อภิธัมมัตถสังคหะแปลไทย

คัมภีร์อภิธัมมัตสังคหะแปลไทย

จากต้นฉบับภาษาบาฬี รจนาโดย พระอนุรุทธมหาเถระ

แปลและอธิบายตามอรรถกถาฎีกาต่างๆ

โดยอาจารย์ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์

“คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ” เป็นคัมภีร์ประเภทอรรถกถาสังเขป โดยประมวลเนื้อหาหลักสำคัญของพระอภิธรรมปิฎกและอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎกไว้โดยย่อ เพื่อให้กุลบุตรเล่าเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น รจนาโดยพระอนุรุทธเถระ ชาวเมืองท่ากาเวริ เขตเมืองกัญจิปุระ แคว้นโจฬะ อินเดียใต้ ท่านพำนักอยู่ที่เมืองตัญโช แคว้นตัมพะ แถบอินเดียตอนใต้ ติดชายฝั่งมหาสมุทร บางคราวท่านก็ไปพำนักอยู่ที่วัดมหาเมฆวัน ใกล้เจดีย์โสวัณณมาลี เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา สันนิษฐานว่าท่านน่าจะเกิดในยุคก่อนรัชสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๖ – ๑๗๒๙) และนอกจากคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะแล้ว ท่านยังรจนาคัมภีร์ที่เกี่ยวกับการอธิบายพระอภิธรรมอีก ๒ คัมภีร์ คือ ปรมัตถวินิจฉัย และนามรูปปริจเฉท ไว้อีกด้วยเนื้อหาในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะนี้ ท่านไม่ได้เรียงตามพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ คือ ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐาน ท่านได้จัดลำดับใหม่โดยแบ่งออกเป็น ๔ หมวดหลัก ตามปรมัตถธรรม ๔ ประเภท คือ (๑) จิต สภาวะที่รู้อารมณ์ (๒) เจตสิก สภาวะที่เกิดร่วมกับจิต (๓) รูป สภาวะที่แตกสลาย (๔) นิพพาน สภาวะที่ออกจากตัณหา และโดยการแสดงเนื้อหาตามลำดับ

เนื้อหาทั้งหมดของคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะนี้ ออกเป็น ๙ ปริจเฉท (ตอน) ดังนี้

ปริจเฉทที่ ๑ จิตสังคหวิภาคแสดงเรื่องจิตปรมัตถ์ จำแนกจิตปรมัตถ์โดยความเป็น กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต เป็นต้น เมื่อรวบรวมจิตประเภทต่างๆ แล้ว ได้ ๘๙ หรือ ๑๒๑ อย่าง

ปริจเฉทที่ ๒ เจตสิกสังคหวิภาคแสดงเรื่องเจตสิกปรมัตถ์ เป็นธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นไปในการรับรู้อารมณ์ต่างๆ เช่น จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงและจิตมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาฯลฯ โดยมี ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา โลภะ โทสะ โมหะ สัทธา สติ และปัญญาเจตสิก เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวปรุงแต่ง จำแนกเป็นหมวดๆ ได้ ๓ หมวด รวบรวมสภาวลักษณะของเจตสิกแล้ว มี ๕๒ อย่าง พร้อมทั้งแสดงเจตสิกแต่ละอย่างเกิดในจิตดวงไหนได้บ้าง จิตแต่ละดวงนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมได้เท่าไร อะไรบ้าง

ปริจเฉทที่ ๓ ปกิณณกสังคหวิภาคแสดงการรวบรวมธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับจิตและเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม เมื่อรวมแล้วได้สภาวธรรม ๕๓ ประการ (จิต ๑ เจตสิก ๕๒) จำแนกออกเป็น ๖ หมวด ตามประเภทแห่ง เวทนา เหตุ กิจ ทวาร อารมณ์และวัตถุ

ปริจเฉทที่ ๔ วิถีสังคหวิภาคแสดงความเป็นไปของจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นตามลำดับในขณะที่รับอารมณ์ตามทวารต่างๆ ทั้งทางปัญจทวารและทางมโนทวาร ที่เป็นกามวิถีและอัปปนาวิถี เป็นต้น

ปริจเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหวิภาคแสดงเรื่องจิตที่พ้นวิถี ภูมิที่อยู่อาศัยของสัตว์ การปฏิสนธิจิตของสัตว์ในภูมิต่างๆ แม้รูปปฏิสนธิของอสัญญสัตตพรหม ตลอดจนแสดงถึงเรื่องกรรมของสัตว์ที่จะให้วิบากกรรมเกิดขึ้นในภูมิต่างๆ และสัตว์ทั้งหลายที่ใกล้จะตาย ต้องได้รับอารมณ์จากกรรมของตนไปปฏิสนธิใหม่ในภพหน้า

ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาคแสดงเรื่องรูปปรมัตถ์ ๒๘ อย่าง และนิพพานปรมัตถ์

