**ความสำคัญในพระพุทธศาสนา

ความสำคัญในพระพุทธศาสนา

โดย

อาจารย์ แนบ มหานีรานนท์

นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

 

ขอถวายมนัสการพระคุณเจ้า

สวัสดีคะ  ท่านที่เคารพ

          วันนี้ ดิฉันจะพูดเรื่องความสำคัญในพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเป็นของจำเป็นของพุทธศาสนิกชน

          ฉะนั้น ทุกคนจึงควรทราบพร้อมทั้งเหตุผลว่า พุทธศาสนิกชนทั้งหลายไม่ควรนับถือพระพุทธศาสนาแต่เพียงโดยศรัทธาอย่างเดียว เพราะคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เพียบพร้อมด้วยเหตุ และผล ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ได้มาจากเหตุผลของธรรมชาติ ที่เป็นอยู่ในสากลจักรวาล

          ฉะนั้น คำสอนของพระพุทธองค์ หรือพระพุทธศาสนานั้น จึงไม่ได้เกิดจากการคาดคะเน หรือคิดนึกตรึกตรองเอาเอง หากแต่เกิดจาก ปัญญา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าไปพิสูจน์ จนรู้ความจริงของธรรมชาติที่แท้จริง ตลอดจนเหตุผลพร้อมมูล จนหมดจดจากความลุ่มหลงสงสัย และความเข้าใจผิด ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏอยู่ในโลก หรือในจักรวาลนี้ แล้วจึงได้ทรงนำออกชี้แจง สั่งสอนแก่บรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย ทั้งมนุษย์, เทวดา, มารและพรหมทั้งปวง จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนา เกิดขึ้นได้เพราะพระคุณ ๓ ประการของพระพุทธเจ้า คือ

         พระปัญญาคุณ เป็นพระคุณประการที่ ๑ พระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันประกอบด้วย พระสัพพัญญุตญาณ คือปัญญาที่รู้ทั่วในสิ่งทั้งปวง อันไม่มีอะไรที่จะปกปิดได้ อาสยานุสสยญาณ ปัญญาที่รู้อัธยาสัยของเวไนยสัตว์ อินทริยปโรปริยัติญาณ ปัญญาที่รู้อินทรีย์ แก่อ่อน ยิ่งหย่อนของเวไนยสัตว์ 

          พระปัญญาเหล่านี้ มีได้แต่เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น  โดยเฉพาะพระปัญญาที่สามารถทำลาย อวิชชา ซึ่งเป็นกิเลสที่ยิ่งใหญ่ครอบงำความจริงไว้ไม่ให้ปรากฏแก่สัตว์โลกได้ ก็ต้องอาศัยปัญญาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น จึงจะทำลายอวิชชา เครื่องปิดบังความจริงออกได้

          ถ้าสัตว์ทั้งหลายยังถูกอวิชชาครอบงำอยู่ ก็ไม่สามารถรู้เหตุผล ที่เป็นไปตามความจริงของธรรมชาติ ที่เรียกว่าอริยสัจจ์ หรือปรมัตถสัจจะได้ คงรู้แต่โลกสมมุติ และก็พากันพะวงหลงใหลวนเวียนอยู่ในสังสารทุกข์

         ด้วยพระปัญญาคุณ ที่ได้ตรัสรู้อริยสัจจธรรม จึงนำออกมาสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลาย ให้พ้นทุกข์ได้ด้วยการทำให้หมดจดจากกิเลส ถ้าพระพุทธองค์ไม่อุบัติขึ้นในโลก สัตว์โลกทั้งหลายยังคงต้องแหวกว่ายอยู่ในสังสารสาครชั่วพุทธันดรทีเดียวค่ะ

        พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงเป็นหนี้พระปัญญาคุณของพระองค์อย่างประมาณมิได้  

        พระมหากรุณาคุณ เป็นพระคุณประการที่ ๒ ด้วยพระมหากรุณาคุณ เพื่อให้สัตว์โลกทั้งหลายพ้นจากความดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่ในโลก เพราะไฟแห่งความหลงอันได้แก่โมหะ ที่อุปมาเหมือนดังไฟที่เผาลนสัตว์ทั้งหลายอยู่ ทั้งนี้ด้วยพระมหากรุณาคุณที่เป็นไปพร้อมด้วยพระวิสุทธิคุณ ซึ่งมิได้หวังล่อลวงเพื่อหวังสิ่งตอบแทน หรือการบูชากราบไหว้ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจาพระมหากรุณาคุณที่จะให้สัตว์ทั้งหลาย พ้นจากทุกข์โทษภัยอันเกิดแต่ไฟกิเลสเท่านั้น

        เมื่อเราศึกษาจนได้เหตุผลในพระพุทธศาสนา ดังนี้แล้วเราก็จะมองเห็นอย่างเด่นชัดว่า พระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่พระศาสนาที่เป็นลัทธิ หรือจะกล่าวว่าพระพุทธศาสนาก็คือ ลัทธิ อันหนึ่ง ก็กล่าวไม่ได้

       เพราะพระพุทธศาสนานั้นเป็น ศาสนาสากลที่แท้จริง โดยไม่มีใครแต่งตั้งให้ ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่เป็นความจริงของธรรมชาติ และธรรมชาตินั้นก็หาใช่เป็นลัทธิของใครไม่

        เพราะธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ และเป็นไปในสากลโลก โดยไม่มีใครเป็นผู้สร้างขึ้น และธรรมชาติทั้งหลายเหล่านั้น ก็มิได้เป็นของชาติใดๆ ด้วย ดังอุปมาให้ท่านลองพิสูจน์ดู ตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนลักษณะ หรือสภาวะของธรรมชาติต่างๆ ที่เป็นอยู่ในสากลโลก ซึ่งแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎก ดังที่ทรงจำแนกไว้ในพระอภิธรรมปิฎกนั้นว่า

        สภาวะของจิต หรือธรรมชาติของจิตย่อมคิดอารมณ์ หรือรู้อารมณ์ตามทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส ถูกต้อง และคิดนึก

