**การเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

โดย อาจารย์แนบ มหานีรานนท์

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

 **************************************

สวัสดีค่ะ

******ท่านผู้สนใจในพระพุทธศาสนาทั้งหลาย พวกเราคงจะเคยสวดมนต์ไหว้พระ ตามคาถาข้างต้นนี้นะคะ เชื่อว่าต้องคล่องปาก ขึ้นใจ และเข้าใจความหมายด้วยกันทุกคนแล้วนะคะ คือ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ ขอถึงพระธรรม ขอถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แต่การขอถึงนี้ จะถึงอย่างไร และอย่างไรจึงจะเรียกว่า ถึงพระพุทธ พระธรรม พ ระสงฆ์เป็นที่พึ่งหรือถึงพระรัตนตรัย นี่ก็เหมือนกันนะคะ

 การขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นอย่างไร

******ก่อนที่เราจะทราบถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าจะถึงได้อย่างไรนั้น เราก็ควรจะ ได้ทราบความหมายของคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เสียก่อน แปลว่าอะไร เราจะต้องรู้จักสิ่ง ทั้ง ๓ นี้เสียก่อนนะคะ แล้วจึงจะรู้กันต่อไปว่า การถึงนั้น จะถึงได้อย่างไร? โดยวิธีใด?  

พระพุทธ คืออะไร

******พระพุทธเจ้า แปลว่า ผู้ตรัสรู้ และพระพุทธ ที่เรากล่าวขอถึงกันนี้ หมายถึงอะไร คงไม่หมายถึง ร่างกายของพระพุทธเจ้าท่านว่าเป็นพระพุทธ เพราะเวลานี้ก็ไม่มีร่างกายนั้นแล้ว ใช่ไหมคะ ท่านปรินิพพานไปแล้ว เราจะไปถึงร่างกายของ พระองค์ท่านได้อย่างไร พระรัตนตรัยนั้นมี ๓ นะคะ ถ้าหมายเช่นนั้น พระรัตนตรัยมีเหลือเพียง ๒ หรือ เพราะร่างกายของพระพุทธเจ้าท่านไม่มีแล้วเมื่อเป็น เช่นนั้นแล้ว อะไรคือ พระพุทธ พวกเราก็ทราบกันดีแล้วว่า พระพุทธเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้ธรรมที่ท่านตรัสรู้เองโดยชอบ จนได้ พระนามว่าพระพุทธเจ้านั้น ท่านตรัสรู้อะไร ท่านตรัสรู้อริยสัจ ๔ นะคะ ปัญญาที่ตรัสรู้ด้วย พระองค์เอง โดยไม่ต้องอาศัยใครสั่งสอนนี่แหละค่ะ หมายเอา ปัญญาของท่าน นี่แหละ เป็นพระพุทธ เข้าใจแล้วนะคะ คำว่าพระพุทธนี่

พระธรรม คืออะไร

******เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดงธรรม ที่ตรัสรู้นั้น โปรดสัตว์ พระธรรมคำสั่งสอนของ พระองค์คือเหตุผลต่างๆ ของธรรมชาติ มีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติหรือว่าธรรมทั้งหมด ที่พระองค์สั่งสอน นั่นแหละ เป็นพระธรรม

พระสงฆ์ คืออะไร

******ส่วนพระสงฆ์ ก็คือผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้า ที่สุดแม้หากได้โกนหัวนุ่งเหลืองก็ดี หรือทำการบรรพชาแล้วก็ดี แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตาม คำสั่งสอนหรือไม่ประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยของ พุทธองค์ก็ไม่ชื่อว่าภิกษุสงฆ์ นะคะ ภิกษุสงฆ์สาวก ของพระพุทธเจ้าต้องเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติถูก สมควรที่จะเคารพบูชา อย่างนี้คือ พระสงฆ์ นะคะ

การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือถึงอะไร

******ทีนี้จะพูดการถึงพระพุทธนั้น คือ ถึงอะไร การถึงพระพุทธนั้น ก็คือถึงปัญญาของท่าน เราต้องเกิดปัญญารู้อริยสัจจธรรม นะคะ เพราะพระพุทธเจ้า รู้สิ่งนี้ ปัญญาของพระพุทธเจ้ารู้อย่างนี้และเมื่อเรารู้อย่างนี้ด้วยก็เรียกว่า ถึงพระพุทธ เหมือนอย่างพ่อแม่สอนเราว่า อย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ แต่เรา ยังไม่รู้ว่า ที่สอนนั่นน่ะดีหรือไม่ดี ทีนี้พอเราไปประสบ เหตุการณ์อะไรอย่างหนึ่งที่พ่อแม่เคยสอนเราไว้ ก็นึกถึงพ่อแม่ขึ้นมาทันที นึกถึงคำสั่งสอน นึกถึง ความรู้ของพ่อแม่ว่า อ้อ นี่พ่อแม่เรารู้อย่างนี้แล้ว ก็สอนเราให้ทำอย่างนี้ ไม่ให้ทำอย่างนั้น เป็นต้น นี่เรียกว่า เราถึงความรู้นะคะ เมื่อพระองค์รู้สิ่งนี้ คือ อริยสัจจธรรมแล้ว พระองค์ก็สอนให้เรารู้ เมื่อเรารู้อย่างนั้นแล้ว ก็เรียกว่าถึงแล้ว คือถึงปัญญาความรู้ของพระองค์ นี่เรียกว่า ถึงพระพุทธ ส่วนธรรม คือ อริยสัจจธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เมื่อเรารู้ธรรม ที่พระพุทธองค์สอนอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่าถึงพระธรรม ส่วนผู้ใดที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ แล้วรู้ธรรมนั้น ก็เรียกว่า ถึงพระสงฆ์ พอเข้าใจแล้ว นะคะ

