**กังขาวิตรณวิสุทธิ
กังขาวิตรณวิสุทธิ
โดย
อาจารย์แนบ มหานีรานนท์
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
สวัสดีค่ะ ท่านที่เคารพ
ต่อไปนี้เราก็จะพูดกันเรื่องวิสุทธินะคะ ตามที่ได้อธิบายมาแล้วต่อๆ กันมา ที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น ถึง ทิฏฐิวิสุทธิ
ทิฏฐิวิสุทธินี้ ก็ได้อธิบายกันมาแล้วว่าอะไรนะคะ คือ วิสุทธิแต่ละอันๆ นั้นนี่น่ะ ท่านต้องพยายามเข้าใจด้วยว่า วิสุทธิอันนั้นน่ะ หมดจดจากกิเลสอะไร? แต่ละอันนั้นนะคะ เช่นอย่างว่า “ศีลวิสุทธิ” หมดจดจากกิเลสอะไร? จิตตวิสุทธิ หมดจดจากกิเลสอะไร? ทิฏฐิวิสุทธิ หมดจดจากกิเลสอะไร? เพราะวิสุทธิแต่ละอันๆ นี่น่ะ ไม่ใช่ว่าหมดกิเลสอย่างเดียว แล้วจะเป็นวิสุทธิหมดทั้ง ๗
เพราะว่ากิเลสนั้นมีหลายอย่างนะคะ ผู้ทำความเพียรขั้นต้นจะหมดจากกิเลสอะไร ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ หรือต่อๆ ไปในวิสุทธิอันหนึ่งๆ ต้องหมดจากความเข้าใจผิด หรือหมดจากกิเลสอย่างนั้นๆ
คราวที่แล้วมาถึงทิฏฐิวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธินี่หมดจาก กิเลสอะไร? ก็พิจารณาตามปัญญา นามรูปปริจเฉทญาณ มีความรู้เข้าใจว่า สัตว์บุคคลไม่มี ตัวตนไม่มี, มีแต่ นาม กับ รูป เท่านั้น ความสำคัญผิดว่า เป็นตัว เป็นตน เป็นสัตว์บุคคล เป็นผู้หญิง ผู้ชายตามบัญญัตินี่ไม่มี นี่ทิฏฐิวิสุทธินี่หมดจดอย่างนี้นะคะ
รูปก็ไม่ใช่นาม นามก็ไม่ใช่รูป รูปแต่ละรูปก็ไม่ใช่อันเดียวกัน นามแต่ละนามก็ไม่ใช่อันเดียวกัน นี่หมดจดบริสุทธิ์จากความเข้าใจผิด ตามความเป็นจริงอย่างนี้
ทิฏฐิวิสุทธินี่เป็นวิสุทธิของปัญญาขั้นต้นได้อธิบายจบไปแล้วว่า “เห็นโลกนี้ทั้งโลกมีแต่นามกับรูปเท่านั้น” คือว่า บริสุทธิ์หมดจดจากความเข้าใจผิดว่า เป็นตัว เป็นตน มีตัว มีตน ในอัตตานุทิฏฐิ หรือสักกายทิฏฐิ ๒๐ อย่างนั่นแหละ ที่เกิดขึ้นด้วยทิฏฐิความเข้าใจผิด อันนั้นหมดไม่มีเหลืออยู่ใน วิสุทธิอันนี้ หรือเกิดขึ้นไม่ได้ในวิสุทธิอันนี้
นี่แหละค่ะ ทิฏวิฐิสุทธิ ก็จบไปแล้ว
วันนี้ขึ้นวิสุทธิที่ ๔ คือ กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นวิสุทธิของปัญญาขั้นที่ ๒ แต่ถ้านับตามวิสุทธิแล้วก็เป็นวิสุทธิที่ ๔ แต่ถ้านับในวิสุทธิของปัญญาก็เป็นขั้นที่ ๒
ในวิสุทธิของปัญญานี้มี ๕ วิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ นี่ก็เป็นเรื่องของวิสุทธิในปัญญา ถ้านับโดยวิสุทธิของปัญญาใน ๕ ขั้นนั้น กังขาวิตรณวิสุทธิ นี้เป็นวิสุทธิที่ ๒ ของปัญญา และเป็นวิสุทธิที่ ๔ ของวิสุทธิ ๗
ฉะนั้น วิสุทธิที่จะพูดกันในวันนี้ ก็คือ กังขาวิตรณวิสุทธิ ส่วนวิสุทธิที่พูดไปแล้ว ๓ วิสุทธินั้นท่านก็ยังจำได้ หรือจะจำไม่ได้ว่า อะไรบ้างก็ยังไม่ทราบแน่นะคะ คือ ครั้งที่ ๑ พูดถึง ศีลวิสุทธิ ครั้งที่ ๒ พูดถึง จิตตวิสุทธิ และครั้งที่ ๓ พูดถึงเรื่อง ทิฏฐิวิสุทธิ นี่จบไปแล้ว ทั้ง ๓ วิสุทธินะคะ