        สภาวะของเจตสิกธรรม ย่อมปรุงแต่งจิตในการรู้อารมณ์ให้มีความพอใจ, ไม่พอใจ, สงบ หรือฟุ้งซ่าน

        สภาวะของรูปธรรม มีความแตกดับทำลายลงด้วยความร้อนและเย็น, หรือรูปธาตุทั้ง ๔ มี ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, ธาตุดิน นั้นมีลักษณะแข้นแข็ง ธาตุน้ำ มีลักษณะเกาะกุม ทำให้รูปรวมกันเป็นก้อน เป็นแท่ง จึงทำให้ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานที่แตกต่างกัน ธาตุไฟ มีลักษณะร้อน ธาตุลม มีลักษณะทำให้เคร่งตึง หรือเคลื่อนไหวเหล่านี้ ล้วนเป็นสภาวะของธรรมชาติต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในสากลโลกทั่วแสนโกฏิจักรวาล

        เท่านี้ก็คงจะมองเห็นแล้วใช่ไหมคะว่า พระพุทธศา-สนานั้นเป็นสากลศาสนา โดยไม่ต้องมีใครรับรอง หากแต่เป็นความลี้ลับของสากลธรรมชาติ อันไม่มีใครอาจจะถือสิทธิเอาเป็นเจ้าของได้ แม้แต่พระพุทธองค์เอง และธรรมชาตินั้นๆ ก็มิใช่เป็นของชาติอะไร และก็กล่าวไม่ได้ด้วยว่า เป็นสัตว์ หรือชาติอะไร และกล่าวไม่ได้ด้วยว่าเป็นสัตว์ หรือบุคคล เป็นมนุษย์ หรือเทวดา เป็นหญิง หรือเป็นชาย, เป็นคนมี หรือคนจน และเป็นตัวตน หรือเป็นของๆ ตน

        ถ้าเราถูกถามเช่นนี้ คงตอบไม่ได้แน่ว่า ธรรมชาตินั้นเป็นอะไร? หากแต่เหตุผลหรือธรรมชาติเหล่านั้นเป็น อนัตตธรรม ที่ไม่มีเจ้าของ, ไม่อยู่ในอำนาจของใคร และทั้งไม่เป็นไปตามใจใครทั้งสิ้น หากแต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของตนๆ โดยเฉพาะนั้นเอง

        นี่เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นไปตามความจริง ในเหตุผลของสากลธรรมชาตินั้นเอง แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสรู้ไปตามความจริงของธรรมชาตินั้นๆ และก็ทรงสั่งสอนไปตามความจริงแห่งเหตุผลของธรรมชาตินั้น และก็มีพุทธประสงค์ ที่จะให้พุทธบริษัททั้งหลายได้เข้าไปรู้ความจริงในธรรมชาติเหล่านั้น เช่นเดียวกันกับที่พระองค์รู้นั้น ด้วยปัญญาที่รู้เป็นประจักขสิทธิ คือ การเข้าไปพิสูจน์แล้วรู้ด้วยตนเอง

        เห็นจะเป็นด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้กระมัง จึงได้ทรงเทศนาสอนแก่บรรดาชาวกาลามโคตรไว้ว่า ไม่ควรเชื่อในวัตถุ ๑๐ ประการนั้น จะขอยกเอามาไว้ให้ท่านพิจารณาในที่นี้ด้วย เพราะเห็นว่าคงจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการที่จะได้นำไปเทียบเคียง และปรับปรุงในความเชื่อถือของพวกเรา ที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในตัวเราเดี๋ยวนี้ว่า จะพ้นจากวัตถุ ๑๐ อย่างนั้น หรือยังตกอยู่ในข้อห้ามข้อใดข้อหนึ่งใน ๑๐ ประการนั้น

       ถ้ายังตกอยู่ในข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ก็อย่าเพิ่งยึดมั่นในความเชื่อข้อนั้นให้จริงจังนัก เพราะจะเห็นผิดได้ และก็จะเป็นการยากในการที่จะถอนขึ้นจากความเห็นผิดนั้น ถ้ามิฉะนั้นพระพุทธองค์คงไม่ทรงห้ามไว้ และดิฉันก็เห็นว่า เป็นเรื่องยากยิ่ง ที่พวกเราจะพ้นจากความเชื่อใน ๑๐ ประการนั้น

      จึงขอให้พิจารณาดูวัตถุ ๑๐ ประการที่ท่านห้ามไว้ตามความในพระสูตรที่มีอยู่ว่า บรรดาพวกกาลามชนทั้งหลายได้พากันไปเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วได้กราบทูล เรื่องที่ตนสงสัยว่า ในบรรดาเหล่าคณาจารย์ทั้งหลายนั้น มีสมณพราหมณาจารย์ต่างๆ เป็นต้น เมื่อเดินทางมาถึงเกสปุตตนิคมนี้แล้ว ก็ได้ประกาศ แต่วาทะของตนเท่านั้นว่า ถูก ส่วนวาทะของผู้อื่นนั้น ผิด เป็นอยู่ดังนี้เสมอมา จึงทำให้พวกข้าพระองค์เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า ในสมณพราหมณาจารย์เหล่านั้นว่า วาทะของใครเล่าจะเป็นการถูกต้อง

        พระพุทธองค์จึงรับสั่งว่า ชาวกาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่พวกท่านจะมีความเคลือบแคลงสงสัย เพราะท่านเกิดความสงสัยในฐานะที่ควรสงสัย เมื่อพระพุทธองค์รับสั่งดังนั้นแล้ว จึงทรงประกาศในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ ๑๐ ประการ คือ

