**ควรทำอะไรในวันปีใหม่

ควรจะทำอะไรในปีใหม่

โดย

อาจารย์ แนบ มหานีรานนท์

นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

สวัสดีคะ  ท่านที่เคารพ

         วันนี้ก็ถึงโอกาสที่จะต้องมาพูดธรรมะ ประจำเดือนกันอีก เดือนหนึ่งก็พบกันครั้งหนึ่งนะคะ ดิฉันเพิ่งกลับจากต่างจังหวัดเมื่อวานนี้เอง ไม่ได้เตรียมการว่าวันนี้จะพูดเรื่องอะไร แต่ก็เอาเถอะ ก็ต้องพูดธรรมะกัน เพราะที่นี่เป็นพุทธสมาคม ก็ต้องพูดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั่นแหละ

          นี่ก็ยังเหลืออีกไม่กี่วันก็สิ้นปี ที่โลกสมมุติ ในทางโลกเขาก็ว่า “ปีใหม่นี่อะไรเก่าๆ มันก็เปลี่ยนแปลงไปหมด” ที่จริงแล้ว มันเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเวลานาทีนะคะ เพราะสังขารธรรม คือ รูปนามขันธ์ ๕ นี่ต้องมีการเกิดดับ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าปีใหม่ถึงจะเปลี่ยนแปลงรูปใหม่ นามใหม่กันที

          ถ้าจะถือเอาประโยชน์จากวันปีใหม่นี้ ดิฉันก็อยากจะให้พวกเราชาวพุทธด้วยกันทุกคน ทั้งหมดนี้ได้หวนกลับมาพิจารณาถึง พระพุทธศาสนา ของเรากันอีกสักที ก็เป็นการดีเหมือนกัน

          พระพุทธศาสนา คือคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า พระองค์ปรินิพพานไปได้กว่า ๒๕๐๐ ปี แล้ว พวกเราญาติพี่น้องที่ได้นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน เราควรจะหันหน้าเข้ามาปรึกษาหารือกัน หรือชวนกันหันหน้าเข้ามาดูพระพุทธศาสนาอันเป็นมรดกอันล้ำค่า เปรียบเหมือนโบราณวัตถุที่เก่าแก่มากกว่า ๒๕๐๐ ปี ว่ายังคงบริสุทธิ์สะอาดดีอยู่ หรือว่ามีการสกปรกแปดเปื้อนสิ่งปฏิกูลเลอะเทอะอย่างไรบ้าง ดูแต่บ้านเรือนของเราเถิด เมื่อถึงปีหนึ่งทางสาธารณสุขเขายังต้องการให้เราปัดกวาดเช็ดล้างทำความสะอาดกันปีละ ๑ ครั้ง ถือว่าเป็นวันสาธารณสุข นี้เป็นวัตถุภายนอก เราก็ยังต้องชำละล้างเพื่อให้เกิดความสะอาดหมดจด แม้ร่างกายของเราก็เหมือนกัน เราก็จะต้องชำระล้างทำความสะอาดอยู่เสมอมิได้เว้นแต่ละวัน ถ้ามิฉะนั้น ความสุขก็จะพึงบังเกิดแก่ร่างกายของเราไม่ได้ อันนี้เป็นเฉพาะทางด้านร่างกาย

          ก็ส่วนพระพุทธศาสนา อันเป็นที่ควรเคารพบูชาของเราชาวไทยทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่จะนำมาให้บังเกิดขึ้นซึ่งความสุขในด้านจิตใจของสัตว์โลกทั้งหลาย จึงเป็นการที่สมควรหนักหนาที่พวกเราชาวพุทธทั้งหลายจะชวนกันหันเข้ามามองดู ว่าพระพุทธศาสนาเวลานี้ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องดีอยู่หรือ ? หรือว่ามีอะไรบ้างที่เกาะกุมปิดบังทำให้หมองมัวจมความสกปรกโสมม ทำให้พระพุทธศาสนาเศร้าหมองลบเลือนไปบ้างหรือเปล่า ถ้ามี พวกเราก็ควรจะช่วยกัน เริ่มต้นชำระล้างกัน เพื่อเป็นสิ่งที่ระลึกในปีใหม่ที่จะมาถึงกันนี้เถิด

          เป็นธรรมดาอยู่เอง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เมื่อสิ่งใดมีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ถึงพระพุทธศาสนาอันนับว่าเป็นของประเสริฐยิ่งในโลก ก็หาได้เป็นอยู่เหนือกฎธรรมดาไปได้ไม่ ก็ต้องตกอยู่ในคติของธรรมดานั่นเอง ฉะนั้น จึงจะต้องมีการเสื่อมสิ้น หรือเศร้าหมองไปเป็นของแน่นอน

 พุทธศาสนาเสื่อมอย่างไร?

            คำว่า “เสื่อม” ในที่นี้ หมายถึง เสื่อมจากจิตใจของสัตว์โลกทั้งหลาย คือหมายความว่า ความนับถือ หรือความเข้าใจในคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นเสื่อมไปจาก ความเข้าใจของสัตว์โลกทั้งหลาย โดยเหตุนี้ ดิฉันจึงใช้คำว่า พระพุทธศาสนาเสื่อม อย่างไรก็ตามแต่ ความหมายของคำว่า พระพุทธศาสนาเสื่อม ตามที่ได้กล่าวมานี้ จะต้องมีแก่สัตว์โลกแน่นอน เพราะเวลายิ่งนาน ๆ ไป ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าก็น้อยเข้า ๆ ทุกที ๆ ในที่สุดก็ไม่เข้าใจกันเลย ก็จะได้ชื่อว่า พระพุทธศาสนาหมดสิ้นไปแล้วจากโลก เพราะสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่สามารถที่จะนำความเข้าใจของตนเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่แท้จริงได้ ต่อเมื่อมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นอีกในโลกเมื่อใด เมื่อนั้นพระพุทธศาสนาก็จะได้ปรากฏขึ้นแก่ดวงปัญญาของสัตว์โลกทั้งหลาย โดยเหตุนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงได้เกิดขึ้นในโลกมีหลายองค์

          ถ้าเราจะถือว่า พระพุทธศาสนายังปรากฏอยู่แก่สัตว์ตลอดกาลแล้ว พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ หรือจะมาบังเกิดขึ้นในโลกหลายองค์ไม่ได้ โลกนี้จะต้องมีพระพุทธเจ้าองค์เดียว เหมือนดังเช่นพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

          เพราะเหตุว่า เท่าที่พวกเราทั้งหลายได้ศึกษากันมา ก็ไม่เคยมีว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ซ้อนพร้อมกัน เพราะพระนามของพระองค์ สัมมาสัมพุทโธ ซึ่งมีความหมายตามคำแปลว่า “พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง” มิได้เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย ในชาติที่พระองค์ได้ถือกำเนิดมา ในภพที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น พระนามอันนี้ก็เป็นเครื่องรับรองอยู่แล้วว่า เวลานั้นไม่มีใครรู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วต่อเมื่อพระองค์เป็นผู้ยิ่งด้วยปัญญา จึงได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ขึ้นในกาลครั้งนั้น แล้วต่อจากนั้นมา พระพุทธศาสนาก็ได้เริ่มปรากฏขึ้นแก่สัตว์โลกทั้งหลายเป็นลำดับมา ด้วยอำนาจของพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ และพระบริสุทธิคุณ

          ดิฉันขอย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ว่า พระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนามากว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว ความสับสนวนเวียนเสื่อมโทรมลงหรือมืดมัวลงไป ในคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นก็ย่อมจะเกิดขึ้นมามากมายมิใช่น้อย ดิฉันจึงขอเรียนเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นการสมควรยิ่งนักที่พวกเราชาวพุทธจะต้องเหลียวหลังมาดูพระพุทธศาสนากันบ้างว่า เวลานี้มีความเศร้าหมองเพียงไร

          อะไรเล่า ที่มาฉาบทาทำให้พระพุทธศาสนาเศร้าหมองจนเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของบุคคลที่ปราศจากปัญญาที่พิจารณาเหตุผลได้ไม่ลึกซึ้งพอ ก็ตัดพ้อต่อว่าคนที่นับถือพุทธศาสนาว่า เป็นพวกไดโนเสา เต่าล้านปี วัตถุอันสกปรกนั้นก็ได้แก่กิเลสของคนทั้ง ๑๐ ประการ อันมี โลภ โกรธ หลง เป็นมูลให้เกิดขึ้นนั่นเอง ด้วยอาศัยโลกธรรม ๘ ประการนั้น เป็นปัจจัยหรือเป็นที่อาศัยเป็นไปของกิเลสสาสวะทั้งหลาย เพราะกิเลสธรรมทั้งหลายเป็นฝ่ายอกุศล การศึกษาเล่าเรียนหรือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นฝ่ายกุศล ซึ่งเป็นธรรมที่ตรงกันข้าม และธรรมทั้ง ๒ นี้จะเกิดร่วมกันไม่ได้ เมื่อฝ่ายใดเกิดมาก ฝ่ายที่ตรงกันข้ามก็จะต้องน้อยไป หรือหมดไป เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้ว ก็อยากจะเชิญท่านลองตรวจดูดวงชะตาของพระพุทธศาสนาในเวลานี้ว่า เวลานี้ชะตาของพระพุทธศาสนานั้นกำลังชะตาดี หรือชะตาตก

เกณฑ์พยากรณ์ชะตาพุทธศาสนา

          วิธีวัดดวงชะตาของพระพุทธศาสนานั้น ท่านจะคำนวณด้วยวิธีการอย่างไร จึงจะรู้ได้ถูกต้องตรงความเป็นจริง อันนี้มีอยู่ ๒ วิธี

          วิธีที่ ๑. การที่จะรู้ดวงชะตาพุทธศาสนานั้นจะต้องมีความเข้าใจ หรือรู้จักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องโดยแท้จริง ข้อนี้ลำบากหน่อย แต่ก็พอมีร่องรอยในพระไตรปิฏก และอรรถกถาพอนำมาพิจารณาได้บ้าง

          มีพระบาลีที่มาในพระสุตตันตมหาวรรคปรินิพพานว่า

          อิเมจ สุภทฺท ภิกฺขุ สมฺมา วิหเรยฺยุ อสุญฺโ โลโก อรหนฺเตหิ ฯ

          ดูก่อนสุภัททะ ภิกษุเหล่านี้ยังพึงปฏิบัติอยู่โดยชอบแล้ว สัตว์โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย

           ในสุมังคลวิลาสินีอรรถกถาในมหาปรินิพพานสูตร 

           อสุญฺโ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺสาติ นฬวน สรวนํ วิย นิรนฺตโร อสฺส ฯ แปลว่าความว่า

           พระพุทธพจน์ ที่ตรัสว่า สัตว์โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์นั้น มีอธิบายว่า “สัตว์โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ เหมือนป่าไม้อ้อ และป่าไม้แขม แม้ถึงคนตัดแล้วก็ยังงอกได้อีก เพราะรากยังมั่นคงอยู่ ฉันใดก็ดี มรรคมีองค์ ๘ ยังมีอยู่ในพระธรรมวินัยตราบใด สัตว์โลกก็ไม่พึงว่างจากพระอรหันต์อยู่ตราบนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ”

          ในภิกขุนีขันธกอัฏฐกถา แสดงไว้ว่า

           ปฏิสมฺภิทาปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อนาคามีหิ วสฺสสหสฺสํ สกทาคามีหิ วสฺสสหสฺสํ โสตาปนฺเนหิ วสฺสสหสฺสนฺติ เอวํ ปญฺจ วสฺสสหสฺสานิ ปฏิเวธสทฺธมฺโมฐสฺสติ ฯ

            แปลความว่า ปฏิเวธสัทธรรมตั้งมั่นอยู่ได้ตลอด ๕,๐๐๐ ปี ดังนี้ คือ :-

            ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งพระขีณาสพ ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๑,๐๐๐ ปี

            ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งพระขีณาสพ ผู้สุกขวิปัสสก ๑,๐๐๐ ปี

            ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งพระอนาคามี ๑,๐๐๐ ปี

            ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งพระสกทาคามี ๑,๐๐๐ ปี

            ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งพระโสดาบัน ๑,๐๐๐ ปี

            ในอรรถกถาอัฏฐสาลินี กล่าวว่า “ก็ในเวลาจบปฐมสังคายนาพระพุทธพจน์นั้น มหาปฐพีเกิดความปราโมทย์ เหมือนจะสาธุการว่า พระศาสนาของพระทสพลนี้ อันพระมหากัสสปเถระ ทำให้สามารถจะเป็นไปได้ถึงกาลประมาณ ๕,๐๐๐ ปี สะเทือนสะท้านหวั่นไหว จนถึงน้ำรองแผ่นดินหลายครั้ง และได้เกิดสิ่งอัศจรรย์อีกหลายประการ ฯ”

           ในอรรถกถาอื่น ๆ ที่ไม่ได้นำมาก็อีกหลายแห่ง แต่ที่หยิบยกขึ้นมากล่าวนี้ เพื่อแสดงว่ามีหลักฐานในพระไตรปิฎกและอรรถกถาพยากรณ์ไว้

            สรุปว่า ปฏิเวธศาสนาจะตั้งอยู่ได้ประมาณ ๕,๐๐๐ ปี คือ ยังมีพระอริยบุคคลได้ใน ๕,๐๐๐ ปี นับแต่ที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน พ้นจากนั้นแล้ว ปฏิบัติศาสนา และปริยัติศาสนา จะอันตรธานไปโดยลำดับ นี่นับเป็นความเสื่อมของพระพุทธศาสนาที่เสื่อมไปจากจิตใจของสัตว์โลก หลักฐานต่างๆ ดังกล่าวนี้ ก็ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยากอยู่ดีนะคะ ลองมาพิจารณากันต่อไป

           วิธีที่ ๒. ให้ดูที่ กรรม หรือการกระทำของบุคคล ตามทวารทั้ง ๓ คือ ทางกาย ทางวาจา และ ทางจิตใจ ว่าเป็นไปได้ในด้านอกุศลมากหรือกุศลมาก ในเรื่องนี้ขอให้ดูคดีที่ศาลหรือดูที่หน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ทุก ๆ ฉบับ ว่ามีข่าวกุศลมากหรืออกุศลมาก และตามส่วนของพลเมืองแล้ว คดีที่ศาลมากขึ้นหรือน้อยลง อันเราก็จะถือเป็นเครื่องวัดได้แล้วว่าพระพุทธศาสนาดีขึ้นหรือเสื่อมลง เพราะกิเลสเกิดมากขึ้นเท่าไร หนาเท่าไร ก็กดทับพระศาสนาให้ลี้ลับลงไปแค่นั้น เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้วดิฉันก็อยากจะตั้งเป็นคำถามขึ้นว่า

วัตถุเป็นเหตุให้เกิดกิเลสแก่ปุถุชน

              เพราะเหตุอะไรเล่า เวลานี้กิเลสอกุศลของปุถุชนเราทั้งหลาย จึงเกิดมากขึ้น ?

             ในเรื่องนี้ขอตอบว่า เพราะปัจจัยของกิเลสมันเกิดมากขึ้น เพราะโลกเวลานี้กำลังพยายามสร้างวัตถุอันเป็นอารัมมณปัจจัยให้เกิดกิเลสขึ้น เพราะวัตถุในโลกนี้เจริญมากเท่าไร กิเลส คือความปรารถนาที่ต้องการจะมีจะได้ก็เกิดขึ้นมากเท่านั้น เพราะผู้สร้างวัตถุนั้นก็มีเจตนาตั้งใจแล้วว่า จะสร้างวัตถุต่างๆ นั้นขึ้นให้เป็นที่ต้องการ หรือเป็นที่ปรารถนาของประชาชนในโลกนี้ ได้มากเท่าไรยิ่งดี และยิ่งได้ประโยชน์แก่ผู้สร้างเท่านั้น

          ฉะนั้น เมื่อวัตถุอันเป็นปัจจัยของกิเลสเจริญมากเท่าใด กิเลสก็ย่อมเกิดเจริญขึ้นมากเท่านั้น เพราะธรรมทั้งหลายย่อมเกิดแต่เหตุ แต่ปัจจัยเป็นอนัตตา มิได้อยู่ในอำนาจของใคร ถึงแม้ว่าผู้ผลิตคิดสร้างนั้นจะมิได้มีเจตนาที่ให้กิเลสตัณหาของบุคคลทั้งหลายเกิดขึ้นก็ดี หากแต่ว่ามีเจตนาเพียงจะให้คนในโลกได้รับความสุขเท่านั้น ก็จริงอยู่ แต่เราก็อย่าลืมว่าสุขเวทนาที่ได้มาจากอารมณ์ภายนอกนั้นเป็นสามิสเวทนา คือเวทนาที่ได้มาจากกามารมณ์ เวทนาอย่างนี้ พระองค์ทรงเทศนาว่า เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา และตัณหา นี้พระองค์ทรงเทศนาว่า เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะเมื่อตัณหาเกิดมากเท่าใด ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลธรรมอื่นๆ เกิดมากเท่านั้น เมื่ออกุศลธรรมเกิดเจริญขึ้นมากเท่าใด ความเบียดเบียนกัน ความเอารัดเอาเปรียบกัน และการล่อลวงฉ้อโกงกัน การฆ่าฟันกันและการรบพุ่ง หรือทำสงครามกัน การขาดความเมตตากรุณาซึ่งกันและกัน ก็จะเจริญมากขึ้นเท่านั้น

           เมื่ออกุศลกำลังเกิดระบาดอยู่ทั่วไปเช่นนี้แล้ว ความศรัทธาในการที่จะศึกษาเล่าเรียน หรือปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นจะต้องหันหลังให้แก่การศึกษา หรือประพฤติปฏิบัติตามในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นธรรมดาเมื่อขาดการศึกษาเล่าเรียน ที่จะให้เข้าไปรู้แจ้งในเหตุผลตามความเป็นจริงแล้ว ก็ย่อมเกิดศรัทธาความเชื่อถือที่แน่นอนไม่ได้ เมื่อไม่เกิดศรัทธาความเชื่อถือแล้วย่อมไม่อยากจะประพฤติปฏิบัติตาม

           เมื่อเราพากันหันเข้าไปศึกษาในทางไหน ก็ย่อมจะมีความเชื่อถือและเลื่อมใสไปในทางนั้น อันนี้เรื่องของอาเสวน เมื่อพิจารณาถึงผลของการศึกษาเล่าเรียนในทางโลกนั้นว่า จะเล่าเรียนกันเพื่ออะไร สรุปแล้วก็จะได้ความว่า เราก็จะเล่าเรียนมาเพื่อสร้างวัตถุนั่นเอง เพราะเวลานี้เรากำลังหาความสุขกันในด้านวัตถุ อันเป็นความสุขที่เพาะแพร่พืชพันธุ์ของกิเลสให้งอกงามขึ้น

            ฉะนั้น ขอท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายจงไตร่ตรองดูด้วยเหตุผลเถิดว่า อันนั้นจะเป็นความสุขที่แท้จริงแล้วหรือด้วยเหตุที่เราจะหาความสุขในวัตถุมากเท่าใด กิเลสอันเป็นเครื่องเศร้าหมองและเร่าร้อนก็จะเกิดมากขึ้นเท่านั้น ความทุกข์โทษภัยแห่งการเบียดเบียน คือ อาชญากรรมก็เกิดขึ้นมากเท่านั้น ซึ่งสมกับภาษิตของโบราณาจารย์ที่ว่า น้ำมีที่ไหนปลาก็จะมีที่นั่น

            เมื่ออาชญากรรม หรือความเบียดเบียนเกิดระบาดอยู่เช่นนี้แล้ว โลกจะหาความสุขจากอะไร จะได้มาจากไหน โลกก็จะหันเข้าหาความสุขจากอาวุธยุทธภัณฑ์ ปืนผาหน้าไม้ หอกดาบนั่นเอง โลกก็จะเกิดความเข้าใจว่า ถ้าใครมีเครื่องประหัตประหารได้ดีกว่ากัน

             ก็ถือว่า เครื่องประหัตประหารนั้นแหละจะนำความสุขมาให้ เมื่อโลกมีความเข้าใจดังนี้ โลกต้องแข่งขันกัน ในการสร้างเครื่องประหัตประหารกัน เพราะสัตว์โลกซึ่งมีทุกข์ทั้งมวล ต่างก็ต้องการความสุขอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ความสุขชนิดนั้นเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากไฟ ๓ กอง คือ ไฟแห่งราคะ ไฟแห่งโทสะ และ ไฟแห่งโมหะ นั่นหรือจะเป็นความสุขที่แท้จริง ความจริงสุขอย่างนั้น มันเป็นความสุขที่ตั้งอยู่บนกองเพลิงแท้ๆ มันเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากเพลิงบังคับเผาจิตใจเรา ให้เกิดความกระหายดิ้นรนอยู่ตลอดเวลาไม่มีวันสิ้นสุดลงได้

           ปีนี้เป็นปีแรกที่เรามีการกำหนดหมายรู้กันว่า พระพุทธศาสนา นับแต่วันที่พระบรมศาสดาผู้ประทานคำสอนอันเป็นเหตุให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชาวโลกนั้น ได้ดับขันธ์เข้าปรินิพพานนับเป็นเวลากว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว สัตว์โลกหาโอกาสที่จะเข้าถึงความสุขอันเกิดจากพระศาสนาที่แท้นั้น เป็นการหาได้ยากยิ่ง

           โดยเหตุนี้ ดิฉันจึงคิดว่า พวกเราชาวพุทธทั้งหลายควรแล้ว ถึงเวลาแล้วที่จะหันกลับเข้ามาหาความสุขในพระศาสนากันเถิด เพราะความสุขที่จะเกิดขึ้นจากพระพุทธศาสนานั้นแหละเป็นความสุขที่แท้จริง เพราะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการสงบเสียจากกองกิเลส เป็นความสงบแล้วจากการเบียดเบียน เป็นความสุขที่วางเสียแล้วจากสาตราต่าง ๆ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากตัวของตัวเอง ไม่ใช่เป็นความสุขที่อาศัยเกิดขึ้นจากวัตถุต่าง ๆ คือ อารมณ์ภายนอก ซึ่งเป็นของไม่แน่นอน ประดุจดังว่าขอยืมจมูกคนอื่นเขามาหายใจ และเป็นความสุขที่บรรจุพร้อมเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา ไหลล้นไปสู่สัตว์โลกทั้งหลาย มิได้มีความหมดสิ้น

            พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย ที่ได้พากันมีเจตจำนงไว้ว่า อายุของพระพุทธศาสนามีกำหนดได้ถึง ๒๕๐๐ ปีเศษนี้ เราตั้งใจกันว่าจะบำเพ็ญกุศลกัน และเป็นการเผยแพร่ดำรงไว้ซึ่งพระศาสนา อันเป็นที่บูชาของเราให้อยู่ไปตลอดกาลนาน

ฉะนั้น เราจงเหลียวหลังหันมาช่วยกันทำนุบำรุงหรือฟื้นฟูพระพุทธศาสนา อันเป็นสิ่งที่พวกเราชาวพุทธเชื่อกันแล้วว่าจะนำหรือจะทำให้บังเกิดความสุขอันแท้จริงแก่ชาวโลกทั้งหลาย โดยการศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพรุพุทธองค์ เพราะกิจในพระพุทธศาสนานี้ก็มีอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น

            กิจ ๒ อย่าง คือคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ

           คันถธุระ ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะ ตามที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก

           วิปัสสนาธุระ ได้แกการเจริญวิปัสสนา หรือเจริญมรรคทั้ง ๘  เพื่อทำลายกิเลสาสวะทั้งปวงให้หมดสิ้นไป นี้แหละพระพุทธศาสนาที่แท้จริง จะดำรงอยู่ได้ด้วยกาลนาน หรือจะแผ่ไพศาลออกไปยังสัตว์โลกทั้งหลาย ก็เพราะด้วยธุระทั้ง ๒ นี้ และในการที่เราจะนำประชาชนชาวโลกทั้งหลาย ให้เข้าถึงพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่บริสุทธิ์ได้นั้น ก็ด้วยเพราะธุระทั้ง ๒ นี้เท่านั้น

             พระพุทธศาสนาหาได้ตั้งอยู่ได้อย่างถาวรและจะแพร่หลายเจริญรุ่งเรืองไปได้ด้วยพิธีกรรมต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากธุระทั้ง ๒ นั้นไม่ เพราะถ้าหากว่าเรายิ่งพยายามสร้างพิธีกรรมอื่น ๆ ขึ้นมามากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ปิดบังพระพุทธศาสนามากเท่านั้น เราก็จะพากันเดินทาง หลงใหล เลอะเลือน ห่างออกจากพระพุทธศาสนาที่แท้จริงมากเท่านั้น เมื่อห่างมากเข้า ๆ พระพุทธศาสนาที่แท้จริงก็จะเลือนหายไป

            พระพุทธศาสนาก็คงเหลืออยู่แต่พิธีกรรม แล้วต่อไปพระพุทธศาสนา ก็ต้องถูกลากลงมาเพื่อสำหรับใช้ในการทำพิธีกรรมต่างๆ หรือเพื่อประโยชน์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความต้องการของบุคคล มีลาภและยศเป็นต้น อันเป็นเหตุทำให้พระศาสนาเสียความบริสุทธิ์ พระศาสนาก็จะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อหาประโยชน์ต่างๆ อันเป็นสิ่งที่น่าเศร้าสลดใจยิ่งนัก ยิ่งพวกเราที่เป็นชาวพุทธพากันปล่อยปละละเลยในธุระกิจของพระศาสนาทั้ง ๒ อย่างเสียด้วยแล้ว พระพุทธศาสนาที่แท้จริงก็ไม่รู้ว่าจะเหลืออยู่ที่ไหนกัน ต่อไปบุตรหลานที่เกิดมาสุดท้ายภายหลัง ก็จะงมหาพระพุทธศาสนากันไม่ถูก และอาจไม่รู้ว่า พระพุทธศาสนานั้น  คืออะไรกันแน่ หรือไม่รู้ว่าจะประพฤติปฏิบัติกันอย่างไร เพราะลัทธิธรรมเนียมอันเป็นอุบายของเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นอย่างมากมาย จนไม่สามารถจะชี้ขาดลงไปว่า อะไรผิด อะไรถูกได้ ก็เพราะเราหันหลังให้แก่ธุระในพระศาสนานั่นเอง

             ฉะนั้น ดิฉันเห็นว่าเวลานี้แหละเป็นเวลาอันสมควรที่เราจะรีบเร่งหันเข้ามาศึกษาในธุระกิจของพระศาสนา คือในคันถะธุระ และ วิปัสสนาธุระกันเถิด มิฉะนั้นเราก็ไม่มีเครื่องมือที่จะป้องกันความผิดพลาดได้ เราจะต้องอาศัยธุระทั้ง ๒ นี้เท่านั้น ที่เป็นดวงประทีปส่องทางให้เราเดินเข้าไปหาพระศาสนาที่แท้จริงได้

           ก็ในธุระทั้ง ๒ นี้ คันถธุระ คือการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะตามที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ให้ถูกต้องถ่องแท้ ทั้งอัตถะและพยัญชนะ พร้อมด้วยเหตุผลตามความเป็นจริง อันนี้เป็นความสำคัญชั้นต้นที่จะได้เข้าถึงพระศาสนา ส่วนวิปัสสนาธุระนั้นเป็นความสำคัญในชั้นที่ ๒ เพราะคันถธุระ เป็นปริยัติ วิปัสสนาธุระเป็นปฏิบัติ เมื่อเราสมบูรณ์แล้วด้วยกิจ คือ ปริยัติและปฏิบัติ ก็จะนำเราส่งเข้าถึงปฏิเวธ อันเป็นจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา เมื่อนั้นก็จะชื่อว่าได้พบพระพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้ว ต่อจากนั้นเราก็ตั้งอยู่ในที่ปลอดภัย คือ ไม่มีใครที่จะสามารถฉุดลากพวกเราให้ออกไปนอกลู่นอกทางได้อีกจนตลอดชีวิต

           ฉะนั้น ในชั้นต้นนี้ เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจดีในพระไตรปิฎกเสียก่อน เมื่อเราพูดถึงเรื่องที่จะศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว ก็ดูรู้สึกเหมือนว่า จะลำบากยุ่งยากในการที่จะต้องศึกษานั้นเสียเหลือเกิน หรือรู้สึกเหมือนกับว่า จะเป็นของที่เหลือวิสัยที่จะศึกษาเข้าใจให้ดีได้ ความจริงพระไตรปิฎกนั้นก็ใช่ไปอยู่ที่ไหนอื่นไกลเลย

           เมื่อจะสรุปใจความในพระไตรปิฎกนั้นแล้ว ก็อยู่ที่กาย และใจของเรา นี่เอง

            ฉะนั้น การศึกษาในพระปริยัติธรรมตามพระไตรปิฎกนั้น ใช่ว่าเรียนกันให้มีความรู้ดีตลอดไปทุกสิ่งทุกอย่างก็หาไม่ เพราะเรามิใช่มีปัญญาเหมือนอย่างพระพุทธองค์ เราจะเรียนกันแต่พอให้รู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก พอไม่ให้เป็นกระต่ายตื่นตูมไปตามเขาเท่านั้น เราควรจะศึกษากันพอให้รู้จักพระพุทธศาสนา หรือพอเข้าถึงเหตุผล พอให้เราได้เหตุผลมาเป็นครูของเราได้เท่านั้น เรื่องนี้ต้องขอประทานโทษ ดิฉันหมายถึงท่านที่ยังไม่ได้ศึกษา หรือยังไม่เคยนึกที่จะศึกษา มิได้หมายถึงท่านที่ได้ศึกษาเข้าใจดีแล้ว

           เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ ก็อยากย้อนไปพูดถึงเรื่องพระไตรปิฎกอีกสักหน่อยว่า พระไตรปิฎกนั้นมี ๓ ปิฎก พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม อย่างไรก็ตาม การศึกษาในพระพุทธศาสนานั้น เราจะต้องศึกษาให้ถึง พระอภิธรรมปิฎก เราจึงจะเห็นความอัศจรรย์ในพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้า เพราะในพระอภิธรรมปิฎกนั้นมีเนื้อความสุขุมคัมภีรภาพมากนัก และล้วนแล้วเต็มไปด้วยเหตุผลก็เนื้อความพระไตรปิฎกทั้ง ๓ นั้นมีดังนี้

            พระวินัยปิฎกนั้น ทรงกล่าวด้วยข้อบัญญัติสำหรับหมู่คณะของพระสงฆ์ หรือจะกล่าวว่าเป็นกฏหมายของคณะสงฆ์ก็ได้

             พระสูตร นั้นทรงยกบุคคลขึ้นเป็นตัวอย่างในเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประวัติศาสตร์ หรือเป็นบุคลาธิฐาน มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน มีพระอัครสาวกและพระมหาสาวก เป็นต้น   

             ส่วนพระอภิธรรมนั้น แสดงธรรมชาติหรือวัตถุธรรมที่ปฏิเสธ สัตว์ บุคคล มีแต่นามธรรม กับรูปธรรม เป็นธรรมมาธิษฐาน

              ฉะนั้น เมื่อเข้าถึงพระอภิธรรมแล้ว ก็ย่อมทำลายเสียซึ่งสัตว์ บุคคล ตัวตน แม้แต่พระพุทธเจ้า หรืออัครสาวก หรือมหาสาวก ก็มิได้มี คงมีเหลืออยู่แต่สภาวะที่จะเป็นไปตามเหตุผลโดยแท้จริงเท่านั้น

              เนื้อความในพระสูตร กับในพระอภิธรรมนั้นเราหาควรที่จะถือว่าเนื้อความแตกต่างกันไม่ นอกจากเราจะยังไม่เข้าใจเนื้อความ และเหตุผลในพระอภิธรรมให้ซาบซึ้งดีเท่านั้น เราจึงปฏิเสธพระอภิธรรมว่าไม่ใช่พุทธพจน์

              ดิฉันจึงเห็นว่า พวกเราที่เป็นชาวพุทธทั้งหลายเป็นการสมควรยิ่งที่ จะต้องศึกษาให้เข้าถึงพระอภิธรรมที่เต็มไปด้วยเหตุผล ฉะนั้น คัมภีร์พระอภิธรรมนี้เท่านั้น ที่จะยืนยัดต่อสู้แก่ผู้ที่ต้องการพิสูจน์ความจริงหรือสามารจะให้ความรู้ในเหตุผลแก่ผู้ที่ต้องการจะรู้ได้จนตลอดกาลในโลกนี้ เพราะเหตุผลแห่งความจริงนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปได้เลย และพระอภิธรรมนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เราเข้าถึงความหมายของคำว่า อนัตตา ในพระพุทธศาสนานี้ที่ถูกต้องโดยแท้จริงได้ เพราะพระอภิธรรมเป็นธรรมาธิฐาน ปฏิเสธบุคคล ตัวตน เราเขา เหลือแต่เหตุผลที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร และไม่เป็นไปตามใจใคร

           ความรู้ความเห็นอันนี้แหละ ที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับจะทำลายอัตตาตัวตนในพระพุทธศาสนาได้ เพราะคำว่า อนัตตานี้ หาได้มีอยู่ในศาสนาอื่นไม่

           ฉะนั้น พระอภิธรรมเท่านั้นที่จะทนต่อการพิสูจน์ของผู้ที่ต้องการรู้ความจริง และจะยืนหยัดอยู่ตลอดกาลไม่มีวันสูญสลาย

           ฉะนั้น หากจะมีคำกล่าวว่า “พระอภิธรรมจะไม่ใช่พระพุทธพจน์ ” หรือเป็นของเกจิอาจารย์ หรือของใคร ๆ ก็ตาม คำนี้หาเกิดประโยชน์แก่ผู้ศึกษาและผู้เข้าใจดีในพระอภิธรรมไม่ เพราะความจริงพระอภิธรรมนั้นเป็นของธรรมชาติ หาใช่เป็นของใคร ๆ ไม่ เพราะใครก็ไม่สามารถจะสร้างพระอภิธรรม คือธรรมชาติขึ้นได้ หรือจะสมารถทำลายพระอภิธรรมให้หมดสิ้นไป เพราะพระอภิธรรมนี้เป็นอิสระเสรีภาพ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร และทั้งไม่เป็นไปตามใจใครด้วย เพราะพระอภิธรรมนี้ เป็นธรรมชาติที่ประพฤติเป็นไปตามเหตุปัจจัยของตน ๆ เองเท่านั้น และเป็นของสุขุมคัมภีรภาพลุ่มลึกน่าอัศจรรย์ ยากแก่สัตว์โลกที่ใจมีธุลีละออง คือกิเลสตัณหาปกคลุมอยู่ จะมองเห็นความจริงในสิ่งเหล่านั้นได้

            หากแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นผู้มีพระปัญญาปรีชาสามารถอันยิ่ง ซึ่งพวกเราใช้ศัพท์โดยคุณนามว่า พระสัพพัญญุตญาณ ซึ่งเป็นดวงปัญญาที่บริสุทธิ์สะอาดปราศจากธุลี คือกิเลสอันเป็นสภาพที่จะมาทำให้ปิดบังความจริง และทำให้สัตว์โลกทั้งหลายมีความเข้าใจผิดหลงเพ้อคลั่ง ให้ผิดไปจากความจริงของธรรมชาติ ทำให้เที่ยวได้หลงไหลอยู่ในสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด

           พระพุทธองค์ได้ค้นพบความจริงของธรรมชาติอันนั้นว่า เกิดโดยอาศัยเหตุปัจจัยอย่างไร และจะหมดสิ้นไปด้วยเหตุปัจจัยอย่างไร และพระพุทธองค์ก็ทรงทำลายธรรมชาตินั้นสุดสิ้นลงแล้ว และปัญญาของพระองค์จึงถึงใสสะอาดบริสุทธิ์ มีพระญาณอันกว้างขวางหยั่งรู้ธรรมชาติแห่งความจริง คือพระอภิธรรม แล้วพระองค์จึงทรงนำมาแสดง เพื่อเป็นเครื่องส่งเสริมดวงปัญญาบารมีของสัตว์โลก และกำจัดความมืดมัวงมงายจนไม่สามารถที่จะเข้าไปรู้ความจริงแห่งธรรมชาตินั้นได้

