**ญาณทัสสนวิสุทธิ
ญาณทัสสนวิสุทธิ
โดย อาจารย์แนบ มหานีรานนท์
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
สวัสดีค่ะ ท่านที่เคารพ
*****วันนี้ขึ้นวิสุทธิใหม่นะคะ วันนี้ญาณทัสสนวิสุทธิ ขึ้นต้นญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นวิสุทธิที่ ๗ นะ เมื่อคราวที่แล้วมาก็จบปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ จบลงคราว ที่แล้วมาก็แต่โคตรภู แต่ว่าโคตรภูนั้นน่ะ บางท่านก็สงเคราะห์ไว้ในญาณทัสสนวิสุทธิโดยอารมณ์ แต่ว่าบางท่านก็สงเคราะห์ไว้อยู่ในเขตของวิปัสสนา แต่ที่แล้วมานั้นโคตรภูก็ยังอยู่ในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินะคะ เพราะว่าถือว่ายังไม่เป็นโลกุตตร กิจนั้นก็ยังคงอยู่ในวิปัสสนากิจนั่นเอง
*****นี่ขึ้นต้นใหม่ก็ญาณทัสสนวิสุทธิ ก็ขึ้นต้นตั้งแต่ มรรคญาณ
*****มรรคญาณนี้เป็นญาณที่ ๑๔ ถ้าพูดถึงญาณนะคะ มาถึงมรรคญาณนี้เฉพาะปัญญาก็นับเป็นญาณที่ ๑๔ ถ้านับตั้งแต่อุทยัพพยญาณมา ที่เป็นตัวปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิก็ให้นับตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ปราศจากกิเลสแล้ว และมรรคญาณนี้ก็เป็นโลกุตตรธรรม สงเคราะห์อยู่ในญาณทัสสนวิสุทธิ นับเป็นวิสุทธิที่ ๗ อันเป็นวิสุทธิสุดท้ายนะคะ เพราะว่าวิสุทธินั้นมี ๗ อย่างด้วยกัน อันนี้ก็เป็นวิสุทธิขั้นสุดท้าย
*****ในความหมายของคำว่า “มรรคญาณ” นี้ เป็นชื่อของปัญญาที่เกิดขึ้นในขณะที่มรรคจิตเกิด คือมรรคญาณ เกิดขึ้นขณะหนึ่งที่ต่อจากโคตรภูญาณ เมื่อโคตรภูญาณดับแล้ว จิตที่ต่อจากโคตรภูญาณนั้นชื่อว่ามรรคญาณ หรือว่าต่อจากปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิก็ได้นะคะ เพราะเหตุว่ามรรคญาณนี้ก็ได้อาศัยปัจจัยมาจากโคตรภูญาณ ฉะนั้นจึงเกิดต่อจากโคตรภูญาณนะคะ และปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิตามที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น ในที่นี้ก็นำเอามากล่าวย้ำอีกนะคะ ก็เพื่อจะได้ไม่ลืมในเหตุของธรรมที่เป็นผลนั้นน่ะ ก็ดึงเอาเหตุมาอีก จะมาพูดถึงผลในที่นี้ เพราะการเข้าใจในเหตุของธรรมนั้น เป็นความสำคัญอันยิ่งในการที่จะนำเข้าถึงผลนั้น ๆ เราต้องทำเหตุถูก ถึงจะเข้าถึงผลที่ถูก เพราะเราจะต้องกระทำเหตุไม่ใช่ผล สิ่งที่เราจะต้องกระทำน่ะคือเหตุ ไม่ใช่กระทำผล
*****ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงนำเอาโคตรภู และปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ที่เป็นเหตุของมรรคญาณ หรือเป็นเหตุของญาณทัสสนวิสุทธิที่เรากำลังจะพูดกันอยู่นี้ นำมาอีกก็คือ ในคำว่าปัญญาที่ชื่อว่ามรรคญาณนี้เป็นชื่อของปัญญานะคะ คือหมายถึงปัญญาที่ทำกิจของอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นั้นสมบูรณ์ เป็นตัวที่ทำกิจสำเร็จบริบูรณ์ที่ตรงนี้ และโดยถูกต้องแล้วด้วย คือทุกข์ที่ควรจะกำหนดรู้นั้นก็รู้แล้ว ตัณหาที่ควรจะละนั้นก็ได้ละแล้ว นิโรธที่ควรจะทำให้แจ้งนั้นก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ อันเป็นทางจะให้ถึงนิพพานนั้น เป็นกิจที่ต้องเจริญให้เกิดขึ้นนั้น ก็ได้เจริญให้เกิดขึ้นแล้วครบกิจทั้ง ๔ ปัญญานี้ สมบูรณ์ด้วยกิจทั้ง ๔ นะคะ
*****ก็ในมรรคจิตที่สามารถทำกิจในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ให้สมบูรณ์ได้นั้นก็เพราะอาศัยพระนิพพานมาเป็นอารมณ์ มาเป็นปัจจัยนั้นเอง คือเป็นอารัมมณปัจจัย ก็ในคำพูดที่พูดว่าปัญญาในมรรคจิตได้ทำกิจในอริยสัจจธรรมให้ สมบูรณ์นั้น ก็เพราะอาศัยพระนิพพานเป็นอารมณ์ คำพูดอย่างนี้นะคะ ขอให้พยายามฟังหน่อย อันนี้มันสลับซับซ้อนกันนะคะ ที่ทำกิจให้สมบูรณ์ได้นั้นก็เพราะอาศัยพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตามหลักฐานว่าอย่างนี้ทั้งนั้นนะคะ ดิฉันก็คิดว่าท่านผู้ฟังก็ยังมองไม่เห็นเหตุผลในธรรมนี้เพราะอะไร? เพราะในที่นั้นคงจะยังไม่ชัดเจนดีนัก
*****ดิฉันจึงขอยกเอาเหตุผลในธรรมที่ว่า มรรคจิตสำเร็จกิจในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ได้เพราะอาศัยนิพพานมาเป็นอารมณ์ ก็เพราะเหตุว่าพระนิพพานนั้นเป็นธรรมที่สิ้นทุกข์ใช่ไหม นี่ตั้งเป็นคำถามขึ้นนะคะ ที่ที่สิ้นทุกข์ ที่ที่สิ้นตัณหา ฉะนั้นขณะจิตใดที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้น ขณะนั้นทุกขสัจจะ ได้แก่นามรูปที่เกิดดับเป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้ในขณะที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ พยายามฟังหน่อยนะคะ จะเกิดขึ้นไม่ได้เพราะว่าพระนิพพานนี้พ้นจากนามรูป นามรูปที่เกิดดับนั้นน่ะ ไม่มีในพระนิพพาน ขณะใดที่เอาพระนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว ขณะนั้นนามรูปก็ไม่มี นามรูปจะไม่มีในขณะนั้น ในอารมณ์นั้น ฉะนั้นจิตที่กำหนดรู้ทุกข์นั้น จึงเป็นอันว่าได้สิ้นสุดลงที่โคตรภูญาณ ไม่มีวัตถุที่จะให้ทำแล้ว การกระทำก็ต้องไม่มี ใช่ไหม เราจะทำอะไรเราก็ต้องอาศัยวัตถุที่ถูกกระทำ ทีนี้วัตถุที่ถูกกระทำไม่มี การกระทำของเราก็ต้องไม่มี เพราะฉะนั้นจิตที่กำหนดรู้ทุกข์นั้นน่ะ ต้องมีทุกข์ให้รู้ จิตนั้นจึงยังทำงานอยู่ แต่เมื่อทุกข์ไม่มีแล้ว จิตที่กำหนดทุกข์จะมีได้อย่างไร ก็เป็นอันว่าไม่มีแล้วใช่ไหม เสร็จกิจแล้ว ไม่ต้องกำหนด เพราะกำหนดแล้วว่าอย่างนั้นเถอะ มันไปหมดลงที่โคตรภูญาณนะคะ เพราะเหตุว่าโคตรภูญาณนั้นมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงไม่มีทุกข์เป็นอารมณ์ให้กำหนดรู้แล้วใช่ไหมล่ะ ก็เรียกว่ารู้แล้ว คือไม่ต้องกำหนดอีกเท่านั้นเอง
*****ฉะนั้นปริญเญยยกิจที่รู้ทุกข์นั้นจึงสิ้นสุดลงแค่โคตรภูญาณนั้นเอง เพราะว่าขณะที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้นนะ กิเลสก็เกิดไม่ได้เลย เป็นอารมณ์ในที่นั้น ใช่ไหม แต่ส่วนอนุสัยที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นมาสัมปยุตกับจิตนั้นน่ะ ตัณหานุสัยและทิฏฐานุสัย คือมิจฉาทิฏฐิที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ที่เป็นไปในสังสารวัฏฏ์นั้นน่ะ ยังไม่ได้ถูกประหารในขณะนั้น แต่ก็ถูกอารมณ์ของปัญญาในโคตรภูทำให้หมดอำนาจลง จนไม่สามารถจะสร้างกรรม คล้ายๆ กับว่าจะไปเที่ยวปล้นสดมภ์ใครไม่ได้อีกแล้วนะคะ
*****ในข้อนี้ก็อุปมาเหมือนกับผู้ร้ายที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้แล้วขังเอาไว้ แต่ยังไม่ได้ทำการประหารให้ตายไป แต่ก็หมดอำนาจแล้ว เพียงแต่ตัวยังไม่ได้ตายเท่านั้น เพราะว่ากิเลสที่จะเกิดขึ้นมาทำกรรมในที่นั้น ทำไม่ได้แล้ว กิเลสยังมีอยู่แต่ว่าทำกรรมไม่ได้ การที่ทำกรรมไม่ได้นี่น่ะ เป็นการทอนอำนาจของกิเลสใช่ไหม เหมือนอย่างเราเป็นผู้มีอำนาจมาก เราสามารถจะทำไรก็ทำได้ทุกอย่าง ทีนี้อำนาจคือกิเลสนั้นก็มีกำลังมาก แต่ถ้าเราทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็ถือว่าเราหมดอำนาจ เพราะเราไม่มีอำนาจพอที่จะทำได้แล้ว ฉะนั้นอำนาจในที่นั้นก็น้อยลงไป หมดอำนาจที่จะทำอะไรต่ออะไรได้ ฉะนั้นถึงแม้ตัณหานุสัยจะมีอยู่ในโคตรภูญาณก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่มีอำนาจที่จะมาสร้างรูปสร้างนามในที่นั้น ทำไม่ได้อีกแล้วนะคะ แต่ก็หมดอำนาจชั่วแต่ว่าตัวยังไม่ตายเท่านั้น แต่เมื่อปัญญาที่เกิดร่วมด้วยมรรคจิตนั้น เกิดขึ้นต่อจากโคตรภูนั้น เกิดขึ้นอีกขณะหนึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ ด้วยอาศัยการอุปการะจากโคตรภูนั้นเอง จึงทำการประหารกิเลส นักโทษคือกิเลสที่เป็นอนุสัย มีตัณหานุสัย และทิฏฐานุสัยเป็นต้น คล้ายๆ กับว่าคนเราน่ะ พระเจ้าแผ่นดินก็ดี ใครก็ดีจะประหารผู้ร้ายให้ตายน่ะ จะต้องจับผู้ร้ายมาได้เสียก่อนใช่ไหม เมื่อจับผู้ร้ายมาได้แล้วถึงจะทำการประหารได้ ถ้ายังจับผู้ร้ายไม่ได้ก็ฆ่าผู้ร้ายไม่ได้อยู่นั่นแหละ เมื่อฆ่ายังไม่ได้ มันก็เที่ยวทำการปล้นสดมภ์อยู่ได้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นอนุสัยนี่ที่จะฆ่าได้น่ะ ต้องตัดอารมณ์กัน ต้องตัดอารมณ์เสียก่อนนะคะ ตัดอำนาจที่จะทำอะไร ๆ ไม่ให้ทำได้เสียก่อน เมื่อโคตรภูนั้นช่วย อุปการะคล้ายๆ กับว่าทำอำนาจให้หมด คล้าย ๆ ผู้ร้ายถูกจับได้ทำอำนาจให้หมดแล้ว เพราะฉะนั้นมรรคที่เกิดมาทีหลังถึงประหารตัณหานุสัย และทิฏฐานุสัยให้ตายไปเป็นสมุจเฉทได้
*****เมื่อได้พูดมาถึงตอนนี้แล้ว ก็รู้สึกว่ามันมีเหตุผลลุ่มลึก สลับซับซ้อนเต็มทีนะคะ คงจะเป็นการลำบากแก่ท่านผู้ฟังใหม่ ๆ และฟังก็ลำบากค่ะ จะหาคำพูดมาพูดให้ท่านเข้าใจแจ่มแจ้งก็ยากเหลือเกิน จะพูดอย่างไรไม่ให้ผิดด้วย และให้คนเข้าใจด้วย เราจะใช้คำพูดอย่างไร แหมลำบากเหมือนกัน บางทีเหงื่อแตกเหมือนกันนะ ลำบากแก่ผู้ที่ฟังใหม่ ๆ ที่จะนำเอาเหตุผลที่ได้อธิบายแล้วนั้น ทำให้ชัดเจนแจ่มแจ้งได้ ฉะนั้นจึงหยิบเอาเหตุผลที่ยังสลับซับซ้อนอยู่นั้นน่ะ ยกขึ้นมาตั้งเป็นปัญหา คือ หยิบขึ้นมาข้อหนึ่งแล้วก็วินิจฉัยในข้อนั้น ก็รู้สึกว่าจะสะดวก ง่ายกว่าที่จะพูดไปทั้งหมด ให้เข้าใจเพียงปัญหา เท่านั้นแหละ
*****ขอตั้งเป็นปัญหาขึ้นถามว่า มรรคที่มีองค์ ๘ นั้นน่ะ เป็นผู้ประหารกิเลสมิใช่หรือ? มรรคเป็นผู้ประหารกิเลสนะ ใคร ๆ ก็ทราบกันอยู่ ส่วนพระนิพพานน่ะ ไม่ใช่เป็นผู้ประหารกิเลสเลย แต่แล้วทำไมล่ะ มรรคที่เป็นผู้ประหารกิเลสน่ะ จะต้องไปอาศัยพระนิพพาน จึงจะทำการประหารกิเลสด้วย อันนี้เป็นปัญหาอันหนึ่งนะ ก็ปัญหาที่อยู่ในที่นี้พูดมาแล้วเมื่อตะกี้เหมือนกัน แต่รู้สึกว่ามันยังคลุมเคลืออยู่ใช่ไหมล่ะ ถ้ามีปัญหาอย่างนี้ขึ้นก็อาจจะลำบากใช่ไหมล่ะ? เพราะฉะนั้น ก็เลยหยิบเอาคำนี้น่ะ ตั้งขึ้นมาที่พูดแล้วนี่น่ะ ตั้งเป็นปัญหาขึ้น เพื่อทำความเข้าใจในที่นั้นให้ชัดเจนโดยเฉพาะนะคะ นี่แหละ เพราะเหตุอะไรว่ามรรคที่ตัวเป็นผู้ประหารกิเลสแล้ว ทำไมถึงต้องอาศัยพระนิพพานที่ไม่ได้ทำการประหารกิเลสอะไรเลย?
*****เรื่องนี้ขออธิบายว่า พระนิพพานเป็นธรรมชาติที่สิ้นทุกข์ หรือเป็นที่สุดแห่งทุกข์ โดยเฉพาะเหตุนี้เอง ก็เมื่อมรรคปัญญาได้ปฏิบัติเข้าไปจนถึงสมบูรณ์ด้วยสัจฉิกิริยากิจ ด้วยการทำนิพพานให้แจ้งน่ะ หรือเข้าไปแจ้งพระนิพพานนี่น่ะ หรือปฏิบัติไปจนถึงพระนิพพาน การถึงพระนิพพานน่ะหมายถึงว่าการมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้ายังไม่ได้นิพพานมาเป็นอารมณ์ยังไม่เรียกว่า ถึงนิพพานใช่ไหม นี่ให้เข้าใจคำว่าถึงเสียก่อนปฏิบัติไป จนถึงนิพพานน่ะคืออย่างไร? ด้วยการมีพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้นเอง จึงเรียกว่า “ถึง” หรือเรียกว่า “แจ้ง” ให้เข้าใจคำนี้ก่อนนะคะ
*****มรรคปัญญาที่ได้นิพพานเป็นที่เกิดร่วมด้วยมรรคจิต ที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งนั้นเอง ปัญญามรรค ๘ นี่น่ะ ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์น่ะ ก็เพราะว่าต้องรับอารมณ์ตามจิตใช่ไหมล่ะ จิตนั้นเกิดขึ้นและก็เจตสิกคือปัญญาที่จะเกิดขึ้นตามอารมณ์นั้น ถ้าจิตรับอารมณ์อะไร เจตสิกหรือปัญญานี้ก็จะต้องรับอารมณ์นั้น นี่เป็นกฎธรรมดานะคะ ท่านนักศึกษาอภิธรรมก็คงทราบดีแล้ว ฉะนั้น มรรคจิตนี้น่ะเกิดขึ้นขณะหนึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ ฉะนั้นมรรคปัญญา คือมรรคมีองค์ ๘ นั้นน่ะ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นนั่นเองจึงมีอำนาจ เพราะอาศัยพระนิพพานเป็นอารมณ์นะคะ จึงมีอำนาจชี้ขาด หรือมีความตัดสินลงอย่างเด็ดขาดขณะที่ได้นิพพานเป็นอารมณ์นั่นเองใช่ไหมคะ จึงตัดสินเด็ดขาดทีเดียว แน่ใจ ความแน่ใจของปัญญานั้นน่ะ ว่าทุกข์น่ะมีจริง เพราะตนก็ได้กำหนดมาแล้วในวิปัสสนาญาณ และตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ด้วยอำนาจความยินดีหรือปรารถนา ในทุกข์นั้นก็มีจริง เพราะตนได้ประหัตประหารมาเรื่อยๆ และธรรมที่สิ้นทุกข์หรือธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์นั้นก็มีจริง ความแน่ใจตัดสินเด็ดขาดลงไปในขณะนั้นเพราะเหตุไร เพราะตนได้เข้าไปถึงนิพพานนั่นเอง ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพาน จะตัดสินว่าธรรมที่ดับทุกข์น่ะมีจริงนะ ตัดสินไม่ได้เลย เมื่อตัดสินไม่ได้ก็ไม่แน่ ความสงสัย จะขาดได้หรือไม่ ก็ไม่ขาด ที่เป็นวิจิกิจฉานุสัยก็ขาดไม่ได้เหมือนกัน ธรรมที่ดับทุกข์นั้นมีจริง เพราะอะไร? เพราะเหตุว่าตนนั้นก็ได้ปฏิบัติไปถึงธรรมที่ดับทุกข์แล้ว เพราะฉะนั้นความเชื่อที่ยังไม่เห็น กับความเชื่อที่เห็นนี่ มีกำลังผิดกันมากนะ
*****โดยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ปัญญาสัมมาทิฏฐิ ในมรรค ๘ นั้น เรียกว่า “เห็นชอบ” เห็นชอบน่ะคือ เห็นอะไร? คือเห็นในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นั้นเอง แล้วท่านก็บอกไว้ชัดว่าปัญญาสัมมาทิฏฐิเห็นชอบ เห็นอะไร เห็นอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นั่นแหละ เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เห็นนิโรธ เห็นมรรคนั่นเอง ท่านก็บอกไว้ชัดเจนในที่นั้นนะคะ เห็นชอบก็คือเห็นอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ หรือ เห็นครบ ๔ ก็ได้โดยกิจนะ ก็ครบละ หรือสำเร็จกิจในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ที่สำเร็จในอริยสัจทั้ง ๔ ได้น่ะ กิจนั้นที่สมบูรณ์ได้ทั้ง ๔ น่ะ สมบูรณ์ได้ด้วยเหตุอะไร? ก็ด้วยเพราะอาศัยพระนิพพานเป็นอารมณ์นั่นเอง ขณะใดที่อาศัยพระนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นกิจทั้ง ๔ หมด นิพพานที่ดับทุกข์ ทุกข์ก็ดับในที่นั้นใช่ไหม ตัณหาก็ดับ และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงธรรมดับทุกข์ก็ถึงอย่างนี้สมบูรณ์แล้ว และธรรมที่ดับทุกข์ก็มีอยู่เฉพาะหน้าแล้ว ก็ด้วยอำนาจของปัญญาที่รู้ในอริยสัจจธรรมที่เกิดขึ้นร่วมกับ มรรคจิตนั้นเอง มีอำนาจแรงกล้า เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในที่นั้น เป็นปัญญาที่ได้ประสบการณ์มาแล้ว หรือว่าได้พิสูจน์มาด้วยตนเองแล้ว
*****ฉะนั้นท่านจึงมีนามว่าปัญญานี้ชื่อ วชิระ หรือ วชิราก็เรียก ปัญญานี้น่ะมีชื่ออย่างนี้ ทำไมจึงชื่ออย่างนี้ชื่อ วชิราหรือวชิระ ท่านเปรียบด้วยสายฟ้า วชิระนี่นะ เหมือนกับสายฟ้า ฉะนั้นปัญญาในที่นี้น่ะท่านเปรียบเหมือนกับสายฟ้า ซึ่งมีกำลังแรงกล้ามากทีเดียว สามารถที่จะทำลายในสิ่งที่คนมีกำลังน้อยทำลายได้ยาก เช่น ภูเขา เป็นต้น ให้แตกทำลายลงได้ อำนาจของสายฟ้านั้นน่ะ ฟาดให้ภูเขาแตกทลายลงมาได้ ในระยะฟาดลงครั้งเดียวนะ ครั้งเดียวหรือเพียงขณะหนึ่งเท่านั้นแหละ สายฟ้าที่ฟาดลงมาครั้งเดียวน่ะ แรงกล้าสามารถจะทำลายในสิ่งที่มั่นคง แข็งแรงได้ โดยฟาดลงมาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
*****ท่านจึงอุปมาว่าปัญญาในองค์มรรคที่เกิดขึ้นแม้แต่ เพียงขณะเดียวเท่านั้นที่เกิดร่วมกับมรรคจิตเกิดขึ้น ขณะเดียวเท่านั้นก็มีอำนาจเท่ากับสายฟ้า ที่ประหารกิเลสให้พินาศลงไปได้ กิเลสน่ะยากเหลือเกินที่ใครจะทำลายมันลงได้ ใครๆ จะทำลายด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์อื่นๆ ก็ไม่ได้ ด้วยอำนาจวาสนาด้วยเงินทองทั้งหมดก็ไม่ได้ แต่ว่าปัญญาในที่นี้น่ะทำลายได้ ที่เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้นนะคะ ฉันใดก็ดี ข้ออุปมาอันนี้ก็เหมือนกับปัญญาที่เกิดขึ้นเพียงขณะหนึ่งในมรรคจิตนั้นโดยอาศัยความรู้นะคะ ที่มีอำนาจนี่น่ะ ด้วยอาศัยความรู้ที่เกิดขึ้นจากความเข้าถึงความสมบูรณ์ในกิจของอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นั้นเอง รู้ในกิจของอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นะ รู้น่ะ รู้ว่าอย่างไร? คือรู้ว่าธรรมคือทุกข์ที่ควรจะกำหนดรู้นั้นก็รู้แล้ว ตัณหาเป็นธรรมที่ควรละก็ได้ละแล้ว นิโรธเป็นธรรมที่ควรจะแจ้งหรือถึงก็ได้ถึงแล้ว มรรคที่ควรจะเจริญ ข้อปฏิบัติที่ทำให้ถึงพระนิพพานหรือนิโรธนั้นก็ได้ทำให้ถึงแล้ว
*****นี่ดิฉันยกเอามาว่าอีกครั้ง เมื่อตะกี้นี้พูดแล้วใช่ไหมคะ ที่ยกมาว่านี้ก็เพื่อจะให้เห็นว่า ความรู้อย่างนี้เป็นเหตุนะคะ เพราะอำนาจที่เข้าไปรู้อย่างนี้นั้นเอง ด้วยเหตุผลที่ปัญญาได้เข้าถึงความสมบูรณ์ในกิจของตน ในขณะที่เกิดร่วมด้วย มรรคจิตเพียงขณะหนึ่ง โดยอาศัยพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้นเอง จึงทำให้เกิดกำลังปัญญาที่ประกอบด้วยกำลังของศรัทธา ที่เข้าไปรู้จริงและเชื่อจริง เชื่อว่ากระไร? เชื่อว่าทุกข์ที่ต้องการจะพ้นนั้น พ้นได้จริง ตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ที่ควรจะดับนั้น ก็ดับได้จริงๆ นี่อย่างนี้นะ นี่อีกอันหนึ่งนะ ที่รู้ว่าตัณหาได้ละแล้วนี่น่ะ การที่รู้อย่างนี้น่ะ ถึงได้เชื่อแน่เหลือเกินว่าตัณหานั้นน่ะ ดับได้จริง ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นน่ะ ดับได้จริง เพราะเข้าไปรู้ว่าตัณหาอันเกิดเป็นกิจที่ต้องดับตัณหานั้น ก็ดับแล้ว เพราะตัณหาดับไปแล้วจึงได้เกิดศรัทธา และเกิดปัญญามั่นคงที่ประกอบด้วยศรัทธาเป็นกำลังมาด้วย ดับได้จริง และนิโรธหรือนิพพานอันเป็นธรรมที่ดับกิเลส หรือดับทุกข์นั้นก็มีจริง นี่อย่างนี้อีกระยะหนึ่งนะ กระแสของจิตใจนะคะ และมรรคอันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึง พระนิพพานนั้นก็มีจริง แนวทางการปฏิบัตินั้น ไม่ถึงความเป็นหมันที่จะไร้ผลน่ะ ไม่มีเลย มีจริงและก็ได้ถึงจริง ก็ด้วยปัญญาที่อาศัยความรู้ทั้งเหตุและผลในสัจจธรรมทั้ง ๔ ตามที่ได้อธิบายมาแล้วนั้นแหละ จึงเป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมกำลังของปัญญาที่ประกอบไปด้วยศรัทธานั้นให้เป็นพละ นี่คำว่าปัญญานั้นเป็นพละ มีอำนาจมากเหลือเกิน มีกำลังมีอำนาจยิ่งประดุจสายฟ้า พอเกิดความศรัทธาแล้ว ปัญญาที่รู้ชัดเจนนั้นทำลายความเห็นผิดใช่ไหม ทำลายความสงสัยว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่จะมีจริงหรือไม่หนอ ธรรมที่ดับทุกข์ นิพพานน่ะมีจริง ๆ หรือเปล่า เพราะว่าอำนาจที่เข้าไปเชื่อมั่นคง ที่ได้ประสพด้วยตนเองนั้นเอง ปัญญาอันนั้นแหละค่ะ ประดุจสายฟ้าฟาดลงถูกอะไร ถูกมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งได้แก่สัสสตทิฏฐิที่เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยง คือ ขันธ์ ๕ เป็นต้น เป็นอัตตาตัวตน เป็นสุข เป็นของคงที่แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแตกดับ หรือบางทีก็เห็นว่า เที่ยงบ้าง ไม่เที่ยงบ้าง เป็นต้น ตามที่ได้แสดงไว้ใน มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ อย่างนะคะ เช่นในขันธ์ทั้ง ๕ นั้นน่ะ บางขันธ์ก็เที่ยง เช่นรูปขันธ์ไม่เที่ยง แต่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์นั้นเที่ยง นี่น่ะเห็นอย่างนี้ก็มี หรือนามขันธ์ทั้ง ๓ เวทนา สัญญา สังขารก็ไม่เที่ยง แต่จิตคือวิญญาณขันธ์นั้นเที่ยง นี่อย่างนี้น่ะ เขาเห็นกันอย่างนี้ ก็มีเยอะไป เราก็เคยได้ยินนะ หรืออีกนัยหนึ่งที่เป็น ความเห็นที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิก็มี สัสสตทิฏฐิก็มีเที่ยงบ้าง ไม่เที่ยงบ้างก็มี เที่ยงก็มีแก่คนนั้น ไม่เที่ยง มีแก่คนนั้น แต่มันไม่ใช่แน่นอนลงไปอย่างเดียวนะคะ ที่ได้อธิบายมาแล้วน่ะ เที่ยงบ้าง ไม่เที่ยงบ้าง บางอย่างน่ะ เที่ยงหมดทุกอย่าง ไม่เที่ยงไม่มีเลย บางอย่างก็ประกอบด้วยความเห็นที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ ซึ่งเห็นว่าโลกนี้เป็นของสูญ ว่างปล่า ไม่มีสัตว์ บุคคลตายแล้วก็สูญหมด ไม่มีชาตินี้ ไม่มีชาติหน้า ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ไม่มีกรรมและไม่มีผลของกรรม ไม่มีผู้ทำ ไม่มีผู้รับ ไม่มีนรก ไม่มีสวรรค์ ไม่มีใครไปนรกและไม่มีใครไปสวรรค์ด้วย นี่น่ะการเห็นอย่างนี้น่ะ มันก็เป็นข้าศึกแก่ปัญญาที่เข้าไปรับรู้เหตุผลนะคะ และก็ความสงสัยที่ไม่รู้ว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นมีจริงไหม มีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ และก็ไม่รู้ว่าพระนิพพานเป็นธรรมที่พ้นทุกข์นั้นน่ะ มีจริงหรือไม่ ทีนี้เมื่อตัวถึงแล้วก็รู้ว่าที่เห็นอย่างนี้ไม่มีหรอก ต้องดับหมดเลยใช่ไหม และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพานนั้นจะมีจริงหรือเปล่า นี่อย่างนี้ และข้อปฏิบัติอย่างไหนถูกและอย่างไหนผิดอย่างนี้เป็นต้น ธรรมอันนี้ก็เป็นข้าศึกกับศรัทธา ไม่เชื่อหรอก สวรรค์มี นรกมี ก็ไม่เชื่อเหมือนกัน อันเป็นข้าศึกกับอารมณ์ของศรัทธานะ
*****นี่ ที่ยกมานี้ยกเอาแต่หัวข้อใหญ่ๆ นะ ที่พอจะเห็นหน้าตา หรือความรู้สึกที่จะเห็นได้ง่ายๆ ในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับอารมณ์ของปัญญา หรือเป็นข้าศึกที่จะต้องถูกปัญญาประหารเท่านั้น ที่ยกมานะคะ ที่เป็นส่วนแขนงของกิเลสย่อยๆ นั้นก็ยังมีอีกมาก จะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะเกรงว่าจะเสียเวลาไปนะคะ ถ้าเรารู้ตรงนี้แล้วกิเลสย่อยๆ ที่มันเกิดจากมูลดังกล่าวนี้น่ะ เราก็รู้แล้วใช่ไหม เราก็รู้แล้วว่ากิเลสอะไรเกิดบ้าง ก็ในความรู้สึกที่เกิดขึ้น ด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิและวิจิกิจฉา ที่เกิดขึ้นด้วยโลภมูลและโมหมูล เป็นเหตุตามที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น ได้ถูกปัญญาในมรรคญาณนั้นทำลายไป ทำลายให้พินาศไป หมายถึงว่าเกิดขึ้นไม่ได้อีกนับตั้งแต่ในมรรคจิตนะคะ จะเกิดขึ้นไม่ได้อีกเลยทีเดียว
*****ส่วนตัณหาน่ะ คือโลภะที่มีความยินดีหรือพอใจ และยึดมั่นในอารมณ์ของมิจฉาทิฏฐิ เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น เพราะมิจฉาทิฏฐินี้เป็นปัจจัยให้โลภะเกิดได้ มิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจยุบบันก็ได้ เป็นปัจจัยก็ได้ ถ้าเรียนมหาปัฏฐานแล้วจะรู้นะ มิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะก็ได้ โลภะเป็นปัจจัยให้เกิดมิจฉาทิฏฐิก็ได้ มันได้ทั้ง ๒ อย่าง
*****เพราะฉะนั้นจึงว่า มิจฉาทิฏฐิที่ป็นปัจจัยให้เกิดโลภะน่ะ นี่น่ะมิจฉาทิฏฐิ ที่เห็นว่าตายแล้วสูญ ชาตินี้ ชาติหน้าไม่มี นรกสวรรค์ก็ไม่มี ความเห็นของมิจฉาทิฏฐิ ว่าอย่างนี้ เที่ยง เป็นสุข อย่างนี้น่ะ ขันธ์นี่เป็นสุข ความเห็นของมิจฉาทิฏฐิว่าอย่างนี้น่ะ หรือจะตายแล้วสูญก็ตามเถอะ ตัณหาก็พอใจ รับรองว่ามิจฉาทิฏฐิที่มีความเห็นอย่างนั้นน่ะ แหม! ยินดีและพอใจในอารมณ์ของมิจฉาทิฏฐิที่เห็นอย่างนั้น ที่รู้สึกอย่างนั้น ตัณหาพอใจแล้ว
*****เมื่อตัณหาพอใจแล้วก็เข้าไปยึดมิจฉาทิฏฐินั้น ประคับประคองให้มิจฉาทิฏฐินั้นตั้งอยู่โดยมั่นคง เพราะเป็นตัวอุปาทานนี่ เข้าถึงอุปาทานแล้ว มั่นคงเลย เพราะว่าตัณหาเป็นปัจจัยให้พอใจแล้ว ก็เลยมั่นคงขึ้นเหมือนกัน มีกำลังขึ้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมิจฉาทิฏฐิจึงไม่เกิดกับโทสะ เพราะอะไร? เพราะโทสะมันปฏิเสธอารมณ์ใช่ไหม มันไม่ชอบอารมณ์อย่างนั้น ถ้าหากว่ามิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้น โทสะมันไม่เห็นด้วย มันไม่เอา มันก็ไม่เอาย่างนั้น มันไม่พอใจละ มันไม่พอใจมิจฉาทิฏฐิที่เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ได้ ปัจจัยไม่ได้อุปการะใช่ไหมล่ะ ก็เมื่อมิจฉาทิฏฐิที่เป็นปัจจัย ให้เกิดขึ้นนั้น ดับสิ้นไปแล้ว ไม่มี เพราะถูกปัญญาที่เห็นถูกน่ะ เข้าไปทำลายอารมณ์ของมิจฉาทิฏฐิให้เกิด ไม่ได้อีกเลยในที่นั้น ถูกประหารไปแล้ว ดับสิ้นไปแล้ว โลภะที่เกิดร่วมด้วยมิจฉาทิฏฐิ ก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน เช่นโลภะอันนี้น่ะ เกิดขึ้นเพราะพอใจในมิจฉาทิฏฐิ ในอารมณ์ของมิจฉาทิฏฐิใช่ไหมล่ะ แต่ทีนี้ มิจฉาทิฏฐิน่ะ ไม่มีแล้ว โลภะที่เกิดร่วมสัมปยุตกับมิจฉาทิฏฐินั้น จะมีได้ไหม มีไม่ได้เลย ก็ต้องละ ประหารไปในตัวน่ะ เพราะฉะนั้นมิจฉาทิฏฐิน่ะ จึงเป็นตัวสำคัญใช่ไหม ที่ปฐมมรรคจะต้องประหาร เมื่อมิจฉาทิฏฐิถูกทำลาย ไปแล้ว เป็นเพื่อนกันกับตัวตัณหานี่ สมมุติว่าอย่างนั้นนะ ไปไหนก็ไปด้วยกันคู่กันเสมอแหละ ไปด้วยกัน คู่กันไปกับมิจฉาทิฏฐิเสมอเลย แต่ทีนี้เมื่อมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งเป็นเพื่อนคนนั้นตายไปแล้ว ตัณหาที่จะไปร่วมกับมิจฉาทิฏฐิน่ะมีไหม ต้องไม่มีใช่ไหมล่ะ? ก็ไม่มี! แต่ตัณหายังมีไหม? มี! แต่ว่าไม่ไปร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ มีแต่ทิฏฐิวิปปยุต เพราะว่าที่ไปร่วมกับมิจฉาทิฏฐิน่ะไม่มีแล้ว เกิดไม่ได้ ตายไปด้วยกันแล้ว เพราะอำนาจของมิจฉาทิฏฐิน่ะ ไม่มีนั่นเอง
*****เพราะฉะนั้นตัณหาที่สัมปยุตด้วยมิจฉาทิฏฐิก็ต้อง ดับไปด้วย ไม่มีใช่ไหมคะ ก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน ส่วนวิจิกิจฉา คือความสงสัยที่ไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่ามีจริงไหม สิ่งนั้นมีจริงไหมก็ไม่รู้ นรกมีจริงไหม สวรรค์มีจริงไหมก็ไม่รู้ ก็สงสัย สงสัยนี่ ยังไม่รู้แน่นะ แต่ว่าความสงสัยนี้ไม่เป็นตัวอุปาทาน เกิดขึ้นจากโมหะเป็นมูล ไม่เป็นอุปาทาน โมหะก็ไม่เป็นอุปาทาน เพราะฉะนั้นเป็นแค่เพียงสงสัยนะ ไม่รู้ว่านรกมีจริงหรือเปล่า ความสงสัยอันนี้จะเป็นเหตุให้ทำบุญ หรือจะเป็นเหตุให้ละบาปได้ไหม? ไม่ได้เลย! สงสัยว่านรกนี้มีจริงหรือเปล่าหนอ คงจะไม่มีจริงกระมัง สงสัยอย่างนี้ก็ไม่กลัวบาป เพราะสงสัยว่านรกคงจะไม่มีจริง ที่ไม่กลัวบาป สงสัยว่าสวรรค์นี่มีจริงหรือเปล่า คงจะไม่มีน่า เขาพูดหลอกเราไปอย่างนั้นแหละ ก็ไม่เป็นเหตุให้ทำบุญอีก
*****เพราะฉะนั้นความสงสัยทั้ง ๒ อย่างนี้น่ะ ไม่เป็นเหตุให้ทำบุญ และไม่เป็นเหตุให้กลัวบาป ทำบาปก็ได้ เพราะว่าไม่แน่ใจนี่ เพราะฉะนั้นตัวความสงสัยอันนี้น่ะ ท่านจึงให้ตกไปในอกุศล แต่ทางมหาญาณเขาให้เป็นอัญญสมานา เพราะอะไรเพียงแต่สงสัยเท่านั้น จริงอยู่ เพียงแต่สงสัยเท่านั้นแหละ แต่ว่าเพียงแค่สงสัยนี่น่ะ ทั้งดีและทั้งชั่วหรือไม่ดีและไม่ชั่ว นี่ก็ล้วนเป็นเหตุให้ทำชั่ว และเป็นเหตุไม่ให้ทำดี เพราะฉะนั้นท่านจึงจัดให้ตกไปในอกุศล เพราะไม่เป็นเหตุให้ทำกุศลเลย แต่อนุสัยอันนี้ก็เกิดจากโมหะเป็นมูลนะคะ เมื่อเกิดปัญญาที่เข้าไปรู้ ความจริง เมื่อเกิดขึ้นในมรรคญาณนั้น ก็ต้องทำลายโมหะ ความไม่รู้ที่เป็นมูลเหตุให้เกิดความสงสัย เพราะไม่รู้จริงนั้นเอง ก็ทำลายให้สิ้นไป เพราะว่าปัญญาเกิดขึ้น โมหะก็เกิดขึ้นไม่ได้ในที่นั้น โมหะนี่อย่างอื่นจะทำลายไม่ได้ ต้องทำลายด้วยปัญญา เมื่อความรู้จริง รู้แน่เกิดขึ้น ในที่นั้นความไม่รู้เกิดไม่ได้ เมื่อความไม่รู้เกิดไม่ได้ ความสงสัยที่เป็นมูลเหตุจากความไม่รู้นั้น ก็เกิดไม่ได้ เหมือนกัน ก็ต้องสิ้นไป หมดไปตามมูลนั้น
*****ฉะนั้น เมื่อถึงพระโสดาแล้ว ความสงสัยหมดแล้ว เพราะว่าโมหมูลที่สัมปยุตด้วยความสงสัยก็ต้องหมดไปด้วยกัน
*****โดยเหตุนี้พระโสดาจึงต้องทำลายวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยด้วย นี่ที่ทำลายน่ะ ไม่ใช่ว่าจะเลือกทำลายเองนะ ปัญญาในที่นั้นแหละ อารมณ์อันใดที่เป็นข้าศึกแก่ปัญญาในที่นั้นแล้ว ปัญญานั้นแรงกล้ากว่า ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องทำลายข้าศึกให้หมดไปได้
*****ถ้าหากว่าอารมณ์อันใด ยังไม่มาเป็นข้าศึกแก่ปัญญาอันนั้น หรือว่าปัญญาอันนั้นยังไม่พอที่จะประหารให้หมดไปได้ ข้าศึกอันนั้นก็ยังไม่ถูกปัญญาประหาร หรือมีกำลังมากกว่ายังประหารไม่ได้ ปัญญาในขั้นต้นก็ประหารได้ เท่าที่ตนจะประหารได้ ส่วนสีลัพพตปรามาส ที่ยังไม่รู้ว่า ทำอย่างไรหรือข้อปฏิบัติอย่างไร ที่จะทำให้ถึงนิพพานได้ โดยถูกต้องนั้น ที่เกิดขึ้นจากมิจฉาทิฏฐิ อันนี้เกิดขึ้นจาก มิจฉาทิฏฐิ ความไม่รู้น่ะยังไม่ได้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ใช่หรือ ไม่ใช่ก็ไม่รู้ อันนี้ใช่ไหมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิน่ะ เข้าถึงอุปาทานแล้วใช่ไหมล่ะ ไปทำแล้วเข้าใจผิดเกิดความ เห็นผิดขึ้นว่าข้อปฏิบัติที่ไม่ใช่เป็นทางพระนิพพาน นี่แหละเข้าใจว่าใช่ ด้วยอำนาจความเข้าใจผิด ก็ไปยึดมั่น ถือมั่น ว่าอันนี้เป็นทางนิพพาน ต้องปฏิบัติอย่างนี้ทีเดียว กรรมนั้นก็เกิดขึ้นจากมิจฉาทิฏฐิใช่ไหม เพราะว่า เมื่อเข้าถึงอุปาทานแล้ว สีลัพพตุปาทาน ต้องเข้าถึงมิจฉาทิฏฐิแล้ว เพราะมิจฉาทิฏฐินี้แหละเป็นตัวอุปาทาน ทำให้ยึดมั่น ถ้ายังไม่ปฏิบัติ เอ! อันนี้แน่หรือไม่แน่ ยังไม่รู้ ยังไม่แน่ ยังไม่รู้ของใครแน่ อย่างนี้ก็มีนี่ เพราะยังไม่ไปปฏิบัติ เพราะว่าแหมเวลานี้ข้อปฏิบัตินี่มากมายเหลือเกิน แล้วก็ยังตัดสินไม่ได้ ยังไม่รู้แน่ว่าของใครถูกของใครผิด อย่างนี้น่ะยังไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยังไม่เป็นสีลัพพตุปาทานนะ ยังไม่เป็น เพราะว่ายังไม่ได้เข้าไปยึด ยังไม่ได้เข้าไปติด ยังไม่ได้เข้าไปเกาะในข้อปฏิบัติใดๆ ต่อเมื่อไปตัดสินผิดว่า อันนี้ถ้าจะใช่แน่ อย่างนี้ก็ยึดมั่นถือมั่นในข้อปฏิบัติอันนั้นทีเดียว ว่าอันนี้ใช่ นี่เกิดขึ้นจากความเห็นผิดนะ เพราะว่าองค์ธรรมของสีลัพพตะ ได้แก่มิจฉาทิฏฐินั้นเอง มีมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย จึงยินดี ยึดมั่นในข้อปฏิบัติที่ไม่ใช่ทางที่ถูกนั่นเอง เข้าใจผิดว่าถูก
*****ก็เมื่อมิจฉาทิฏฐิได้ถูกทำลายน่ะ มิจฉาทิฏฐิในข้อปฏิบัติที่ไปยึดมั่นในสีลัพพตะที่ไม่ใช่ทางนั้นน่ะ ก็ได้ถูกทำลายไปแล้ว เพราะเหตุอะไรหรือคะ สีลัพพตปรามาสที่ได้ถูกทำลายลงไปนั้น เพราะความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติอันเป็นเหตุให้ถึงนิพพานนั้น ที่ได้ถูกทำลายไปในขณะที่ทำกิจแจ้งนิพพานนั้นเอง ในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้น ปัญญาในมรรคนั้นเกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์น่ะ ก็ตัดสินแน่ว่า ข้อปฏิบัติอันนี้แน่ที่มาถึงนิพพาน เพราะตัวไปถึงนิพพานแล้วอย่างนี้ เพราะฉะนั้นสีลัพพตปรามาส ปัญญานั้นจะประหารลงไปเลยว่าทางอื่น อย่างนั้นความเห็นผิดที่ไปยึดถือว่าอันนั้นอันนี้ เป็นอย่างนี้อย่างนั้นน่ะ ก็ถูกประหารลงไปในขณะนั้นเลย เพราะว่าตนได้ถึงนิพพานแล้วในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องเชื่อแน่ในข้อปฏิบัติว่า ที่ถึงพระนิพพานนั้นคือ อันนี้แน่ ไม่ต้องไปเข้าใจว่าอันโน้นอันนี้ที่ไม่ใช่ทาง ก็จะถูกประหารลงไปในขณะที่ปัญญาทำกิจแจ้งนิพพาน หรือถึงนิพพานที่เรียกว่าสัจฉิกิริยากิจ ที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งในมรรคจิตนั้นเอง