**ปฏิปทาญาณทัสสนาวิปสุทธิ(ตอนที่ ๓)
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ(ตอนที่๓)
โดย
อาจารย์แนบ มหานีรานนท์
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
สวัสดีค่ะ ท่านที่เคารพ
ต่อไปนี้ก็จะได้นำท่านไปทำความเข้าใจในการที่ภังคญาณจะเป็นปัจจัยแก่ภยญาณวิสุทธิ เมื่อภังคญาณได้ทำลายตัณหาและทิฏฐิ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดขึ้นปิดบังมิให้ความจริงในอารมณ์ของปัญญานั้น หรือเป็นเครื่องกีดขวางฉุดลาก หน่วงเหนี่ยว มิให้เราดำเนินไปถึงความพ้นทุกข์ได้นั้น กิเลสอันนี้ ก็ถูกกำราบไปแล้วในขณะนั้น ใครเป็นคนกำราบ
ปัญญาในภังคญาณนั่นแหละ กำราบกิเลสข่มขู่กิเลสไม่ให้เกิดขึ้นมาทำการขัดขวางอารมณ์ในที่นั้นได้ คือในอารมณ์ของปัญญาอันนั้นได้ จึงไม่สามารถเกิดขึ้นขัดขวางในอารมณ์ของปัญญาในภังคญาณนั้นได้แล้ว เพราะปัญญาในภังคญาณนั้นได้เข้าถึงวิสุทธิแล้ว ถ้ากิเลสเกิดขึ้นไม่ได้ในที่นั้น อาศัยไม่ได้ในที่นั้นแล้ว ปัญญานั้นจึงเรียกว่าวิสุทธิ เข้าถึงวิสุทธิ เข้าถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินะคะ เป็นข้อปฏิบัติที่บริสุทธิ์นะคะ ซึ่งเวลานั้นน่ะ หมดจดจากตัณหาและทิฏฐิแล้ว ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ดังความในพระบาลีมหาสติปัฏฐานว่า
อนิสฺสิโต จ วิหรติ ซึ่งแปลว่า ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว อันนี้ หมายถึงปัญญาในที่นั้น ปราศจากเครื่องขัดขวางแล้ว ฉะนั้น จึงไม่เป็นการยากอะไร ในการที่ปัญญาในภังคญาณนั้นจะเจริญต่อไปให้เข้าถึงภยญาณนั้น ก็เพราะเหตุว่า ปัญญาในภังคญาณนั้น ได้พิจารณาเห็นความแตกดับของสังขารทั้งหลาย ที่ตนพิจารณาอยู่นั้นโดยชัดเจนและมากมายอยู่เสมอเช่นนั้นแล้ว ปัญญาที่อาศัยเห็นความดับเป็นอารมณ์อยู่นั้นเอง ปัญญานั้นก็จะหาใช่ว่าจะรับแต่เพียงเห็นแต่ความแตกทำลายของสังขารเท่านั้นไม่ หาใช่เห็นความจริงเพียงแค่นั้นนะคะ ความรู้สึกในที่นั้น หรือความรู้สึกแตกทำลาย ก็ยังได้ทำลายความยินดีในสังขารทั้งหลาย ที่เป็นไปในภพต่างๆ ก็ตั้งอยู่ในความแตกสลาย และทำลายความยินดีในขันธ์ทั้งหลาย ที่เข้าใจว่า เป็นของเที่ยง เป็นของที่น่ายินดี น่ารัก ดังกับมิตรที่ดี หรือเป็นไปเพื่อเกื้อกูลประโยชน์แก่ตนนั้นไม่มี เพราะการที่เข้าเห็นความดับนั้น ไม่ใช่จะเห็นโทษ หรือเห็นภัยแต่เพียงความดับเท่านั้น ทีแรกก็เห็นอย่างนั้นจริง แต่เมื่อพิจารณาไป ท่านก็รู้โทษ เพราะเห็นโทษของสังขารทั้งหลายที่แตกทำลายไปนี้เอง เข้าไปรู้โทษในความเกิดขึ้นของสังขาร ว่าสังขารทั้งหลายที่ต้องแตกทำลายน่ะ มาจากไหน อะไรเป็นเหตุ ท่านก็รู้ว่าความเกิดนี่แหละ เป็นเหตุ ถ้าไม่มีความเกิดแล้ว ความแตกทำลายของสังขารก็จะไม่มี เพราะฉะนั้น ความแตกความทำลายของสังขารนี่แหละ เป็นของไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไม่น่ายินดี ความเห็นอย่างนี้แหละ ท่านก็หยั่งลงไปถึงเหตุด้วยว่า การที่ต้องแตกทำลายนี้ มาจากไหน เพราะมาจากความเกิดนั่นเอง ท่านก็ไม่ใช่เห็นแต่เพียงเฉพาะแตกทำลายอย่างเดียวนะ ปัญญานั้นก็จะเอื้อมไปถึง เหตุที่จะต้องแตกทำลายด้วย และเห็นโทษของเหตุนั้นด้วย เหมือนกับพิจารณาทุกข์ แล้วก็จะรู้ว่า ทุกข์มาจากไหน มาจากตัณหา ก็ไปเห็นโทษของตัณหาด้วยที่ทำให้เกิดทุกข์ ก็อย่างเดียวกัน เพราะว่า ทุกอย่างก็ต้องมีเหตุผลทั้งนั้นนะคะ เป็นความเห็นที่เป็นไปในสังสารทุกข์นั้นน่ะ ที่เป็นไปในภพต่างๆ นั้น ก็รู้สึกว่า ไม่ใช่เป็นความสุข เป็นความรู้สึกอย่างนั้น ถึงแม้จะตั้งอยู่ในภพต่างๆ นั้น ก็ยังต้องถูกทำลายลงไปนะคะ ที่เห็นว่า ความสุขในภพต่างๆ นั้น มีอยู่เช่นเราเข้าใจว่า นรกนี่น่ะ เป็นทุกข์ มนุษย์เป็นสุข แต่สวรรค์ก็ยังเป็นสุขกว่า บางท่านก็เห็นว่า สวรรค์ก็ยังสู้พรหมไม่ได้ ที่ตั้งอยู่ในภพภูมิของพรหมนั้นน่ะ เป็นสุขกว่าในสวรรค์ ในอรูปพรหมก็ยังเป็นสุขกว่ารูปพรหม เข้าใจอย่างนี้แล้ว จึงทำความเพียรเพื่อเป็นอยู่อย่างนั้น ทำความเพียรเป็นเหตุเพื่อให้ได้รับผลอย่างนั้น เพราะเห็นเป็นความสุข เห็นเป็นความดี น่ายินดีในภพต่างๆ นั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่เกิดวิปัสสนาเข้าไปเห็นความจริงนะคะ
สำหรับผู้เข้าถึงวิปัสสนาเพียงภังคญาณเท่านั้นนะคะ ความรู้สึกความยินดี ในภพต่างๆ นั้นก็ถูกทำลาย การเห็นว่าดี เห็นว่าเป็นสุขในภพต่างๆ ใน ๓๑ ภูมินี้น่ะ หรือ ๒๗ ภูมิ (เว้นอบายภูมิ) ตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไป ก็เห็นว่า ยังเป็นความสุขอยู่ ยังปรารถนาอยู่ คือความรู้สึกอย่างนั้นน่ะ ก็ถูกทำลายลงไปพร้อมกับปัญญาที่เห็นความทำลายของสังขารทั้งหลายในภังคญาณนั้นเอง ปัญญาที่เห็นโทษในสุขคือ วิปลาสนี่แหละเกิดขึ้น ความเข้าใจอย่างนี้น่ะ พอเข้าไปเห็นสังขารดับไป ทำลายไป ความเข้าใจอันนั้นแหละ ก็ดับไปตามสังขารนั้นด้วย พอเห็นความดับของสังขารแล้ว ความเข้าใจว่า เที่ยง ความเข้าใจว่า เป็นสุข ก็สลายไป ดับไปพร้อมกับการเห็นความดับของสังขารในภังคญาณนั้นด้วย
เมื่อความรู้ดังกล่าวได้ถูกทำลายไปในภังคญาณนั้นแล้ว ความรู้สึกที่ตรงกันข้ามที่เห็นว่า สังขารทั้งหลายเหล่านั้นเป็นภัยน่ากลัว เห็นว่าเป็นภัย เพราะนำมาซึ่งภัย หรือนำเข้าหาภัย คือ ความทำลายนั่นเอง ก็เมื่อเห็นว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เป็นที่น่ายินดี ไม่มีสาระ เป็นไปเพื่อทุกข์ คือ ต้องแตกทำลาย คล้ายๆ ว่า จะต้องถูกบีบคั้นให้แตก ให้ทำลายไปเหมือนกัน เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ท่านก็รู้สึกน่ากลัว ความรู้สึกน่ากลัวในภยญาณนั้น เพราะว่า ได้อารมณ์มาจากภังคญาณนั้นเอง ได้มาจากเห็นความดับมากมายอยู่เสมอนั่นแหละ ก็รู้สึกน่ากลัว ความรู้สึกนี้นะ เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยปัจจัยอันนั้นมา คือ รู้สึกว่า น่ากลัว เพราะนำมาซึ่งภัย หรือนำเข้าไปหาภัย คือ ความทำลายนั้นเอง อุปมาเหมือนสังขารทั้งหลายนั้น ประดุจเสือโคร่ง หรือจระเข้ คือว่า เป็นภัยทั้งนั้น สังขารทั้งหลายนั้น ท่านเห็นเหมือนเสือโคร่ง หรือจระเข้ หรือยักษ์ขิณี ที่คอยทำร้ายชีวิตให้สิ้นไปอยู่เสมอ สัตว์พวกนี้น่ะ น่ากลัว น่ากลัวอย่างไร น่ากลัวว่า มันจะต้องทำให้เราตายใช่ไหม สัตว์อันใดที่ไม่ทำให้เราตาย เราก็ไม่กลัว แต่ว่า สัตว์พวกนี้น่ะ ต้องทำลายชีวิต เพราะฉะนั้น จึงน่ากลัว ที่ท่านเห็นสังขารเหมือนกับสัตว์พวกนี้ เพราะอะไร ทำให้แตกให้ทำลายอยู่เรื่อยเชียว นี่แหละ เห็นเหมือนอย่างนั้นนะคะ ทำลายชีวิตให้สิ้นไปอยู่เสมอ คือตัวสังขารนี่แหละ ไม่ใช่ว่า เสือจะมาทำลายชีวิต เราน่ะ ไม่เห็นว่าสังขารมันทำลายอยู่เสมอ มันแตกอยู่เสมอ เราก็ไม่เห็น นอกจากจะไปเห็นเสือ เห็นจระเข้ เห็นงู ก็ถึงจะรู้ว่า เออ! สัตว์พวกนี้น่ะ มันจะมาทำให้เราตาย มันจะทำสังขารของเราฉิบหายไปนี่ นานๆ จะเห็นสักที อย่างนี้ใช่ไหม นั่นแหละ ถึงจะน่ากลัว แต่ท่านน่ะ เห็นอยู่เสมอ ไม่ต้องมีเสือ มีจระเข้ ท่านก็เห็นว่า สังขารทั้งหลาย มันแตกทำลาย ท่านจึงอุปมาว่า สังขารเป็นภัยเหมือนเสือ จระเข้ ยักษ์ที่จะมาคอยกินคน ทำลายชีวิตให้สิ้นไปอยู่เสมอ ขึ้นชื่อว่า เบญจขันธ์นั้น จะไม่มีโทษ ไม่มีทุกข์ หรือไม่ฆ่า ไม่ฟันนั้น ไม่มีเลย มีแต่จะทำให้แตกทำลายในที่สุดคล้ายๆ กับผู้ร้าย ที่คอยจะฆ่าฟันอยู่เรื่อย ท่านจึงอุปมาว่าเบญจขันธ์เหมือนกับเพชฌฆาต ผู้ใดได้แล้วซึ่งเบญจขันธ์ ผู้นั้นก็เข้าถึงแล้วซึ่งเพชฌฆาตนั้น เหมือนกำลังเงื้อดาบอยู่แล้ว จะลงดาบเมื่อไร ตายเมื่อนั้น คอยเงื้อ คอยจะฟันอยู่เรื่อย เงื้อดาบจะฟันอยู่แล้ว แต่จะลงดาบเมื่อไรเท่านั้น แต่ต้องลงแน่ ยังไงก็ต้องตายแน่ ต้องดับแน่
โดยเหตุนี้ บัณฑิตทั้งหลาย ท่านจึงไม่พยายามประกอบไว้ด้วยความประมาท เพราะเห็นว่า ขันธ์ของท่านที่ตั้งอยู่ในเวลานี้ ก็เท่ากับที่ตั้งอยู่ในระหว่างที่เพชฌฆาตเงื้อดาบอยู่แล้ว อยู่ในระหว่างที่ยังไม่ลงดาบเท่านั้น นี่ดูซิ ผิดกันตั้งเท่าไหร่ ของเรานี่ ห้าสิบปี หกสิบปี ก็ยังไม่ตายเลย คอยนึกอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป เรื่องตายไม่ต้องนึกกันเลย ชีวิตสังขารของท่าน เวลานี้อยู่ในระหว่างที่เพชฌฆาตเงื้อดาบแล้ว แต่ยังไม่ลงเท่านั้นเอง นี่เห็นไหม แล้วอย่างนี้น่ะ ท่านจะไปยินดีอะไรในระหว่างนั้น คิดดูซิ แล้วท่านจะไปประมาทได้อย่างไร ไม่ควรประมาทแล้วในระหว่างนั้น มันแน่นอนแล้วที่จะต้องตาย เบญจขันธ์ก็แน่นอนแล้วที่จะต้องดับ อยู่ในระหว่างที่จะลงดาบเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะประกอบความประมาทในระหว่างนั้น ท่านเห็นว่า ควรแท้ที่จะอยู่ในความไม่ประมาท ระหว่างที่มีชีวิตอยู่นั้น