พุทธ กับ อนุพุทธ ต่างกันอย่างไร

พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ เรียกว่า พุทธะ ส่วนผู้ที่รู้ อริยสัจจธรรมตอนหลังๆ ต่อมาจากพระพุทธเจ้า ไม่ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า ถึงแม้จะรู้อย่างพระพุทธเจ้า ก็ไม่เรียกว่าพระพุทธเจ้า เพราะผู้รู้ตอนหลังนี้ เป็นผู้รู้ตาม คือ เกิดปัญญา เพราะรู้ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรียกท่านผู้รู้ตอนหลังนี้ว่า อนุพุทธ ผู้รู้ตาม  การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ถึงพร้อมกันในคราวเดียว?

******เพราะฉะนั้น ที่เราขอถึง ก็คือ ขอถึงความรู้คือ รู้ถึงธรรมะที่พระพุทธองค์สั่งสอน คืออริยสัจจธรรม เมื่อเกิดความรู้ คือถึงปัญญา ก็ถึงพระพุทธ เมื่อเรารู้ธรรมที่พระพุทธเจ้ารู้ เรียกว่า เราถึงพระธรรม และผู้รู้ตามนั่นแหละ ชื่อว่าถึงพระสงฆ์ การถึงก็ถึงพร้อมกันทั้ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือ ถ้าใครถึงพระพุทธก็ถึงพระธรรมด้วย, และเมื่อใครถึงพระพุทธ พระธรรม ผู้นั้นก็ถึงพระสงฆ์ด้วย, อย่างนี้เรียกได้ว่า การถึง เข้าใจแล้วนะคะ คืออย่างนี้ เรียกได้ว่า ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยแท้จริง

 เพียงการระลึกถึง จะไปถึงหรือไม่

******การถึงนั้นมีหลายอย่าง ถึงด้วยกายก็มี ถึงด้วยวาจาก็มี ถึงด้วยใจก็มี การถึงด้วยกาย ก็โดยเรากราบไหว้ขอถึง การถึงด้วยวาจา ก็โดย เราเปล่งเสียงออกมาขอถึง การถึงด้วยใจ ก็โดยการ เลื่อมใสศรัทธาด้วยจิตใจนึกถึง อย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นการขอถึงได้เป็นขั้นต่างๆ ตามที่เราเลื่อมใสใน พระรัตนตรัย คือในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นะคะ

 การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยแท้จริงต้องถึงโดยการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ มหาสติปัฏฐานมีอยู่ทางเดียวเท่านั้น

******แต่การที่จะให้ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยแท้จริงนั้น ทำอย่างไร จึงจะถึงพระรัตนตรัยทั้ง ๓ นี้ได้ เราจะไปกันด้วยอะไรจึงจะถึง จะไปด้วยรถยนต์ รถไฟ หรือ ก็ไม่ใช่ จะไปด้วยเรือบินรึ ก็ไม่ใช่ ถ้าเช่นนั้น เราจะถึงโดยการไปด้วยอะไรกันเช่นนี้ เราก็ควรต้องรู้ ควรต้องเข้าใจนะคะ เราต้องถึงด้วยการปฏิบัติค่ะ ทีนี้เราก็ต้องรู้ว่า ปฏิบัติกันอย่างไรจึงจะถึง ก็ต้องด้วยศีล สมาธิ ปัญญา หรือมหาสติปัฏฐาน ที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้ วางไว้ หรือชี้ไว้ว่า มีทางเดียว เอกายโน มคฺโค มีทางเดียวเท่านั้น ที่เราจะทำให้ถึง พระรัตนตรัยทั้ง ๓ ได้ เข้าใจแล้วนะคะ

 การตั้งสำนักวิปัสสนาขึ้นที่นี้ ก็เพื่อเป็นยาน อย่างหนึ่ง สำหรับการปฏิบัติ เพื่อจะให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

