มีแผนที่อะไรดูทั้งนั้นละ นี่เห็นไหมคะ มันก็ไม่ผิด เพราะสภาวะนั้นไม่คดโกง ไม่หลอกลวงเขา ตัวจะเป็นอยู่อย่างไรก็ต้องแสดงเท่านั้น ไม่ใช่ว่าตัวรักนี่ ถึงจะบอก คนไม่รัก ฉันไม่บอก ไม่มีละ สภาวะธรรมอย่างนี้ ไม่มีเลย แสดงอย่างบริสุทธิ์ทีเดียว เว้นแต่ใครไม่พิจารณาตาม ก็ไม่เห็นเท่านั้นแหละ

ถือว่า ปัจจุบันนี่สำคัญนะคะ ในเวลาที่เป็นอารมณ์ของนักปฏิบัติ  หรือเวลาที่เราจะได้ความจริงนะ เราต้องได้ความจริงจากปัจจุบันเท่านั้นละ อดีตไม่แน่ อนาคตไม่แน่

เมื่อเรารู้แน่จากอารมณ์แล้ว เราก็รู้ความจริงในอดีตและอนาคตไปด้วย เพราะว่าของจริงนะ มันไม่เปลี่ยนแปลง คือ เป็นอยู่อย่างนี้ แต่ก่อนมันก็เป็นอย่างนี้ แล้วต่อไปมันก็เป็นอย่างนี้ เพราะเดี๋ยวนี้มันก็เป็นอย่างนี้ ใช่ไหมคะ? มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรอก เมื่อเราเข้าไปรู้อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นของจริงแล้ว เราก็รู้ตลอดไปหมด อดีต อนาคต ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น จึงได้ถือว่า อารมณ์ปัจจุบันนี่สำคัญที่สุด

แล้วก็ขอให้ท่านเข้าใจ คำว่า “ปัจจุบัน” นะคะ เวลานี้ท่านเข้าใจแล้วว่า อารมณ์ปัจจุบันนี่สำคัญ ทีนี้ จิตที่จะไปพิจารณาตั้งอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันล่ะ หรือจะพิจารณาธรรมที่เป็นปัจจุบัน ท่านก็จะต้องเข้าใจอีกว่า อะไร? ปัจจุบันนี่ อะไร? มันอยู่ที่ไหน? หรือมันได้แก่อะไร?

ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้ ท่านก็หาปัจจุบันไม่เจอะอีก ไม่รู้ว่า ปัจจุบันมันอยู่ที่ไหน? นี่เราก็จะต้องเข้าใจว่า ในคำว่า ปัจจุบัน จิตที่ตั้งอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันได้นั้นน่ะ สำคัญมากนะคะ ถ้าท่านเข้าใจอารมณ์ปัจจุบันได้ดีแล้ว จิตตกไปจากอารมณ์ปัจจุบันใด คราวใด ท่านก็จะรู้ได้ทันทีว่า จิตตกไปจากทาง หรือว่า จิตตกไปจากอารมณ์ปัจจุบันที่ถูกแล้ว อย่างนี้ เพราะว่า เข้าใจอารมณ์ปัจจุบันแล้ว

เมื่อจิตตกไปจากอารมณ์ปัจจุบัน ก็รู้ว่า อันนี้ไม่ใช่ปัจจุบันอย่างนี้ แต่ว่าให้รู้สึกว่า เมื่อจิตไม่ได้รับอารมณ์ปัจจุบันแล้ว ก็ให้รู้สึกว่า จิตตกไปจากมัชฌิมาปฏิปทา

อารมณ์ปัจจุบันนี่แหละ ที่เราพิจารณาอารมณ์ปัจจุบันนั่นแหละ เรียกว่า เราเดินอยู่ในมรรค ๘ นะคะ เราเจริญมรรค ๘ เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทานะคะ

ถ้าจิตตกไป ก็ตกไปจากทาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา ไม่เห็นอารมณ์ปัจจุบัน

ถ้าจิตตั้งอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันขณะใด ขณะนั้นก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เจริญมรรค ก็หมายถึงทำให้จิตนั้น ตั้งอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันเสมอมากๆ อย่างนี้ แปลว่า ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ที่ถูกแล้ว

เพราะฉะนั้น การตัดสินอารมณ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะรู้ได้ว่า จิตหรือปัญญา ที่เข้าไปรู้นั้น เป็นปัจจุบันหรือเปล่า หรือปฏิบัติแล้วรู้อารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นปัจจุบันหรือเปล่าอารมณ์นั้นได้มาจากที่ไหน ใช่ไหมคะ? และสิ่งที่รู้นั้นเป็นของจริงที่มีอยู่โดยปกติธรรมดาหรือเปล่า หรือว่ามีแต่เวลาที่เราเข้าปฏิบัติ ที่เราเข้าไปรู้น่ะ ธรรมที่เราเข้าไปรู้น่ะ มีอยู่ เมื่อยังไม่เข้ากรรมฐานน่ะ มีอยู่หรือเปล่า? แล้วก็มีอยู่เฉพาะเรา แล้วคนอื่นเขามีหรือเปล่า อย่างนี้

ถ้าหากว่า เข้าไปรู้เฉพาะเรา แล้วรู้เฉพาะเวลาที่มีเกิดขึ้น ธรรมอันนั้นที่เราเข้าไปเห็นนั่นแหละ เฉพาะมีแต่เวลาปฏิบัติเท่านั้น เวลาไม่ปฏิบัติก็ไม่มี ก็ไม่เชื่อว่า อันนั้นเป็นของจริง ไม่ชื่อว่า เห็นของจริง ทีนี้ของจริงนั้นมีอยู่เรื่อย เข้าปฏิบัติก็มี ไม่เข้าปฏิบัติก็มี อย่างนี้นะคะ

เมื่อเราเข้าไปเห็นของจริงแล้ว เราจะรู้ได้ทันทีว่า อันนั้นเป็นของจริง หรือไม่ใช่ หรือไม่จริง แล้วในเราก็มี ในคนอื่นก็มีอย่างนั้น อย่างนี้ถึงจะชื่อว่า เห็นของจริง ถ้ามีแต่เรา แล้วก็มีเกิดขึ้นเฉพาะ เวลาที่ปฏิบัติเท่านั้น พอเลิกปฏิบัติแล้ว มีไหม? ไม่มี! นั่นหรือของจริง ไม่ใช่! ของจริงต้องมีอยู่เรื่อย แสดงอยู่เรื่อย ปรากฏอยู่เรื่อย ตลอดกัปกัลย์พุทธันดร

เมื่อเราเข้าไปเห็นของจริงแล้ว เราก็รู้ว่า อ้อ! ของจริงเป็นอยู่อย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ อันนี้เราก็รู้ได้ว่า อันนี้น่ะ เป็นของจริง อันนี้แหละค่ะ เป็นความสำคัญนะคะ ที่จะเป็นเครื่องวัด

เมื่อปฏิบัติแล้วรู้อารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นปัจจุบันหรือเปล่า รู้อย่างนี้แล้วละก็ เป็นเหตุที่จะนำจิตเข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา รู้ตามหลักฐานของปริยัติบ้าง รู้ตามที่เรานึกเอา เข้าใจเอาเองบ้าง แต่ความรู้ที่เข้าถึงวิปัสสนานั้น ต้องเป็นความรู้ที่ได้จากสภาวะที่แสดงแล้ว ก็รู้ตาม ให้เข้าใจว่าอย่างนั้นนะ ไม่ใช่รู้จากความนึกคิด ไม่ใช่รู้จากคนอื่น ไม่ใช่รู้จากหนังสือ รู้จากสภาวะที่เขาแสดงอยู่ นั่นแหละความรู้อันนั้นถึงจะเรียกว่า เข้าไปรู้ความจริง เข้าไปรู้ของจริงนะคะ

ขอย้ำอีกทีนะคะ สิ่งที่ท่านควรจะเข้าใจนะคะว่า ในมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี่ ความรู้อย่างไร หรือมีความเข้าใจอย่างไร จึงจะเข้าถึงวิสุทธินี้ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะเข้าใจ

ความเข้าใจอย่างไร ปัญญานี้มีความรู้อย่างไร จึงจะถือว่า ปัญญานั้นเป็นวิสุทธิ เพราะว่า ปัญญาที่ไม่เป็นวิสุทธิก็มี ปัญญาอย่างไร จึงจะเข้าถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ?

เพราะว่า วิสุทธินั้น ไม่ใช่ว่า อยู่เฉยๆ ก็เกิดเป็นวิสุทธิขึ้นมาได้เอง จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เข้าถึงวิสุทธินี้ได้ และคำว่า วิสุทธินี้ก็ต้องหมายถึงว่า บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส คำว่า วิสุทธิในที่นี้ ต้องหมายถึงว่า ไม่มีกิเลสนะคะ จะไม่มีกิเลสชั่วคราวด้วย ตทังคปหาน วิขัมภนะ หรือสมุจเฉท ก็แล้วแต่เถอะ แต่ว่า หมายถึงว่า บริสุทธิ์ คือ ไม่มีกิเลส วิสุทธินี่

เพราะว่า คำว่า วิสุทธินี้ ต้องเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส แปลว่า ปัญญานั้นไม่มีกิเลสเข้ามาอาศัยปะปนอยู่ในปัญญานั้นได้ และจะต้องทำความเข้าใจอย่างไร กิเลสจึงจะไม่เจือปนได้ แล้วจึงจะเข้าถึงวิสุทธิ ที่ชื่อว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิได้

ในที่นั้น การไม่ให้มีกิเลสนี้ จะต้องทำอย่างไร เพียงนึกๆ ว่า จะไม่ให้มีกิเลสเท่านั้นไม่ได้

ดังนั้น เหตุที่เข้าถึงวิสุทธิแต่ละวิสุทธินั้น เข้าถึงอย่างไร จะต้องเข้าได้ด้วยปัญญา เข้าได้ด้วยความเข้าใจ และไม่ใช่จะได้มาในเวลาที่กำลังปฏิบัติ ความเข้าใจนี้ต้องได้มาก่อนแล้ว ต้องเข้าใจมาตั้งแต่ขั้นปริยัติ อันนี้ต้องมีปริยัติประกอบมาด้วยนะคะ ต้องเข้าใจมาแล้ว

คราวนี้เวลาทำงานนั้น ก็ต้องอาศัยความเข้าใจนั้นน่ะ มาทำงานประกอบไปด้วยกับการงานนั้น แล้วก็ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินี้อีกขั้นหนึ่ง

ต้องเข้าใจมาตั้งแต่ขั้นปริยัติแล้ว ก็มาถึงขั้นปฏิบัติ จึงจะมีความเข้าใจได้ติดต่อกัน ถ้าปริยัติไม่ดีพอ ไม่เข้าใจพอ เมื่อถึงขั้นปฏิบัติ ก็เข้าใจไม่ได้เหมือนกัน คือ หมายถึงว่า ทำถูกหรือทำดีไม่ได้ มิฉะนั้น จะต้องมีครู มีอาจารย์ที่เข้าใจ เพราะท่านที่เคยปฏิบัติมาแล้ว จึงจะรู้ถูกได้ ไม่อย่างนั้นละก็ เราไม่สามารถจะทำให้ถูกได้ ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ

บางคนเรียนปริยัติมากๆ ก็มีปัญญามาก แต่ว่า ปัญญานั้น จัดเป็นวิปัสสนูปกิเลสไปก็ได้ มีความคิด ความฟุ้งซ่าน ความรู้มาก จนเกินเฉพาะหน้า เฉพาะเหตุผล ที่ควรรู้ในที่นั้น

เพราะเหตุว่า ปัญญาที่ได้มาจากอดีต ไม่ใช่ปัจจุบัน

ส่วนความรู้ที่เป็นอุทยัพพยญาณนั้น เป็นภาวนาปัญญา เป็นปัญญาที่ได้มาจากอารมณ์ปัจจุบันที่กำลังพิสูจน์อยู่ ภาวนา นี่หมายถึงว่า “ทำให้มาก” ใช่ไหม? ทำให้มาก ท่านบอกว่า ขณะจิตที่ ๑ เกิดขึ้น แล้วขณะจิตที่ ๒ เกิดขึ้นมาอีก ก็แปลว่ามากขึ้นมา ขณะที่ ๒ ก็ถือว่า เป็นภาวนา ขณะที่ ๓ เกิดขึ้นมา มากกว่าขณะที่ ๒ ขณะที่ ๓ ก็ถือว่าเป็นภาวนา อย่างนี้เรื่อยๆ กันต่อมา แปลว่า เมื่อมากขึ้นๆ ขณะที่เกิดขึ้นต่อๆ มา มากขึ้นๆ นั่นแหละ ถือว่า ภาวนา

ปัญญาก็เหมือนกัน รู้ครั้งแรก รู้ครั้งที่ ๒ รู้ครั้งแรกนะ ยังไม่ถือว่า เป็นภาวนา เพราะยังไม่ได้ทำให้เจริญขึ้น รู้อีก ครั้งที่ ๒ มากขึ้นก็ถือว่าเป็นภาวนา รู้ครั้งที่ ๓ มากขึ้น ก็ถือว่าเป็นภาวนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ความรู้ที่เป็นภาวนานี่น่ะ เป็นปัญญาที่ได้มาจาก อารมณ์ปัจจุบันที่กำลังพิสูจน์อยู่ กำลังแสดงอยู่ ถ้าเอาอารมณ์ปริยัติเข้ามา คือ ต้องการจะรู้เรื่องนี้ขึ้นมา ก็ทำให้การปฏิบัติเสียไป คือว่า ใจน่ะ ไม่ได้รู้เฉพาะธรรมที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า คือ อยากจะรู้อย่างนั้น รู้อย่างนี้ ตามที่เรียนมาจากปริยัติ นี่อยากจะรู้ เพราะมีอะไรต่ออะไร ถ้าความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น การงานอย่างนี้เกิดขึ้นกับจิตใจแล้ว ก็เป็นอันว่า เสียปัจจุบัน ธรรมที่กำลังพิสูจน์อยู่เฉพาะหน้าก็จะไม่ได้ความจริง เพราะมัวไปนึกถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้เสีย ดังนั้น ปัญญาที่รู้มากในปริยัติ จึงอาจจะไม่ถูกก็ได้ เพราะเป็นการรู้ตามปริยัติ

เพราะฉะนั้น ถ้าความรู้อย่างนี้เกิดขึ้น ก็ทำให้ปฏิบัติเสียไป อารมณ์ของวิปัสสนาก็จะไม่ปรากฏ อย่างนี้ก็เป็นความสำคัญเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจดี ก็ให้ถือเอาอารมณ์ปัจจุบันนี่เป็นหลักสำคัญที่สุด

คือว่า ธรรมะอะไร ตามหลักปริยัติบอกว่าอย่างไร เราก็ไม่เข้าใจ แต่ว่า การปฏิบัติที่กำลังพิจารณาวัตถุธรรมที่กำลังปรากฏเฉพะหน้านี่ถือว่าเป็นการเรียนเหมือนกัน แต่ว่า เรียนกับวัตถุ ไม่ใช่เรียนด้วยหนังสือ เรียนกับตัวสภาวะธรรมเอง จึงเป็นเหตุให้เข้าถึงความจริงของสภาวะนั้น

อย่าไปเข้าใจว่า การเรียนน่ะ เรียนแต่หนังสือ อย่าเข้าใจอย่างนั้น การปฏิบัตินี่ก็เรียน ศีลก็เป็นสิกขา เป็นการศึกษา สมาธิสิกขา ก็ต้องเป็นการศึกษา ปัญญาสิกขา ก็เป็นการศึกษา

ฉะนั้น การที่เราเข้าไปพิจารณาวัตถุธรรมที่ปรากฏเฉพาะหน้า จึงเป็นการเรียน เรียนอะไร? เรียนเพื่อให้รู้ความจริงของสภาวธรรม และเหตุผลของเขาตามความจริง เป็นอยู่อย่างไร?

ทีนี้เมื่อเรารู้ความจริงของเหตุผลในสภาวธรรมนั้นถูกต้อง ก็ชื่อว่า เรา รู้ถูก นั้นเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เพราะว่า รู้ถูกต้องตรงต่อเหตุผลของธรรมทั้งหลาย

อย่าไปถือว่า การปฏิบัตินั้น ไม่ใช่การเรียน เรียนเหมือนกัน

คนที่พ้นการเรียนแล้ว มีอยู่พวกเดียวที่เรียกว่า อเสกขบุคคล คือ พระอรหันต์เท่านั้นเพราะว่า กิเลสหมดแล้ว

นี่แสดงให้เห็นว่า การเรียนปริยัติ เรียนเพื่อละกิเลส การเรียนปฏิบัติ ก็เรียนทำงาน เพื่อละกิเลส เพราะฉะนั้น ถ้ากิเลสหมดแล้ว ไม่ต้องศึกษาอะไรอีกเลย หมดแล้วการงานที่จะต้องพึงศึกษา เพื่อไปทำการละกิเลสนั่นน่ะ ไม่ต้องทำอีกแล้ว เสร็จกิจแล้ว พระอรหันต์ ท่านจึงประกาศว่า ท่านเป็นผู้เสร็จกิจแล้ว ตํ การณียํ กิจนั้นไม่ต้องทำอีกแล้ว นี้มีอยู่พวกเดียวเท่านั้น ถ้าพวกที่ยังไม่ถึงพระอรหันต์น่ะ อาสวกิเลสยังไม่หมด แล้วถ้าพวกที่ยังไม่ถึงพระอรหันต์น่ะ อาสวกิเลสยังไม่หมด พวกนั้นเรียกว่า เสกขบุคคล คือ ยังเป็นบุคคลที่ยังจะต้องศึกษาอยู่ เพราะกิเลสยังไม่หมด ยังต้องศึกษาทำกิเลสให้สิ้นไป ยังไม่หมด คล้ายๆ กับว่า ยังต้องรบราฆ่าฟัน ข้าศึกยังมีอยู่ จะชื่อว่า เสร็จไม่ได้ ก็ให้ถือว่า เป็นการเรียนนะคะ แต่ว่าเรียนกับวัตถุนี้แน่นอน แน่นอนกว่าการเรียนจากหนังสือ

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านเข้าใจคำว่า ปัจจุบัน จิตที่ตั้งอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันได้ สำคัญมาก เพราะว่าอะไร? ธรรมที่มาปรากฏเฉพาะหน้าเท่านั้น ที่จะให้ความจริงแก่เรา ธรรมที่ล่วงไปแล้วให้ความจริงไม่ได้เพราะไม่มีธรรมะ ที่ยังมาไม่ถึงเพราะยังไม่มีวัตถุที่ถูกพิสูจน์ เราก็จะได้ความจริง รู้ความจริงจากวัตถุนั้นๆ ไม่ได้ อันนี้เป็นเหตุที่ทั้งทางโลกและทางธรรม ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

ถึงทางโลกและทางธรรม ก็เป็นธรรมะทั้งนั้น ไม่ใช่อื่น

ถ้าท่านเข้าใจอารมณ์ปัจจุบันได้ดีแล้ว จิตตกไปจากอารมณ์ขณะใด อารมณ์ปัจจุบัน นี่ เป็นทางนะคะ ตัวนี้ มัชฌิมา ละ ตกไปจากปัจจุบัน ขณะใดคราวใด ท่านก็รู้ได้ทันทีว่า จิตไม่ได้รับอารมณ์แล้ว ให้รู้สึกว่า จิตนั้นตกจากมัชฌิมาปฏิปทา คือทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ตกจากมัชฌิมาปฏิปทานี้ ไม่เป็นอารมณ์ปัจจุบัน

ถ้าจิตนั้นตั้งอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันขณะใด ขณะนั้นก็ถือว่า เป็นมัชฌิมาปฏิปทา จิตยกขึ้นสู่มัชฌิมาปฏิปทา จิตดำเนินอยู่แล้วในมรรค

เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดถึงเหตุผลตอนนี้แล้ว วันหนึ่งผ่านไป เดือนหนึ่งผ่านไป ปีหนึ่งผ่านไปใช่ไหมล่ะ? อารมณ์ปัจจุบันนี่ จะได้รับบ้างหรือเปล่า ด้วยอำนาจของอดีต ของอนาคต เรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง เรื่องที่แล้วไปบ้าง เรื่องจะมาข้างหน้าบ้าง แล้วก็เรื่องของเราบ้าง เรื่องของคนอื่นเขาอีกบ้าง   มันมีอยู่เท่านี้ ตลอดทั้งปีทั้งชาติ

เพราะฉะนั้น จิตเราจะตั้งอยู่ในมัชฌิมาบ้างหรือเปล่า ก็นอกจากผู้ที่ไปเจริญสติปัฏฐาน จะเป็น ๗ วัน ๑๕ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ก็ตามเถอะ นั่นแหละ ท่านผู้นั้นละ มีโอกาสที่จะได้อารมณ์ปัจจุบันมาก เพราะท่านไม่ปล่อยให้จิตตกไปทางอื่น ต้องพยายามให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์ปัจจุบัน เพื่อพิจารณาวัตถุธรรมให้ได้ความจริงในวัตถุนั้น ที่กำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้าเรา อันนี้แหละได้ แต่ทั้งๆ ที่เข้าไปอยู่แล้ว บางทีก็ยังตกไปไม่ใช่ว่า พอเข้าไปแล้วจะได้เสมอนะคะ เพราะว่า จิตมันเคย จิตที่จะยกขึ้นสู่อารมณ์ปัจจุบันนี่ มันไม่ค่อยเคย การงานอันนี้ไม่ค่อยเคยทำ เพราะฉะนั้นเวลาเข้าไปทำน่ะ ก็ไม่สะดวก ไม่คล่อง ไม่เหมือนอย่างกับนึกไปถึงอดีต อนาคตที่เป็นอารมณ์ อันใดที่เป็นปัจจัยแก่กิเลสนั่นมันคล่องมาก มันสะดวกมาก

อารมณ์อะไร เป็นปัจจัยให้ทำลายกิเลสละก็ เราก็เหมือนพายเรือทวนน้ำนั่นแหละ จิตใจเราน่ะมันไม่สะดวกละค่ะ

เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยความเพียร การพายเรือทวนน้ำนี่ ต้องอาศัยความเพียรนะคะ ถ้าไม่มีความเพียรแล้ว เรือมันแล่นขึ้นไปไม่ได้ มันต้องไหลไปตามกระแสน้ำ ต้องไปตามกระแสของกิเลสอย่างนี้