วันนี้ก็จะพูดถึงเรื่องกังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นวิสุทธิที่ ๔ แล้วก็ขอให้เข้าใจด้วยว่า วิสุทธิแต่ละอันๆต้องเป็นปัจจัย ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ว่ามีขึ้นแต่ลำพังอันเดียว อันนี้น่ะ ควรทราบ ที่ให้ควรทราบอันนี้น่ะมีประโยชน์? ก็จะได้รู้ว่า เพราะธรรมทั้งหลายย่อมมีเหตุเป็นแดนเกิด และจะได้รู้ว่า ธรรมอันนั้นมาจากเหตุอะไรแน่นอนนะคะ
ถึงแม้ว่าจะได้ผลว่า เป็นอย่างนั้นเหมือนกันก็จริง แต่ถ้าเหตุไม่เหมือนกันไม่ได้ วิสุทธินะคะเช่นอย่างว่า :-
ผู้ที่เข้าทำความสงบ เขาทำสมาธิ หรือทำฌานกิเลสก็ไม่มีในที่นี้เหมือนกัน บริสุทธิ์เหมือนกันแต่ถ้าหากว่าเขาเข้าใจผิดว่า ผลที่เขาได้นี้เกิดจากวิปัสสนา ไม่มีกิเลสเลย เขาเข้าไปถึงธรรมที่หมดจดจากกิเลส คือวิสุทธิอย่างนี้ อันนี้แหละเราก็จะรู้ว่าวิสุทธิที่เขาทำนี่น่ะ อยู่ในวิสุทธิอันไหน? เข้าถึงขั้นปัญญาหรือยัง นามรูปปริจเฉทญาณได้หรือยัง?
ถ้าหากว่า เป็นทิฎฐิวิสุทธิแล้ว จะต้องได้มาจากนามรูปปริจเฉทญาณ ถ้าใครเข้าถึงวิสุทธินี้ เหตุของวิสุทธิ นี้ต้องมาจากนามรูปปริจเฉทญาณ
ถ้าผู้นั้นไม่ได้ นามรูปปริเฉทญาณยังไม่เกิดขึ้นแก่เขา ปัญญานี้ยังไม่เกิดขึ้นละก็ ทิฎฐิวิสุทธิอันนี้ก็มีไม่ได้ นี่เราก็ต้องเข้าใจนะคะ
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจว่า วิสุทธินี้นะเป็นเหตุ เป็นผลซึ่งกันและกัน แล้วเราก็จะได้รู้เหตุและผลนั้นได้ถูกต้องด้วย
เมื่อพูดถึงทิฏฐิวิสุทธิที่แล้วมา ซึ่งหมายถึงว่ามีความเห็นที่บริสุทธิ์ถูกต้อง เป็นความเห็นที่บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับที่กิเลสความเห็นผิดนั้น จะเข้าไปอาศัยได้ ความรู้อันนั้น ความเข้าใจอันนั้นกิเลสอาศัยไม่ได้ เป็นความรู้ที่ทำให้กิเลสหมดไป หรือทำลายกิเลสให้หมดไป
การทำลายกิเลสนี้ก็มี ๓ ขั้น จะทำลายกิเลสให้หมดไปนี้ ทำลายด้วย ตทังคะ หรือ วิกขัมภนะหรือสมุจเฉท นี่ท่านก็ต้องรู้ด้วย คำว่า “วิสุทธิ” หมดจดจากกิเลส ก็ด้วยปัญญานี่ทำลายกิเลสให้หมด จึงเข้าถึงวิสุทธิอันนี้
นี่ก็ต้องรู้ว่า กิเลสที่ทำลายนี้ เป็น ตทังคะ ไม่ใช่สมุจเฉทนะคะ เพราะว่า โลกียปัญญา คือปัญญานี้ยังเป็นโลกีย์อยู่
ถ้าปัญญาใดที่ยังเป็นโลกีย์อยู่ละก็ ปัญญานั้นต้องทำลายกิเลสเป็นตทังคะ ไม่ใช่สมุจเฉท จะเป็น สมุจเฉทได้ต้องถึงโลกุตระ ถ้าพูดถึงวิสุทธิแล้วต้องถึงญาณทัสสนวิสุทธิ คือ วิสุทธิที่ ๗ นั่นถึงจะทำลายกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ ถ้ายังไม่ถึงแล้วยังเป็นโลกีย์อยู่ ก็ทำลายกิเลสได้เพียงตทังคประหารเท่านั้น
ปัญญาที่เป็นโลกีย์ในวิสุทธิตลอดมา ตั้งแต่วิสุทธิที่ ๑ จนถึงที่ ๖ เป็นโลกียปัญญา, ธรรมทั้งหมดนี่เป็นโลกีย์ ทั้งนั้น
คำว่า “โลกีย์” นั้น หมายความว่าอย่างไร? คำว่า โลกุตระ หมายความว่าอย่างไร? คือ หมายถึงว่า ปัญญาที่ยังมีนามรูป หรือสังขาร หรือมีขันธ์เป็นต้น เป็นอารมณ์อยู่ละก็ ปัญญาอันนั้นเป็นโลกียปัญญา ความรู้อันนั้นเป็นโลกีย์ ไม่ใช่โลกุตระ
