**มรดกธรรมอันล้ำค่า

 

มรดกธรรมที่ล้ำค่า

โดย

อาจารย์แนบ มหานีรานนท์

นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾✾✾✾✾✾

 

สวัสดีคะ  ท่านที่เคารพ

         ความเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย นี้  เป็นสมบัติประจำตัวของสัตว์โลกทั้งหลายที่ได้รับมาจากอวิชชา และ ตัณหา  ผู้เป็นเจ้าของมรดก  ได้มอบให้แก่ ทายาท ผู้โง่เขลาเบาปัญญารับมาตั้งแต่ แรกเกิด โดยทั่วถึงกัน

          มรดกอันนี้นับเป็นมรดกอันแท้จริง  ที่มีความมั่นคงถาวรและแน่นอน  ไม่มีอำนาจใด ๆ ในโลกที่จะทำลายสมบัติอันเป็นมรดกตกทอดนี้ให้พินาศย่อยยับพ้นไปจากเราได้   ในเมื่อ เราเองยังมีความยินดีพอใจ   ยังต้องการที่จะใช้สมบัติอันนี้อยู่

          มรดกอันเป็นสมบัติชิ้นนี้แหละ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็น สัจจธรรม อันหนึ่ง  ซึ่งเรียกว่า ทุกขสัจจะ  เพราะเป็นของจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้

          แต่พวกเรา  ซึ่งเป็นทายาทผู้โง่เขลา  เบาปัญญาหาได้เอามรดกเหล่านี้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนได้แม้แต่น้อยหนึ่งไม่ และมิหนำซ้ำยังเอาไปใช้ให้เกิดโทษ นานาประการ มีการทำให้เศร้าโศกร่ำให้, ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ  ความคับแค้นใจ เป็นต้น  ที่พวกเราทั้งหลายได้รับกันอยู่ทุก ๆ วันนี้มิได้เว้นแต่ละวัน  เพราะเกิดจากการใช้มรดกไม่เป็นจึงต้องประสบทุกข์โทษภัยต่าง ๆ  อย่างที่เป็นอยู่กันทุกวันนี้

          ส่วนทายาทที่เขามีปัญญา เช่น พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นต้น  ท่านก็ได้รับมรดกคือ  ความเกิด แก่ เจ็บ ตายมาเช่นเดียวกันกับเราเหมือนกัน  แต่ท่านรู้จัก อ่านลายแทง เอามรดกอันนี้มาใช้ให้เกิดคุณประโยชน์อย่างยิ่งแก่ตัวของท่านได้ จนสามารถทำให้รอดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง  คือ ความเศร้าโศก  ร่ำไห้  ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นต้น  เพราะรู้จักใช้สมบัติ  คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้น  โดยใช้เป็นยวดยานพาหนะ ให้ท่านได้อาศัยโดยสารพาก้าวล่วงไปสู่ดินแดนอันเป็นสันติสุข คือ พระนิพพาน อันเป็นที่ดับเพลิงแห่งความทุกข์  ความกระหายทั้งหลาย ที่เผาลนจิตใจให้เราต้องเดือดร้อน กระสับกระส่ายกันอยู่ทุกวันนี้  จะได้เข้าถึงที่อันเยือกเย็นสนิทอยู่ตลอดชั่วนิจนิรันดร์  ไม่มีวันเสื่อมสลายได้

          เพราะอาศัยคุณ คือ ปัญญา ที่รู้จักการอ่านลายแทง  ตามกถาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงรู้จักการใช้สมบัติเหล่านั้นได้ถูกวิธี

          โดยเอามาใช้ให้เป็นที่ตั้งแห่งการพิจารณาตามนัยแห่ง  มหาสติปัฏฐาน จนเกิดญาณปัญญา ได้ดวงตาเห็นธรรมตามความเป็นจริงในสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของจริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งเหตุปัจจัย และเป็น อนัตตธรรม มิได้มีผู้ใดทำให้เกิดขึ้น  ทั้งไม่อยู่ในอำนาจของใคร และไม่มีใครที่จะมีอำนาจห้ามปรามมิให้เป็นไปเช่นนั้นได้

          ปัญญานั้นจะรู้แน่ชัดลงไปจนหมดความสงสัย  และละความยึดมั่นในเบญจขันธ์เสียได้ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดนิพพิทา  ความเบื่อหน่ายในเบญจขันธ์

          เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ก็คลายความกำหนัด  เมื่อคลายความกำหนัดแล้ว  จิตใจก็จะบริสุทธิ์เข้าถึงความหลุดพ้นจากทุกข์ได้  เมื่อพ้นจากทุกข์ได้แล้ว ก็ถึงแดนอันเกษมแห่งสันติสุข คือ พระนิพพาน  นั้นเอง

          ฉะนั้น  ความเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  ซึ่งเป็นสมบัติประจำอยู่ที่ตัวเรานี้  ท่านผู้มีปัญญาย่อมสามารถ  เอากลับมาทำให้เป็นประโยชน์อย่างไพศาลตามวิธีการที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า หนทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์นั้น มีอยู่ทางเดียว คือ มหาสติปัฏฐาน 4 เท่านั้น

          โดยเหตุนี้  ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้น  จึงถือว่า  เป็นมรดกอันล้ำค่าประเสริฐยิ่งของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ส่วน ผู้ไร้ปัญญาแล้ว ย่อมถือประโยชน์ในความเกิด แก่ เจ็บ  ตายนี้ไม่ได้  ซ้ำร้ายกลับทำให้เป็นของที่น่าหวาดกลัว  ไปเสียอีก

          ในเวลาที่ประสบ ความแก่  ความเจ็บ  ความตาย เข้าแล้ว เวลานั้นก็เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนกระวนกระวาย  มีความเศร้าโศก  ร่ำไห้ เป็นต้น

          จึงถือได้ว่า หากความ ไร้ปัญญา เกิดขึ้นในที่ใดแล้ว ย่อมไม่อาจถือเอาประโยชน์สุขในที่นั้นได้เลย

          ทำไม สัตว์ทั้งหลายส่วนมาก จึงไร้ปัญญา  เพราะไม่ได้สดับพระสัทธรรม  ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสงค์อะไร จึงทรงแสดงพระสัทธรรม? เพื่อประโยชน์อะไร? แก่ใคร?

          เพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลก ในหมู่มนุษย์ เทวดาและพรหม ผู้ยังบกพร่องในคุณธรรมระดับ โลกุตรธรรม  คือมรรค  ผล  นิพพาน อยู่ 

          ทำไมโลกุตรธรรม  จึงบกพร่องเสื่อมไปในหมู่มนุษย์, เทวดา และพรหมทั้งหลายเล่า ?

          เพราะไม่รู้ปรมัตถธรรม คือ จิต, เจตสิก, รูป และ นิพพาน

          เพราะเหตุใด  จึงไม่รู้ปรมัตถธรรม  ?

          เพราะ  อวิชชา  ปกปิดไว้  จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดในปรมัตถธรรม โดยสำคัญผิดคิดว่า  รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวเรา ด้วยอำนาจความเห็นผิดของทิฏฐิกิเลส ประเภท สักกายทิฏฐิ  จึงเกิดขึ้น   ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายต้องได้รับภัยจากสักกายทิฏฐิ

          สักกายทิฏฐิ  เป็นภัยอย่างไร ?  เป็นภัย  เพราะทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏทุกข์ จึงประสบกับความเกิด แก่ เจ็บ  ตาย  ความเศร้าโศก ร่ำไห้ กันเรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

          เพื่อให้พ้นจากวัฏฏภัย และได้รับผลจากโลกุตรธรรม  พระพุทธองค์ทรงประกาศสิกขา ๓ คือ ศีล, สมาธิ, ปัญญา เพราะจิตสันดานของสัตว์ทั้งหลาย  สั่งสมไว้ด้วยกิเลส  ทั้งกิเลสอย่างหยาบ (วีติกกมกิเลส)  กิเลสอย่างกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส)  กิเลสอย่างละเอียด(อนุสัยกิเลส)   จึงต้องละกิเลสเหล่านี้ด้วย  ศีล สมาธิ ปัญญา  ทรงเทศนาไว้เป็นคาถาว่า

 สีเลน  วีติกฺกมนฺตํ ปริยุฏฺฐํ  สมาธินา

 ปญฺญาย อนุสยํ ฉินฺทํ  คจฺเฉ นิพฺพานมุตฺตมํ

          “พึงทำลายเสียซึ่งกิเลสอย่างหยาบ ด้วยศีล,  กิเลสอย่างกลางด้วยสมาธิ กิเลสอย่างละเอียดด้วยปัญญา  จึงจะถึงซึ่งพระนิพพาน  อันอุดม”