ถ้าพายเรือตามกระแสน้ำ คือปล่อยให้มันไปตามกิเลสน่ะ ตกไป ไม่ต้องพายหรอก สบายไปได้เองเลย นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องพาย เรือก็ไปได้ ไม่ต้องอาศัยความเพียร ไม่ต้องอาศัยความอุตสาหะ ไม่ต้องมีอะไรมาสนับสนุนละ มันไปของมันเอง มันไปได้สะดวก มันไปได้คล่อง

เหมือนจิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าปล่อยให้มันไปกับอารมณ์ของกิเลสแล้ว รู้สึกว่า มันสบายเหลือเกิน ถ้าเวลาไหนกิเลสมันเกิดขึ้น แล้วเราทำให้เป็นไปตามกิเลสนั้นไม่ได้ละก็ แหม! บางทีถึงกับกินยาตาย ฆ่าตัวตาย อะไรก็ได้เยอะแยะไปหมด

นี่แหละมันลำบากอย่างนี้ มันอึดอัดอย่างนี้ มันต่อสู้ไม่ได้ มันแพ้!เพราะฉะนั้น เมื่อฉันแพ้กิเลส เป็นไปไม่ได้ตามใจของฉัน ที่ฉันปรารถนาแล้วก็ตายเสียดีกว่า นี่มันเป็นอย่างนี้

ฉะนั้น ตอนที่ยกขึ้นสู่อารมณ์ปฏิบัติ คือ ปัจจุบันธรรมนี่ เป็นของที่จิตตั้งอยู่ยากที่สุดเลย

อุปมาเหมือนกับปลาที่อยู่ในน้ำ ถ้าปลานี้เราจับเอาขึ้นมาจากน้ำแล้ว มันไม่มีความสุขเลยเอามาวางไว้บนบก มันก็พยายามจะดิ้นเสือกหาที่จะลงไปในน้ำให้ได้ พอมันลงไปในน้ำได้แล้ว แหม! มันก็สบายรื่นเริง

จิตของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกัน ขณะที่ยกขึ้นจากกิเลส ยกขึ้นสู่หนทางปฏิปทาหรือเพื่อวิสุทธินี้แล้วละก็ ไม่สบายเลย ดิ้นไม่สบาย มันอยากจะตกไปอยู่ในอารมณ์กิเลสนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ผู้กำลังปฏิบัติอยู่ โอ๊ย! ดูลำบากลำบน จะตายเสียให้ได้ รู้สึกเหมือนอย่างกับว่า ไปยกของหนัก ขนดินขนทราย ก็ไม่ลำบากกว่าที่เข้ามาอยู่ในห้องกรรมฐาน เพราะว่า นั่นมันเหนื่อยร่างกาย ใช่ไหม? แต่ว่าจิตใจยังมีกำลังอยู่ กำลังใจยังดีอยู่ เอ้า! เหนื่อยเท่าไหร่ ไม่เป็นไร เพราะว่า กิเลสมันบังคับ มันใช้ มันพอใจแล้ว ตกไปในอารมณ์นั้น ก็สบายใจไม่เป็นไรหรอก เหนื่อย แต่ปฏิบัตินี่ มันเหนื่อยใจ การปฏิบัตินี่ มันคอยขัดใจอยู่เรื่อย เพราะเหมือนปลาที่ยกขึ้นจากน้ำ ปลามันอยากจะอยู่ในน้ำ ไปยกขึ้นมามันก็ไม่สบาย

ผู้ที่ปฏิบัติบางทีก็ไม่สบาย แหม! บางทีเจ็บจะตายเสียเลยทีเดียว อย่างนี้ แหม! จะตายเสียให้ได้ทีเดียว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไร สบายที่สุดเลย แม้แต่จะกินข้าว เขาก็ไม่ต้องให้ล้างชามนะ ที่เขาปฏิบัตินี่น่ะ คนที่ทำสติปัฏฐานน่ะ ไม่มีละ

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สบาย แหม! จะตายแล้วเสียงก็ไม่มี แหม! จะตายเชียว แต่ว่า พอออกมาเท่านั้นละ ปล่อยให้จิตมันตกไปกับกิเลสเท่านั้นแหละ ไม่ต้องไปแล้วโรงพยาบาล หายหมดเลย แหม กำลังวังชาดีทีเดียว นี่อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น จิตที่ยกขึ้นตั้งในมัชฌิมาปฏิปทานี้ ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องมีความเพียร ต้องมีสติ ต้องมีปัญญา ต้องมีมนสิการแก่ใจตัวเอง ต้องคบผู้ที่สนใจ คบกับบัณฑิต ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ท่านให้ห่างนะคะ มีเหตุหลายอย่างที่จะนำจิตขึ้นตั้งอยู่ในปฏิปทานี้ได้ ไม่ใช่ของง่ายๆ

ถ้าจิตตั้งอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันขณะใด ขณะนั้นก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา   แปลว่า ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ปัจจุบัน ขึ้นสู่อารมณ์ที่ถูกแล้ว

ฉะนั้น การตัดสินอารมณ์ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะรู้ได้ว่า จิตหรือปัญญาที่เข้าไปรู้นั้นน่ะ เป็นปัจจุบันหรือเปล่า ผู้ปฏิบัติบางคน เข้าไปปฏิบัติเข้าใจผิดว่า ตัวน่ะ รู้แล้ว อ๋อ! เรื่องนั้น ฉันต้องรู้แล้ว ฉันเห็นแล้ว เข้าใจอย่างนี้ ทีนี้ก็ถามว่า ใครเป็นคนสอน? ใครเป็นคนสอนให้เห็น? ใครเป็นครูในที่นั้น รู้จักครูหรือยัง?

บางทีก็เห็น แต่ไม่รู้ว่าใคร? เข้าใจว่า เห็น ใครสอนก็ไม่รู้ในที่นั้น ก็ไม่เข้าใจในสภาวะธรรม เห็นน่ะ เห็นจริง แต่ว่า ไม่รู้ว่า อะไร? อย่างนี้ รู้จักครูแล้วหรือยัง? จะเรียกว่า เห็น ได้อย่างไร? เพราะว่า ตอนนั้นเห็น ก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร กลับเกิดความไม่รู้ขึ้นมาในที่นั้นด้วย

ถ้าเห็นแล้วก็รู้ เกิดขึ้นก็จะได้ชำระกิเลส คือ ความไม่รู้ หรือความเข้าใจผิดในที่นั้นให้หมดไป นี่เห็น แต่ไม่รู้ หรือบางทีปฏิบัติผิดไป ตัวเองก็ไม่รู้ อ้อ! ว่าจิตนี่มันตกไป นี่ผิดแล้ว

เมื่อปฏิบัติแล้ว รู้อารมณ์อย่างนั้น อย่างนี้ เป็นปัจจุบัน อันนี้เป็นชื่ออารมณ์ปัจจุบันหรือเปล่า หรือไม่ใช่และสิ่งที่รู้นั้น เป็นของจริงที่มีอยู่โดยปกติหรือเปล่า นี่ให้ข้อสังเกตนะคะ ธรรมใดที่ผู้ปฏิบัติเข้าไปรู้ธรรมนั้นต้องมีอยู่เรื่อย ประจำอยู่ในโลกนี้ อันนั้นต้องมีอยู่เรื่อย ประจำอยู่ในโลกนี้ อันนั้นต้องมีอยู่ประจำอยู่ในโลกนี้ทีเดียว เราก็มี คนอื่นก็มีนั่นจึงใช้ได้ ชื่อว่า ของจริง

เพราะธรรมดาของจริงไม่ใช่มีแต่เรา และไม่ใช่มีเมื่อเวลานั้น เวลานี้ไม่มี ไม่ใช่อย่างนั้น ของจริงต้องมีอยู่ตลอดกัปกัลป์พุทธันดร กี่แสนมหากัป โลกจะเป็นไปกับวัฏฏะอย่างไร? กี่มหากัปก็ตาม จะต้องปรากฏอยู่เรื่อยไป มีสัตว์ มีบุคคลอยู่ มีโลกอยู่แล้ว ธรรมที่เห็นนั้นจะต้องปรากฏอยู่เรื่อย จะต้องมีอยู่เรื่อย จึงว่า เข้าไปเห็นของจริง

ถ้าอารมณ์ใดเกิดแก่ผู้ปฏิบัติมีเฉพาะเวลาที่เราปฏิบัติใช่ไหม? เราเห็น แล้วมีเฉพาะเรา ธรรมที่เราเห็นนี้ มีเฉพาะเรา แต่คนอื่นไม่มี อย่างนี้ไม่ใช่ ใช้ไม่ได้ หรือแต่ก่อนไม่มี เพิ่งมามีตอนทำกรรมฐานนี่ ใช้ไม่ได้ ไม่ชื่อว่าเห็นของจริง ต้องมีอยู่ตามธรรมดา

เพราะฉะนั้น การเห็นของจริงนะ เห็นสิ่งที่มีอยู่ตามกฎธรรมดา ไม่ใช่ว่า พอเข้ากรรมฐานแล้ว โอ้โฮ! แหม ฉันไปเจอะ ความสว่างจิตใจ ความเยือกเย็นเป็นสุข มีโอกาสเห็นแสง เห็นสี นี่ไม่ใช่ของจริง

เพราะว่า ตามธรรมดา แต่ก่อนตัวไม่มี มามีเมื่อตัวมาเข้ากรรมฐาน และเมื่อตัวออกจากกรรมฐานแล้ว อันนั้นจะมีไหม? ก็ไม่มี อันนี้จะชื่อว่า เห็นของจริงหรือ

ถ้าเห็นของจริงแล้ว ธรรมอันนี้มีอยู่ก่อนเข้า เมื่อเข้าก็มีอยู่ และเราก็มี คนอื่นก็มี และมีอยู่ตลอดกาลเลย คู่กันกับโลก ต้องเห็นอย่างนั้น แต่ว่า เรายังไม่รู้เท่านั้นเอง แต่เราเพิ่งมารู้ และรู้ก็ไม่ใช่รู้อย่างอื่นน่ะ รู้กฎธรรมดานั่นเอง อันนี้ถึงจะชื่อว่าเห็นของจริงนะคะ

สิ่งที่เรารู้นั้น จะต้องเป็นของจริงที่มีอยู่โดยปกติธรรมดาหรือเปล่า ให้เป็นเครื่องตัดสิน ไม่อย่างนั้น เอะอะอะไรต้องถามอาจารย์เรื่อย พอไปเห็นอะไรเข้า ฉันเห็นอย่างนี้ ไปถามอาจารย์ดูซิ ถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ทราบ ใช่หรือไม่ใช่ ก็ไม่รู้ ตัวเองตัดสินไม่ได้

ถ้าที่จริงน่ะ ผิด แต่อาจารย์บอกว่า ถูก ก็เลยยึดเอาว่าถูกเท่านั้น หรือเห็นถูก แต่อาจารย์ว่า ผิด จบเชียวอย่างนี้ แต่ว่าโดยมาก ถ้าเห็นถูกแล้วต้องเป็นวิญญูชน รู้ได้ รู้ตัวได้เอง เพราะตัวรู้ได้เองนั่นแหละ จึงทำลายความสงสัยของตัวเองให้หมดไปได้ ปัญญาของตัวเอง ที่เข้าไปรู้ของจริงนั่นแหละ ทำลายความสงสัยของตนเอง

ไม่ใช่เอาปัญญาของคนอื่น ไปทำลายความสงสัยของตัว ไม่ได้ หรือทำลายความไม่รู้ของตัวก็ไม่ได้

นี่แหละค่ะ อันนี้ให้เป็นข้อสังเกตนะคะ ต้องเกิดจากกฎธรรมดา ต้องเป็นของมีอยู่ตามปกติธรรมดานี่เอง หรือว่า เกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นจากความสงบ เกิดจากความนึกคิด หรือเกิดขึ้นจากกฎธรรมดานั้นแสดง นี่มันมีหลายอย่าง

เหตุที่ตนเข้าไปรู้น่ะ อาศัยเหตุอะไร? อาศัยเหตุเพราะความสงบ จึงเกิด หรือเกิดจากความนึกคิดของเรา คาดคะเนว่า จะต้องเป็นอย่างนี้แน่ เหตุอันนี้จะต้องเป็นไปอย่างนั้นเชียว อันนี้ไม่ใช่นะ ความรู้จะเกิดขึ้นจากความนึกคิดหรือ? ไม่ใช่! เกิดจากความสงบหรือ? ไม่ใช่นะคะ หรือว่าเกิดขึ้นจากธรรมดาที่กฎธรรมดานั้นแสดง นี่มันมีหลายอย่าง หรือเกิดจากมนสิการ คือ ทำความเข้าใจเข้าไว้ว่า อย่างนี้ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ ทำความเข้าใจอย่างนี้ โดยมนสิการที่จิตนึกไปถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้ แล้วก็บอกว่าเรื่องนั้นต้องเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้ต้องเป็นอย่างนี้ รู้ตาม หลักฐานของปริยัติบ้าง รู้ตามที่เรานึกเอา เข้าใจเอาบ้าง หรือตามที่ครูบาอาจารย์ที่บอกบ้าง

แต่ว่า ความรู้ที่เข้าถึงวิปัสสนานั้น ต้องเป็นความรู้ที่ได้มาจากสภาวธรรมที่แสดง แล้วเรารู้ตามสภาวะ ที่เขาแสดงให้เรารู้นั้น เขาแสดงความจริงให้เรารู้ แล้วเราเข้าไปรู้ความจริงของเขา ตามสภาวธรรมนั้นๆ

ตามที่รู้ จะรู้ว่า ความรู้อย่างนั้น เข้าถึงวิปัสสนาหรือไม่ ต้องเป็นความรู้ที่ได้มาจากสภาวธรรม คือว่า ที่เข้าถึงวิปัสสนาน่ะ วิปัสสนา ไม่มีครูอาจารย์อะไร จะสอนได้ ไม่มี ต้องเป็นปัญญาของเราเองที่เข้าไปรู้ว่า ธรรมทั้งหลายนี่ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะบอกเท่าไร ใครจะสอนเท่าไรๆ ก็ไม่ได้ แล้วจะรู้ด้วยศีลก็ไม่ได้ จะรู้ด้วยสมาธิก็ไม่ได้ จะต้องรู้ได้ด้วยปัญญาเท่านั้นนะคะ ว่าสิ่งทั้งหลายนี่ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องรู้ได้ด้วยปัญญาเท่านั้นนะคะ แล้วก็ปัญญานั้นได้มาจากไหน? ได้มาจากการเข้าไปพิสูจน์แล้ว สภาวะแสดงให้รู้ ไม่ใช่ได้มาจากครูอาจารย์ ไม่ใช่ได้มาจากการคิดนึก ได้มาจากการไปพิจารณา ปฏิบัติ ตามพิสูจน์ความจริงของสภาวะ มีนามรูป หรือขันธ์ ๕ เป็นต้น แล้วเขาแสดงความจริงให้รู้

ความรู้ได้มาจากสิ่งนั้น ไม่ใช่ได้มาจากครูอาจารย์ ไม่ใช่ได้มาจากตัวหนังสือ หรือตำรับตำราต้องได้มาจากสภาวะ

อย่างความ ไม่เที่ยง เป็นต้น มีสภาวะปรากฏแสดงแล้วหรือยัง เราก็รู้ว่า มันไม่เที่ยง นี่แหละค่ะ ทุกคนที่นั่งอยู่นี่ รู้หมดใช่ไหมว่า ไม่เที่ยง ทุกคนน่ะรู้ทั้งนั้น ว่าสิ่งทั้งหลายนี่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ว่าใครเล่า? ความไม่เที่ยงอันนี้ ใครเป็นคนแสดงให้ท่านรู้ เขาแสดงแล้วหรือยัง

ท่านรู้ว่า ไม่เที่ยง แต่ว่าใครบอกว่า ไม่เที่ยงไหนล่ะ ไม่เที่ยง ชี้มาซิ ไม่เที่ยงอยู่ที่ไหน? เวลานี้อยู่ที่ไหน? อยู่ที่โต๊ะหรือ? โต๊ะก็ยังอยู่ ทำไมว่าไม่เที่ยงล่ะ อยู่ที่เก้าอี้หรือ หรืออยู่ที่คนที่นั่งอยู่ที่นี่ ยังอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ทำไมถึงว่าไม่เที่ยง หรือโบสถ์ วิหาร การเปรียญ ไม่เที่ยง ก็ยังอยู่ทั้งนั้น ยังปรากฏอยู่แก่ท่านทั้งนั้นแล้ว ที่ท่านว่า ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงนั้นเอามาจากไหน? ความไม่เที่ยง เขาหมายความว่าอย่างไร? สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับไป หรือสิ่งนั้นต้องหมดไป สิ่งนั้นต้องสลายไป

อย่าลืมว่า ต้องเฉพาะหน้าเป็นปัจจุบันธรรม ต้องเข้าไปเห็นอย่างนั้น จึงเรียกว่าเห็นทีนี้เราก็ว่า เรารู้ รู้แต่ว่า ไม่เห็น รู้ทุกอย่างนี่มันไม่เที่ยง รู้อย่างไร รู้ว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร? อ้าว! ต่อไปจะตั้งอยู่ได้หรืออย่างนี้ ต่อไปมันก็ต้องหมดทั้งนั้น ใครว่ามันจะตั้งอยู่ได้ คนเรานี่ต่อไปมันก็จะต้องตายใช่ไหมล่ะ? นี่ว่าอย่างนี้ทีเดียว แล้วเราก็ตาย แต่นี่เราก็ยังตั้งอยู่จนตายแล้วก็ยังไม่เห็น อาการไม่เที่ยงของวัตถุสิ่งนี้ เห็นหรือยัง? ยังไม่เห็น ใช่ไหมล่ะคะ? ก็ยังไม่เห็นนี่ มันยังอยู่ แล้วมันก็ต้องหมด” แต่แม้เราตายแล้ว มันก็ยังไม่หมด แล้วเมื่อไหร่เล่า เราจะเข้าไปเห็นความไม่เที่ยงอันนั้นได้

ใครๆ ก็รู้กันทั้งนั้นแหละค่ะ แต่ว่า ความรู้อันนั้น มันรู้ในขั้นวิปัสสนาหรือว่าขั้นศรัทธาเชื่อตาม หรือว่าคิดนึกตาม หรือว่ารู้ตามที่เขาบอก แล้วก็คิดนึกไปตาม อย่างนี้

ต้องรู้ตามสภาวะนะคะ ว่ามีสภาวะปรากฏแสดงแล้วหรือยัง หรือว่าไปมนสิการเอาเองว่า ไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นต้น

ฉะนั้น การทำวิปัสสนานี่ ในปัญญาของท่านวางลำดับไว้ ความไม่เที่ยงก็เห็นด้วยกันในวิปัสสนา แต่อย่างนั้นการเข้าไปเห็นในวิปัสสนา ยังมีการต่างกัน ยังไม่เหมือนกันเลย ขั้นนั้นจะต้องเห็นแค่นั้น ขั้นนั้นต้องเห็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่า ไปมนสิการเอาเองว่าไม่เที่ยง อย่างนี้ เป็นต้น

ปัญญาอย่างนี้ ยังไม่เข้าถึงวิปัสสนา ปัญญาที่เข้าถึงวิปัสสนา ซึ่งเรียกว่า ภาวนาปัญญา ต้องรู้ตามและต้องตามดูสภาวะ ตามดูนามรูป เพราะไม่เที่ยงนี่อยู่ที่นามรูป เพราะฉะนั้น ต้องการจะรู้นามรูปไม่เที่ยง นี่ก็ต้องตามคอยดูที่นามรูปนั่น จนกระทั่งเห็นตามความจริงของนามรูป ที่แสดงให้เห็น และรู้ตามที่ปรากฏที่แสดงอยู่นั้น อย่างนี้จึงจะเรียกว่า เข้าถึงวิปัสสนาได้

เพราะว่า เราเข้าไปพิจารณา จะเป็นรูปใด นามใด ก็สุดแล้วแต่รูปนามที่เราดูอยู่นั้น กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่

สมมุติว่า รูปนั่ง เรากำลังนั่งอยู่นี่ รูปนั่งก็กำลังปรากฏ เกิดขึ้นอยู่ในท่าที่นั่งนั้น เห็นว่า รูปนั่งนี้ไม่เที่ยง

ถ้าเห็นด้วยวิปัสสนาที่แท้จริงละก็ ต้องเห็นความไม่เที่ยงในขณะที่กำลังนั่งอยู่นะ ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไปแล้ว ถึงจะเห็นว่า รูปนั่งไม่เที่ยง ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ นี่ดูซิขั้นหนึ่ง

ทีนี้ท่านบอกอย่างนี้ เหตุผลอย่างนี้น่ะ เราต้องนึกว่า เราเข้าไปเจอะหรือยังนี่ ที่เรากำลังนั่งอยู่นี่ เราเห็นรูปนั่งไม่เที่ยง ทั้งๆ ที่เรากำลังนั่งอยู่นี้ เราเคยพบแล้วหรือยัง นี่ลองนึกดู ถ้ายังก็แปลว่า เรายังไม่เข้าถึงวิปัสสนาที่แท้จริงนะคะ

เพราะว่า เราเข้าไปพิจารณารูปนามที่กำลังนั่งอยู่แล้ว ก็เห็นว่า ไม่เที่ยง อย่างนี้ ถึงจะเรียกว่า เห็นด้วยวิปัสสนาที่แท้จริง ที่กำลังนั่งอยู่นั่นแหละ คือ กำลังที่รูปนั่งนั้นยังอยู่ ไม่ใช่ว่า รูปนั้นหมดไปแล้ว ถึงจะเห็นว่า ไม่เที่ยง ไม่ใช่อย่างนั้น วิปัสสนาที่แท้จริงน่ะ