           ฉะนั้น คำเทศนาของพระพุทธองค์ ท่านนักปราชญ์ทั้งหลายผู้มีปัญญา ที่ท่านได้เข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมชาติ ด้วยการฟังคำเทศนาของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นเครื่องชี้ทาง  ท่านจึงอุปมาคำเทศนาของพระพุทธองค์ว่า เปรียบเหมือนดวงไฟ ซึ่งทำให้เกิดแสงสว่างแก่ผู้มืดมองไม่เห็นทางที่ควรจะไปนั้นได้ เพราะตามธรรมดาปุถุชนทั้งหลาย ที่ยังหลงไหลเวียนว่ายอยู่ในสังสารทุกข์ย่อมมืดมัว ยังหารู้จักทางที่จะออกจากสังสารทุกข์นั้นไม่

           ต่อเมื่อได้ฟังพระสัทธรรม เทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นประดุจเครื่องชี้ทางหรือดวงประทีป อันเป็นเครื่องส่องทางให้แก่ผู้ที่หลงอยู่ด้วยความมืด ให้ดำเนินการออกจากสังสารทุกข์ และนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง คือความเป็นสุขที่หมดความปรารถนาอีกต่อไป

              ความสุขชนิดนั้น เราจะไม่ไปถึงด้วยยวดยานต่างๆ มีรถไฟหรือ เรือไฟ เป็นต้น และไม่มียวดยานใดๆ ในโลกนี้ที่จะพาเราไปถึงได้ เพราะความสุขที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น เราจะไปถึงได้ก็ด้วยต้องเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธองค์เท่านั้น

             ฉะนั้น ปัจจัยอันเป็นเครื่องมือที่จะให้เราเดินตามรอยพระบาทไปถึงที่สุดแห่งทุกข์นั้น คือ

********๑. ศรัทธา ความเชื่อในพระปัญญาความตรัสรู้ของพระองค์ ที่ทรงนำมาสั่งสอนเรา

********๒. ความเพียร ที่จะศึกษาและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ด้วยจิตใจมั่นคง ที่ประกอบด้วยศรัทธาความเชื่อ

********๓. สติ ความระลึกอยู่ในธรรมดาตามคำสั่งสอนขององค์ ที่ประกอบด้วยความเพียรและศรัทธานั้น

********๔. สมาธิ ความตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์หรือในธรรมตามคำสั่งสอนของพระองค์ ที่สัมปยุตด้วยศรัทธา ความเพียร และสติ นั้น

********๕. ปัญญา ความรู้ธรรมตามความเป็นจริง พร้อมด้วยเหตุผล ตามคำสั่งสอนของพระองค์ได้

           ถ้าเราบริบูรณ์ด้วยปัจจัยทั้ง ๕ อันเป็นภาวนาอินทรีย์ คือ ธรรมที่สร้างกุศลจิตให้มีกำลังนี้แล้ว ก็เป็นอันแน่นอนว่า เราจะถึงความสุขตามที่พระองค์ทรงค้นพบนั้นแน่ทีเดียว

            ฉะนั้น ข้อสำคัญจึงมีอยู่ที่ว่า พวกเราที่เป็นพุทธมามกะทั้งหลาย เราเชื่อกันแน่หรือยังในปัญญาความตรัสรู้ของพระองค์ ว่าสามารถจะรู้แจ้งตามความเป็นจริงในธรรมที่เป็นไปเพื่อ ความทุกข์ และ ความสุข ถ้าเราปฏิบัติตามกันแล้ว เราจะได้รับ ความสุข ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามแล้ว เราจะได้รับ ความทุกข์

           และเราเชื่อแน่กันหรือยังว่า พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นเพื่อให้สัตว์โลกได้รับความสุข แม้ตลอดจนกระทั่งมดดำมดแดงก็จะได้รับความสุข จากคำสั่งสอนของพระองค์ ซึ่งในข้อนี้ใคร ๆ ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ เพราะคำสอนของพระองค์นั้น เป็นคำสอนที่ให้วางเสียซึ่งสาตราทั้งปวง เป็นคำสอนที่สละเสียแล้วซึ่งการเห็นแก่ตัว และการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และเป็นคำสอนที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่น

           เมื่อกล่าวเช่นนี้ ก็อยากจะขอตั้งปัญหาขึ้นถามว่า “ความสุขที่จะได้รับจากพระพุทธศาสนานั้นมีอย่างไร ?” ดิฉันเชื่อว่า เราคงจะยังไม่เชื่อในเหตุผลที่แน่นอน และเพียงพอกระมัง ว่าความสุขที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนนั้น จะทำให้เกิดประโยชน์สุขดีกว่า กามสุข ที่อาศัยเกิดขึ้นจากวิชาการทางโลกทางวิทยาศาสตร์

          ตามทัศนะของดิฉันเวลานี้ โลกกำลังเรียกร้องศีลธรรม ให้เข้ามาสู่ประชาชนทั่วๆ ไป และกำลังพยายามหาวิธีด้วยนโยบายต่าง ๆ ที่จะให้ประชาชนเข้าถึงศีลธรรม อันนี้ก็เพราะประชาชนได้เสื่อมไปจากศีลธรรมนั่นเอง ตามธรรมดาคนเราถ้าไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียนให้เสียสุขภาพไปแล้ว เราก็ไม่ต้องไปรักษาตัว เพราะเราสบายอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องวิ่งเต้นไปตามแก้ไขอีก นอกจากมองเห็นการเสื่อมเสียสุขภาพในร่างกายเกิดขึ้นแล้ว จึงทำการแก้ไข เพื่อเรียกร้องสุขภาพที่เสื่อมเสียไปนั้นให้กลับคืนมา

          ฉะนั้น ข้ออุปมาอันนี้ฉันใด การเรียกร้องศีลธรรมของเราด้วยวิธีต่างๆ ก็ฉันนั้น แต่จะอย่างไรก็ตาม ในการเผยแพร่และอบรมศีลธรรมที่จะให้เข้าสู่จิตใจของประชาชน เพื่อให้โลกเข้าถึงสันติด้วยการวางเสียซึ่งสาตราต่างๆ อันเป็นเครื่องประหัตประหารและเบียดเบียนกันนั้น การกระทำใดๆ ที่ประกอบด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์กว่านี้ ดิฉันขออนุโมทนาที่ประกอบไปด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าให้ความสุขอะไร?

          ต่อไปนี้จะกล่าวถึง ความสุข ที่จะได้รับจากคำสั่งสอนของพระบรมศาสดานั้นคืออะไร ? ถ้าเราจะมองดูผิวเผินแล้ว เราก็จะมองไม่เห็นเลยว่า พระพุทธองค์ทรงนำเอาความสุขอะไรมาประทานให้แก่เรา เพราะไม่เคยปรากฏว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยกอบโกยเงินทอง ทรัพย์สมบัติ มาให้ใครได้รับความสุขความสบายที่ไหนเลยสักคนเดียว ก็ด้วยการมองผิวเผินดังว่านี้เอง จึงเป็นเหตุที่จะให้คนทั้งหลายไม่อยากที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

          นอกจากจะมีผู้มีความสามารถ พยายามชี้แจงให้เขามองเห็นเหตุผลว่า ถ้าเขาจะประพฤติปฏิบัติตามแล้ว เขาจะได้รับความสุขทั้งตัวเขาและคนอื่นได้จริง และเขาจะต้องรู้ด้วยว่าความสุขที่ได้รับจากพระพุทธศาสนานั้น คือความสุขอย่างไร ? เพราะคนเราโดยมากเข้าใจว่า ความสุขนั้นอยู่ที่เงินทอง และอำนาจวาสนา หรือยศศักดิ์ เมื่อมองเห็นว่าพระพุทธศาสนาไม่มีทางที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาให้ได้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะไม่อยากสนใจใยดีต่อคำสอน

          ฉะนั้น ในวาระนี้ ดิฉันก็จะถือโอกาสนำเอาเหตุผลที่จะทำให้เกิดความสุขจากพระพุทธศาสนา มาอธิบายให้พี่น้องที่มีสำมโนครัวเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธด้วยกันฟังดู บางทีอาจเกิดประโยชน์แก่ท่านบ้าง

ความสุขอะไรที่เราต้องการ ?

           ก่อนอื่น จะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ความสุขที่เราทุกคนต้องการนั้นคืออะไรกันแน่ เพราะความสุขนั้นเกิดได้ ๒ ทาง คือความสบายกายกับความสบายใจ ความทุกข์ก็มี ๒ ทางเหมือนกัน คือความทุกข์กายกับความทุกข์ใจ และในความสุขทั้ง ๒ ทางนี้ ท่านเห็นว่าสุขทางไหนสำคัญ และทุกข์ทางไหนสำคัญ คือ สุขใจ ทุกข์ใจสำคัญ หรือว่าสุขกาย ทุกข์กายสำคัญ

           ก่อนที่ท่านจะตอบปัญหาเรื่องนี้ ท่านจะต้องนึกดูเสียก่อนว่า คนและสัตว์ในโลกนี้ที่ต้องได้รับความเดือดร้อน คือทุกข์บ้าง สุขบ้าง ที่วุ่นวายกันอยู่ในโลกนี้นั้น เพราะกายเป็นเหตุหรือใจเป็นเหตุ

          ในความรู้สึกของดิฉันแล้วเห็นว่า ใจ นั่นแหละเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น ดิฉันจึงเห็นว่า ความสุขใจ ทุกข์ใจนั่นแหละ เป็นของสำคัญยิ่งกว่า สุขกาย ทุกข์กาย เพราะสุขกายนั้นเป็นของหาได้ไม่ยากเย็นเลย เพราะเหตุว่ากายไม่ต้องการอะไรมากมาย กายต้องการแต่เพียง กินอิ่มหนึ่ง กับนอนหลับตื่นหนึ่ง ถ้าเพิ่มเติมอีก อย่างมากก็คือ เครื่องกันหนาวกันร้อนและยารักษาโรค เท่านั้น นอกจากนั้นกายไม่ต้องการอะไร

          ฉะนั้น การหาความสุขให้แก่กายนั้น ก็รู้สึกว่าจะไม่ยากเย็นอะไร อย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่สัตว์เดียรัจฉานก็ยังหาได้ เพราะเรายังไม่ค่อยได้เคยเห็นสัตว์เดียรัจฉานอดตาย ถ้าต้องการเพียงแค่นี้ดูไม่ลำบากอะไร เพราะลาภ ยศ สรรเสริญ กายไม่ต้องการ

           ทีนี้ลองหันมาดูทางใจ ว่าใจต้องการความสุขอะไร ความจริงถ้าถามใจๆ ก็คงบอกว่า ฉันต้องการความสบายใจ ก็ใจที่สบายนั้น คืออย่างไรเล่า? ใจก็จะบอกว่า ใจที่สบายนั้นก็คือ ใจที่เฉย ๆ ไม่มีความรัก ไม่มีความโกรธ ไม่มีความทะเยอทะยานในลาภ ยศ ไม่มีความเสียใจ คับแค้น กลัดกลุ้ม ไม่มีความอิจฉา ริษยา แข่งดี หรือคิดเบียดเบียนต่อเพื่อนสัตว์ที่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน หรือใจที่ไม่มีอาการฟุ้งซ่าน และสะดุ้งหวาดกลัวต่อภัยต่าง ๆ ใจอย่างนี้แหละที่เราต้องการ ใจก็จะบอกแก่เราว่า ใจต้องการความสบายอย่างนี้

          ดิฉันก็คิดว่าทุกคนก็ต้องการใจอย่างนี้กันทุกๆ ท่าน ใช่หรือไม่ ?