ขณะเดียวนั่นแหละ เกิดขึ้นในขณะนั้นและประหารในขณะนั้น ประหารอย่างไร ความเข้าใจผิดจะเกิดขึ้นไม่ได้อีกเลยในขณะนั้น เพราะว่าปัญญาที่เข้าไปถึงนิพพานนั้น เกิดขึ้นในขณะนั้นใช่ไหม ความรู้แน่ในข้อปฏิบัตินั้นก็เกิดขึ้นในที่นั้น เพราะฉะนั้น สีลัพพตะ ความที่ไปยึดถือในข้อปฏิบัติที่ผิดน่ะ เกิดขึ้นไม่ได้เลยในที่นั้น เพราะในที่นั้นหมายถึงข้อปฏิบัตินั้น ได้ถูกปัญญาทำลายลงไป
*****เมื่อปัญญากำลังรู้ชัดเจนอย่างนั้น ความไม่รู้ก็เกิดขึ้น ไม่ได้เลยในที่นั้น และก็ทำลายได้เด็ดขาดด้วย เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวในมรรคจิตนั้น ก็ด้วยอาศัยพระนิพพานเป็นอารมณ์ ที่ตัวเชื่อมั่นในข้อปฏิบัติ ว่าข้อปฏิบัติที่ถึงนิพพานน่ะ อันนี้แน่ อันอื่นไม่ใช่ ความเห็นอย่างอื่น ทั้งหมดที่ไม่ใช่ทางพระนิพพานแล้ว ก็เกิดขึ้นไม่ได้ในที่นั้นน่ะ เพราะอะไร? ก็เพราะว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ ใช่ไหม เพราะตัวถึงนิพพานแล้ว นิพพานนี่เป็นเครื่อง รับรองข้อปฏิบัติของตัวอยู่แล้วใช่ไหมว่าข้อปฏิบัติที่ตัวมานี่น่ะ ต้องถึงแน่ทีเดียว เพราะว่าอาศัยพระนิพพานที่เป็นอารมณ์อยู่ คือถึงนิพพานนั่นเอง ตัวจึงได้ตัดสิน ข้อปฏิบัติที่ตัวได้ดำเนินมานี้น่ะ เป็นทางนิพพานที่ถูกแน่นอน เพราะว่าได้อาศัยนิพพานเป็นอารมณ์นั้นเอง ถ้ายังไม่ได้นิพพานเป็นอารมณ์ ปัญญาที่ตัดสินแน่ว่า ข้อปฏิบัติที่ถึงนิพพานแน่น่ะ ยังเกิดขึ้นไม่ได้เลย เมื่อเกิดขึ้นไม่ได้แล้ว ความไม่แน่ใจนั่นก็ไม่สามารถจะประหารกิเลสที่เข้าใจผิดนั้นได้ เพราะว่าปัญญานั้นยังไม่มีกำลังพอ และอาศัยพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้นเอง และกิเลสที่กล่าวมานี้น่ะ ประหารได้ด้วยปัญญาในปฐมมรรค คือโสดามรรคที่เกิดขึ้นในมรรคจิตขณะหนึ่ง แล้วทำการประหารกิเลสให้เป็นสมุทเฉทได้นะคะ
*****นี่ยกเอาขึ้นมา ๓ อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า สีลัพพตะ มิจฉาทิฏฐิ และวิจิกิจฉา เพราะว่าสีลัพพตะ ก็เกิดจากองค์ธรรมเหล่านี้ ก็ประหารได้เด็ดขาดนะคะ ที่ในปัญญาที่เกิดขึ้นในปฐมมรรคนั้นเอง กิเลสที่กล่าวมานี้ น่ะปฐมมรรคทำการประหารได้เด็ดขาดแล้ว เป็นสมุทเฉทได้ก็เพราะเหตุที่ปัญญาที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่งนั้น ได้ถึงความสมบูรณ์ที่ประหารได้น่ะ ได้ถึงความสมบูรณ์ด้วยกิจ ของอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นะคะ พร้อมด้วยญาณปริวัติ ๓ คือญาณ ๑๒ ครบเลยนะคะ นี่เป็นญาณ เป็นกิจของ อริยสัจจธรรมน่ะ ครบตามประเภทและปริญญา ๓ อัน ได้แก่ :-
*****ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหาณปริญญา ปริญญา ทั้ง ๓ นี้สมบูรณ์ในปัญญา ปริญญานี่เป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาในมรรคจิตก็สมบูรณ์ ญาณ ๑๒ ที่เป็นไปกับ อริยสัจ สัจจะละ ๓ ในจำนวน ๔ สัจจะ รวมเป็น ๑๒ ในที่นั้นก็สมบูรณ์ ญาณทั้ง ๑๒ ได้ทำครบบริบูรณ์แล้ว ความรู้ใน ๑๒ อย่างนั้นครบสมบูรณ์ที่ตรงนั้น นะคะ ตามที่ได้อธิบายมาแล้วค่ะ จึงทำการประหาร กิเลสได้ เมื่อครบบริบูรณ์แล้วอย่างนี้ ก็คล้าย ๆ กับว่า สมบูรณาญาสิทธิ์แล้วอย่างนี้ มีอำนาจมาก ถึงได้ทำการประหารกิเลสได้นะคะ และปัญญาได้รับความสมบูรณ์ในกิจ และญาณตามความรู้เช่นนั้นน่ะ เพราะอะไร ก็เพราะเหตุที่ตนได้ถึงนิพพาน เพราะที่ตนได้อาศัย พระนิพพานนั้นเป็นอารมณ์นั้นเอง
*****ถ้าตนไม่ได้อาศัยนิพพานแล้ว ปัญญานั้นก็ประหารกิเลสไม่ได้ ความไม่แน่ใจ ความไม่มั่นคง ความเด็ดขาดของปัญญานั้นไม่ได้ อำนาจของปัญญาก็ไม่พอนะคะ คล้าย ๆ กับว่า จริงอยู่พระเจ้าแผ่นดินน่ะ ไม่ได้เป็นผู้ประหารผู้ร้ายหรอก คนอื่นเป็นคนฆ่าผู้ร้าย เป็นผู้ทำการประหารนักโทษ แต่ว่าต้องอาศัยอำนาจของคนใด คนหนึ่งที่มีอำนาจประหารได้ พระเจ้าแผ่นดินลงพระนามให้ประหารใช่ไหมคะ ก็ประหารได้
*****เพราะฉะนั้นที่ได้ประหารนักโทษน่ะ ก็ได้อาศัยอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินน่ะ ไม่ได้ประหาร ไม่ได้เป็นคนฆ่านักโทษหรอก แต่ว่าอาศัยอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินนี่แหละ จึงได้ทำการประหารนักโทษได้ เหมือนกับมรรคที่ต้องอาศัยอำนาจของพระนิพพานเป็นปัจจัยนั้นเอง ก็อาศัยที่ว่าได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ นั้นเอง ถ้าหากว่ามรรคญาณนั้นยังไม่สามารถที่จะถือเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้แล้ว กิจในอริยสัจจธรรมนั้นก็ไม่สำเร็จ ถ้ายังไม่อาจถือเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้ กิจของอริยสัจ ทั้งหมดยังไม่สำเร็จ ญาณก็ยังไม่สมบูรณ์ ปริญญาก็เหมือนกัน ยังไม่สมบูรณ์ เพราะจะไม่รู้ว่าธรรม ที่ดับทุกข์และดับตัณหานั้นมีจริงหรือไม่ ก็ไม่รู้ใช่ไหม? เมื่อไม่รู้จริงแน่ลงไปแล้วจะฆ่าความสงสัยก็ไม่ได้ และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับทุกข์คือพระนิพพานนั้นมีจริง ถ้าไม่ถึงนิพพานแล้วความรู้จริงอย่างนี้ แน่ใจอย่างนี้จะ เกิดขึ้นไม่ได้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย นี่ที่เกิดขึ้นได้ มีกำลังมากก็เพราะอาศัยว่าได้ถึงนิพพานแล้ว ใช่ไหม? จึงรู้ว่า นิพพานนั้นมีจริง ก็เพราะอาศัยการถึงนิพพานนั้นเอง จึงได้รู้ว่านิพพานนั้นมีจริง
*****โดยเหตุผลดังที่ได้อธิบายมานี้เอง ท่านจึงได้กล่าวว่า มรรคที่อาศัยพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้นน่ะ จึงได้ทำการประหารกิเลสให้เป็นสมุจเฉทได้นั้น ก็เพราะอาศัยพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถึงแม้นิพพานจะไม่ได้มาช่วยประหารก็จริง แต่ว่าอาศัยอำนาจของพระนิพพานนั้น ทำให้เป็นสมุจเฉทได้ ทำให้ปัญญานั้นมั่นคงเฉียบขาด ถึงกับฆ่ากิเลสให้ตายได้ คนที่ได้อำนาจมาแล้ว อยากจะฆ่าใคร ก็ฆ่าได้ ใช่ไหม ถ้าได้พระแสงอาญาสิทธิ์มอบมาให้ พอได้รับพระแสงอาญาสิทธิ์มาแล้วความมั่นคงในใจ จึงเกิดขึ้นว่าเรานี่น่ะ สามารถจะฆ่าใครๆ ก็ได้ เพราะว่าอาญาสิทธิ์อยู่ในมือของเราแล้วนี่ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราก็ทำได้นะคะ และขอให้เข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า ในคำว่าเป็น “สมุจเฉท” นั้น หมายความว่าอย่างไร?
*****ในคำว่าเป็น “สมุจเฉท” นั้นก็หมายความว่า กิเลส อันใดอันหนึ่งที่มรรคได้ประหารไปแล้วนั้นน่ะ จะเป็นปฐมมรรค หรือทุติยมรรค ตติยมรรค จตุตถมรรคก็ตามเถอะ มรรคใดมรรคหนึ่งที่ได้ทำการประหารกิเลสไปแล้ว ด้วยอำนาจที่มรรคประหารน่ะ กิเลสนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในจิตสันดานของบุคคลนั้น นับตั้งแต่มรรคจิต เป็นต้นไป ไม่เกิดขึ้นในมรรคจิต เกิดไม่ได้เพราะอำนาจของปัญญาในมรรคนั้น ทำให้กิเลสพินาศ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกเลย เพราะฉะนั้นจึงเกิดขึ้นไม่ได้ในที่นั้นนะคะ แต่ว่ากิเลสที่เกิดขึ้นไม่ได้แล้วถูกประหารไปแล้ว จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย นับตั้งแต่มรรคจิตเป็นต้นมา แล้วจิตภายหลังที่เกิดด้วยในปวัตติกาล ถึงจิตจะตกลงไปแล้ว มรรคจิตจะผ่านไปแล้ว ผลจิตจะผ่านไปแล้ว ในวิถีมรรค จะผ่านไปแล้วก็ตาม และจิตก็เกิดขึ้นมาอีก โลกียจิตก็เกิดอีก แต่ก็จะไม่มีกิเลสที่ถูกประหารไปแล้วนั้น เกิดขึ้นในจิตดวงหนึ่งดวงใดอีกเลย ที่เรียกว่าเป็นสมุจเฉทนี่นะคะ จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในจิตสันดาน นับตั้งแต่มรรคจิต เป็นต้นไป จนถึงดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน จะไม่มีอีกเลย
*****ดั่งเช่นผู้สำเร็จโสดาบัน ท่านก็ทำลายสักกายทิฏฐิ และวิจิกิจฉาลงไปแล้ว จนกระทั่งถึงแม้ท่านจะยังมีภพชาติอีก อย่างมาก ๗ ชาติน่ะ ก็ไม่เกิดอีกเลย จิตจะเกิดอีกกี่ร้อย กี่หมื่น กี่แสนก็ตาม วิจิกิจฉากับมิจฉาทิฏฐินั้นน่ะ จะไม่เกิดอีกเลยในสันดานของพระโสดาบัน จนตลอดดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน คำว่าเป็นสมุจเฉทนี่หมายความอย่างนี้นะคะ ไม่ใช่ว่าชาตินี้ไม่เกิดแล้วชาติหน้าจะเกิดอีก ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่เกิดเลยตลอดจนดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน กิเลสอย่างนั้นจะไม่เกิดขึ้นในจิตสันดานของท่านอีกเลยนะคะ ทั้งนี้ก็เป็นไปด้วยอำนาจของมรรคญาณนะคะ ของมรรคอันเดียวเท่านั้นแหละ นี่แหละจิตเป็นไปด้วยอำนาจอย่างนี้นะคะ ที่กล่าวดังนี้ก็เพราะเหตุว่า กิจของอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นั้นก็คือมรรคนั้นเอง เป็นผู้ทำ ไม่ใช่คนอื่นเลย ใครเป็นคนทำ เช่นการกำหนดรู้ทุกข์นั้น ก็ใครเล่าเป็นผู้กำหนดรู้ ก็มรรคนั้นเองแหละเป็นผู้กำหนดรู้ ใช่ไหมปัญญาเป็นผู้รู้จักทุกข์ใช่ไหม ปัญญา นั้นก็คือมรรค
*****แล้วทีนี้ใครประหารกิเลสตัณหาล่ะคะ? ตัณหา นั้นน่ะเป็นธรรมที่ควรละน่ะ แล้วใครเล่าเป็นผู้ละตัณหา? ก็มรรคนั่นเอง! ละตัณหาด้วยอะไร? ละด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ใช่ไหมล่ะ? ศีล สมาธิ ปัญญา! นี่เป็นมรรคใช่ไหม? ใช่! ก็มรรคนั่นเอง เป็นผู้ประหารนะคะ เป็นผู้ละตัณหา และใครเล่าเป็นผู้ทำนิโรธให้แจ้ง ก็มรรคนั่นเอง
*****การที่เราจะไปถึงนิพพานได้นั่นน่ะ ไปได้ด้วยอะไร ก็ไปด้วยมัชฌิมาปฏิปทาใช่ไหมล่ะคะ ก็คือมรรคนั่นเอง มรรคนั่นเองแหละเป็นผู้เดินไปถึงนิพพานใช่ไหมล่ะคะ ก็มรรคอีกนั่นแหละทำให้นิโรธให้แจ้ง
ฉะนั้นปัญญาที่สมบูรณ์ด้วยกิจดังกล่าวนี้ และก็ปัญญาอันนี้แหละที่ได้นามว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ นี่แหละ ปัญญาในมรรค ตัวสัมมาทิฏฐิในองค์มรรคที่เห็นอริยสัจ ทั้ง ๔ นั่นเองนะคะ นั่นแหละปัญญาอันนั้นแหละ ขณะนั้นแหละชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิ
*****ญาณทัสสนวิสุทธินี้ ญาณ ก็แปลว่า รู้, ทัสสน นี่แปลว่า เห็น, เห็นถูกต้อง (ไม่ใช่เห็นผิด) ด้วยปัญญา ด้วยญาณความรู้ รู้ว่าพระนิพพานมี ทุกคนนี่รู้ รู้ทั่วแล้วด้วยใช่ไหม ว่านิพพานน่ะ มีใช่ไหม เห็นหรือยัง ยังไม่เห็น ใช่ไหม ยังไม่แจ้ง ถึงแล้วหรือยัง ยังไม่ถึงใช่ไหม?
*****เพราะฉะนั้น ความรู้อันนี้เรียกว่าญาณทัสสนวิสุทธิ ได้ไหม? ไม่ได้ใช่ไหม? เพราะว่ายังไม่เห็นนี่ ของท่านทั้งรู้ด้วย ทั้งเห็นด้วย และไปถึงด้วย อย่างนี้
*****เพราะฉะนั้นปัญญาอันนี้แหละ เรียกว่ามรรคญาณ นะ อันนี้แหละชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิ
*****อันปัญญาที่ได้นามว่าญาณทัสสนวิสุทธินี้ เป็นปัญญาสมบูรณ์ด้วยบูรณาญาสิทธิ์ที่มีอำนาจสถาปนาให้บุคคลนั้นขึ้นเป็นอริยบุคคลขั้นสมบูรณ์ แล้วขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน สมมุติยกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเลย เพราะฉะนั้นยกขึ้น สมมุติตั้งขึ้นเป็นอริยบุคคลด้วยปัญญาอันนี้ สมมุติยกบุคคลนั้นขึ้นให้เป็นอริยบุคคล พ้นจากนามของปุถุชน ปิดอบายภูมิทั้ง ๔ ทั้งนี้ก็เป็นอานิสงส์ของปัญญา ที่เกิดขึ้นในมรรคจิตเพียงขณะเดียวเท่านั้นเอง ก็ขอยุติการอธิบายมรรคญาณไว้โดยสังเขปเพียงแค่นี้
*****เรื่องมรรคญานจบไปแล้วนะคะ ต่อไปนี้ก็จะพูดกัน เรื่องผลญาณนะคะ พูดกันถึงเรื่องผลญาณก็หมายถึง จะพูดกันเรื่องญาณทัสสนวิสุทธินะคะ ผลญาณนี้ก็พูดถึง วิสุทธิที่ ๗ เหมือนกัน ผลญาณนี้ก็ยังอยู่ในญาณทัสสนวิสุทธินะคะ ในญาณทัสสนวิสุทธินี้น่ะ มีญาณสงเคราะห์ หรืออยู่ในวิสุทธินี้มี ๓ ญาณด้วยกัน คือ
*****๑. มรรคญาณ
*****๒. ผลญาณ
*****๓. ปัจจเวกขณญาณ
*****รวม ๓ ญาณด้วยกัน ส่วนโคตรภูนั้นสงเคราะห์เข้า ในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิก็ได้ หรือจะสงเคราะห์เข้าในญาณทัสสนวิสุทธิก็ได้ ได้ทั้ง ๒ อย่าง ในระหว่างโคตรภูนี้ แต่ถ้าจะสงเคราะห์ด้วยญาณทัสสนวิสุทธิ ก็ขอให้เข้าใจว่า สงเคราะห์ด้วยอารมณ์ เพราะโคตรภูญาณกับมรรคญาณต่างก็มีอารมณ์นิพพานเหมือนกัน ถ้าจะสงเคราะห์เข้าในญาณทัสสนวิสุทธิ ก็หมายความว่าสงเคราะห์ด้วยอารมณ์นะคะ เพราะเหตุว่าโคตรภูญาณนั้นก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ เหมือนกับมรรคจิตที่เป็นโลกุตตรธรรม
*****แต่ส่วนจิตในโคตรภูญาณนั้น ยังเป็นโลกียะอยู่ เพราะยังประหารกิเลสให้เป็นสมุจเฉทไม่ได้ จึงยังอยู่ในเขตของวิปัสสนา สำหรับจิตน่ะอยู่ในเขตของวิปัสสนา คือมหากุศลญาณสัมปยุต ยังเป็นโลกียะอยู่นะ อยู่ในเขตวิปัสสนาและอยู่ในเขตของปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เราก็คงเคยพบกันว่าวิปัสสนาญาณ ๑๐ น่ะ บางทีท่านก็วางไว้ถึงสังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ นี่วางไว้อย่างนี้ก็มีข้อนี้ก็มีนะคะในหลักวิปัสสนาน่ะ
*****เพราะฉะนั้นจิตนี่น่ะ ท่านยังสงเคราะห์ให้ตกไปอยู่ในวิปัสสนาอยู่ คือปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินะคะ ตามที่ได้พูดมาแล้วนั้นได้สงเคราะห์เข้าไว้ในปฏิปทาฯ ยังอยู่ในการปฏิบัติ ยังไม่พ้นจากการปฏิบัติ
*****ฉะนั้นในที่นี้จึงเหลืออยู่ ๓ ญาณ คืออะไร คือมรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ แต่มรรคญาณก็ได้ อธิบายไปแล้ว แต่ก็ขอทำความเข้าใจเพิ่มเติม ในสิ่งที่ท่านพึงจะควรเข้าใจในมรรคญาณ ที่ได้พูดไปในวันที่แล้วนั้น มรรคญาณหรือมรรคจิตนั้นเป็นชาติกุศล แต่เป็นโลกุตตรกุศล ไม่ใช่โลกียกุศล โลกุตตรกุศลนี่น่ะ มีอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน คือ โสดาปัตติมรรค ๑ สกิทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑ มีเท่านี้ โลกุตตรกุศลมี ๔ อย่างเท่านั้น และในโลกุตตรกุศล ๔ อย่างนั้น จะเกิดขึ้นแก่สัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏทุกข์นั้นได้เพียงขณะเดียวเท่านั้น ในสังสารวัฏฏ์นี้น่ะ ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่กี่ภพ กี่ชาติ กี่แสน กี่ล้านชาติก็ตามเถอะ กุศลเหล่านี้จะเกิดขึ้นแก่บุคคลที่ท่องเที่ยวในสังสารวัฏฏ์นั้นน่ะ เพียงขณะเดียวเท่านั้น ไม่มีเกิดมากกว่านี้เลย จะเกิดได้เพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น แม้แต่ ๒ ขณะก็ไม่มี โลกุตตรกุศลนี่จะเกิด ๒ ขณะก็ไม่มี เห็นไหม ขณะเดียวเท่านั้นนะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่จะมาถึงกันบ่อยๆ ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก
*****โดยเหตุนี้ การทำสติปัฏฐานน่ะ จิตที่จะใช้สำหรับกำหนดรู้ในมหาสติปัฏฐานนั้นน่ะ ไม่มีโลกุตตรเป็นเครื่องกำหนดรู้เลย จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานน่ะมี ๑๖ อย่าง จิตเป็นวิมุติก็รู้ จิตไม่ใช่วิมุติก็รู้ จิตวิมุติ ก็แปลว่า จิตที่พ้นจากกิเลส แต่จิตที่เป็นวิมุติในที่นั้นน่ะ ท่านหมายแต่เพียงว่าตทังควิมุติ พ้นด้วยตทังคะ หรือพ้นด้วยวิกขัมภนะเท่านั้นเอง ไม่ใช่พ้นด้วยอย่างอื่นเลย
*****ทีนี้โลกุตตรจิตน่ะ จะอยู่ในการเจริญสติปัฏฐาน ได้ไหม? ไม่ได้! โลกุตตรกุศล หรือ มรรคจิต นี่น่ะ ในสังสารวัฏฏ์เกิดขึ้นขณะเดียวและก็ดับไป จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยใช่ไหม แล้วจะเอามากำหนดเป็นเครื่องให้ สติปัฏฐานกำหนดรู้น่ะ ได้ไหม ทั้งมรรคและทั้งผลนี่น่ะ ไม่ได้ใช่ไหม?