ที่เราเข้าใจกันอยู่ว่า ไม่เที่ยง ก็คือ เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถแล้ว เมื่อรูปนั่งหมดไปแล้ว เราจึงรู้ว่า รูปนั่งนั้นไม่เที่ยงใช่ไหมคะ นั่นไม่ใช่ รูปนั่งนั้นกำลังแสดงความไม่เที่ยง มันหมดไปแล้ว มันไม่มีแล้ว รูปนั่งนั้น มันไม่มาปรากฏแสดงความไม่เที่ยงให้เราแล้ว เพราะเราเปลี่ยนไปแล้วอิริยาบถ แต่ว่าเราไปนึกจำได้ว่า เมื่อกี้นี้ท่านี้ยังอยู่ แต่ว่าตอนนี้เราเปลี่ยนไปแล้ว ท่านี้หมดไปแล้ว ก็ไม่ใช่ปัจจุบัน เพราะเราไปหน่วงเอาอดีตมาใช่ไหมล่ะคะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว แต่ก่อนนี้มีอยู่ นี่จับเอาอดีตมาบ้าง อนาคตบ้าง ต่อไปรูปนี้ก็ต้องไม่เที่ยงเหมือนกันนี่อย่างนี้ อันนี้ก็เป็นอดีตกับอนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน หรือว่าเท้าที่ยกขึ้นและย่างลงไปนี่ แล้วจึงเห็นว่ารูปยกนั้นไม่เที่ยง อย่างนี้ก็ยังไม่ชื่อว่า เห็นรูปเดินไม่เที่ยง เพราะขณะที่เดินอยู่ ยังไม่เห็นความไม่เที่ยงของรูปนั้น ถ้าเห็นด้วยวิปัสสนาที่แท้จริงจะต้องเห็นไม่เที่ยง ในขณะที่กำลังก้าวอยู่นั้น คือ จะเป็นรูปใดหรือนามใดก็ตาม ต้องเข้าไปเห็นว่า ไม่เที่ยง ในขณะที่รูปหรือนามนั้น แสดงความไม่เที่ยงอยู่ ไม่ใช่เห็นว่าไม่เที่ยง เมื่อมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาแทนแล้วเช่น :-

เห็นว่า จักขุวิญญาณนี้ไม่เที่ยง หรือวิญญาณนี้ไม่เที่ยง ต่อเมื่อเราไม่เห็นสิ่งนั้นแล้ว หรือว่า สิ่งนั้นมันได้ผ่านไปแล้ว เราจึงรู้ว่า ที่เห็นสิ่งนั้นหมดไปแล้ว แต่ที่กำลังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ เรายังไม่เห็นว่าไม่เที่ยง ทำไมจึงว่า ยังไม่เห็นเล่า? เพราะว่า เรายังเห็นอยู่นี่ ถ้าไม่เที่ยงจะต้องหมดไปละ แต่นี่เราก็ยังเห็นอยู่นี่ แล้วจะว่ามันไม่เที่ยงได้อย่างไร มันยังอยู่นี่

เรากำลังดูอยู่ เราก็เห็นอยู่เรื่อยอย่างนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การเห็นนี้ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เราจะต้องดูจนกว่านามรูปเขาไม่เที่ยงตามลักษณะของเขา ที่แสดงว่า ไม่เที่ยงอย่างนั้นเสียก่อน แล้วเราจึงจะรู้ว่า ไม่เที่ยง

ถ้าเราเข้าไปเห็นอย่างนี้ ก็จะรู้ว่า ปัญญาเป็นผู้บอกให้เรารู้เอง จะรู้ทีเดียว ใครเป็นผู้บอก เราต้องรู้เอง ใครเป็นผู้บอกให้เรารู้ว่า ไม่เที่ยง เราจะตอบได้อย่างไร? สมมุติว่า เราเข้าไปเห็นความไม่เที่ยง ตามสภาวะอย่างนี้ เราก็บอกว่า เดี๋ยวนี้เราเข้าไปเห็นแล้วละ ว่าไม่เที่ยงนั้นน่ะ ได้เข้าไปปฏิบัติแล้ว ไปพบแล้ว ถ้ามีคนเขาถามว่า ใครบอกว่ารูปนั้นไม่เที่ยง หรือนามนั้นไม่เที่ยงน่ะ ใครบอก? แล้วเราจะตอบได้อย่างไร? เราเป็นคนผู้เขาไปเห็น เข้าไปดู แล้วเราจะตอบว่า อ๋อ! พระพุทธเจ้าท่านบอก หรือ อาจารย์คนนั้นบอก คนนี้บอกหรือ? เปล่า! เราไม่บอกแล้วอย่างนั้น เราก็บอกว่า “เรารู้เอง” ก็เราเข้าไปเห็นเองนี่ ใช่ไหม? เราจะไปบอกได้อย่างไรว่า ใครบอก ก็ต้องเข้าไปรู้เอง ทำไมถึงรู้ล่ะ? อ้าว! ก็เข้าไปดูอยู่นี่ ถึงเห็นว่า ไม่เที่ยงอย่างนี้ จะไม่นึกเลยว่า คนนั้นบอก คนนี้บอก ท่านถึงบอกว่า เรื่องนี้จะต้องรู้เองรู้เฉพาะตัว คนอื่นเขาไม่ได้ดูด้วย เขาก็ไม่เห็นด้วย เราต้องเข้าไปเห็นนามนั้น เห็นรูปนั้น กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ ถ้าเมื่อใครถามเราว่า ใครบอกว่ารูปนามไม่เที่ยง? เราก็ต้องบอกว่า เราเห็นเอง เพราะเราดู เราจึงเข้าไปเห็นด้วยตนเอง ไม่มีใครบอกให้เห็น เพราะเห็นเอง และถ้าจะมีใครมาบอกว่า นามรูปเที่ยง ความจริง นามรูปมันเที่ยงนะ มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้แหละ มันเที่ยง ใครจะไปว่ามันไม่เที่ยง มันตั้งอยู่เป็นกัปกัลป์พุทธันดรทีเดียว มีคนที่เขาเข้าใจอย่างนี้ก็มีนี่คะ เขาก็มาบอกว่า เราเห็นผิดแล้วละ ความจริงรูปนามมันต้องเที่ยง อย่างนี้ เราจะเชื่อไหม? เราเข้าไปเห็นเอง เราเข้าไปชิมเอง บอระเพ็ดนี่ มันขมแล้วคนอื่นเขาจะบอกว่า เออ! ไม่ขมหรอก มันหอมหวานนะ เราจะเชื่อไหม ในเมื่อเราได้ลองชิมแล้ว เราก็ไม่เชื่อเลย ใช่ไหมคะ?

เพราะฉะนั้น ในปัญญาที่เข้าไปเห็นเองแล้วนี่ ใครจะไปบอก สักหมื่นสักแสน ไม่มีเลยที่จะเชื่อ เพราะสิ่งนั้นได้ประจักษ์ชัดด้วยตนเองแล้ว ไม่ได้อาศัยคำบอกเล่า เราจะเชื่อไหม?

ถ้าหากอาศัยคำบอกเล่า คนนี้บอกดี แหม! คนนี้พูดดี พูดเก่ง   แหม! เขาบอกให้เหตุผลดี เขาบอกเก่ง เราก็ไปเชื่อคนใหม่บอกเก่ง คนเก่าที่บอกมาก็เชื่อมาเหมือนกันแหละ แต่ยังไม่เก่งเหมือนคนนี้ แหม! คนนี้ให้เหตุผลดี บอกเก่งดี เอ้า! เชื่อคนใหม่นี่อีก ประเดี๋ยวมีคนใหม่มาดีกว่าคนนี้อีก เราก็เชื่อเขาเรื่อยไปใช่ไหม? แต่ถ้าเราเห็นเองแล้ว

ไม่มีเลย พระอินทร์ พระพรหม มาบอกเราก็ไม่เชื่อ เพราะว่า เราเห็นแน่แล้ว ความสงสัยของเราไม่มีแล้ว เราก็ไม่เชื่อใครทั้งนั้น

เรื่องอย่างนี้ก็มีในพระสูตร แสดงถึงการได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา คือ เห็นความไม่เที่ยงนี่ เห็นขึ้นมาด้วยตนเอง สภาวะที่เขาแสดง ความเกิดขึ้นและดับไปของนามรูปด้วยวิปัสสนา เขาก็มีความเลื่อมใสศรัทธาว่าธรรมนี้น่ะ เป็นของจริง เพราะได้เข้าไปพิสูจน์แล้วตามความจริง อย่างนั้นทีเดียว

คราวนี้ก็มีพระยามาร รู้แล้วว่า อ้อ! คนนี้เกิดศรัทธาขึ้นมาแล้ว แต่ก่อนนี้ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ก็แปลว่า เป็นพวกเดียวกันกับพระยามาร เป็นพาลว่าอย่างนั้นเถอะ ตัวเองยังไม่เกิดปัญญา ยังไม่เป็นบัณฑิต ท่านก็ว่า เป็นพาล พระยามาร ก็ถือว่าเป็นพวกเรา เป็นลูกศิษย์ของเรา พระยามารก็มีอำนาจ มีมัจจุมาร มีความตาย มีขันธมาร มีกิเลสมาร เป็นต้น อยู่ในอำนาจของเรา เราก็สามารถทำให้เป็นไปได้ แต่ทีนี้ เมื่อไปเกิดปัญญาเห็นความจริงขึ้นแล้ว ก็จะเป็นผู้ไม่หลงละ ว่าอย่างนั้นเถอะ ก็แปลว่า จะไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราแล้ว เราจะชักจูงไปในกิเลสเพื่อไปหาความตายอย่างนี้ เป็นต้น หรือเพื่อไปหาเบญจขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นใหม่ เพราะขันธ์เป็นตัวทุกข์นี่ ก็ไม่ได้แล้ว ผู้นี้ไม่ยอมไปแล้ว เพราะอะไร ก็เห็นอยู่แล้วว่า มันไม่เที่ยงอย่างนี้ แล้วแกจะไปยินดี ไปหาขันธ์ในภพไหนล่ะ มันก็ต้องไม่เที่ยงทั้งนั้น จะไปหาความยินดีในความไม่เที่ยงได้อย่างไร?

พระยามารเห็นว่า ไม่ได้การแล้ว ผู้นี้เห็นจะไม่เชื่อถ้อยคำของเรา ก็แปลงเป็นพระพุทธเจ้า มาแสดงธรรมบอกว่า เมื่อตะกี้นี้ที่เราบอกกับท่านว่า ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร นั่นเราบอกผิดไปนะ นั่นพระยามารที่แปลงมา เมื่อกี้เราบอกผิดไป เราเผลอไป

ความจริงรูปนามนั้น มันเที่ยง มันอยู่ในอำนาจของเรา เป็นไปตามใจเรา บอกอย่างนั้น แล้วมันก็เป็นสุข ก็บอกให้ฟังใหม่ เพราะแปลงมาเหมือนพระพุทธเจ้าทีเดียว เพราะถ้าอย่างนั้นแกก็จะไม่เชื่อ

พอบอกเท่านั้นละ ทั้งๆ ที่เป็นรูปพระพุทธเจ้านั่นแหละ ผู้ที่เกิดวิปัสสนาที่เข้าไปเห็นของจริงแล้ว แกลุกขึ้นชี้หน้าพระยามาร ที่แปลงเป็นพระพุทธเจ้า ไล่ออกจากบ้านทันที บอกว่า ท่านเป็นพาลแล้ว ท่านไม่ได้เป็นบัณฑิต ท่านไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ออกจากบ้านไปเดียวนี้ทีเดียว

เห็นไหมคะ นี่ คนที่เขารู้แท้จริงน่ะ ต่อให้เหมือนพระพุทธเจ้า   ปลอมมาเหมือนพระพุทธเจ้า เทศนาได้ดีอย่างพระพุทธเจ้าก็ตาม ถ้าผิดจากเหตุผลที่เข้าไปพิสูจน์แล้ว เขาไม่มีเชื่อเลย

นี่ก็ให้ดูว่า ต้องเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เราก็ทราบกันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหลาย ไม่เที่ยง พระองค์ทรงแสดงว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง เราก็ฟังกันมานักแล้ว

แต่ทีนี้ ยังมีอาจารย์อีกมากว่า จิตนี้น่ะเที่ยงมีอีกเยอะ ท่านก็คงจะเคยได้ผ่านมา จิตนั้นน่ะเที่ยงมันไม่เกิดไม่ดับหรอก

เมื่อวานซืนนี้เองแหละ ดิฉันก็ไปฟังมา บอกว่าจิตนี่น่ะ เที่ยง ไม่เกิดไม่ดับหรอก ที่มันเกิดดับ ที่มันไม่เที่ยงน่ะ มันเป็นอาการของจิตต่างหาก เราก็ถามว่า อาการของจิตน่ะ เรียกว่า อะไร? ธรรมะตรงนั้นน่ะ เรียกว่า อะไร? เรียกว่า จิตก็ไม่ใช่ เรียกว่า วิญญาณหรือก็ไม่ใช่ หรือจะเรียกว่าเจตสิก เพราะว่า เจตสิก ธรรมนี้ ท่านบอกแล้วว่าต้องเป็นธรรมอยู่กับจิตนะ ต้องเกิดร่วมกับจิตแล้วต้องเกิดพร้อมกันด้วย

ถ้าว่า เป็นอาการ มันก็ไม่ใช่ แล้วก็ถามไปแล้ว ก็หาคำตอบ แล้วบอกไม่ได้ ว่าอาการที่มันทำให้จิตเป็นไปต่างๆ นี่นะ อาการนี้นะ มันอะไร? มันเป็นรูปหรือ ก็บอกไม่ถูก มันนามหรือ ก็บอกไม่ถูก แต่เขาไปมั่นใจว่า จิต นี่ มันเที่ยงละ ส่วนที่ไม่เที่ยงก็เที่ยวไปบอกให้อะไรต่ออะไร ทั้งๆ ที่ตัวก็ไม่รู้ว่าอะไรน่ะ มันทำให้ไม่เที่ยง แต่ว่า ทั้งๆ ที่ไม่รู้นั่นแหละ ก็ยกเอาจิตขึ้น กันจิตไว้ แต่พอถามว่าวิญญาณล่ะ เที่ยงไหมล่ะ? วิญญาณต้องรับซี ไม่เที่ยง เพราะท่านแสดงว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยงนี่ ขืนไปบอกว่า วิญญาณเที่ยง มันก็ขัดกันอย่างมั่นคงทีเดียว ก็นับว่า วิญญาณน่ะ ไม่เที่ยง นี่เห็นไหมคะ อันนี้ก็ขาดการศึกษา เขาน่ะ ไม่รู้หรอกว่า จิตกับวิญญาณน่ะ มันอันเดียวกัน แต่ว่าธรรมชาตินี้มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เขาก็ไม่ทราบ

ทีนี้ เขาก็นึกว่า จิตกับวิญญาณนี่ มันคนละอัน เอ้า! วิญญาณ เขายกให้ไม่เที่ยง แต่จิตล่ะ? จิตนี่เที่ยง นี่อย่างนี้แหละค่ะ อย่างนี้ก็พูดกันลำบากนะคะ เที่ยงบ้าง ไม่เที่ยงบ้าง อะไรก็แล้วแต่ ขันธ์ก็เหมือนกัน บางขันธ์ เที่ยง บางขันธ์ ไม่เที่ยง ตามใจ! เลือกเอาตามใจจะว่า ก็แล้วกัน

พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เราก็รู้ตามนั้นแหละว่า ไม่เที่ยง เราก็เชื่อตามพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เหมือนกันกับพิจารณาด้วยจินตาญาณของเรา มนสิการตามก็รู้สึกว่ามันไม่เที่ยง และก็เชื่อตามว่า ท่านสอนจริง ท่านสอนเราก็เชื่อตาม

แต่ไม่ใช่ว่า เรารู้เองนะ เรารู้ตามที่ท่านบอก ยังนะ ! เรายังไม่ได้รู้เองนะ นี่เรารู้ตามที่ท่านบอกนะคะ ยังไม่ใช่รู้เอง หรือเชื่อตาม

มันเป็นเรื่องพระพุทธองค์ ท่านรู้ต่างหากท่านรู้ว่า ไม่เที่ยง แต่เรายังไม่รู้

เพราะฉะนั้น ครูที่แท้จริงของเราน่ะ คือใคร? ครูของเราที่แท้จริง ก็คือ ธรรมชาติ หรือสภาวธรรม ก็คือ ขันธ์ ๕ นั่นเอง ที่จะเป็นผู้สอนให้เรารู้ว่า เขาไม่เที่ยง

เมื่อย่อลงไปก็ได้แก่ รูปกับนาม นี่แหละ เป็นครูที่แท้จริงของเรา ไม่ใช่ใครเลย เขาบอกไม่ผิด เขาสอนไม่ผิด สอนคนอื่นอย่างสอนเรา แม้ ๑๐๐ คน เขาก็สอนอย่างเดียวกันหมด ไม่มีผิดเลย เขาไม่ใช่เป็นคนอคติว่า คนนั้นสอนอย่างนั้น คนนี้สอนอย่างนี้ ไม่มี เขาก็ให้ความรู้เหมือนกันหมด ถ้าใครไปดูเขา ไปเห็นเขา ก็ต้องเห็นอย่างเดียวกันหมด

เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนานี่ ก่อนอื่นก็ควรจะไปพบครูเท่านั้นเอง พยายามไปพบครูกันเสียก่อน เพราะรู้แล้วใช่ไหม? ว่านามรูปนี่ เป็นครูที่แท้จริงของเรา สอนให้เราเกิดปัญญาวิปัสสนา สอนให้เรารู้ว่า เขาน่ะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นามรูปนี่น่ะ เขาจะเป็นผู้สอน

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ที่เราจะไปเรียนวิชา เพื่อให้ได้วิชาต่างๆ เราต้องไปพบครูเสียก่อน ต้องเข้าไปพบครูเสียก่อน ครูน่ะ คือใคร? คือ นามรูป เวลานี้ รู้จักแล้วหรือยังว่า นามรูปน่ะ เป็นใคร? เรายังไม่รู้จัก ใช่ไหมคะ?

เมื่อไม่รู้จักแล้วเราจะไปเรียนวิชาให้ครูสอนได้อย่างไร? ไม่มีหวังละ ! ใช่ไหมคะ?

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ผู้ทำวิปัสสนานี่ ต้องเรียนนามรูป เสียก่อน?

นามน่ะ อะไร? รูปน่ะ อะไร? เรียนให้เข้าใจเสียก่อน แล้วก็เอานามรูปนั้น อาศัยความเพียร อาศัยสติ ปัญญา คอยส้องเสพกับนามรูปอยู่เสมอ นามรูปจะเกิดขึ้นขณะใด เราก็คอยอยู่ใกล้ชิด คอยตามดูอยู่เสมอเลย นั่นแหละ เราถึงจะเห็นถ้าไม่ได้อยู่ใกล้ชิด หรือไม่ได้ดูจริงๆ ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นได้เหมือนกัน

เรื่องไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อะไรต่ออะไรต่างๆ ของนามรูป ดีหรือชั่วต่างๆ รูปนามเท่านั้น จะเป็นผู้สอนให้ แต่ท่านต้องไปเจอนามรูปเสียก่อน แล้วท่านจึงจะรู้ ท่านจึงจะได้ความเข้าใจจากเขาว่า ความจริงนั้น เขาเป็นอย่างไร?

ถ้าเรายังไม่เข้าไปเจอนามรูป ก็หมายความว่า เรายังไม่เจอครู ธรรมะต่างๆ อยู่ที่นามรูปนะคะ อยู่ที่นามรูปเท่านั้นเอง ไม่ได้ไปอยู่ที่อื่นเลย และ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ในปิฎกทั้ง ๓ นั้นนะคะก็ได้แก่อะไร? มาจากไหน? ก็ได้แก่ นาม และ รูป นั่นเอง ในพระไตรปิฎกนั้นน่ะ ไม่ได้สอนอย่างอื่นเลย ก็ได้แก่ นามรูป ทั้งหมด

ถึงแม้พระพุทธเจ้าได้สัพพัญญุตญาณตรัสรู้ว่า ไม่เที่ยง แจ้งโลก มีนามว่า โลกวิทู ก็ใครเล่าเป็นผู้สอนพระพุทธองค์ ใครเล่าเป็นผู้สอน พระพุทธเจ้า มีครูหรือเปล่า? ไม่มีใช่ไหม? ตามที่เราสวดมนต์กันนี่น่ะ

อรหํ สมฺมาสมฺพุธฺโธ พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง โดยไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากครูบาอาจารย์คนหนึ่งคนใด ใช่ไหม? เป็นโลกวิทู ผู้แจ้งโลก รู้จากใครเล่า? ก็ตัวสภาวธรรมที่เป็นไปในโลกนี่แหละ ท่านเป็นผู้พิจารณาเข้าไปรู้ความจริงว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นอยู่ในโลกนี้แหละ

นี่แหละ! ธรรมทั้งหลายนี่แหละ เป็นผู้สอนเพราะฉะนั้น จึงประกาศว่า ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตามหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ว่า ธรรมะอันนี้เขามีอยู่แล้วแต่ไม่มีใครเข้าไปรู้เท่านั้นเอง ก็ไม่มีใครนำมาสั่งสอนความจริง

เมื่อไม่รู้ความจริง ก็มาสอนความจริงไม่ได้ นี่เราก็ทราบกันอยู่แล้วนะคะ ดังนั้น เมื่อถูกถามว่าใครเล่าเป็นผู้สอนพระองค์? ก็นามรูปนี่แหละเป็นผู้สอน ก็ได้มาจากธรรมชาตินั้นเอง เขาเป็นผู้สอน ก็ได้มาจากธรรมชาตินั่นเอง เขาเป็นผู้บอกแต่พระองค์ท่านเป็นผู้มีปัญญา จึงได้รับความรู้ที่ครูบอกให้มากมายละเอียดลออ สามารถจะรู้ความละเอียดลออของนามรูปได้มาก อย่างเราก็ไม่สามารถจะรู้ได้เท่านั้น เพราะไม่มีปัญญาถึงท่านหรือเท่ากับท่าน เราก็รู้ไม่ได้

ถึงอย่างนั้นก็ขอให้ได้เข้าไปพบกับครู รูปนามก่อนเถอะ เอาเถอะ วิปัสสนาจะยังไม่เกิดก็ตามใจเถอะ เขาจะสอนให้ แล้วเราจะรู้หรือยังก็ไม่สำคัญ แต่ข้อสำคัญนี่ ต้องพบรูปนามก่อน ต้องรู้จักรูปนามก่อน

เพราะว่า รูปนามนี่ เป็นขั้นต้นของวิปัสสนานี่ก็ขอให้จำไว้ว่า การที่จะเข้าไปทำวิปัสสนานะ ใครจะสอนวิปัสสนาก็ตาม คนนั้นจะต้องบอกรูปนามให้เราทำ สำหรับวิปัสสนา

ถ้าที่ใดบอกว่า ทำวิปัสสนา แต่ไม่มีนามรูปมาเป็นตัวถูกกระทำ หรือไม่มีกรรมฐาน ที่เป็นตัวถูกพิจารณาให้เห็นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว ก็ขอให้เข้าใจในเหตุผลเถอะว่า “นั่นไม่ใช่วิปัสสนา”

เพราะว่า ความรู้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดไม่ได้ เพราะไม่มีสภาวะ ไม่มีนามรูปเพราะว่า ลักษณะทั้ง ๓ อย่างนี้ ไตรลักษณ์ นี่มีอยู่กับนามรูป

ถ้าไม่มีนามรูปมาให้พิจารณาแล้ว จะเห็นลักษณะของนามรูปไม่ได้เป็นอันขาดนะคะ นี่ขอให้เข้าใจในเหตุผลให้แน่นอนทีเดียว

ท่านเข้าใจอย่างนี้แล้ว ความรู้อันนี้แหละค่ะจะปกปักรักษาท่าน เป็นปัจจัยและเป็นที่พึ่งแก่ท่านไม่ให้ท่านตกไปในความเห็นผิด ที่ไม่มีเหตุผล คุ้มครองได้นะ จะไปไหนละก็ ที่ไหนไม่มีเหตุผลเราก็ไม่ยอมเชื่อ ไม่ยอมรับฟัง ไม่ยอมทำตาม ไม่ยอมถือตาม ใช่ไหมล่ะ?