          แต่ทำไมทุกๆ คนจึงหาใจอย่างนี้กันไม่ได้ ทั้งๆ ที่ ทุกๆ คนก็พยายามจะหาใจอย่างนี้กันอยู่ จึงได้ขวนขวายกระเสือกกระสนวุ่นวาย แสวงหาลาภ ทุจริต เบียดเบียนกัน ก็เพื่อจะระงับความกระวนกระวายและยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นในหัวใจ ตามอาการดังกล่าวมาแล้ว    

           ในที่สุดก็ไม่ได้ความสุขใจดังที่ตนต้องการ เมื่อหนักเข้าๆ ก็เกิดรบราฆ่าฟันกัน ก็เป็นกำลังทำให้ความทุกข์เพิ่มขึ้น ให้ความทุกข์เกิดระบาดขึ้นใหญ่โต แผ่นดินก็จะกลายเป็นไฟไป เพราะอะไรเล่า ? ก็เพราะเหตุที่เราไม่รู้กันใช่ไหมว่า ความทุกข์ต่างๆ เหล่านั้น มันเกิดขึ้นเพราะอะไร ? และไม่รู้ด้วยว่า ความทุกข์เหล่านี้มันจะสงบลงได้เพราะอะไร เราจึงเข้าถึงความสุขที่เราต้องการไม่ได้

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้มีปัญญาอันยิ่งยอดกว่ามนุษย์ทั้งปวงในโลก จึงได้เกิดความตรัสรู้ขึ้นด้วยพระองค์เอง คือพระองค์ทรงตรัสรู้ว่า ความทุกข์ทั้งหลาย ที่ทำให้สัตว์โลกทั้งมวลดิ้นรน เดือดร้อน กระเสือกกระสน ทุรนทุรายกันอยู่ทุกวันนี้นั้น เพราะเหตุอะไร และพระพุทธองค์ก็ทรงรู้เหตุนั้นด้วย และทรงทราบถึงวิธีอันเป็นนโยบายที่จะดับเสียซึ่งเหตุนั้นด้วย

          และในการที่พระองค์ทรงทราบนั้น หาได้ทรงทราบด้วยการนึกคิด คาดคะเนเอาก็หามิได้ พระองค์ได้ทรงค้นพบ และทั้งได้ทรงพิสูจน์จนได้ผลมาแล้วด้วยพระองค์เอง จนเป็นที่แน่นอนแล้ว จนพระองค์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงตามที่กล่าวมาแล้วโดยสิ้นเชิง และได้ทรงตั้งอยู่แล้วในความสุขที่สัตว์โลกพึงแสวงอยู่ ต่อจากนั้นมาด้วยพระมหากรุณาคุณ ก็ได้ปรากฏขึ้นในท่ามกลางแห่งดวงพระหฤทัยอันบริสุทธิ์นั่นเอง ด้วยพุทธประสงค์ที่จะให้สัตว์โลกทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ที่สัตว์กำลังกระเสือกกระสน วิ่งหาทางออกอยู่ แต่ออกไม่ได้ เพราะไม่รู้จักทาง

           ด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระองค์ จึงหลั่งไหลออกมาสู่สัตว์โลกทั้งปวงประดุจดังน้ำทิพย์ ถ้าหากได้สาดกระเซ็นไปถูกใครเข้าแล้ว ผู้นั้นก็จะสงบจากความเดือดร้อนทุรนทุราย ผู้นั้นก็จะเข้าถึงความสุขกาย สุขใจตามสมควร คือตามส่วนของน้ำพระพุทธมนต์นั้น

พระพุทธมนต์ คือ อะไร ?

           ก็เราทั้งหลายที่ได้อยู่ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา ทุกท่านก็ทราบดีแล้วมิใช่หรือว่า พระพุทธมนต์นั้นคืออะไร พระพุทธมนต์ที่สำหรับขับไล่ภูตผีปีศาจที่มาก่อกวนให้สัตว์โลกเดือดร้อนนั้น ได้แก่ ศีล สมาธิและปัญญา นั่นเอง และปีศาจที่มาสิงจิตใจเราแล้วก็ก่อกวนให้สัตว์โลกได้รับความเดือดร้อนนั้น ก็ได้แก่ กิเลส ๑๐ นั่นเอง หัวหน้าของเจ้ากิเลสทั้ง ๑๐ ตนนั้น ก็คือ โลภ, โกรธ, หลง นี้แหละ

             ฉะนั้น ถ้าเจ้าปีศาจ ๓ ตนนี้เข้าสิงจิตใจสัตว์โลกเมื่อใด เมื่อนั้นจิตใจของสัตว์โลกทั้งหลาย ก็จะเกิดความกระวนกระวายเดือดร้อนทั้งตนและคนอื่น เมื่อนั้น

             ฉะนั้น ถ้าใครยังไม่สามารถที่จะขับปีศาจทั้ง ๓ นี้ออกไปได้ ก็อย่านึกเลยว่าจะรอดพ้นจากทุกข์ได้ และปีศาจพวกนี้ก็หาวิธีอื่นที่จะทำให้มันเกรงกลัว หนีออกจากเราไปไม่ได้ไม่ นอกจากพระพุทธมนต์ คือ ศีล สมาธิและปัญญา เท่านั้น จึงจะทำให้มันเกรงกลัว หรือหลีกหนีออกไปได้ เมื่อเราขับมันออกไปได้มากเท่าใด เราก็จะรับความสุขมากเท่านั้น

            โดยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงได้ชื่อว่า พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก แล้วก็นำเอาความสุขมาประทานให้แก่สัตว์โลก คือ ศีล สมาธิและ ปัญญา นี้เอง แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่สัตว์โลกโดยมากมองไม่เห็นความสุขที่เกิดจาก ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นเป็นอย่างไร

            ความจริงนั้น ดิฉันเห็นว่า นอกจากศีลธรรมแล้ว ไม่มีอะไรจะทำให้สัตว์โลกเข้าถึงความสุขได้เลย

ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้เป็นสุข

          ฉะนั้น จึงตั้งเป็นคำถามว่า ศีล สมาธิ ปัญญา จะทำให้เป็นสุขอย่างไร

           ในเรื่องนี้ ดิฉันจะอธิบายประโยชน์ที่เกิดจากศีลก่อน เท่าที่สติปัญญาของดิฉันมองเห็น หรือเท่าที่ดิฉันได้รับผลด้วยตนเอง แต่ก่อนที่จะอธิบายประโยชน์ที่เกิดจากศีลนั้น จะต้องตั้งความทุกข์ขึ้นเป็น ๒ อย่างก่อน คือ

            ความเดือดร้อนตนเองอย่าง ๑ และความเดือดร้อนของคนอื่นอย่าง ๑ เราจะตั้งกิเลสขึ้นเป็น ๒ ประเภทก่อน คือกิเลสชนิดหนึ่ง   เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้จิตใจของตนเองนั้นมีความเดือดร้อน กระสับกระส่าย หวาดกลัว แต่ยังไม่ถึงกับทำให้คนอื่นเดือดร้อน กิเลสอย่างนี้ เรียก ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลาง ยังไม่ถึงกับแสดงฤทธิ์ออกมาข้างนอก แต่กิเลสนั้นเอง ถ้าหากไม่มีอะไรมาระงับให้หมดสิ้นลงแล้ว ก็ย่อมมีกำลังกำเริบรุนแรงขึ้น ไหลท้นออกมาทางกาย และวาจา ประดุจพญานาคพ่นพิษออกมาเป็นไฟ เพื่อจะให้โลกไหม้พินาศเป็นจุณมหาจุณไป ถ้าตัวเล็กหรือพิษน้อยหน่อยก็ทำความเดือดร้อนแก่โลกเป็นส่วนน้อย ถ้าตัวใหญ่หรือมีพิษมาก ก็ทำความเดือดร้อนพินาศให้แก่โลกมากมายกว้างขวาง อาจแผ่พิษสงออกไปจนถึงนานาประเทศก็ได้ กิเลสอันนี้เรียกว่า วิติกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ

              กิเลสอันนี้แหละ ที่ทำให้สัตว์โลกเดือดร้อนระบาดอยู่ทั้งตนเองและคนอื่น ทุกบ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ทุก ๆ ประเทศ และทุกชาติ ทุกภาษา ก็ถ้ากิเลสนี้กำเริบรุนแรงมากขึ้นเท่าไร การทุจริตฉ้อโกง ปล้นสะดม รบราฆ่าฟันกันก็มีมากเท่านั้น และกิเลสประเภทนี้ เราจะห้ามปรามทำลายมันด้วยวิธีอื่น ๆ หรือจะใช้อาวุธยุทโธปกรณ์อะไรก็ไม่ได้ทั้งสิ้น หรือจะใช้เวทมนต์คาถาฤทธิ์เดชอะไรก็ไม่สำเร็จ หรือจะใช้ตำรวจ ทหาร ผู้พิพากษา หรือจะสร้างกฏหมายขึ้นสัก ๑๐๐ เล่มเกวียน ก็ไม่สามารถที่จะปราบปรามกิเลสอันนี้ให้หมดสิ้นไปได้

              นอกจากกฏหมายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงไว้ให้ คือ ศีลเพียง ๕ ข้อเท่านั้นก็พอแล้ว เพราะศีลเป็นข้อปฏิบัติที่พึงจะระงับและปราบปรามกิเลสที่จะหลั่งไหลออกจากทางกาย และ ทางวาจา อันเป็นเหตุที่จะทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อน ให้เกิดทุกข์ โทมนัส เศร้าโศก ถึงกับทำให้ต้องเสียชีวิตไปจนนับไม่ถ้วน ตลอดจนถึงสัตว์เดียรัจฉานด้วย

              ถ้าหาว่าประชาชาวโลกทั้งหลายต่างคนต่างมองเห็นประโยชน์ของศีลธรรมด้วยกันแล้ว พากันปฏิบัติรักษาศีลธรรมให้มีจำนวนมากขึ้นเท่าใด ความเดือดร้อนนานาประการตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็สงบลงมากเท่านั้น ตลอดไปจนถึงสัตว์เดียรัจฉานด้วย

              อนึ่ง ถ้าพวกเราใช้กฏหมายของพระพุทธเจ้าเพียง ๕ ข้อเท่านั้น เราก็จะพากันถึงความเป็นเสรีภาพ ที่เราเรียกร้องต้องการอยู่เวลานี้ทั่วทั้งโลก ความจริงเรามีศีล ๕ เท่านั้น เราก็จะเป็นคนอยู่เหนือกฏของโลกแล้ว เราจะมีเสรีภาพ ไม่มีกฏหมายอะไรที่จะบังคับเราได้ และจะไม่มีตำรวจทหาร หรือคุกตะรางใดๆ ที่จะเกี่ยวข้อง บังคับบัญชาให้เราเข้าไปอยู่ในที่นั้นได้ และมือหรือเท้าของเราก็จะไม่ต้องแตะขื่อคา โซ่ตรวน และกุญแจมือเลยเป็นอันขาด เพราะด้วยอำนาจของกฏหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ศีล ๕ เท่านั้น

            และเราจะไม่ต้องจ้างตำรวจ ทหาร และผู้พิพากษา หรือตั้งกระทรวงมหาดไทยให้มาพิทักษ์รักษา หรือมาคุ้มครองตัวเรา เป็นการช่วยเศรษฐกิจไม่ให้ต้องได้รับการฝืดเคือง เราจะสบายใจและเป็นสุข ไม่ต้องมีความสะดุ้งหวาดกลัวในการที่จะได้ผลของการทุจริต เราจะมองดูตากันด้วยความรักใคร่และเมตตา กรุณาต่อกัน เราจะไม่ได้ยินเสียงด่าทอสาปแช่ง เราจะได้ยินแต่คำสรรเสริญเยินยอต่อคุณของศีลธรรมที่เราได้รับอยู่ เราจะเดินไปไหนในเวลาใด ก็จะเดินไปตามสบายไม่ต้องมีความหวาดกลัว บ้านเราก็ไม่ต้องใส่กุญแจ  

            ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย โปรดนึกดูสภาพของโลกตามที่กล่าวมานี้ว่า โลกจะมีความสุขหรือไม่ หากทุกคนในโลกได้พากันมองเห็นประโยชน์ของศีลธรรมดังที่ได้เรียนมานี้ แล้วพากันประพฤติปฏิบัติตามกัน โลกของเราก็จะเป็นประดุจโลกสวรรค์นั่นเอง