********๑. ไม่ควรเชื่อข่าวเล่าลือที่ได้ยินได้ฟังกันมา

********๒. ไม่ควรยึดถือตามถ้อยคำที่เล่าสืบๆ กันมา

********๓. อย่าได้เชื่อถือโดยอ้างตำรา

********๔. อย่าเชื่อโดยเห็นว่าผู้พูดสมควรเชื่อได้

********๕. อย่าได้เชื่อโดยนึกเดาเอาเอง

********๖. อย่าได้ถือเอาโดยคาดคะเน

********๗. อย่าได้ถือเอาโดยความตรึกตามอาการ

********๘. อย่าได้เชื่อถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับทิฏฐิของตน

********๙.   อย่าได้เชื่อตามกันมา

********๑๐. อย่าได้เชื่อว่าสมณะนี้ควรเชื่อถือ หรือว่าสมณนี้เป็นอาจารย์ของเรา และที่สุดแม้ตถาคตเองก็อย่าเพิ่งเชื่อ

         เป็นอันว่า ท่านห้ามมิให้เชื่อ แม้แต่ความเห็นถูกที่เกิดกับเราอย่างนั้นหรือ? ขอให้ลองคิดกันดูให้ดี ส่วนมากเรามักเชื่อโดยคาดคะเนกันเอาเอง หรือ แหม บางทีคนนี้เขาพูดดี ถูกใจเราเหลือเกิน ทำไมจึงเชื่อเพราะเขาพูดถูก พูดตรงกับความเห็นของตัวอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านจึงห้ามไม่ให้เชื่อใช่ไหมคะ

          เกสปุตตสูตร หรือกาลามสูตรนี้ นักธรรมะทั้งหลายนับถือกันนักหนาว่า เป็นตำราที่ควรนับถือ เพราะคิดว่าเป็นการรักษาความเป็นปราชญ์ของตนไว้ได้อย่างดี แต่ทั้งๆ ที่คนนับถือนั่นแหละ ก็ไม่ได้พ้นไปจากข้อห้าม ๑๐ ประการนั้นเลย เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามข้อห้ามนั้นเลย ก็คงเชื่อกันต่อไป ตามความเชื่อของตนเอง ก็ตกอยู่ในข้อห้ามนั้นด้วยเหมือนกัน แต่เราไม่ได้สังเกตกันเอง จึงไม่รู้

         เมื่อห้ามไปเสียหมดแล้ว พระพุทธเจ้าท่านให้เชื่ออะไร? พระองค์ ให้เชื่อเหตุผลตามความเป็นจริง เหตุผลของใคร? ตรัสว่า ต้องอาศัยเหตุผลของธรรมชาติ ไม่ใช่เหตุผลของใครทั้งสิ้น โดยแม้คำสอนของพระตถาคตเอง พระองค์ก็ทรงห้ามอย่าให้พึงเชื่อ

         พระพุทธองค์ให้เชื่อตามเหตุผลที่เป็นความจริงของธรรมชาติ ที่พระองค์ได้รู้แจ้งแทงตลอดในสภาวะธรรมเหล่านั้นแล้ว จึงได้บอก, ชี้, บัญญัติ, แต่งตั้ง, เปิดเผย, จำแนก, ทำให้กระจ่าง, ให้เห็นตามความเป็นจริง

         เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้ว ก็คิดว่าท่านผู้ฟังทุกท่านคงจะมองเห็นเหตุผลได้แล้วใช่ไหมคะว่า การที่พระองค์ทรงประกาศพระศาสนา คือสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลาย เพราะเหตุอะไร ?

         เมื่อคัดเอาเฉพาะพระพุทธประสงค์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ในส่วนพระองค์ออกไปแล้ว ก็พอจะมองเห็นได้เด่นชัดแล้วว่า เหลืออยู่แต่ พระมหากรุณาคุณ ที่ได้ฝังตรึงตราอยู่ในดวงพระหฤทัยของพระองค์ สืบเนื่องมาตั้งหลายร้อยชาติ, พันชาติ, หมื่นชาติ, แสนชาติ, ตั้งแต่เริ่มสร้างบารมี ที่ทรงตั้งพระทัยไว้ว่า จะช่วยรื้อสัตว์ ขนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ มีสังสารวัฏฏ์เป็นต้น

         โดยเหตุผลดังนี้ ดิฉันจึงว่า พระพุทธศาสนา ที่เกิดขึ้นในโลก และยังปรากฏอยู่ได้ในโลกจนทุกวันนี้ ก็เพราะ พระมหากรุณาคุณ ของพระองค์นั่นเอง    

          พระบริสุทธิคุณ ต่อนี้ไปก็จะขออธิบายว่าพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้เพราะ พระบริสุทธิคุณ ข้อนี้หมายความว่าพระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนาด้วยความบริสุทธิ์ โดยมิได้หวังอามิสใดๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในพระมหากรุณาคุณนั้น และทรงสั่งสอนสัตว์โลกโดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นคนมี, คนจน จะมีอำนาจวาสนาหรือไม่ก็ตาม สุดแต่ที่ทรงเห็นว่าจะโปรดได้ หรืจะทรงช่วยเหลือได้แล้ว เป็นต้องทรงสั่งสอนเสมอ มิได้ทรงละเลย และเลือกที่รักมักที่ชัง ที่จะเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสนั้น เพราะพระองค์เป็นผู้หมดจดจากกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้ว

           ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ของพุทธบริษัท ที่ประพฤติตามคำสอนของพระองค์นั้น ก็ต้องเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์

          ฉะนั้น ในเรื่องนี้ดิฉันจะได้ยกเอาข้อตัดสินพระธรรมวินัย ในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แก่สาวกและผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์นั้น มาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพื่อจะได้เห็นเด่นชัดในความบริสุทธิ์ แห่งคำสอนของพระบรมศาสดา ที่ตรัสแก่พระมหาปชาบดีโคตรมี ในอังคุตตรนิกายอัฏฐกนิบาตสังขิตตสูตร ว่า :-

ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า

********๑. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด

********๒. เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ ไม่เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก

********๓. เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส

********๔. เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย

********๕. เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ

********๖.เป็นไปเพื่อคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด

********๗. เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน  ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร

********๘. เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อเป็นคนเลี้ยงง่าย

         ดูกรโคตรมี พึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี่ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา

         คำสอนของพระพุทธองค์นั้น มีลักษณะ ๘ ประการ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสแก่ พระนางมหาปชาบดีต่อไปว่า

         ดูกรโคตรมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า

********๑. ธรรมเหล่านี้ เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด

********๒. เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อความประกอบสัตว์ไว้

********๓. เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส

********๔. เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก

********๕. เป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ

********๖. เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ

********๗. เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร  ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน

********๘. เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก

          ดูกรโคตรมี พึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็น ธรรม  นี้เป็น วินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา

 

เหตุให้เกิดพระพุทธศาสนา

          ตามที่ได้อธิบายขยายถึงความถึงเหตุให้เกิดพระพุทธศาสนา คือพระคุณทั้ง ๓ ประการ ได้แก่

********๑. พระปัญญาคุณ

********๒. พระมหากรุณาคุณ

********๓. พระบริสุทธิคุณ

         พระคุณทั้ง ๓ นี้ คงเห็นแล้วว่า ถ้ามิได้อาศัย พระสัพพัญุตญาณ ปัญญาที่รู้แจ้งในสรรพธรรมทั้งปวง อาสยานุสสยญาณ ปัญญาที่รู้อัธยาศัยของเวไนยสัตว์ และ อินทริยปโรปริยัติญาณ ปัญญาที่รู้อินทรีย์แก่อ่อนยิ่งหย่อนของสัตว์ที่ใกล้จะหมดจดจากกิเลส เหล่านี้เป็น พระปัญญาคุณ

         เมื่อพระองค์ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วด้วย พระมหากรุณาคุณ ประกาศพระศาสนาสั่งสอนแก่บรรดาเวไนยสัตว์ทั้งปวง ทำให้พวกเราได้เห็นแสงธรรมตามสมควรแก่อุปนิสัย และการประกาศพระศาสนาของพระองค์ ก็ไม่ประสงค์เพื่ออามิสตอบแทน โดยพุทธประสงค์แล้วก็เพื่อจะรื้อสัตว์ ขนสัตว์ ให้พ้นจากวัฏฏภัย ทั้งนี้ก็ด้วย พระบริสุทธิคุณ นั่นเอง

        พระคุณทั้ง ๓ ประการนี้เอง ที่เป็นเหตุให้เกิดพระพุทธศาสนาสืบมากว่า ๒๕๐๐ ปี เพื่อให้ซาบซึ้งเหตุผลในพระคุณทั้ง ๓ ประการ ที่พวกเราพากันสวดมนต์รำลึกกันอยู่ในหมู่ชาวพุทธ ที่นับถือคำสอนของพระองค์ ที่เต็มไปด้วยเหตุผล ที่เป็นความจริงและบริสุทธิ์ ซึ่งไม่มีคำสอนของศาสนาใดๆ จะเทียบเท่าได้

          ฉะนั้น พระคุณทั้ง ๓ ประการ อันเป็นบ่อเกิดของพระศาสนานี้ จึงเป็นสิ่งที่น่ากราบไหว้บูชาที่สุด สำหรับคนที่ซาบซึ้งในเหตุผล ของพระคุณทั้ง ๓ ประการ หรือผู้ที่ได้รับผลจากพระคุณทั้ง ๓ นั้น

          ฉะนั้น ขอท่านพุทธบริษัททั้งหลาย จงภูมิใจเถิดว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งซึ่งเคยได้บำเพ็ญบุญบารมีมาแล้ว จึงได้มาพบพระพุทธศาสนา อันควรแก่การปลาบปลื้มปีติ ในการที่ได้ ลาภ อันประเสริฐ คือ พบพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ล้ำค่าอันหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเปรียบเทียบมิได้

         เหตุผลที่พระพุทธศาสนาล้ำค่ากว่าสิ่งอื่นใด

********๑. เป็นสากลศาสนา

********๒. เป็นของจริงที่ทนทานต่อการพิสูจน์

********๓. เป็นคำสอนที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล

********๔. เปิดเผย

********๕. เป็นของล้ำค่าที่มนุษย์ทุกคนควรนับถือ

********๖. เป็นของที่ควรแก่คนทุกชั้นทุกวัย

********๗. เป็นของจำเป็นต้องศึกษา และปฏิบัติตาม เพราะทำให้เข้าถึงสันติสุขได้

โอกาสนี้จะได้อธิบายถึงเหตุผลใน ๗ ข้อนั้น

ข้อ ๑. พระพุทธศาสนาเป็นสากล

********หมายความว่า คำสอนของพระบรมศาสดา ที่ทรงประกาศพระพุทธศาสนานั้น ประกาศไปตามพระปัญญาที่สามารถทรงรู้เหตุผลตามความจริง ของธรรมชาติที่มีอยู่ในสากลจักรวาล ด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้นเอง มิได้ทรงประกาศพระศาสนาออกไป ด้วยความคิดนึกตรึกตรอง ด้วยการคาดคะเนเอาเอง หรือตามโองการบัญชาของท่านผู้เป็นใหญ่ใดๆ ก็ไม่ใช่หรือแม้ธรรมที่นำมาสอนนี้ พระองค์ทรงสร้างขึ้น หรือบันดาลขึ้นเองก็หามิได้ ทั้งยังทรงประกาศปฏิเสธอีกด้วยว่า

********พระธรรมคำสอนที่พระองค์นำมาแสดงนั้น พระองค์มิได้ทรงเป็นเจ้าของ ผู้เป็นเจ้าของธรรมะเหล่านี้ ก็มิใช่พระองค์ และก็มิใช่ของใครๆ ทั้งนั้น หากแต่ว่าธรรมะเหล่านั้น เกิดขึ้นตามเหตุผลของธรรมเหล่านั้นเอง หรือเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของธรรมชาตินั้นเอง โดยรับสั่งไว้ในอุปาทาทสูตรอังคุตตรนิกายติกนิบาตว่า

********ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือความตั้งอยู่ตามธรรมดา, ธรรมชาติ, ความเป็นไปตามธรรมชาติ, ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเองตถาคตตรัสรู้บรรลุธรรมธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือความตั้งอยู่ตามธรรมชาติ ความเป็นไปตามธรรมชาติ ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้บรรลุธรรมธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ครั้นแล้วจึงบอกแสดงบัญญัติแต่งตั้งเปิดเผย จำแนกทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือความตั้งอยู่ตามธรรมดา ธรรมชาติ ความเป็นไปตามธรรมชาติ ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้บรรลุธรรมธาตุนั้นว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นแล้วจึงบอกแสดงบัญญัติแต่งตั้งเปิดเผยจำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

********ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้นำเอามาสั่งสอนโดยทรงเทศนาวางแนวทาง อันเป็นไปเพื่อการปฏิบัติ เพื่อที่จะได้นำเข้าไปสู่ความรู้ ตามความเป็นจริงของธรรมชาติ อันเป็นการกำจัดความหลงผิดของสัตว์โลกทั้งปวงนั้นเอง

********เมื่อคำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นไปตามเหตุผลของธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่างดังนี้แล้ว ก็จะมีเหตุผลของธรรมชาติอื่นใดที่มีอยู่ในสากลโลกอีกเล่า ที่นอกจากคำสอนของพระพุทธเจ้าไปนั้นเป็นไม่มีเลย จะมีอยู่ก็โดยมิได้อยู่ในพุทธประสงค์เท่านั้น จึงมิได้นำมาสอน เพราะมิได้เป็นไปเพื่อนำประโยชน์ให้สัตว์โลกหมดจดจากกิเลส และเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ได้นั่นเอง

********เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า พระพุทธศาสนาสอนไปตามความจริงของธรรมชาติเช่นนี้แล้ว ก็พอจะมองเห็นได้แล้วมิใช่หรือว่า พระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่ ลัทธิ จึงไม่ควรเรียกพุทธศาสนาว่า เป็น ลัทธิอันหนึ่ง เพราะลัทธินั้นเป็นเพียงความนิยมยอมรับนับถือของคนหมู่ใดหมู่หนึ่งเท่านั้น ไม่เป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป คำว่า ลัทธิ จึงไม่ใช่เป็นสากล

********แต่พระพุทธศาสนานี้เป็นสากล เพราะพระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมไปตามสากลธรรมชาติ มิใช่แสดงธรรมเพื่อความนิยมของหมู่ใด คณะใดคำสอนทั้งหลายที่จะไม่เป็นไปตามธรรมชาติ หรือนอกเหนือธรรมชาติไปนั้นไม่มีเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องตกอยู่ภายใต้กฎแห่งธรรมชาติ ทั้งหมดทั้งสิ้น และธรรมชาตินั้นๆ ก็ไม่ใช่ลัทธิอะไร หรือศาสนาอะไร ของใครทั้งสิ้น

********เมื่อคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น สอนไปตามความจริงของสากลธรรมชาติแล้ว จึงถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นสากลศาสตร์ เมื่อเป็นสากลศาสตร์  แล้วก็ไม่ใช่เป็นลัทธิ หากเป็นธรรมะที่เป็นสากลนิยม ซึ่งธรรมชาติเหล่านั้นไม่ใช่ของใคร หรือไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ และธรรมชาตินั้นไม่ใช่มีเฉพาะแต่มนุษย์ แม้เทวดาและรูปพรหมทั้งหลาย ก็อาจศึกษาเล่าเรียน และนับถือพระพุทธศาสนาได้ด้วย จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสากล

********ข้อ ๒. พระพุทธศาสนาเป็นของจริง ที่ทนต่อการพิสูจน์

********คำสอนในพระพุทธศาสนานี้ เป็นสัจจธรรมที่เป็นความจริง ที่ทนทานต่อการให้พิสูจน์ได้ทุกกาล ทุกสถานที่ จะขอยกตัวอย่างให้ท่านลองพิสูจน์กันดู เอาแค่ที่เราพอจะตามพิสูจน์ดูกันได้ ดังเช่น

********ในคำสอนพระพุทธศาสนานี้ สอนว่า ธาตุไฟ มีลักษณะร้อน ธาตุน้ำ มีลักษณะไหลและเกาะกุม ทำให้รูปร่างที่เป็นวัตถุต่างๆ เกิดขึ้น ธาตุดิน มีลักษณะแข้นแข็ง ธาตุลม มีลักษณะทำให้เคลื่อนไหว ดังนี้เป็นต้น ที่เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา

********ขอให้ท่านลองพิสูจน์ดูว่า ไฟ มีที่ไหนบ้างไหมที่ไม่ร้อน ดิน ที่ไหนบ้างไหมที่ไม่แข็งหรืออ่อน น้ำ มีที่ไหนที่ไม่ไหลหรือไม่เกาะกุม  ลม มีที่ไหนที่ไม่ทำไห้ไหวหรือเคร่งตึง จะมีดิน น้ำ ไฟ ลม ในประเทศใดหรือชาติไหน หรือศาสนาไหนบ้างเล่า ที่จะไม่มีลักษณะดังที่พระพุทธเจ้าสอนไว้

*********และธรรมชาติของ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม นี้เป็นของชาติใด, ภาษาใด ท่านอาจบอกได้ไหมว่า  ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม ชาติอะไร ศาสนาไหน จะบอกได้ไหมว่า ธรรมชาติเหล่านั้น เป็นสัตว์ บุคคล หรือเป็นมนุษย์ เป็นหญิง หรือเป็นชาย เป็นคนมี หรือคนจน และเป็นของตน หรือของใคร

********เมื่อถูกถามเช่นนี้ ก็คงตอบไม่ได้แน่ว่าเป็นอะไร เพราะธรรมชาติเหล่านั้นเป็นของจริงที่เป็นสากลธรรมชาติ เพราะเป็นสากลศาสนาที่ไม่ใช่เป็นศาสนาของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่ใช่สัตว์, ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย และไม่ใช่ตัวตนของใคร ธรรมชาตินั้นเป็น อนัตตา ไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่เป็นไปตามความต้องการของใคร หากแต่ธรรมชาติเหล่านั้นเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยของตนๆ นั้นเอง

********คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มีลักษณะเป็นไปตามความจริงของเหตุผลแห่งสากลของธรรมชาตินั้นๆ และพระพุทธองค์ ก็ตรัสรู้ตามธรรมชาตินั้นจึงทรงสั่งสอนตามเหตุผลของธรรมชาตินั้น ด้วยพุทธประสงค์ที่จะให้พุทธบริษัททั้งหลาย เข้าไปรู้ตามความจริงของธรรมชาตินั้นเช่นเดียวกัน

********ข้อ ๓. พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล

********พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล ดังจะเห็นได้จากที่พระองค์ทรงเทศนา ไว้ในเกสปุตตสูตร หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่ากาลามสูตร ซึ่งแสดงแก่ชาวกาลามะ ที่ทูลถามพระองค์ว่า

********สมณพราหมณาจารย์ทั้งหลาย ที่ผ่านมาในเกสปุตตนิคมนี้  ต่างก็แสดงวาทะว่าของตนถูก ของคนอื่นผิด ทุกคณาจารย์ต่างก็กล่าวอย่างนี้ จนพวกชาวกาลามะไม่รู้จะเชื่อใครดี

********พระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้เชื่อใน ๑๐ ประการเป็นต้นว่า ไม่ให้เชื่ออาจารย์, ไม่ให้เชื่อตำรา, ไม่ให้เชื่อโดยการคาดคะเนเอา ไม่ให้เชื่อเพราะพูดชอบใจเราต้องกันกับทิฏฐิของตน อย่างนี้เป็นต้น แม้แต่ที่ตถาคตทรงรับสั่งเอง ก็อย่าให้เชื่อ

********การที่ทรงรับสั่งดังนี้ ก็เพราะมีพุทธประสงค์ที่จะ ให้เชื่อในเหตุผลของธรรมทั้งหลายที่พิจารณาเห็นได้ด้วยปัญญาของตนเองเสียก่อน แล้วจึงควรเชื่อนั่นเอง

********ในข้อนี้ทรงมุ่งหมายที่จะให้เชื่อในธรรมที่เป็นไปตามเหตุผลนั่นเอง เพราะธรรมะและเหตุผลนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่อาจารย์ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า และ ไม่ใช่ตำราด้วย

********ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ฟังชาวกาลามะผู้มีปัญญาเหล่านั้น ได้เข้าถึงอนัตตธรรมนั้นเอง เพราะธรรมทั้งหลายที่แท้จริงนั้นเป็น อนัตตา ไม่ใช่สัตว์, ไม่ใช่บุคคล, ไม่ใช่ตำรา, ไม่ใช่อาจารย์ ทั้งนั้น การแสดงธรรมในเกสปุตตสูตรก็มีจุดมุ่งหมายอย่างนี้

********แต่เวลานี้กลับเป็นที่กำลังนิยมกันว่า เขาไม่ยอมที่จะเชื่อใครทั้งนั้น แม้แต่พระไตรปิฎก  ก็เชื่อถือไม่ได้  เพราะถือตามหลักที่พระพุทธองค์แสดงไว้ในกาลามสูตรนั้น นี่ดูเอาเถอะ อย่างนี้ก็มี ก็บอกว่าพระไตรปิฎกเองก็เชื่อไม่ได้ เพราะท่านไม่ให้เชื่อตำรา ก็ท่านว่าไว้ที่ไหน ? ไม่ใช่ในพระไตรปิฎกดอกหรือ ?

********ความจริงในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ ทรงกล่าวขึ้นเพื่อเป็นอุบายที่ได้ทรงทราบอุปนิสัย และจริตโดยเฉพาะของชาวกาลามะเหล่านั้นว่า ปัญญาจะถือเอาความเข้าใจในอุบายนั้นได้ ด้วยการเทศนาอย่างนี้เท่านั้น หาใช่ที่จะเอามาใช้สำหรับบุคคลทั่วๆ ไป ที่ยังไม่อาจเข้าถึงความหมายของอุบายนั้นได้

*********ก็ขอให้ท่านผู้อ่านลองคิดดูทีหรือว่า ถ้าทุกคนต่างถือก็ถือเอาพุทธภาษิต ข้อนี้หรือบทนี้ด้วยกันทุกคนแล้ว   สถานการณ์ของโลกจะเป็นอย่างไร ? เพราะต่างคนต่างก็ไม่เชื่อกันทั้งนั้น

********ลูกก็ไม่เชื่อพ่อ แม่ ลูกศิษย์ก็ไม่เชื่อคำสอนของครูบาอาจารย์

********หนังสือไม่ต้องอ่าน เพราะไม่เชื่อตำรา

********พระสงฆ์ก็ไม่ต้องปฏิบัติตามธรรมวินัย เพราะไม่ให้เชื่อ

********โรงศาลชำระความไม่ได้ เพราะไม่ให้เชื่อพยาน

********ตำรวจ ทหาร ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัย

********แล้วอย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าโลกเรามีความเข้าใจกันดังนี้ และปฏิบัติตามดังนี้แล้ว ดิฉันว่า โลกนี้คงไม่ใช่มนุษย์เป็นแน่

********ตามที่ยกเอาเหตุผลขึ้นมากล่าวให้ทราบนี้ ก็เพื่อจะให้เห็นว่า คำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา ที่เรียกว่า พุทธศาสนา นั้นมีความสุขุมลุ่มลึก คัมภีรภาพยิ่งนัก จึงเป็นสิ่งที่ควรสังวร ไม่ควรประมาท และเป็นสิ่งที่ควรศึกษาพิจารณาให้ถึงความหมายและเหตุผลให้ถูกต้องจริงๆ มิฉะนั้น จะเป็นการทำให้ผู้มีการศึกษาน้อย พลอยเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากเหตุผลที่ถูกต้องไป ซึ่งจะเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว และจะเป็นกรรมอันหนักมิใช่น้อยที่ตนเองไม่คาดคิดเลย