ถ้าโลกุตระต้องมี นิพพาน เป็นอารมณ์ ปัญญาใดที่เกิดขึ้นโดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ปัญญานั้นจึงเป็น โลกุตระ ได้
เพระฉะนั้น ให้เข้าใจคำว่า โลกีย์ และ โลกุตระ ถ้าหากว่า จิตก็ตาม ปัญญาก็ตาม ถ้ายังมีโลกียธรรม คือ นามกับรูปนี้เป็นอารมณ์อยู่ ปัญญานั้นทั้งหมด ต้องเป็นโลกีย์! เป็นโลกุตระไม่ได้ แม้จะเกิดขึ้นกับพระอรหันต์ก็ตาม พระอรหันต์นั้นเว้นแต่ท่านจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ ในขณะใดที่ท่านมีนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นแหละปัญญาโลกุตรหรือจิตที่เป็นโลกุตระของท่านจึงเกิดขึ้นได้ถึงหมดกิเลสแล้วก็ตาม
แต่ในระหว่างที่รับอารมณ์ นอกจากนั้นแล้วพระอรหันต์นั่นเอง ท่านก็ยังมีโลกียธรรมเป็นอารมณ์อยู่เสมอเหมือนกัน
เพราะพระอรหันต์ท่านก็ยังมีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส เป็นอารมณ์อยู่
ทำไมจะมีนิพพานเป็นอารมณ์เสมอไม่ได้หรือ?
พระอรหันต์ จะมีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่เสมอ ได้ไหม? “ไม่ได้!” เพราะเหตุอะไร? ที่ตอบว่า ไม่ได้! นั่นถูกละค่ะ
แต่เพราะเหตุใดถึงไม่ได้?
เพราะธรรมดาของจิต มีอารมณ์ทั้ง ๖ ให้ต้องรับอยู่เสมอใช่ไหม? “นิพพาน” นี่เฉพาะมโนทวารๆ เดียวเท่านั้นแหละ ใช่ไหมล่ะ? จิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ นี่ต้องมีเฉพาะมโนทวารทางเดียว จะรับทางตาไม่ได้ ทางหูไม่ได้ ทางลิ้นไม่ได้ ทางกายไม่ได้ รับไม่ได้เลย ที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ ต้องอยู่เฉพาะมโนทวารทางเดียวเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วจะต้องมีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่เสมอใช่ไหมล่ะ? ก็แปลว่าตาก็ไม่เห็น หูก็ไม่ได้ยิน จมูกก็ไม่ได้กลิ่น ลิ้นก็ไม่รู้รส กายก็ไม่ได้ถูกต้องซิ อย่างนี้จะเป็นไปได้ไหม? เพราะพระอรหันต์ท่านก็มีทุกอย่างใช่ไหม?
ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส ไปบิณฑบาต เทศนาโปรด แก้ปัญหา ตอบปัญหาทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านก็ทำได้หมดทั้ง ๖ ทวาร จิตท่านก็รับอารมณ์ได้
เพราะฉะนั้น จะมีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่เสมอไปได้อย่างไร? ถ้าพระอรหันต์มีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่เสมอ แสดงเทศนาได้ไหม? ไม่ได้! สั่งสอนคนโปรดใครได้ไหม? ไม่ได้! นี่ ฉะนั้น ขอให้เข้าใจนะคะ ที่ไม่ได้เพราะเหตุนี้
ถ้าเราไม่รู้เหตุผลอย่างนี้ ก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว จะต้องมีนิพพานอยู่เรื่อยไปอาจจะเข้าใจอย่างนี้ก็ได้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็ผิด
แต่ว่า พระนิพพานนั้นมีอยู่เรื่อยไปไหม? มี! นิพพานมีอยู่เรื่อย แต่ว่า เป็นอารมณ์อยู่เรื่อยได้ไหม? ไม่ได้!