แต่สำหรับพวกเราทั้งหลาย ที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ ก็เท่ากับอยู่ในระหว่างที่เพชฌฆาตเงื้อดาบแล้วนั่นเอง แต่ยังไม่ลงดาบเท่านั้น นี่น่ะพวกเรานี่แหละ ที่นั่งกันอยู่นี่น่ะ เขายังไม่ลงดาบหรอก แต่ว่าเขาเงื้อแล้วละ เขายังไม่ได้ฟันเท่านั้นเองนะ แต่ทำไมเล่า เราจึงไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น ทำไมไม่มีความรู้สึก เหมือนอย่างท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนา เข้าไปเห็น ก็เพราะว่า เรายังไม่เข้าไปถึงเหตุที่จะให้เกิดผลเช่นนั้น นึกเอาก็ไม่ได้นะ เอ้า ลองนึกดู อ๋อ! เวลานี้เรายังอยู่ในระหว่างเพชฌฆาตเงื้อดาบ เอ้า นึกเถอะ นึกไปมันก็ไม่ดิ้นรน มันก็ไม่แปลกอะไรกับที่ยังไม่นึก เพราะเรายังไม่เข้าถึงเหตุ ที่จะให้เกิดผลเช่นนั้น ที่เพียรปะกอบไว้เพื่อความไม่ประมาท ไม่ประกอบด้วยความประมาทเพราะเห็นว่า ขันธ์ของท่านที่ตั้งอยู่ในเวลานี้ ก็เท่ากับเพชฌฆาตเงื้อดาบอยู่แล้ว อยู่ในระหว่างที่ยังไม่ลงดาบเท่านั้น นี่เห็นไหมผิดกันไหมกับเรา เวลานี้ชีวิตของท่านอยู่ในระหว่างที่เพชฌฆาตเงื้อดาบแล้วเท่านั้นเอง แล้วอย่างนี้น่ะ ท่านจะไปยินดีอะไรระหว่างนั้น แล้วท่านจะประมาทได้อย่างไร ไม่ควรจะประมาทแล้วในระหว่างนั้น ใช่ไหมคะ มันแน่นอนแล้ว ที่จะต้องตายน่ะเบญจขันธ์ก็แน่นอนแล้ว ที่จะต้องดับ จึงไม่ควรที่จะประกอบความประมาทในระหว่างนั้น ท่านเห็นว่า ควรแท้ที่จะอยู่ในความไม่ประมาท ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่นั้น แต่สำหรับพวกเราเล่า ความจริงแล้วพวกเราทั้งหลายในเวลานี้ ที่มีชีวิตอยู่ก็เท่ากับอยู่ในระหว่างที่เพชฌฆาตเงื้อดาบแล้วนั่นเอง แต่ยังไม่ลงดาบเท่านั้น แต่ทำไมเล่า เราจึงไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น ก็เพราะว่า เรายังไม่เข้าถึงเหตุที่จะทำให้เกิดผลเช่นนั้น เพราะความรู้อย่างนั้น จะต้องได้มาจากเหตุ คือ วิปัสสนาปัญญา คือ ปัญญาที่จะเข้าถึงภยญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๕ เรายังไม่เข้าถึงอย่างนั้น ความรู้สึกอย่างท่าน จึงไม่มี ความรู้สึกอย่างนี้แหละจะมีกิเลสหรือไม่มีกิเลส ก็อยู่ที่ความรู้สึกของเรา ญาณขั้นที่ ๕ ซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นจากภาวนาปัญญา ไม่ใช่จินตามยปัญญาคือคิดเอานะคะ หรือไม่ใช่ฟังแล้วก็รู้เข้าใจ ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ความรู้อย่างที่ว่านี้ มิได้มาจากสุตมยปัญญา คือ ความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการฟัง และปัญญาที่เกิดขึ้นจากการคิดเอา นึกเอาเองนั้นไม่ได้ หรือจะเกิดขึ้นจากการประสิทธิประสาทของใครก็ไม่ได้ทั้งนั้น จะเกิดขึ้นตามเหตุตามผลเท่านั้น และเหตุผลนั้นก็จะต้องเกิดขึ้นตามลำดับเหมือนกัน จะเกิดโดยสับสน ข้ามเหตุข้ามผลกันก็ไม่ได้ ฉะนั้น พวกที่ยังไม่เข้าถึงเหตุนั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากเหตุนั้น จึงยังไม่มี เพราะการเป็นพระอริยบุคคลนั้น จะเป็นด้วยการคิดเอา นึกเอาไม่ได้ ถ้าเป็นได้ เราจะต้องไปทำวิปัสสนากันทำไม ถ้าหากจะตั้งคำถามว่า ทำไมเราจะคิดนึกเอาเองไม่ได้หรือ ก็ขอตอบว่า ได้ แต่ว่าเป็นจริงๆ ไม่ได้ อุปมาเหมือนเราหิวข้าว แต่ยังไม่มีอาหารที่จะกินแต่เราก็คิดกินเอาเอง แล้วความหิวนั้นแหละจะหายไปได้หรือ หรือว่า เราคิดให้มันหาย ความหิวนั้นก็จะหายไปตามความคิดของเราได้หรือ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เป็นแน่ เพราะตามธรรมดาของเหตุผลนั้น เมื่อความหิวเกิดขึ้นแล้วก็ต้องการกำจัดความหิวนั้นให้หมดไป ก็จะต้องให้ความอิ่มเกิดขึ้นก่อนใช่ไหม เมื่อความอิ่มเกิดขึ้นแล้ว ความอิ่มนั้นเอง ก็จะกำจัดความหิวโหยให้หมดไป นี่ตามธรรมดาของเหตุผลนะคะ แต่เหตุที่จะให้ความอิ่มเกิดขึ้นนั้น มิใช่จะเกิดขึ้นด้วยคิดอิ่มเองนั้นไม่ได้ เพราะความอิ่มนั้นจะต้องเกิดจากเหตุที่เรากินอาหารเข้าไป แล้วอาหารนั้นแหละ จะเป็นเหตุให้เกิดความอิ่มขึ้น ไม่ใช่คิดอิ่มเอาได้ ก็เมื่อความอิ่มเกิดขึ้นแล้ว ความอิ่มนั้นแหละ จึงจะกำจัดความหิวนั้นให้หมดไปได้ มิใช่จะหมดไปได้ด้วยการคิดเอา นึกเอาเอง เพราะธรรมทั้งหลายนั้น ก็ต้องเกิดตามเหตุ ตามปัจจัยของตนๆ
ฉะนั้น พวกเราที่เป็นนักศึกษาในพุทธศาสนานี้ ก็ใช่ว่าจะศึกษาเอาไปทำอะไรกัน จุดมุ่งหมายในการศึกษา ก็เพื่อจะให้รู้ในเหตุผลที่ถูกต้องเท่านั้น คือจะให้รู้ว่าเหตุอย่างนั้น จะต้องให้เกิดผลอย่างนั้น แล้วให้ผลอย่างนั้น จะต้องมาจากเหตุอย่างนั้น เมื่อเข้าใจถูกต้องแล้ว ทีนี้เราจะต้องการผลอย่างไหนล่ะ เราก็จะต้องกระทำเหตุแห่งผลนั้นให้เกิดขึ้น เราต้องการพ้นทุกข์ ต้องการทำวิปัสสนา แต่ว่า ไปทำสมถะ จะได้ไหม? ไม่ได้! อยากจะไปนิพพาน ต้องพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ใช่ไหมคะ? บางพวกก็ถือศีลอย่างเดียว ก็คิดว่า ไปนิพพานได้ บางทีก็ทำสมาธิอย่างเดียว ทำไปๆ แล้ว มันก็เกิดปัญญาโผล่ขึ้นมาเอง คล้ายๆ กับว่า จะปลูกมะม่วงอย่างเดียว แล้วพอออกลูก ก็จะกลายเป็นทุเรียนขึ้นมาเอง ซึ่งเหตุผลน่ะ ไม่ตรงกันใช่ไหมคะ เมื่อสร้างเหตุไม่ตรง ผลนั้นก็เกิดไม่ได้ ไม่ตรงกับผลที่เราต้องการ ถ้าไม่เข้าใจในเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว ก็คงจะไม่มีหวังเลย ที่จะทำได้
โดยเหตุผลดังนี้แหละ พวกเราทั้งหลายจึงมีการศึกษา ถึงแม้ว่า พวกที่เป็นพระอรหันต์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้านั้น ก็ไม่มีใครที่จะรู้ธรรมหรือสำเร็จโดยไม่ต้องศึกษานั้น ไม่มีเลย นอกจากพระพุทธเจ้าแล้ว จะต้องมีการศึกษาทั้งนั้น จะมากหรือน้อยเท่านั้น บางองค์ก็ศึกษามาก จึงจะเข้าใจ บางองค์ก็ศึกษาแต่น้อย แล้วแต่ปัญญาบารมี แต่ก็ต้องมีทุกองค์ แต่ขอให้เข้าใจไว้อีกข้องหนึ่งด้วยว่า ความสำเร็จนั้น ไม่ใช่ปริยัติ แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็ต้องปริยัติเป็นเหตุ เพราะในพุทธศาสนานี้ จะมีแต่เพียงรู้อย่างเดียวไม่ได้ กิจที่สมบูรณ์ในพุทธศาสนา จะมีแต่เพียงกิจรู้อย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีให้ครบทั้ง ๔ อย่าง คือ :-
๑. จะต้องมีกิจรู้
๒. จะต้องมีกิจละ
๓. จะต้องมีกิจทำให้แจ้ง
๔. จะต้องมีกิจที่จะเจริญให้เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น จะต้องสมบูรณ์ด้วยกิจ ๔ อย่าง ถึงเข้าใจดีนะคะ ถ้าจะเข้าถึงพระอริยะได้ ก็จะต้องทำกิจให้ครบ ๔ อย่างนี้ ถ้ายังไม่ครบก็เป็นพระอริยะไม่ได้ แต่ในกิจทั้ง ๔ นี้ จะสำเร็จสมบูรณ์ได้นั้นก็อยู่ในธุระ ๒ ประการ กิจทั้ง ๔ นี่น่ะ ก็ประกอบด้วยธุระ ๒ ประการ คือ คันถะธุระและวิปัสสนาธุระ ๒ อย่างนี้เท่านั้น เดี๋ยวนี้ก็ลำบากนะคะ ธุระอย่างนี้ไม่ค่อยมี มีแต่คนละอย่าง ๒ อย่าง คือ คนนั้นก็เอาไปอย่าง คนนี้ก็เอาไปอย่าง ถ้าธุระทั้ง ๒ นี้ไม่มี หรือแม้จะมีแต่ไม่สมบูรณ์ หรือขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่มีหวังที่จะพบพระรัตนตรัยได้เลย ถ้ายังไม่ได้พบพระรัตนตรัยอันแท้จริง เพราะพระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ก็ด้วยธุระทั้ง ๒ นี้ ยังมีอยู่ ถ้าไม่มีแม้แต่อันใดอันหนึ่ง พระพุทธศาสนาก็ต้องหมดไปเช่นเดียวกัน มีไม่ได้เหมือนกัน เราจะมีแต่ศึกษาอย่างเดียวน่ะ ในเวลานี้ที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้ ต้องมีวิปัสสนาธุระด้วยนะคะ หรือมีวิปัสสนาธุระอย่างเดียวก็ยากนักที่จะทำได้ถูก แต่เข้าใจเอาเองว่า ทำวิปัสสนาก็ได้ แต่จะถูกต้องตามวิปัสสนาของท่านหรือไม่ ต้องมีคันถธุระ ต้องมีการศึกษาด้วย