******เพราะฉะนั้น การที่ได้มาตั้งสำนักปฏิบัติ วิปัสสนาที่นี่ ให้มีการทำกรรมฐานที่นี่ มีทั้งพระภิกษุ และฆราวาสมาปฏิบัติกันหลายท่าน ก็ปฏิบัติเพื่อจะให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะรู้กัน อยู่แล้วว่าการถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น จะไปให้ถึงด้วยยวดยานอะไรๆ ไม่ได้เลย ต้องไปด้วย การปฏิบัติวิปัสสนาเท่านั้น จึงจะมีโอกาสถึงได้ เพราะฉะนั้น ที่มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมนี้ ตั้งเพื่อเป็นยานอย่างหนึ่งสำหรับการปฏิบัติ จะปฏิบัติไปไหนกัน ก็เพื่อจะไปให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามที่ประกาศขอไว้นั่นเอง ถ้าเราประกาศขอถึงด้วยปาก จะถึงไหมคะ คือ ศีลก็ไม่ทำ สมาธิก็ไม่ทำ วิปัสสนาก็ไม่ทำ แล้วจะถึงไหม เพราะฉะนั้น การที่มาตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนานี้ จึงชื่อว่ามีประโยชน์ จะมีประโยชน์อย่างไร ประโยชน์ก็เพื่อที่จะได้ใช้ เดินทางให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะเราจะไปด้วยยวดยานอะไรๆ ไม่ได้  เราต้องไปด้วยการปฏิบัติอย่างนี้

 วิปัสสนาธุระ เป็นกิจอันสำคัญอย่างหนึ่งใน พระพุทธศาสนา

******ฉะนั้น ใครตั้งอยู่ในกิจนี้ คือ วิปัสสนาธุระ อันเป็นกิจสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนานี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนดี เป็นคนที่ประพฤติตนตามที่ได้ประกาศไว้ เพราะน้อยคนนักที่จะมาทำความเพียร อย่างนี้ ต้องเป็นคนที่มีความเลื่อมใสศรัทธาจริงๆ ต้องเอาชนะกิเลสมันมา อย่างทุกท่านที่มาที่นี่ ก็เลื่อมใสกันทุกคน อยากถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันทั้งนั้น ใช่ไหมคะ แต่ว่าจะมาปฏิบัติ อย่างนี้สัก ๓ วัน ๗ วัน จะได้ไหม ก็บอกว่าไม่ได้ ใช่ไหมคะ ใครห้ามไม่ให้เรามา ทราบไหมคะ กิเลสค่ะ มันห้ามไว้ เพราะเราอยู่ใต้อำนาจกิเลส ถ้าเราจะขอกิเลส ขอลาไปทำวิปัสสนาสัก ๓ วัน หรือ ๕ วันเถอะ มันจะอนุญาตไหม มันจะว่าแกไปไม่ได้ แกมีธุระมาก แกมีภาระที่จะต้องทำมากมายอยู่ทางบ้าน บ้านแกไม่มีคนอยู่ อย่างนี้ใช่ไหมคะ นี่ต้องแล้วแต่กิเลส เขาจะอนุญาต ถ้าเขาอนุญาตให้กี่วันก็มาได้เท่านั้น นี่แหละเราอยู่ใต้อำนาจของกิเลสอย่างนี้ บางคนก็มาไม่ได้เลย บางคนก็มาได้เพียงวันพระ แม้กิเลสมันให้มาเพียงวันพระวันเดียวก็ยังดี ถ้ามันไม่ให้เรามา เราก็มาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะมาปฏิบัติอย่างนี้ได้ ก็ต้องเสียสละมา ต้องชนะกิเลสจึงมาได้ ใช่ไหมคะ

การสร้างกุศลให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เป็นการสร้างกุศล เพื่อให้ถึงความ พ้นทุกข์ หรือถึงพระนิพพานนั่นเอง