ถ้าหากว่า เราไม่มีปัญญาที่เข้าถึงเหตุผล ที่เข้าใจเหตุผลดังกล่าวแล้ว ไม่มีอะไรป้องกัน อย่า! ไม่มีหวัง อย่าพูดเสียให้ยากเลยว่า จะไม่ตกไปในความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิ แต่หากตัวไม่รู้เองว่า ตัวตกไปในความเห็นผิดเช่นนั้น ตัวไม่รู้เองว่า ตัวไปยึดถือในความเห็นผิดเข้าแล้ว จิตใจไปนิยมในความเห็นผิด ที่ไม่มีเหตุผลเข้าแล้ว ไม่รู้เองต่างหาก เพราะเหตุใด จึงไม่รู้? เพราะตัวไม่รู้ ไม่ได้เหตุผล แล้วก็ไม่รู้ว่า อันนี้มันมีเหตุผลที่ถูกต้องหรือไม่? นี่แหละ อันนี้แหละ ยากที่สุดเลย

เพราะฉะนั้น การเรียนปริยัตินี่ ท่านจึงถือว่าอานิสงส์ของการเรียนปริยัติ และก็ต้องเข้าใจในเหตุผลที่ถูกต้องด้วย ตามความหมายของในพยัญชนะนั้นๆ แล้วท่านถือว่า ทำลายมิจฉาทิฏฐิได้

มิจฉาทิฏฐิทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แก่ผู้ที่เข้าใจ ที่ศึกษาเข้าถึงเหตุผลแล้ว แม้แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติ ท่านก็ยังบอกว่า มิจฉาทิฏฐิเกิดไม่ได้

เห็นไหมคะ? นี่แหละ ! เป็นสรณะคุ้มครองของเรา ที่ไม่ให้ตกไปในทางมิจฉาทิฏฐิได้

ฉะนั้น ปัญญานี่แหละสำคัญ ถ้าเรามีปัญญาอยู่แล้ว มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดนี่ จะดึงเราไปไม่ได้เลย

ท่านสมมุติ คนที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ เหมือนตะกร้าของคนบ้า ท่านไม่ได้ว่า เหมือนคนบ้า เหมือนตะกร้าของคนบ้า คนนั้นน่ะ มันมีตะกร้าถืออยู่ใบหนึ่ง คนวิปลาสน่ะ แล้วในตะกร้าของคนบ้านั่นแหละ สารพัดที่จะมี ก้อนอิฐ ก้อนหิน ก้อนดิน ขี้หมา ขนมอะไรต่ออะไร คือหมดเก็บหมดมันเก็บใส่ตะกร้าเอาไว้หมดเลย คือว่า มันไม่รู้จักเลือกว่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อะไรดี อะไรไม่ดี มันจะเอาทั้งนั้นแหละ ผิดไม่รู้ ถูกไม่รู้ เก็บใส่ตะกร้า แหม! ดิฉันยังขำเลย ว่าจริงๆ แล้ว ความจริงมันก็เป็นอย่างนั้น

ท่านบอกว่า ผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิอยู่นี่ เหมือนตะกร้าของคนบ้า สาระพัดไปดูในนั้น เอาหมดทั้งนั้น อะไรๆ ก็เอา ถ้าตะกร้าของคนดี เขาจะเอารึ? ก้อนอิฐ ก้อนหิน ก้อนดิน เขาก็ไม่เอา เขาก็ต้องเลือกเอาในสิ่งที่ดีๆ ซี ที่จะใส่ตะกร้าถือไปน่ะ เขาจะเอาแต่ของที่ดี ที่เป็นประโยชน์นะคะ

เพราะฉะนั้น คนที่ศึกษาได้ดี เข้าถึงเหตุผลแล้ว ความเข้าใจในเหตุผล สามารถที่จะคุ้มครองท่านไม่ให้ตกไปในความเห็นผิด

ถ้าความเห็นผิดเกิดขึ้นแล้วในชาตินี้ละก็ท่าน แหม! แก้ยากเหลือเกินนะ แล้วมันจะเกิดในชาตินี้ชาติเดียวเมื่อไหร่ ชาติหน้ามันก็ติดตามไปอีก

ปัญญาก็เหมือนกัน ชาติหน้ามันก็ติดตามเป็นบารมีส่งเสริมให้ท่านเข้าถึงพระนิพพานจนได้ จะอยู่ที่ไหน ก็ตามเถอะ

แต่ที่นี้ ถ้ามิจฉาทิฏฐิมันติดไปละ มันก็ตามไปข้างหน้าอีก มันก็พาเราเข้าไปในที่เลอะเทอะอีกนี่เป็นอย่างนี้แหละ

แล้วเมื่อไหร่เล่า เราถึงจะไปเจอที่ถูก เมื่อไหร่ล่ะ เราถึงจะมีความสามารถทำลายมิจฉาทิฏฐินั้นน่ะ ให้หมด เป็นศัตรูอันร้ายกาจทีเดียว

ท่านบอกว่า เหมือนกับหอกที่ปักอกไว้ คือ คนที่ถูกมิจฉาทิฏฐิครอบงำนี่ คนนั้นน่ะ เหมือนกับถูกหอกที่ปักอกไว้ ดูซิคะ โทษน่ะ ไม่ใช่น้อยนะ

อยากจะเสริมเรื่องอารมณ์ปัจจุบัน อีกสักเล็กน้อย เพราะเรื่องอารมณ์ปัจจุบันนี่ มีความสำคัญมากนะคะ

ความจริงอารมณ์ปัจจุบันนั้นน่ะ รูปใดก็ตาม นามใดก็ตามนะคะ ที่แสดงอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันกิจการของอริยสัจ ๔ มีอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันเกิดร่วมอยู่ในอารมณ์ปัจจุบัน อยู่ในรูปทุกรูป อยู่ในนามทุกนาม แล้วก็อยู่ในจิตทุกดวง อริยสัจ ๔ ไม่ใช่อยู่ในที่หนึ่งที่ใด โปรดเข้าใจด้วยนะคะ จิตทุกดวง สามารถจะบันดาลให้เรารู้อริยสัจ ๔ ในที่นั้นได้

เพราะฉะนั้น จะพิจารณาอันใดอันหนึ่งก็ได้เราก็เคยได้ยินมา พระอริยเจ้า แต่ก่อนนี้ปฏิบัติน่ะดูอะไรนิดเดียวก็เห็น ดูอะไรหน่อยเดียวก็เห็น ก็บรรลุอริยะได้ ก็แจ้งอริยสัจ ๔ ได้ เป็นพระอริยบุคคลได้ จะเป็นชั้นไหนก็ตามเถอะ แล้วแต่ปัญญาบารมีได้ทั้งนั้น แม้แต่จักขุวิญญาณ จิตดวงเดียวก็มีอริยสัจ ๔ ในที่นั้น โสตวิญญาณ จิตดวงเดียวก็มีอริยสัจ ๔ อยู่ในที่นั้น

เพราะฉะนั้น จะสำเร็จในทางไหน ก็ได้ทั้งนั้น อันนี้ท่านก็คงจะสงสัยนะ ถ้าดิฉันพูดอย่างนี้ ท่านเข้าใจแล้วละก็ ท่านก็สามารถจะไปแยกได้ แยกได้ไหมคะ? อริยสัจ ๔ ที่พูดนี้น่ะ อาศัยหลักฐานนะไม่ใช่คิดเอาเอง

เพราะว่า พระพุทธเจ้า แสดงไว้ในอริยสัจ ๔ ในนิโรธสัจ การดับตัณหา ท่านบอกว่า ตัณหาจะเกิดขึ้น เกิดที่ไหน? เกิดที่รูปารมณ์ก็ได้ เกิดที่จักขุปสาทก็ได้ เกิดที่จักขุวิญญาณก็ได้ ที่เสียงก็ได้ ที่หูก็ได้ ที่ได้ยินก็ได้ ได้ทั้งนั้น นี่ตัณหาจะเกิด จะเกิดอยู่ที่นี่ คือ อาศัยอารมณ์นี้ หรืออาศัยวัตถุอันนี้ และตัณหาจะตั้งอยู่น่ะ จะตั้งอยู่ที่ไหน? ตัณหาจะสร้างภพ สร้างชาติ สร้างสังสารวัฏฏ์น่ะ สร้างที่ไหน? สร้างขณะไหน? ก็สร้างที่ขณะเห็น ขณะได้ยินใช่ไหม? ขณะได้กลิ่น ขณะรู้รสใช่ไหม? รูปอะไรเกิดขึ้น นามอะไรเกิดขึ้นนั่นแหละ ตัณหาจะตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่นั่น ท่านบอกไว้อย่างนี้ นี่! ใครๆ ก็คงได้ยินกันแล้วทั้งนั้น แล้วตัณหาจะดับไปน่ะ จะดับที่ไหน?

ท่านก็บอกอีกว่า ตัณหาจะดับ ก็ดับที่นี่แหละ! ดับที่ตา ดับที่รูป ดับที่เห็น ดับที่เสียง ดับที่หู ดับที่ได้ยิน ท่านบอกอย่างนี้แหละ ใช่ไหม?

ทีนี้เมื่อตัณหาเกิดที่ไหน? อริยสัจอยู่ที่นั่นใช่ไหม? แล้วตัณหาจะดับ ท่านก็บอกว่า ดับที่นั่น

การที่ตัณหาจะดับไปจากตา จากรูป นี่ตัณหาจะเกิดขึ้น อาศัยตา อาศัยรูปนี่แหละ ไม่สงสัยใช่ไหม? มันล่อกิเลส มันก็เกิดตามทวาร ๖ อารมณ์ ๖ นี่แหละ เราไม่รู้ทันมัน ทีนี้ตัณหาจะดับก็ดับจากที่นั่น

ถ้าตัณหาดับที่ไหน? นิพพานก็อยู่ที่นั่นนะ! นิพพานก็มีที่นั่น

ถ้าจะพูดอย่างนี้ละก็ เฮ้อ! นิพพานมีที่ตา ที่หูนี่ ฟังดูก็น่าจะเป็นมิจฉาทิฏฐิน่ะ ไม่เห็นมีใครพูดใช่ไหม? ที่ตา ที่หู นี่ใช่ไหม? เพราะตา หู นี่เป็นเบญจขันธ์นี่ ใช่ไหมล่ะ นิพพานจะไปอยู่ที่นั่นได้อย่างไร? นี่มันน่าสงสัยนะ

ทีนี้ตัณหาที่จะดับจากตา ดับจากหูน่ะ ต้องมีมรรคไหม? ถ้าไม่มีมรรค อยู่ๆ ตัณหาจะดับได้อย่างไร? มันดับไม่ได้นะ เราต้องมีมรรคอยู่แล้ว

ทีนี้มรรคอยู่ที่ไหน? มรรคอยู่ที่ตา ที่หู ที่รูป ที่เสียง นี่แหละ มีอย่างไร? มรรคที่ต้องกำหนดใช่ไหม? กำหนดตา กำหนดหู การจะละตัณหานี่เพราะตา หู นี่เป็นทุกข์ รูป เสียง กลิ่น รส ตา หู จมูก ลิ้น กาย การเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส พวกนี้เป็นทุกข์ใช่ไหม? เป็นทุกขสัจจ์ใช่ไหม? ใช่! นั่นเป็นทุกขสัจจ์ แล้วท่านให้กำหนดรู้ทุกข์ใช่ไหม? ตามกิจของอริยสัจทีเดียว ท่านสั่งให้กำหนดรู้ทุกข์ใช่ไหม? ใช่นะ! รู้ทุกข์น่ะ รู้อะไรในเวลานั้นน่ะ? ทุกขสัจจ์มีอยู่ในที่นั้น, รู้ทุกข์น่ะ รู้อะไร? ก็รู้ตา รู้หู ใช่ไหม? รู้รูป รู้เสียงใช่ไหม? อันนี้ใช่ไหม? รู้เห็น รู้ได้ยิน อันใดอันหนึ่งนะ อันใดอันหนึ่งก็ได้

เมื่อกำหนดรู้ทุกข์แล้วใช่ไหม? ตัณหาที่อาศัยเกิดขึ้น จะอาศัยเกิดขึ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใช่ไหม? ยินดีใช่ไหม? ยินดีในที่นั้น

ทีนี้ เมื่อเรากำหนดรู้ทุกข์น่ะ อันนั้นเป็นทุกข์น่ะ ความยินดี จากที่ตรงนั้น ที่เราเคยได้ยิน จะออกไปไหม? จะออกไปไหม? ตัณหาจะตั้งอยู่ได้ไหม? อยู่ไม่ได้แล้วใช่ไหมล่ะ? อยู่ไม่ได้แล้ว! ตัณหาก็จะต้องดับไป จากที่นั้น

เมื่อตัณหาดับไปจากที่นั้นแล้วใช่ไหม? ที่นั้นถึงนิพพานไหม? การดับทุกข์เป็นนิพพานใช่ไหม? ดับกิเลส จากการยินดีในตา ในหู ในรูป ในเสียง นี่ก็เป็นนิพพานใช่ไหมล่ะ? ก็เป็นนิพพานนะ

ทีนี้ ตาหูนี่เป็นทุกข์นี่ ตาหูนี่เป็นทุกข์ ดับตา ดับหู ดับจมูก ดับลิ้น ดับกาย ดับใจ เป็นนิพพานไหม? เป็นนิพพานหรือเปล่า เป็นไหม? ขันธนิพพานอย่าลืม ขันธนิพพานน่ะ อะไรเข้านิพพาน?

ตานั่นแหละ เป็นขันธ์หรือเปล่า? ตานี่แหละนิพพาน ขันธนิพพาน ก็คือ ตานั่นแหละนิพพาน ไม่ใช่อื่นไปนิพพานนะ ไม่ใช่มีคน มีสัตว์ ไปนะ ตานี่แหละนิพพาน หูนี่แหละนิพพาน จมูกนี่แหละนิพพาน ลิ้นนี่แหละนิพพาน ใช่ไหม? ขันธนิพพานก็ต้องดับ พวกนี้น่ะซี ก็พวกนี้เป็นขันธ์ทั้งนั้นนี่ใช่ไหม? ไม่เกิดอีก ใช่ไหม?

เมื่อขันธ์เหล่านี้เข้านิพพานแล้ว ก็ไม่เกิดอีกซี ใช่ไหม? ดับในที่นี้ หมายความว่า ดับสนิท ไม่เกิดอีก นี่แหละนิพพาน

ฉะนั้น อริยสัจ ๔ ก็มิได้อยู่ที่ไหนเลย พระพุทธเจ้าแสดงอริยสัจ ๔ ให้พุทธบริษัทฟัง พอจบคำเทศนาเท่านั้นแหละ สำเร็จ เป็นอริยบุคคล โสดาบ้าง สกิทาคาบ้าง อนาคาบ้าง อรหันต์บ้าง

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ก็มิได้ยกเอาสิ่งที่ตนไม่มีอยู่ มิได้ยกเอาสิ่งที่มิได้มีธรรมที่จะพิสูจน์ ก็ยกเอาเบญจขันธ์นี่ขึ้นมาแสดงอริยสัจอย่างนี้ ผู้ฟังนั้นกำหนดตามลงไป ในที่ใดที่หนึ่ง ก็เป็นอันว่า ผู้นั้นถึงพระนิพพาน สำเร็จได้อย่างนี้

กิจของอริยสัจน่ะ กำหนดทุกข์อย่างเดียว กิจของอริยสัจ ๔ ก็เข้าแล้วใช่ไหมละ? ใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น ขณะที่เรากำหนดเห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ดี ระหว่างที่เรากำหนดลงไปน่ะ อย่างใดอย่างหนึ่ง กิจของอริยสัจ ๔ เข้าพร้อมไหม? เข้าไหม? ใช่ไหมล่ะ?

เมื่อเข้าพร้อมทั้ง ๔ ในกิจ ในอารมณ์นั้นได้ทั้ง ๔ แล้ว ในอารมณ์ก็ไปถึงนิพพานได้ ก็แจ้งอริยสัจ ๔ ในที่นั้นได้ ใช่ไหมล่ะ?

เมื่อกิจของอริยสัจ ๔ สมบูรณ์ในที่นั้น การแจ้งอริยสัจ ๔ ก็ปรากฏในที่นั้น ในเมื่อกิจสมบูรณ์แล้ว ก็การสมบูรณ์นี้ไม่ใช่ทำทีละอย่าง อย่างเดียว นั่นแหละ มีครบหมดนะคะ

นี่เพียงเห็นว่า อารมณ์ปัจจุบันนี่น่ะ เป็นสิ่งสำคัญ อย่างนี้ ขอให้เราเข้าใจ ไม่ต้องมากหรอก อันใดอันหนึ่งก็ได้ ขอให้เราเข้าใจ ทำให้ถูก ทำได้ กับข้าวก็ดี ขนมก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็เป็นกับข้าวทั้งนั้นแหละ ทำให้กินอิ่มได้เหมือนกันทั้งนั้นใช่ไหม? ไม่ใช่ต้องกินหลายๆ อย่างถึงจะอิ่มน่ะ ไม่ใช่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น อันนี้แหละสำคัญ เพราะในขณะที่เรากำหนดลงไปนั้น ปริยัติก็มีแล้ว ใช่ไหม? ปฏิบัติก็มีแล้ว ใช่ไหม? ปฏิเวธล่ะ ก็มีแล้วในที่นั้น เข้าด้วยแล้วนี่!

ก็มีกิจทั้ง ๔ เข้าด้วยแล้ว กิจที่ให้แจ้ง ปฏิเวธก็ต้องมี แจ้งเมื่อไหร่? สมบูรณ์เมื่อนั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แจ้งเมื่อนั้น

นี่นะคะ ถ้าเมื่อเรารวบรัดเข้าจริงๆ แต่เมื่อเราขยายเพียงนัยตาไปอันเดียวใช่ไหม? ก็สามารถขยายออกไปจบพระไตรปิฏก

เมื่อมรรคเกิดในขณะนั้น ขยายมรรคออกไป แหม! เป็นเท่าไหร่ๆ ก็ขยายออกไปได้ ทุกข์ในที่นั้นก็ขยายออกไปเป็นเท่าไหร่ๆ ก็ได้ ตัณหาก็ขยายออกไปเป็นเท่าไหร่ๆ ก็ได้ อย่างนี้

ฉะนั้น การคิด การนึก เราก็จะต้องรู้ว่า ความรู้อันนี้เกิดจากการคิด การนึก หรือว่าเกิดจากกฎธรรมดาแสดงอยู่ ธรรมะที่มาปรากฏไม่ได้เกิดจากการนึกคิด เกิดจากกฎธรรมดา ธรรมชาติที่เป็นอยู่แสดงให้เรารู้อย่างนั้น หรือเกิดจากมนสิการ โดยที่จิตใจนึกไปถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็บอกว่า เรื่องนั้นต้องเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้ต้องเป็นอย่างนี้ นี่เป็นธรรมดาของผู้ปฏิบัติ จะต้องมีอย่างนี้ เป็นธรรมดานะคะ จึงรู้ตามหลักฐานของปริยัติบ้าง รู้ตามที่เรานึกเอา เข้าใจเอาเองบ้าง

แต่ความรู้ที่เข้าถึงวิปัสสนานั้น ต้องเป็นความรู้ที่ได้จากสภาวะ ที่แสดงแล้วก็รู้ตามนั้น คือว่าพิจารณาแล้ว ก็รู้ตามความเป็นจริงของกฎธรรมดาของธรรมชาตินั้น อันนี้จึงเป็นภาวนาปัญญานะคะ

การที่จะรู้ว่าความรู้อย่างนั้นเข้าถึงวิปัสสนานะคะ จะรู้ว่า นี่น่ะ ความรู้ของเรานี่ ปัญญาที่เกิดกับเรานี่ เข้าถึงวิปัสสนาแล้วนะ ต้องเป็นความรู้ที่ได้มาจากสภาวะ ไม่ใช่ได้มาจากการคิดนึกเทียบเคียง ไม่ใช่ได้มาจากการถือตามๆ กันมา ไม่ใช่ทั้งนั้น แต่ได้มาจากตัวสภาวะ ธรรมชาตินั้นเอง แล้วก็รู้ตามที่เขาแสดงแล้วนั้น

อันนี้จึงถือว่า ปัญญาอันนี้น่ะ เป็นปัญญาภาวนา ฉะนั้น เราก็ต้องเข้าใจไว้ว่า ปัญญาที่ชื่อว่า ภาวนา นี้ ปัญญานี้ได้มาจากไหน? และเกิดอย่างไร?