*****ฉะนั้นก็ขอให้เข้าใจด้วยว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนี่น่ะ ถ้าไม่เข้าใจแล้ว ฟังพูดคล้าย ๆ กับว่า จิตที่เป็นวิมุติน่ะ ที่ถึงนิพพานน่ะมีอยู่ในที่นั้น อันนี้เราก็ต้องเข้าใจ เพราะว่าวิมุตินี้มีอยู่ ๓ อย่าง ตทังคะ วิกขัมภนะ และสมุจเฉทะ แต่ว่าในที่นั้นน่ะ วิมุติอะไร จึงได้ใช้คำว่าวิมุติ แต่เราก็ต้องรู้นะ ไม่ใช่โลกุตตร ไม่ใช่วิมุติอย่างสมุจเฉท เพราะสมุจเฉทนี่จะต้องเป็นโลกุตตรจิตเท่านั้น ได้เพียงขณะเดียวเท่านั้น แม้แต่ ๒ ขณะก็ไม่มี และจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย จนกว่าจะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน อย่างโสดามรรคเกิดขึ้นแล้วนี่น่ะ จนกระทั่งดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน โสดามรรคจะไม่เกิดแก่บุคคลนั้นอีกเลย แล้วแต่ว่าสกิทาคามิมรรคอนาคามิมรรค หรืออรหัตตมรรคก็ตาม ก็เกิดขณะเดียวแล้วจะไม่เกิดอีกเลยจนกว่าจะดับขันธ์บรรลุถึงนิพพาน เท่านั้นแหละ และโลกุตตรกุศลนี้ จะเกิดได้ก็แต่เฉพาะพระอริยบุคคลเท่านั้น ปุถุชนไม่เกิดเลยโลกุตตรกุศลนี้ ถ้าจะเกิดขึ้นแก่ใครก็ต้องเป็นอริยบุคคลเท่านั้น เฉพาะผู้นั้นเป็นอริยบุคคลเท่านั้น จะไม่เกิดแก่ปุถุชนเลยเป็นอันขาด
*****ฉะนั้นโลกุตตรกุศลดวงที่ ๑ จะเกิดได้เฉพาะโสดาบันบุคคลเท่านั้น ดวงที่ ๒ จะเกิดได้แก่พระสกิทาคามีบุคคล ดวงที่ ๓ จะเกิดได้แก่เฉพาะพระอนาคามีบุคคล ดวงที่ ๔ จะเกิดได้ก็แต่เฉพาะพระอรหันตบุคคลเท่านั้น นอกจากนั้นไม่มี ปุถุชนไม่มีเลยนะคะ ก็เป็นอันว่าดับเสียซึ่งสังสารวัฏฏ์โดยสิ้นเชิง ถ้าเกิดถึงดวงที่ ๔ นะ ก็ดับแล้วโดยสิ้นเชิง เพราะโลกุตตรกุศลนี้เป็นกุศลซึ่งทำลายเสียซึ่งทุกข์ ที่เป็นไปในวัฏฏะ อันไม่มีเบื้องบนและที่สุดวัฏฏะนี่น่ะ ไม่มีใครรู้ ไม่สามารถจะรู้กันได้เลย อย่างไรก็ตามเถอะ ถึงแม้พวกที่ระลึกชาติได้ เว้นแต่พระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าระลึกถึงหรือไม่ระลึกถึงก็ได้นะ ในเวลาระลึกชาติได้นี่น่ะ
*****พวกพรหมน่ะ ระลึกชาติได้ถึง ๔๐ มหากัป อย่างมากนะ เขาระลึกได้เพียงแค่นั้นแหละ ๔๐ นี่น่ะ มันจะกี่ร้อยล้านชาติเราก็ไม่รู้ได้ เพราะว่ามหากัปหนึ่ง ก็นับไม่ถ้วนแล้วว่าเกิดเท่าไร กี่ชาติ เราก็ไม่รู้ ก็ระลึก ได้เพียง ๔๐ มหากัปนี่น่ะ ที่สุดแล้วหรือยัง? ยัง! ยังไม่รู้เลยว่าที่สุดน่ะ เบื้องต้นน่ะ ตั้งแต่เมื่อไร แล้วก็จะไปที่สุดลงเมื่อไร ไม่มีใครรู้และในที่สุดที่ท่องเที่ยววนเวียนอยู่ สำหรับที่สุดนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงแสดงว่า เบื้องต้นน่ะเมื่อไร แสดงแต่ว่าเมื่อโลกถูกไฟไหม้หรือ น้ำท่วม กัปนี้บรรลัยไปแล้วหมด ไม่มีสัตว์บุคคลเกิดในที่นั้นเลยน่ะ คนแรกที่มนุษย์จะเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์น่ะ มาจากไหน ทรงแสดงไว้อย่างนี้ใช่ไหม แต่ว่าคนแรกที่มาเกิดเป็นมนุษย์น่ะ ยังไม่ใช่ยอดที่สุดนะ ยังไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่เคยแสดงไว้ แสดงแต่ว่าลงมาจากพรหม ท่านบอกไว้อย่างนั้น ลงมาจากพรหม แต่พรหมน่ะ มาจากไหนล่ะ ตอนที่จะขึ้นไปเป็นพรหมน่ะ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามาจากไหน
*****โดยเหตุนี้น่ะ พระพุทธองค์ทรงทราบอะไร ไม่รู้หรอกว่ามาที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าทรงทราบว่า เหตุที่ต้องให้วนเวียนนี่น่ะ คืออวิชชานี่เอง รู้เท่านี้เอง รู้แต่ว่า ตัวเหตุที่ทำให้วนเวียนนี่น่ะ มันจะมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ละ แต่ว่ารู้ธรรมที่มันทำให้วนเวียนน่ะ คือตัวอวิชชา คือกิเลส อวิชชาและตัณหา อะไรพวกนี้แหละ ที่ทำให้วนเวียนอยู่ ทรงทราบอย่างนี้
*****เพราะฉะนั้นเวลาแสดงปฏิจจสมุปบาทน่ะ จึงยกเอาตัวอวิชชาขึ้นมาเป็นประธานในปฏิจจสมุปบาท แต่ไม่ใช่ว่าอวิชชานั้นเป็นตัวต้นนะ เพราะที่ว่าอวิชชาเกิดขึ้นเป็นปัจจัยแก่สังขารนั้น ในที่นั้นต้องมีชาติ การเกิดแล้วใช่ไหม อวิชชาเฉยๆ ไม่มีวิญญาณน่ะ อวิชชาจะอยู่กับใครใน วิญญาณน่ะ ก็ต้องมีอวิชชา แต่ว่าวิญญาณนี่ไม่เป็น เหตุสำคัญที่จะให้วนเวียนตัวอวิชชานั้นแหละเป็น ตัววนเวียน ทรงยกเอาอวิชชาขึ้นมาเป็นประธาน ไม่ใช่อวิชชานั้นเป็นต้นเดิม เพราะอวิชชาจะเป็นต้นเดิมไม่ได้ ต้องมีขันธ์ก่อนแล้วถึงจะมีอวิชชาได้ นี่แหละ เป็นเพียงแค่นั้นนะคะ ให้เข้าใจ พระองค์ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าสังสารวัฏฏ์นี่มันมีเบื้องต้นอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้
*****ทีนี้โลกุตตรกุศลนี่น่ะ เป็นกุศลที่ทำลายเสียซึ่งทุกข์ ที่เป็นไปในวัฏฏะ อันไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ที่ท่องเที่ยววนเวียนอยู่นะคะ อันนี้โลกุตตรกุศล เป็นผู้ทำลายได้ และที่วนเวียนอยู่นี่น่ะ วนเวียนอยู่ในอะไร กำเนิด ๔ โดยผุด ขึ้นทันทีบ้าง เกิดในไข่บ้าง เกิดในท้องบ้าง เกิดในเถ้าไคล หรือในเกษรดอกไม้ หรือในตะไคร่น้ำบ้าง อย่างนี้เป็นต้น ที่วนเวียนอยู่นี่น่ะ ก็ได้อาศัยกำเนิด ๔ นี่แหละ เป็นที่วนเวียนอยู่ แล้วก็คติ ๕ อะไรบ้างคะ นิรยคติ เปตคติ ติรัจฉานคติ มนุษย์คติ และเทวคติ
*****อสุรกายหายไปอันหนึ่ง แต่ที่คำว่าเปตคตินี่น่ะ รวมทั้งอสุรกายด้วย ที่แยกอบายภูมิ ๔ น่ะ แยกออกไปตามภูมิ ว่าพวกเปรตกับพวกอสุรกายนี่น่ะ มีภูมิหรือ มีที่อยู่กันคนละแห่ง แต่ว่าคตินั้นน่ะ อยู่ในคติของเปรตนั่นเอง เหมือนกับมนุษย์นี่น่ะ มนุษยคติใช่ไหม แต่ว่ามนุษย์นี่นะ แหม! มีที่อยู่ มีภูมิ มีทวีป มีประเทศต่างๆ กัน ใช่ไหม แต่ว่าคตินั้นน่ะ คือมนุษย์นั่นเอง เพราะฉะนั้น ในคติที่ท่านรวมไว้ ๕ เทวคตินี่ ตั้งแต่เทวดาขึ้นไปถึงพรหม รวมความว่าเทวดารูปพรหม อรูปพรหมนี่อยู่ที่ เทวคติทั้งนั้น รวมเป็น ๕ นะคะ
*****วิญญาณฐีติ ๗ วิญญาณฐีติ ๗ นี่ก็ลำบากเหมือนกัน ที่เกิด ที่ตั้งของวิญญาณนี่น่ะ ๗ อย่างน่ะ มีอะไรบ้าง?
*****กายเหมือนกันสัญญาเหมือนกัน กายต่างกันสัญญาต่างกัน กายเหมือนกันแต่สัญญาต่างกัน กายต่างกันแต่สัญญาเหมือนกัน อย่างนี้น่ะ ๔ พวกด้วยกัน ที่เกี่ยวเนื่องกับกาย และในอีก ๓ พวกเกี่ยวกับวิญญาณโดยเฉพาะ ก็เป็น ๗ ด้วยกัน ที่ตั้งของวิญญาณที่ไม่เกี่ยวกับกาย เฉพาะวิญญาณพวกอรูปพรหมก็คืออากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ ๓ อันนี่ท่าน ถือว่าเป็นที่ตั้งของวิญญาณ วิญญาณฐีติตั้งอยู่เท่านี้ และสัตตาวาส ๙ เป็นที่วนเวียนอยู่ของสัตว์ที่วนเวียนอยู่น่ะ รวมความว่าได้กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ และสัตตาวาส ๙ อาวาสนี่น่ะ แปลว่า “ที่อยู่” สัตตาวาส คือที่อยู่ของสัตว์ โดยนับจากวิญญาณฐีติ ๗ แล้วก็เติม อสัญญสัตตาเข้าไปอีกอันหนึ่ง กับเติมเนวสัญญานาสัญญายตนะเข้าไป ท่านถือว่าตัวสัญญานั่นเป็นภพที่อยู่ ของสัตว์อันหนึ่ง แต่ว่าไม่ถือว่าเป็นที่อยู่ของวิญญาณ ในที่นั้น ถือว่าสัญญาเป็นประธานในภพนั้นรวมเป็น ๙ แห่งด้วยกัน ที่อยู่ของวิญญาณ ๗ แล้วก็เติม เนวสัญญานาสัญญาลงไป กับอสัญญสัตตาลงไปอีก ๒ ที่อยู่ก็เป็น ๙ ด้วยกันนะคะ แต่ว่าธรรมเหล่านี้ ได้อธิบายไว้แล้วในปริจเฉท ๘ ในหมวดของปฏิจจสมุปบาท อธิบายมาแล้ว และในโลกุตตรกุศล ๔ อย่างนั้น ดวงไหนจะทำลายกำเนิดอะไร หรือคติอย่างไหน? แปลว่าในโลกุตตรกุศลนี่น่ะ คือมรรค ๔ น่ะ ทำลายอะไร? กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ แต่ว่า มรรคอันไหนทำลายกำเนิดอันไหน ทำลายคติอันไหน? และก็ทำลายวิญญาณฐีติอันไหน ทำลายสัตตาวาสอันไหน? นี่ก็อธิบายไว้แล้วเหมือนกัน ตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๑ แล้ว คือว่าพูดเรื่องโลกุตตรจิตแล้วละกิเลสอะไรได้บ้าง ก็จะไม่อธิบายในที่นี้ เพราะว่าในที่นี้กลัวว่าจะยืดยาวมากไปนะคะ และคิดว่าท่านนักศึกษาที่ผ่านมาแล้วน่ะ ก็คงจะทำความเข้าใจได้ดีแล้ว ผิดหรือถูกก็ไม่ทราบนะคะ
*****ฉะนั้นโลกุตตรกุศลทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นพุทธประสงค์ที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ที่จะต้องให้สัตว์โลกทั้งหลาย ได้เข้าถึงกุศลทั้ง ๔ อย่างนี้ และกุศลทั้ง ๔ อย่างนี้น่ะ จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนาอื่นก็ไม่มีค่ะ เฉพาะพุทธศาสนาเท่านั้น และก็เฉพาะพระพุทธศาสนายังอยู่ด้วย คำสอนยังอยู่ด้วย คำสอนนั้นจึงเป็นเหตุให้นำเข้าถึงกุศลอันนี้ได้ ถ้าหากว่าคำสอนนั้นไม่มีแล้ว โอกาสของกุศลอันนี้ จะไม่มี เกิดขึ้นในโลก เพราะฉะนั้นอีก ๒๕๐๐ ปี ไม่ถึงนะ อีก ๒๔๙๐ ปี กุศลอย่างนี้จะหมด จะไม่มีเลย และก็ ไม่มีโอกาสเลยที่ใครจะได้
*****แต่ว่าอีก ๒๕๐๐ ปีนี่เราก็รู้สึกว่ายังอีกนาน แต่ว่า ถ้าจะได้ก็ทำความเพียรกัน ต้องมีความเข้าใจตั้งหลายอย่างทีเดียวค่ะ กุศลโลกุตตรนี้จะถึงได้ด้วยทางวิปัสสนา ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ฉะนั้นถ้ากุศลอย่างนี้สูญสิ้นไปในกาลใด หรือเกิดขึ้นไม่ได้ในกาลนั้น ถือว่าพระพุทธศาสนาหมดสิ้น แปลว่ากาลนั้นหมดแล้ว หมดคำสอน หมดบุคคลที่จะเข้าใจในคำสอนว่าทำอย่างไรจึงจะไปถึง แล้วก็หมดความเพียร หมดทุกอย่างละค่ะ เพราะกิเลส มันแก่กล้าขึ้นทุกวันๆ แล้ว ไม่ไหวแล้ว ความเพียรก็สู้ไม่ได้แล้ว ปัญญาก็อ่อนลง ถูกอวิชชาโมหะหนาแน่นมาก อย่างนี้ก็เป็นอันว่าหมดแล้ว พระพุทธศาสนาหมดน่ะ หมายถึงว่าความเข้าใจหมด เมื่อความเข้าใจหมดแล้ว มรรคผลก็หมดด้วย
*****โดยเหตุนี้การเจริญวิปัสสนานั้น จึงเป็นธุระสำคัญ ที่จะจรรโลงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนานะคะ แต่ในเวลานี้ ในเรื่องของวิปัสสนานี่ยังไม่ทันหมดนะ ครึ่งหนึ่งเท่านั้น ในเรื่องของวิปัสสนาอันเป็นธรรมที่สำคัญในพระพุทธศาสนา หรือเป็นองค์ธรรมที่เป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนานี้ ก็กำลังจะวิบัติเลอะเลือนเต็มที จนเกือบจะหาไม่พบอยู่แล้ว เพราะเหตุที่พวกพุทธบริษัทนี่นำเอาวิปัสสนาไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อลาภและยศ การบูชาสรรเสริญเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดแล้ว ขอให้รู้สึกไว้บ้าง ไม่อย่างนั้นจะเข้าใจว่าพุทธศาสนานี่รุ่งเรืองนะ เวลานี้น่ะเจริญมาก ไม่ใช่เจริญนะ เพราะเวลานี้เกือบจะไม่รู้กันอยู่แล้วว่า พระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหนและคืออะไร? เพราะถูกลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทับถม พระธรรมและวินัยเสียหมดแล้ว ดิฉันคิดว่าถึงพวกเราที่เป็นกลุ่มน้อยนี้ จะพยายามช่วยกันฟื้นฟู อย่างไรก็ตามเถอะ ดิฉันคิดว่า คงจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่เราหวัง เพราะดิฉันคิดว่า คำสอนของพระพุทธศาสนานั้น เป็นคำสอนที่บริสุทธิ์ ทวนกระแสจิต ของผู้ที่ยินดีอยู่ในลาภ ยศ อำนาจ อันเป็น กระแสที่ไหลเชี่ยวอยู่ในโลกเวลานี้ และเวลานี้จิตของสัตว์โลกทั้งหลายก็กำลังเบิกบานหรือแสวงหา เพื่อจะได้รับกระแสของตัณหา คือลาภ ยศ และอำนาจเหล่านั้นกันอยู่ จึงเห็นว่าเป็นของยากนัก ที่จะเอากระแสแห่งความบริสุทธิ์ในคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นไหลลงสู่จิตใจ เพื่อทวนกระแสเหล่านั้น ก็คงจะถูกกระแสเหล่านั้น ทำลายให้หมดไปนั่นเอง แต่ถึงจะมีความเข้าใจ มีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ก็จริง แต่เราก็ต้องทำเพราะเป็นกิจที่ควรทำ สำหรับผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่าบางทีอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีกระแสเหล่านั้น ที่กำลังอ่อนๆ อยู่ หรือกระแสเหล่านั้นยังอ่อนอยู่ ทีนี้กระแสแห่งความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนาก็พอจะต่อต้านได้บ้าง แต่ก็คงยากเต็มที ไม่เหมือนกับเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเป็นผู้ถึงพร้อมแล้ว แห่งกระแสของลาภยศ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยลาภและยศ การบูชาใช่ไหม ท่านมีนะ ท่านพร้อมหมดทุกอย่าง และอำนาจทั้งหลายทุกสิ่งทุกอย่าง และบุคคลทั้งหลายก็ยกให้มอบให้แล้ว เต็มบริบูรณ์แล้ว แต่กระแส แห่งความบริสุทธิ์ของท่าน มีอำนาจเหนือกำลังแห่งกระแส ตัณหานั้น กระแสเหล่านั้นจึงไม่สามารถจะต้านทานความบริสุทธิคุณที่ประกอบไปด้วยมหากรุณาธิคุณ และพระปัญญาธิคุณนั้นได้ กระแสเหล่านั้นจึงต้องตกอยู่ใต้อำนาจของพระคุณทั้ง ๓ นั้น
*****ฉะนั้นอำนาจของลาภยศ ที่เป็นเครื่องมือของกิเลส มีอวิชชาเป็นต้นนั้น ก็ตกเป็นเครื่องมือของความบริสุทธิ์ไป เห็นไหม คนละอย่างนะ พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีอำนาจ หรือเดี๋ยวนี้ก็เถอะ คนที่มีอำนาจ มีลาภ มียศ มีความ สรรเสริญ ซึ่งเรายกให้กันแล้ว บูชากันแล้ว นับถือกันแล้ว ถ้าคนคนนั้นประกาศศาสนาด้วยความบริสุทธิ์ใจ อาศัยอำนาจและลาภยศนั้น จะมีประโยชน์มากไหม ต้องมี ประโยชน์มากทีเดียวใช่ไหมคะ นี่เป็นอย่างนี้นะคะ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ทั้งหลายน่ะ พวกเหล่านี้น่ะ เป็นเครื่องมือแห่งการประกาศความบริสุทธิ์ใน พระพุทธศาสนาใช่ไหมคะ
*****โดยเหตุนี้ความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนาจึงเป็นไปได้อย่างกว้างขวางมาก เพราะสมัยนั้น ที่มีกระแสแห่งความบริสุทธิ์ที่เหนืออำนาจของลาภยศนั้นมีอยู่มาก บุคคลในสมัยนั้น ที่เข้าถึงกระแสแห่งความบริสุทธิ์จึงมีมาก ฉะนั้นในเวลานั้นถือว่าเป็นกาลสมบัติ ไม่ใช่เป็นกาลวิบัติ หรือเป็นธรรมสมัย คือเป็นสมัยของธรรมะที่เป็นโลกุตตรกุศลนี้น่ะ เกิดได้มากในสมัยนั้น เรียกว่าเป็นธรรมสมัย หรือเป็นกาลสมบัติ ซึ่งถือว่าเป็นกาล หรือเป็นสมัยที่สมบูรณ์ไปด้วยธรรมะ ที่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ของพระธรรมวินัยที่มีอยู่เหนืออำนาจ หรือ ต่อต้านกระแสของลาภยศนั้นได้ในเวลานั้น, ในเวลานี้ มีแต่อาศัยลาภและยศนั้นมาทำลายความบริสุทธิ์ของพระธรรมวินัย
*****ที่ดิฉันพูดมานี่ก็เพื่อประโยชน์ของพวกเราที่นับถือพุทธศาสนา และตั้งใจจะช่วยกันประกอบกิจในพระพุทธศาสนา ที่มีการศึกษาหรือมีการปฏิบัติ หรือทำการเผยแพร่ด้วยการสอนนั้นก็ดี นี่น่ะที่เราศึกษากันมานี่น่ะ ก็ถือว่าเป็นการทำกิจในพุทธศาสนาเพื่อบำรุงไว้ เพื่อให้พระพุทธศาสนานี้ดำรงอยู่ได้นาน และก็เพื่อทำการเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป การศึกษาน่ะเป็นการทำกิจในพระพุทธศาสนานะคะ เป็นการบำรุงด้วย เป็นการเผยแพร่ไปในตัวด้วยนี่น่ะ ถ้าจะทำกิจน่ะ จะศึกษาก็ดี หรือมีการปฏิบัติ หรือทำการเผยแพร่ด้วยการสอนนั้นก็ดี จงอย่าประมาท ขอให้สำรวมระวัง ให้เป็นไปตามกระแสแห่งความบริสุทธิ์ ประกอบไปกับกิจการนั้นๆ เช่นมีการศึกษาเป็นต้น การศึกษานี่ต้องศึกษาด้วยความบริสุทธิ์น่ะ ถ้าไม่บริสุทธิ์ เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อชื่อเสียง เพื่อเกียรติ เพื่อการบูชา อย่างนี้ละก็ การศึกษานั้นจะดีไม่ได้เลย เพราะว่าไม่ได้ศึกษาด้วยอำนาจของกุศล เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ขออย่าให้ประกอบไปกับจิตนั้น มีการศึกษาเป็นต้นไป ขออย่าให้กระแสแห่งความปรารถนาในลาภ ยศ สรรเสริญ ประกอบไปกับจิตใน กิจการเกี่ยวแก่พระพุทธศาสนานั้นๆ อย่าให้มีนะคะ หรือประกอบไปหรือตกไปอยู่ในอำนาจของลาภหรือยศ และความสรรเสริญสุขนั้นเลย
*****ถ้าการงานอันนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของกระแสเหล่านั้นแล้ว กิจการที่ท่านทำ เรียนก็ดี ปฏิบัติก็ดี เผยแพร่ก็ดี หรือเพื่อการดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนานั้นก็ดี หาใช่เป็นไปอย่างนั้นไม่ ในขณะเดียวกันนั้น กลับเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาให้เสื่อมเสียไป หรือทำให้เสียความบริสุทธิ์ในพระพุทธศาสนานั้น ก็จะต้องถูกทำลาย วิบัติหมดไป ด้วยกระแสอำนาจแห่งลาภและยศที่เป็นเครื่องมือของตัณหา และมิจฉาทิฏฐินั้นเอง
*****ฉะนั้นผู้ที่จะทวนกระแสของอำนาจ ลาภ และยศ ที่เป็นไปด้วยอำนาจของตัณหาและทิฏฐิ เพื่อจะเข้าถึงกระแสแห่งความบริสุทธิ์ อันเป็นกระแสที่ไหลเข้าถึงพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่พ้นทุกข์ได้นั้น ก็จะต้องเข้าถึงโลกุตตร คือมรรคญาณนั้น
*****โดยเหตุนี้ท่านจึงนับแต่ พระโสดาบันบุคคลเป็นต้นไป จึงนับว่าเป็นผู้ตกกระแสที่ไหลเขาสู่พระนิพพาน ผู้นั้นแหละทวนกระแสไปชนะแล้วนะ ของลาภและยศ แล้วก็ท่านก็ทวนไปจนกระทั่งเข้าถึงกระแสน้ำแห่งความบริสุทธิ์ของจิตใจนั้นน่ะ เข้าถึงนิพพานได้ ฉะนั้นผู้ที่จะตกกระแสที่จะไหลเข้าสู่พระนิพพานได้นั้นน่ะ ท่านนับตั้งแต่โสดาบันบุคคลเป็นต้นไป ไม่มีละ ที่จะไหลกลับมาได้นะคะ ทั้งนี้ก็หมายถึงปัญญาของพระอริยบุคคลนั้นแหละ ได้เข้าถึงโลกุตตรกุศลแล้ว จึงไม่มีกระแสของอำนาจใดๆ ที่จะมาพาท่านให้ไหลไปสู่อบายได้อีกแล้ว เพราะท่านเหล่านั้นย่อมเป็นผู้เข้าถึงแล้ว ด้วยคุณของพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะที่พึ่ง และย่อมได้ประสพความอัศจรรย์ในพระปัญญาคุณของพระบรมศาสดา ในขณะที่ปัญญานั้นเข้าถึงญาณทัสสนวิสุทธิ ผู้ใดที่ได้เข้าถึงญาณทัสสนวิสุทธิหรือเข้าถึงมรรคผลแล้ว ผู้นั้นจะได้พบความอัศจรรย์ในปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า ว่า พระพุทธเจ้านี่มีพระปัญญาอัศจรรย์จริงหนอทีเดียว
*****เพราะฉะนั้นผู้ที่เขาได้ฟังธรรม และเขาได้บรรลุ มรรคผล เกิดปัญญาจักษุ คือเกิดดวงตาเห็นธรรมแล้วเขาจะต้องประกาศพระคุณของธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าเทศนานั้นว่า “อัศจรรย์จริง พระเจ้าข้า สิ่งที่ไม่เคยพบ ก็ได้พบแล้ว สิ่งไม่เคยมีก็ได้มีขึ้นแล้ว” เขาประกาศอย่างนี้ ทีเดียวนะคะ ธรรมเทศนาของพระองค์นั้น เหมือนกับหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดให้คนมีตาแลเห็น เห็นความจริงในที่นั้น นี่แหละ เขาก็ประกาศพระคุณอย่างนี้
*****เดี๋ยวนี้น่ะลำบากเต็มที แม้แต่ตัวเราเองฟังเทศน์แล้ว พระคุณก็ไม่เคยเข้าไปถึงชีวิตจิตใจเลย ฟังเทศน์แล้วก็จบแล้ว พระท่านจบเราก็จบเหมือนกัน ไม่มีดวงตาเห็นธรรมนะคะ ฉะนั้นเมื่อเขาเข้าถึงความอัศจรรย์ในพระปัญญาคุณของพระบรมศาสดา ในขณะที่ปัญญาเข้าถึงมรรค หรือเข้าถึงญาณทัสสนวิสุทธิ ในขณะหนึ่งของมรรคญาณนั้นเอง ศรัทธาที่เกิดร่วมด้วยปัญญานั้น ก็เข้าถึงความศรัทธายิ่งนับแต่ขณะนั้นเป็นต้นมา เพราะฉะนั้นมีพระโสดาบันเป็นต้น ที่ไม่อุทิศหรือ ไม่นับถือต่อศาสดาอื่น เพราะว่าท่านเข้าถึงอาจารศรัทธา การเข้าถึงก็เพราะเข้าถึงญาณทัสสนวิสุทธินั่นเอง เกิดปัญญาเห็นธรรมในธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว
*****เพราะฉะนั้นอานิสงส์นั้นไม่อุทิศต่อศาสดาอื่น เลื่อมใสในพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มั่นคงและไม่เป็นผู้ตื่นข่าว ว่าเขาลือกันว่าเขาเป็นอย่างโน้น ที่นี่เขาดีอย่างนี้ ที่นั่นเขาเป็นอย่างนั้น พระโสดา ไม่มีเลย จะไม่เป็นผู้ตื่นข่าวตามเขาไป เพราะเป็นผู้เข้าถึง เหตุผลแล้ว ท่านรู้แล้ว ท่านเป็นผู้รู้ว่า ของที่ดีจริงน่ะ มันอยู่ที่ไหน อะไรเป็นของที่ไม่ดี ไม่ใช่ ท่านย่อมรู้ เพราะฉะนั้นท่านจะไม่ตื่นข่าวเที่ยวได้ตามๆ เขาไป อึกทึกครึกโครม อันนี้ก็เป็นคุณที่พระโสดาบันเข้าถึง นับตั้งแต่ขณะนั้นเป็นต้นมา
*****ส่วนผลญาณก็คือปัญญาที่เกิดร่วมด้วยผลจิตนั้นเอง เกิดขึ้นต่อจากมรรคจิตนั้น อีก ๒ หรือ ๓ ขณะเป็น อย่างมากในวิถีเดียวกันนั้นเอง
*****ก็ในผลญาณหรือผลจิตนี้ ไม่ใช่กุศลจิตหรือไม่ใช่ โลกุตตรกุศลนะคะ เป็นวิบาก จิตนี้เป็นวิบาก แต่เป็น โลกุตตรวิบาก ไม่ใช่โลกียวิบาก ซึ่งเป็นผลของโลกุตตรกุศล เพราะมรรคจิตที่ได้เกิดขึ้นขณะหนึ่งก็ได้ทำกิจประหาร ข้าศึกคือกิเลส ให้ราบคาบหมดนะคะ ส่วนผลญาณ ก็เป็นแต่เพียงผู้เสวยผลที่มรรคทำไว้ให้นั้น เกิดขึ้นเพียง ๒ หรือ ๓ ขณะเป็นอย่างมาก และก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างเดียวกันกับมรรค ผลนี้เป็นผู้เสวยวิมุติสุข เกิดต่อจากมรรคเพียง ๓ ขณะเท่านั้น แล้วก็ดับไป ถ้าเกิดต่อจากโสดาปัตติมรรคก็เรียกว่าโสดาปัตติผล ถ้าเกิดต่อจากสกิคาทามิมรรค ก็เรียกว่าสกิทาคามิผล ถ้าเกิดต่อจาก อนาคามิมรรคก็เรียกว่าอนาคามิผล ถ้าเกิดต่ออรหัตตมรรคก็เรียกว่าอรหัตตผล เกิดขึ้นอย่างมาก ๗ ขณะ เท่านั้น แล้วก็ดับไป เป็นอันว่าสิ้นสุดวิถีของโลกุตตรจิต ที่เดินเข้าถึงนิพพาน
*****ที่ท่านวางหลักฐานหรือแผนที่ในการดำเนินของจิตไว้นั้น ว่าจะต้องเดินดังนี้นะคะ ถ้าผู้ปฏิบัติผู้บรรลุถึงพระนิพพาน ไม่เข้าใจแผนที่ทางเดินของจิต ตามที่ท่านได้ อธิบายไว้นั้น ก็อาจจะผิดทางได้ และการเดินทางไปถึงพระนิพพานนั้น ก็จะต้องเดินไปตามวิสุทธิทั้ง ๗ นี่แหละ ต้องเดินไปตามนี้ ถึงจะไปถึงนิพพานและถึงญาณทัสสนวิสุทธิได้ ต้องเดินไปตามวิสุทธิทั้ง ๗ ตามที่ได้อธิบายมาแล้วนั้นเอง และมรรค ผล นิพพานนี้ ก็อยู่ในวิสุทธิ ๗ คือ ญาณทัสสนวิสุทธิ และในคำว่า ญาณทัสสนวิสุทธินี้ เป็นวิสุทธิของปัญญาที่เห็นแจ่มแจ้งตลอดมา ตั้งแต่วิสุทธิต้นๆ ที่ผ่านมาแล้ว ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้นมา ตลอดจนเข้าถึงวิถีของมรรคผลทั้ง ๗ ขณะนั้น เข้าถึงวิถีของมรรคผลนี่น่ะ มรรคผลก็มี ๗ ขณะนะ ผู้ปฏิบัติก็จะต้องมีความรู้สึกเมื่อเข้าถึงวิถีของมรรคผลนะคะ และวิถีของมรรคผลนั้นน่ะมี ๗ ขณะ ผู้ปฏิบัติก็จะต้องมีความรู้สึกในอารมณ์ของวิถีจิตทุกๆ วิถี ตลอดทั้ง ๗ ขณะนั้นอีกด้วย แม้แต่ในชวนะ ๗ ขณะนั้น ผู้ปฏิบัติก็ต้องรู้ด้วย เพราะปัญญานั้นแก่กล้า ท่านบอกว่ายังกับสายฟ้าแลบทีหนึ่งก็สว่าง แม้แต่จะ เกิดขึ้นแต่ขณะเดียวก็ตามเถอะ แต่ว่าสว่างไสวไปทั่วหมด ทีเดียว คนมีตาอาจจะแลเห็นความจริงอะไรๆ ในขณะนั้นได้ ปัญญานั้นแก่กล้าแรงมาก นี่ก็ต้องรู้ทุกขณะวิถีทั้ง ๗ ขณะนั้นอีกด้วย และแต่ละขณะนั้น มีความรู้สึก ต่างกันอย่างไร ถ้ามิฉะนั้นปัญญาในที่นั้นจะเรียกว่า ญาณทัสสนวิสุทธิไม่ได้ เห็นแจ่มแจ้งหมด ที่เป็นพิเศษกว่า โลกียะ เพราะปัญญาที่จะเข้าถึงพระนิพพานนั้นนะคะ ถ้ามิฉะนั้นเรียกญาณทัสสนวิสุทธิไม่ได้
*****โดยเหตุนี้เอง ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้ด้วยตัวเองว่าตน ได้บรรลุถึงแล้วซึ่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่ดับทุกข์ ผู้ปฏิบัติจะรู้ในขณะที่มีนิพพานเป็นอารมณ์นั้นเอง โดยไม่ต้องมีใครรับรอง หรือบอกให้รู้ว่าตนนั้นได้ถึง นิพพานแล้ว
*****เพราะเหตุนั้นเอง การถึงนิพพานนั้นจะต้องถึงด้วยความรู้ ไม่ใช่ถึงด้วยความไม่รู้ เพราะการถึงนิพพานนั้น ต้องถึงด้วยปัญญา ฉะนั้นจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์นั้น จะต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ในที่นั้นจึงมีความสามารถประหารกิเลสของตนให้เป็นสมุจเฉทได้ ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น เพราะถ้าไม่รู้ในที่นั้น เมื่อเข้าถึงแล้วไม่รู้ในที่นั้นแล้ว ปัจจเวกขณญาณมีไม่ได้เลย ปัจจเวกขณญาณ จะมีได้อย่างไร เหมือนกับคนที่ฝัน เมื่อคืนฉันฝันไปแต่ฝันว่าอย่างไรก็ไม่รู้ รู้สึกว่าฝัน แต่ไม่รู้ว่าฝันอย่างไร และจะเล่าให้คนฟังได้ไหม ว่าเมื่อคืนฝันว่าอย่างไร หรือเป็นแต่เพียงกลับมานึกว่า เมื่อคืนฉันฝันว่าอย่างไร ไม่ได้แล้ว ไม่รู้แล้ว เพราะมันไม่รู้ในที่นั้นนี่ เมื่อกลับออกมาจะรู้ได้อย่างไรเล่า ต้องอาศัยความรู้เกิดในที่นั้นสัญญาจำอารมณ์นั้นไว้ได้ กลับออกมาแล้ว เมื่อหมดวิถีมรรคแล้ว ถึงจะกลับมาพิจารณาได้ รู้ว่าขณะนั้นจิตฉันมีลักษณะนั้น ถึงจะไม่รู้ชื่อว่าอันนี้บัญญัติว่าเป็นมรรค อันนี้เป็นผล อันนี้เป็นโคตรภูญาณ อะไรก็ตามเถอะ แต่ว่าลักษณะที่จิตเข้าไปรู้ในอารมณ์นั้น ก็ต้องมีขณะต่างๆ กัน ให้เรารู้ได้ว่า มีลักษณะอย่างไรบ้าง ที่ได้ผ่านไปนั้น อันนี้เอง เมื่อวิถีนั้นหมดแล้ว ปัจจเวกขณะจึงกลับย้อนมาพิจารณา นึกถึงมรรคผลนิพพานที่ตนผ่านไปแล้วนั้นได้ ใช่ไหมคะ ถ้าเข้าไปด้วยความไม่รู้แล้วออกมาจะมีปัจจเวกขณญาณได้อย่างไร บางคนเขาบอกว่าเวลาถึงนิพพานน่ะ ไม่รู้หรอก แต่ว่ามารู้เอาตอนที่มีปัจจเวกขณญาณ นี่เหตุผลมันจะเป็นไปได้ไหม ไม่รู้ตอนนั้นแล้วมันจะมารู้ตอนนี้ว่า ตอนนั้นน่ะเดินไป อย่างไร อย่างนี้น่ะจะรู้ไหม รู้ไม่ได้เลย! เพราะฉะนั้น จะต้องรู้และถึงด้วยปัญญาด้วย ไม่ใช่ถึงด้วยอย่างอื่นนี่
*****ต่อไปนี้จะพูดถึงปัจจเวกขณญาณต่อไปนะคะ
*****ปัจจเวกขณญาณนี้เป็นญาณที่ ๑๖ นับตั้งแต่ นามรูปปริจเฉทญาณไป อันนี้เป็นที่สุดละ หมายถึงว่า สุดทาง สุดเรื่องของมรรคผล สุดเรื่องของวิปัสสนานะคะ
*****ในคำว่าปัจจเวกขณญาณนี้น่ะ เป็นชื่อของปัญญา ที่พิจารณามรรคผล นิพพานหรือกิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ ที่ตนได้พบและได้ผ่านมาแล้วนะ ในญาณทัสสนวิสุทธินั้น ในวิถีของมรรค ๗ ขณะนั้น และปัญญาที่ชื่อปัจจเวกนี้เป็นโลกียปัญญา จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อวิถีของมรรคผลได้สิ้นสุดลงแล้ว วิถีของปัญญาที่ทำการพิจารณานั้น ก็จะเกิดขึ้นเป็นกามวิถีต่อจากวิถีมรรคก่อน วิถีของโลกียจิตใดๆ ทั้งหมด แปลว่าวิถีของมรรคนี้ มีผลจิตเป็นที่สุดท้ายในวิถีนั้นใช่ไหม พอหมดผลจิตแล้ว อย่างมาก ๓ ขณะ ก็ผ่านหมดละเป็นอันว่าโลกุตตรจิตนั้นก็หมดไป ก็กลับเป็นภวังค์ใหม่ ทำกิจภวังค์ต่อไป แต่ว่ากิจต่อไปก็ต้องเกิดโลกียะ เพราะว่าจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นโลกุตตรจิตนั้นน่ะ หมดไปแล้ว ผ่านไปแล้ว ทีนี้จิตที่จะเกิดต่อมรรคผลน่ะ ในวิถีของมรรคนั้นก็จะต้องเป็นโลกียจิตใช่ไหม การเห็น การได้ยิน ในอะไรต่ออะไรก็เกิดได้ทั้งนั้นแหละ แต่ว่าในโลกียจิตที่จะเกิดต่อจากวิถีของมรรคนั้น ต้องเป็นปัจจเวก ทำหน้าที่ปัจจเวกขณญาณ จิตอื่นจะมาเกิดในเวลานั้นไม่มี พอหมดวิถีของมรรคแล้ว โลกียจิตก็จะเกิดขึ้นนะคะ ก่อนวิถีของโลกียจิตใดๆ ทั้งสิ้น ในอารมณ์ของปัจจเวกขณญาณนั้น มี ๕ อย่างด้วยกัน คือ
*****๑. พิจารณามรรคจิต
*****๒. พิจารณาผลจิต
*****๓. พิจารณานิพพาน
*****๔. พิจารณากิเลสที่ละแล้ว
*****๕. พิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ ที่ยังไม่ได้ประหาร ให้หมดไป
*****ใน ๕ อย่างนี้น่ะ มีได้แก่พระเสกขบุคคลตั้งแต่พระโสดาถึงพระอนาคามีเท่านั้น ที่มี ๕ อย่างนะ ส่วนพระอรหันต์นี้น่ะมี ๔ เท่านั้น เพราะอะไร? เพราะกิเลส ที่เหลือนั้นไม่มีจะพิจารณาแล้ว ก็พิจารณามรรค ผล นิพพาน และกิเลสที่ละแล้ว ส่วนกิเลสที่เหลือนั้นไม่มีแล้ว พระอรหันต์ไม่มี เพราะพระอรหันต์ดับกิเลสหมดแล้ว เพราะฉะนั้นจะมีกิเลสให้เหลือพิจารณาอีกน่ะ เป็นไปไม่ได้ แต่ส่วนพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีนั้น ยังไม่หมด ส่วนใดที่หมดไปก็หมดไปแล้ว ท่านก็รู้ และส่วนที่ยังไม่หมดท่านก็รู้แต่ว่าพระอรหันต์น่ะมี ๔ เท่านั้น เพราะว่ากิเลสที่เหลือนั้นไม่มี จึงรวมปัจจเวกขณญาณ ๑๙ ด้วยกัน คือ พระโสดาบัน ๕ สกิทาคามี ๕ อนาคามี ๕ ก็เป็น ๑๕ พระอรหันต์ ๔ ก็เป็น ๑๙ บางทีเขาก็รวมเรียกปัจจเวกขณญาณ ๑๙ และให้เรารู้ว่า ความหมายที่ว่า ๑๙ น่ะ คือหมายถึงอย่างนี้ และการที่นับ ๕ น่ะ ทำไมถึงนับ ๕ การที่นับ ๕ ครั้งนั้นก็เพราะเหตุว่า ในอารมณ์อย่างหนึ่ง ชวนะที่เกิดขึ้นในอารมณ์นั้นก็อย่างหนึ่ง เช่นพิจารณามรรค ก็มีมรรคเป็นอารมณ์ตลอดทั้ง ๗ ขณะ ชวนะ ๗ ขณะ เกิดขึ้นดับไปแล้วก็พิจารณาผลอีก แล้วเวลาที่เกิดขึ้นพิจารณาผลน่ะ ก็ต้องมีอดีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉท มโนทวาราวัชนะเหมือนกันนะ เมื่อเข้าถึงชวนะแล้ว พิจารณาผลอีกชวนะก่อนมีมรรคเป็นอารมณ์ ชวนะที่ ๒ นี่มีผลเป็นอารมณ์ ดับไปครบ ๗ ขณะ แล้วดับไป ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉท มโนทวาราวัชนะ ก็เกิดอีก ทีนี้ชวนะที ๓ นี่พิจารณานิพพานเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นเกิดคนละครั้งๆ อารมณ์ก็แตกต่างกัน
*****ฉะนั้นท่านจึงจำแนกไปถึง ๑๙ อย่าง ในอารมณ์ อย่างหนึ่ง ชวนะที่เกิดขึ้นในอารมณ์นั้นก็คนละอย่าง ในมรรคก็อย่างหนึ่ง ในผลก็อย่างหนึ่ง ในนิพพานก็อย่างหนึ่ง ในกิเลสที่ละแล้วก็อีกอย่างหนึ่ง และในกิเลสที่เหลืออยู่ก็อีกอย่างหนึ่ง อารมณ์ก็ไม่เหมือนกัน ชวนะก็ต้องเกิดทีละอย่าง