*****ในการสร้างกุศลอย่างการปฏิบัติวิปัสสนา หรือสติปัฏฐานนี้ เราจะมีโอกาสสร้างได้ต่อเมื่อ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว แต่ก่อนนี้ คือ ก่อนที่ พระพุทธเจ้าของเราอุบัติขึ้น ก็มีอาจารย์ มีฤาษีชีไพรอยู่แล้วมากมาย เขาสามารถเหาะเหิน เดินอากาศได้ มีตาทิพย์ หูทิพย์ เป็นต้น แต่ว่าความตรัสรู้ไม่มี หนทางที่จะทำให้เกิดปัญญาความรู้ ในอริยสัจจธรรมไม่มี ต่อเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์จึงได้วางมหาสติปัฏฐาน อันเป็นหนทางนี้ ขึ้นไว้ว่า หนทางที่จะถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือทางที่จะพ้นทุกข์ต้องอาศัยทางนี้ คือ มหา สติปัฏฐานนี่ สร้างกุศลอย่างนี้ จึงจะไปนิพพานได้ เพราะฉะนั้น เราเคารพกราบไหว้สรรเสริญบูชาท่าน ก็เพราะอย่างนี้ คือ หนทางที่จะถึงความพ้นทุกข์ หรือถึงพระนิพพานนั้น ไม่มีใครรู้ ศาสดาอื่นใดก็ไม่รู้ และไม่มีใครบัญญัติหนทางปฏิบัตินี้ได้เลย ต่อเมื่อพระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาที่พระองค์ตรัสรู้ ขึ้นมาแล้ว และวางหนทางไว้ให้ปฏิบัติ จึงได้ปฏิบัติกัน ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็มีผู้ได้รู้ ได้ปฏิบัติกันมาก แต่มาถึงสมัยนี้พระพุทธศาสนา ล่วงเลยมาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว จึงมีความเสื่อม ไปจากความเข้าใจของคนสมัยนี้ พุทธบริษัทบางท่าน ไม่รู้จักหนทางนี้เลยก็มี นี่พระพุทธศาสนาก็จะ หมดลงไปแล้วนะคะ โอกาสที่เราจะสร้างกุศลอย่างนี้ก็น้อยลง ต่อไปอาจจะหาไม่พบทางนี้ และบางท่านที่ ไม่เข้าใจในการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไปก็เห็นนรกบ้าง เห็นสวรรค์บ้าง นี่แหละความเข้าใจที่จะทำให้ถูกต้อง ตามหนทางที่พระพุทธองค์วางไว้ก็เสื่อมไปแล้ว ทางที่ถูกก็จะหายากเข้าทุกที เพราะฉะนั้น ถ้า พุทธศาสนาหมดแล้ว เราก็จะไม่มีโอกาสได้สร้างกุศล อย่างนี้ และไม่ใช่ว่า ตายแล้วก็สูญไม่มาเกิดอีก ถ้าตายแล้วไม่มาเกิดอีก ก็ไม่ต้องทำกุศลอย่างนี้ก็ได้ แต่พวกเราทุกคนนี่ก็เชื่อแล้วว่า เมื่อตายแล้วก็ต้อง ไปเกิดอีกแน่ ผู้ที่ไม่เกิดอีก ก็มีแต่พระอรหันต์ผู้หมด กิเลสแล้วเท่านั้น และเมื่อเกิดแล้ว เราจะได้พบพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็ไม่รู้ หรือว่าเมื่อเกิดในชาติ ต่อๆ ไป อาจจะได้พบพระพุทธศาสนาอีกเช่นเดี๋ยวนี้ แต่จะมีโอกาสได้ทำกุศลที่จะให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือไม่ก็ไม่รู้ และจะมีวิธีทำถูกต้องอยู่ หรือเปล่าก็ไม่รู้ อาจไม่รู้หรือไม่พบก็ได้ เมื่อไม่พบ ก็ไม่มีโอกาสจะสร้างกุศลอย่างนี้ เมื่อเช่นนี้ การเกิดอีกก็ไม่ได้ปัจจัยไปเลย ใช่ไหมคะ ก็เมื่อเชื่อกันแล้วว่า จะต้องไปเกิดอีก และถ้าเราได้สร้างปัจจัยในกุศลอย่างนี้ไป เมื่อเราเกิดอีก ก็มีปัจจัยเพิ่มอีก บารมีเพิ่มอีกใช่ไหมคะ

ถ้าไม่สร้างกุศลที่จะทำให้ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เหมือนเกิดมาไม่ได้พบ พระพุทธศาสนา

******เวลานี้ทุกคนก็มีวาสนาอันประเสริฐที่เกิดมาได้พบพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นการสมควรหรือไม่ ที่จะสร้างกุศลอย่างนี้ อย่างน้อย ๗ วัน หรือ ๑๐ วัน พระพุทธเจ้าท่านวางกำหนดการปฏิบัติไว้ว่า ไม่ ๗ วัน ก็ ๗ เดือน หรือไม่ก็ ๗ ปี ก็บรรลุได้ ถึงแม้ว่าเรายังมาไม่ได้ แต่เมื่อเราได้มาพบแล้วว่าเวลานี้ กุศลอย่างนี้ยังคงอยู่ ยังมีโอกาสทำได้และ มีคนคอยช่วยแนะนำให้เราทำ เราก็ควรฉวยโอกาส ที่จะสร้างกุศลอย่างนี้ เพราะเมื่อไรเราจะได้มีโอกาส ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้มาตรัสรู้หรือกัปไหนว่าง พระศาสนา ก็ไม่มีโอกาสสร้างกุศลอย่างนี้แล้ว หมดโอกาสแล้วใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราไม่สร้างกุศล อย่างนี้ก็จะได้ประโยชน์อะไร ในการที่เรามาพบพระพุทธศาสนา ถึงแม้ทานก็ดี ศีลก็ดี สมาธิก็ดี หรืออภิญญาสมาบัตินั้น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้เขาก็มีกันอยู่แล้ว เมื่อเรา มาพบพระพุทธศาสนากันแล้ว แต่เราไม่สร้างกุศลอย่างนี้เลย ก็เหมือนกับไม่ได้พบ กุศลอย่างอื่น เรามีโอกาสทำได้ทุกเมื่อ เพราะมีประจำในโลกแล้ว ทานก็มีอยู่แล้ว ศีลก็มีอยู่แล้ว สมาธิก็มีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงถือว่า เป็นสิ่งที่ควรที่สุด สำหรับพวกเรา ที่นับถือพระพุทธศาสนา จะได้มีโอกาสสร้างกุศล อย่างนี้บ้าง สร้างยากนะคะ ทุกท่านมารักษาศีล ก็ทำได้อย่างเช่นวันพระ บางที่ ๓ วัน ก็มาทำได้ ทำทานหรือทำอะไรๆ เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ก็ทำได้หมดใช่ไหมคะ แต่การที่จะมาทำกุศล เพื่อให้ ถึงพระรัตนตรัย อย่างนี้ทำได้ยาก เพราะการมาทำ กรรมฐานนี้ต้องชนะกิเลสมันมา จึงจะมาได้ มิฉะนั้นก็มาไม่ได้ ดังนั้นทุกท่านที่มีโอกาสมาพบ พระพุทธศาสนาแล้ว ก็ควรสละเวลาเข้ามาปฏิบัติ กรรมฐานเพื่อเพิ่มบารมีสัก ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ตามโอกาสที่จะมาได้ ทำได้มาก บารมีก็เพิ่มมาก