ได้มาจากสภาวะที่แสดงนะคะ ปัญญานี้ แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า? ปัญญานี้ เกิดอย่างไร? ก็เกิดจากการดูสภาวะนั้นใช่ไหม? ใช่ไหมล่ะ? เกิดตอนที่เข้าไปดู เข้าไปพิจารณาสภาวะ อันนั้น ใช่ไหม? ไม่ใช่เกิดจากการนึกคิดนะ

เพราะฉะนั้น จึงต้องกำหนด จึงต้องดู จึงต้องพิจารณาสภาวะนี้

นี่แหละ เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้ว การทำวิปัสสนานี่ก็รู้สึกว่าง่ายเหลือเกินนะคะ ดูจะไม่ยากเลย! ของเรา ที่มันยากนี่ เพราะอะไร มันถึงทำยากนักก็ไม่ทราบ หรือจะรู้มาแล้วยากนานอะไรนี่ ภาวนาปัญญาต้องได้มาจากสภาวะนะคะ อย่างความไม่เที่ยง เป็นต้น มีสภาวะปรากฏแสดงไว้หรือยัง? ที่เรารู้ว่า อ๋อ! วิปัสสนาเราเกิดแล้ว เข้าไปเห็นแล้วว่า ไม่เที่ยง อย่างนี้ ความรู้นี่ได้มาจากไหน? นี่อันนี้แหละ แล้วตัวตัดสินได้ว่า วิปัสสนาที่เกิดกับตัวแล้วหรือยัง? ตัดสินได้ หรือว่า ไปมนสิการเอาเองว่า ไม่เที่ยง อย่างนี้เป็นต้น

ปัญญาอย่างนี้ยังไม่เข้าถึงวิปัสสนา ปัญญาที่เข้าถึงวิปัสสนา ที่เรียกว่า ภาวนาปัญญานั้นต้องดูตามสภาวะ ตามดูรูปนาม จนกระทั่งเห็นความจริงของนามรูปที่แสดงให้เห็น ตามดูเรื่อย จะเป็นกี่วันก็ตามเถอะ กี่เดือนก็ตาม ตามดู ๗ วัน ไม่เห็นก็ตามมันให้ไปถึง ๗ เดือน ๗ เดือน ไม่เห็น ก็ดูมันถึง ๗ ปี ท่านบอกไม่เกินต้องเห็นแน่ สภาวะแสดงให้เห็น และรู้ตามที่ปรากฏแสดงอยู่นั้น อย่างนี้ จึงเรียกว่า เข้าถึงวิปัสสนา ถึงจะเข้าถึงวิปัสสนาได้นะคะ เข้าถึงปัญญาที่ชื่อว่า วิปัสสนาปัญญาได้

เพราะว่า เราเข้าไปพิจารณา จะเป็นรูปใด นามใดก็สุดแล้วแต่ รูปนามที่เราดูอยู่นั้น กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ สมมุติว่า “รูปนั่ง” นะคะ เห็นว่า “รูปนั่งนี้ไม่เที่ยง” ถ้าเห็นด้วยวิปัสสนาที่แท้จริง ก็เห็นความไม่เที่ยง ขณะนั่งอยู่นั่นแหละว่า ไม่เที่ยง ที่เราเข้าใจอยู่ว่า ไม่เที่ยง ก็ คือ เปลี่ยนอิริยาบถแล้ว เมื่อรูปนั่งหมดไปแล้ว เราจึงรู้ว่า รูปนั่งนั้นไม่เที่ยง หรือว่า เท้าที่ยกขึ้นแล้วย่างลงไปนี้ ยกนั้นหมดไปแล้ว จึงเห็นว่า รูปยกนั้นไม่เที่ยง อย่างนี้ก็ยังไม่ชื่อว่า เห็นรูปนั่งไม่เที่ยง หรือเห็นรูปเดินไม่เที่ยง

เพราะขณะที่ยังนั่งอยู่ไม่เห็น หรือขณะยกอยู่ไม่เห็น ความไม่เที่ยงของรูปนั้น ถ้าเห็นด้วยวิปัสสนาที่แท้จริง จะต้องเห็นไม่เที่ยง ขณะที่กำลังนั่งอยู่ ถึงจะเป็นปัจจุบัน ใช่ไหม? รูปนั่งกำลังปรากฏอยู่ การเห็นนั้นถึงจะเป็นปัจจุบัน ถ้าหมดไปแล้ว ก็ไม่ใช่ปัจจุบัน   เป็นอดีตไปนะคะ ก็ยังไม่เข้าถึงวิปัสสนาที่แท้จริง ต้องเห็นขณะกำลังนั่งอยู่นั้น หรือจะเป็นรูปใด หรือนามใดก็ตาม ก็เข้าไปเห็นว่า ไม่เที่ยง ในขณะที่รูปนั้น นามนั้น แสดงความไม่เที่ยงอยู่ ไม่ใช่เห็นว่าไม่เที่ยง เมื่อสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาแทนสิ่งที่แล้วไป เช่นเห็นว่า จักขุวิญญาณนี้ไม่เที่ยง หรือวิญญาณนี้ไม่เที่ยง ต่อเมื่อ เราไม่เห็นสิ่งนั้น ไม่ได้! นะคะ

แหม! ที่จริงนี่น่ะ ก็น่าจะเข้าใจ น่าจะทำได้ดีเหลือเกินนะคะ “วิญญาณไม่เที่ยง” เมื่อไม่เห็น ไม่ได้นะคะ หรือว่า สิ่งนั้นๆ ได้ผ่านไปแล้ว นั่นแหละเราจึงรู้ว่า เห็นสิ่งนั้นหมดไปแล้ว แต่ที่กำลังเห็นอยู่เดี่ยวนี้ เรายังไม่เห็นว่า ไม่เที่ยง ทำไมจึงยังไม่เห็น? เพราะว่า เรายังเห็นอยู่ ครั้นจะว่า “เห็น” นี่จักขุวิญญาณนี้ไม่เที่ยง นี่เรากำลังเห็นอยู่อย่างนี้ ทำไมจึงว่า “ไม่เที่ยง” เล่า? ก็นึกเอา ใช่ไหม? สภาวะนั้นยังไม่แสดงนี่ ยังเห็นอยู่นี่ ทำไมจึงว่าไม่เที่ยงล่ะ? อันนี้ก็ยังใช้ไม่ได้นะคะ

“ใช้ไม่ได้” ในที่นี้ก็หมายถึงว่า “ยังไม่เข้าถึงวิปัสสนาที่แท้จริง” ที่แท้จริงก็ต้องเรากำลังเห็นอยู่ กำลังดูอยู่ เราก็ยังเห็นอยู่เรื่อยอย่างนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า “การเห็น” นี้ไม่เที่ยง เราจะต้องดูจนกว่า นามรูปเขาไม่เที่ยงตามลักษณะของเขาที่แสดงว่า ไม่เที่ยงอย่างนี้เสียก่อน ถ้าเราดูอยู่อย่างนี้

การดูอยู่ของเรานี่ เราอาจจะทำให้มันไม่เที่ยงก็ได้ ใช่ไหม? เช่น เมื่อเราดูอย่างนี้อยู่ แล้วเราอยากจะเห็นว่า วิญญาณนี้ไม่เที่ยง เราก็หันไปดูทางอื่นเสีย เมื่อเราก็หันไปดูทางอื่นเสีย ทางนี้ก็ดับไป ใช่ไหม? คล้ายๆ กับว่า เราทำให้มันไม่เที่ยงก็ได้ คือ เราไม่ดูเสีย

แต่ว่า “ไม่เที่ยง” ในวิปัสสนาที่แท้น่ะ ทำไม่ได้นะคะ เมื่อสภาวะแสดงลักษณะอย่างนี้เสียก่อนแล้ว เราจึงรู้ว่า ไม่เที่ยง ถ้าเราเข้าไปเห็นอย่างนี้ก็จะรู้ว่า ใครเป็นผู้บอกให้เห็น? เราจะรู้ได้ทีเดียวว่า การที่เราเข้าไปเห็นนี่ ใครเป็นคนสอนเราให้เห็น ใช่ไหม? ใครเป็นผู้บอกให้เรารู้ว่า ไม่เที่ยง?   เราจะตอบอย่างไร?

สมมุติว่า เราเข้าไปเห็นอย่างนี้ แล้วเราก็มาบอกเขาว่า “เราเห็นแล้วนะ ว่านามรูปไม่เที่ยง” นามอันใด รูปอันใด ก็ได้ ว่าเห็นไม่เที่ยง เขาก็จะถามว่า “ใครบอกเล่า?” ถึงได้รู้ว่า มันไม่เที่ยง รู้จากใคร? เขาก็ต้องตอบว่า เขารู้เอง ใช่ไหมล่ะ ทำไมถึงตอบว่า รู้เอง เพราะเขาเข้าไปเห็นเอง นี่อย่างนี้ เขาไปเห็นเอง ไม่มีใครบอกเขา

เราจะตอบว่าอย่างไร? เมื่อไม่ได้เข้าไปเห็นเอง ว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เช่น วิญญาณไม่เที่ยง จะวิญญาณใดก็ตาม

ข้อสำคัญมีอยู่ว่า เราต้องไปเห็นนามนั้น เห็นรูปนั้น กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ ถ้าเมื่อมีใครถามเราว่า “ใครบอกว่า รูปนามไม่เที่ยง?” เราก็ต้องบอกว่า “เห็นเอง” อย่างนี้

เพราะว่า เราเข้าไปเห็นด้วยตนเอง ไม่มีใครบอกให้เห็น เห็นในที่นี้ไม่ใช่ตาเห็นนะคะ เห็นด้วยปัญญาจักษุ ตาปัญญา ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ ไม่มีใครบอกให้เห็น เราก็ต้องบอกอย่างนี้ เพราะว่าเห็นเอง หรือถ้าจะมีใครบอกว่า รูปนามเที่ยงสักหมื่น สักแสนคน ก็ไม่เชื่อใครทั้งนั้น คงไม่เชื่อแน่

ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาของเรา ที่ได้เข้าไปพิสูจน์แล้ว เห็นด้วยตนเองนี้นะ เป็นอจละศรัทธา เป็นศรัทธาที่แน่นอนมั่นคง จะไม่รวนเรไปตามความเห็นของใครเลยเป็นอันขาด เรื่องอย่างนี้ก็มีมาในพระสูตร ซึ่งแสดงถึงการได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา คือ เห็นความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้น และดับไป ของนามรูปด้วยวิปัสสนา เขาก็มีความเลื่อมใสศรัทธาว่า “ธรรมนี้เป็นของจริง เพราะได้เข้าไปพิสูจน์แล้ว เห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้นทีเดียว แม้พระยามารจะแปลงร่างมาเหมือนกับพระพุทธเจ้าบอกเขาว่า เมื่อกี้ที่เราแสดงเทศนาแก่ท่านว่า รูปนามไม่เที่ยงนั้นน่ะ พูดผิดไปนะ ความจริงรูปนามนั้นเป็นของเที่ยง ที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ เขาก็รู้ว่า ผู้ที่พูดนี้ไม่ใช่ เขาตัดสินได้ เพราะเขาเป็นคนที่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้ว”

เพราะฉะนั้น เขาย่อมรู้จักพระพุทธเจ้าดี ต้องรู้จักปัญญาของพระพุทธเจ้าดี ฉะนั้น ใครมาพูดเป็นอย่างอื่น เขาก็รู้ว่า ไม่ใช่ เพราะเขารู้จักแล้ว นี่ไม่ใช่นะคะ เป็นมาร ที่มีความเข้าใจไม่ตรงกับความจริง กับที่เขาได้ไปเห็นมาเช่นนี้

ผู้ที่เข้าไปเห็นความจริงแล้ว จะไม่ยอมเชื่อเป็นอย่างอื่นเลย

เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงลักษณะของพระอริยบุคคล มีพระโสดา เป็นต้น เบื้องต่ำทีเดียว ไม่มีมงคลตื่นข่าว ใครจะบอกว่าอะไรดี ที่ไหน? ที่นั่นดี ที่นี่ดี มีอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ หนทางเขาดี เขาปฏิบัติดี แหม ! เขาทำอย่างนั้นดี อย่างนี้ดี อะไรๆ ก็ดีอย่างนี้ พระโสดานี่ไม่มีเลย การตื่นข่าว เรื่องนี้ไม่มีเลย เพราะท่านเคยเดินแล้ว ทางที่ถูกอย่างไร? ทางที่ดีอย่างไร? ท่านเคยเดินแล้วนะคะ

เพราะฉะนั้น ท่านจะตื่นข่าว ในเรื่องอื่นๆ เหมือนอย่างกับคนที่ไม่เคยพบแน่นอนแล้ว เป็นไปไม่ได้เลย คนที่ยังไม่แน่นอนน่ะ ไม่ได้ ยังหาของดีอยู่ โอ๊ย! ใครจะว่าอะไรดีที่ไหน? ละก็ มีความพอใจอยากจะไปที่นั่น ใช่ไหม? เพราะตัวยังไม่เจอะนี่ คนที่เจอะแล้วจะต้องไปทำไมเล่า

โดยเหตุนี้น่ะ อำนาจที่เป็นอย่างนี้น่ะ เพราะอะไร? เพราะพระโสดา ท่านละสีลพัตตปรามาสเสียแล้ว ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่พระนิพพาน ท่านละแล้ว ละเด็ดขาดเลย เพราะรู้แล้วว่า ทางพระนิพพานที่ถูกที่แท้จริงน่ะ คืออะไร? จึงทำให้หายสงสัยได้ หรือแก้ความไม่เข้าใจของตนเองได้ เพราะท่านได้เข้าไปพิสูจน์ได้ด้วยตัวของท่านเองแล้ว

เดี่ยวนี้ก็ทราบกันทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างพวกเรานี่เราก็ทราบกันแล้วว่า “สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ใครๆ ก็ทราบทุกคน พระองค์แสดงว่า ขันธ์ ๕ น่ะ ไม่เที่ยง เราก็รู้ตามว่า ไม่เที่ยง เราก็เชื่อตามพระพุทธเจ้าเหมือนกัน กับพิจารณาด้วยจินตาญาณของเรา มนสิการก็รู้สึกว่า ไม่เที่ยง เราก็เชื่อตามท่านว่าจริงๆ จริงเหมือนอย่างที่ท่านสอน ท่านสอนเรา เราก็เชื่อตาม แต่ว่าไม่ใช่เรารู้เอง นี่ท่านรู้ แล้วท่านนำมาสอน แล้วเราก็เชื่อตามท่าน ยังไม่ใช่เป็นการรู้เอง แต่ถ้าเป็นอริยบุคคลแล้ว รู้เองที่เดียว ความรู้นั้น รู้เอง ไม่ใช่รู้จากการเชื่อ

แต่ว่าเดี่ยวนี้ เราไม่ใช่รู้เองใช่ไหมคะ? ที่เรารู้กันอยู่ เดี่ยวนี้น่ะ เพราะว่าการรู้เอง นี่อย่างน้อยก็ต้องเกิดวิปัสสนาเสียก่อน เข้าถึงวิปัสสนาที่แท้จริงก่อน หรือถ้าเป็นพระอริยะ ก็ต้องขั้นพระโสดา

เรื่องที่เรารู้มาว่า ไม่เที่ยงนี้น่ะ เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ต่างหาก ท่านรู้ว่า ไม่เที่ยง แต่เราน่ะ ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้น ครูที่แท้จริงของเราน่ะคือใคร? ครูของเราที่แท้จริง ก็คือ ธรรมชาติ คือสภาวะ คือ รูป หรือนาม นี่แหละ เป็นครูที่แท้จริงของเรา ไม่ใช่ใครเลย เขาบอกไม่ผิด สอนไม่ผิด สำหรับสภาวะนี่นะคะ เขาเป็นอยู่อย่างไร เขาสอนไม่ผิดความจริงของเขาเลย เขาแสดงให้ดูตามความจริงทีเดียว

เพราะว่า สภาวะธรรมนี่ ไม่ใช่เป็นครูแก่เราเท่านั้น เป็นครูของพระพุทธเจ้าด้วย พระพุทธเจ้านี่ท่านไม่มีบุคคลเป็นครู ใช่ไหม? แต่ว่ามีธรรมชาตินี้เป็นครู

พระพุทธเจ้าท่านไปได้ความรู้มาจากไหน? ใครเป็นคนสอน? ก็สภาวะนามรูปนี่แหละ ธรรมชาตินี้เป็นผู้สอนให้ท่านรู้ ใช่ไหมคะ? แต่ว่าการที่จะเข้าไปรู้ในสภาวะธรรมชาตินั้นน่ะ รู้เอง! โดยปัญญาว่าจะทำอย่างไร? มีวิธีอย่างไร? มีอุบายอย่างไร จึงจะเข้าไปรู้ได้? นี่พระองค์ก็ต้องรู้เอง

ส่วนของเรานี่ ท่านก็ต้องบอกวิธี บอกทางปฏิบัติ การเข้าไปรับรู้นั้นจะทำอย่างไร? มนสิการอย่างไร? กำหนดอะไร? นี่ท่านก็ต้องบอกให้

แต่ว่าสภาวะนี้แหละ เป็นครูของท่าน

เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงประกาศว่า ธรรมทั้งหลายนี้ ตถาคตจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมเหล่านี้เขามีอยู่แล้ว ธรรมที่พระองค์เทศนานี่เขามีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่า พระพุทธเจ้ามาทรงสร้างขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น สภาวะนี่เขาสอนไม่ผิด เมื่อพระองค์ทรงทราบความจริงในสภาวะแล้ว ด้วยพระมหากรุณา ก็ทรงนำมาสั่งสอน ประกาศให้สัตว์ทั้งหลายได้รู้ตาม ตามสภาวะนั่นแหละ สภาวะนี่แหละไม่มีที่จะสอนใครผิดเลย สอนคนหนึ่งอย่างไร? แม้ร้อยคนพันคนก็สอนอย่างเดียวกันหมด ไม่มีละ ที่จะสอนให้ผิดแผกกันเป็นไม่มี.

เพราะฉะนั้น ร้อยคน พันคน ถ้าเข้าไปเห็นด้วยกันแล้วนะ ก็ต้องเห็นเหมือนกันหมดเลย ไม่ใช่ว่า เขาแสดงกับคนนี้อย่างหนึ่ง เขาแสดงกับคนนั้นอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นนะ เหมือนกันหมดเลย

เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนาน่ะ ก่อนอื่นก็ควรจะให้เข้าไปพบครูเสียก่อน นี่แหละต้องให้พบครูเท่านั้นเอง เรื่องไม่เที่ยง หรืออะไรต่อ อะไรของรูปนาม ดีหรือชั่วต่างๆ รูปนามเท่านั้นจะเป็นผู้สอนให้

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นของผู้ทำวิปัสสนานี่ ดิฉันเคยย้ำนักหนาทีเดียวว่า ก่อนอื่นของผู้ทำวิปัสสนาไม่ต้องรู้อะไรมาก ใช่ไหมคะ ให้รู้จักนามรู้จักรูปแล้วก็วิธีที่จะดูนามรูป นี่ มีเท่านี้เอง นอกจากนั้น เป็นเรื่องของนามรูปจะสอนให้หมด

ไม่เที่ยง นามรูปก็จะสอนให้

เป็นทุกข์ นามรูปก็จะสอนให้

ไม่ใช่ตัวตน นามรูปก็จะสอนให้

เพราะว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนนั้น อยู่ที่ไหน?   อยู่ที่นามรูป เพราะฉะนั้นนามรูปเท่านั้น ที่จะเป็นผู้สอนให้ คนอื่นสอนไม่ได้เลย เป็นลักษณะของนามรูป จะต้องเป็นผู้สอนให้

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นนี่ต้องได้นาม ได้รูปก่อน เที่ยงหรือไม่เที่ยง ยังไม่เป็นไร? ยังไม่ต้องรู้หรอก ขอให้ได้นาม ได้รูปก่อน เมื่อได้นาม ได้รูป แปลว่า เข้าไปพบครูแล้วนะ ต่อไปก็ตามดูนาม ดูรูปติดตามครูไปเรื่อยๆ เชียว ครูจะไปไหน ก็ติดตามไป เขาก็สอนให้รู้ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานะคะ

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้นามรูปเป็นไตรลักษณ์ อันใดอันหนึ่งก็ตาม ท่านจะต้องไปเจอนามรูปเขาเสียก่อน แล้วท่านจึงจะรู้ ท่านจึงจะได้ความจริงจากเขาว่า ความจริงน่ะ เขาเป็นอย่างไร? ถ้าเรายังไม่เข้าไปเจอนามรูป ก็หมายความว่า เรายังไม่เจอครู หรือไม่เจอธรรมะนะคะ ไม่เจอครูที่จะสอนธรรมะต่างๆ ให้เรานั่นแหละ

เพราะว่า ธรรมต่างๆ อยู่ที่นามรูปเท่านั้นเอง ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย เหมือนอย่างที่ดิฉันยกขึ้นมาเมื่อกี้ว่า อริยสัจ ๔ ในพระไตรปิฎกทั้งหมดน่ะ ไม่มีอะไรนอกจาก อริยสัจ ๔

ทีนี้ อริยสัจ ๔ อยู่ที่ไหนเล่า? ก็ถึงได้บอกว่า อยู่ที่รูปอันใดอันหนึ่ง หรือจะอยู่ที่นามอันใดอันหนึ่ง คือ อยู่ที่ตาก็ได้ อยู่ที่หูก็ได้ อยู่ที่เห็นก็ได้ อยู่ที่ได้ยินก็ได้ ใช่ไหมคะ? อริยสัจ ๔ อยู่ที่นี่ เมื่ออริยสัจ ๔ อยู่ที่นี่แล้ว พระไตรปิฎกอยู่ที่ไหน? พระไตรปิฎกก็อยู่ที่นี่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น การเรียนด้วยสภาวะ เรียนด้วยวิปัสสนานี่น่ะ จึงแน่นอนเหลือเกิน แล้วก็ได้ประโยชน์มากเหลือเกิน รู้อันใดอันหนึ่ง ก็สามารถจะรู้ทั่วถึงไปหมดเลย และ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ นั้น ก็ได้จากอะไร? มาจากไหน? ก็ได้จากนามรูปทั้งหมด

ถึงแม้พระพุทธเจ้าได้เป็นพระสัพพัญญู ตรัสรู้ ความไม่เที่ยง หรือแจ้งโลก มีพระนามว่า โลกวิทู ก็ใครเล่าเป็นผู้สอนให้พระองค์ ในเญยยธรรม น่ะ รู้อะไร สังขาร วิการ บัญญัติ ลักษณะ นิพพาน ใช่ไหม? พระพุทธเจ้านี่รอบรู้ ๕ อย่างนี่ใช่ไหม? แล้วก็ออกจากนามรูปไปหรือ?