เพราะชวนะครั้งหนึ่งนั้นก็ต้องมีอารมณ์อย่างเดียวทั้ง ๗ ขณะ จะมีอารมณ์เป็น ๒ อย่างไม่ได้ สำหรับกามจิตหรือกามวิถีนะ มีอารมณ์อย่างเดียวนะ แต่โลกุตตรวิถีไม่ใช่อย่างเดียวกัน ในวิถี ๗ ขณะนั้น นี่น่ะมันก็มีพิเศษต่างๆ กันนะ เพราะฉะนั้นจึงสามารถจะรู้ได้นะคะ ฉะนั้นเมื่ออารมณ์ ๕ อย่างใช่ไหมคะ ก็ต้องหมายถึงกามชวนะก็ต้องเกิด ๕ ครั้ง เพราะต่างกันด้วยอารมณ์ ฉะนั้นปัจจเวก ๑๙ นั้นไม่เหมือนกัน ต่างกันด้วยปัญญาบ้าง ต่างกันด้วยกิเลสบ้าง หรือต่างกันด้วยกิเลสที่ละแล้วบ้าง กิเลสที่เหลือบ้าง หรือต่างกันด้วยกิเลสที่พิจารณานั้นบ้าง เพราะว่าปัญญาที่ทำหน้าที่ปัจจเวกขณญาณนี้ เกิดได้ในจิต ๒ อย่าง คือสำหรับพระเสกขบุคคล เกิดในมหากุศลญาณสัมปยุตจิต แต่ปัจจเวกของพระอรหันต์นั้น เกิดในมหากิริยาญาณสัมปยุตจิต ไม่เหมือนกันใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่ ๑๙ นี่น่ะ อย่างเช่นว่าพระโสดาบันพิจารณามรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ละ และกิเลสที่เหลือ พระโสดาบันพิจารณาไปแล้วนะ ทีนี้พระสกิทาคามีบรรลุมรรค ผล ก็พิจารณาอย่างนั้นอีกน่ะ เหมือนกันไหม ก็ ๕ อย่างนี่น่ะ ใช้ทั้งพระสกิทาคามี พระอนาคามี ด้วยไม่ได้หรือ ไม่ได้นะ ทำไมจึงไม่ได้ พระสกิทาคามีพิจารณากิเลสที่ละ กับกิเลสที่เหลือเหมือนกับพระโสดาบันหรือเปล่า ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม พอมาถึงพระอนาคามีพิจารณากิเลสที่ละ ของพระอนาคามีกับกิเลสที่เหลือของพระอนาคาเหมือนกันไหม ไม่เหมือนกันใช่ไหมล่ะ? พระอรหันต์ก็เหมือนกัน กิเลสที่ละกับกิเลสที่เหลือหมดแล้ว ก็ไม่เหมือนกันนะคะ เพราะเหตุนี้ท่านจึงแจกออกไปว่าเป็น ๑๙ ถ้าเหมือนกันละก็ ๕ อย่างก็พอแล้ว พระอรหันต์ก็ ๔ เอา ๙ ก็พอ แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้นนะ คนละอย่าง ต่างกันด้วยบุคคล ต่างกันด้วยจิต
*****ต่างกันด้วยบุคคลน่ะ ปฐมมรรค โสดาบันบุคคล ทำปัจจเวก พอถึงครั้งที่ ๒ ปัจจเวกในครั้งที่ ๒ ของทุติยมรรค ก็เป็นสกิทาคามีบุคคล จิตที่พิจารณาปัจจเวก พระโสดาบันพิจารณาปัจจเวก พระสกิทาคามีพิจารณาปัจจเวก พระอนาคามีพิจารณาปัจจเวก
*****จิตเหมือนกันหรือเปล่า พระอนาคามีกับพระโสดาบันเหมือนกันไหมคะ พิจารณาปัจจเวก? ไม่เหมือนกันตรงไหนล่ะคะ บุคคลก็ต่างกันแล้วใช่ไหมล่ะ นั่นโสดาบันบุคคลพิจารณา นี่สกิทาคามีบุคคล นี่อนาคามีบุคคล บุคคลก็แยกเป็น ๔ อย่างแล้ว คนที่พิจารณานั้น ก็เป็นคนละคนอยู่แล้วใช่ไหม เป็นคนละคนอยู่แล้วนะคะ ฉะนั้นจึงไม่ใช่อย่างเดียวกัน ส่วนพระอรหันต์ก็พิจารณาด้วยกามาวจรกิริยาญาณสัมปยุตจิต แต่จะเป็นอุเบกขาหรือโสมนัสนั้น ก็แล้วแต่บริกรรมและอุปจาระในวิถีของมรรค เพราะอะไรทำไมถึงว่าแล้วแต่ บริกรรม อุปจาระ เพราะว่าบริกรรม อุปจาระ อนุโลมที่จะเข้าไปในวิถีมรรคนั้นน่ะ ถ้าหากว่าเป็นโสมนัส มรรค ผล ในที่นั้น ก็ประกอบด้วยโสมนัส ถ้าหากเป็นอุเบกขา มรรค ผล ก็ประกอบด้วยอุเบกขา ถ้ามรรคผลประกอบด้วยอุเบกขา ปัจจเวกนี้ที่พิจารณาก็เป็นอุเบกขา ถ้ามรรคผลประกอบด้วยโสมนัส ปัจจเวกก็ประกอบด้วย โสมนัสเหมือนกัน ทีนี้โดยมากตามปกติของธรรมดา ที่ไม่ใช่บุคคลที่ได้ฌาน โลกุตตรจิตอย่างย่อ
*****อันนี้ไม่เกี่ยวกับบุคคลที่ได้ฌานแล้ว ก็มรรคผลโดยมากจะต้องเป็นโสมนัส เพราะว่ากฎธรรมดาแล้วน่ะ เมื่อได้เข้าไปถึงนิพพานแล้วน่ะ ลองคิดดูว่าจะเป็น อย่างไรคะ จะเกิดอย่างไร ใจเฉยๆ หรือ ไม่เคยเห็นเลยตั้งแต่เกิดมาในสังสารวัฏฏ์ ความอัศจรรย์ในที่นั้นมันก็ปรากฏขึ้นมาใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะจะเฉยอยู่ไม่ได้หรอก ต้องเกิดโสมนัสในมรรคผลนั้นน่ะ แต่ว่าผู้ที่ได้ฌาน ถ้าได้ฌานประกอบด้วยโสมนัสก็ต้องเป็นโสมนัส เว้นแต่ฌานนี่ประกอบด้วยอุเบกขาแล้วเท่านั้นเอง เมื่อได้ฌานที่ประกอบด้วยอุเบกขาแล้ว ท่านยกองค์ฌานในอุเบกขา นั้นขึ้นเป็นองค์ของวิปัสสนาพิจารณามรรคผล หรือวิปัสสนาเกิดขึ้นร่วมในที่นั้น ในอุเบกขาฌานนั้น นั่นแหละ บริกรรม อุปจาระ อนุโลมก็ต้องเป็นอุเบกขา มรรค ผล ก็ต้องเป็นอุเบกขา เพราะประกอบด้วยฌานที่เป็นอุเบกขา ใช่ไหมล่ะ? เพราะในที่นั้นโสมนัสเกิดไม่ได้นี่ ในจตุตถฌานน่ะ ใช่ไหมล่ะคะ หรือปัญจมฌานน่ะ โสมนัสเกิดไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องประกอบด้วยอุเบกขา โดยมากถ้าหากว่าอย่างย่อแล้ว ก็ต้องแล้วแต่โสมนัสหรืออุเบกขา
*****ฉะนั้นในเรื่องของปัจจเวกขณญาณนะคะ ในปัจจเวก ๕ ข้อนี้น่ะ ยังมีข้อที่ควรจะทราบอยู่อีกข้อหนึ่งว่า ในการพิจารณาปัจจเวกทั้ง ๕ นี้ จะมีเป็นบางองค์เท่านั้น ที่จะครบ ๕ น่ะ จะมีเป็นบางองค์นะ แต่ว่าธรรมดาที่ ท่านกล่าวนี้ ท่านก็กล่าวจนหมด ต้องกล่าวหมดนะคะ มีเท่าไรก็ต้องกล่าวไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนน้อยก็ต้องแล้วแต่ มีเป็นบางองค์เฉพาะกิเลสที่ละแล้ว กับกิเลสที่เหลือ บางองค์ไม่รู้หรอก ทั้ง ๒ อย่างนี้น่ะ มีแต่เฉพาะพระอริยะที่มีปัญญากล้า หรือเฉียบแหลมเท่านั้น เป็นติกขบุคคลสามารถจะรู้ว่ากิเลสที่หลุดไปแล้วในจิตใจของเรานี่เป็นกิเลสอะไรบ้าง แล้วกิเลสอะไรที่ยังเหลืออยู่ในจิตใจของเรานี้น่ะ ต้องเป็นพระอริยะที่เป็นปฏิสัมภิทาญาณ และปัญญาแก่กล้ามากถึงจะรู้ได้ อย่างนี้นะคะ
*****แต่สำหรับมรรคผล นิพพานนั้นน่ะ ต้องมีเป็นสาธารณะทั่วไป จะปัญญามาก หรือปัญญาน้อย ก็แล้วแต่ปัจจเวก ๓ อย่าง พิจารณามรรค ผล นิพพานนี้ ต้องมีทั่วไปแก่พระอริยะทั้งปวง
*****แต่ในการที่จะพิจารณา มรรค ผล นิพพาน เป็นอารมณ์ในปัจจเวกขณญาณนั้น ไม่เหมือนกันนะ ผลญาณ หรือโคตรภูญาณไม่เหมือนกันนะ พิจารณาเป็นอารมณ์ในปัจจเวก มรรค ผล นิพพาน ที่เป็นอารมณ์ในขณะที่ปัจจเวกขณญาณพิจารณานั้น กับมรรค ผล นิพพาน ที่เป็นอารมณ์ของมรรคจิต ผลจิต นี้น่ะ ไม่เหมือนกัน มรรค ผล หรือโคตรภูญาณนั้นน่ะ เป็นอารมณ์นั้นน่ะ เป็นสัจฉิกิริยากิจ เป็นการแจ้งนิพพานด้วยการปรากฏอยู่เฉพาะหน้า คือนิพพานกำลังเป็นอารมณ์อยู่ จิตนั้นกำลังเสวยอารมณ์นิพพานอยู่ใช่ไหมคะ เฉพาะหน้าในขณะ ฐีติขณะของจิต จิตที่จะเสวยอารมณ์ได้แน่นอนค่ะ ต้องในฐีติขณะเท่านั้น อุปาทะขณะ ภังคะขณะ จิตที่ทำกิจได้แน่นอนนั้นต้องฐีติขณะ อุปาทะก็ยังไม่ได้ ยังกำลังอ่อนอยู่ ฐีติขณะเท่านั้นที่มีกำลังมากนะคะ แล้วภังคขณะก็ดับแล้ว ทำไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นนิพพานที่เป็นสัจฉิกิริยากิจน่ะ เป็นการแจ้งนิพพานในมรรคญาณ ผลญาณนั้น เป็นการแจ้งที่นิพพานยังปรากฏอยู่เฉพาะหน้าในฐีติขณะของจิตนั้น
*****อุปมาเหมือนคนที่กินเกลือ รสเค็มของเกลือจึงปรากฏอยู่เฉพาะหน้า พอกินเกลือเข้าไป เกลือไปถึงลิ้นแล้ว รสเค็มของเกลือกำลังปรากฏอยู่ที่เกลือ กำลังชิมอยู่นี่หมายถึงเฉพาะมรรค ผล ที่ปรากฏนิพพานเป็นอารมณ์ นะคะ
*****แต่นิพพานที่เป็นอารมณ์ของปัจจเวกขณญาณนั้นน่ะ อุปมาเหมือนกับนึกถึงรสเค็มของเกลือที่ตนได้เคยพบผ่านไปแล้วนั้น ไม่ใช่กำลังประจักษ์ เวลานั้น เค็มไม่มีแล้ว แต่ว่านึกถึงรสเค็มที่ได้กินเข้าไปน่ะ มันมีลักษณะอย่างไร เท่านี้เองนะ ปัจจเวกขณญาณน่ะ ไม่ใช่อารมณ์ประจักษ์อยู่เฉพาะหน้า เพราะเหตุนี้ ปัจจเวกขณญาณจึงมิใช่โลกุตตรจิต แต่ถึงแม้มิใช่โลกุตตรเป็นโลกียจิตก็จริงอยู่ แต่ว่ายังสงเคราะห์อยู่ในญาณทัสสนวิสุทธิด้วยเหมือนกัน ใช่ไหมล่ะคะ เท่านี้เองค่ะ คือตอนนี้มันละเอียดหน่อยนะ ต้องพยามยามฟังหน่อยหนึ่ง นี่น่ะข้อสำคัญนะ วิถีเหล่านี้น่ะ ท่านเป็นผู้ผ่านพบมาใช่ไหม แล้วท่านก็นำมาเขียนเป็นตำราไว้ สำหรับผู้เดินทีหลัง จะได้เดินไม่ผิดทาง ถ้าจิตไม่เดินไปตามนั้นแสดงว่าไม่ใช่แล้ว นี่น่ะ จะได้รู้สึกอย่างนี้
*****ตอนนี้กำลังพูดกันในเรื่องญาณทัสสนวิสุทธิ ๓ ญาณด้วยกัน มรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ แต่ว่า คราวที่แล้วมาก็ได้พูดถึงปัจจเวกขณญาณแล้ว ว่าในปัจจเวกขณญาณนี้น่ะ จิตน่ะไม่ใช่โลกุตตระ เป็นโลกียจิต แต่ว่าถึงเป็นโลกียะก็จริง แต่ปัจจเวกขณญาณนี้จะเกิดได้ ต้องผ่านญาณทัสสนวิสุทธิ ต้องเกิดหลังจากญาณทัสสนวิสุทธิปรากฏแล้ว จิตอย่างนี้จึงปรากฏได้ คือว่าต้องผ่านมรรค ผ่านผลใช่ไหมคะ มรรค ผล นิพพาน ผู้นั้นต้องผ่านไปแล้ว แล้วปัจจเวกขณญาณนี้ถึงจะปรากฏได้ ปัญญาอย่างนี้จึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้ใดยังไม่ได้ผ่าน มรรค ผลแล้ว ปัจจเวกขณญาณนี้จะเกิดไม่ได้เลย
*****ฉะนั้นปัจจเวกขณญาณนี้ ท่านจึงได้สงเคราะห์เข้าไว้ในญาณทัสสนวิสุทธิด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าหากว่า ญาณทัสสนวิสุทธิไม่เกิดแล้ว ปัญญาในปัจจเวกก็เกิดไม่ได้นะคะ อันนี้ก็ให้เข้าใจไว้ด้วย
*****เมื่อคราวที่แล้วมาได้สงเคราะห์ถึงว่า ปัจจเวกขณญาณพิจารณาอารมณ์ ๕ มีอะไรบ้าง ท่านก็เข้าใจดีแล้ว ใช่ไหมล่ะ ปัจจเวกขณญาณที่มี ๕ อย่างเพราะอะไร? ก็เพราะว่าพิจารณามรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้วและกิเลสที่เหลือ พระอริยะตั้งแต่โสดาบันบุคคล สกิคาทามี และอนาคามี ๓ ท่านนี่ปัจจเวกขณญาณ ๕ อย่าง แต่พอถึงพระอรหันต์แล้วก็พิจารณากิเลส ที่เหลือไม่มี ก็เหลือ ๔ อย่างนะคะ แต่ว่าการพิจารณานี้น่ะ ไม่ใช่จิตดวงเดียวกัน และก็ไม่ใช่ชวนะเดียวกัน ไม่ใช่วิถีเดียวกัน พิจารณามรรควิถีหนึ่ง ๗ ขณะ แล้วก็ลงภวังค์ ขึ้นมโนทวารวัชชนจิต มีภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ มโนทวารวัชชนะ แล้วพิจารณาผลอีกชวนะหนึ่ง แล้วก็ลงภวังค์ ขึ้นวิถีใหม่อีก ถึงมโนทวาราวัชชนะแล้ว ชวนะพิจารณานิพพานนี่อย่างนี้อีกชวนะหนึ่ง กิเลสที่ละแล้ว อีกชวนะหนึ่งแล้วก็กิเลสที่ยังเหลืออีกชวนะหนึ่ง ต้องมี ๕ ครั้ง ๕ อย่างนะ อารมณ์ก็คนละอย่างกัน มรรคเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง ผลเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง นิพพานเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง กิเลสที่ละแล้วเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง กิเลสที่ยังเหลือเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน
*****เพราะฉะนั้นชวนะก็ต้องเกิดตามอารมณ์ อารมณ์หนึ่ง ชวนะอย่างหนึ่ง ครั้งหนึ่งนะคะ เพราะว่าจะเกิดร่วมในอารมณ์เดียวกันไม่ได้ โดยเหตุนี้ปัจจเวกขณญาณ ท่านจึงแยกเป็น ๕ อย่าง แต่ว่าที่อยู่ในญาณทัสสนวิสุทธิ ก็เพราะเหตุว่า ถ้าผู้ไม่ผ่านญาณทัสสนวิสุทธิไปแล้ว ที่จะมารู้ว่ากิเลสของตนที่ละไปแล้วน่ะ อะไรบ้างก็คงพิจารณาไม่ได้ใช่ไหม เพราะอะไร? เพราะว่าตนยังไม่ถึงกิเลส ที่ละนี่ กิเลสที่ละไปแล้ว ตัวยังไม่ได้ละเลย ยังไม่ผ่านมรรคผลไปกิเลสก็ยังไม่ขาดเป็นสมุจเฉทเลย ก็ยังไม่ได้ละ เมื่อยังไม่ได้ละ แล้วจะไปพิจารณาว่ากิเลสที่ละแล้วนี่น่ะ อันนี้ก็พิจารณาไม่ได้ แล้วกิเลสที่เหลือก็จะพิจารณาได้อย่างไร ที่เหลือจากละแล้วก็ไม่มี ใช่ไหมคะ แล้วก็มรรคก็ไม่มีจะพิจารณาผลก็ไม่มี จะพิจารณา นิพพานก็ไม่มีจะพิจารณา
*****ฉะนั้นถึงได้บอกว่า ปัจจเวกขณญาณนี้จึงได้ สงเคราะห์ลงในญาณทัสสนวิสุทธิ แต่ว่าต้องเข้าใจ อีกอย่างหนึ่งว่า สำหรับปัจจเวกขณญาณ ๕ อย่างนี้น่ะ จะต้องมีแก่ติกขบุคคลคือบุคคลที่มีปัญญาเฉียบแหลม หรือปัญญากล้า ถึงจะมีได้ครบทั้ง ๕ ที่จะพิจารณาว่ากิเลสอะไรที่ละไปแล้ว และกิเลสอะไรที่ยังเหลืออยู่นี่น่ะ เป็นตัวอนุสัยนะ พิจารณายากมากทีเดียว คนที่ไม่มีปัญญาเฉียบแหลม ถึงแม้เป็นพระอริยะ แต่ก็ไม่สามารถพิจารณารู้ได้เหมือนกัน อันนี้เป็นพิเศษไม่ใช่มีเป็นสาธารณะทั่วไปแก่พระอริยะ
*****แต่ว่าที่เป็นสาธารณะน่ะ มี ๓ อย่าง คือว่า มรรค ผล นิพพาน อันนี้ทุกองค์ต้องรู้ทีเดียว ทุกองค์ต้องมี ปัจจเวก ๓ อย่างนี้ แม้แต่ปัญญาจะอ่อนอย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีต้องรู้นะคะ ต้องรู้มรรค ผล นิพพาน เพราะ ตัวผ่านมาแล้ว อันนั้นต้องรู้แน่
*****แต่ส่วนกิเลสที่ละ กิเลสที่เหลือนี่น่ะ ลำบากมาก เพราะสุขุมมาก คนที่ปัญญาไม่เฉียบแหลมจริงๆ แล้วก็ไม่สามารถจะพิจารณาได้ อันนั้นก็ได้พูดไปแล้วนะคะ เรื่องปัจจเวกขณญาณน่ะ
*****ทีนี้เราก็มาพูดกันถึงว่า การที่จะเข้าถึงศาสนาที่บริสุทธิ์ จะเข้าถึง ผ่านถึงปัจจเวกขณญาณนี่น่ะ เป็นอันว่าสำเร็จกิจในพระพุทธศาสนาคราวหนึ่ง แจ้งอริยสัจนะคะ ก็เป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้เข้าถึงสรณะ คราวหนึ่งแล้ว แต่ว่าการเข้าถึงเราก็ได้พูดกันไว้แล้ว ต่อไปว่าการเข้าถึงนี่น่ะ จะต้องเข้าถึงด้วยความบริสุทธิ์ เข้าถึงความบริสุทธิ์นะ เช่นคำสอนของพระพุทธเจ้าทำกุศล ละบาปทั้งปวง และทำกุศลให้ถึงพร้อม ว่ากุศลให้ถึงพร้อมนี่น่ะ ท่านหมายถึงกุศลอะไรคะ กุศลอะไรจึงจะเรียกว่ากุศลให้ถึงพร้อม กุศลมีกี่อย่าง กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปวจรกุศล โลกุตตรกุศล ใช่ไหมคะ?
*****เพราะฉะนั้นคำว่า ทำกุศลให้ถึงพร้อมในที่นี้น่ะ หมายถึงต้องถึงโลกุตตรกุศลนะ ถ้าไม่งั้นก็ยังไม่พร้อม ถึงแค่กามาวจร รูปาวจรกุศลก็ยังไม่ได้ ถึงแค่รูปาวจร อรูปาวจรกุศล ก็ยังไม่ได้นะคะ ยังไม่เรียกว่าถึงพร้อมค่ะ ถ้าถึงโลกุตตรเมื่อไร ขณะใดขณะนั้นเรียกว่าถึงพร้อมแล้ว กุศลในพระพุทธศาสนานี่ที่สุดเพียงแค่นี้ กุศลจะยิ่งกว่าโลกุตตรกุศล ยิ่งกว่ามรรคกุศลขึ้นไปน่ะ ไม่มีเลยใน พระพุทธศาสนา
*****เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่เจริญกุศลให้ถึงพร้อมตามพุทธภาษิตนี้แล้ว หรือตามคำสั่งสอนนี้แล้ว ก็จะต้องเข้าถึงโลกุตตรกุศล จึงเรียกว่าถึงพร้อมแล้ว สมบูรณ์แล้วนะคะ และก็ทำจิตให้ขาวรอบนี่ถ้าเราไม่ถึงโลกุตตรกุศล เราก็จะทำจิตให้ขาวรอบไม่ได้
*****เพราะว่าทำจิตให้ขาวบริสุทธิ์ขาวรอบในที่นี้น่ะ หมายถึงว่าต้องให้กิเลสหมดจด ใช่ไหมคะ กิเลสหมดจดในที่นี้น่ะ กิเลสอะไร? กิเลสมี ๓ อย่างนี่ใช่ไหมล่ะ อย่างหยาบต้องหมด อย่างกลางก็ต้องหมด อย่างละเอียด อนุสัยก็ต้องหมด จึงเรียกว่าบริสุทธิ์ จิตนั้นจึงถือว่าบริสุทธิ์ได้
*****ถ้าจิตนั้นยังมีกิเลส อาสวะหมักดองอยู่ในจิตนั้น จะเรียกจิตนั้นบริสุทธิ์ได้อย่างไรคะ? เรียกไม่ได้ใช่ไหม จิตที่ยังมีกิเลส มีความสกปรกอยู่น่ะจะเรียกได้ยังไงคะ เรียกไม่ได้ใช่ไหม?