*********ข้อ ๔. พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่เปิดเผย

********พระพุทธศาสนานอกจากจะประกอบด้วยเหตุผลที่ถูกต้องตามธรรมชาติที่เป็นความจริงแล้ว ยังประกาศสภาวะของตัวเองอย่างเปิดเผยอยู่ตลอดเวลา พระพุทธองค์ทรงสอนว่า

*********รูปนามขันธ์ ๕ ของสัตว์ทั้งหลายเป็นที่ตั้งของทุกข์ ในอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำทุกวัน ทุกข์มันประกาศตัวเองให้รู้ว่าเป็นทุกข์ เปิดเผยท้าทายให้พิสูจน์ได้ตลอดเวลา หรือในขณะที่ประสบกับอารมณ์ดีๆ ก็มีความชอบใจ พอใจ จิตใจที่ประกอบกับความโลภ ก็จะประกาศสภาวะของโลภมูลจิตออกมาให้ปรากฏ

********แต่ถ้าประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดี ไม่ชอบใจ จิตที่ประกอบกับความโกรธ, หรือความเศร้าใจ เสียใจ ก็ประกาศสภาวะเปิดเผยแสดงตัวออกมา แต่เพราะเราไม่มีปัญญา หรือถูกอวิชชาครอบงำจิตใจไว้ จึงไม่อาจรู้ได้ทั้งๆ ที่ธรรมชาตินั้นๆ ปรากฏเปิดเผยอยู่ตลอดเวลา

*********อันที่จริง รูปนามขันธ์ ๕ หรืออารมณ์ ๖ ที่เป็นอาหารของปัญญา คือเป็นอารมณ์ให้ปัญญารู้ได้ ตามคำสอนของพระพุทธองค์นั้น ปรากฏเปิดเผยอยู่ตลอดเวลาให้ทุกคนรู้ได้ โดยไม่ต้องแก้ไขปรุงแต่งแต่ประการใด เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ที่แสดงความเป็นรูปนามเปิดเผยให้รู้ได้ ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนอยู่ตลอดเวลา แต่เพราะอวิชชาปกปิด หรือปัญญาเรายังน้อย นั่นเอง

*********ข้อ ๕. พระพุทธศาสนาเป็นของล้ำค่า ที่มนุษย์ทุกๆ คนควรนับถือ

*********อาศัยเหตุที่พระพุทธศาสนานั้น เป็นของหาได้ยากยิ่ง จะบังเกิดขึ้นได้ในโลกแต่ละครั้งละคราว แต่ละยุคสมัย ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เลย และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว พระธรรมคำสอน ก็ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่สัตว์โลกโดยอเนกประการอันหาประมาณมิได้และเกิดขึ้นจากพระมหากรุณาที่บริสุทธิ์ ไม่มีการแอบแฝง หรือเป็นไปเพื่อความหลอกลวงหวังลาภยศอย่างใด เป็นธรรมที่เป็นจริงมีจริง และทนต่อการพิสูจน์ มีปรากฏอยู่ให้พิสูจน์ได้ทุกเมื่อ, ทุกขณะ และทุกเวลานาที ไม่ใช่เป็นของว่างเปล่า ที่ไม่มีอะไรจะให้พิสูจน์

********ฉะนั้นพระพุทธศาสนา จึงไม่มีการล้าสมัย เพราะเป็นของจริง และของจริงนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง พระพุทธศาสนาจะเป็นอยู่คู่โลก หรืออยู่กับธรรมชาตินั้น และแม้โลกจะสลายไปแล้วก็ตาม แต่พระพุทธศาสนาก็ยังไม่สูญหายไป เว้นไว้แต่จะไม่มีใครรู้เท่านั้น เพราะเหตุผลอันนั้นมีอยู่เป็นประจำ ก่อนพระพุทธศาสนาจะปรากฏเกิดขึ้นมาใหม่เสียอีก แต่ความจริงเหล่านี้จะได้มาจากไหน ก็จะต้องได้มาจากการพิสูจน์

********ฉะนั้นถ้าใครพิสูจน์ได้มาก คนนั้นก็เข้าถึงความจริงได้มาก ใครพิสูจน์ได้น้อยก็เข้าถึงความจริงนั้นน้อย แต่ความจริงที่เข้าถึงนั้น ร้อยคนพันคนจะต้องเห็นเป็นอย่างเดียวกัน ไม่ใช่เห็นตามใจคนอื่น เหมือนยืมจมูกคนอื่นมาหายใจ ด้วยเหตุผลดังนี้ พระพุทธองค์ทรงสั่งไม่ให้เอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงเอาตนเป็นที่พึ่ง และเอาธรรมเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ เพราะธรรมเป็นของจริงที่ไม่มีเปลี่ยนแปลง

********ถ้าใครพิสูจน์ความจริงไม่ได้เลย ผู้นั้นก็ไม่ได้พบพระพุทธศาสนาเลย ทั้งๆที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่นั้น และก็ไม่ชื่อว่า รู้จักพระพุทธศาสนา และพระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสตร์ที่เรียนแล้ว รู้แล้วจบได้

********ส่วนการเรียนรู้นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ศาสตร์, วิทยาศาสตร์ หรือธรรมศาสตร์ เป็นต้นเหล่านี้ก็ตาม ก็ไม่เป็นวิชาที่เรียนจบ ถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครเรียนจบ แล้วจะพยากรณ์ได้ไหมว่า เมื่อไรจะเรียนจบ ก็คงพยากรณ์ไม่ได้แน่ เพราะไม่ใช่เป็นวิชาที่เรียนจบได้

********เพราะอะไรจึงเรียนไม่จบ เพราะไม่ใช่เป็นวิชาที่ให้รู้ของจริง และความรู้นั้นยังมีการล้าสมัยจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