สังขาร นอกจากนามรูปหรือ?

วิการ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อะไร เปลี่ยนแปลง ก็นามรูปนั่นแหละเปลี่ยนแปลง ใช่ไหม?

ลักษณะลักษณะของใคร? ก็ลักษณะของนามรูป

บัญญัติ ในที่นี้ หมายถึง ขันธ์บัญญัติ อายตนบัญญัติ ธาตุบัญญัติ อินทรีย์บัญญัติ สัจจบัญญัติ ปุคคลบัญญัติ ก็อะไรเล่า บัญญัติ? บัญญัติลงไปในที่ไหน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั่นน่ะ? ก็นามรูปอีกนั่นแหละ ก็เอานามรูปนั่นแหละมาบัญญัติ มาเรียบเรียง แต่ว่า คนที่ไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถจะนำมาเรียบเรียงได้ เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยแก่อะไร รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียบเรียงไม่ได้นะคะ

ที่ได้นามว่า โลกวิทู ก็ไม่มีใครสอน ธรรมชาติของนามรูปนี่แหละเป็นผู้สอน ก็ได้มาจากธรรมชาตินั่นเอง เขาเป็นผู้บอก แต่ท่านเป็นผู้มีปัญญาจึงได้รับความรู้ที่ครูบอกให้ ได้มากมาย และละเอียดลออ   สามารถจะรู้ความลเอียดละออของนามรูปได้มาก อย่างเรานี่ก็ไม่สามรถจะรู้ได้เท่านั้น เพราะไม่มีปัญญาถึง เราก็รู้ไม่ได้

ถึงอย่างนั้น ก็ขอให้เข้าไปพบนามรูปก่อนเถอะ เอาเถอะ จะรู้อะไรได้หรือไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร แต่ให้ไปรู้จักครูเสียก่อน

ผู้ที่เข้าไปปฏิบัติเพียงได้เข้าไปพบนามรูปในกรรมฐานด้วยวิปัสสนา ตรงกันกับคำว่า นามรูปปริจเฉทญาณ เท่านี้ ดิฉันเห็นว่า แหม! ประเสริฐเต็มทีแล้ว ทั้งศรัทธา ทั้งปัญญา จะแน่นอนเหลือเกินจริงๆ ค่ะ ขอให้ได้แค่นี้ก่อนเถอะ เพียงเข้าไปพบแค่นี้ ก็จะรู้สึกตัวแล้วว่า ตัวไม่เคยพบ เราได้พบธรรมในสิ่งที่เราไม่เคยพบ เราได้รู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ ก็จะเกิดขึ้นในใจอย่างนี้ เวลาที่เข้าไปพบน่ะ

เพราะว่า รูปกับนามนั้นน่ะ เป็นขั้นต้นของวิปัสสนา เมื่อจับรูปนามได้แล้ว วิปัสสนาก็เกิดไปตามนามรูปนี้ทั้งหมดเลย แต่การรู้รูปนามที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่การรู้รูปนาม ที่เราเรียนปริยัติ ต้องรู้รูปนามที่ได้มาจากการปฏิบัติ ต้องรู้! รูปนามนั้นต้องเกิดจากการปฏิบัติ

อย่างปริยัตินี่ เราก็รู้นี่ เวลานี้ถามใครก็ตอบได้ ใช่ไหม? ว่า “เห็น” นี่ เป็นรูปหรือเป็นนาม สี เป็นรูปหรือเป็นนาม รู้ว่า เป็นรูป นั่ง เป็นรูปหรือเป็นนาม รู้ว่า เป็นรูป ใช่ไหม? นี่รู้ตามปริยัติแล้ว

แต่เวลาที่นั่งอยู่น่ะ รู้หรือเปล่าว่า รูปมันนั่งหรือเรานั่ง เวลาเห็นน่ะ รู้ไหม? ว่ารูปมันเห็น หรือนามมันเห็น เห็นไหมล่ะ? นี่เรารู้ด้วยปริยัติ เราไม่ใช่รู้ด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่รู้ด้วยวิปัสสนา

เพราะว่า ถึงจะรู้อันนั้นเป็นนาม เป็นรูปก็จริง แต่เมื่อเวลานามรูปปรากฏขึ้น ไม่สามารถจะทำลายตัวตนได้ ยังทำลายไม่ได้นะคะ นี่รู้จากปริยัติ ต้องรู้จากวิปัสสนาที่ตรงกันกับ ทิฏฐิวิสุทธิ ความรู้อันนี้เมื่อเข้าถึงวิสุทธิแล้วนะคะ อย่าลืมทีเดียว !

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ก็หมดจดไม่เจือด้วยความเห็นผิดแล้ว ตรงกับทิฏฐิวิสุทธิ หรือตรงกันกับนามรูปปริจเฉทญาณที่กำหนดรู้นามรูปในขั้นต้นของวิปัสสนา

นามรูปนี่แหละ ที่เราเข้าไปให้ถึงเสียก่อน นี่เป็นความสำคัญของเรานะคะ

เพราะฉะนั้น ผู้ทำวิปัสสนาน่ะ อย่าเพิ่งไปสนใจว่า เมื่อไหร่จะเห็นไม่เที่ยง เมื่อไหร่จะเห็นไตรลักษณ์ แล้วจิตก็อย่ามุ่งไปอย่างนั้น พยายามเสียก่อน พยายามตามกำหนดนามรูปนี่ จนกระทั่ง รู้เป็นนาม เป็นรูป แน่ชัดเสียก่อน

เหมือนกับเราเรียนหนังสือน่ะ เรียนใหม่ๆ น่ะ โอ๊ย! เมื่อไหร่จะอ่านออก เมื่อไหร่จะเขียนได้ เมื่อไหร่จะสอบไล่ได้ อย่างนี้ อย่างนี้ไม่ได้ ต้องพยายามเรียน ก. ไก่ ข. ไข่ ให้จำได้ดีเสียก่อน แล้วทีนี้เมื่อต้องการจะเรียนอะไร เมื่อพบนามรูปแล้วน่ะ จะรู้อริยสัจ หรือจะรู้นิพพาน หรือจะรู้อะไรก็แล้วแต่ นามรูปจะเป็นผู้พาท่านไปถึงความรู้นั้น เขาจะสอนให้ท่านรู้ทุกอย่าง

เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญขั้นแรกนี้ ขอให้พยายามเข้าใจรูปนามก่อน อุปมาเหมือนการอ่านหนังสือออกแล้ว หนังสือจะมีกี่เล่มก็ตาม ก็อ่านออกรู้เรื่องหมด ก็ใครบอกใครเป็นคนสอนให้อ่านออก ก็ตัวนั่นแหละ สอน ตัวหนังสือนั้นประกอบด้วยเหตุปัจจัยอย่างไร ก็อ่านไปตามนั้น

เพราะเข้าใจปัจจัยที่ประกอบอยู่ในคำนั้นๆ ว่า คำนั้นจะใช้พยัญชนะเท่าไร? สระเท่าไร ฉะนั้นทุกอย่างที่ปรากฏขึ้น ก็จะต้องมีปัจจัย เหมือนกับนามรูปเหมือนกัน นามรูปอันนั้นจะต้องประกอบด้วยปัจจัยอะไร นามนั้นจะเกิดด้วยปัจจัยอย่างไร? เราก็รู้

ผู้ปฏิบัติเมื่อได้นามรูปแล้ว ทีนี้ก็รู้ซิ ว่านามรูปน่ะ จะประกอบด้วยอะไรบ้าง?

ธรรมนั้นมีมากมายเหลือเกิน แล้วแต่จะพูดเรื่องอะไร มีอิทธิพล มีอินทรีย์ มีโพชฌงค์ มีมรรค ๘ มีวิปัสสนาญาณ มีวิสุทธิ มีสติปัฏฐานเห็นไหมคะ? เยอะเชียว แล้วมีอะไรอีกหลายอย่างมากมาย ข้อสำคัญที่จะได้ประโยชน์ที่สุด คือ เราจะต้องนำเอาคำเหล่านี้มาใช้ แต่ในที่สุด คำเหล่านี้ก็อยู่ที่รูปนามทั้งนั้น จะต้องนำเอาคำเหล่านี้มาใช้เหมือนกับเราเรียนหนังสือ เช่น คำว่า “เปลี่ยน” หรือ “เหมือน” เราก็ต้องเข้าใจว่า จะต้องมีคำอะไรผสมกัน จึงจะเป็นคำที่อ่านว่า “เปลี่ยน” หรือ “เหมือน” ได้ นี่อย่างนี้เราต้องเข้าใจ นี่ต้องเข้าใจอย่างนี้ และจะเรียนธรรมะก็ต้องเข้าใจอย่างนี้เหมือนกันว่า ธรรมะอย่างนั้นจะเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร

ถ้าเราจะพูดกันแต่ผลอย่างเดียว ไม่รู้เหตุนี่ลำบากมาก ก็เป็นถ้อยคำที่ไม่มีเหตุผลนี่ก็ลำบากเหมือนกัน

การอ่านหนังสือต้องเข้าใจอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ใช่ว่า ตัวหนังสือตัวเดียว จะอ่านว่า “เหมือน” ไม่ได้ หรือจะเป็น “เปลี่ยน” ก็ไม่ได้ นามรูปก็เหมือนกัน อย่างเดียวน่ะ จะเป็นอันนั้นขึ้นมาน่ะไม่ได้ จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นอย่างเดียว โดยไม่อาศัยเหตุปัจจัยอะไรเลย ได้ไหม? ไม่ได้ ตัวหนังสือตัวเดียวอ่านไม่ได้ความ ต้องหลายตัวรวมกันจึงเกิดเป็นความหมายขึ้นได้ ธรรมะก็เหมือนกัน เขาจะยกหมวดไหนขึ้นมา เช่น อย่างเรายกวิสุทธิขึ้นมาพูดกันอยู่นี่น่ะ เวลานี้เราพูดกันเรื่อง “วิสุทธิ” ใช่ไหมคะ? ยกเอาวิสุทธิขึ้นมาพูด เราก็ต้องรู้แล้วว่า ความหมายของคำว่า “วิสุทธิ” นี่ หมายถึงอะไร? เราก็ต้องเข้าใจความหมายของอันนี้ มาจากไหน? วิสุทธินี่เกิดมาจากเหตุอะไร? เห็นอย่างไร? มีธรรมอะไร? หมวดไหนบ้าง ที่ผสมอยู่? ต้องอาศัยธรรมอะไรบ้าง ถ้าจะเข้าถึงวิสุทธินั้นได้? ต้องเข้าใจอย่างนี้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็หมายความว่า อ่านหนังสือออกนะคะ

เมื่ออ่านหนังสือออกแล้วน่ะ หนังสือกี่ร้อยเล่ม พันเล่ม ก็ไม่เป็นไร อ่านออกทั้งนั้น เข้าใจทั้งนั้น ถ้าเปิดออกอ่านแล้ว เข้าใจทั้งนั้น เพราะเราอ่านออกแล้ว เราก็ต้องเข้าใจ ความหมายเนื้อเรื่องในหนังสือนั้นๆ เหมือนกับเรียนธรรมะก็เหมือนกัน ถ้าเข้าใจสภาวะธรรมดี แล้วก็เข้าใจพร้อมประกอบด้วยเหตุผลดีแล้ว พอเราไปพบธรรมะหมวดไหนเข้า เราก็เข้าใจทันที อย่างกับเขาพูดถึง “วิสุทธิ” อย่างนี้เรารู้แล้วละ

วิสุทธิ ชื่อนั้น วิสุทธิ อันนั้น ที่ยกขึ้นมา เช่น ทิฏฐิวิสุทธิ นี่แหละรู้ เห็นอย่างไร? ความเห็นนั้นถึงจะเข้าถึงวิสุทธิ

กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นอย่างไร? เห็นอย่างไร? รู้แล้ว ถึงจะเข้าถึงวิ-สุทธิอันนี้มาจากอะไร นี่เรารู้แล้ว ใช่ไหมคะ? เราอ่านรู้ เราก็รู้ ไม่ใช่ว่าเวลาไม่รู้ วิสุทธิอันนี้มาจากไหน? เราก็จะทำวิสุทธิให้เกิดขึ้น พอเขาบอกว่า วิสุทธินี้น่ะ เป็นทางไปพระนิพพาน แล้วก็จะต้องทำวิสุทธินี้น่ะ ให้เกิดขึ้น ทำอย่างไร? วิสุทธิจะได้มาจากไหนก็ไม่รู้ แล้วเราจะทำวิสุทธินั้นให้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ก็เกิดไม่ได้

เหมือนกับเราเขียนหนังสือสักคำหนึ่งอย่างนี้ ใช้พยัญชนะอะไร ใช้สระอะไร ใช้ตัวสะกดอะไรบ้าง เราต้องรู้แล้วใช่ไหมคะ? ทีนี้พอเขาพูดขึ้นมาคำหนึ่ง เช่น เขาพูดว่า “เหมือน” เรารู้แล้ว เหมือนคำนี้ต้องใช้อะไร เขียนอย่างไร นี่เรารู้ทันที ใช่ไหมคะ? รู้ละ จะต้องเขียนคำว่า “เหมือน” เราก็รู้ว่า เขียน อะไร? ต้องอาศัยอะไรบ้าง? ความหมายของคำว่า   “เหมือน” ถึงจะเกิดขึ้น

เหมือนเขาพูดคำว่า “วิสุทธิ” วิสุทธิอะไร? พอเขายกชื่อวิสุทธิขึ้นมา เราก็รู้ วิสุทธินี้ต้องมาจากไหน? ต้องมีความรู้สึกอย่างไร? เห็นอะไร? อาศัยเหตุอะไร? ความหมายของคำว่า “วิสุทธิ” นี้จึงเกิดขึ้นได้

ถึงแม้ว่า เราจะไม่เคยเขียนเลย ไม่เคยอ่านชื่ออย่างนี้เลย แต่เมื่อเขาเขียนขึ้นมา เราก็อ่านได้ เพราะว่า เราเข้าใจ แปลว่า เขาพูดขึ้นมาเราก็เข้าใจ เรารู้แล้วว่า ธรรมะที่ประกอบด้วยเหตุ ปัจจัยอย่างนั้น ต้องมีความหมายดังนั้น พยัญชนะอย่างนี้ ต้องสะกดอย่างนี้ สระอย่างนี้ ก็ต้องอ่านอย่างนี้ ก็เหมือนกับธรรมะ ธรรมะทุกหมวดจะต้องโยงกัน จะไปอ่านให้ผิด เอาธรรมะที่นี้มาใช้ที่นี้ เอาธรรมะอันนี้ชื่อนี้ไปเป็นธรรมะอย่างนั้นไม่ได้ อย่างนี้ไม่ได้นะคะ ผิด! ผิดแล้ว ประโยชน์ก็ไม่ได้ เป็นไปตามอย่างนั้น

ธรรมะก็เหมือนกัน ธรรมะทุกหมวดจะต้องโยงถึงกันหมด ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างอยู่ เช่น คำว่า “วิสุทธิ” ก็เหมือนกัน กว่าจะเข้าถึงวิสุทธินี้ ต้องอาศัยธรรมะอะไรบ้าง? ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงวิสุทธินี้ได้? มีธรรมะอะไรบ้างอยู่ที่นี้ จึงจะเป็นวิสุทธิได้

วิปัสสนามาจากไหน? วิปัสสนาก็ต้องมีเหตุอีก และจะต้องเข้าใจ นำเอาเหตุและผลต่างๆ มาผสมกันเข้า มารวมกัน จึงเกิดเป็นวิสุทธิได้ อันนี้เป็นความสำคัญมากทีเดียวค่ะ

ถ้าเราจะเอาแต่ผลมา เราก็ไม่รู้ ทีนี้เรารู้แล้วละ ความหมายของวิ-สุทธินี่ เขาหมายความว่าอย่างไร? แต่ว่า เราก็ไม่รู้ว่า วิสุทธินี้อาศัยเหตุอะไรเกิดขึ้น?

ถึงเราจะรู้ แต่ว่า วิสุทธิยังไม่เกิดขึ้น ทีนี้เราจะต้องรู้เหตุ ที่จะให้เกิด ตรงกับวิสุทธิด้วย วิสุทธินี้ต้องมาจากเหตุอย่างนี้ เรารู้แต่วิสุทธิ คือ ความหมดจด หมดจดในที่นี้น่ะ มาจากเหตุอะไร? เช่น วิสุทธินี้น่ะ ทิฏฐิวิสุทธิ นี่น่ะ เหตุอะไร ทำให้เข้าถึงวิสุทธินี้? กิเลสไม่มี กิเลสอะไร?

ความเห็นผิดไม่มี บริสุทธิ์แล้วในวิสุทธินี้ ทิฏฐิวิสุทธินี้มาจากเหตุอะไร? มันจะมีเหตุ เพราะศีลก็วิสุทธิได้ แต่นั่นเป็นเรื่องของกาย วาจา นะ

สมาธิก็วิสุทธิได้ เมื่อเราเข้าถึงสมาธิแล้ว จิตจะเป็นวิสุทธิไหม? ก็เป็นวิสุทธิได้ใช่ไหม? จิตก็เป็นวิสุทธิ เพราะฉะนั้นมองดูก็ไม่มีแล้ว กิเลส ความโลภ โกรธ หลง ก็ไม่มีในที่นั้น ใช่ไหม? ทีนี้วิสุทธิในที่นั้นน่ะ เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ ได้ไหม? ไม่ได้ใช่ไหม?

นี่เราจะต้องรู้เหตุอีกว่า วิสุทธินั้น คำว่าทิฏฐิวิสุทธินั้นน่ะ เหตุมาจากไหน? มาจากสมาธิหรือ วิสุทธิในที่นั้นต้องมาจาก ปัญญา นี่เราจะต้องรู้อย่างนี้

ถ้าเราไม่รู้เหตุ อาจจะหยิบฉวยอะไรมาใส่ให้เป็นวิสุทธิอันนี้ เป็นไปไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ? เป็นไปไม่ได้เลย! นี่แหละ สำคัญมากเหลือเกินที่เราจะต้องรู้

ทิฏฐิวิสุทธิ จะต้องได้มาจากปัญญา ปัญญาอะไร? ปัญญานั้นมีเหตุมาจากไหน? ได้มาจากไหน? ปัญญานั้นจึงจะเข้าถึงวิสุทธินั้นได้ ปัญญานั้นจึงจะชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ ได้ อย่างนี้จึงสำคัญ

บางทีเอาผลขึ้นมา แต่ว่า เอาเหตุมาใส่กับผลไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้ว่า ทิฏฐิวิสุทธินี้ เกิดจากปัญญาเพียงสมาธิ! เราก็เข้าใจว่า เป็นวิสุทธิแล้ว เข้าใจว่า เราถึงแล้วละ “ทิฏฐิวิสุทธิ”

เพราะฉะนั้น วิสุทธิก็เหมือนกัน กว่าจะเข้าถึง วิสุทธินี้ละก็ ต้องอาศัยธรรมมาจากไหน วิปัสสนาก็ต้องมีเหตุอีก มาจากปัญญา ปัญญาก็ต้องมีเหตุ และต้องเข้าใจ นำเอาเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้มาผสมกันเข้า มารวมกันจึงจะเกิดเป็นวิสุทธิได้ และข้อสำคัญจะต้องเข้าใจว่า คำว่า วิสุทธิ นี่ หมายความว่า อย่างไร? อันนี้ก็ต้องเข้าใจก่อนละ

การศึกษา จึงควรจะเข้าใจในความหมายนั้นๆ เช่น คำว่า มรรค ๘ หรือสติปัฏฐาน เป็นต้น

มรรค ๘ มาจากไหน? สติปัฏฐาน คืออะไร? มาจากไหน? ถ้าเราไม่รู้อย่างนี้ก็ลำบาก ก็ต้องเกิดการเถียงกันเป็นธรรมดา จะพูดอย่างไรตามตัวหนังสือมีจำนวนจำกัด มี ๔๔ ตัว บาลี มี ๓๒ ตัว มีเท่านี้ ไม่มีเกิน จะพูดอย่างไรๆ ก็ไม่พ้นไปจากตัวหนังสือ ใครจะเขียนขึ้นมากี่สิบเล่มเกวียนก็ไม่พ้น ก็อยู่ในนี้แหละ บาลีก็เหมือนกัน จะพูดเท่าไรๆ ก็ ๓๒ ตัวนี้แหละ

ธรรมะก็เหมือนกัน เท่าไหร่ๆ ก็มีรูปกับนาม ๒ อันนี่แหละ อย่างเดียวกัน พูดอย่างไรๆ ไม่พ้นจากรูปกับนามเลย

เหตุผล เหตุก็เป็นรูปได้ เป็นนามได้ ผลก็เป็นรูปได้ เป็นนามได้ ไม่มีพ้นเลย ไม่มีพ้นไปจากตัวหนังสือได้ จำนวนนะ

แต่ก็ขึ้นอยู่กับการปรับปรุง ถ้าปรับปรุงไม่ถูก ก็นำมาติดต่อกันไม่ได้ นี่อันนี้นะคะ เป็นความสำคัญ

ดิฉันพยายามที่สุดนะคะ ที่อธิบายอย่างนี้ ต้องการให้เข้าใจอย่างนี้ ต้องการให้ปรับปรุงกันได้อย่างนี้ ไม่ใช่จำไปได้อย่างเดียว จำแล้วก็ต้องเข้าใจปรับปรุงเหตุผลในเรื่องของการจำนั้นด้วย เรื่องมันเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ถึงได้พยายามในเวลาที่อธิบาย ดิฉันต้องพยายามไปดึงเอาที่โน่นมา ไปดึงเอาที่นี่มาใช่ไหมคะ? ดึงเอามาในที่ต่างๆ ว่าที่ถูกแล้ว มันต้องอันนี้ มาจากอันนี้ ให้ปรับปรุงให้ลงกัน แล้วก็ยก ไม่ใช่ยกเอาแต่ที่ถูกมา ที่ผิดก็ยกเอามาอธิบายให้ฟังว่า ถ้าเห็นอย่างนี้ ถ้าเข้าใจผิดอย่างนี้ ผิด! ผิดที่ตรงไหน? ผิดจากเหตุที่ตรงนั้น ก็ต้องบอกด้วย