 ******พอเข้าใจแล้วนะคะ ส่วนคุณของพระพุทธเจ้า ท่านก็มีอยู่ในบทสวดอิติปิโส พระธรรมก็มีคุณอยู่ ในบทสวดสวากขาโต ส่วนพระสงฆ์มีคุณอยู่ในบทสวดสุปฏิปันโน ท่านมีคุณอย่างที่เราสวดมนต์ ก็รู้อยู่แล้ว แต่ที่จะเป็นพระสงฆ์ได้ก็ต้องปฏิบัติ มิฉะนั้น กิเลสก็ไม่หมด ดังนั้นการปฏิบัติวิปัสสนาจึงเป็นธุระ จึงเป็นกิจอันสำคัญที่จะทำให้บุคคลถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นพระอริยะ หรือถึงนิพพาน เป็นความบริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลส ถ้าท่านทั้งหลาย ไม่ขัดข้องเรื่องร่างกาย ก็ขอให้มากันบ่อยๆ นะคะ

 

*************************************

(ต่อไปนี้เป็นการขยายความต่อท้ายธรรมบรรยาย)

โดยท่าน

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี

 

 พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เรารู้จักกัน ในปัจจุบัน

พระพุทธ คืออะไร?

******ตามความเข้าใจของพุทธศาสนิกชนบางคน เข้าใจว่าคือ พระพุทธรูป ที่เราตั้งไว้บูชาในบ้านช่องของเรา ซึ่งรวมทั้งพระพุทธรูปที่เป็นพระประธาน ในโบสถ์วิหาร ตามวัดวาอารามต่างๆ บางท่านรู้ว่า พระพุทธรูปนั้นเป็นสิ่งสมมุติ องค์พระพุทธก็ต้อง หมายถึงพระสรีระร่างกายของพระพุทธเจ้า ซึ่งดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว แต่ทรงตั้งผู้แทน พระองค์ไว้ ดังที่ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า พระธรรม อันตถาคตตรัสไว้แล้วด้วยดี นี้แหละ จะเป็น พระศาสดาแทนตถาคต เลยเข้าใจเอาว่า ในปัจจุบันนี้พระพุทธไม่มีแล้ว ก็คงใช้พระธรรม เหล่านั้นแทนองค์พระพุทธด้วย สำหรับบางท่านที่เคย สวดมนต์ไหว้พระอยู่เป็นประจำโดยระลึกถึงคุณของ พระองค์ ๙ ประการ อยู่เสมอๆ ก็มีความเชื่อมั่นว่า พุทธมนต์ หรือ พุทธคุณ นี่แหละคือ พระพุทธ ที่เรายอมรับนับถือกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ตามธรรมบรรยายของท่านอาจารย์แสดงว่า พระพุทธ แปลว่า ผู้ตรัสรู้ อริยสัจจธรรม และเป็นการตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยไม่ต้องอาศัยใครสั่งสอน จึงเรียกว่า พระพุทธเจ้า ส่วนผู้ตรัสรู้ตามภายหลังนั้น ต้องอาศัยคำสอนของพระองค์เรียกว่า อนุพุทธ หรือ พระอริยสาวกมื่อว่าโดยธรรมแล้ว ผู้ตรัสรู้ก็หาใช่พระสรีระร่างกายของพระองค์ไม่และก็ไม่ใช่พระพุทธรูป พระพุทธมนต์ หรือพระพุทธคุณอะไร พระพุทธนั้นคือ ปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้อริยสัจจธรรมนั่นเอง

 พระธรรม คืออะไร

******เมื่อพระองค์ตรัสรู้อริยสัจจธรรมแล้ว ทรงแสดงธรรมที่ตรัสรู้นั้น เป็นปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ คำสั่งสอนของพระองค์ อันเป็น “ศาสนธรรม” จะเรียกว่า พระธรรมวินัย พระไตรปิฎก นวังคสัตถุสาสน์ หรือจะขยายออกไปเป็นพระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็ตาม แม้คำสอนที่เป็น ข้อปฏิบัติที่แสดงไว้ในหมวดต่างๆ มี ศีล สมาธิ ปัญญา หรือสติปัฏฐาน , สัมมัปปทาน , อิทธิบาท , อินทรีย์ , พละ , โพชฌงค์ , มรรค ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ วิปัสสนาญาณ หรือวิสุทธิ ๗ ก็ประมวลอยู่ในธรรมที่ประกอบด้วย เหตุและผลต่างๆ เพื่อให้ปัญญาได้รู้แจ้งแทงตลอด ในอริยสัจธรรม คือ ให้เข้าถึงพระนิพพานนั่นเอง ข้อธรรมทั้งหมดที่พระองค์สั่งสอนนั่นแหละ เป็นพระธรรม เมื่อว่าโดยธรรมแล้ว ก็หมายถึง อริยสัจจธรรม อันเป็นปรมัตถธรรม คือ ธรรมชาติ ที่เป็นความจริงแท้ ไม่วิปริตผันแปร ได้แก่ จิต  เจตสิก รูป  และนิพพาน

พระสงฆ์ คืออะไร?