ฉะนั้น พวกเราที่ได้พยายามศึกษาเล่าเรียนกันอยู่ในเวลานี้ ก็ชื่อว่า ได้ทำกิจในพระพุทธศาสนาไว้อย่างหนึ่งแล้ว ซึ่งได้แก่ คันถธุระ ที่เรากำลังศึกษากันอยู่นี้นะคะ ชื่อว่า เราตั้งอยู่ในธุระของพระพุทธศาสนา คือคันถธุระ หรือการศึกษาเล่าเรียนในพุทธวัจนะ ตามที่ได้แสดงไว้ในพระไตรปิฏกนั้น ให้ถูกต้องด้วยเหตุผล และในเวลานี้ก็กำลังศึกษากันอยู่ ถึงเรื่องของวิปัสสนา แต่ยังไม่ใช่วิปัสสนาธุระ เพียงแต่ศึกษาอยู่ว่า วิปัสสนาธุระนั้น จะทำอย่างไร? ยังไม่ใช่วิปัสสนาธุระ เพราะยังไม่ได้ทำวิปัสสนา ถ้าลงมือเจริญวิปัสสนาเมื่อไร เมื่อนั้น จึงเรียกว่าวิปัสสนาธุระได้ แปลว่า ได้ทำงานแล้ว ได้ทำธุระในเรื่องของวิปัสสนานี่แล้ว เวลานี้ยังอยู่ในคันถธุระ คือศึกษา แต่ว่าศึกษาเรื่องวิปัสสนาธุระเพื่อจะให้รู้ว่า วิปัสสนาธุระนั้น จะต้องทำอย่างไร และเมื่อทำไปแล้ว จะต้องรู้อย่างไร จึงจะถูก เราศึกษากันอยู่เพียงขั้นนี้นะคะ และเวลานี้ก็ได้ศึกษากันมาถึงวิปัสสนาขั้นที่ ๖ คือ ภยญาณ ซึ่งเป็นปัญญาที่เห็นความจริง ในสังขตธรรมทั้งหลายว่าเป็นภัย ความรู้สึกอย่างนี้ ก็เป็นผลที่ได้จากภังคญาณ คือเห็นความแตกความทำลายนั่นเอง ที่เข้าไปพิจารณาเห็นความดับของสังขารในภังคญาณนั้นเอง แล้วต่อไปนี้ก็จะได้ศึกษากันต่อไป เพื่อจะได้เข้าใจว่า ภยญาณนั้นจะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงวิปัสสนาขั้นที่ ๗ ที่ชื่อว่าอาทีนวญาณต่อไป แต่ที่จริง อาทีนวญาณที่ ๗ จะเกิดขึ้นอย่างไรนั้น ก็คงจะไม่เป็นความยากอะไรที่จะเข้าใจเหตุผลของอาทีนวญาณนี้ ถ้าหากว่า ท่านไม่ลืมเสียว่าภยญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๖ นั้นน่ะ เห็นสังขาร คือ นามรูปทั้งหลายเป็นภัย ญาณที่ ๖ เห็นว่า เป็นภัยแล้วก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จะต้องเห็นว่า เป็นโทษ ในอาทีนวญาณ ซึ่งเป็นญาณที่ ๗ ต่อจากภยญาณ นี่เป็นธรรมดาของกิจ ของเหตุผล ของความรู้ ของปัญญา จะต้องเดินไปตามนี้ เมื่อเข้าไปเห็นความแตกทำลายเป็นภัยอยู่แล้ว ความรู้สึกว่า สังขารเป็นคุณจะเกิดขึ้นไม่ได้ในที่นั้น เมื่อความเป็นคุณเกิดขึ้นไม่ได้แล้วจะเกิดอะไร ก็ต้องเห็นเป็นโทษ ใช่ไหมคะ อันนี้ก็เป็นกฎธรรมดาของเหตุผลนั่นเอง ที่จะต้องให้มีความรู้สึกเป็นไปตามนั้น เพราะผลทั้งหลาย ก็ย่อมไหลไปตามเหตุ เพราะเมื่อเหตุ มีความรู้สึกว่าเป็นภัยแล้ว ความรู้สึกที่เกิดจากเหตุนั้น ก็ต้องรู้สึกว่าเป็นโทษ ตามเหตุนั้น จะทำให้เห็นว่า เป็นคุณในสิ่งที่เป็นภัยน่ะ ไม่ได้อยู่เองใช่ไหม เพราะผลทั้งหลายนั้นก็ต้องไหลไปตามเหตุของตนๆ นั้น เป็นกฎธรรมดา
ฉะนั้น การศึกษาของเรา ข้อสำคัญก็มีอยู่เพียงว่า ให้เข้าใจนำเอาเหตุผลนั้น มาติดต่อกันให้ถูกต้องเท่านั้น แต้ก็ควรจะเข้าใจไว้อีกข้อหนึ่งว่า เหตุผลมีอยู่ ๒ ประการ คือเหตุผลนั้นมีอยู่แล้ว เกิดอยู่แล้ว ตามกฎธรรมดา ซึ่งธรรมดาที่เรามีกันอยู่อย่างนี้น่ะ ของปุถุชนก็มีทุกอย่าง ในร่างกายเรานี่ หรืออารมณ์ต่างๆ นี่ก็เป็นกฎธรรมดา มีเหตุผลทั้งนั้น ทุกอย่าง แต่ว่าเมื่อเราได้พบแล้ว หรือมีอยู่กับเราแล้ว เราไม่สามารถจะรู้เข้าไปถึงเหตุผลของสิ่งนั้นๆ เท่านั้นเอง อันนี้ เรามีหน้าที่จะต้องเข้าไปกำหนดความจริงของเหตุผลนั้นๆ ให้ถูกต้องตามความจริงของเขาเท่านั้น อันนี้ก็เป็นประการหนึ่ง คือว่า เราไม่ต้องทำอะไร เมื่อสิ่งใดปรากฏขึ้นแล้วแก่เรา อันนั้นเราก็มีหน้าที่กำหนดรู้เหตุผลตามความเป็นจริงของเขา ไม่ต้องไปสร้าง ไม่ต้องไปทำอะไรขึ้น
ส่วนเหตุผลอีกประการหนึ่ง ไม่ใช่มีอยู่เองแล้วนะคะ ยังไม่มีอยู่ หรือยังไม่เกิดขึ้น เช่น เหตุผลในวิปัสสนาญาณนั้น เหตุผลอย่างนี้ จะต้องเกิดจากภาวนา เราจะต้องประกอบกรณียกิจเสียก่อน แล้วจึงมีขึ้นได้ เหตุผลอย่างนี้ต้องเจริญให้เกิดขึ้นเช่นอย่างว่า เรายังไม่มีวิปัสสนาน่ะ วิปัสสนาขั้นต้นเป็นเหตุ วิปัสสนาญาณขั้นต้นเป็นเหตุ วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒ เป็นผล ใช่ไหมคะ ขั้นที่ ๔ เป็นเหตุ ขั้นที่ ๕ เป็นผล ขั้นที่ ๕ เป็นเหตุ ขั้นที่ ๖ เป็นผล ขั้นที่ ๖ เป็นเหตุ ขั้นที่ ๗ เป็นผล เหมือนปฏิจสมุปบาท เป็นเหตุ เป็นผล แล้วก็เป็นเหตุ เป็นผล ติดต่อเนื่องกัน แต่ทีนี้เราจะนำเอาเหตุผลของวิปัสสนามาให้ติดต่อกันน่ะ ไม่ได้เพราะว่า เรายังไม่ได้เกิดวิปัสสนา เรายังไม่ได้เจริญวิปัสสนา
ฉะนั้น เหตุที่เกิดจากวิปัสสนาน่ะ เราจะไปเอามาจากไหน อันนี้ก็ไม่ได้เหมือนกันนะคะ เหตุผลบางอย่างมีอยู่แล้ว แต่ว่าเหตุผลบางอย่างต้องทำให้เกิดขึ้น ถึงจะมี เราจะต้องประกอบให้เกิดขึ้นเสียก่อน แล้วจะมีขึ้นได้ เหตุอย่างนี้ จะต้องประกอบให้เกิดขึ้น แต่ก็ขอให้เข้าใจในเหตุของการกระทำนั้นให้ถูกต้อง ยังไม่เกิดก็จริง แต่ให้รู้ว่าทำอย่างไร ผลนั้น จึงจะเกิดขึ้นได้ ขอให้ศึกษาแต่เพียงว่า จะทำอย่างไร ผลนั้น จึงจะเกิดขึ้นได้ ประกอบเหตุอย่างไร มนสิการอย่างไร กำหนดอย่างไร เอาอะไรมาทำ วัตถุอะไรถูกทำ ต้องประกอบพร้อมเข้าใจดีแล้ว ก็ลงมือทำ ถึงจะเกิดเหตุนั้น เราถึงจะมีเหตุนั้นใช้ได้นะคะ มิฉะนั้น ผลนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้
ก็เมื่อเราได้กระทำให้ถูกต้องสมบูรณ์ด้วย เหตุของวิปัสสนา และวิปัสสนานั้นก็จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลในขั้นต้น และผลในขั้นต้นนั้น คือนามรูปปริเฉทญาณ นี่คือวิปัสสนาขั้นต้น ที่เกิดขึ้นจากการที่เราประกอบกิจ เข้าใจเหตุผลนั้นโดยสมบูรณ์แล้ว นี่แหละ อันนี้ถึงจะเกิดเป็นผลขึ้นมา และเมื่ออันนี้ เกิดเป็นผลแล้ว ก็จะเป็นเหตุ ให้เกิดผลต่อไป
เมื่อเราได้วิปัสสนา คือนามรูปปริเฉทญาณที่ถูกต้องแล้ว นามรูปปริเฉทญาณนั้นเอง ก็จะเป็นเหตุให้เกิดผล คือวิปัสสนาขั้นต่อๆ ไป มีปัจจยปริคคหญาณ เป็นต้น และก็ต้องเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันตามลำดับไป จนถึงธรรมที่สุดของเหตุผลนั้น คือพระนิพพาน เมื่อถึงพระนิพพานแล้ว แปลว่า ธรรมที่สุดของเหตุผลนั้น เหตุผลที่จะต้องใช้ไปสิ้นสุดอยู่ที่พระนิพพาน คือพระนิพพานนั้น ก็เหตุ คือวิปัสสนานี้ ก็ต้องเป็นเหตุที่จะต้องให้เกิดขึ้นเสียก่อน แล้วเราจึงมีเหตุนั้นเอามาใช้เป็นประโยชน์ให้เกิดผลตามที่เราหวังนั้นได้
ที่อธิบายมาอย่างนี้ ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจ โดยแน่นอนว่า สิ่งหรือผลที่เราต้องการนั้น ความสำคัญในขั้นแรก ก็อยู่ตรงว่า จะต้องให้รู้ ให้เข้าใจให้ถูกเสียก่อนว่าอะไร และทำอย่างไร นี่แหละอันนี้เป็นความสำคัณขั้นแรกที่สุดของเราก่อนที่จะลงมือทำอะไรทุกอย่าง ที่ต้องการผลที่เกิดจากการกระทำนั้นให้ถูกต้อง เพราะเมื่อเข้าใจ และกระทำเหตุนั้นได้ถูกต้องแล้ว ผลทั้งหลายนั้นไม่ต้องคำนึง เพราะผลเหล่านั้นก็ต้องไหลไปตามเหตุนั้นเอง
อุปมาเหมือนกับเราจับไฟ ถึงไม่อยากร้อน ก็ต้องร้อนเอง เพราะความร้อนนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นจากเหตุ ไม่ใช่เกิดด้วยความต้องการของเรา ถ้าเราไม่ถูกไฟ ไม่มีไฟ ถึงจะต้องการความร้อนก็ไม่ได้ เราก็ไม่ได้ผลอย่างนั้น ไม่ใช่เกิดจากความต้องการของเรา
ก็เมื่อได้พูดมาถึงตรงนี้แล้ว ก็อยากจะถามว่า เมื่อรู้เหตุผลดังนี้แล้ว จะได้รับประโยชน์อะไร
ขออธิบายว่า ได้ประโยชน์มากที่สุด ได้อย่างไร ? คือ เราก็จะจำกัดความต้องการของเราให้พอดีเท่ากับเหตุนั้น คือว่าความต้องการของเรา ถึงแม้จะไปทำวิปัสสนา มันก็จะเกินจากเหตุจากผลนั้นเสมอเลย เหตุผลยังไม่ควรจะได้ถึงแค่นั้น ควรจะยังไม่รู้เท่านั้น แต่ว่า ความต้องการน่ะ มันต้องการล่วงหน้าแล้ว เช่นอย่างว่า เราน่ะ เวลานี้ได้แก่นามรูปปริจเฉทญาณเท่านั้น หรือนามรูปปริเฉทญาณที่เป็นเหตุให้เกิดอุทยัพพยญาณก็ยังไม่ได้ แต่ว่า ระหว่างเวลาที่ทำ เพื่อจะให้เกิดนามรูปปริเฉทญาณน่ะ มันไม่เกิดเพียงแค่นั้น กำลังกำหนดนี้น่ะ มันก้าวไปถึงอุทยัพพยญาณ เมื่อไรจะเห็นเกิด – ดับ เมื่อไรจะเห็นพระนิพพาน เมื่อไรจะถึงสังขารุเบกขาญาณ จิตใจใจมันล่วงหน้าไปอย่างนี้เสมอ เมื่อเรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายจะต้องเกิดจากเหตุ เหตุที่จะให้เข้าถึงอุทยัพพยญาณนั้นน่ะ อะไร เหตุอะไรมาจากไหน อุทยัพพยญาณนี้มาจากไหน เราได้เหตุนั้นแล้วหรือยัง เมื่อเรารู้เหตุอย่างนี้แล้วนะคะ เราก็ทำความต้องการนั้นให้พอดีเท่ากับเหตุนั้น เพราะเหตุว่า ความต้องการของเรานั้น ถ้าเกินจากเหตุผลที่เรามีอยู่แล้ว ความต้องการนั้นจะเป็นที่อาศัยของกิเลสทันที เมื่อกิเลสอาศัยความต้องการนั้นได้แล้ว ความต้องการนั้นก็จะเป็นไปตามอารมณ์ของกิเลสนั่นเอง ก็เมื่อความต้องการนั้นเป็นที่อาศัยของกิเลสแล้ว ก็เป็นอันว่าเข้าถึงวิสุทธิไม่ได้ ใช่ไหม เพราะอะไร เพราะว่ากิเลสเข้าอาศัยแล้ว นั่นก็จะเข้าถึงวิสุทธิได้อย่างไร ท่านจึงได้มีวิสุทธิกำกับไว้ด้วยนะคะ การปฏิบัตินี่นะคะ ก็เมื่อความต้องการนั่นเข้าถึงวิสุทธิไม่ได้แล้ว ก็ไม่ได้ชื่อว่า ผู้นั้นเข้าถึงทางพระนิพพาน เพราะข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงทางพระนิพพานนั้น จะต้องชำระกิเลสให้หมดจดเรื่อยๆ ไป เป็นขั้นๆ ตั้งแต่ศีลวิสุทธิเป็นต้นไป ไปจนหมดสิ้นเชิงอย่างนี้จึงจะถูกต้อง
ทีนี้ เพราะอะไร ถึงจะเข้าวิสุทธิไม่ได้ ใครเป็นคนกีดขวางไว้
ตอบว่า กิเลสนั่นแหละ เป็นตัวกีดขวาง ไม่ให้เข้าถึงวิสุทธิ มันเข้าไปทำให้เศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์
ฉะนั้น ถ้าข้อปฏิบัติใด เป็นที่อาศัยของกิเลสเรื่อยไปแล้ว ข้อปฏิบัตินั้นไม่ใช่ทางแน่นอน
เมื่อไม่ใช่ทางแล้ว ข้อปฏิบัติอันนั้น เรียกว่าอะไร ?