*****เพราะฉะนั้น ก็ขอให้เราเข้าใจว่า การที่จะถึงพระพุทธศาสนานี้ ไม่ใช่ถึงได้ด้วยจิตที่ยังไม่บริสุทธิ์ หรือจิตที่ยังไม่สะอาดนะคะ ความบริสุทธิ์นี้น่ะ ไม่ใช่ว่าเมื่อทำแล้ว จะได้บริสุทธิ์นะ แม้แต่ตั้งใจขณะตั้งใจก็ต้องบริสุทธิ์ ตั้งใจจะทำกุศลน่ะ เพียงเจตนานั้นก็ต้องบริสุทธิ์ด้วยแล้ว ความบริสุทธิ์นั้น จึงจะนำเข้าถึงได้ ตั้งใจเพื่ออะไร ศึกษาก็ดี ทำบุญทำทานก็ดี หรืออาจารย์ที่สอนนี้ ก็เหมือนกัน บริสุทธิ์ไหม? ถ้าบริสุทธิ์ถึงจะเข้าถึงคำสอนได้ ถึงจะได้พบคำสอน ถ้าไม่บริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะว่า สุดท้ายของท่านจะต้องบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ด้วยอะไร ทำให้ไม่บริสุทธิ์ ก็ ลาภ ยศ สรรเสริญนั้นเอง ไม่บริสุทธิ์นะคะ อันนี้ที่ทำให้เราไม่บริสุทธิ์ อันนี้แหละมันจะมาอาศัยอยู่ในเจตนาของเรา ตั้งแต่เริ่มต้นมา
*****เมื่อเจตนาเริ่มต้นมาแล้วไม่บริสุทธิ์ การกระทำทุกอย่าง การเรียนก็ดี การอะไรต่ออะไรจะเข้าถึงบริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะว่าเมื่อจิตไม่บริสุทธิ์แล้ว การงานที่ออกมาทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ออกมาจากความไม่บริสุทธิ์แล้ว จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ใช่ไหม ก็ไม่ได้นะคะ อันนี้ก็ไม่ได้ตั้งแต่แรกมาทีเดียว
*****เพราะฉะนั้น ลาภ ยศ นี่เป็นความสำคัญมาก ของเราผู้ที่จะเข้าถึงพุทธศาสนาที่แท้จริงนี้น่ะ ก็อย่ามุ่ง ไม่ใช่ว่า ลาภ ยศ หรือการสรรเสริญจะไม่ติดตามมา ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ติดตามมาเหมือนกัน แต่ว่าต้องมาตามอานิสงส์ เกิดจากอานิสงส์ของเราที่ได้ทำกิจในพระพุทธศาสนานี้แหละ อันนี้ก็ตามมาได้เพราะว่าเวลานี้น่ะ กระแสของลาภ ยศ นี่น่ะ เชี่ยวมาก มีอำนาจมากเหลือเกิน ยากที่คนจะตัดกระแสน้ำอันนี้ หรือจะทวนกระแสกิเลสอันนี้น่ะ ยากมากนะคะ ยากมากทีเดียว
*****เพราะฉะนั้นการที่ยากมากนี่เอง การจะเข้าถึงความตกกระแสหรือตัดกระแสน้ำนี้ เข้าไปเพื่อจะตกกระแสพระนิพพาน มันจึงตัดกันไม่ค่อยไหวใช่ไหมล่ะ เพราะอันนี้แหละค่ะ เพราะลาภ ยศ นี่แหละ การที่จะได้มาซึ่งลาภยศ อำนาจ ชื่อเสียงเกียรติคุณนี่นะคะ โดยมากถ้าทำไปเพื่ออย่างนี้แล้วก็ถือว่าไม่บริสุทธิ์ เพราะพระพุทธศาสนานั้นน่ะ เป็นศาสนาที่บริสุทธิ์ ฉะนั้น เราจะทำธุระทุกอย่าง จึงต้องทำด้วยความบริสุทธิ์จาก ลาภ ยศ และชื่อเสียงนั้นแหละจึงจะเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาที่แท้จริงนะคะ และประชาชนทั้งหลาย ก็จะมีโอกาสเขาถึงพระพุทธศาสนาได้ แต่ว่าในโอกาสนี้ หรือในเวลานี้ เป็นกาลวิบัติ คือกุศลน่ะวิบัติ เวลานี้น่ะ กาลวิบัติหมายถึงว่า เป็นกาลที่กุศลวิบัติไปเกิดได้ยากนะคะ เป็นการวิบัติของกุศลที่เป็นญาณสัมปยุต หมายถึงกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ในเวลานี้หายากมากเท่าที่ ดิฉันได้สังเกตดูในเวลานี้นั้น มีแต่กุศลที่ประกอบไปด้วย ลาภบ้าง ยศบ้าง อำนาจบ้าง ที่สร้างกุศลขึ้นน่ะ มีพวกนี้ เข้าไปประกอบด้วย หรือเกียรติคุณบ้าง ชื่อเสียงบ้าง เต็มไปหมดในหมู่ของพุทธบริษัททั้ง ๓ เว้นภิกษุณี มีบริษัท ๔ ใช่ไหม เว้นภิกษุณี เวลานี้ภิกษุณีไม่มีนะ มีภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา
*****ทั้ง ๓ ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ก็เมื่อพระพุทธศาสนา ได้ถูกปกคลุมอยู่ด้วยอำนาจเหล่านี้แล้ว ก็ทำให้ ความใสสะอาดบริสุทธิ์ของแก้ว ๓ ประการ คือ พระรัตนตรัยนั้น ก็จะต้องอับเฉา มัวหมองลงไปจึงเป็น การยากที่พวกเราจะมีปัญญาพอที่จะกำจัดปัดเป่าความไม่บริสุทธิ์เหล่านั้นให้พ้นไป จากการงานที่ทำกิจใน พระพุทธศาสนา หรือจากศิษย์และอาจารย์เป็นต้น ทั้งผู้ศึกษาด้วยทั้งอาจารย์ผู้สอนด้วยนะ ยากเหมือนกันนะ ที่จะเอาพวกนี้ออกไปได้ ให้ทำกันด้วยความบริสุทธิ์นะ เพื่อจะได้เข้าถึงความบริสุทธิ์ในพระศาสนานั้นได้ เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นคำสอนที่บริสุทธิ์ เราจะเข้าถึงด้วยความสกปรกไม่ได้ พระพุทธศาสนา สมควรที่จะประดิษฐานอยู่ในจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ หมดจดจากมลทินของกิเลส
*****ฉะนั้น บริสุทธิธรรมทั้ง ๗ ประการที่เราได้อธิบาย มาแล้วนั้น จึงเป็นความสำคัญในทางปฏิบัติที่จะทำให้ บรรลุถึงพระนิพพาน หรือถึงคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่แท้จริง
*****โดยเหตุนี้ผู้ที่ปฏิบัติหรือผู้ที่เจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น ศีลก็ต้องบริสุทธิ์ จิตคือสมาธิก็ต้องบริสุทธิ์ ปัญญาก็ต้องบริสุทธิ์ด้วย และจะต้องเข้าถึงวิสุทธิทั้ง ๗ ประการ ให้ครบสมบูรณ์ด้วย
*****ถ้ามิฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ปฏิบัตินั้น ก็ยังไม่บริสุทธิ์พอที่จะให้เป็นภาชนะรับรอง ที่จะให้พระรัตนตรัยประดิษฐานอยู่ได้ ต่อเมื่อใดได้ปฏิบัติเข้าถึงวิสุทธิ ตั้งแต่วิสุทธิขั้นที่ ๑ ไปจนถึงวิสุทธิขั้นที่ ๗ คือญาณทัสสนวิสุทธินั้น จิตใจนั้นแหละจึงจะสมควรที่จะรับรองพระรัตนตรัยได้ ทั้งนี้ก็หมายถึงญาณทัสสนวิสุทธินั่นเอง ที่เป็นการเข้าถึงหรือเป็นผู้เข้าถึงรัตนตรัย เพราะปัญญาที่ได้นามว่าญาณทัสสนวิสุทธินี้ ก็คือปัญญาที่เห็นพระอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ โดยสมบูรณ์แจ่มแจ้งและถูกต้องแล้วนั้นเอง และปัญญานี้ก็คือปัญญาที่มีนามว่า “สัมมาทิฏฐิ” ในองค์มรรค ๘ นั้นเอง เพราะว่าสัมมาทิฏฐิ ในองค์มรรค ๘ ใครๆ ก็ทราบใช่ไหมว่า เป็นปัญญาที่เห็นอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ท่านก็บอกไว้นะคะ
*****ฉะนั้น จะเรียกชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิก็ได้ หรือจะชื่อว่าสัมมาทิฏฐิในองค์มรรค ๘ ก็ได้ หรือปฏิเวธปัญญาก็ได้ นี่มีชื่อมาก มีชื่อหลายชื่อทีเดียวนะคะ ปัญญาในมรรค ๘ ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทานะคะ สัมมาทิฏฐิที่อยู่ในมัชฌิมาปฏิปทานั้นเอง
*****ฉะนั้น ญาณทัสสนวิสุทธินี้ จึงเป็นความสำคัญในพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่า ถ้าผู้ปฏิบัติได้นำปัญญาของตนให้เข้าถึงญาณทัสสนวิสุทธิในขณะจิตหนึ่ง ขณะจิตใดก็ตาม เพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น ในขณะจิตนั้น ก็ได้ชื่อว่าได้รับรองประดิษฐานไว้ซึ่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเป็นผู้เข้าถึงพุทธศาสนาโดยแท้จริงแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงสรณะธรรมอันเกษม ซึ่งตรงตามที่พระบาลีบอกไว้ในเขมาเขมสรณทีปีกาคาถา ในบทพระบาลีว่า :-
*****โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺาย ปสฺสติ ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ ทุกฺขูปสมคามินํ เอตํ โข สรณํ เขมํ เอตํ สรณมุตฺตมํ เอตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจตีติ
*****ตามที่พระบาลีนี้ แปลว่า ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้าด้วย ถึงพระธรรมเจ้าด้วย และพระสงฆ์เจ้าด้วย ว่าเป็นสรณ เป็นที่พึ่ง เพราะการเห็นอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ด้วยปัญญา เห็นไหม นี่น่ะเข้าถึงทีเดียว ที่ท่านประกาศมานี่น่ะ “โย จ พุทฺธญฺจ” หมายถึงผู้นั้นได้เข้าถึงพระพุทธเจ้าด้วย และท่านบอกด้วยว่า “จตฺตาริ อริยสจฺจานิ” แปลว่าเข้าถึงด้วยการเห็นอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ และตัณหา อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธคือธรรมที่พ้นทุกข์ และมรรค ๘ อันเป็นทางไปจากข้าศึกให้เข้าถึงธรรมที่ดับทุกข์ คือพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่ระงับทุกข์นี้ นี่แหละ เป็นสรณธรรมอันเกษม เป็นสรณะอันอุดม ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
*****แต่คนบางคนเอาแต่ไหว้ต้นไม้บ้าง ไหว้ภูเขาบ้าง ไหว้เทวดา พระอินทร์ พระพรหมบ้าง เข้าใจว่าจะเป็นสรณะ ท่านบอกว่าอันนั้นไม่เป็นสรณะอันเกษม จะเข้าถึงสรณะที่แท้จริง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้นั่นแหละ ด้วยการเห็นอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นี่แหละจะเข้าถึงสรณะที่แท้จริง ผู้อาศัยเหตุนี้คือสรณะอันนี้แล้วนั่นแหละ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
*****ท่านผู้ฟังทั้งหลายจงโปรดเข้าใจโดยแน่นอนด้วยว่า พระอริยะซึ่งเป็นผู้ถึงแล้ว ด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นสรณะอันแท้จริงแล้วนั้น คือว่าทั้งองค์และขั้น มีโสดาบัน สกิทาคามีเป็นต้น ทุกขั้นและทุกองค์จะต้องเป็นผู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ด้วยกันทั้งนั้น อันนี้แหละ ถึงจะเป็นผู้ตกกระแส แปลว่า เป็นผู้ตัดกระแสอันเชี่ยวของลาภและยศ ตัดกระแสอันนี้ ผ่านเข้าไปถึงกระแสน้ำที่จะไหลไปสู่พระนิพพานได้ ถ้าไม่มีกำลังพอจะตัดได้แล้ว ผู้นั้นก็จะตกกระแส พระนิพพานไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ตกกระแสน่ะ อย่างต่ำที่สุดต้องเป็นโสดาบัน ถึงจัดว่าเป็นผู้ตกกระแสแล้ว ไม่มีหรอกที่จะไหลกลับมาสู่กระแสแห่งลาภยศนี่อีก อย่างไรก็ไม่ไหลไปอบายได้แล้วทุกอย่างก็ต้องเป็น ผู้แจ้งอริยสัจทั้ง ๔ นะคะ
*****โดยเหตุนี้พรหมจรรย์ การแจ้งอริยสัจทั้ง ๔ นี้นะคะ ในพรหมจรรย์นี้มีเฉพาะในศาสนาพุทธเท่านั้น ไม่มีในศาสนาอื่นๆ เพราะศาสนาอื่นๆ หรือในพรหมจรรย์ อื่นๆ นั้น จึงไม่มีพระอริยบุคคล ไม่มีในลัทธิไหน? สำนักที่ไหน? พรหมจรรย์ที่ไหน? ข้อปฏิบัติของใคร? ไม่มีเลยพระอริยบุคคล ในที่นั้นไม่มี เพราะในพรหมจรรย์ อื่น ๆ นั้น ไม่มีทางปฏิบัติที่ให้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นอกจากพุทธพรหมจรรย์เท่านั้น
*****มัชฌิมาปฏิปทาไม่มีพรหมจรรย์อื่น มรรค ๘ นี้ มรรคที่มีองค์ ๘ ก็ไม่มีด้วยในพรหมจรรย์อื่น อันนี้ขอให้เข้าใจให้แน่นอนทีเดียว ทำไมศีล สมาธิ ปัญญาไม่มีในที่อื่นนี่น่ะ เราน่าสงสัยเหลือเกินนะ นี่ทรงเป็นปัจฉิมวาจาที่ทรงโปรดสาวกสุดท้าย สุภัททปริพาชก ผู้ซึ่งสอบถามไปทุกสำนักว่าพระอรหันต์มีที่ไหนบ้าง? ทุกสำนักก็บอกว่า “ที่นี่มีวิปัสสนา ที่นี่มีพระอรหันต์” ทุกสำนักมีพระอรหันต์ด้วยกันทั้งนั้นเลย บอกกับแกว่าอย่างนั้น ทั้งนั้นนั่นแหละ
*****แต่ว่าก็ยังไม่ได้ถามอยู่ที่สำนักของพระพุทธเจ้า นี่เท่านั้นแหละ ในพรหมจรรย์นี้เท่านั้นแหละ แต่ยังไม่ได้ถามเลย เพราะฉะนั้นต้องถามเสียให้หมด แกจะได้หมดสงสัยว่าที่ไหนแน่ พรหมจรรย์ที่ไหนแน่มีพระอริยบุคคล หรือพระอรหันต์ วันนั้นแกก็มาพบ วันที่พระพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพานแล้ว แปลว่าลุกไม่ขึ้น นั่งไม่ไหวแล้ว นอนจนกระทั่งลุกขึ้นนั่งไม่ไหวแล้ว แกรู้เข้าแกก็เอะอะ เข้ามาหวังจะเฝ้าพระพุทธเจ้า สาวกเข้าห้ามปรามไว้ บอกว่า “ไม่ใช่เวลานะเข้าไปเฝ้าไม่ได้ เวลานี้พระพุทธเจ้าทรงประชวรมาก ไม่ถูกกาลที่จะมาเฝ้า หรือการที่จะมาถามปัญหาแล้ว” แกก็บอกว่าไม่ได้ แกรู้ว่าจะตายแล้ว แกจะต้องรีบไปถาม เพราะว่าถ้าตายแล้วแกจะไปถามใครที่ไหนได้ แกก็จะดึงดันเข้าไป ทั้งๆ ที่ห้ามแกก็ไม่ยอม สาวกก็เอะอะกัน ที่ห้ามนั่น พระพุทธเจ้าก็คล้ายๆ กับว่าคอยอยู่แล้ว ในความรู้สึกของดิฉันว่า ที่พระพุทธเจ้าไปปรินิพพานที่นั่นน่ะ เพราะอาชีวกคนนี้เป็นเวไนยสัตว์ ซึ่งนอกจากพระพุทธเจ้าแล้วไม่มีใครจะโปรดแกได้เลย อาชีวกคนนี้อยู่ในข่ายพระญาณที่จะโปรดได้ รู้ด้วยว่า จะโปรดได้เป็นคนสุดท้าย เพราะฉะนั้นด้วยอำนาจของพระมหากรุณาคุณนั่นเอง จึงไปปรินิพพานที่นั่น ในป่า ที่นั่น เพื่อจะได้โปรดอาชีวะปริพาชกคนสุดท้ายนี่เอง พอแกเอะอะกันขึ้น พระพุทธเจ้าก็ถามว่าเรื่องอะไรกัน เพราะคล้ายๆ กับว่าท่านคอย ทรงทราบอยู่แล้ว สาวกทูลว่า มีปริพาชกนี่จะมาขอเฝ้า เพื่อจะมาทูลถามปัญหา แต่ว่าข้าพระองค์พิจารณาเห็นว่าไม่ใช่เวลา เพราะพระองค์ก็ทรงประชวรอยู่ ไม่ใช่เป็นเวลาที่ทรงสบาย พระพุทธเจ้าบอกให้แกเข้ามาเถอะ
*****พอเข้ามาแกก็ถามที่สำนักนี้มีพระอรหันต์ไหม? แกถามอย่างนี้ ไปที่ไหนก็บอกว่ามี ที่นี่มีพระอรหันต์ ด้วยกันทุกสำนักเลย ไม่รู้ว่าจะเชื่อใครแน่ จึงขอถาม พระพุทธเจ้าว่าที่ไหนแน่ สำนักไหนกันแน่ ที่มีพระอรหันต์ หรือมีพระอริยบุคคล
*****พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงรับสั่งเหมือนกับอาจารย์ทั้งหลาย แทนที่จะทรงบอกว่าในสำนักของเรานี่แหละ มีพระอริยะหรือพระอรหันต์ ไม่ได้ทรงบอกเหมือนกับ คนทั้งหลายที่ได้บอกแกเลย แล้วก็ทรงรับสั่งว่า เอาละเวลาของท่านไม่มีมากแล้ว เพราะเวลานี้จวนจะปรินิพพานอยู่แล้ว มีเวลาไม่พอ เพราะฉะนั้น จะไม่บอกว่าใครเป็นอรหันต์ที่ไหนบ้างละ แต่จะบอกหนทางที่ทำให้คนเป็นพระอรหันต์ไว้ให้แกรู้ แล้วก็แสดง “มัชฌิมาปฏิปทา” มรรคมีองค์ ๘ เรื่อยไปจนกระทั่ง ครบ ๘ องค์ นี่แหละทางนี้แหละเป็นทางทำให้บุคคลเป็นพระอรหันต์นะ ถ้าหากว่าสำนักใด พรหมจรรย์ใด มีข้อปฏิบัติอย่างนี้ คือตรงกันกับมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว จงเข้าใจเถิดว่าในสำนักนั่นแหละมีพระอรหันต์ บอกกับแกเท่านั้นเอง
*****แกก็เป็นคนมีปัญญาเหลือเกิน แกก็บอกถ้าเช่นนั้น ก็ในสำนักนี้แหละมีอรหันต์ เพราะว่าที่อื่นก็บอกว่ามีพระอรหันต์ ของฉันเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าเหตุที่จะให้เป็นอรหันต์น่ะ ไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจหรอก ไม่ได้แสดงให้แกฟังเลย พระพุทธเจ้านี่แสดงเหตุที่จะให้เป็นพระอรหันต์ ให้รู้ได้ เพราะฉะนั้นสำนักนี้จะต้องมีพระอรหันต์แน่ เขาฟังนิดเดียวเขายังรู้เลย ไม่ได้ฟังมากมายเลย เขาฟังเหตุผลนิดเดียว เขาเข้าถึงเหตุผล เขาตัดสินใจได้เทียว ไม่ผิดด้วยว่าสำนักนี้มีพระอรหันต์
*****ฉะนั้นขอบวชในที่นี้แหละคือในใจของแกน่ะ ที่ไหนมีพระอรหันต์น่ะ แกก็จะบวชที่นั่น เพราะฉะนั้น แกก็ขอบวช พระอานนท์ก็ห้ามบอกว่า ตามธรรมวินัยนี้น่ะ เคยถือลัทธิผิดๆ มาก่อนแล้วจะมาบวชต้องอยู่ อบรมเสียก่อน ๖ เดือน ถึงจะอยู่ได้ คล้ายๆ กับว่าจะต้องไปทรมานดูเสียก่อนว่าท่านมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา นี่แน่หรือเปล่า ไม่แน่อาจจะเป็นลัทธิไหนปลอมแปลงเข้ามา ไม่ได้มาด้วยศรัทธา แล้วก็มาบวช แล้วมาทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสีย เพื่อจะมาทำลาย พระพุทธศาสนาให้เกิดความเสื่อมเสียนั่นเอง
*****เห็นไหม! เมื่อก่อนนี้ไม่ได้เหมือนเดี๋ยวนี้นะ เดี๋ยวนี้ เขาไม่ได้ดูกันหรอกใครเป็นอย่างไรน่ะ ถ้าเราจะพูดถึงว่า ป้องกันคอมมิวนิสต์ก็อาจจะมาบวชก็ได้ อาจจะบวชเพื่อทำลายพระพุทธศาสนาก็ได้ เวลานี้นะไม่มีใครว่ารู้หรอก เพราะว่าธรรมวินัยที่วางไว้นี่ก็ไม่มีใครที่จะปฏิบัติตาม เขาบอกว่าต้อง ๖ เดือนก่อนถึงจะบวชได้ แกก็บอกว่า อย่าว่าแต่ ๖ เดือนเลย ถึงจะให้อยู่ ๖ ปีก็ยอม แต่ขอให้แกได้บวชในพรหมจรรย์นี้เถิด แสดงว่าศรัทธาของแกมั่นคงแล้ว พระพุทธเจ้าก็บอกว่าไม่ต้องหรอก บวชได้เลย แต่ว่า ท่านจะลุกขึ้นเป็นอุปัชฌาย์ก็ไม่ไหวแล้ว ก็บอกให้พระอานนท์มานั่งอยู่หน้าพระพักตร์ท่าน แล้วก็ให้เป็นอุปัชฌาย์แทน นี่น่ะท่านไม่ได้เล่าเลยว่าพระอรหันต์เป็นอย่างไร บอกแต่เพียงว่าข้อปฏิบัตินี้มีอยู่ที่ใด ในที่นั้น พรหมจรรย์นั้นจะมีพระอรหันต์ เขาพูดกันเพียงแค่นี้ ก็ยังรู้กันแล้วนะ เพราะว่านอกจากพุทธพรหมจรรย์แล้ว ไม่มีทาง ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา คือมรรคที่มีองค์ ๘ อัน เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุหรือเป็นทางให้แจ้งอริยสัจจธรรม ทั้ง ๔ ได้ และแน่นอนด้วย
*****เมื่อได้พูดมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ทำให้มานึกถึงพวกเรา ที่เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกันนะคะ ก็น่าจะเป็นผู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ด้วยกันนะ เพราะว่าเป็นผู้นับถือพุทธศาสนา อยู่ในพุทธพรหมจรรย์ด้วยกัน ทั้งๆ ที่อริยสัจทั้ง ๔ นั้นเราก็รู้จัก เพราะเรียกชื่อก็เรียกได้ถูก แล้วยังมิหนำซ้ำทุกข์อะไรก็ยังรู้อีก สมุทัยนี่อะไรก็ยังรู้อีก นิโรธ คืออะไร มรรค ๘ คืออะไร เราก็รู้กันแล้วใช่ไหม ก่อนพระพุทธศาสนาน่ะ ไม่มี แต่ว่าทำไมจึงไม่แจ้งอริยสัจทั้ง ๔ ได้ เพราะเหตุอะไร ทั้งนี้ก็เห็นจะเป็นเพราะว่าเราเป็นแต่ได้นามว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาแค่นั้นเอง ยังหาได้นามว่าเป็นพุทธพรหมจรรย์ไม่ ยังไม่ได้นามว่าเป็นผู้ปฏิบัติตาม เป็นแต่รู้เป็นผู้นับถือจริง แต่ว่ายังไม่ได้เป็นพุทธพรหมจรรย์ เป็นพุทธศาสนิกชน ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนก็จริงอยู่ แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติตามนะ เรายังไม่ได้เจริญในมรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง หรือว่าเจริญแล้ว แต่ยังไม่ถูกก็ได้ หรือว่าถูกแต่ยังไม่สมบูรณ์
*****จะเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง จึงมิได้แจ้งในอริยสัจจธรรม ทั้ง ๔ จึงยังไม่เข้าถึงสรณะธรรมอันแท้จริง ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่เรายังเป็นผู้ตกอยู่ในความประมาทนั่นเอง จึงยังไม่สามารถที่จะทวนหรือตัดกระแสน้ำคือกิเลสที่ยังไหลเชี่ยวอยู่เข้าสู่กระแสมรรคที่จะไหลเข้าสู่พระนิพพานได้ ด้วยความไม่ประมาทนั้น
*****ฉะนั้น ดิฉันจึงขอย้ำเตือนด้วยเหตุผลกับท่าน นักศึกษาทั้งหลายที่สนใจในการปฏิบัติ คือเราจะต้องเข้าใจด้วยว่า การปฏิบัติวิปัสสนานั้น จะต้องให้เป็นไปให้ถูกต้องด้วยธรรมหลายอย่าง เท่าที่เราจะต้องมีนะคะ คือขั้นต้นจะต้องมีสติปัฏฐานนี่น่ะ เราจะต้องมีคือ
*****ข้อ ๑ เราจะต้องมีอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ เป็นประธานนะคะ อันนี้จะต้องเป็นประธานที่เราจะต้องมี
*****ข้อ ๒ จะต้องมีสติปัฏฐาน ๔ ต้องเข้าใจอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นี่ต้องเข้าใจด้วยว่าอะไร? แล้วแต่ละสัจจะนั้น จะต้องพึงปฏิบัติในกิจแต่ละสัจจะนั้น อย่างไร? เช่นทุกข์นี้ต้องให้มีกิจอย่างไร? ตัณหามีกิจอย่างไร? นี่ต้องเข้าใจ?