            นี่แหละเป็นอานิสงส์ คือ ความสุขที่เกิดจากศีลที่พระพุทธองค์ทรงนำมาประทานไว้ให้ เพื่อสัตว์โลกเข้าถึงความสุข

           ฉะนั้น ความสุขที่แท้จริงนั้นหาได้เกิดจากลาภ ยศและอำนาจวาสนาไม่ พระองค์ทรงสั่งสอนไว้ว่า ความสุขที่แท้จริงนั้น จะต้องเกิดจาก ศีล สมาธิและปัญญา ทั้งนี้เพราะข้อปฏิบัติทั้ง ๓ นี้เป็นเครื่องทำลายกิเลสอันเป็นตัวเหตุที่ทำให้โลกเดือดร้อน หรือลุกเป็นไฟขึ้น

           ฉะนั้น สมเด็จพระพุทธองค์จึงทรงพยากรณ์ว่า กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ นี้เป็นไฟ ๓ กอง เรียกว่า ราคัคคิ โทสัคคิ โมหัคคิ ซึ่งแปลว่าไฟ คือ ราคะ ไฟคือ โทสะ ไฟคือ โมหะ หมายความว่า สตว์โลกต้องเดือดร้อน เพราะโลภะ โทสะ และโมหะ ทั้ง ๓ กองนี้เอง ถ้าหากไฟทั้ง ๓ กองนี้สงบลงได้เท่าไร ความสุขก็จะเกิดแก่สัตว์โลกมากเท่านั้น หาใช่ความสุขจะเกิดจากลาภและยศไม่

           โดยเหตุนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดง ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นข้อปฏิบัติที่สำหรับจะทำให้ไฟ ๓ กองสงบลง ตามส่วนของข้อปฏิบัตินั้นๆ สัตว์โลกจะเกิดความสุขขึ้นตามส่วนของไฟ คือกิเลสที่สงบลง

ลาภ ยศ อำนาจ ให้ความสุขได้จริงหรือ ?

           ในเรื่องนี้ หากผู้มีปัญญาพิจารณาให้เข้าถึงเหตุผลโดยแท้จริงแล้ว ก็คงจะเชื่อแน่อย่างไม่ต้องสงสัยเลย ขอให้พิจารณาดูให้แน่เถิดว่า ลาภ ยศ และอำนาจวาสนาจะเป็นเหตุให้ได้รับความสุขแน่หรือ ดิฉันคิดว่าไม่แน่เลย บางผู้มีอำนาจวาสนา แต่ถ้าในใจของเขาขาดศีลธรรม หรือ ลาภ ยศ เหล่านั้น ถ้าเกิดขึ้นเพราะการขาดศีลธรรม แล้ว ลาภ ยศ เหล่านั้น หาได้ทำให้ผู้นั้นได้รับความสุขไม่เลย หรือบางที ลาภ ยศ เหล่านั้น อาจทำให้ท่านได้รับความทุกข์อย่างใหญ่หลวงทีเดียว เต็มไปด้วยความหวาดหวั่นในภยันตราย หรือบางทีอาจถึงชีวิตก็เป็นได้ 

          แต่คนเราเวลานี้ มักจะมองไม่เห็นความทุกข์ โทษ ภัยของการขาดศีลธรรม และมองไม่เห็นความสุขที่เกิดขึ้นจากศีลธรรม จึงเป็นการยากที่จะทำให้ศีลธรรมเกิดขึ้นในจิตใจได้ ต่างคนก็ต่างมุ่งแต่จะสร้าง ลาภ ยศ กันถ่ายเดียวเท่านั้น สุดแต่จะได้มาด้วยวิธีใดก็ตาม มิได้คำนึงศีลธรรม จึงเป็นเหตุที่เกิดการเบียดเบียน ฆ่าฟันกัน คดีอาชญากรรมจึงเพิ่งปริมาณขึ้นอย่างสุดเหวี่ยง ทางผู้บริหาร ก็พยายามหาวิธีป้องกันทุกวิถีทาง พยายามสร้างทหาร ตำรวจ ก็ปราบปรามไม่ไหว จนกระทั่งต้องเอาสุนัขมาช่วยปราบ ร่างกฏหมายขึ้น ผลิตตุลาการขึ้น จนไม่มีงบประมาณจะให้ ก็ยังไม่เห็นจะทำให้จำนวนอาชญากรรมลดน้อยลงสักที ทั้งนี้ก็เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่า ทำอะไรกันก็นึกทำกันโดยมิได้พิจารณาถึงเหตุผลว่า มันมาจากเหตุอะไร เพราะธรรมทั้งหลายนั้น ต้องไหลมาจากเหตุ

             แต่เวลานี้ไม่แก้ที่เหตุ เราแก้แต่ที่ผลกัน จะเป็นผลสำเร็จได้อย่างไร เพราะมันผิดกฏธรรมชาติ เหมือนที่จะรักษาโรค ถึงหมอจะมียา หรือจะมีวิธีรักษาโรคให้วิเศษอย่างไรก็ตาม แต่ไม่ตรวจดูสมุฏฐานให้รู้แน่เสียก่อนว่า โรคนี้เกิดจากอะไร ถึงจะมีการรักษาพยาบาลอย่างไรก็ไม่ได้ผลนั่นเอง บางทีก็กลับทำให้โรคภัยนั้นเพิ่มปริมาณมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะแก้ไม่ถูกจุดนั่นเอง

             ฉันใดก็ดี เหมือนกับโรคของเราเวลานี้ก็ฉันนั้น เพราะโลกเวลานี้กำลังจะแก้ที่ผลกัน และก็ส่งเสริมเหตุเพื่อให้เกิดผลนั้น ดูๆ แล้วมันก็น่าขันจริงๆ เพราะน่าจะรู้เหลือเกินว่า การเบียดเบียนรบราฆ่าฟันกันนั้น มันเกิดเพราะการขาดศีลธรรมนั่นเองเป็นเหตุ

             ฉะนั้น ในทางที่ถูกแล้ว เราก็ควรจะหาวิธีนำประชาชนให้หันเข้ามาหาศีลธรรม ด้วยวิธีตั้งการศึกษาอบรมกันขึ้นให้จริงๆ จังๆ ไม่ใช่ทำกันอย่างผักชีโรยหน้าเท่านั้น

           เราจึงควรจะจัดตั้งการศึกษา ในศีลธรรมกันขึ้น ให้เป็นไปอย่างจริงจัง และการที่จะตั้งหลักอบรมศีลธรรมนี้ ก็คือ ตั้งหลักการศึกษาวิชาในทางพระพุทธศาสนานั่นเอง และในการศึกษาหลักวิชาในทางพระพุทธศาสนานั้น จะต้องถือว่าเป็นประเด็นสำคัญของชาติทีเดียว เพราะที่จะใช้นามว่า ชาติอารยะ ได้นั้น หาได้อยู่ที่อำนาจราชศักดิ์ หรืออยู่ที่ลาภ ยศ หรืออยู่ที่การมีอาวุธยุทธภัณฑ์ สำหรับเอาไว้เป็นเครื่องประหัตประหารกัน อย่างชั้นเยี่ยมยอด จนเป็นที่หวั่นเกรงของพวกมนุษย์ที่โง่หลงอยู่ หรือเป็นที่ยินดีของชนพาลทั้งหลายเช่นนี้หรือจึงควรจะเรียกว่า ชาติอารยะก็หาไม่ ชาติที่นักปราชญ์จะยกย่องว่าควรจะเป็น อารยชาตินั้น ก็อยู่ที่มีประชาชาติที่มีศีลธรรม นั่นเอง จึงจะสมควรได้นามว่า ชาติอารยะ เพราะศีลธรรมเท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์ทั้งหลายได้นามว่า เป็นอารยชน คือ เป็นชนที่ประเสริฐ หรือเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ

             ถ้ามนุษย์เราขาดศีลธรรมเสียแล้ว ก็จะมีอะไรเล่าเป็นเครื่องทำให้เห็นว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐแตกต่างกว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างก็มีความเป็นไปอย่างเดียว มีความต้องการในส่วนสำคัญ ๆ ก็เหมือนกัน และมีอวัยวะในส่วนร่างกายก็เช่นเดียวกัน และจะต้องการสุขเกลียดทุกข์ด้วยกัน และทั้งยังต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เหมือนกันอีก ไม่เห็นจะมีอะไรที่แปลกกันเลย ก็เพราะ ศีลธรรม เท่านั้นที่จะทำให้สัตว์มนุษย์แปลกไปกว่าสัตว์เดียรัจฉาน

             เพราะมนุษย์รู้จักมีศีลธรรม และรู้จักคุณประโยชน์ของศีลธรรมและรู้จักปลูกเพาะศีลธรรมให้เกิดมีขึ้นในจิตใจได้ แต่สัตว์เดียรัจฉานนั้น ไม่รู้จักทำให้ศีลธรรมบังเกิดขึ้นแก่ตนได้

              อันที่จริง ถ้าเราจะกล่าวกันตามความเป็นจริงแล้ว ในส่วนเดียรัจฉานนั้น ถึงหากจะไม่มีศีลธรรม ก็หาได้ทำความเดือดร้อนให้แก่สัตว์โลกเท่าใดนักไม่ แต่ถ้ามนุษย์ขาดศีลธรรมแล้ว ก็อาจจะทำความเดือดร้อนให้แก่สัตว์ที่อยู่ร่วมโลกเดียวกันมากกว่าสัตว์หลายเท่าพันทวีทีเดียว

            โดยเหตุนี้ ดิฉันจึงเรียนว่า ทุกๆ ประเทศ และทุกๆ ชาติ ควรจะถือว่าการอบรมศีลธรรมนี่แหละเป็นหลักสำคัญของมนุษย์ เพราะศีลธรรมเท่านั้น ที่จะทำให้มนุษย์ที่อยู่ร่วมโลกเดียวกันนั้น อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข

            และก็ศีลธรรมนี้ จะเกิดแก่จิตใจของสัตว์ มนุษย์นั้นได้ เพราะเหตุอะไร ? ก็ต้องเพราะมี ศรัทธาเป็นเหตุ ก็ศรัทธานั้นเกิดจากอะไรเล่า ? ก็ต้องมาจากการศึกษาเป็นเหตุ เพราะเมื่อเราได้ศึกษา จนกระทั่งได้เหตุผลในคุณประโยชน์ของศีลธรรมแล้ว แน่นอน ! เมื่อนั้นแหละ เราจึงมีศรัทธาประพฤติปฏิบัติในศีลธรรมนั้น ๆ

           ฉะนั้น ดิฉันจึงเห็นว่า ในการที่จะอบรมศีลธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนนั้น ก็เห็นมีอยู่ทางเดียว คือ ต้องตั้งหลักการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างชนิดเอาจริงเอาจังกัน และช่วยกันสนับสนุนการศึกษาหลักวิชาในทางพระพุทธศาสนาขึ้น ให้เป็นหลักฐานจนเป็นระเบียบประเพณี เข้าไปจับอยู่ในจิตของประชาชนทั่วๆ ไป จนถือกันว่า ต้องเป็นประเพณีดังนี้  จะต้องประพฤติดังนี้ จะต้องปฏิบัติอย่างนี้ เป็นประเพณีของชาติเมื่อใด เมื่อนั้นแหละศีลธรรม จึงจะบังเกิดแพร่หลายขึ้นในบรรดาประชาชนทั่วๆ ไปได้ เพราะประเพณีเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยเหลือชักจูงจิตใจของมนุษย์เราที่จะเป็นไปตามความนิยมของชาติหนึ่งๆ ได้โดยไม่ต้องอาศัยอาชญา เพราะในการที่จะอบรมให้มนุษย์เรา ประพฤติความดี หรือความชั่วได้นั้น ก็มีอยู่ ๓ นัยด้วยกัน คือ