ข้อปฏิบัติอันนั้นก็ต้องตกไปอยู่ในทาง ๒ ทางนั่นแหละ คืออะไร? อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์ และกามสุขัลลิกานุโยค ที่ประกอบตนอยู่ด้วยความสุข เพราะเข้าใจว่าสุขเวทนา ที่เป็นนิจจังนั่นแหละ คือนิพพาน ไม่เข้าใจว่า สุขเวทนานี่ เป็นอนิจจัง ความจริง สุขเวทนาก็เป็นอนิจจัง แต่ว่า เขาถือเอาความสุข แค่สุขเวทนานั้นเป็นนิพพาน คือสบายใจเท่านั้นแหละ มีความสุขสบายใจนะคะ สุขนั้นแหละ คือนิพพาน ข้อปฏิบัติของทางทั้ง ๒ นี้ เป็นทางที่ประกอบไปด้วยกิเลส มันให้เห็นไปว่า ทำอย่างนี้แหละ ถูกกามนิพพานก็มี บางคนก็ว่า นิพพานนี่แหละ คืออาศัยกามคุณเท่านั้นแหละ ให้ได้รับกามคุณเป็นสุขสบายก็แล้วกัน อย่าให้มีความขัดข้อง ตาจะเห็นรูป หูจะได้ยินเสียง ก็ต้องสบาย ได้กลิ่นที่ดี รูปที่ดี เสียงที่ดี อย่างนี้แหละ ชื่อว่านิพพานก็มีเหมือนกัน มีอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ ๖๒ นั่นแหละ ที่ประกอบไปด้วยกิเลส คือ ตัณหาและทิฏฐิ ถ้าทางทั้ง ๒ นี้ ประกอบไปด้วยตัณหาและทิฏฐิ พวกกามสุขัลลิกานุโยค ก็ประกอบไปด้วยตัณหา พวกทิฏฐิที่เห็นว่า ฝั่งตนอาบน้ำ ขัดถูไคล จะทำให้กิเลสหมด พวกนี้ไม่ใช่กาม เพราะว่า ทรมานตนให้ลำบาก แต่ว่า เป็นไปด้วยอำนาจของทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิที่เห็นผิด เข้าใจผิดว่า ถูขี้ไคลแล้วกิเลสจะแห้ง อาบน้ำแล้วจะล้างกิเลส ทรมานตนมากๆ แล้วจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ อันนี้เป็นไปด้วยทิฏฐินะคะ ที่ประกอบไปด้วยกิเลส คือตัณหาและทิฏฐินั่นแหละคะ
ฉะนั้น ทางทั้ง ๒ จึงไม่ไปถึงนิพพานได้ ก็เพราะเหตุว่า ไม่เข้าถึงวิสุทธิได้ ตัณหาและทิฏฐิมันอาศัยอยู่ ที่เข้าถึงวิสุทธิไม่ได้ ก็เพราะเหตุว่าไม่รู้หน้าตาของกิเลส ไม่รู้ว่าที่เข้าใจอย่างนั้นน่ะ เป็นหน้าตาของกิเลส บางคนนะชื่อกิเลสน่ะ ไม่ชอบหรอก แต่ว่า ไม่รู้หรอกนะ ทั้งๆ ที่กิเลส มันก็เกิดอยู่กับเรานี่แหละ เราก็ไม่รู้ว่า ความรู้สึกอย่างนี้เป็นกิเลส กิเลสน่ะ ทำให้เราเป็นบุญก็ได้ ทำให้เราเป็นบาปก็ได้ อวิชชาน่ะ เป็นปัจจัยให้เกิดบุญก็ได้ ทาน ศีล ภาวนา อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดก็ได้ ฌานสมาบัติ รูปฌาน อรูปฌาน อวิชชา ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดได้ คิดดูซิคะ กิเลสน่ะ มันไม่ใช่น้อยนะ แต่ว่า เราไม่รู้จักเท่านั้นเอง เพราะอะไร ? เราไม่รู้เหตุ เรารู้แต่ผลใช่ไหม ? โอ้ย ! ฌานนี่ มีความสุขเหลือเกิน สบายเหลือเกิน แต่เราไม่ได้คำนึงถึงว่า ฌานที่เกิดนั้นน่ะ มันมาจากอะไร เหตุที่ให้เกิดฌานน่ะ มาจากอะไร เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ได้เห็นหน้าตามัน เราไม่รู้จักหน้าตาของกิเลส เพราะธรรมที่เป็นกิเลสนั้น มีความสุขุมลุ่มลึกมิใช่น้อย กิเลสนี่น่ะ ไม่ใช่ของหยาบๆ นะ คนไม่มีปัญญาแล้ว ไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น จึงได้หลงงมงายอยู่กับกิเลส ผู้มีปัญญาน้อย และมีการศึกษาน้อยแล้ว ไม่สามารถจะรู้ได้เลย จึงต้องตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส จนนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ก็เพราะไม่รู้จักมัน ก็เข้าใจผิดว่า มันเป็นของดีบ้าง อะไรบ้าง อย่างนี้มันให้เราทำดี นี่อย่างนี้ นับชาติไม่ถ้วน นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ถึงจะรู้ได้เอง ในโลกเวลานั้น ก็มีอาจารย์อยู่มากมาย วิธีปฏิบัติก็มากมายเหลือเกิน มีอยู่ในอินเดียน่ะ เวลานี้ก็ยังมีอยู่มาก แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะสำเร็จได้ เข้าถึงวิสุทธิไม่ได้ ไม่มีใครสามารถนำกิเลสออกได้ เพราะไม่รู้จักกิเลส
แต่เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก จึงทรงประกาศข้อปฏิบัติ ที่จะชำระกิเลสให้หมดจดได้ แล้วพระองค์ก็รู้จักกิเลสด้วย รู้จักด้วย และชำระกิเลสนั้นให้หมดไปด้วย จึงได้รู้ว่า กิเลสนั้นเป็นเหตุ และวิธีชำระกิเลสอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น ก็รู้พร้อมทั้งประกาศ ถ้ามิฉะนั้นก็ชำระยากเต็มทีคะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ถึงจะรู้เองได้ และพระสาวก ที่ได้ศึกษาด้วยความเข้าใจในธรรมของกิเลสดีแล้วเท่านั้น อย่างว่า เราทำสมาธิน่ะ เราเห็นหน้าตาของกิเลสไหมคะ ? ไม่เห็นเลย ใช่ไหม มองดูซิ ความโลภก็ไม่มี ความโกรธก็ไม่มี ความหลงก็ไม่มี ในที่นั้น มีอะไรบ้าง ไม่มี กิเลสในที่นั้นมองไม่เห็นเลย แต่ว่า อย่าลืมว่า เป็นวิปัสสนูปกิเลส เป็นกิเลสของวิปัสสนาได้ เช่น ทำให้เกิดแสงสว่าง ทำให้เกิดความสงบเยือกเย็น ธรรมเหล่านี้ไม่ใช่กิเลสทั้งนั้นแหละ แต่ว่า เป็นกิเลสของวิปัสสนา เรารู้ได้รึ เราน่ะหรือ จะมีปัญญารู้ธรรมที่ละเอียดถึงแค่นั้น เราไปเจอะเข้า ก็ดีใจพอแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อันนั้นเป็นกิเลส พระสาวกที่เข้าใจศึกษาดีแล้วเท่านั้น จึงจะละกิเลสนั้นได้ เพราะถ้าไม่รู้จักกิเลสแล้ว เป็นอันว่า ละกิเลสไม่ได้แน่ เพราะไม่รู้นี่แหละ จึงเป็นมูลของกิเลสตัวไม่รู้นี่ เป็นอวิชชา ซึ่งเป็นมูลของกิเลสอยู่แล้ว
ฉะนั้น พวกเราที่เป็นนักศึกษาในพระพุทธศาสนานั้น หรือปรารถนาจะเจริญวิปัสสนาเพื่อจะเข้าถึงทางวิสุทธินั้น ก็จะต้องให้รู้จักข้าศึก คือกิเลสนั้นด้วย มิฉะนั้น จะชำระกิเลสออกไป ให้เข้าถึงความบริสุทธิ์นั้นไม่ได้ ถ้าเราจะมัวไปศึกษา หรือสนทนากันอยู่เรื่อยๆ โดยมาก็เห็นไหม ที่ประชุมต่างๆ น่ะ ใครพูดเรื่องกิเลสบ้าง ก็ไม่มีหรอก ไม่มีใครเขาอยากรู้หน้าตากิเลสเลย โดยมากที่สนใจกันอยู่แต่เรื่องนิโรธ นิพพาน อริยสัจ ๔ หรือว่าหลุดพ้นปล่อยวาง พูดกันอยู่แค่นี้แหละ ใครจะพูดเรื่องกิเลส พุทโธ่ ขั้นต่ำๆ ไปเอากิเลสมาพูดกันอยู่ได้ ถ้าใครรู้กิเลสน่ะ รู้ธรรมะสั้นเหลือเกิน ต้องนิโรธ นิพพาน ปล่อยวาง วิมุตติ ถึงจะเป็นขั้นสูง โดยมากทุกๆ คนนั่นแหละ ไม่มีใครพูดกันหรอกเรื่องกิเลส ไม่มีใครศึกษาเลย ต้องพูดกันเรื่องปล่อยวางเท่านั้น ก็หาเป็นผลสำเร็จไม่ เพราะความสำเร็จนี้เกิดจากวิสุทธิธรรมเป็นเหตุ
ในตอนนี้ก็ต้องขอย้อนมาพูดกันเรื่องวิสุทธิอีกหน่อยว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ความรู้ของเรานั้นน่ะ จะเข้าถึงวิสุทธิ หรือไม่เข้าถึงวิสุทธิ เราจะเอาอะไรมาตัดสิน ถ้าเรายังไม่เข้าถึงวิสุทธิ เราก็ไม่รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่วิสุทธิ วิสุทธิต้องอย่างนั้นใช่ไหม หรือถ้าไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ไม่ใช่วิสุทธิ ทีนี้เราไม่รู้ มันไม่มีเครื่องวัด ไม้อันเดียว เราจะรู้ว่ามันสั้นหรือยาวได้อย่างไร รู้ไม่ได้ ใช่ไหม มันต้องเอามาเทียบกัน ๒ อัน แล้วจะรู้ว่า อันนี้สั้น อันนี้ยาว อันเดียวน่ะ รู้ไม่ได้หรอกค่ะ ว่าสั้นหรือยาว ถึงได้ถามว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า จะเข้าถึงวิสุทธิ หรือยังไม่เข้าถึงวิสุทธิ คือ หมายความว่า ยังเป็นที่อาศัยของกิเลสอยู่ อันนี้น่ะ เราจะรู้ได้อย่างไร ? เราจะเอาอะไรมาเป็นผู้ตัดสิน อันนี้ก็เป็นข้อสำคัญนะคะของผู้ที่สนใจในการปฏิบัติ ในธรรมอันเป็นเครื่องตัดสินนี้ อันนี้เราจะต้องเข้าใจ เพราะถ้าเรายังศึกษาไม่เข้าถึงธรรม อันเป็นเครื่องตัดสินว่าผิดถูกได้แล้ว ก็เป็นการยากที่จะทำการงานนั้นให้ถูกต้องได้ เพราะผิดก็ไม่รู้ ถูกก็ไม่รู้ เราจะทำให้ถูกได้อย่างไง ถูกน่ะ มันทำอย่างไรก็ไม่รู้ แล้วเราจะทำให้ถูกได้อย่างไร ธรรมอันเป็นเครื่องตั้ดสินความรู้ หรือความเข้าใจของเราที่ว่าผิดหรือถูกนั้น เราจะมีกิเลสอาศัยหรือไม่นั้น ขอให้เอาความรู้ที่เกิดขึ้นจากวิปัสสนา เราจะต้องศึกษาก่อนว่า อารมณ์ของวิปัสสนาเดินไปอย่างไร ? มีความรู้สึกอย่างไร ? เมื่อเราได้เข้าปฏิบัติแล้ว เข้าไปถึงอย่างนั้น เรามีความรู้สึกอย่างไร ? ความรู้สึกอันนั้นในวิปัสสนาญาณนั้น นั่นเป็นความรู้สึกที่เป็นวิสุทธิ ถ้าเราไม่เข้าถึงความรู้นั้น หรือเราไม่มีหลักฐานที่จะมาเป็นเครื่องเดิน หรือเครื่องวัดแล้ว เราจะทำอย่างไร ? จะรู้ได้อย่างไร? ไม่รู้หรอก เกิดมาไม่เคยเห็นเลย วิปัสสนาน่ะ บางคนสมาธิก็ไม่เคยได้ พอไปได้แค่สมาธิเท่านั้น ก็ดีใจแทบตายแล้ว ก็นึกว่า ไปถึงนิพพานแล้ว เราควรจะดูซิว่า อารมณ์ของวิปัสสนาน่ะ มีความรู้สึกอย่างไร แล้วเมื่อได้สมาธิแล้ว รู้สึกอย่างไร เหมือนกันหรือเปล่ากับความรู้สึกที่เป็นอารมณ์ปัญญา อันนี้น่ะ เป็นเครื่องวัดนะคะ คือว่าวิปัสสนาปัญญา ที่มีนามรูปปริเฉทญาณเป็นต้น ต้องมีนามรูปปริเฉทญาณ นั้นตลอดไปนะ ไม่ใช่ว่า พอต่อไปแล้ว ไม่มีเห็นแล้วละ นามรูปปริเฉทญาณ แล้วพอต่อไปถึงอันที่ ๔-๕ ไม่มีแล้วนามรูปปริเฉทญาณ ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน นามรูปปริเฉทญาณเหมือนกับเชือกเลย จะเดินไปถึงไหน ก็ต้องเกาะเชือกเรื่อยไป แต่ว่าพอเดินไปหน่อยหนึ่ง ไม่มีเชือกแล้ว อย่างนี้ก็ไม่ได้นะคะ
นี่แหละ ตั้งแต่นามรูปปริเฉทญาณ เป็นต้นไป จนกระทั่งถึงอนุโลมญาณ ก็จะต้องมีเรื่อยๆ ไป ต่อกันไปเรื่อยนั่นแหละ เราจะไปทำกับข้าวอะไรสักอย่างหนึ่ง อันนั้นใส่ก่อน อันนั้นใส่ทีหลัง แต่ว่า ในที่สุดน่ะ อันก่อนนั้น จะไม่มีไม่ได้ ต้องมีเหมือนกัน ต้องมารวมกันอยู่ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่พอใส่อันที่ ๒ แล้ว เมื่อใส่อย่างที่ ๒ ลงไปแล้ว อย่างที่ ๑ ที่ใส่ลงไปแล้วนั้น จะหมดไป ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องมีอยู่ด้วย แต่ว่าใครจะใส่ก่อน ใครจะใส่หลัง ใครจะได้ก่อน ได้ทีหลัง อีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าทุกอย่าง ที่ได้แล้ว ผ่านไปแล้ว ต้องมีอยู่ในที่นั้นด้วยทั้งหมด ตั้งแต่นามรูปปริเฉทญาณไปที่เดียว เป็นต้นไปจนถึงอนุโลมญาณ นี่วิปัสสนานะคะ นามรูปจะต้องเดินมาจนถึงนี่แหละ