*****การทำกิจของอริยสัจ ๔ นั้น ทำอย่างไร? คือทำตามมหาสติปัฏฐาน จะทำกิจของอริยสัจ ๔ ได้ต้องทำตามมหาสติปัฏฐาน ๔ นะคะ นี่ข้อ ๒
*****ข้อ ๓ ต้องมีสติสัมปชัญญะ ๔ ถ้าสัมปชัญญะ ๔ ไม่มี คือจะต้องรู้ จะต้องเข้าใจอารมณ์ จะต้องเข้าใจประโยชน์ และการเสียประโยชน์ และจะต้องมีสัปปายะที่ถูก มีกัลยาณมิตร มีบุคคล มีอาจารย์ เป็นต้น ที่จะต้องเป็นผู้รู้ ผู้เข้าใจช่วยเหลือ
*****ข้อ ๔ จะต้องมีวิปัสสนา ไม่มีไม่ได้ แปลว่าธรรมที่กล่าวมานี้น่ะ ไม่มีไม่ได้เลย
*****ข้อ ๕ จะต้องมีญาณทั้ง ๑๖ ขาดญาณใดญาณหนึ่ง ก็ไม่ได้ แต่ว่าญาณ ๑๖ นี่เต็มที่นะคะ เช่นอย่างว่า ในญาณ ๙ นั้นน่ะ ท่านสงเคราะห์ลงไป ๓ ญาณ มีอุทยัพพยญาณใช่ไหมล่ะ หมายความว่า ๓ ญาณได้แก่ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ สงเคราะห์เป็นอันเดียวกัน แล้วก็มี ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ สงเคราะห์เป็นอันเดียวกัน ถ้าได้ญาณใดญาณหนึ่ง ชื่อว่าได้ทั้ง ๓ หรือญาณใดญาณหนึ่ง จิตก็จะต้องเดินเป็นไปในญาณทั้ง ๓ นั้น หรือ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ ๓ อันนี่รวมเป็นอันเดียวกัน ได้อันใดอันหนึ่งชื่อว่าได้ทั้ง ๓ หรือว่าผู้ทำวิปัสสนานั้นมีปัญญาอ่อน ก็จะต้องเดินไปตามลำดับของญาณทั้ง ๑๖ ค่อยๆ ไป ค่อยๆ ผ่านไป และอารมณ์นั้น ก็ค่อยๆ เป็นปัจจัยเพิ่มขึ้นๆ แต่ท่านที่มีปัญญากล้า ก็อาจจะผ่านไปไม่ถึง ๑๖ อย่าง ญาณทั้ง ๙ นี้ย่อลงเหลือ ๓ อาจจะผ่านเพียงแค่ ๓ อย่างก็ได้ ไม่ต้องผ่านไป ถึง ๙ ก็ได้ ใช่ไหมคะ แต่ว่านี่แจกไว้เต็มที่ อย่างผู้มีปัญญาน้อยก็จะต้องผ่านญาณทั้ง ๑๖ นับตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้น จนถึงปัจจเวกขณญาณ
*****ข้อ ๖ จะต้องมีวิสุทธิ ๗ ขาดไม่ได้เลยเหมือนกัน วิสุทธิอันใดอันหนึ่งก็ขาดไม่ได้ จะต้องมีวิสุทธิทั้ง ๗ ประการ นับตั้งแต่ ศีลวิสุทธิ เป็นต้นไป ไปจนถึง ญาณทัสสนวิสุทธิ
*****ข้อ ๗ มรรคมีองค์ ๘
*****ข้อ ๘ ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทนี่ ก็สงเคราะห์ไปตามวิปัสสนานะคะ มรรคมีองค์ ๘ ก็เหมือนกัน แต่ว่าเมื่อเราทำสติปัฏฐานแล้วละก็ มรรคก็มีองค์ ๘ อยู่แล้วนะคะ แต่นี่พูดถึงหมวดที่เรา ยกขึ้นมา เราจะพูดว่าเราจะเจริญมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ แต่ว่าต้องให้ถูกต้องตามมหาสติปัฏฐานนะ หรือเราจะเจริญสติปัฏฐานก็ได้ ก็ต้องถูกต้องด้วยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนกันนะคะ
*****ที่ยกเอามานี่น่ะ ยกเอามาแต่เฉพาะหมวดใหญ่ๆ ที่เราเคยได้ยินกันมาแล้ว ฉะนั้นผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ซึ่งเป็นธุระสำคัญในพระพุทธศาสนานั้น ถ้าเป็นการปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว การปฏิบัตินั้นก็จะต้องเป็นไปเพื่อธรรมเหล่านี้ คือว่าเราปฏิบัติไปในขณะเดียวจะกำหนดอารมณ์ อันใดก็ตาม มีอริยาบถ ๔ เป็นต้น หรือจะกำหนดธรรมบรรพใดบรรพหนึ่ง ตามที่วางไว้ในมหาสติปัฏฐานนั้นแล้ว เพื่อวิปัสสนาแล้วละก็ จะต้องร่วมไปทั้งหมด การปฏิบัตินั้นจะต้องเป็นไปเพื่อมรรค ๘ เพื่อสติปัฏฐาน ๔ เพื่อวิปัสสนา เพื่อญาณ เพื่อวิสุทธิ แปลว่า การงานที่ทำนั้นน่ะ ต้องเป็นการงานที่ร่วมไปในหมวดธรรมทั้งหมด ถึงจะชื่อว่าถูกต้องได้ บางทีได้มรรคมีองค์ ๘ สติปัฏฐานก็ได้ แต่ว่าวิปัสสนายังไม่เกิดไม่ได้ ใช่ไหม หรือวิสุทธิไม่เข้าถึงก็ไม่ได้ เป็นไปเพื่อไม่วิสุทธิ ก็ไม่ได้ หรือไม่เป็นไปพร้อมด้วยอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ไม่มีการกำหนดทุกข์เป็นต้น หรือไม่เห็นทุกข์ ตัณหาละไม่ได้ บางทีทำไปๆ เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาก็ได้นะ ในอารมณ์ที่ประณีตสงบเข้าอย่างนี้น่ะ ก็เป็นปัจจัยให้ตัณหาก็ได้ จะเข้าถึงวิสุทธิได้เมื่อไรก็เข้าถึงไม่ได้ เหมือนกัน
*****เพราะฉะนั้น ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว จะต้องเป็นไปในธรรมอันนี้ ไม่ใช่ทำทีละคราว จะปฏิบัติอริยสัจ ๔ คราวหนึ่ง เจริญมรรค ๘ คราวหนึ่ง เจริญสติปัฏฐานคราวหนึ่ง เจริญวิสุทธิคราวหนึ่ง ไม่ใช่นะคะ ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ทำไปอย่างเดียวนั่นแหละ แต่ว่าถ้าถูกแล้ว ธรรมเหล่านี้จะต้องเข้าร่วมไป ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้เลย ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ ไม่สมบูรณ์เลย
*****เพราะฉะนั้น นี่ขอให้เข้าใจไว้ด้วย เราจะต้องรู้นะ สงเคราะห์ลงให้ถูกต้องนะคะ การปฏิบัตินั้นก็ต้องเป็นไปเพื่อธรรมเหล่านี้ หรือธรรมเหล่านั้นก็จะต้องเป็นไปร่วมกับการปฏิบัตินั้นด้วย จะต้องสงเคราะห์เข้ากันไป พร้อมด้วยธรรมเหล่านั้น ถ้าการปฏิบัตินั้นไม่เป็นไปร่วม ด้วยธรรมทุกหมวดตามที่ยกมานั้น หรือสงเคราะห์กัน ไม่ได้ด้วยธรรมเหล่านั้น ในหมวดใดหมวดหนึ่งก็ตาม ก็ขอให้เข้าใจเถิดว่าการปฏิบัติของเรานั้นยังไม่ถูก จงพยายามศึกษาสอบสวนและแก้ไขให้ถูก จงอย่าทำความเห็นผิดให้เกิดขึ้น จะเป็นตัวอุปาทาน เข้าไปยึดมั่นในสิ่งที่ผิด ว่าเป็นของถูกไป ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรจะสังวรให้มาก เพราะถ้าไปยึดถือในสิ่งที่ผิดเข้าแล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่แก้ยากที่สุด และถ้าแก้ไม่ได้แล้ว ก็จะต้องติดตามไปในอนาคตชาติต่อไปอีกด้วย มิจฉาทิฏฐินี่น่ะ ไม่ใช่จะอยู่เพียงแค่ชาตินี้ ตายแล้วจะหมด สัมมาทิฏฐิก็เหมือนกัน ก็ต้องติดตามไป ถ้าเราได้สัมมาทิฏฐิไป สัมมาทิฏฐิก็ตาม อุปการะเราไปในอนาคตชาติต่อๆ ไป ถ้าเราได้มิจฉาทิฏฐิไป มิจฉาทิฏฐิก็ตามอุปการะเราไปในอนาคตชาติต่อๆ ไปอีกด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นธรรมดีหรือชั่วก็ตาม จะเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิก็ตาม ธรรมทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นตัวมโนกรรมใช่ไหม มิจฉาทิฏฐิก็เป็นมโนกรรม สัมมาทิฏฐิก็เป็นมโนกรรมใช่ไหม กรรมบถมี ๒ อย่างนี่ กุศลกรรมบถ อกุศลกรรมบถใช่ไหม กุศลกรรมบถ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวมโนกรรม อกุศลกรรมบถ มิจฉาทิฏฐิเป็นตัวมโนกรรม จะต้องติดตามเราไปสนองผลเป็นแน่นอนทีเดียว
*****ฉะนั้นในทางที่ดีแล้ว ก่อนหน้าที่เราจะตัดสินใจ จะเชื่อลงไปในเรื่องอะไรนั้น ก็ขอให้เชื่อถือในเหตุผล อย่าเชื่อโดยอาศัยวัตถุ ๑๐ ประการ ตามที่วางไว้ใน เกสปุตตสูตรหรือกาลามสูตร อย่าไปเชื่ออย่างนั้น ต้องการจะทราบไหมว่า ในกาลามสูตรนั้นท่านห้ามอะไรบ้าง ต้องการจะทราบหรือว่าทราบแล้ว ที่จริงก็ควรจะทราบนะ ว่าพระพุทธองค์ทรงห้ามไว้ ๑๐ ประการ ที่ไม่ให้เชื่อโดยอาศัยวัตถุ ๑๐ ประการนั้นน่ะ ได้แก่อะไรบ้าง คือว่า
****ชาวกาละมะได้มาทูลถามพระองค์ว่า บรรดาคณาจารย์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในนิคมนี้ ได้แสดงวาทะ สั่งสอนต่างๆ กัน ล้วนแต่ว่าคำสอนของตนถูก ของคนอื่นผิด พวกเขาไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี พระพุทธองค์จึง ตรัสว่า
*****ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านจะ เคลือบแคลงสงสัย ก็เป็นฐานะที่ควรจะสงสัย เอาเถิดท่านทั้งหลาย เราจักแสดงสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ ๑๐ ประการ มีเนื้อความดังนี้
*****๑. อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังกันมา
*****๒. อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้เล่าสืบๆ กันมา
*****๓. อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินมาว่าอย่างนี้ เขาพูดกันว่าอย่างนั้น อะไรอย่างนี้น่ะ ก็ตื่นข่าวว่าแหม เขาไปกันแยะที่โน่น ที่นี่ เราก็ตื่นข่าวไป เชื่อไป เชื่อเพราะว่าด้วยความตื่นข่าวอย่างนี้
*****๔. อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา นี่ตำราว่าอย่างนี้ ก็อ้างตำรา ถ้าอ้างตำราน่ะ ถ้าเรารู้ตำรา เราก็พอจะสอบได้นะ แต่ว่าก็เราไม่รู้ตำราละ เราก็ไม่แน่นี่ตำรามีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ นี่เราเคยพิสูจน์มาแล้วใช่ไหม เขาอ้างตำราใช่ไหม นี่เราเป็นคนเชื่อตำรา เราก็ถามว่า ข้อปฏิบัติอย่างนี้ ธรรมะอย่างนี้น่ะ หรือที่พูดอย่างนี้น่ะ มีอยู่ที่ไหนในพระไตรปิฎก เขาบอกว่ามีค่ะ มีเขาถามกันว่ามีจากไหน ถามอาจารย์มาบอกว่า พระไตรปิฎกเล่มนั้นทีเดียว อยู่หน้าที่เท่านั้น เขาบอกมาเสร็จเลย เราก็มาสอบ เพราะเราค้นคว้านี่น่ะ พอมาสอบดูไม่มีเลย เนื้อความอย่างนั้นในตำราไม่มีเลย นี่เราสอบนะ เราจึงรู้ว่าไม่มีนะ ถ้าท่านที่ยังไม่สอบจะรู้ ยังไงว่าไม่มีก็ต้องเชื่อซิ แหมเขาบอกทั้งเล่มนั้น เขาบอกทั้งตำรา และเขาบอกทั้งหน้านั้นใช่ไหมละ มันน่าเชื่อไหม ถ้าไม่มี เขาจะกล้ามาอ้างถึงอย่างนี้หรือ นี่เราสอบ พอเราสอบแล้วในตำรานั้นไม่มี ดูเถอะเพราะฉะนั้น ท่านถึงบอกว่า อย่าได้ยึดถือเชื่อโดยการที่เขาอ้างตำรา
*****๕. อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง เดาเอาว่าอันนี้ต้อง เป็นอย่างนั้นทีเดียว เหตุผลอย่างนั้นมันก็ต้องเป็นไป อย่างนั้น อะไรอย่างนี้น่ะ เราก็เดาของเราเอาเองไม่ได้นะ
*****๖. อย่าได้ยึดถือโดยการคาดคะเน ก็ไม่ได้อีก คาดคะเนก็ไม่ได้ ความเชื่อของฉันน่ะ ฉันคะเนว่าต้องเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ได้นะ
*****๗. อย่าได้ยึดถือโดยตรึกเอาตามอาการ ตรึกไป ตามอาการๆ อย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนี้ อาการอย่างนี้ มันต้องเป็นอย่างนั้น อะไรอย่างนี้ก็ไม่ได้
*****๘. อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่า ถูกกับความเห็นของเรา แหมคนนี้เขาพูดดีจริง เขาพูดถูก เพราะเราก็เห็นอย่างนั้นเหมือนกัน ตรงกับความเห็นของเรา ส่วนความเห็นของเราผิดถูกไม่รู้หรอก แต่ว่าก็ตรงกับความเห็นของเรา แล้วก็ชอบละ เชื่อละอย่างนี้ เชื่อด้วยเหตุนี้ก็ห้ามอีกนะคะ
*****๙. อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าสมณะผู้พูดนั้นเป็นบุคคล ที่ควรจะเชื่อได้ อย่างนี้ก็ไม่ได้นะ เออแหมท่านต้องเชื่อได้ เพราะสมณะผู้นี้ เป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้สังวร สำรวมอะไรต่ออะไร ทุกอย่างใช่ไหม เราก็นึก แหม! น่าเชื่อเหลือเกิน ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษอะไรนี่ ท่านพูดอะไรแล้วเราก็คงจะเชื่อได้ จะเชื่อด้วยเหตุผลก็ห้ามอีก
*****๑๐. อย่ายึดถือว่าสมณะผู้นี้เป็นอาจารย์ของเรา นี่เห็นไหม เพราะเราเชื่อเพราะอาจารย์บอก พวกเราก็จะมีกันเยอะใช่ไหม ทำไมถึงว่าอย่างนั้นละ ก็เรียนมาอย่างนี้ อาจารย์สอนว่าอย่างนี้นี่ใช่ไหมล่ะ อย่างนี้น่ะ คงจะโดนพวกเราเยอะนะ นี่ท่านก็ห้ามไว้นะ การเชื่อด้วยเหตุนี้ยังใช้ไม่ได้ ยังใช้ไม่ได้เลยนะคะ เพราะว่าคนนั้น เป็นอาจารย์ของเรา ต่อเมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนของตนเอง ว่าธรรมอันนี้เป็นกุศลธรรมเหล่านี้เป็นโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้สมาทาน (สมทานในที่นี้ หมายถึงว่าประพฤติ หรือปฏิบัติ) แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นแหละ ท่านทั้งหลายก็ละธรรมเหล่านั้นเสีย นี่แหละ แปลว่า ควรจะเชื่อด้วยเหตุผลที่ตนได้พิจารณารู้ด้วยใจของตนเองแล้ว
*****เพราะฉะนั้นพวกเราที่เป็นพุทธศาสนิกนี่นะคะ เอาแต่เพียงให้มัน นอกจาก ๑๐ อย่างนี้ ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยจะพ้นเลยนะ อย่างน้อยก็ไม่พ้นจากอาจารย์ ไม่ใช่ว่าเราเข้าใจเองนะคะ เข้าใจเองนะด้วยเหตุผลที่เราพิจารณาแล้วว่าธรรมอันนี้มีเหตุผลอย่างนั้นจริงๆ ไม่ใช่ว่าเชื่อตามอาจารย์ อย่างนี้ก็ยังยากนะ นี่นะเห็นไหมว่าการปฏิเสธความเชื่อในพุทธศาสนานี้น่ะ ละเอียดละออมากมาย นี่ก็เป็นเครื่องวัดความเชื่อของเรา ทุกอย่างต้องสังวร ต้องสำรวมนะคะ อย่าเพิ่งตัดสินใจเร็วนัก และก็ทรงถามพวกกาลามชนทั้งหลายว่า “ท่านจะเห็นความข้อนี้ว่าอย่างไร คือความโลภนั้น เมื่อเกิดขึ้นในบุรุษใด จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อไม่เป็นประโยชน์?” ถามให้คิดกันเอง ท่านไม่ได้บอก ท่านไม่ได้บอกให้ไปเชื่อ ท่านถามให้คิดเอาเอง
*****สรุปแล้วว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อเกิดขึ้นแก่ใครแล้ว จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ หรือไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ (ประโยชน์ในที่นี้ก็หมายถึงว่า ประโยชน์สุขนะคะ เป็นประโยชน์หรือประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน) ธรรมอันนี้เกิดขึ้นแล้วน่ะ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ หรือไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์? พวกกาลามโคตรต่างก็กราบทูลว่า เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์พระเจ้าค่ะ แกตอบเอาเอง คือแกตรองแล้ว แกตอบของแกเอง ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าบอก ไม่ใช่อย่างนั้น
*****ทรงถามต่อไปว่า “ดูก่อนกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถูกความโลภ หรือความโกรธ ความหลง ครอบงำจิต มีจิตอันความโลภ โกรธ หลง กลุ้มรุมแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภนั้น ก็ย่อมชักชวนคนอื่น (นี่ท่านพูดถึงผู้ที่เป็นอาจารย์แล้วนะ) บุคคลที่ตัวเป็นไปอย่างไรนี่น่ะ บุคคลผู้โลภนั้น ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นไปอย่างนั้น คือให้เป็นไปเหมือนอย่างกับตัวนี่น่ะ ให้เป็นไปเหมือนอย่างกับตัวนั้นก็ได้ พวกกาลามะก็รับว่าเป็นจริงอย่างนั้นพระเจ้าค่ะ
*****นี่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ไม่เข้าถึงความบริสุทธิ์น่ะ จะชวนให้คนเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้อย่างไร? ก็ไม่ได้ ใช่ไหมล่ะ! คนที่ถูกความโกรธครอบงำแล้วก็จะต้องชักชวนให้คนอื่นนั้นน่ะ เข้าถึงความโกรธด้วย อันนี้ จริงไหม? แหม! พวกเรามีอยู่เสมอนะ เราไม่ชอบใครแล้ว เราก็ต้องมาเล่าถึงความไม่ดีของคนนั้น อะไรต่ออะไร ให้คนอื่นฟัง เพื่อจะให้คนนั้นโกรธด้วย จริงไหม? ถ้าคนนั้นไม่โกรธด้วย เราก็ไม่ชอบนะ เราหาว่าไม่เข้ากับเรา ไปเข้ากับคนโน้น นี่มันเป็นอย่างนี้ นี่น่ะเรามีอยู่เสมอ ถ้าเราชอบ เรารัก เราก็ไปชักชวนคนอื่นให้รักด้วย ให้ชอบด้วย นี่ก็มีอยู่แก่เราเสมอใช่ไหม นี่น่ะท่านว่าอย่างนี้ ทีนี้เมื่อเรามีอยู่อย่างนี้ เราก็ชวนคนอื่นให้เป็นอย่างนี้ นี่น่ะ พระอริยเจ้าเป็นผู้ไม่มีความโลภและความโกรธครอบงำ แล้วพ้นแล้วใช่ไหม ท่านก็ชักชวนคนอื่นให้พ้นจากความโลภ ความโกรธและความหลงนั้นได้ด้วย นี่ท่านบอกว่าอย่างนั้น ถ้าคนมีกิเลสอย่างนี้แล้ว ไม่มีหวังที่จะไปชวนให้เขาพ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ เพราะว่าตัวเขาเองก็ยังถูกความโลภ โกรธและหลง ครอบงำอยู่ จะไปชวนคนอื่นได้อย่างไร เห็นไหมคะ อันนี้เราก็พอจะเห็นเป็นตัวอย่างนะ จงอย่ายึดมั่นในสิ่งที่ผิดนะคะ ต้องเป็นไปในสิ่งที่ถูก
*****ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรสังวรให้มาก ถ้าไปยึดในสิ่งที่ผิดแล้ว ก็แก้ยากที่สุด หรือบางทีก็แก้ไม่ได้เลย เมื่อแก้ไม่ได้แล้วเราก็ลำบาก ใช่ไหมคะ เพราะว่าไปเกิดอีก เราจะต้องมีภพชาติอีก พวกนี้ก็จะต้องตามไปรังแกเราเรื่อยนะคะ
*****ฉะนั้น ในทางที่ดีเราจะเชื่ออะไรก็ขอให้พิจารณาว่า อยู่ในวัตถุ ๑๐ ประการหรือเปล่านะคะ ถ้าอยู่ในวัตถุ ๑๐ ประการละก็ อย่าเพิ่งตัดสินใจเชื่อลงไป ถ้าพ้นจากวัตถุ ๑๐ ประการแล้ว ต้องพิจารณาด้วยเหตุผล และต้องรู้ด้วยใจตัวเอง แล้วเราถึงค่อยเชื่อนะคะ ตามที่พระพุทธองค์ห้ามไว้ ดิฉันก็ยกมาให้ทราบ ก็คิดว่าเป็นประโยชน์แก่พวกเราที่นับถือพุทธศาสนา คือคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยนะคะ นี่เป็นคำสอนของพระบรมศาสดา ทรงห้ามไว้ดังนี้ ก็ควรที่จะยึดถือเป็นตัวอย่าง ในการที่จะตัดสินใจเชื่ออะไรลงไป ก็ขอให้พ้นจากธรรมทั้ง ๑๐ อย่างนี้
*****ในที่สุดนี้ ก็ขอจบคำบรรยายเรื่องวิสุทธิ ๗ ไว้ เพียงนี้นะคะ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านผู้ฟังทั้งหลาย และขออำนาจกุศลที่เกิดจากการฟังนี้ หรือกุศลของดิฉันที่เป็นผู้บรรยายนี้ด้วย จงเป็นพลวปัจจัยให้เขาถึงวิสุทธิมรรค ทั้ง ๗ อันเป็นทางให้ถึงสรณะอันแท้จริง ตามที่เราได้ศึกษากันมาแล้วนั้นด้วยกันทุกๆ ท่านเทอญ.
สวัสดีค่ะ