๑) รูปปรมัตถ์ แสดงเรื่องรูปปรมัตถ์ตามสภาวะลักษณะ ๒๘ อย่าง พร้อมทั้งแสดงตามนัยเอกมาติกา ทุกมาติกา แสดงสมุฏฐานที่เป็นเหตุให้รูปเกิดขึ้น แสดงจำนวนการเกิดดับของรูปธรรม ตามนัยแห่งภูมิ ตามนัยแห่งกาล ตามนัยแห่งกำเนิดทั้ง ๔

๒) นิพพานปรมัตถ์ เป็นอารมณ์ของโลกุตตรจิต ไม่มีความเกิดและความดับ พ้นจากกาลทั้ง ๓ คือ ปัจจุบัน อดีต และอนาคต เรียกว่า กาลวิมุติ พ้นจากความเป็นขันธ์ทั้ง ๕ เรียกว่า ขันธวิมุติ พ้นจากการปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔ คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร เรียกว่า อสังขตธรรมนิพพานเป็นธรรมที่ประเสริฐ เลิศกว่าธรรมทั้งปวงเพราะเป็นธรรมที่ดับทุกข์และกิเลส

ปริจเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาคแสดงสภาวธรรมทั้งหลายที่สงเคราะห์เข้ากันได้เป็นหมวดเป็นหมู่ คือหมวดอกุศลสังคหะ มิสสกสังคหะ โพธิปักขิยสังคหะ และสงเคราะห์ปรมัตถธรรมทั้งหมดเป็น ๕ กอง มี กองขันธ์ อุปาทานักขันธ์ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ และอริยสัจ ๔ รวมความแล้ว แสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อทุกข์และธรรมที่พ้นทุกข์

ปริจเฉทที่ ๘ ปัจจยสังคหวิภาค แสดงสภาวธรรมที่เป็นปัจจัยอุปการะกัน อาศัยกันเกิดขึ้นติดต่อเนื่องกัน ทำให้นามรูปเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏหาที่สิ้นสุดมิได้ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท และแสดงปัจจัยให้พิสดารเป็น ๒๔ ปัจจัย เรียก ปัฏฐานนัย หรือ ปัจจัย ๒๔ ตลอดจนบัญญัติธรรม

ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค แสดงการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน

อนึ่ง เนื้อหาทั้งหมดของคัมภีร์นี้ ครอบคลุมเนื้อหาสาระส่วนใหญ่ของพระอภิธรรมปิฎกและคำอธิบายจากคัมภีร์อรรถกถาบ้าง กล่าวคือ ปริจเฉทที่ ๑ และ ๒ ซึ่งกล่าวถึงจิตและเจตสิก เป็นการสรุปเนื้อหาจากธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์การกล่าวถึงภูมิ ๓๑ อายุของเหล่าสัตว์ และกรรมที่ส่งผลให้ไปเกิดในแต่ละภูมิ ในปริจเฉทที่ ๕ ก็ปรากฏในวิภังคปกรณ์ ธัมมหทยวิภังค์ แม้ข้อความอื่นๆ ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์นี้ก็ปรากฏทั่วไปในพระอภิธรรมปิฎกและอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก (ดูเพิ่มเติมในหนังสืออภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนี คำนำของผู้แปล หน้า [๑๕]-[๒๑])


คำชี้แจงในการอธิบายประกอบการแปลของผู้แปล

สำหรับคำพูดในอภิธัมมัตถสังคหะนั้น กระผมได้แปลจากภาคภาษาบาฬีเป็นภาษาไทยคำต่อคำ เท่าที่ปรากฏในปกรณ์นี้ ทั้งนี้เพื่อรักษาคำพูดที่เป็นต้นแบบของท่านไว้ ส่วนคำอธิบาย เมื่อต้องรวบรวมมาจากปกรณ์ฎีกา หรือแม้จากปกรณ์บาฬี อรรถกถาต่างๆ หลายๆ ปกรณ์ ดังกล่าวนั้น ก็ไม่อาจแสดงคำแปลคำต่อคำอย่างนั้นได้ ได้แต่แปลถอดเอาแต่ความมารวบรวมเป็นคำอธิบายด้วยคำพูดของตนอย่างเดียว เมื่อรวมกันเสียแล้วอย่างนี้ ก็ไม่อาจระบุหลักฐานที่ไปที่มาของคำอธิบายนั้นๆ ตรงๆ ได้ ทั้งๆ ที่มิได้เป็นความเห็นส่วนตนเลยก็ตาม ถ้าท่านผู้ใดสงสัยใคร่จะทราบถึงหลักฐานที่ไปที่มาแห่งคำอธิบายตอนนั้น แล้วสอบถามมา กระผมยินดีที่จะแนะนำหลักฐานให้ค้นดูเอง เป็นรายๆ ไป [คำนำ หน้า (๔) ของทุกเล่ม ตั้งแต่ อภิธัมมัตถสังคหะและคำอธิบาย ปริจเฉทที่ ๑-๙]