ความรู้สึกที่ได้มาจากอารมณ์ของวิปัสสนาตามที่ว่านี้แหละ เป็นความรู้ที่เข้าถึงวิสุทธิแน่ เพราะท่านบอกแล้วว่า วิสุทธิอันนั้นมาจากวิปัสสนา มีความรู้สึกอย่างนั้น นั่นจะเข้าถึงวิสุทธิขั้นนั้น ท่านบอกเครื่องวัดเครื่องศึกษาไว้แน่นอนทีเดียว เพราะความรู้ตามในอารมณ์ของวิปัสสนานั้น เป็นความรู้สึกเกิดจากวิสุทธิเป็นเหตุ เพราะความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสแล้ว เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากปัญญา จากอารมณ์ของปัญญาที่ไม่เจือด้วยกิเลสนั่นแหละ ความรู้สึกบริสุทธิ์อันนี้แหละ เป็นเหตุ ขอให้เอาอันนี้เป็นเครื่องตัดสินว่า จะเป็นวิสุทธิหรือไม่ นี่สำหรับท่านที่ศึกษานะคะ ฟังไว้นะคะ ไม่ใช่ว่าพอถึงเวลาไปทำน่ะ ลืมไปแล้ว วิปัสสนาเห็นอะไรก็ไม่รู้ ก็เอาไปใช้ไม่ได้ นี่แหละ ต้องจำไป ต้องเข้าใจไปด้วยว่า วิปัสสนาอย่างนั้น มีความรู้สึกอย่างนั้น ประเดี๋ยวก็ลืมไปแล้ว ก็เห็นสับสนกัน ไม่ได้หรอกค่ะ ต้องเป็นไปตามเหตุตามผล ฉะนั้น จึงขอให้เอาความรู้สึกที่เกิดจากวิปัสสนานี่แหละ เป็นเครื่องตัดสินว่า เป็นวิสุทธิหรือไม่ ถ้าหากไม่เป็นไปตามนั้นแล้ว ก็ขอให้เข้าใจเถิดว่า ยังไม่เข้าถึงวิสุทธิ หมายความว่า อารมณ์นั้น ยังเป็นที่อาศัยเกิดของกิเลสได้อยู่ ไม่ใช่ทางพระนิพพานนะคะ
ยังอยู่ในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินะคะ ยังอยู่ในนั้น แต่ว่าได้พูดมาแล้วถึงอาทีนวญาณ ถึงพูดไปถึงอาทีนวญาณแล้ว ก็ยังดึงเอาญาณต่างๆ มาสงเคราะห์ให้ติดต่อกันนะคะ ก็พูดถึงเรื่องว่าการศึกษานี้ จะต้องรู้ถึงเหตุผล ให้นำเอาเหตุและผลนั้นมาติดต่อกัน เพราะคิดว่า ตามธรรมดาที่เราฟังอยู่นี่นะคะ ทุกคนก็ทราบกันแล้ว และก็เชื่อแล้วทุกคนว่า สิ่งทั้งหลายต้องเกิดจากเหตุ ตามคำเทศนาของพระพุทธเจ้า แต่เราจะต้องเข้าใจนำเอาเหตุผลนั้น มาติดต่อกันให้ถูกต้อง นี่เรื่องเท่านี้ คือ ข้อสำคัญการศึกษาของเราทุกคนในเวลานี้ ก็มีการศึกษากันมากแล้ว แต่ว่า ยังไม่เข้าใจนำเอาเหตุผลที่เรียนไปแล้วมาติดต่อกันได้เท่านั้นเอง ถึงแม้จะเข้าใจว่า สิ่งทั้งหลายไหลมาจากเหตุก็จริง แต่ถ้ายังนำเอาเหตุผลมาติดต่อกันไม่ได้ ก็ยากเหมือนกัน บางทีเอาผลไป ก็ไม่รู้เหตุว่า มาจากไหน หรือทำเหตุแต่ก็ไม่รู้ว่า ผลนี้เกิดจากอะไร เพราะเหตุที่ยังไม่นำเอามาติดต่อกัน หรือเมื่อนำเอามาติดต่อกันแล้ว ผลเกิดมาอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่เข้าใจว่าผลนั้นยังไม่ตรงต่อเหตุนี้ ข้อสำคัญต้องนำมาให้ติดต่อกันนะคะ แต่ก็เพียงแต่ขอให้เข้าใจไว้อีกข้อหนึ่งว่า เหตุผลน่ะ มีอยู่ ๒ ประการ คือเหตุผลที่มีอยู่แล้ว เกิดอยู่ตามกฎธรรมดาอย่างเบญจขันธ์นะคะ นี่แหละ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือนามรูป เหตุของนามรูป จะเกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างว่า การเห็นนี่น่ะ จะเกิดได้อย่างไร ? วิญญาณจะเกิดจากอะไร ? เวทนาจะเกิดจากอะไร ? หรือการเห็น การได้ยิน จะเกิดจากอะไร ? อย่างนี้น่ะ เราก็รู้ แต่ว่า เหตุผลเหล่านี้นั้นน่ะ เป็นของที่มีอยู่แล้วตามกฎธรรมดา เรามีหน้าที่จะกำหนดรู้ ไม่สามารถจะไปสร้างเหตุนั้นให้มันใหญ่โต หรือจะระงับเหตุนั้นเสีย อย่างนี้น่ะจักขุวิญญาณมีอะไร ? การเห็นจะเกิดขึ้นด้วยอะไร ? ๔ อย่าง เราก็มีหน้าที่รู้เหตุผลเท่านั้น แต่ว่า ไม่ใช่มีหน้าที่จะไปละเหตุนั้น จะไปละเหตุปัจจัยอย่างนั้น ก็ละไม่ได้ มีหน้าที่ที่จะต้องกำหนดรู้ มีหน้าที่กำหนดรู้ความจริงของเหตุผลนั้นให้ถูกต้องตามความเป็นจริงของเขาเท่านั้น อันนี้ประการหนึ่งนะคะ
ส่วนเหตุผลอีกประการหนึ่งนั้นน่ะ ยังไม่มีอยู่ หรือยังไม่เกิดขึ้นในเราเลย เช่นเหตุในวิปัสสนานั้น วิปัสสนาเป็นเหตุให้เกิดมัคญาณใช่ไหม มัคนั่นเป็นการทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่มีอยู่เองนะ ต้องทำให้เกิดขึ้น ทางจะดำเนินไปถึงนิพพาน ไม่ใช่มีอยู่เองนะ ต้องทำให้เกิดขึ้น ปัญญาน่ะ ต้องทำให้เกิดขึ้น ต้องเจริญเหมือนอย่างในวิสุทธิมรรค แสดงถึงว่า ปัญญากับสัญญาต่างกันอย่างไร หรือวิญญาณกับสัญญากับปัญญาต่างกันอย่างไร ในจูฬเวทัลสูตร ท่านก็บอกว่า วิญญาณกับสัญญาน่ะ กับปัญญาน่ะ รู้เหมือนกัน มีความรู้ แต่ว่าต่างกันที่ตรงว่า ปัญญานี้ต้องเจริญให้เกิดขึ้น ต่างกันที่ตรงนี้ ส่วนวิญญาณนั้นน่ะ ไม่ต้องเจริญหรอก มันมีอยู่ ไม่ต้องไปทำให้เกิดมากขึ้น จักขุวิญญาณมี ๒ ดวง จะไปทำให้เกิดเป็น ๔ ดวง ก็ไม่ได้ สัญญาก็เหมือนกันมีหน้าที่จำรส จำกลิ่น จำเสียง ก็มีหน้าที่จำเท่านั้น จะทำให้มากขึ้นก็ไม่ได้ แต่ว่าปัญญานี้ ต้องเจริญให้เกิดขึ้น
เช่นอย่างว่า วิปัสสนาขั้นต้น ก็ต้องเจริญให้เกิดปัญญาต่อๆ ไป นามรูปปริจเฉทญาณเป็นปัจจัยให้เกิดปัจจยปริคคหญาณ สมมุติว่าอย่างนี้น่ะ แต่ว่านามรูปปริจเฉทญาณน่ะเอามาจากไหน ต้องทำให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นก่อน ถึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เข้าถึงปัจจยปริคคหญาณได้ แล้วก็ต่อๆ กันไปนะคะ อันนี้ต้องเป็นอีกอันหนึ่ง ต้องทำให้เกิดขึ้นนะคะ หรือยังไม่มีอยู่ แต่ว่า เราต้องทำให้เกิดขึ้น เช่น เหตุในวิปัสสนานั้น เหตุผลอย่างนี้ต้องเกิดจากภาวนา เราต้องเจริญวิปัสสนาก่อน เราจะต้องประกอบกรณีกิจเสียก่อน แล้วจึงจะมีขึ้นได้ เหตุอย่างนี้จะต้องเจริญให้เกิด แต่ก็ต้องเข้าใจในเหตุผลของการกระทำนั้นให้ถูกต้องด้วย คือเราจะต้องเจริญให้ปัญญาเกิดขึ้น แต่วิธีเจริญนั้นจะทำอย่างไร อันนี้ก็ต้องเข้าใจเหตุผลอีก ต้องทำให้ถูกต้องด้วย ถ้ามิฉะนั้น ปัญญานั้นก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เหตุอันนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ ต้องกระทำให้ถูกต้อง จึงจะเป็นเหตุให้เกิดผลนั้นๆ ให้ถูกต้องด้วย แล้วผลนั้น จึงจะเกิดขึ้นได้ มิฉะนั้นผลนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้
ก็เมื่อเราได้กระทำให้ถูกต้องและสมบูรณ์ด้วยเหตุผลของวิปัสสนาแล้วว่า วิปัสสนานั้น ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลในขั้นต้น ก็คือนามรูปปริจเฉทญาณนั้น ก็เมื่อเราได้วิปัสสนา คือ นามรูปปริจเฉทญาณที่ถูกต้องแล้ว นามรูปปริจเฉทญาณนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดผล คือวิปัสสนาต่อขึ้นไป แล้วก็ต้องเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นผลซึ่งกันและกัน ตามลำดับไปจนถึงธรรมอันเป็นที่สุดของเหตุผลนั้นๆ คือพระนิพพานนั่นเอง
เช่นอย่างเราได้ญาณขั้นไหนก็ตามเถอะ เราต้องการญาณอะไร อุทยัพพยญาณเห็นเกิดดับ หรือสังขารุเบกฃาญาณ หรืออนุโลมญาณ โคตรภูญาณ ตามที่เรารู้กัน เราอยากได้ ไม่ได้ แต่ต้องทำให้เหตุของญาณนั้นเกิดเสียก่อน แล้วผล คือญาณจึงจะเกิดได้ ที่สุดของเหตุผล ก็คือพระนิพพานนั้น ก็เหตุ คือวิปัสสนานี้ จึงเป็นเหตุที่จะต้องให้เกิดขึ้นเสียก่อน แล้วเราจึงจะมีเหตุนั้นใช้ทำประโยชน์ให้เกิดผลตามที่เราหวังนั้นได้
การอธิบายอย่างนี้ ก็เพื่อจะให้เข้าใจโดยแน่นอนว่า สิ่งหรือผลที่เราต้องการนั้น นึกเอาเองไม่ได้ ฉะนั้น การศึกษาของเราที่จะได้มา ในผลที่เราต้องการนั้น ความสำคัญในขั้นแรก ก็อยู่ที่กฎ ที่ว่าจะต้องทำให้ถูกเท่านั้น หรือเข้าใจให้ถูกเพราะเมื่อเข้าใจกระทำในเหตุนั้นให้ถูกต้องแล้ว ส่วนผลทั้งหลายนั้นไม่ต้องคำนึงเหมือนเราปลูกต้นมะม่วง หรืออะไรก็ตามเถอะเราต้องการผลมะม่วง ปลูกทุเรียนก็ต้องการผลทุเรียน แต่เมื่อเราได้นำเอาต้นทุเรียนที่ถูกต้องมาปลูกแล้ว ก็ไม่ต้องคำนึงเรื่องผล ทำอย่างไรก็ต้องได้รับ เพราะว่า มีเหตุแล้ว ก็ต้องมีผล เพราะผลเหล่านั้น ก็ต้องไหลมาตามเหตุนั้นเอง
เมื่อพูดกันมาถึงตรงนี้แล้ว ขอย้อนไปพูดเรื่องของเหตุผลอีกสักหน่อย คืออยากจะถามซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อได้รู้เหตุผล ดังที่กล่าวแล้วจะได้ประโยชน์อะไร ที่เราศึกษากันนี้น่ะ ลองนึกตอบในใจดูซิว่า จะได้ประโยชน์อะไร ?
ก็ขออธิบายว่า ได้ประโยชน์มากที่สุด คือเราก็จะได้จำกัดความต้องการของเราให้พอดี เข้ากับเหตุนั้น เมื่อเรารู้แล้วว่า เราต้องการผลอันนั้น และเราก็ต้องทำเหตุอย่างนี้ ต้องมีเหตุอย่างนี้เสียก่อน เหตุอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว ผลนั้นถึงจะเกิดขึ้นมา เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้วความหวังและความปรารถนาของเราก็ไม่เกินจากเหตุนั้นไป มันก็มีความจำกัดเท่ากับเหตุนั้นไม่เกินไป อย่างว่า ทีแรกเราเข้าไปทำวิปัสสนาที่อยากเห็นความเกิด – ดับ อยากจะได้วิปัสสนา อยากจะเห็นอะไรก็แล้วแต่เถอะ พระนิพพานเป็นต้น อันนี้เป็นความหวังที่เกินกว่าเหตุใช่ไหม ที่จริงน่ะ เหตุที่เราควรจะทำน่ะ จะได้จากอะไร เหตุขั้นต้น จะต้องได้จากนามรูปปริจเฉทญาณเสียก่อน แต่นี่นามรูปปริจเฉทญาณยังไม่ได้เลย คิดดูซิ แล้วทำไมเล่า ผลเหล่านั้นน่ะ จึงจะหวังต่อไปอันนี้ก็ไม่ได้ ความหวังเกินจากเหตุผล ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น การรู้เหตุผลนี่น่ะ จะได้จำกัดความต้องการของเราให้พอดีเข้ากับต้นเหตุนั้น เพราะเหตุว่า ความต้องการของเรานั้น ถ้าเกินจากเหตุผลเท่าที่เรามีอยู่แล้ว ความต้องการนั้นจะเป็นที่อาศัยของกิเลส เรามีฐานะแค่นี้ เรามีเงินเดือนแค่นี้ แต่ว่าอยากจะมีรถยนต์ขี่ อยากจะมีเงินเดือนมากๆ ตามฐานะที่เขาได้กันน่ะ อันนั้นเป็นกิเลสไหมคะ ก็ต้องดิ้นรนใช่ไหม ทุกข์ก็จะต้องเกิด ถ้ามันไม่สมหวังขึ้นมา มันก็จะต้องเกิด ใช่ไหมล่ะ ถ้าเราไม่สมหวังขึ้นมา แหมอยากจะได้วิปัสสนา ก็ไม่เห็นได้เลย เมื่อไม่ได้แล้วเป็นยังไง ความท้อใจ อกุศลก็ไหลตามความรู้สึกอันนั้นเกิดขึ้นมา ใช่ไหมคะ มันก็ไม่ได้ อย่างนี้ ฉะนั้น ถ้าเราจะตัดเอาว่า เรามีรายได้แค่นี้ เรามีฐานะแค่นี้ เราก็มีหน้าที่แค่นี้ เราก็มีเงินเดือนแค่นี้ เราก็หาความสุขได้ หาประโยชน์ได้ เท่าที่เราได้นี่ก็ไม่เดือดร้อน เหมือนกัน ทำวิปัสสนาก็อย่างเดียวกันนั่นแหละ ถ้าเกินจากเหตุผลไปแล้ว ความต้องการนั้นก็เป็นที่อาศัยของกิเลส เมื่อกิเลสเข้าอาศัยความต้องการนั้นได้แล้ว ต้องการนั้นก็จะเป็นไปตามอารมณ์ของกิเลส ก็เมื่อความต้องการนั้นเป็นที่อาศัยของกิเลส ก็จะทำให้ความต้องการนั้นเข้าถึงวิสุทธิไม่ได้ เพราะว่ากิเลสอาศัยอยู่แล้วในความต้องการนั้น ในความรู้สึกอย่างนั้น ก็เข้าถึงวิสุทธิไม่ได้