ผิด! จะว่าเขาผิดเฉยๆ ไม่ได้ ผิดที่ตรงไหน? ผิดอย่างไร? ผิดจากเหตุไหน? ผิดจากผลตรงไหน? นี่น่ะ ต้องการให้เข้าใจอย่างนี้

เพราะฉะนั้น ต้องพยายามไปดึงเอามา ทั้งผิดและถูก ก็พยายามเอามาปรับปรุงให้เข้าใจ

เพราะฉะนั้น ละก็ ขอให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่า จะเรียนมากแล้ว เข้าใจดีนะ ไม่ใช่อย่างนั้นนะ เพราะรู้ด้วยสัญญา รู้ด้วยวิญญาณ รู้ด้วยปัญญา มันรู้หลายอย่างแล้ว การเรียนธรรมะ การเรียนอภิธรรมนี่ มันเป็นปริญญาชั้นสูงด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นของง่ายๆ

เพราะฉะนั้น ขอให้พยายามเรียนด้วยความเข้าใจจริงๆ เถอะ เรียนธรรมบทใดบทหนึ่งก็เข้าใจตลอด ขอให้เข้าใจจริงๆ เถอะ

ผู้ฟังถามว่า “เรียนรู้มากๆ ไม่ดีหรือ?” ตอบว่า “รู้มากๆ ก็ดี แต่ถ้ารู้มากแล้วปรับปรุงไม่ได้ มันก็ได้ประโยชน์น้อย แล้วอาจจะผิดได้ด้วย

นี่เราจวนจะรู้จักครูที่แท้จริงของเราแล้วนะ ว่าคือใคร? ครูที่แท้จริงของเราน่ะ ไม่ใช่คนอื่น คือ นามกับรูปนั่นเอง สำหรับครูที่จะสอนวิปัสสนาให้เราน่ะ คือ นามกับรูปนั่นเอง แล้วขอให้เข้าใจว่า เราไม่ต้องไปเรียนที่อื่น เรียนที่นามรูปนั่นแหละ

เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนานั่นน่ะ ก่อนอื่นควรจะเข้าไปพบครูเสียก่อนเท่านั้นเอง เรื่องไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อะไรต่ออะไรต่างๆ น่ะ เป็นเรื่องของรูปนาม ดีหรือชั่วต่างๆ รูปนามเท่านั้นจะเป็นผู้สอนให้ แต่ท่านก็ต้องไปเจอรูปนามเขาเสียก่อน แล้วท่านจึงจะรู้ ท่านจึงจะได้ความเข้าใจจากเขา ว่าความจริงน่ะ เขาเป็นอย่างไร? เขาจะสอนให้เรารู้ความจริงเอง

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นนะ ผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาน่ะ มีหน้าที่แต่เพียงว่าจะต้องไปพบกับรูปนามเสียก่อน ถ้ายังไม่เข้าไปเจอนามรูป ก็หมายความว่ายังไม่ได้เจอครู เพราะธรรมต่างๆ น่ะ มีอยู่ที่นามรูปนั่นเอง ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หรือพระไตรปิฎกนั้นได้แก่อะไร? มาจากไหน ก็ได้แก่ นามรูปทั้งหมด

ถึงแม้พระพุทธเจ้าได้พระสัพพัญญุตญาณตรัสรู้แจ้งโลกมีพระนามว่า โลกวิทู ก็ใครเล่าเป็นผู้สอนพระองค์ แจ้งโลกน่ะ แจ้งอะไร? โลกน่ะ คืออะไร? โลกก็คือ นาม กับ รูป นี่แหละ นามโลก กับ รูปโลก ย่อลงไป แล้วโลกก็มี ๒ อย่าง ได้นามกับรูป ๒ อย่างเท่านั้นนะคะ

เพราะฉะนั้น การที่พระองค์แจ้งโลกน่ะ ไม่ใช่แจ้งอะไรหรอก ก็แจ้งนาม แจ้งรูป นั่นแหละ

เมื่อนามรูปนี้ มีความละเอียดสุขุมเพียงใด เป็นผู้บอก ผู้สอนให้ แต่ท่านเป็นผู้มีปัญญา จึงรับความรู้ที่ครูบอกให้ได้มากมาย และละเอียดละออสามารถจะรู้ความละเอียดละออของนามรูป ได้มากที่สุด อย่างเราก็ไม่สมารถจะรู้ได้เท่านั้น เพราะไม่มีปัญญาถึง เราก็รู้ไม่ได้

ถึงอย่างนั้น ก็ขอให้เข้าไปพบกับนามรูปก่อนเถิด เพราะว่า รูปกับนามนั้น เป็นขั้นต้นของวิปัสสนา

เมื่อพบนามพบรูปแล้ว ก็สบายใจละค่ะ ต่อไปน่ะ มีหวัง ต่อไปน่ะ จะรู้นามรูปที่แท้จริง ไม่ใช่รู้นามรูปที่เราเรียนมาตามปริยัติ ต้องรู้นามรูปที่ได้มาจากปฏิบัติวิปัสสนา ที่ตรงกับ ทิฏฐิวิสุทธิ หรือกับ นามรูปปริจเฉทญาณ ที่กำหนดรู้นามรูป ในขั้นต้นของวิปัสสนา นามรูปนี่แหละ เราต้องเข้าไปให้ถึงเสียก่อน แล้วทีนี้จะต้องการเรียนอะไร จะรู้อริยสัจ หรือจะรู้นิพพาน หรือจะรู้อะไรก็แล้วแต่ นามรูปเขาจะเป็นผู้พาท่านไปถึงความรู้นั้นๆ เขาจะเป็นคนสอนให้ท่านรู้ทุกอย่าง

เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญในขั้นแรกนี้ ขอให้พยายามให้เข้าใจนามรูปก่อน อุปมาเหมือนกับท่านอ่านหนังสือออกแล้ว หนังสือจะมีกี่เล่มก็ตาม ก็อ่านออกรู้เรื่องหมด ใครเล่าบอก ใครเล่าสอน? ก็ตัวหนังสือนั่นแหละสอน! ตัวหนังสือนั้นประกอบด้วยเหตุปัจจัยอย่างไร ก็อ่านไปตามนั้น เพราะเข้าใจปัจจัยที่ประกอบอยู่ในคำนั้นๆ ว่า คำนั้นๆ ใช้พยัญชนะเท่าไหร่ สระเท่าไหร่

ฉะนั้น ทุกอย่างที่ปรากฏขึ้น ก็จะต้องมีปัจจัย เพราะว่า ธรรมะน่ะ มีมากมายเหลือเกินนะคะ

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็หมายความว่า อ่านหนังสือออก อย่างเอาหมวดไหนขึ้นมา ธรรมะน่ะมีหลายหมวด อย่างเช่นที่เราพูดกันอยู่นี้น่ะ เขายกวิสุทธิขึ้นมา ที่พูดนี่ ยกเรื่องวิสุทธิขึ้นมาพูดใช่ไหมคะ?

เพราะฉะนั้น พระอริยะแต่ก่อนนี้ ท่านบอกว่า ท่านไปด้วยอะไรก็ได้ ท่านจะไปนิพพานด้วยทาง สติปัฏฐานก็ได้ ไปนิพพานด้วยทางวิปัสสนาก็ได้ หรือจะไปนิพพานด้วยมรรค ๘ ก็ได้ หรือจะไปนิพพานด้วยวิสุทธิก็ได้ อย่างพระมันตานีบุตร พระสารีบุตร ถามว่า ท่านได้บรรลุมรรคผลน่ะ ท่านได้ปฏิบัติไปด้วยอะไร? ยานพาหนะที่จะดำเนินไปถึงนิพพานน่ะ

พระมันตานีบุตร ก็บอกว่า ไปด้วยวิสุทธิทั้ง ๗ ท่านไม่ได้บอกว่า ไปด้วยสติปัฏฐาน แต่ที่จริงการที่จะได้วิสุทธิมา ก็ต้องมีสติปัฏฐานด้วย แต่ไม่บอก ในสติปัฏฐานก็เหมือนกัน จริง! ต้องปฏิบัติสติปัฏฐาน แต่ว่า ทางปฏิบัติสติปัฏฐานต้องเข้าถึงวิสุทธิด้วย จึงจะไปได้ ถ้าปฏิบัติสติปัฏฐานแล้วไม่เข้าถึงวิสุทธิไปไม่ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น จะพูดอะไรก็ได้ ท่านบอกว่า ท่านไปด้วยสติปัฏฐานก็ได้ เพราะว่าอะไร? เมื่อปฏิบัติสติปัฏฐานไป ธรรมทั้งหลาย มีมรรค ๘ หรือมีโพธิปักขิยธรรม หรือมีวิสุทธิ เป็นต้น จะต้องเกิดจากสติปัฏฐาน เป็นเหตุ ท่านบอกว่า ท่านไปด้วยสติปัฏฐานก็ถูกแล้ว

ทีนี้พระมันตานีบุตร ท่านบอกว่า ท่านไปด้วยวิสุทธิ ก็ถูกเหมือนกัน เพราะว่า วิสุทธินี่ ก็มาจากไหนล่ะ? ที่ท่านจะได้วิสุทธิมานี่ จะต้องได้มาจากสติปัฏฐาน ได้มาจากวิปัสสนา ได้มาจากมรรค

วิสุทธินี่ เมื่อสงเคราะห์ลงไปแล้ว ก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนกัน แล้วแต่ปฏิบัติมาจากศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง วิสุทธิก็ถูกเหมือนกันนะคะ

เพราะฉะนั้น เมื่อยกวิสุทธิขึ้นมา เราก็จะต้องรู้แล้วว่า ความหมายของคำว่า วิสุทธินี้หมายถึงอะไร? มาจากไหน? และมีธรรมหมวดไหนบ้างที่ผสมอยู่ ต้องเข้าใจอย่างนี้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็หมายความว่า อ่านหนังสือออก หรือแม้ว่า คำนี้จะไม่เคยเขียนเลย หรือยังไม่เคยอ่านเลย ชื่ออย่างนี้ แต่เมื่อเขาเขียนขึ้นมา หรือเขาพูดขึ้นมา เราก็อ่านได้ แล้วเราก็เขียนได้ เพราะที่ประกอบด้วยเหตุปัจจัยอย่างนั้น ต้องมีความหมายอย่างนั้น พยัญชนะอย่างนี้ ตัวสะกดอย่างนี้ สระอย่างนี้ต้องอ่านอย่างนี้ เหมือนกับเรียนธรรมะนี่ก็เหมือนกัน

ที่เราเรียนหนังสือนี่ เราก็เรียนธรรมะใช่ไหม? เวลาเรียนหนังสือน่ะ เราเอาอะไรเรียนล่ะ? เอาธรรมะเรียนใช่ไหม? อารมณ์นั่นก็เป็นธรรมะใช่ไหม? ก็รูปกับนามทั้งนั้นแหละ เอา นาม ไปเรียน รูป บ้าง, เอานามไปเรียนนาม บ้าง, เหมือนกัน อย่างเดียวกัน หนังสือนี่ก็ต้องอาศัยพยางค์ใช่ไหม? อาศัยเสียง อาการบอกบ้าง อาศัยรูปารมณ์ที่เห็นรูปร่างตัวหนังสือบ้าง อาศัยใจ ทางมโนทวารหรือมโนวิญญาณก็ต้องรู้ ต้องเข้าใจว่า อันนี้กับอันนี้ผสมกันเข้า อ่านว่า อย่างนั้น

หูได้ยินน่ะ ผสมไม่ถูกละ หูก็ได้ยินเป็นคำๆ ไปเท่านั้นเอง จะไปรู้ได้อย่างไร ว่าอะไรผสมกับอะไร? มันก็ไม่รู้ เช่นอย่างว่า ก. สระ อู. นี่หูมันได้ยินอย่างนี้ใช่ไหม? แต่มันไม่เข้าใจหรอก หูน่ะ ก. กับ สระอู ผสมเข้าก็เป็น “กู” อย่างนี้หูมันไม่รู้ แต่ว่า ใจรู้ ใช่ไหมคะ? ตาก็เหมือนกัน ตัว . กับสระอา เห็นแล้วละ มันก็เห็นอย่างนั้นแหละ เห็นรูปร่างตัว ข. กับรูปร่างสระอา แต่เมื่อผสมกันเข้าแล้ว ตาก็อ่านไม่ได้ ว่า ขา ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเรียกว่า ขา แต่ว่าใจรู้ อย่างนี้ค่ะ

ธรรมะทั้งนั้นแหละ ที่เราเรียนนี่ และทุกอย่างที่เราทำนี่ เรากินข้าว เราถ่ายอุจจาระ เราถ่ายปัสสาวะ เรานั่ง นอน ยืน เดิน ธรรมะทั้งนั้นใช่ไหม?

ตาเห็น หูได้ยิน ก็ล้วนแต่ธรรมะทั้งนั้น ใช่ไหมล่ะคะ เพราะฉะนั้น อย่าถือว่า ภายนอกน่ะ ไม่ใช่ธรรมะ ถ้าเราเข้าใจธรรมะอย่างนี้แล้ว ไปที่ไหนก็เจอะธรรมะทั้งนั้นแหละ ใช่ไหมล่ะ? ไปที่ไหนๆ ก็เจอะธรรมะ พอไปเห็น อ้อ! นี่ธรรมะประเทศนั้น อ้อ! ธรรมะประเทศนี้ อันนี้ธรรมะประเทศนี้ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล นี่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล นี่ได้ทั้งหมดเลย ไปที่ไหน ก็หาธรรมะที่ไหนๆ ได้รู้สึกว่า เราจะพบธรรมะง่ายๆ ไม่ใช่เป็นของยากเลย เพราะมันอยู่กับเราเสมอ

แต่ถ้าเราไม่รู้ธรรมะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นธรรมะหมด สิ่งที่ประสบการณ์แก่เรานี่ ธรรมะทั้งนั้นเลย แม้แต่ตัวเรา ทั้งตัวนี่ก็เป็นธรรมะหมด อย่างนี้แหละค่ะ ต้องการจะรู้ธรรมะอะไร หาธรรมะอะไร? ก็เจอะธรรมะทั้งนั้น ถ้าเรา ไม่รู้ละก็ ไม่เจอะ อยู่ข้างนอกก็ไม่เห็นธรรมะ ใช่ไหมล่ะ? แม้จะไปเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็ยังไม่เห็นธรรมะอีก ไปเข้าตั้งเดือน ๒ เดือน กลับมาถามว่าเห็นธรรมะไหม? ก็ไม่เห็น ก็เพราะไม่รู้ว่าธรรมะนั่นมันอะไร? นี่ยังนี้ซีคะ

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจนี่ มันเป็นความสะดวกแก่ความรู้นะคะ ความต้องการปัญญาก็เข้าถึงเหตุผลได้ง่าย

ฉะนั้น การอ่านหนังสืออย่างนี้ก็เหมือนกับธรรมะเหมือนกันนะคะ ธรรมะทุกหมวดจะต้องโยงถึงกันหมด ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างอยู่ เช่นคำว่า “วิสุทธิ” ก็เหมือนกัน กว่าจะเข้าถึงวิสุทธินี้ จะต้องอาศัยธรรมะอะไรบ้าง? ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงวิสุทธิได้? มีธรรมะอะไร อยู่ในที่นี้ จึงเป็นวิสุทธิได้ วิปัสสนามาจากไหน? วิปัสสนาก็ต้องมีเหตุอีก และต้องเข้าใจนำเอาเหตุและผลทั้งหลายมาผสมเข้า มารวมกันเข้าจึงจะเกิดเป็นวิสุทธิได้ และข้อสำคัญก็จะต้องเข้าใจว่า คำว่า “วิสุทธิ” นั้นหมายความว่าอย่างไร? อันนี้ก็พอจะเข้าใจกันแล้วนะคะ

การศึกษานี่ จึงควรจะเข้าใจในความหมายของคำนั้นๆ เช่น มรรค ๘ หรือสติปัฏฐาน เป็นต้น มรรค ๘ มาจากไหน? สติปัฏฐาน คืออะไร? มาจากไหน?

ถ้าเราไม่รู้อย่างนี้ ก็จะลำบาก ก็ต้องเกิดการเถียงกันเป็นธรรมดา จะพูดอย่างไรก็ตาม ตัวหนังสือมีจำนวน ๔๔ ตัว บาลี มี ๓๒ ตัว มีเท่านี้ จะพูดอย่างไรๆ ก็ไม่พ้นไปจากตัวหนังสือนี้ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ถ้าปรับปรุงไม่ถูก ก็นำมาติดต่อกันไม่ได้

เพราะฉะนั้น ขออย่าได้ลืมว่า ทุกอย่างต้องมีเหตุผลทั้งนั้น ใครจะพูดอย่างไรก็ได้ ไม่สำคัญ เราก็ไม่ต้องคัดค้าน แต่ขอให้เรารู้ว่า ที่เขาพูดนั้น เขาพูดผิด หรือพูดถูก ประโยชน์อยู่ตรงนี้ นิดเดียวเท่านั้นเองนะคะ ประโยชน์อยู่ตรงนี้เท่านั้นแหละ

อย่างวันนี้ เราพูดถึงเรื่องวิสุทธิ เราก็ต้องรู้ว่าวิสุทธินี้น่ะ เป็นเหตุหรือเป็นผล ถ้าเป็น ผล ก็จะต้องรู้ว่า มาจาก เหตุ อะไร? ถ้าเป็น เหตุ ก็จะต้องรู้ว่า อะไรเป็น ผล? ของวิสุทธิ วิสุทธินี้เป็นเหตุ หรือเป็นผล ถ้าเป็นผล อะไรเป็นเหตุ ถ้าเป็นเหตุ แล้วผลอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าวิสุทธินี้เป็นเหตุ

ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ ใครจะพูดอะไร เราก็รู้ เช่น จะยกเรื่อง “นิพพาน” มาพูดว่า นิพพานมีความบริสุทธิ์หมดจด เป็นธรรมที่ไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์ เขาพูดกัน เขาพูดกันได้ เขาพูดไม่ผิดเลย พูดถูกแต่เราควรจะถามเขา เราจะรู้ว่า คนนี้เขาเข้าไปถึงนิพพานจริงหรือไม่? เราควรจะถามว่าอย่างไร? ถ้าถามว่า นิพพานมีลักษณะอย่างไร? เข้าไปถึงแล้วมีจิตใจเป็นอย่างไร? หากไม่เคยเข้าไปถึง ถึงเขาจะบอกว่า จิตใจเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ผิดหรือถูก เราก็ไม่รู้ ใช่ไหม? นี่เราไปถามถึงผลอีก

ถ้าเราเข้าใจ เราควรจะถามแต่เพียงว่า “การที่จะให้เข้าไปถึงนิพพานนั้นน่ะ จะทำอย่างไร?” เราควรจะถามเหตุเขาเท่านั้นแหละ เรื่องนิพพานน่ะ ไม่ต้องหรอก! โดยมากพระพุทธเจ้าก็ไม่เคยแสดงนิพพาน แต่คนที่ยังไม่รู้เรื่อง ว่านิพพานน่ะ เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เป็นอะไรต่ออะไร โดยมากเทศนาน่ะ เป็นแต่บอกเหตุผลให้ฟังว่า ทำเหตุอย่างนั้น จะมีผลอย่างนั้น หรือว่าความบริสุทธิ์ การทำความปล่อยวาง จะมีผลอย่างนั้น อะไรอย่างนี้แหละ ก็ต้องบอกเหตุผล เท่านั้นเอง เมื่อผู้นั้นแหละ เข้าถึงเหตุผลแล้ว ก็เป็นอันว่า ความเข้าใจของเขาสมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุผลแล้ว

ผลน่ะ มีตั้งแต่ต่ำถึงสูง เหตุก็มีตั้งแต่ต่ำถึงสูง เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เราเข้าใจเหตุเพียงแค่นี้ เราก็จะได้ผลเพียงแค่นี้

เมื่อถามเขาว่า นิพพานน่ะ ทำอย่างไร เราถึงจะไปถึงได้ เขารู้ไหม? ถ้าไม่รู้ เอาละ เข้าใจละ เป็นคำพูดที่ยังไม่มีเหตุผล

เขาบอกว่า ให้เราปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไร ถ้าเข้าไปยึดถือมันก็เป็นทุกข์ ถ้าปล่อยวางเสีย ก็เป็นสุขอย่างนี้น่ะ ง่ายเหลือเกิน ดีเหลือเกิน ฟังง่ายดี

แต่อย่างไร จึงจะไม่ยึด ทำอย่างไร จึงจะปล่อยวางได้? เพราะการปล่อยวางเป็นผล ไม่ใช่เป็นเหตุ และการปล่อยวางนั้น จะนึกปล่อยวางเอาเองหรือ

การปล่อยวางเป็นของที่คิดเอาเองไม่ได้ เพราะสิ่งทั้งหลายต้องไหลมาจากเหตุ พูดแต่เพียงแค่นี้ เขาก็ให้เหตุของความปล่อยวางแก่เราได้หรือไม่ได้ จึงถือว่า ถ้าเขาให้เหตุไม่ได้ ก็ถือได้ว่า คำพูดของเขาไม่ถูกต้อง เพราะปราศจากเหตุผล

ถ้าเขาพูดเรื่องเหตุ เรื่องทำสติปัฏฐาน เจริญมรรค ๘ เรื่องทำวิปัสสนา ก็ต้องถามว่า “ผลเป็นอย่างไร? ผลของการเจริญสติปัฏฐานนั้นจะปรากฏอะไรขึ้น ที่เขาปฏิบัติน่ะ ผลที่สุดของเขา มันจะอยู่ที่ไหน? ผลที่ต้องการนั้นเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร? เขาพูดว่า เขาทำสติปัฏฐาน ก็ถูกเหมือนกัน แต่ผลของการเจริญสติปัฏฐานนั้นจะปรากฏอะไรขึ้น ถ้าเขารู้ หมายความว่า ผลที่ถูกจะต้องเกิดอย่างนั้นๆ แต่ถ้าผลเกิดขึ้นไม่ตรงกับที่เข้าใจมา เราต้องรู้ว่า เหตุที่ทำนั้นยังไม่ถูก ถ้าเขาเข้าใจอย่างนี้ก็จะทำผิด