******เมื่อพระองค์แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์เป็นปฐมเทศนา จนท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรมตั้งอยู่ในโสดาปัตติมัค โสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาแล้ว ก็กล่าวกันว่า พระสงฆ์หมายถึงพระอริยสงฆ์ได้ปรากฏขึ้นแล้วในโลก

 ******ฉะนั้น พระสงฆ์จึงหมายถึงท่านผู้ได้ สดับตรับฟังธรรมของพระพุทธองค์ แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามจนรู้แจ้งแทงตลอดใน อริยสัจจธรรม  พระพุทธองค์จึงทรงยอมรับว่าเป็นพุทธบุตร เป็นทายาทของพระองค์ พระสงฆ์ จึงมุ่งหมายถึง พระอริยสงฆ์เท่านั้น แต่ปัจจุบันหาอริยสงฆ์ไม่ได้ ก็อนุโลมให้พระภิกษุที่ได้บรรพชาอุปสมบทถูกต้องตามอุปสมบทวิธี จะปฏิบัติถูกต้องตามธรรม วินัยหรือไม่ ก็ยอมให้เป็นพระสงฆ์ทั้งนั้น

******แต่ท่านอาจารย์ฯ ได้ชี้สภาพความเป็นพระสงฆ์ว่า ไม่ใช่เพียงการโกนผม ห่มผ้าเหลือง หรือแม้ได้ทำ การบรรพชาอุปสมบทถูกต้องตามศาสนพิธีแล้วก็ตาม แต่ถ้ามิได้ประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของ พระพุทธองค์คือพระธรรมวินัย ก็ไม่ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์ สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ในพระวินัยปิฎกจุลวรรค ปาติโมกขฐปนขันธกะว่า “บุคคลผู้ใดเป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก มิใช่สมณะปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่พรหมจารีปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มโชกด้วยกิเลส สงฆ์ย่อมไม่ร่วมกับบุคคลนี้ ย่อมประชุมกันยกเธอเสียโดยพลัน ถึงแม้เธอนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงอย่างเธอชื่อว่าไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ไกลจากเธอ” นั้น ฉะนั้น พระสงฆ์สาวกของพระองค์นั้น จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ ตามสติปัฏฐาน จนเข้าถึงมัคญาณ ผลญาณ ทำให้เป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาปัตติมัคบุคคล เป็นต้น

*******การถึงความเป็นพระสงฆ์ คือ อริยสงฆ์ เมื่อว่าโดยธรรมแล้ว ได้แก่ โลกุตตรจิต มัคจิต ผลจิต ดังพระบาลีที่กล่าวรับรองพระอริยสงฆ์ ๘ บุคคลว่า ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐปุริสปุคฺคลา เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ ความหมายของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความหมายของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงมีอยู่ ๒ นัย

๑) โดยสุตตันตนัย หรือ บุคคลาธิษฐาน

พระพุทธ ย่อมหมายถึง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เญยยธรรมโดยชอบด้วย พระองค์เอง

พระธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่ พระธรรมวินัย หรือพระไตรปิฎก พระสงฆ์ หมายถึง พระอริยสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

) โดยอภิธรรมนัย หรือ ธรรมาธิษฐาน

พระพุทธ หมายถึง ปัญญาที่ตรัสรู้อริยสัจธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระธรรม หมายถึง อริยสัจจธรรม ๔ ประการ มีพระนิพพานเป็นที่สุด

พระสงฆ์ หมายถึง มัคคจิต ๔ ผลจิต ๔ ของ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอริยสงฆ์ ๘ บุคคล

 การถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

******การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามสุตตันตนัย หรือนัยพระสูตรนั้น อย่างดีที่สุดเพียงเข้าไปใกล้ด้วยการน้อมระลึกถึง ซึ่งเป็นการถึงด้วยใจ ที่เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาเท่านั้น มิใช่เกิดจาก ปัญญาที่รู้ตามความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เราจะกราบไหว้ขอถึง ปากรำพึงเปล่งวาจาใจศรัทธานอบน้อมนึกถึง ก็ไม่อาจถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยตรงได้

******การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยแท้จริงนั้น จะต้องถึงธรรมของท่าน คือถึงตามนัยอภิธรรม หรือโดยธรรมาธิษฐาน และต้องถึงได้ด้วยการปฏิบัติด้วยศีล สมาธิ ปัญญา หรือมหาสติปัฏฐาน เพราะเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะถึงได้