เมื่อความต้องการนั้นเข้าถึงวิสุทธิไม่ได้แล้ว ก็ไม่เชื่อว่า ผู้นั้นเข้าถึงทางพระนิพพาน แม้แต่ทางที่จะเป็นไปเพื่อพระนิพพาน ก็ยังไม่เข้าไป จิตใจยังไม่ได้เข้าไปเดินในทางพระนิพพานเลย เพราะข้อปฏิบัติที่จะให้เข้าถึงทางพระนิพพานนั้น จะต้องชำระกิเลสให้หมดจดไปเรื่อยๆ เป็นขั้นๆ ไป ตั้งแต่ศีลเป็นต้นไป ต้องหมดจดสิ้นเชิง อย่างนี้จึงจะถูกต้อง
ฉะนั้น ถ้าข้อปฏิบัติใด เป็นที่อาศัยของกิเลสเรื่อยไปแล้ว ข้อปฏิบัติอันนั้น ไม่ใช่ทางพระนิพพานแน่ เมื่อไม่ใช่ทางพระนิพพานแล้ว จะเรียกว่าอย่างไรล่ะ ข้อปฏิบัตินั้นน่ะ เขาก็ปฏิบัติเหมือนกันนี่ทุกคนเขาก็ปฏิบัติกัน ถ้าไม่ใช่ทางพระนิพพานแล้ว จะเรียกว่าอย่างไร ข้อปฏิบัตินั้น เมื่อไม่ใช่ทางนิพพานแล้วจะต้องตกไปในทางทั้ง ๒ คือ อัตตกิลมถานุโยคเป็นที่อาศัยของโทสะนั่นเอง ที่ทำตนให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์ และกามสุขขัลลิกานุโยค ที่ประกอบตนอยู่ด้วยความสุขเพราะเข้าใจว่า สุขเวทนาที่เป็นนิจจังนั่นแหละ คือพระนิพพาน เมื่อได้สุขเวทนา หรือเข้าถึงสุขเวทนาแล้ว ก็เข้าใจว่า สุขเวทนานั้นเอง เป็นสันติสุข คือพระนิพพาน เพราะสุขเวทนาเป็นนิจจัง แต่ว่า ไม่เคยเข้าไปได้รับความสุขอย่างนั้น ก็เลยนึกเอาว่า สุขนั้น เป็นนิพพานแน่
ข้อปฏิบัติของทางทั้ง ๒ นี้ เป็นทางที่ประกอบไปด้วยกิเลส คือตัณหาและทิฏฐินั่นเอง ไม่ใช่อย่างอื่น เห็นว่า ทำอย่างนี้ พอใจ ตัณหาเกิดขึ้น คือความพอใจมี แล้วทิฏฐิก็เห็นว่า อันนี้แหละ ถูกแน่ก็ประกอบไปด้วย ตัณหาและทิฏฐินั้นเอง
ฉะนั้นทางทั้ง ๒ นั้น จึงไปถึงนิพพานไม่ได้ ก็เพราะเหตุว่า เข้าถึงวิสุทธิไม่ได้ ที่เข้าถึงวิสุทธิไม่ได้ ก็เพราะเหตุว่า ไม่รู้หน้าตาของกิเลส เพราะกิเลสนั้น มีความสุขุมลุ่มลึกมิใช่น้อยเลย ผู้มีปัญญาน้อย และมีการศึกษาน้อยแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ จึงต้องตกไปใต้อำนาจของกิเลสจนนับชาติไม่ถ้วน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น จึงจะพึงรู้เองได้
โดยเหตุนี้ ท่านจึงบอกไว้ ท่านเอาเรื่องกิเลสมาเล่าให้ฟังว่า กิเลสอันนั้นมีลักษณะอย่างนั้น มีการงานอย่างนั้นอย่างนี้ มีประโยชน์อะไรคะ การนำเอากิเลสมาเล่าให้ฟัง มีประโยชน์อะไร ใครๆ ก็รู้ว่า กิเลสเป็นของไม่ดี ใช่ไหม เป็นของที่จะต้องละให้หมดไป ใช่ไหม ทุกคนก็รู้อย่างนี้ แต่ทำไมเอาเรื่องกิเลสมาเล่าให้ฟัง ยิ่งอภิธรรมด้วยแล้ว เล่าอย่างละเอียดลออมาก แต่ลักษณะสภาวะ การงานของกิเลส เล่าหลายวันกว่าจะหมด คิดดูซิ มีประโยชน์อะไรเล่า จะต้องเอามาเล่าให้ฟัง
การที่มาเล่าให้ฟังอย่างนี้ ก็เพราะเหตุว่า จะได้รู้จักหน้าตาของกิเลสไว้ ไม่อย่างนั้น มันรู้ยากเหลือเกิน ถึงแม้กิเลสเกิดขึ้น ก็ยังไม่รู้เลยว่า กิเลสเกิดขึ้นแล้ว เพราะไม่รู้จักหน้าตาของกิเลส นอกจากกิริยาไหน ไปตีหัวคน ไปฆ่าคน ไปลักขโมย ไปด่าเขา อะไรอย่างนี้น่ะ ถ้าเห็นคนทำกิริยาอย่างนี้ละก็ถึงจะว่า คนนั้นมีกิเลส ถ้าคนนั้นนั่งนิ่งๆ หลับตาสำรวม สังวรดี ก็บอกว่า กิเลสไม่มีแล้ว ให้เป็นพระอรหันต์เลย นี่แหละ มันรู้ยากอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงอุตสาห์มาแนะนำ มาบรรยายให้รู้ เพราะฉะนั้น ผู้จะรู้จักกิเลสจริงๆ จึงจะสามารถละกิเลสได้ พระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละที่เกิดขึ้นในโลกแล้ว จึงมารู้จักหน้าตาของกิเลสแล้วก็รู้ธรรม ที่ทำให้กิเลสนั้นหมดไปได้ เช่นอย่างพระสาวกที่ได้ศึกษามา ด้วยความเข้าใจในธรรมของกิเลสดีแล้ว พระสาวกที่ละกิเลสได้ก็ต้องเข้าใจหน้าตาของกิเลส แต่ไม่ใช่รู้ได้เองเหมือนกัน ก็ต้องรู้จากคำเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน ไม่ใช่จะรู้ได้เอง คนที่จะรู้จักกิเลสได้เองน่ะ ต้องพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าไม่อย่างนั้น ข้อปฏิบัติทั้งหลายในโลกนี้ เจือไปด้วยกิเลสหมดเลย ไม่สามารถจะเข้าถึงวิสุทธิได้เลย แม้แต่วิสุทธิก็เข้าไม่ได้ เพราะว่า วิสุทธินี้เป็นทางปฏิบัติไปถึงพระนิพพาน ใช่ไหมล่ะคะ สมัยนั้น เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้นน่ะ มีไหมทางนิพพาน ไม่มีใช่ไหม พระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ นำเอาทางนี้มาประกาศให้สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ได้รู้ ได้เห็น ได้ถึง และได้เดินทางนี้ คือวิสุทธิ เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่บังเกิดขึ้นนี่น่ะ พระพุทธศาสนายังไม่เกิดขึ้น ไม่มีข้อปฏิบัติอันใดเข้าถึงวิสุทธิได้เลย ฉะนั้น เมื่อรู้จักหน้าตาของกิเลสได้ดีแล้ว จึงละกิเลสได้ พระสาวก ก็ได้ฟังมาจากเทศนาของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน จากครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้จักหน้าตาของกิเลส และละกิเลสได้แล้ว เพราะถ้าไม่รู้จักกิเลสแล้ว เป็นอันละกิเลสไม่ได้แน่ เพราะความไม่รู้นี้ เป็นมูลของกิเลสอยู่แล้ว ถ้าเราไม่รู้มูลของกิเลสมีอยู่ การออกดอกออกผลจากมูลนั้น ก็ต้องมีอยู่นะคะ
ฉะนั้น พวกเราที่เป็นนักศึกษาในพระพุทธศาสนา หรือ ปราถนาจะเจริญวิปัสสนา เพื่อเข้าถึงวิสุทธินั้น ก็จะต้องให้รู้จักข้าศึก คือกิเลสนั้นด้วยวิปัสสนา ก็คือ ปัญญารบกับกิเลส และฆ่ากิเลสตาย มิฉะนั้น จะชำระกิเลสให้เข้าถึงความบริสุทธิไม่ได้
ถ้าเราจะมัวไปสนใจ หรือศึกษากันอยู่แต่เรื่องนิโรธ นิพพาน ไม่มีใครอยากรู้หน้าตาของกิเลสเลย แม้แต่พระพุทธเจ้าแสดง ก็ไม่อยากฟัง มัวไปสนใจกันอยู่แต่นิโรธ นิพพาน หรือการรู้อริยสัจธรรมทั้ง ๔ หรือ เรื่องหลุดพ้น ปล่อยวางเท่านั้น ก็หาจะเป็นผลสำเร็จไม่ ทางสำเร็จนี้เป็นผลที่เกิดจากวิสุทธิธรรมเป็นเหตุ
ในตอนนี้ก็ต้องย้อนมาพูดถึงเรื่องวิสุทธิกันอีกหน่อยว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ความรู้ของเรานั้นจะเข้าถึงวิสุทธิหรือยัง หรือยังไม่เข้าถึงวิสุทธิ เราจะรู้ได้อย่างไร คือ หมายความว่า ยังเป็นที่อาศัยของกิเลสอยู่ หรือว่าไม่เป็นที่อาศัยแล้ว อันนี้เราจะรู้ได้อย่างไร และเราจะเอาอะไรมาเป็นผู้ตัดสิน อันนี้เป็นข้อสำคัญของผู้ที่สนใจในการปฏิบัติ ในธรรมอันเป็นเครื่องตัดสิน เพราะถ้าเรายังศึกษาไม่เข้าถึงธรรมอันเป็นเครื่องตัดสินว่า ผิดหรือถูก ได้แล้ว ก็เป็นการยากที่จะทำการงานนั้น ให้ถูกต้องได้ ข้อธรรมอันเป็นเครื่องตัดสินความรู้ หรือความเข้าใจของเราว่า จะผิดหรือถูก หรือจะมีกิเลสอาศัยหรือเปล่า ขอให้เอาความรู้สึกที่เกิดจากวิปัสสนาปัญญา ความรู้สึกที่เกิดจากวิปัสสนาปัญญานั้นแหละ จะนำเข้าถึงวิสุทธิได้ เพราะวิปัสสนาปัญญานี่ เป็นตัวประหารกิเลส ฉะนั้น เมื่อวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นแล้ว กิเลสก็เกิดไม่ได้ในที่นั้น ที่นั้นถึงจะวิสุทธิได้ เมื่อเราเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว เราก็ต้องวัดตามเหตุผลว่า วิปัสสนาปัญญา ท่านมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง และเราปฏิบัติไปแล้ว มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง จะเหมือนกันไหม อย่าเข้าข้างตัวเองก็แล้วกัน ขอให้เอาความรู้สึกที่เกิดจากวิปัสสนาปัญญา มีนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้น นามรูปปริจเฉทญาณนี่ เข้าถึงวิสุทธิแล้วนะ เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ มีนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้นไป จนถึงอนุโลมญาณ
ความรู้สึกที่ได้มาจากอารมณ์ของวิปัสสนาปัญญา ตามที่ว่ามาแล้วนั้น เป็นความรู้ที่เข้าถึงวิสุทธิได้แน่ เพราะความรู้สึกในอารมณ์ของวิปัสสนาปัญญานั้น เป็นความรู้สึกที่เกิดจากวิสุทธิเป็นต้น เพราะว่า ทิฏฐิวิสุทธิบริสุทธิ์แล้ว ความเห็นผิดไม่มีแล้วในที่นั้น และต่อไปถึงจะขึ้นกังขาวิตรณวิสุทธิได้ ถึงจะเกิดปัญญาปัจจยปริคคหญาณได้ ถ้าหากว่า ทิฏฐิไม่วิสุทธิแล้ว ปัจจยปริคคหญาณก็เกิดไม่ได้ วิสุทธิต่อไปก็เกิดไม่ได้ ขอให้เอาอันนี้เป็นเครื่องตัดสินว่า เป็นวิสุทธิหรือไม่ ถ้าหากไม่เป็นไปตามนั้นแล้ว ก็ขอให้เข้าใจเถิดว่า ยังไม่เข้าถึงวิสุทธินะคะ คือหมายความว่า อารมณ์นั้นยังเป็นที่อาศัยของกิเลสอยู่ ยังไม่ใช่ทางนิพพาน
ต่อไปนี้ ก็ต้องย้อนกลับมาหาอาทีนวญาณอีก ซึ่งเป็นวิปัสสนาขั้นที่ ๗ ที่เห็นว่า สังขารทั้งหลายนั้น เป็นโทษ ที่สืบเนื่องมาจากภยญาณ ที่เห็นสังขารนั้นเป็นภัย
ก็ในการที่เข้าไปเห็นในอาทีนวญาณนั้น เห็นโทษอย่างไร และเห็นโทษของอะไร ก็จะได้ยกขึ้นมาให้เห็นเป็นตัวอย่างในอารมณ์ของปัญญานั้น
การเห็นโทษของสังขารในอาทีนวญาณนั้นในฐานะทั้ง ๕ อย่าง คือ :-
๑. เห็นโทษในปฏิสนธิ คือ ความเกิดขึ้นของสังขารในภพทั้ง ๓ ท่านเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง แม้จะไปเกิดอยู่เป็นเทวดาในสวรรค์ หรือในรูปพรหม หรืออรูปพรหมก็ตาม ท่านถือว่าภพนั้นเหมือนหลุมถ่านเพลิง
๒. ความเห็นโทษที่เป็นไปของสังขาร ที่ตั้งอยู่ในภพนั้น ประดุจตั้งอยู่ในเพลิง ๑๑ กอง มีชาติ ชรา พยาธิ โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส รูปนามหรือขันธ์ ๕ ที่ตั้งอยูในภพหนึ่งๆ จะต้องถูกไฟอย่างนี้ ลุกลามไหม้ ให้เดือดร้อนอยู่เสมอ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส บ่นเพ้อรำพัน ประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก สิ่งที่รักพลัดพรากไป คิดอะไรไม่สมปรารถนา ท่านเห็นว่า เป็นไฟ ๑๑ กองนะ ที่ตั้งอยู่ในภพหนึ่งๆ เหมือนกับไปอยู่ในกองไฟ ๑๑ กอง จิตที่ปฏิสนธิน่ะ เหมือนกับหยั่งลงในหลุมถ่านเพลิง ปฏิสนธิในภพไหน ก็ชื่อว่า หยั่งลงแล้วในหลุมถ่านเพลิงนั้น ถ้าหยั่งลงไปแล้ว ก็นับตั้งแต่นั้นมา ความเดือดร้อนทั้งหลาย ก็จะต้องเผาโลมจิตใจให้เดือดร้อนอยู่เสมอ