********๑. ด้วยประเพณี

********๒. ด้วยพระศาสนา

********๓. ด้วยอาชญา

          ชั้นแรก ต้องอบรมกัน ตามประเพณีก่อน เช่นระเบียบประเพณีของชาติหนึ่งๆ นิยมกันอย่างไรว่าดี ระเบียบของผู้หญิงจะต้องทำอย่างไร และระเบียบของผู้ชายนั้นจะต้องปฏิบัติกันอย่างไร หรือ พ่อ แม่ ลูก บ่าว นาย อาจารย์ และศิษย์เหล่านี้ เป็นต้น จะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไร จึงถูกต้องตามประเพณีที่นิยมกันว่าดี หรือเลว

          ชั้นที่ ๒. เมื่อประเพณีเอาไว้ไม่อยู่แล้ว ก็ต้องอาศัย ทางพระศาสนาช่วยอบรม ชี้แจงให้เห็นเหตุผล ในความประพฤติดี ประพฤติชั่ว จนเกิดปัญญารู้แน่ชัดขึ้นมาด้วยตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยเชื่อตามคนอื่นเหมือนดังตอนแรก อันนี้ก็เป็นเหตุอันหนึ่งที่จะทำให้คนประพฤติดี ประพฤติชั่วได้

         ชั้นที่ ๓. เมื่อทั้ง ๒ ชั้นนั้นก็ถือเอาไม่ได้แล้ว คราวนี้ต้องใช้บังคับด้วยอาชญา ให้เป็นไปตามประเพณีนิยมนั่นเอง ฉะนั้น บางคนไม่ต้องอาศัยศาสนา เขาก็ยังประพฤติความดี ให้เป็นไปตามประเพณีนิยมได้ แต่บางคนเฉพาะประเพณีไม่พอ ต้องอาศัยทางพระศาสนาด้วย ดังเช่น บางคนที่ชอบดื่มสุราจนติด หรือชอบเล่นการพนัน เป็นต้น ถึงแม่รู้ว่าไม่เป็นที่นิยมของสังคม หรือประเพณีก็ตามแต่ ก็อดที่จะดื่มหรืออดที่จะเล่นไม่ได้ เมื่อหันไปเข้าวัดเข้าวาแล้ว บางทีก็เลยละความประพฤติเช่นนั้น แต่บางคนได้กระทำทั้ง ๒ อย่างแล้ว ก็ยังละไม่ได้ จะต้องถูกจับไปลงโทษลงทัณฑ์เสียก่อน แล้วจึงจะงดเว้นได้ แต่หากว่าร้ายจริงๆ แล้ว ทั้ง ๓ อย่างนั้นก็ยังละไม่ได้ คนประเภทนี้ก็เป็นอันว่า เขาจะต้องแบกความชั่วนั้นติดตัวไปจนตายแล้ว และเอาไปใช้ชาติหน้าอีกต่อไป

          ฉะนั้น ดิฉันจึงเห็นว่า ผู้มีอำนาจในอาชญา นั่นแหละ เป็นรากฐานและเป็นเหตุปัจจัยสำคัญในการที่จะนำประชาชนให้ประพฤติความดี และความชั่วได้ง่าย และทั้งได้ผลเร็วด้วย และข้อสำคัญที่สุดนั้น ก็คือ ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ลงมือประพฤติเป็นตัวอย่างด้วย ใช่ว่าเป็นแต่เพียงจะออกกฏหมายเอาไว้ใช้ สำหรับให้คนอื่นเขามีศีลธรรม แต่ตัวของตัวเองหามีศีลธรรมดังที่ตนเองต้องการไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็นับว่าเป็นอันไร้ผล เพราะในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น จะต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนเอง แล้วจึงทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น ซึ่งจะจัดได้ว่า ได้ทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่น อย่างนี้แหละ จึงเป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตอันแท้จริง เพราะการอบรมสั่งสอนตนนั่นแหละ ย่อมได้ผลดียิ่งกว่าที่จะให้คนอื่นอบรม ดังพระพุทธภาษิตว่า ชนะตนของตนเองนั่นแหละประเสริฐกว่าชนะคนอื่นทั้งปวง

            โดยเหตุนี้ คำสอนในพระพุทธศาสนานี้ จึงวางหลักไว้ ๓ ชั้น ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหลักที่จะต้องอบรมตัวเองทั้ง ๓ ชั้นนี้ เป็นข้อปฏิบัติสำหรับอบรมจิตใจ เพราะคนเรานั้นจะดีหรือชั่วก็อยู่ที่จิตใจ หาได้อยู่ที่ร่างกายไม่

          ฉะนั้น ถ้าหากว่าผู้ใดได้พยายามอบรมจิตใจของตนให้อยู่ในหลักปฏิบัติทั้ง ๓ ชั้นนั้น จะเป็นชั้นใดชั้นหนึ่งก็ตาม นับตั้งแต่ศีล ๕ เป็นต้นไป ก็จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ได้ทำประโยชน์สุขให้แก่ตนและคนอื่นหรือเรียกว่าทำให้สัตว์โลกบังเกิดสันติ หรือเข้าถึงสันติสุขก็ได้ เพราะสัตว์โลกนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกลเลย สัตว์โลกก็ได้แก่ รูปนามขันธ์ ๕ คน ๆ หนึ่งนั่นเอง

          คำสอนในพระพุทธศาสนานั้นมี ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ คือ ปริยัติศาสนา  ชั้นที่ ๒ คือ ปฏิบัติศาสนา ชั้นที่ ๓ คือ ปฏิเวธศาสนา

          ฉะนั้น การเข้าถึงพระพุทธศาสนาจึงต้องเข้าถึงให้ถูกต้องทั้ง ๓ ชั้น จึงนับได้ว่าเป็นการเข้าถึงโดยแท้จริง เพราะขั้นแรกเราจะต้องเข้าถึงขั้นปริยัติให้ถูกต้อง ทั้งอรรถะและพยัญชนะเสียก่อน แล้วจึงเป็นบันไดรองรับขึ้นไปถึงปฏิบัติ จึงจะถูกทางที่แท้จริงได้ เมื่อทั้ง ๒ ขั้น คือปริยัติ และปฏิบัติ ปรับปรุงได้ถูกต้องแล้ว ก็สามารถจะเข้าถึงขั้นปฏิเวธ อันเป็นจุดหมายปลายทางของชาวพุทธทั้งหลาย

          ขั้นปริยัติ  ก็ได้แก่ พระสูตร พระวินัย และพระปรมัตถ์

           ขั้นปฏิบัติ ก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

           ขั้นปฏิเวธ ก็ได้แก่ มรรค ผล และพระนิพพาน

            ส่วนในขั้นปริยัตินั้น จะต้องถึงด้วย ศรัทธาและศีล ขั้นปฏิบัติ จะต้องเข้าถึงด้วย ศรัทธาและสมาธิ ขั้นปฏิเวธจะต้องเข้าถึงด้วย ศรัทธาและปัญญา เพราะเราจะต้องไม่ลืมว่า ธรรมทั้ง ๙ หมวดนี้ จะต้องมีเหตุผลติดต่อเนื่องกัน สัมพันธ์กัน หาใช่ต่างคนต่างอยู่ไม่

           เพราะพระวินัยเป็นอารมณ์ของศีล พระสูตรเป็นอารมณ์ของสมาธิ พระปรมัตถ์เป็นอารมณ์ของปัญญา

           ฉะนั้น การปฏิบัติจึงเป็นความรู้ขั้น ๑ ที่จะเป็นเหตุให้ถึงความสมบูรณ์ในพระศาสนาทั้ง ๓ มีปริยัติเป็นต้น ดังนั้นต่อไปนี้

           ดิฉันจะนำท่านผู้อ่านให้ท่องเที่ยวไปในการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เฉพาะมหาสติปัฏฐาน ๔ ตามหลักฐานที่กล่าวไว้ในพระปริยัติธรรม แต่ในคำว่าปฏิบัติอันเป็นเครื่องดำเนินไป เพื่อถึงจุดหมายปลายทางของแต่ลัทธิหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมมีอยู่หลายนัยด้วยกัน แต่ในที่นี้จะพูดแต่เรื่องข้อปฏิบัติตามลัทธิของนัยพระพุทธศาสนาเท่านั้น

           ตามที่ได้ปรากฏกันอยู่ โดยมากในบรรดาที่เป็นชาวพุทธทั้งหลาย คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ หรือมรรค ๘ หรือศีล สมาธิ ปัญญา หรือ วิสุทธิ ๗ ธรรมเหล่านี้ ก็มีอัตถะเป็นอันเดียวกัน หรือจะย่อให้สั้นที่สุด ก็ได้ สมถะและวิปัสสนา ทั้ง ๒ นี้เอง ความจริง ธรรมทั้งหมดนี้ก็มาจากสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง

           ฉะนั้น ในที่นี้ จึงอธิบายแต่วิธีปฏิบัติในมหาสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น แต่ในการที่จะซาบซึ้งในคุณประโยชน์อันใหญ่ยิ่ง ในข้อปฏิบัติของมหาสติปัฏฐานได้ดีนั้น ก่อนอื่นเราต้องไม่ลืมว่า จุดหมายสำคัญที่มีประจำใจในสันดานของสัตว์โลกทั้งหลาย ที่มีอยู่ในสากลจักวาล หรือทั้งหมดใน ๓๑ ภูมินี้ คืออะไร สิ่งนั้นก็คือ ต้องการความสุข ไม่อยากประสบความทุกข์ หรืออยากจะพ้นทุกข์โดยประการทั้งปวงนั้นเอง ข้อนี้ก็คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธได้ว่า ต้องการเช่นนั้นอย่างแน่นอน แต่ทำไม่เล่า ทุกคนจึงต้องประสบสิ่งที่ตนไม่ต้องการนั้นเสมอ อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรามองเห็นความจริงในคำสอนของพระพุทธศาสนา ตามที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวใช่ตน มิได้อยู่ในอำนาจภายใต้การบังคับบัญชาของใคร และไม่เป็นไปตามใจใคร ก็เพราะธรรมทั้งหลายนั้นเป็นอนัตตานั่นเอง ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น จึงได้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของขันธ์ อายตนะ และธาตุเหล่านั้นเอง

           ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายที่ยังมีดวงตาปัญญาที่จะหยั่งลงเห็นเหตุปัจจัยของธรรมชาติเหล่านั้นได้ จึงต้องหมุนเวียนเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของธรรมเหล่านั้น เหตุนี้จึงต้องประสบสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาอยู่เสมอร่ำไป ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงให้ได้ ก็เพราะไม่รู้เหตุปัจจัยของธรรมที่จะทำให้พ้นจากสิ่งที่ตนไม่ปรารถนานั้นได้

           โดยเหตุดังกล่าวนี้เอง จึงได้มีคำกล่าวกันว่า พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว จึงทำให้บังเกิดสุขในโลก ก็เพราะเหตุว่า พระพุทธองค์เป็นผู้ทรงพระปรีชากว่าสัตว์โลกทั้งหลายภายใน ๓๑ ภูมินั้น ทรงรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง ว่ามิได้เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาของใคร หากแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมนั้น ๆ และพระองค์ทรงค้นพบเหตุปัจจัยของธรรมที่จะเป็นเครื่องนำออกให้พ้นจากสิ่งที่สัตว์โลกทั้งหลายไม่พึงปรารถนา และจะเป็นทางนำไปสู่จุดหมายปลายทาง หรือไปถึงที่สุดแห่งความปรารถนาที่ฝังอยู่ในจิตสันดานของสัตว์ทั้งหลายมานมนาน จนไม่สามารถที่จะคำนวณเวลาได้นั้นด้วยพระองค์เอง

            โดยเหตุนี้ พระมหาสติปัฏฐาน ๔ จึงได้ปรากฏขึ้นในโลกของมนุษย์และเทวดา ซึ่งไหลออกมาจากมหากรุณาธิคุณเป็นเหตุ

           ฉะนั้น ต่อไปนี้ ก็ขอจงดูเนื้อความ และพยายามทำความเข้าใจในพระมหาสติปัฏฐาน ตามที่กล่าวไว้ในพระบาลีพระมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติ ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้มองเห็นประโยชน์ในข้อที่จะปฏิบัติตามในพระมหาสติปัฏฐานนั่นเอง