ดังที่พระองค์ ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า

เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อฏฺฐงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปัฏฺฐานา

******ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นเอก (เป็นทางเดียว) เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงความโศก ความร่ำไร เพื่อดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุเญยยธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔

 ถึงพระพุทธ ก็ถึงพระธรรม พระสงฆ์ด้วย

การถึงพระพุทธ จึงไม่ใช่ถึงอย่างพระวักกลิเถระเจ้าในตอนที่เฝ้าดู พระสรี รสมบั ติ ของพระบรมศาสดา ไม่อิ่มด้วยการเห็นพระสรีรสมบัติ จึงบรรพชา เพื่อให้เห็นพระตถาคตเจ้าเป็นนิตยกาล ละกิจวัตรทั้งหลาย มีการสาธยายและมนสิการในพระกัมมัฏฐาน เสียเที่ยวมองดูพระศาสดาอยู่ ครั้นพระองค์เห็นว่าญาณปัญญาของเธอถึงความแก่กล้าแล้ว จึงตรัส โอวาทว่า

วักกลิ ประโยชน์อะไรของเธอด้วยการเ ฝ้าดูร่างกายอันเน่านี้, วักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่า เห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่า เห็นธรรม

******พระวักกลินั้น แม้พระศาสดาสอนแล้วอย่างนั้น ก็ไม่อาจเพื่อละการดูพระศาสดาไปในที่อื่นเลย

******ครั้งนั้นพระศาสดาทรงดำริว่า “ภิกษุนี้ ไม่ได้เสพความสังเวชแล้วจะไม่ได้ตรัสรู้” เมื่อถึงฤดูฝน ใกล้วันเข้าพรรษา จึงเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ใน วันเข้าพรรษาทรงขับไล่ด้วยดำรัสว่า “วักกลิ เธอจงหลีกไป” พระวักกลิคิดว่า “พระศาสดาไม่ทรงรับสั่ง (พูด) กับเรา” จึงคิดว่า “ประโยชน์อะไรของเราด้วย ชีวิตเราจะยังตนให้ตกจากภูเขาเสีย” จึงขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ พระศาสดาทราบความเมื่อยล้าแล้วดำริว่า “ภิกษุนี้ เมื่อไม่ได้ปลอบโยนจากสำนักของเรา พึงยังอุปนิสัยแห่งมัคและผลทั้งหลายให้ฉิบหาย” จึงเปล่งรัศมีเพื่อแสดงพระองค์ใ ห้ปรากฏ เมื่อพระวักกลิเห็นพระศาสดาแล้ว ความเศร้าโศก แม้เพียงนั้นก็หายไป ยังความปีติปราโมทย์ อันมีกำลังให้เกิดแก่พระเถระ เก็บความว่า พระวักกลิพบความสังเวชใจจากการถูกขับไล่และสังเวชกายจากความเมื่อยล้า และกลับมาปีติปราโมทย์ที่ได้เห็นพระศาสดา จึงแจ้งในอาการแห่งสังขารตนได้บรรลุถึงพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา พระพุทธองค์ทรงตั้งไว้ใน ตำแหน่งเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นสัทธาวิมุต

******พระธรรมบทนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า การเข้าถึงพระศาสดา คือ พระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่การเพ่งดูพระสรีรสมบัติของพระองค์ ต้องปฏิบัติธรรมจนปัญญาแจ้งแทงตลอดในอริยสัจจธรรมนี้ เป็นการถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของพระวักกลิเถระ ประการหนึ่งถึงพระธรรม ก็ถึงพระพุทธพระสงฆ์                                                                                         

 ******อนึ่ง เรื่องพระโปฐิลเถระในพระธรรมบทก็เช่นกัน พระโปฐิละนั้น เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก ในศาสนาของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ บอกธรรม แก่พระภิกษุ ๕๐๐ รูป พระบรมศาสดาดำริว่า “ภิกษุนี้ ย่อมไม่มีความคิด แม้ว่า จักทำการสลัด ออกจากทุกข์ให้แก่ตน พระองค์จักยังเธอให้สังเวช จึงตรัสกับพระเถระในเวลาที่มาสู่ที่บำรุงของพระองค์ ว่า “มาเถิด ผู้มีคัมภีร์เปล่า นั่งเถิดผู้มีคัมภีร์เปล่า ไปเถิดผู้มีคัมภีร์เปล่า แม้ในเวลาที่พระเถระลุกไป ก็ตรัสว่า ผู้มีคัมภีร์เปล่า จะไปแล้วรึ?” พระโปฐิละคิดว่า “เราย่อมทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถา บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปถึง ๑๘ คณะใหญ่ ไฉนพระศาสดายังเรียกเราเนืองๆ ว่า “ผู้มีคัมภีร์เปล่า” พระองค์ตรัสเรียกเราอย่างนี้ เพราะความไม่มี คุณธรรมวิเศษเป็นแน่ ท่านมีความสังเวชเกิดขึ้นแล้ว ท่านจึงจัดแจงบาตรและจีวร ได้ออกตามภิกษุผู้เรียน ธรรมแล้วรุ่นสุดท้าย พระเถระเข้าไปหาพระภิกษุ ๓๐ รูป ผู้อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งกำลังสาธยายอยู่บริเวณนั้น ไหว้พระสังฆเถระแล้วกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญจงเป็นที่พึ่งของกระผม” พระสังฆเถระ เห็นพระอาจารย์เข้าก็กล่าวว่า “ผู้มีอายุ ท่านเป็นพระธรรมกถึก สิ่งอะไรอันพวกเราทราบได้ก็เพราะ อาศัยท่าน เหตุไฉนท่านจึงพูดอย่างนี้” พระเถระเหล่านั้นเป็นพระขีณาสพทั้งนั้น ส่งพระโปฐิละไปสู่สำนักของสามเณร ผู้เป็นขีณาสพ มีอายุเพียง ๗ ขวบ ใหม่กว่าสามเณรทั้งหมด