๓. เห็นเหตุ ที่จะทำให้เกิดทุกข์ของสังขาร ทั้งหลาย มีกรรม เป็นต้นนั้น เป็นโทษ ไม่ใช่เป็นคุณจะไปเกิดที่ไหนก็ตามเถอะ เป็นพรหม เป็นอรูปพรหม ก็ตามเถอะ ไม่เป็นคุณทั้งนั้น เป็นโทษทั้งนั้น โทษอะไร ? เป็นโทษอย่างไร ? เป็นโทษเพราะนำมาซึ่งความเกิด
๔. เห็นความเสื่อมสิ้น ความแตกทำลายของสังขารไร้คุณค่า จะไปเกิดที่ไหนก็ตามเถอะ ไม่ใช่เป็นคุณ คล้ายๆ กับว่า เป็นปาปมิตร ไม่ใช่กัลยาณมิตร นำไปหาโทษ ไม่ใช่นำไปหาคุณเลย กรรมที่นำให้ไปเกิด มีปฏิสนธิเป็นต้นนี่น่ะ เข้าถึงความเสื่อม หรือความประลัยไปของสังขารทั้งหลายนั้นเป็นโทษ
๕. เห็นการที่จะไปเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์นั้นเป็นโทษ น่ากลัวยิ่งนัก น่ากลัวยิ่งนัก เห็นภัยมาแล้ว ก็เห็นโทษใช่ไหม โทษในที่นี้ ก็หมายถึงความทุกข์ที่จะเป็นไปของสังขารน่ะ คล้ายๆ กับว่า คนที่ถูกทำโทษน่ะ ทำให้เดือดร้อน ใช่ไหมล่ะ คนที่ถูกทำโทษก็ต้องทำให้เดือดร้อน ให้เป็นทุกข์ ใช่ไหม นี่แหละ อย่างเดียวกัน ท่านเห็นเหมือนกับสัตว์ที่ไปเกิดในภพใดก็ตาม เหมือนกับคนนั้นน่ะ ถูกทรมานในภยญาณ ก็เห็นเป็นภัย ใช่ไหม เหมือนกับเราถูกทำโทษ ได้รับความทรมานต่างๆ ที่ไปเกิดในภพนี้น่ะ เดี๋ยวนี้เราก็ได้รับความทรมานอยู่ใช่ไหม หรือไม่ใช่ รับความทรมานอยู่ทุกอิริยาบถ คนควักลูกตาเรา แหม ใจร้ายที่สุดเลย ใช่ไหม แหม มันเป็นคนใจร้ายที่สุดเลย แหม น่าสงสารเหลือเกิน คนนั้นน่ะ น่ากลัวเหลือเกิน คนนั้นใจร้าย แต่ธรรมชาติที่มันควักลูกตา คนตาบอดตั้งเท่าไร มันทำให้คนตาบอด นับเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นล้าน ไม่กลัว ลงโทษเราต่างๆ โรคภัยต่างๆ ไปดูซิ ที่โรงพยาบาลน่ะ ล้วนแต่ถูกธรรมชาติลงโทษทั้งนั้น ใช่ไหม หักแขน หักขา ทุกสิ่งทุกอย่าง เดินไม่ได้ เป็นง่อยเปลี้ยเสียขา หมดทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ ที่เจ็บอยู่ในโรงพยาบาลน่ะ ถูกลงโทษทั้งนั้นใช่ไหม เราไม่รู้ว่า โทษนั้น เกิดจากอะไร ท่านผู้มีปัญญา ท่านรู้ คุกเหมือนสังสารวัฏฏ์ ภพต่างๆ ๓๑ ภูมิน่ะ สังสารวัฏฏ์ที่เวียนเกิดเวียนตายน่ะ อยู่ในสังสารวัฏฏ์ ไม่สามารถจะพ้นไปได้ใช่ไหม พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ได้ สังสารวัฏฏ์นี่เหมือนคุกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คนที่เกิดขึ้นในสังสารวัฏฏ์นี่ ก็แปลว่า อยู่ในคุก ก็จะได้รับโทษต่างๆ ไม่มีทางหรอกที่จะพ้นจากคุกไปได้ โทษในที่นี้ ก็หมายถึงว่า ทำให้เกิดทุกข์ค่ะ นี่แหละข้อที่ ๕ นี่น่ากลัว ที่จะต้องไปเกิดอีกนี้ น่ากลัวเหลือเกิน ท่านกลัวอย่างนี้น่ะ ของเราน่ะ แต่เพียงว่า ไม่ต้อง มันเกิดเอง ก็ไปเกิดอยู่แล้ว ท่านก็กลัวอยู่แล้ว บางทีเรายังขอเลย ขอให้ไปเกิด ถ้ามีภพมีชาติอีก เป็นพ่อ เป็นแม่กัน เป็นลูกกัน เป็นผัวเมียกัน กลัวว่า จะไม่เกิดอีก ขอให้ไปเกิดในที่นั้น ทีนี้ แทนที่จะน่ากลัว ที่ไหนได้ กลายเป็นของอยากได้ นี่เรามันตรงกันข้ามนะคะ
ในโทษ ๕ อย่างนี้ เป็นอารมณ์ คือ ความรู้สึกในอาทีนวญาณ ในความรู้สึกในที่นั้น ไม่มีอารมณ์ของตัณหาและทิฏฐิเจืออยู่เลย ทิฏฐิที่เห็นว่า เป็นสุข เที่ยง เป็นตัวตน ก็ไม่มีเลยในที่นั้น ที่ถือว่าความรู้สึกอันนี้บริสุทธิ ตัณหาและทิฏฐิจับไม่ได้แล้ว และทั้งตัณหาและทิฏฐิ ก็จะเกิดขึ้นโดยอาศัยอารมณ์ของปัญญานั้น ก็ไม่ได้อีกด้วย
โดยเหตุผลดังนี้ ปัญญาในอาทีนวญาณนี้ จึงจัดเข้าในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งหมายความว่า ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยในอารมณ์ของปัญญานั้นแล้ว ปัญญา คือ ความรู้อย่างนั้น เป็นความรู้ที่เข้าถึง หรือตั้งอยู่ในทางปฏิบัติ คือ มัชฌิมาปฏิปทา ที่เป็นเหตุจะให้ถึงนิพพานนั้น ถูกต้องแล้ว อันนี้ก็เป็นแผนที่ของจิตใจ ที่จะเดินไปยังพระนิพพานนั้น เป็นประโยชน์ประการหนึ่ง แต่ต้องอย่าลืมว่า ไม่ใช่นึกเอาเองนะคะ เพราะปัญญานี้ เกิดจากภาวนา ซึ่งได้มาจากเหตุ คือ ภยตูปัฏฐานญาณ วิปัสสนาที่เป็นเหตุต่อขึ้นมาเป็นวิปัสสนาขั้นที่ ๖ อาทีนวญาณ เป็นวิปัสสนาขั้นที่ ๗ นับจากนามรูปปริจเฉทญาณนะคะ ความรู้อันนี้ ได้มาจากเหตุ คือภยตูปัฏฐานญาณ
ต่อไปนี้ ก็จะได้อธิบายเหตุผลของปัญญาที่เห็นโทษในอาทีนวญาณนั้น จะเป็นปัจจัยในคุณประโยชน์อะไร ที่จะให้ถึงนิพพานนั้นอย่างไรบ้าง ก็เหตุที่ปัญญา จะได้เข้าไปรู้สึกในโทษของวัตถุในฐานทั้ง ๕ นั้นเองนะคะ จึงทำให้มีความรู้สึกในฐานะอีก ๕ เพราะเห็นโทษ ๕ นี่แหละ ทำให้เกิดความรู้สึกในฐานะอีก ๕ ซึ่งตรงกันข้ามกับโทษ ๕ อย่างนั้น เช่นเห็นว่า การเกิดเป็นทุกข์ แล้วก็ทำให้รู้สึกว่า ความไม่เกิดนั้นแหละ เป็นความพ้นทุกข์ นี่ทำให้รู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา นี่หนึ่งนะคะ ที่ตรงข้าม ที่ตรงข้ามกับข้อที่ ๑ ความไม่เกิดนั่นแหละ เป็นความสุขที่ปลอดโปร่ง ปลอดโปร่งจากทุกหรือโทษ ที่เห็นอาทีนวญาณนั้น อันนี้เป็นฐานะที่ ๑ ความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่า รู้ในสันติบท คือรู้คุณในพระนิพพาน ความที่รู้โทษ และก็รู้สึกว่า ถ้าไม่มีสังขาร ไม่มีโทษอย่างนี้ละก็เราจะพ้นจากทุกข์ คือ ไม่มีสังขารที่จะนำเอามาซึ่งโทษเหล่านี้ ถ้าไม่มีสังขารแล้วจะเป็นสุข ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาอย่างนี้ ก็ตรงกันข้ามกับที่เราเห็นว่า ถ้าสังขารจะหมดไป เราเสียดายใช่ไหมแต่ของท่านน่ะ ถ้าไม่มีสังขารแล้ว จะเป็นสุข จะเป็นที่จากทุกข์ เป็นที่เกษม นี่ชื่อว่า จิตนั้นหยั่งลงไปสู่นิพพาน ท่านเรียกว่า รู้สันติบท สันติบทในที่นี้ หมายถึงพระนิพพาน ที่รู้ว่านิพพานนี้ ยังไม่ถึงในพระนิพพาน แต่ว่า จิตนั้นได้หยั่งลงไปในที่นั้นแล้ว ความรู้สึกพอใจในที่ที่ไม่มีสังขารน่ะ เกิดความพอใจขึ้นนะคะ เป็นฐานะที่ ๑
ข้อที่ ๒ มีความรู้สึกว่า สังขารที่มีอยู่ในภพทั้ง ๓ นั้นน่ะ เป็นโทษ เพราะว่า ทีแรกรู้สึกว่า เป็นโทษ ข้อที่ ๒ นะ ที่ตั้งอยู่ในภพนะคะ ก็ต้องรูสึกว่า ถ้าไม่มีสังขารตั้งอยู่ในภพใดๆ แล้ว แต่ว่าไม่เกิดในที่ไหนๆ ทั้งหมดเลย พ้นจากภพทั้งหมดนั่นแหละ เป็นความปลอดโปร่งอันประเสริฐ นี่ก็ชื่อว่า จิตหยั่งลงในนิพพานอันเป็นญาณในสันติบทอีกเหมือนกัน นี่ก็ชื่อว่ารู้ในพระนิพพานอีกบทหนึ่งเหมือนกัน
ข้อที่ ๓ เห็นเหตุ ที่ทำให้เกิดของสังขาร มีกรรม และกิเลส มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นต้น เป็นโทษนะคะ ก็ต้องทำให้รู้สึกว่า ถ้าเหตุให้เกิดขึ้นไม่มีเสียแล้ว คือละเสียแล้ว หรือไม่มีเสียแล้วอย่างนี้ นั่นแหละ จะเป็นการพ้นโทษ จะเป็นการพ้นโทษ จะเป็นความปลอดโปร่งอันเกษม อันนี้ก็ชื่อว่าญาณในสันติบทในฐานะที่ ๓
ข้อที่๔ มีความเห็นว่า ความเสื่อมสิ้นความประลัยของสังขารนั้น เป็นโทษ ก็ต้องทำให้รู้สึกว่า ถ้าไม่มีการเสื่อมสิ้น หรือความประลัยของสังขารในที่ใด ในที่นั้น เป็นที่ปลอดโปร่งอันประเสริฐ อันนี้เป็นฐานะที่ ๔ ในสันติบท แต่มันมีอยู่นิดหนึ่งนะ ของเราน่ะ ถ้าสังขารไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เที่ยงอยู่ละก็ เป็นสุข พอใจ ใช่ไหม ของท่านน่ะ ถ้าไม่มีสังขารนี้เสื่อมสิ้นในที่ใดในที่นั้น เป็นสุขไม่มีที่เสื่อมสิ้นนะ ไม่ใช่ว่า ตั้งอยู่ไม่เสื่อมสิ้น ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่มีสังขารที่จะเสื่อมสิ้น ในที่นั้มันมีนิดหนึ่ง เห็นไหม ของเราน่ะ ชอบเหมือนกัน ไม่เสื่อมสิ้น ชอบ แต่ว่า ต้องเอาสังขารไปตั้งอยู่ในที่นั้นแล้ว ไม่ให้มันเสื่อมสิ้นนี่แหละ เห็นไหม มันมีอยู่นิดเดียวที่มันเหลื่อมกันอยู่เหมือนกัน อยากได้ความสุขกับอยากได้ความพ้นทุกข์ นี่แหละนิดเดียว อย่างนี้เหมือนกัน ถ้าไม่มีสังขารในที่นั้นเป็นที่ปลอดโปร่งอันเกษม คือ ไม่มีความเกิดดับในที่ใด ที่นั้นก็เป็นที่อันเกษม อันนี้เป็นสันติบทในฐานะที่ ๔
ข้อ ๕ เห็นในการที่จะต้องไปเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ อันไม่มีที่สุดนั้น เป็นโทษ เป็นของที่น่ากลัวเหลือเกิน ก็ต้องรู้สึกว่า การที่ไม่ต้องไปเกิดอีก หรือต้องการพ้นจากการเกิดนั้นเอง เป็นการพ้นจากทุกข์ อันนี้แหละ เป็นความปลอดโปร่งอันเกษมทีเดียว ทำไมท่านจึงไม่ยินดีในความเกิดเพราะอะไร เพราะท่านเห็นว่า ความเกิดนี้เป็นทุกข์ โดยเหตุนั้น จึงไม่ยินดีในความเกิด อันนี้ก็เป็นญาณในสันติบทในฐานะ ที่ ๕ รวมเป็น ๑๐ ฐานด้วยกัน ที่เกิดจากอาทีนวญาณที่เห็นโทษ ๕ อย่าง และเห็นคุณ ๕ ตรงกันข้าม เกิดในอาทีนวญาณเป็น ๑๐ ฐานด้วยกัน คือมีความรู้ในโทษ ๕ ประการ และมีความรู้ในคุณของพระนิพพาน ในคำว่า สันติบท ซึ่งตรงกันข้ามกับโทษ ๕ ประการ
อันความรู้ในฐานะทั้ง ๑๐ อย่างนั้นเป็นอารมณ์ของปัญญาในอาทีนวญาณ คือว่า ถ้าหากว่า ความรู้สึกอันนี้เกิดในอาทีนวญาณ เกิดในปัญญาที่ชื่อว่าอาทีนวญาณแล้ว ความรู้สึกอันนั้น ถูกต้องตรงกับวิปัสสนา แต่ถ้าคิดเอา ไม่ใช่นะ