อันที่จริงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงสอน ให้มีตนเป็นที่พึ่ง ลองคิดดูซิ เดี๋ยวนี้เราเป็นอยู่โดยไม่ต้องอาศัยใครหรือเปล่า ก็ต้องอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ เราจะไม่ต้องอาศัยใครเป็นอยู่ มีตนของตนเป็นที่พึ่ง ไม่ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ที่ไหนอีก ถึงพระอริยบุคคลเบื้องต้น คือพระโสดาบันบุคคลนั่นแหละ ไม่ต้องอาศัยใครสอนก็ได้ กำลังอำนาจของโลกุตตรกุศลที่ตนได้แล้วนั้น และจะเป็นปัจจัยให้มีกำลังละกิเลสได้ยิ่งๆ ขึ้นไปได้อย่างแน่นอน ถึงแม้ไม่ขวนขวายเจริญวิปัสสนาต่อไป พระองค์ก็ทรงรับรองว่า อย่างมากยังต้องเกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้น ก็แสดงว่า พระโสดาบันท่านมีตนเป็นที่พึ่งของตนแล้ว

*********ศาสนาไหนเล่าที่จะสอนให้มีตนเป็นที่พึ่งของตน จนไม่ต้องอาศัยใครเป็นอยู่ นอกจากพระพุทธเจ้าแล้ว ใครเล่าที่จะสอนให้เข้าถึงธรรม อันเป็นที่พึ่งของตนได้อย่างแท้จริง

********จึงนับว่าคำสอนของพระพุทธองค์ หรือพระพุทธศาสนานั้น นับว่าเป็นศาสนาที่ล้ำค่ายิ่ง

********ข้อ ๖. พระพุทธศาสนาเป็นของที่เหมาะควรแก่มนุษย์ทุกเพศทุกวัย

********คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร ไม่ว่าจะเป็นเด็ก, ผู้ใหญ่, ผู้หญิง, ผู้ชาย เรียนรู้ได้ทั้งนั้น ถ้าผู้ใดเรียนรู้และปฏิบัติตาม มีแต่จะเกิดประโยชน์สุขอย่างเดียว เพราะคำสอนของพระองค์มีรสเดียว คือ วิมุติรส ที่ผู้ใดรับคำสอนนั้นแล้ว ย่อมเกิดปัญญา สามารถละกิเลสได้ตามสมควร ทุกเพศ, ทุกวัย และพระธรรมคำสอนนี้ย่อมใช้เป็นที่พึ่งได้จนถึงวาระที่ใกล้จะตาย และยังอาศัยเป็นอารมณ์ส่งไปในสุคติภพได้อีกด้วย จึงนับว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่เหมาะควรแก่มนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย ไม่มีโทษภัยใดๆ ทุกประการ

********ข้อ ๗. พระพุทธศาสนา เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องศึกษาและปฏิบัติตาม

********พระพุทธศาสนามีจุดประสงค์ที่จะทำคนให้เป็นคนดี ทำคนลุ่มหลงให้หายจากความลุ่มหลง ทำให้คนโง่ ให้เป็นคนฉลาด ทำคนเห็นผิดให้เห็นถูก ทำคนที่มีกิเลสให้หมดกิเลส จนที่สุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ได้อย่างแท้จริง

********ถึงแม้ผู้ศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนนั้นจะยังไม่อาจละกิเลสให้หมดจดจนพ้นทุกข์ได้ แต่ระหว่างที่ศึกษาและปฏิบัติตามนั้น ก็ได้รับประโยชน์สุข ตามสมควรแก่สัมมาปฏิบัติ คือเมื่อรักษาศีล, กิเลสอย่างหยาบก็สงบลง ทำให้ได้รับความสุขทางกาย, วาจา, ใจ ในกามสุข

*********เมื่อเจริญสมถภาวนาจนจิตสงบ ก็สามารถข่มนิวรณ์ คือกิเลสอย่างกลางที่เกิดทางใจให้สงบลงได้ ยิ่งได้เข้าถึงอัปปนาฌาน ก็ให้ได้รับความสุขทั้งทางกายและใจที่สงบจากกามคุณอารมณ์ เรียกว่า ฌาสุข ได้

********และยิ่งได้ศึกษาในสภาวะของปรมัตถธรรมแล้วนำไปเจริญวิปัสสนาภาวนา ประกอบมีปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิด ก็สามารถเข้าถึงมรรค ผล นิพพานได้ เป็นเหตุให้สิ้นกิเลส และพ้นจากวัฏฏะทุกข์ ประสบกับสันติสุข อันถาวรได้ ซึ่งเป็นความสุขอันประเสริฐกว่ากามสุข และฌานสุข ทั้งปวง

********จึงเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนานั้น จะศึกษามากน้อยเพียงใด จะปฏิบัติตามได้แค่ไหน ก็ล้วนให้ความสุขแก่ผู้ศึกษา และปฏิบัติตามทุกคนทุกเวลา ได้ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ขอให้คิดดูเถิดว่า พระพุทธศาสนานั้นจำเป็นแก่การศึกษา และปฏิบัติตามหรือไม่ และถ้าไม่สนใจศึกษาและปฏิบัติตามจะเป็นอย่างไร? เห็นจะไม่มีปัญญา อวิชชา มิจฉาทิฏฐิ ของบุคคลก็จะมากล้นโลกแน่

********เมื่อประชากรของโลกส่วนใหญ่ เต็มไปด้วยอวิชชา และมิฉาทิฏฐิแล้ว อกุศลธรรม ก็จะเป็นเจ้าครอบครองโลก เมื่อโลกอยู่ใต้อกุศลธรรมครอบงำแล้วสัตว์โลกจะอยู่สุขได้อย่างไร? ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะปราบอวิชชา และละมิจฉาทิฏฐิได้ จึงจำเป็นที่สาธุชนทั้งหลาย ต้องใส่ใจขวนขวายศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงชี้แจงให้เราได้เข้าถึงเหตุผลของธรรมชาตินั้นได้

********ขอท่านสาธุชนทั้งหลาย จงมอบกายใจ อุทิศถวายแก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์เถิด จะประสพความสุขกาย สุขใจ และได้พบกับสันติสุขได้อย่างแท้จริง.