******พระโปฐิละประคองอัญชลีไปสำนักของสามเณร แล้วกล่าวว่า “ท่านสัตบุรุษ ขอจงเป็นที่พึ่งของกระผม” สามเณรกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ พูดอะไรนั่น ท่านผู้เป็นพหูสูตร เหตุอะไรๆ พึงเป็นกิจอันผมควรรู้ ในสำนักของท่าน”

******พระโปฐิละก็ยังรบเร้าขอสามเณรเป็นที่พึ่ง เพื่อจะทราบมานะอาจารย์ สามเณรเมื่อจะทดลองว่า พระเถระจะเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้หรือไม่ จึงให้ท่านเดินลงสระน้ำ พอชายจีวรเปียก สามเณรก็ให้ ท่านขึ้นมายืนข้างบน แล้วกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่งมีช่องอยู่ ๖ ช่อง ในช่อง เหล่านั้นเหี้ยเข้าไปภายในโดยช่องๆ หนึ่ง บุคคล ประสงค์จะจับมัน จึงอุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้ทำลาย ช่องที่ ๖ แล้ว จึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง”

******บรรดาทวารทั้ง ๖ ท่าน จงปิดทวาร ๕ ที่เหลือนั้น จงเริ่มตั้งกรรมฐานไว้ในมโนทวาร ด้วยประมาณ เท่านี้ความแจ่มแจ้งได้มีแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตร ดุจการลุกโพลงแห่งดวงประทีป ฉะนั้น ท่านโปฐิละเถร ได้ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผลแล้ว ดังนี้

******เรื่องนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า การถึงพระธรรมนั้น ก็มิใช่การถึงด้วยพระไตรปิฎก และการสอนธรรมแก่ภิกษุเป็นจำนวนมาก การถึงธรรมก็ต้องถึงได้ด้วยอาศัยการปฏิบัติ ดังพระโปฐิละเถระได้กระทำแล้ว

******จากหลักฐานในพระธรรมบทนี้ ย่อมชี้ประจักษ์ชัดว่า การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยแท้จริงนั้น ต้องถึงโดยการปฏิบัติด้วยศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นการปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานทางเดียวเท่านั้นการถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องถึงพร้อมกัน

******ตามสาระธรรมของท่านอาจารย์ และที่กระผมได้ขยายความมานั้น จะเห็นความสำคัญในการขอถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ก็คือการขอถึงความรู้ คือขอถึงปัญญาของพระองค์ ขอถึงธรรมที่พระพุทธองค์สั่งสอน คือ อริยสัจจธรรม หรือมัค ผล นิพพาน

******เมื่อถึงความรู้ ถึงปัญญา ของพระองค์ ก็ชื่อว่าถึง พระพุทธ เมื่อรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจจธรรม ก็ชื่อว่าถึงพระธรรม และเมื่อผู้รู้ตาม คือมัคคจิต รู้นิพพาน ก็ชื่อว่าถึงพระสงฆ์

******ดังดำรัสของพระพุทธองค์ ที่ตรัสกับพระวักกลิ ว่า โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ  ปสฺสติ  โส  มํ ปสฺสติ โย  ธมฺมํ ปสฺสติ  โส มํ ปสฺสติ

******ดูก่อน วักกลิ บุคคลใดแลย่อมเห็นธรรม บุคคลนั้นชื่อว่า เห็นซึ่งเรา บุคคลใดไม่เห็นซึ่งธรรม บุคคลนั้นชื่อว่าไม่เห็นซึ่งเรา

******พุทธพจน์นี้ มีความหมายว่า ผู้ซึ่งมีปัญญาจักษุ เห็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นี่แล้ว จึงได้พบเห็น ซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันแท้จริง เมื่อไม่มีปัญญาจักษุแล้ว ก็ไม่ได้เห็น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันแท้จริง เหมือนบุคคลผู้ตาบอดฉะนั้น

******เพื่อให้ได้ซึ่งปัญญาจักษุ ขอท่านสาธุชนได้กระทำความเพียร ตามมหาสติปัฏฐาน คือเจริญวิปัสสนากรรมฐานเถิด จะเกิดปัญญาจักษุ ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้อย่างแน่นอน