          กิเลสธรรมนั้น  เป็นอย่างไร ?   มาจากใหน ?   และเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

          ธรรมชาติที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง  เร่าร้อน  มีความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  เป็นต้น  ชื่อว่า  กิเลส กิเลสธรรมเหล่านี้  ตามนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์  ยึดเอานามรูปขันธ์ ๕ ว่าเป็นอัตตาตัวเรา ด้วยอำนาจทิฏฐิกิเลส แล้วก็ปรารถนาความสุข ความสวย ด้วยอำนาจของโลภตัณหา  ทั้งปรารถนาให้ตัวเรามีความสุข  มีความสวยอยู่นานๆ  เหมือนต้องการความเที่ยง  ความมั่นคงยั่งยืน  ด้วยอำนาจของทิฏฐิกิเลส

          เมื่อรับอารมณ์ทางตา หู  จมูก  ลิ้น  กาย และใจ ถ้าอารมณ์เหล่านั้นเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ดี ก็จะเกิดความยินดีพอใจ  ด้วยอำนาจของโลภกิเลส

          ถ้าอารมณ์เหล่านั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่ดี  ก็จะเกิดความไม่พอใจ  เสียใจ  ด้วยอำนาจของโทสกิเลส

          ถ้าเมื่อรับอารมณ์แล้ว  ไม่ได้กำหนดรู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลายที่จิตเข้าไปรับรู้  ก็ด้วยอำนาจของ โมหกิเลส

          เพื่อระงับความยินดี, ยินร้าย  ที่จะเกิดขึ้นในขณะรับรู้อารมณ์ทั้ง ๖ พระองค์ทรงให้ปฏิบัติตามนัยของ  มหาสติปัฏฐาน  คือ ให้ปฏิบัติ ศีล  สมาธิ ปัญญา   โดยพร้อมเพรียงกันในอารมณ์ของสติปัฏฐาน ๔ มีกาย, เวทนา, จิตและธรรม  จะได้พ้นทุกข์ต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วได้

          พระพุทธองค์ทรงอุตสาหะ  สั่งสมบารมีมาถึง ๔ อสงไขยแสนมหากัป  ก็เพื่อประโยชน์ที่จะประกาศ  ปรมัตถธรรม  เพื่อการเจริญ สติปัฏฐาน  เพื่อสงเคราะห์แก่สัตว์โลกทั้งหลาย  ให้รอดพ้นจากวัฏฏภัยที่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในสังสารวัฏ  และเวียนเกิด   เวียนตาย  กันมาแล้ว  อย่างนับภพชาติ ไม่ถ้วน

          มหาสติปัฏฐานนี้ เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สัตว์พ้นจากทุกข์ภัยในสังสารวัฏได้จริง และเป็นข้อปฏิบัติที่จะละเสียซึ่งราคะ โทสะ โมหะ  อันเป็นต้นเหตุก่อทุกข์ให้แก่สัตว์ทั้งหลายได้จริง และเป็นคำสอนที่ต้องเกิดจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง

          นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ผู้ใดจะประกาศมหาสติปัฏฐานหาได้ไม่

          จึงนับว่ามหาสติปัฏฐาน ๔  เป็นมรดกอันประเสริฐสุด  ที่พระพุทธองค์มอบให้ไว้เป็นลายแทงเพื่อให้รู้จักใช้สมบัติ  คือความเกิด  แก่  เจ็บ  ตายนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยเอาสมบัตินั้นมาพิจารณาตามนัยของมหาสติปัฏฐาน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงชี้ประโยชน์  ตามนัยของพระบาลีว่า  เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวนํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อฏฺฐงฺคมาย ญายสฺสอธิคมาย  นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร  สติปฏฺฐานา” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางอันเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงเสียจากความเศร้าโศก ความร่ำไห้รำพัน  เพื่อความดับสิ้นไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมวิเศษที่ควรรู้ เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน  หนทางนั้นคือ สติปัฏฐาน  ๔

 