อันนี้ก็คงจะทำให้ท่านนักศึกษา หรือท่านผู้ฟังทั้งหลาย พอจะมองเห็นได้แล้วใช่ไหมคะว่า ปัญญาในอาทีนวญาณนั้น เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานอย่างไร การที่เห็นโทษน่ะ เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานอย่างไร ทั้งนี้ก็เพราะการเห็นโทษน่ะ เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานอย่างไร ทั้งนี้ก็เพราะการเห็นโทษนั้นเอง เป็นปัจจัยให้ความรู้นั้นหยั่งในคุณของพระนิพพานที่พ้นจากโทษเหล้านั้น จึงเป็นอันว่า จิตได้เริ่มปรารภในพระนิพพาน พอใจในพระนิพพาน บ่ายหน้ามุ่งตรงต่อพระนิพพาน ไม่มีการแวะพักในอารมณ์ที่เป็นเครื่องถ่วง หรือหน่วงเหนี่ยวให้อยู่ในสังสารวัฏฏ์นั้นเลย ไม่ต้องการอะไรทั้งหมดเลย ต้องการแต่จะทำความเพียรส่งตนให้พ้นทุกข์ เท่านั้นเอง ไม่มีหรอกเครื่องหน่วงเหนี่ยว จิตใจและฉันทะ วิริยะ ปัญญา ก็เริ่มเป็นอิทธิบาท ตั้งเป็นอิทธิบาทขึ้นทีเดียวในที่นั้นน่ะ เป็นอินทรีย์ เป็นพละ เป็นโพชฌงค์เกิดเป็นลำดับ ตามเหตุผลนั้นๆ จนบรรลุถึงพระนิพพาน ก็คือ บรรลุถึงในคุณ ๕ ประการ ที่ต้องการในอาทีนวญาณเอง แต่จะอย่างไรก็ตาม ขออย่าให้เข้าใจว่าการเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะอาทีนวญาณเท่านั้น อย่าถือว่า อย่างนั้นนะ อย่าถือว่าเฉพาะการเป็นปัจจัยแต่อาทีนวญาณเท่านั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะอาทีนวญาณนั้น ต้องถือว่า วิปัสสนาทั้งหมดตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้นมา ก็ต้องถือว่าเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานด้วยกันทั้งนั้น เพราะว่า ถ้าไม่มีนามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้นมาแล้ว อาทีนวญาณนี้ ก็คงเกิดไม่ได้ ต้องเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานทั้งนั้น เพราะวิปัสสนาปัญญาทั้งหมดเหล่านั้น จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันเกิดขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุดตลอดไป หากแต่ว่าปัญญาขั้นต่ำที่ยังไม่เข้าถึงอาทีนวญาณนั้น ก็เห็นแต่โทษอย่างเดียว ยังไม่เห็นคุณของพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่พ้นจากโทษเหล่านี้ แต่ว่า การที่หยั่งลงในพระนิพพาน ก็เห็นโทษเหล่านั้นเอง ก็อยากจะพ้นโทษ ก็เพราะเห็นโทษนั้นเอง เมื่อมีกำลังขึ้นมาก็เรียกว่าอาทีนวญาณ ที่จริงน่ะ เห็นภัยมาตั้งแต่ภยญาณแล้วนะคะ เมื่อมากขึ้นก็เรียกว่าอาทีนวญาณ จึงรู้จักคุณของพระนิพพานขึ้นในที่นั้น
ฉะนั้น ปัญญาของอาทีนวญาณนี้ จึงมีอารมณ์ของปัญญา ๒ อย่าง
๑. เห็นโทษในสังขาร
๒. เห็นคุณในพระนิพพาน
เมื่อเห็นพระนิพพาน ใจก็บ่ายหน้าไป หรือน้อมไป เดินไปยังสันติบท คือ พระนิพพานนั้น ความยินดีในสังขารนั้น ก็เกิดขึ้นในที่นั้นไม่ได้ มีแต่ความไม่ยินดีในที่นั้น หมายถึงความยินดีด้วยอำนาจของอารมณ์ตัณหาน่ะ คือว่าความยินดีในที่นั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ในการที่เห็นโทษในอาทีนวญาณนั้นน่ะ เกิดขึ้นไม่ได้น่ะ หมายถึงความยินดีที่เป็นอารมณ์ของตัณหานะคะ แต่ความไม่ยินดีในที่นี้หมายถึงความไม่ยินดีด้วยอำนาจของตัณหา เกิดไม่ได้ ความไม่ยินดีนี่ เกิดด้วยอะไร ? เกิดขึ้น เพราะความยินดีของตัณหาเกิดขึ้นไม่ได้ ในที่นั้น เมื่อตัณหาอาศัยอารมณ์นั้นเกิดไม่ได้ เมื่ออาศัยเกิดไม่ได้แล้ว ไม่ใช่แต่เกิดไม่ได้อย่างเดียว ยังสยบลง ยุบลง สงบลง เรียกว่า สยบลงด้วย ไม่ใช่ว่า ไม่เกิดแล้วจะตั้งอยู่เฉยๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ลดลง ยุบลงเหมือนกับสบู่ที่เรากำลังตีให้ฟองเกิดขึ้น พอตอนหลังแล้ว เหตุที่ให้เกิด คือ ตัณหานี่ไม่เกิดแล้ว เราไม่ตีให้ฟองนั้นเกิดขึ้น ฟองนั้นก็ไม่เกิดแล้ว ไม่ใช่แต่ไม่เกิดอย่างเดียวนะ ฟองนั้นจะค่อยๆยุบลงไปหายไปด้วย เพราะเหตุที่จะให้เกิดนั้นไม่มีแล้ว
อุปมาเหมือนคนที่ทำชั่ว เมื่อถูกทำโทษมากๆ แล้ว ก็จะรู้สึกเข็ดหลาบขึ้น เห็นทุกข์เห็นโทษ ที่ตนได้รับนี่ มันมากมายเหลือเกิน ก็จะรู้สึกเข็ดหลาบขึ้น ก็เริ่มไม่พอใจ หรือไม่ยินดีในการกระทำชั่ว เห็นความชั่วมากแล้ว ก็รู้สึกว่า ไม่เอาแล้ว ที่เราได้รับทุกโทษนี้น่ะ เพราะเหตุว่า เราได้ทำชั่วมา เราก็เห็นโทษของความชั่วแล้ว เราก็ไม่ชอบแล้ว เกิดความไม่พอใจในการทำชั่วนั้นขึ้นมา เพราะเห็นทุกข์โทษนั้น เพราะฉะนั้นความไม่พอใจในที่นั้นน่ะ ก็เป็นเหตุที่ไม่ยินดีในสังขารทั้งหลาย ไม่ใช่เพราะตัณหา ไม่ยินดีในที่นั้น หรือโทสะ ก็ไม่ใช่ทั้งนั้นนะคะ
ก็เพราะเหตุที่ไม่ยินดีในสังขารทั้งหลายเกิดขึ้นหรือก่อขึ้น ไม่ได้นั้นเอง จึงเป็นปัจจัยให้เข้าถึงนิพพาน ซึ่งเป็นญาณให้เข้าถึงนิพพาน หรือเป็นปัจจัยให้ถึงนิพพิทาญาณ ซึ่งเป็นญาณที่ ๘ มีความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย ใช่ไหมคะ ความเบื่อหน่ายในที่นี้ หมายถึงความคลายกำหนัดตัณหายุบลง ก็เป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่าย ความพอใจเกิดขึ้นไม่ได้แล้ว ยังเป็นความเบื่อหน่าย ที่คลายตัณหาออกอีกด้วย คลายความพอใจด้วย ไม่ใช่ว่าเพียงแต่เกิดไม่ได้เฉยๆ หมายถึงคลายความกำหนัด หน่ายออก หรือบ่ายออก ประดุจกับเชือก คือตัณหานั้น ได้ถูกปัญญาในนิพพิทาญาณ อันตัดแก้ปมนั้น เชือก คือ ตัณหานั้นให้คลายออก เพราะตัณหามันร้อยรัดเราเข้าไว้ในสังสารวัฏฏ์ เรียกว่า สัญโยชน์ คือคันถะผูกมัดเข้าไว้ ไม่ให้พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ได้ แต่เมื่อเกิดปัญญาขึ้นในนิพพิทาญาณนี้ ปัญญานั้นตัดเชือก คือตัณหา ที่มัดเราไว้ในสังสารวัฏฏ์นั้นน่ะ ถูกตัดออก คลายออกแล้ว แปลว่า เชือกนั้น ได้คลายออก มันเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นในนิพพิทาญาณนั้น หรือว่า เป็นการคลายตัณหาออกแล้วนะคะ อุปมาเหมือนกับคลายเชือกที่ผูกไว้ในสังสารวัฏฏ์นั้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้เราพ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้ พ้นจากทุกข์โทษนั้นได้
อันความเบื่อหน่ายในนิพพิทาญาณนี้ ไม่ใช่เพราะโทสะ ไม่ใช่ว่า ความไม่พอใจนั้นเป็นโทสะนะ ไม่ใช่เพราะโทสะนะคะ ไม่ใช่โทสะเช่นเดียวกันกับที่เห็นโทษในอาทีนวญาณ อาทีนวญาณก็เห็นโทษเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่โทสะเหมือนกัน ในนิพพิทาญาณนี่ก็เบื่อหน่ายไม่พอใจเหมือนกัน เบื่อหน่ายในที่นี้ ไม่ใช่เพราะสัมปยุตด้วยโทสะ หรืออารมณ์ของโทสะ เช่นเดียวกันกับอาทีนวญาณเหมือนกัน ไม่ใช่เบื่อหน่ายว่า เรากินข้าวอย่างนี้ไม่อร่อยเลย เบื่ออย่างนั้นน่ะ มันเบื่อเพราะโทสะ เมื่อเรามีความพอใจอยู่ในสิ่งที่อร่อยน่ะ นี่มันไม่อร่อย เราก็เกิดความไม่พอใจ อันนี้มีโทสะเกิดได้ในอารมณ์นั้น เพราะเหตุว่า ความพอใจยังมีอยู่ แต่นี่ท่านไม่มีความพอใจในที่ใดๆ ทั้งนั้น ฉะนั้นการเบื่อหน่ายในที่นี้ หมายเพียงว่า คลายตัณหาออกไปเท่านั้นเอง คลายความยินดี ไม่ใช่เพราะโทสะ เป็นเหตุ
ก็นิพพิทาญาณนี้ เป็นวิปัสสนาขั้นที่ ๘ ซึ่งเกิดจากเหตุต่อจากอาทีนวญาณ ก็เหตุที่เห็นโทษซ้ำๆ ซากๆ อยู่ในอาทีนวญาณนั้นเอง ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จะต้องเกิดความเบื่อหน่ายในอารมณ์นั้นๆ ขึ้น เห็นมากเข้า ก็ต้องเบื่อหน่ายในอารมณ์นั้นมากขึ้น และเบื่อหน่ายในนิพพิทาญาณนี้ ก็เป็นความเบื่อหน่ายในโทษของสังขารที่เห็นในอาทีนวญาณนั้นเอง ไม่ใช่เบื่อหน่ายในสังขารอื่น สังขารที่เห็นโทษในอาทีนวญาณนั้นเอง เห็นมากๆ เข้าก็เกิดความเบื่อหน่ายท่านก็จัดปัญญานี้เลื่อนขึ้นไปอีก คือว่า ความเบื่อหน่ายนี้คลายออก คือเมื่อเบื่อหน่ายต่อสังขารที่ต้องเป็นไปในภพทั้ง ๓ นี้ ในกำเนิดทั้ง ๔ ในคติ ๕ อย่างเดียวกันนะคะ หรือในวิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ ท่านไม่ยินดีในธรรมเหล่านี้ ท่านเบื่อหน่ายต่อธรรมเหล่านี้ ท่านยินดีพอใจอยู่ในธรรมที่พ้นจากทุกข์เท่านั้น อุปมาเหมือนผู้เดินทางมาถึงทางสองแพร่ง ทางหนึ่งเป็นทางรก อีกทางหนึ่งเป็นทางเตียนราบโล่ง ทางรกนั้นก็เปรียบเหมือนทางที่จะทำให้เป็นไปของสังขารทั้งหลาย ในสังสารวัฎฎะนะคะ นี่ก็เป็นทางรกที่เป็นไปเพื่อความทุกข์นั้นแหละ ส่วนทางที่ราบรื่นนั้นเป็นทางพระนิพพาน ซึ่งเป็นทางที่จะให้พ้นจากสังขารทั้งปวง
เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนา จนเกิดปัญญารู้เหตุผลแห่งคุณและโทษตามความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว ก็จึงเป็นธรรมดาที่จะบ่ายหกน้าออกจากทางที่มีโทษ ปัญญานั้นก็นำเข้าหาทางที่พ้นจากทุกข์ ที่ปัญญาได้มองเห็นแล้วนั้น การมองเห็นทางแยกนั้นก็ได้แก่ อาทีนวญาณ คือ ไปเห็นว่า มีทางแยกออก คือ เห็นโทษ ๕ คุณ ๕ นี่ได้แก่อาทีนวญาณ การบ่ายหน้าออกจากทางนั้น ได้แก่ นิพพิทาญาณ ซึ่งเป็นปัจจัยแก่วิปัสสนาต่อไป ที่ชื่อว่า มุญจิตุกัมยตาญาณ
อันที่จริง ในญาณทั้ง ๓ คือ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ ทั้ง ๓ นี้ ท่านสงเคราะห์ด้วยอรรถ คือ เนื้อความนั้นเป็นอันเดียวกัน ท่านสงเคราะห์ว่า ทั้ง ๓ อันนี้ ที่จริงน่ะ มีเนื้อความเป็นอันเดียวกันนะคะ เห็นภัยแล้ว ก็ต้องเห็นโทษ เมื่อเห็นเป็นโทษ ก็ต้องเห็นว่ามีภัย เมื่อเห็นโทษ และเห็นภัยแล้ว ก็ต้องเบื่อหน่ายในโทษนั้น ต้องเกิดความไม่พอใจในโทษนั้น นี่เป็นธรรมดา ท่านถือว่ามีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน เป็นเหตุผลติดต่อกันว่า จะต้องเดินไปอย่างนั้น จะต้องเป็นไปอย่างนั้น หรือว่าเป็นไวพจน์กัน ต่างกันแต่พยัญชนะ คือ ชื่อเท่านั้น เรียกว่า ภยญาณ หรืออาทีนวญาณ จะเรียก ภยญาณ หรืออาทีนวญาณก็ได้ เมื่อถึงภยญาณ แล้วก็ต้องถึงอาทีนวญาณแล้ว จะต้องถึงนิพพิทาญาณ จิตใจจะต้องเดินไปทางนี้เทียว เมื่อถึงอันใดอันหนึ่ง ก็ชื่อว่า ถึงทั้ง ๓ ทั้งนี้ก็เพราะถือว่า เมื่อเกิดความรู้สึกในอันใดอันหนึ่งแล้ว ในอารมณ์ใดก็ตาม ก็ในอารมณ์ทั้ง ๒ นั้นก็ต้องรวมอยู่ในที่นั้นด้วยแล้ว ไม่ต้องแยกออกต่างหากอีก เช่นเดียวกับไตรลักษณ์นั้นเอง ไตรลักษณ์มีลักษณะ ๓ ใช่ไหม เห็นอันใดอันหนึ่ง ชื่อว่า เห็นทั้ง ๓ เหมือนกัน ญาณทั้ง ๓ นี้ก็เหมือนกัน มีลักษณะอย่างนั้นเห็นทุกข์ ก็ชื่อว่าเห็นทั้ง ๓ เห็นทุกข์ก็ชื่อว่าเห็นทั้ง ๓ เห็นไม่เที่ยงก็ชื่อว่าเห็นทั้ง ๓ เห็นอนัตตาก็ชื่อว่าเห็นทั้ง ๓ นี่ก็อยู่ในนิพพิทาญาณนะคะ กำลังจะขึ้นมุญจิตุกัมยตาญาณ แต่ว่าญาณต่อไปนี้น่ะ บริสุทธิ์แล้วทั้งนั้น อยู่ในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อยู่ในข้อปฏิบัติที่บริสุทธิ์ จนเป็นเหตุให้ถึงนิพพานแล้ว