            ในตอนนี้ ดิฉันนั้นตั้งใจว่า จะนำท่านเที่ยวไปในเรื่องปฏิบัติ ตามวิธีของมหาสติปัฏฐาน ๔ พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติ และอานิสงส์ตามที่ได้เรียนไว้แล้วในตอนต้นนั้น และในการที่ดิฉันได้ยกเอามหาสติปัฏฐานขึ้นมาให้ท่านพิจารณานั้น ก็เพื่อจะทำให้ท่านเข้าใจในหลักปฏิบัติที่สำคัญในพระพุทธศาสนาที่แน่นอน และถูกต้องด้วยเหตุผลเท่านั้น

           เพราะเวลานี้ ลัทธิและวิธีการปฏิบัติ ย่อมเกิดมากมายจนรู้สึกว่าสับสนอลหม่านที่สุด จนไม่สามารถจะรู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะโดยมากผู้ที่อยากได้บุญ อยากพ้นทุกข์ ไปสวรรค์นิพพานก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ในพระพุทธศาสนา แต่ไม่อยากจะศึกษาให้เข้าใจในเหตุผลด้วยตนเองให้พอสมควรเสียก่อน หรือบางท่านก็ไม่มีที่ศึกษา ชอบอาศัยคนอื่น ชอบเชื่อคนอื่น

           ความจริงในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ก็ได้ทรงกำชับเป็นนักหนาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเชื่อว่าผู้นี้เป็นอาจารย์ของเรา และอย่าเชื่อว่า ผู้นั้นเป็นผู้อยู่ป่าและบวชมานาน หรืออย่าเชื่อว่าท่านผู้นั้นมีคนนับถือมาก แม้ในบางครั้งถึงกับกำชับว่า ถึงแม้เขาจะบอกว่าเขาได้ยินได้ฟังพระองค์ทรงเทศนามาด้วยหูของเขาเอง เราก็อย่าไปเชื่อและอย่าเพิ่งไปปฏิเสธ ให้เอามาเทียบเคียงดูกับหลักฐานในทฤษฎีการปฏิบัติดูก่อน ถ้าถูกต้องตรงกัน จึงค่อยรับรองเชื่อถือว่าเขาพูดถูก

            เพราะเหตุที่พวกเราไม่พยายาม ที่จะปฏิบัติตามในพุทธสุภาษิตข้อนี้กันนั่นเอง ลัทธิต่าง ๆ จึงบังเกิดขึ้นในโลกขณะนี้เป็นอันมาก จนไม่สามารถจะนับได้ แต่ตรงกับข้อปฏิบัติของมหาสติปัฏฐานหรือไม่นั้น ดิฉันจะขอให้ท่านเป็นผู้ตัดสินเอง ในเมื่อท่านเข้าใจในการปฏิบัติของมหาสติปัฏฐานโดยถูกต้อง ด้วยเหตุผลโดยแท้จริงแล้ว โดยเหตุนี้ ดิฉันจึงได้ยกเอามหาสติปัฏฐานขึ้นมาให้ท่านพิจารณาเหตุผล พร้อมด้วยวิธีปฏิบัติ เพื่อจะได้เป็นการตัดสินได้ด้วยตนเองว่า ผิด หรือถูก โดยไม่ต้องอาศัยคนอื่น ซึ่งจะได้ตรงกับพระพุทธภาษิตว่า ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน

          ก่อนอื่นที่จะทราบเหตุผล และประโยชน์ในการปฏิบัติในมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น ดิฉันจะตั้งเป็นคำถามว่า เราจะปฏิบัติหรือเจริญมหาสติปัฏฐานนั้น เพื่อประโยชน์อะไรกัน เพราะคนโดยมากมักจะเข้าใจกันว่า ไม่สู้จะมีความจำเป็นอะไร ในการที่จะต้องไปทำการปฏิบัติให้เป็นการลำบากลำบนเปล่าๆ เท่าทีเขามีความเป็นอยู่ในเวลานี้ก็ดีอยู่แล้ว เพราะเขาก็ไม่ได้ไปทำบาปทำกรรมอะไร ฉะนั้น จึงมองไม่เห็นประโยชน์ในอันจะเกิดขึ้นจากการที่จะไปเจริญมหาสติปัฏฐาน.

          ฉะนั้น ในคำถามที่ว่า การเจริญมหาสติปัฏฐานนั้น จะได้ประโยชน์อะไร ?

          จึงขอตอบว่า ประโยชน์ที่ได้นั้นก็คือ จะได้มีสิ่งที่เราต้องการนั้น และก็เราต้องการอะไรเล่า ในเรื่องคำตอบข้อนี้ ดิฉันได้เคยเรียนไว้ในตอนต้นแล้ว ว่าทุกคนจะปฏิเสธไม่ได้ว่า สัตว์ทั้งมวล ต้องการความสุข และต้องการให้พ้นจากทุกข์ ก็คำว่าพ้นจากทุกข์นั้น จะพ้นจากอะไรเล่า ความทุกข์นั้นได้แก่อะไร ?

 คำว่า ทุกข์ ในทางพระพุทธศาสนาท่านวางไว้ มี ๑๒ กอง ขอโปรดพิจารณาดูว่า จะจริงหรือไม่ คือ :-

********๑.ชาติ    ความเกิด

********๒.ชรา    ความแก่

********๓.มรณะ  ความตาย

********๔.โสกะ      ความโศกเศร้า, เหือดแห้งใจ

*******๕.ปริเทวะ   ความบ่นเพ้อพิไรรำพัน

*******๖.ทุกขะ     ความไม่สบายกาย

******* ๗.โทมนัสส  ความไม่สบายใจ

******* ๘.อุปายาส  ความคับแค้นใจ

*******๙.อัปปิเยหิ สัมปโยโค  ความประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ

*******๑๐. ปิเยหิ วิปปโยโค    ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก

*******๑๑. ยัมปิฉัง น ลภติ     ความไม่สมปรารถนา

๑๒.สังขิเตน ปัญจุปาทา นักขันธา ทุกขา  โดยย่อแล้ว ความยึดในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

           ธรรมทั้ง ๑๒ กองนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นทุกข์ ทุกข์ทั้ง ๑๒ กองนี้ย่อลงก็ได้ ๒ อย่างคือ ได้แก่ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ๒ อย่างนี้เท่านั้น  และในทุกข์ทั้ง ๑๒ กองนี้ ท่านกล่าวว่า เกิดมีเพราะกิเลสเป็นเหตุ และดิฉันเชื่อแน่ว่าเราทุกคนคงไม่ต้องการจะพบทุกข์ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ และทุกคนก็ต้องการจะพ้นจากทุกข์เหล่านั้น แต่ทุกๆ คนก็ต้องพบ โดยไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ไม่มากก็ต้องน้อย ถ้าหากสังสารวัฏยังมีอยู่ เราก็คงได้พบมาแล้วตั้งหลายล้านครั้ง และยังจะต้องพบอีกต่อไปโดยไม่สามรถที่จะคำนวณได้ว่า จะพบอีกสักเท่าใด นอกจากเราจะได้เดินไปตามทาง ที่พระองค์ทรงประทานไว้ให้โดยถูกต้อง และมีอยู่ทางเดียวเท่านั้น ทางนั้นคือ มหาสติปัฏฐาน ๔

           โดยเหตุนี้ จึงเห็นว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะเหตุว่าการเจริญมหาสติปัฏฐานนั้น เป็นเหตุให้เราพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะในบาลียืนยันไว้ โปรดดูในบาลีว่า 

            เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ  วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย  ายสฺส อธิคมาย นิพพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺานา

          แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย หนทางอันเพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงเสียจากความโศก ความร่ำไห้รำพัน เพื่อความดับสิ้นไปแห่งทุกข์และโทมนัส และเพื่อบรรลุธรรมที่ถูก เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔

 สติปัฏฐาน ๔ คือ อะไร ?

           สติปัฏฐาน คืออาการที่สติระลึกอยู่เนืองๆ ในอารมณ์ของรูปนาม มีกาย เวทนา จิต และธรรม ด้วยกิจอันทำลายเสียซึ่งวิปลาสธรรม มีสุภวิปลาส สุขวิปลาส นิจวิปลาส และอัตตวิปลาส คือความสำคัญในรูปนามขันธ์ ๕ ว่างาม ว่าสุข ว่าเที่ยง ว่าเป็นตัวตน

            สติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นหนทางดำเนินไปสู่พระนิพพานทางเดียว พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาทั้งหลาย เมื่อได้เจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นปุพพภาคมรรคนี้ ย่อมจะได้รับอานิสงส์ ๗ ประการ คือ :-

********๑.  ทำให้บริสุทธิ์จากกิเลสในสันดานของตน

********๒.  ย่อมละความเศร้าโศกเสียได้

********๓. ย่อมละปริเทวะ คือการร้องไห้คร่ำครวญ

********๔. ละความทุกข์ทางกาย

********๕. ละโทมนัส คือความทุกข์ทางใจ

********๖. ให้ได้บรรลุอริยมรรค อริยผล

********๗. ให้ได้ตรัสรู้พระนิพพาน

              สติปัฏฐาน ๔ นี้ จึงเป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้พ้นจากทุกข์ทั้ง ๑๒ กอง มีชาติทุกข์ เป็นต้น

             ข้อปฏิบัตินี้ ไม่มีใครสามรถจะค้นพบได้เอง ต้องอาศัยปัญญา ขั้นสัพพัญญุตญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            สติปัฏฐาน ๔ นี้จึงเป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐที่จะพาให้ประสบอมตสุข ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่รู้จักตาย

            ขุมทรัพย์อันประเสริฐนี้ พระพุทธองค์มอบให้เป็นมรดกธรรมแก่พุทธบริษัททั้งหลาย เพื่อจักได้เป็นเครื่องนำทางไปสู่ความพ้นทุกข์ มีหลักฐานในสติปัฏฐานสูตรว่า ชาวกุรุ ได้รับมรดกธรรมนี้ไว้ใช้ประพฤติปฏิบัติกันเป็นประจำ แม้ทั้งบริษัท ๔ และทาสกรรมกรก็กล่าวถ้อยคำเกี่ยวกับสติปัฏฐานในที่ต่างๆ มีท่าน้ำ และที่ปั่นด้าย เป็นต้น ไม่มีการพูดกันในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์

            ถ้าหญิงคนใดถูกถามว่า “เธอใส่ใจในการอบรมสติปัฏฐานข้อไหน ?” หากตอบว่า “ไม่ได้ใส่ใจข้อไหนเลย” คนทั้งหลายก็จะติเตียนหญิงนั้นว่า “ชีวิตของเธอ เป็นชีวิตที่ไม่มีประโยชน์ ถึงเธอมีชีวิตอยู่ก็เหมือนกับตายไปแล้ว” และสอนว่า เธออย่าทำอย่างนี้อีก แล้วก็ให้เรียนสติปัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง

             ส่วนหญิงใดตอบว่า “ข้าพเจ้าเจริญสติปัฏฐานข้อโน้น” คนทั้งหลายก็ให้สาธุการแก่หญิงนั้นว่า สาธุ ! สาธุ ! แล้วสรรเสริญเธอ เป็นต้นว่า “ชีวิตของเธอ เป็นชีวิตที่ดี เธอถึงความเป็นมนุษย์แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นเพื่อเธอแล้ว

           ท่านล่ะคะ พระพุทธเจ้ามีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์สำหรับท่าน

          ดังนั้นดิฉันจึงขอเสนอแนะว่า ชีวิตของเราก็ล่วงกาลผ่านวัยมาหลายปีแล้ว ยังต้องการอะไรกันอีกล่ะคะ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ยังต้องการมันอีกหรือคะ ทั้งที่รู้ว่ามันให้ความสุขที่แท้จริงอะไรไม่ได้

           ดิฉันขอแนะนำให้ทำ กุศลในพระพุทธศาสนา คือศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นไปในอารมณ์ของสติปัฏฐาน ๔ นี่เท่านั้นค่ะ ที่จะให้ความสุขสันติที่แท้จริงได้

            เอานะคะ ปีใหม่นี้มา ตั้งต้นทำกุศลนี้กันเลยค่ะ แล้วก็ขอให้ทำต่อเนื่องกันอยู่เสมอๆ