ความหมายของสติปัฏฐาน  ๔

          สติปัฏฐาน  คือ  อาการที่สติระลึกอยู่เนือง ๆ ในอารมณ์ของรูปนาม  มีกาย เวทนา จิต  และธรรม ด้วยกิจอันทำลายเสียซึ่งวิปลาสธรรม ๔  คือ สุภวิปลาส, สุขวิปลาส,  นิจวิปลาส,  และอัตตวิปลาส  ที่สำคัญผิดในรูปนามขันธ์ ๕ นั้น ว่างาม  ว่าสุข  ว่าเที่ยง และว่าเป็นตัวตน
          สติปัฏฐาน ๔ นี้  เป็นหนทางดำเนินไปสู่พระนิพพานทางเดียว พุทธบริษัท ๔ คือภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  ทั้งหลาย  เมื่อได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นปุพพภาคมรรคนี้ ย่อมจะได้รับอานิสงส์ ๗ ประการ  คือ :-

     ๑.  ทำให้บริสุทธิ์จากกิเลสในสันดานของตน

     ๒.  ย่อมละความเศร้าโศกเสียได้

     ๓.  ย่อมละปริเทวะ  คือร่ำไห้รำพัน

     ๔.  ละความทุกข์กาย

     ๕.  ละความโทมนัส คือทุกข์ทางใจ

     ๖.  ให้ได้อริยมรรค อริยผล

     ๗.  ให้ได้ตรัสรู้พระนิพพาน

          สติปัฏฐาน ๔ นี้ จึงนับว่า เป็นมรดกอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้ามอบให้เพื่อนำไปใช้แสวงหาอมตสุข  อันเป็นความสุขที่ไม่รู้จักตาย

          มรดกอันประเสริฐ  ที่พระพุทธองค์มอบไว้ให้เป็นมรดกธรรมแก่พุทธบริษัททั้งหลาย  เพื่อจักได้เป็นเครื่องนำทางไปสู่ความพ้นทุกข์

          ดังนั้น  จึงขอเสนอแนะว่า  “ชีวิตของเราที่ต้องเวียนเกิด  เวียนตายในวัฏฏทุกข์  อันหาเบื้องต้นมิได้นี้  ให้ประโยชน์อะไรแก่เรานักหนาหรือ?”

          เรายังต้องการ  ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข  บนความเกิด  ความแก่  ความเจ็บ ความตายกันอยู่อีกหรือ? ทั้งที่รู้ว่า มันให้ความสุขที่แท้จริงอะไรไม่ได้เลย

          จึงขอแนะนำให้ทำกุศล  ในพุทธศาสนาคือ  ศีล สมาธิ ปัญญา  ที่เป็นไปในอารมณ์ของสติปัฏฐาน ๔ นี้กันเถิด  จักได้รับสันติสุขที่แท้จริงได้

          สติปัฏฐาน ๔ นี้แหละคะ  เป็นมรดกธรรมที่ล้ำค่ายิ่ง

          โดยเหตุนี้ จึงควรถือว่า  สติปัฏฐาน ๔ นี้เป็นธรรมที่ควรรู้ และควรทำความเข้าใจให้ดียิ่ง  เพราะเป็นข้อปฏิบัติ ที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานอันเป็นจุดหมายปลายทางของพวกเรา  ที่เป็นพุทธบริษัทด้วยกัน  และยอมรับกันว่าเป็นธรรมที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา

          สมเด็จพระผู้มีพระภาค ถึงกับรับสั่งไว้ในสติปัฏฐาน สูตรว่า  จะเป็นมนุษย์  เทวดา  หรือพรหมก็ตาม  หากได้ปฏิบัติตามนัยสติปัฏฐาน ๔ นี้แล้วเราเรียกท่านผู้นั้นว่าเป็น  “ภิกขุ”

           สติปัฏฐาน  ๔ นี้   ในมหาปรินิพพานสูตร   มีพระบาลีแสดงไว้เป็น  ปัจฉิมพุทธพจน์  ว่า “หนฺททานิ  ภิกฺขเว   อามนฺตยามิ   โว  วยธมฺมา  สงฺขารา   อปฺปมาเทน  สมฺปาเทถ” แปลว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราตถาคตขอเตือนเธอทั้งหลายให้รู้ว่า รูปนามทั้งหลายที่เรียกว่า สังขาร นั้นมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังสัมมาปฏิบัติ  ให้ถึงพร้อมด้วย  ความไม่ประมาทเถิด”

 

✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾ ✾✾✾✾✾✾✾✾✾✾