ข้อสำคัญ ขอให้เรารู้เถิดว่า เขาพูดเรื่องอะไร? นี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องเข้าใจเหตุไว้ เพราะว่าอะไร? ที่ขึ้นอยู่กับสังขตธรรมแล้วต้องมีเหตุ มีผลอย่างแน่นอน มิฉะนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าอะไรทั้งหมด จะเกิดขึ้นเองโดยลำพังอย่างเดียว ไม่มีอะไรผสมเลย เป็นไปไม่ได้นะคะ ไม่ได้เลยทีเดียว

พระพุทธเจ้าแสดงถึงกับว่า แม้ผมเส้นเล็กๆ ยังต้องอาศัยรูปเป็นปัจจัย รวมกันอยู่ถึง ๔๔ รูป ด้วยกัน รูปนั้นต้องมีถึง ๔๔ อย่าง ผมเส้นเดียวไม่ใช่เกิดขึ้นอย่างเดียวได้ ต้อง ๔๔ อย่างถึงจะเกิดขึ้นเป็นเส้นผมได้

เพราะฉะนั้น ทางวิทยาศาสตร์ แม้จะทำผมเพียงเส้นเดียวก็ทำไม่ได้ เพราะว่าธรรมชาติที่สร้างขึ้นมาได้ ก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัยของเขา ถ้าเราสร้างปัจจัยได้ ผลก็ย่อมเกิดเอง ถ้าเราสร้างปัจจัยไม่ได้ ผลก็ย่อมเกิดเองไม่ได้เหมือนกันนะคะ อย่างดีก็ทำให้ได้แต่ของปลอม ของจริงทำไม่ได้ ไม่ว่าอะไรในร่างกายของเรา แม้แต่สักอย่างเดียวก็ทำไม่ได้ วิทยาศาสตร์ทำอะไรไม่ได้เลย ไปดวงจันทร์ได้ ไปโลกพระจันทร์ได้ ไปโลกพระอังคารได้ไปไหนไปได้หมดทุกอย่าง ดำดิน ดำน้ำลงไปในทะเล มหาสมุทรไปได้หมด แต่ว่า ผมเส้นเดียวทำไม่ได้นะ นี่มันน่าประหลาดไหม? เห็นความมหัศจรรย์ไหมล่ะ? ธรรมชาตินี่ ต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่ได้อยู่ในอำนาจของใครเลย จริงที่เดียว! ทำอะไรไม่ได้หมด สักอย่างเดียวในร่างกายของเรา เพราะร่างกายของเรานี่ เกิดด้วยกรรม เกิดด้วยจิต เกิดด้วยอุตุ เกิดด้วยอาหารใช่ไหม? แม้แต่ร่างกายที่หยาบนี่ วิทยาศาสตร์ก็ทำไม่ได้ แล้วนาม นามธาตุที่ละเอียดนี่ วิทยาศาสตร์จะเข้าถึงได้อย่างไร? ยิ่งลำบากใหญ่

กรรม จิต อุตุ อาหาร นี่ร่างกายอาศัยเกิดด้วยเหตุ ๔ อย่าง ทีนี้ทางวิทยาศาสตร์ก็จะทำได้ แต่ธาตุที่เกิดจากอุตุเท่านั้นเอง เคมี ชีวะ อะไรต่างๆ นี่ อย่างจรวดนี่ ไปด้วยอำนาจอะไร ไปด้วยธาตุไฟ ธาตุลม ใช่ไหม? นี่แหละไปได้ด้วยอำนาจที่เกิดด้วยอุตุเท่านั้นแหละ ที่ทำได้ แต่ว่า ร่างกายนี่ ต้องเกิดด้วยกรรม ด้วยจิต ด้วยอุตุ ด้วยอาหาร นี่ใช่ไหมคะ? แล้วคิดดูซิ ร่างกายที่เกิดด้วยจิตน่ะ วิทยาศาสตร์จะทำได้อย่างไร? วิทยาศาสตร์ทำจิตได้เมื่อไหร่ล่ะ? ใช่ไหมคะ? จะได้ทำร่างกายที่เกิดจากจิตได้ ก็ทำไม่ได้ ที่เกิดจากกรรมนี่ วิทยาศาสตร์จะทำได้อย่างไร? เพราะวิทยาศาสตร์ทำกรรมไม่ได้ นี่แหละ

เพราะฉะนั้น ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลยในร่างกายของเรานี้ แม้แต่ผมเส้นหนึ่งก็ต้องอาศัยสมุฏฐานทั้ง ๔ อย่าง ต้องอาศัย กรรม อาศัยจิต อาศัยอุตุ อาศัยอาหารด้วยเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์จะทำผมไม่ได้ ได้แต่ผมปลอม เฉพาะอุตุได้ แต่ว่าผมจริงๆ ทำไม่ได้ ทำปลอมได้ แต่ของจริงทำไม่ได้

ถ้าทำของจริงได้ เราก็ไม่ตาย ใช่ไหมล่ะ เราจะตายทำไม หัวใจ ปอด ตับ อะไรต่ออะไร มันไม่ดี เราก็ทำให้มันดีได้ เปลี่ยนมันได้ ไม่ต้องตายเลย วิทยาศาสตร์สร้างหัวใจขึ้นมา ให้มันเหมือนกับหัวใจจริงๆ อย่างนี้ มันก็ไม่ได้ ปอดเสียไป ตับเสียไป หัวใจเสียไป ถ้าเราทำได้ เราก็ไม่ต้องตาย วิทยาศาสตร์นั้นทำได้แต่ของปลอม เป็นของจริงไม่ได้นะคะ จึงขอให้ทราบไว้เถิดว่า ร่างกายของเรานี่ เป็นธรรมชาติที่เป็นความมหัศจรรย์เหลือเกินทีเดียว ถึงกระนั้น พระพุทธองค์ก็ยังสามารถรู้ได้ว่า มีอะไรบ้างในอวัยวะของเรา พระพุทธเจ้าทำไม่ได้เหมือนกัน แต่ว่ารู้ได้ ใช่ไหมคะ รู้ได้ว่าผมเส้นหนึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยอะไร และมีส่วนสัดเท่าไร มีรูปส่วนผสมนั้นกี่อย่าง นี่ทรงทราบได้ด้วยพระปัญญาบารมี แต่ก็ไม่อาจทำผมนั้นให้เกิดขึ้นได้เหมือนกัน

เพราะพระองค์ทรงทราบอย่างนี้แหละ จึงรู้ว่า ผมน่ะ ทำจริงๆ ไม่ได้ เพราะว่า บางอย่าง ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะทำได้ จะแก้ไขได้ อย่างกรรมของคนอย่างนี้ ถึงแม้จะเป็นพระพุทธเจ้า ก็ได้แต่รู้เท่านั้นแหละว่า คนนี้ทำชั่วอย่างนี้ กรรมนี้จะต้องให้ผลอย่างนั้น

แต่พระพุทธเจ้าจะแก้กรรมนั้น ไม่ให้ได้รับผลอย่างนั้น อย่างพระเทวทัต เป็นต้น ไม่ได้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าแก้ไม่ได้

เมื่อพระพุทธเจ้าแก้กรรมไม่ได้ ทำกรรมไม่ได้ ไฉนสิ่งที่เป็นผลเกิดจากกรรมจะทำได้เล่า ก็ทำไม่ได้เหมือนกัน ท่านบอกแล้วว่า ธรรมทั้งหลายไม่มีอำนาจใดๆ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร และไม่มีใครเป็นเจ้าของ พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่เจ้าของเหมือนกัน ธรรมทั้งหลายก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจของท่านเหมือนกัน เหมือนกันหมดเลย

เพราะฉะนั้น ท่านก็ทำไม่ได้ แต่ว่ายังทรงรู้ได้ในอวัยวะของเราน่ะ กระดูกก็ดี เนื้อก็ดี โลหิตก็ดี มีอะไรรวมอยู่ ผสมได้เหตุเท่าไหร่ ประกอบด้วยปัจจัยเท่าไหร่ อะไรบ้าง? และต่อไปนี้จะได้สรุปคำพูดอยู่นี้ พูดเรื่องมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ นะคะ

ฉะนั้น ที่พูดมาทั้งหลายนี้ ก็คิดว่า ท่านก็คงพอจะเข้าใจแล้วนะคะ คำว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี่น่ะ เข้าถึงได้อย่างไร? ด้วยเหตุอะไร? แล้วก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ถ้าไม่เข้าถึงวิสุทธิแล้วละก็ ข้อปฏิบัตินั้นๆ น่ะ ไปไม่ได้ ไปไม่ถึง ไปไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น วิสุทธินี้น่ะ อยู่ด้วยปัญญา อยู่ที่จิตใจ เกิดขึ้นด้วยอาศัยจิตใจ อยู่ในจิตใจ ไม่ใช่อยู่ในอิริยาบถ เข้าใจไหมคะ? เพราะฉะนั้น ท่านจะทำอิริยาบถอย่างไรก็ตามเถอะ จะดัดแปลงแก้ไขอิริยาบถอย่างไรๆ ก็ตามเถอะ ไม่สามารถจะเข้าถึงวิสุทธิได้หรอก เพราะกิเลสไม่ได้อยู่ที่อิริยาบถ ใช่ไหม? อยู่ในจิตใจใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น วิสุทธิที่ปราศจากกิเลสไป วิสุทธิก็ต้องเกิดอยู่ที่จิตใจ ปัญญาก็ต้องอยู่ที่จิตใจ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จิตใจเท่านั้น จึงได้ห้ามนักละ ไม่ต้องไปดัดแปลงแก้ไขอิริยาบถ การแก้ไขดัดแปลงนี่แหละ มันเป็นเหตุให้ปิดบังความจริงเสีย นี่อย่างนี้

เพราะกิเลสมันไม่ได้อยู่ที่อิริยาบถ ปัญญาก็ไม่ได้อยู่ที่อิริยาบถ อยู่ที่จิตใจต่างหาก สำคัญที่จิตใจที่รู้อิริยาบถ ที่กำหนดอิริยาบถ นี่ซิสำคัญนัก เราแก้ไขจิตใจอย่างไร? เราทำจิตใจอย่างไร เรามีโยนิโสมนสิการอย่างไร? จึงจะนำใจให้เข้าถึงวิสุทธินั้นได้ เรามีความเข้าใจอย่างไรนี่ เราต้องแก้ไขที่จิตใจเรา

เพราะฉะนั้น ต้องพยายามเข้าใจ ต้องพยายามฟัง แล้วให้ได้เหตุผล เมื่อเข้าใจแล้ว นำเอาความเข้าใจนี้ไปประกอบกับการงานที่ทำ ไปใช้ในอิริยาบถ ไม่ใช่ไปตกแต่งอิริยาบถ หรือไปดัดแปลงอิริยาบถว่า ฉันเข้ากรรมฐานแล้ว ฉันจะต้องนั่งอย่างนี้ ถ้ายังไม่เข้ากรรมฐานน่ะ นั่งเหยียดเท้าก็ได้ นั่งยองๆ ก็ได้ นั่งอะไรก็ได้ แต่เมื่อมาเข้ากรรมฐานแล้วไม่ได้ จะต้องนั่งท่านี้เชียว เดินก็ต้องเดินท่านี้ มือก็ต้องวางไว้อย่างนี้ อะไรอย่างนี้น่ะ นี่ไม่ถูกทั้งนั้นเลย ก็กิเลสมันไม่ได้อยู่ที่อิริยาบถ เรื่องอะไรจะไปแก้ไขที่อิริยาบถล่ะ

เขาถือว่าอย่างนี้ เราเดินเร็วมาก หรือเราทำอะไรเร็วมาก แกว่งแขนเร็วมาก อย่างนี้น่ะ มันจะเป็นปัจจัยให้กิเลสเข้า อันที่จริง เปล่าเลย จะเดินหรือจะวิ่ง หรือจะอะไรๆ ก็ตาม อิริยาบถไม่ได้เป็นปัจจัยให้กิเลสเข้าเลย แต่ว่า มันเป็นปัจจัยให้จิตใจว่า เมื่อจิตใจนั้นกำหนดไม่รู้ ตามไม่ทัน ใช่ไหมล่ะคะ? หรือไม่เข้าใจกำหนดละก็ นั่นกิเลสก็จะเข้า เกิดขึ้นที่จิตใจนั้น

เพราะว่า มีอวิชชา เป็นมูล ความไม่รู้นี่น่ะ มันก็ไม่ได้อยู่ที่อิริยาบถนะ มันอยู่ที่จิตใจของเรานั่นเอง

เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญ ก็ขอให้เข้าใจเถอะแล้วก็ต่อไปนี้ ก็จะสรุปคำว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินะคะ ที่เราพูดกันมานี่

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ นี่น่ะ อย่างไร? และจะเข้าถึงวิสุทธินี้ได้ด้วยปัญญาอะไร? ปัญญาที่รู้ว่า อารมณ์นี้ใช่ทางที่ถูกหรือไม่ใช่ นี่ปัญญาอันนี้น่ะ เข้าใจนะคะ

ทีนี้ผู้ปฏิบัติน่ะ ถ้ายังไม่รู้ว่า อันนี้ใช่หรือไม่ใช่ เอ๊! เป็นยังไงนะ นี่ทำไมถึงได้เป็นอย่างนี้ ก็ไม่รู้ ทำไมไปรู้อย่างนี้ ทำไมไปพบอย่างนี้ ไปเห็นอย่างนี้ นี่มันอะไรนะ มันจะใช่หรือไม่ใช่ก็ไม่รู้ อย่างนี้ละก็ ปัญญานี้น่ะ ไม่สามารถจะเข้าถึง มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิได้เหมือนกัน จะทำสติให้ถูกจะรู้อะไรก็ตามเถอะ แต่ถ้าไม่สามารถที่จะตัดสินได้แน่นอนถูกต้องไม่ผิดเลย ไม่หลงผิด ไม่เข้าใจผิดในอารมณ์นั้นๆ แล้ว

นั่นแหละ ปัญญาอันนั้นแหละเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ แล้วก็จะเข้าถึงปัญญาในมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อนั้น

ถ้าหากว่า ผู้ปฏิบัติยังไม่เกิด มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ยังไม่เกิดขึ้น ไม่มีหวังเลย ที่จะได้ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นปฏิบัติที่ถูกทางหรือถูกต้องแล้ว ไม่มีหวังเลยค่ะ เพราะว่า อันไหนผิดก็ไม่รู้ อันไหนถูกก็ยังไม่รู้ แล้วจะยกปัญญาหรือจิตนั้น ขึ้นสู่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิต่อไปที่ถูกต้องได้อย่างไร? นี่ขอให้เข้าใจเหตุผลให้แน่นอนอย่างนี้

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะเข้าถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ ปัญญานี้ หรือปัญญาที่ชื่อว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้น่ะ คือ ปัญญาที่รู้ว่าอารมณ์นี้ใช่ทางที่ถูกหรือไม่ใช่ นี่! ปัญญานี้ต้องเกิดขึ้นก่อน

ถ้าปัญญานี้ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่สามารถจะตัดสินชี้ขาดได้ วิสุทธินี้ยังเข้าไม่ถึง ยังเกิดขึ้นไม่ได้

เมื่อวิสุทธิอันนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิก็เกิดขึ้นไม่ได้ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเกิดขึ้นไม่ได้ ญาณทัสสนวิสุทธิเกิดแจ้งอริยสัจ ๔ นั้นไม่มีหวังไม่ได้เลย เพราะวิสุทธิแต่ละอันๆ จะต้องเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ได้วิสุทธิอันนี้แล้ว ต่อไปจะต้องเข้าถึงวิสุทธิอันนั้น วิสุทธิอันนั้นที่เป็นผล ก็ต้องมาจากวิสุทธิอันนี้ ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

นี่แหละปัญญาที่รู้อย่างนี้แหละค่ะ ถึงจะเข้าถึงวิสุทธิได้ ปัญญานี้แหละที่เข้าถึงวิสุทธิ เพราะรู้อย่างนี้ ความรู้ว่า อันไหนเข้า อันไหนไม่เข้า ถูกต้องนะคะ ไม่ใช่เข้าใจผิดนะ ความรู้ตรงนี้นิดเดียว ถ้าพูดแค่ความหมายเท่านี้ ก็จบแล้ว ถึงวิสุทธิแล้ว แต่ว่าทำอย่างไร จึงจะรู้ได้จนเข้าถึงวิสุทธิ อันนี้ก็จะต้องมีเหตุว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้ได้ จึงจะเข้าถึงวิสุทธิอย่างนี้ เช่น คำว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เราจะได้มาจากไหน? นี่ก็ต้องรู้เหตุ ไม่ใช่นึกเอา อยากได้ นึกอยากได้มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิแล้ว มันจะเกิดขึ้นเองนั้นไม่ได้ ต้องมีเหตุให้เกิด

แต่ว่า จะพูดเฉพาะตัววิสุทธิแท้ๆ ก็คือรู้อย่างนี้ใช่ทาง อย่างนี้ไม่ใช่ทางที่แน่นอนเท่านั้นเอง

ปัญญานี้นิดเดียวเท่านั้น แต่ว่า ใช่ทางน่ะอะไร? ท่านบอกไว้แค่นี้ ไม่ใช่ทางน่ะ อะไร? เราก็ต้องเข้าใจนี่เสียก่อน แล้วเราถึงจะรู้ว่า อันนั้นใช่ทางหรือไม่ใช่ทางนะคะ ให้รู้นิดเดียวเท่านั้นเอง ถ้าจะพูดละก็นิดเดียวเท่านั้นนะคะ

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะเรียนหรือจะฟังธรรมะให้เข้าใจดี ท่านก็คงจะรู้ว่า ตรงไหนที่ท่านยังไม่เข้าใจดี นี่ดิฉันเตือนเสมอ เตือนเสมอว่าให้เรียนตรงไม่เข้าใจ ที่ตรงไหนเข้าใจ ให้เรียนตรงนั้น

เพราะฉะนั้น ให้ไปหาที่ตัวไม่เข้าใจน่ะ ไปหามา ที่ตรงไหนไม่เข้าใจนั่นแหละ เป็นครู มันจะทำให้ท่านรู้ ใช่ไหมคะ? ปัญญาที่รู้ว่า ไม่เข้าใจนั่นแหละ จะเป็นเหตุทำให้ความเข้าใจเกิดขึ้น ไม่ต้องหรอก ไม่ต้องเรียนอื่น เอาเถอะ เรียนให้รู้ว่าที่ตรงไหนไม่เข้าใจ นี่แหละ แล้วก็มาทำความเข้าใจ ถ้าเรียนอย่างนี้แล้ว มีหวังได้ผลดีทีเดียว ทั้งความเข้าใจตลอด แล้วก็ง่ายด้วย สะดวกด้วย

ถ้ายังหาที่ไม่เข้าใจใม่ได้ละก็ ไม่มีหวังเลย ที่จะเข้าใจดี ให้เรียนรู้ไปเถอะ กี่จบพระไตรปิฎก ด้วยความจำได้เท่านั้นเอง ควรจะรู้ว่า ที่ตรงไหนที่ท่านยังไม่เข้าใจดี หรือยังไม่รู้ ท่านจงพยายามในสิ่งนั้น ที่ท่านไม่รู้ ความพยายามหาความไม่รู้ของท่านว่า “ท่านไม่รู้อะไร?” ท่านไม่เข้าใจตรงไหน? ไม่รู้คำไหน?  ถ้าท่านเจอความไม่รู้ของท่านอย่างนี้มากๆ แล้ว ความไม่รู้ของท่านจะหมดไป และความเข้าใจจะเกิดขั้นมาแทน แปลว่า พอพบความไม่รู้มากเท่าไร ท่านก็จะได้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นเหมือนกัน

ถ้าไม่เจอะเลย ไม่รู้อะไร ก็ไม่รู้ สมมุติว่ายังงี้ แปลว่า ความเข้าใจก็ไม่มีเหมือนกัน ก็เกิดไม่ได้ ก็เพราะว่า ไม่รู้ว่า ไม่เข้าใจตรงไหน? แล้วจะเกิดได้อย่างไร? แล้วทำไมถึงจะทำให้ความไม่เข้าใจตรงนั้นหมดไปได้ ใช่ไหมคะ ทำให้ความรู้นั้นเกิดขึ้นมาทำลายสิ่งที่ไม่รู้นั้นหมดไปได้

จะมีความรู้เพิ่มขึ้นมากขึ้น ถ้ารู้ว่า ไม่เข้าใจแค่ไหน ปัญญาก็จะเกิดมากขึ้นแค่นั้น ถ้าไม่เจอ ก็จะไม่รู้เลย เพราะไม่รู้ว่า อะไรที่ไม่รู้? อย่างนี้จะหาความเข้าใจได้ยาก

โดยมากที่ไม่รู้ว่าตัวไม่เข้าใจนี้น่ะ นึกว่าตัวเข้าใจ แปลว่า หาที่ตัวไม่เข้าใจน่ะ ไม่ได้ใช่ไหม? หาไม่เจอะนี่ เมื่อหาไม่เจอะนั่นแหละ ก็นึกว่า ตัวนั่นเข้าใจดีแล้ว ตรงสอนที่ไม่เข้าใจน่ะ ไม่รู้ เรื่องมันเป็นอย่างนั้น โดยมากน่ะ ท่านพวกนี้ จะนึกว่า ตัวเข้าใจดีทั้งนั้น เพราะที่ตัวไม่เข้าใจ ตัวไม่เจอะนี่ ตัวไม่รู้นี่ ก็นึกว่า ตัวเข้าใจดีทั้งนั้นแหละ

เพราะฉะนั้น เราสังเกตง่ายจะตายไปค่ะ คนจะมีปัญญาแค่ไหน หรืออะไรนี่ ฟังคำถามพักเดียวเราก็รู้แล้วว่า เขาเข้าใจหรือไม่เข้าใจ

นี่ถ้าไม่เจอ ก็เป็นอันว่า ไม่รู้เลยนะคะ เพราะไม่รู้ว่า ที่ไม่รู้อย่างนี้ ก็จะหาความเข้าใจได้ยาก เพราะจะต้องรู้เสียก่อนว่า ไม่เข้าใจตรงไหน? จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจตรงนั้นได้

บัดนี้ ก็เห็นสมควร ที่จะให้โอกาสแก่ผู้ที่ต้องการจะถามได้แล้ว จึงขอยุติเพียงแค่นี้

 

สวัสดีค่ะ