เพราะฉะนั้น คำว่า “นิพพาน กับมีนิพพานเป็นอารมณ์” ต่างกัน ทำไมพระอรหันต์จึงมีนิพพานอยู่เรื่อย แล้วทำไมไม่มีอารมณ์เป็นนิพพานอยู่เรื่อย เพราะเหตุใด?
คำว่า “พระอรหันต์” นี่เป็นผู้ถึงนิพพานแล้ว ใช่ไหม? ที่นี้อะไรนิพพาน? กิเลสนิพพานใช่ไหม ?
พระอรหันต์นั้นกิเลสของท่านถึงนิพพานแล้ว ถึงอยู่เรื่อยไหม? ถึงอยู่เสมอไหม? เสมอเลยตลอดกัปกัลป์พุทธันดร ไม่มีละกิเลสอันที่ถึงนิพพานแล้ว ดับไปแล้วน่ะ ไม่มีจะกลับมาเกิดกับท่านอีก
เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีความดับกิเลสอยู่เสมอใช่ไหม? ใช่หรือไม่ใช่ ? กิเลสของท่านดับอยู่เสมอใช่ไหม? ไม่ใช่หรือเห็นสั่นหัวกัน,แสดงว่าไม่ใช่?
ฉะนั้น พระอรหันต์เกิด กิเลสจะต้องมีซีอย่างนั้น พระอรหันต์นี่ท่านดับกิเลสเป็นสมุจเฉทแล้ว มีนิพพานอยู่เสมอ เป็นผู้ถึงนิพพานแล้วถึงที่ดับกิเลสแล้ว อยู่เสมอตลอดไป แต่ว่าจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้หรือไม่ นั่นแล้วแต่ขณะจิตหนึ่งๆ เหมือนอย่างเรา ความโลภ ความโกรธของเรานี่มีอยู่เรื่อย มีอยู่เสมอใช่ไหม? แต่ว่าเราเอาความโลภเป็นอารมณ์อยู่เสมอไหม? เอาความโกรธเป็นอารมณ์อยู่เสมอไหม? ทาน ศีล ภาวนาก็มีใช่ไหมคะ เราเคยมี แต่ว่าเอามาเป็นอารมณ์อยู่เสมอไหม? นี่ใช่ไหมล่ะ ไม่เสมอ! ขณะใดมีศีลานุสสติ พิจารณาศีล สมาทานศีลอย่างนี้ เราก็มีศีล เป็นอารมณ์อยู่ ขณะใดที่เราพิจารณาองค์ฌาน ปัจจเวกขณะเราก็มีฌานเป็นอารมณ์อยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะมีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่เสมอ
แต่ว่านิพพานนั้นน่ะ ได้เป็นผู้ถึงแล้วถึงกิเลสนิพพานแล้วอยู่เสมอตลอดกาล
นี่นะคะ จะต้องเข้าใจด้วย คำว่ามีนิพพานน่ะ พระอรหันต์มีนิพพานอยู่เสมอไหม? ถ้าเขาถามอย่างนี้ เราต้องตอบว่า “มี” ถ้าเขาถามว่าพระอรหันต์มีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่เสมอไหม? ไม่มีเสมอ ต้องเป็นบางครั้ง
พระอรหันต์ จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ในเวลาไหน? ตอบได้ไหมคะ? ต้องเวลาที่เข้าผลสมาบัติ พระอรหันต์ที่เข้าผลสมาบัติได้น่ะ ก็จะมีนิพพานเป็นอารมณ์อยู่ในขณะนั้น เข้าผลสมาบัติอยู่ ๗ วัน ก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ อยู่ตลอด ๗ วันอย่างนี้ ท่านมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันต์ผู้ที่มีอภิญญา ขณะที่พิจารณา มรรค ผล นิพพาน ของคนอื่นได้ว่าท่านผู้นี้เป็นผู้เข้าถึงพระนิพพานหรือยัง กิเลสอะไรถึงนิพพานไปแล้ว ถึงความดับกิเลสอะไรไปอย่างนี้ท่านก็รู้ หรือ?
ในปัจจเวกขณะ นี่ ก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ได้เหมือนกัน พระอริยะทุกท่านก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ เพราะปัจจเวกนี้เป็นโลกียจิต แต่ขณะนั้นก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ แต่ว่าต่างกัน เพราะว่า จิตนั้นไม่เรียกว่า “โลกุตรจิต” ขณะที่ทำปัจจเวกเป็นต้น หรือพิจารณาด้วยอภิญญาจิตที่พิจารณามรรค ผล นิพพาน ของคนอื่น นี่ก็เป็นโลกียจิตไม่ใช่เป็นโลกุตรจิต
ทิฎฐิวิสุทธิที่พูดมาแล้ว อันหมายถึงว่า รู้อะไร? เห็นอะไร? อันนี้ก็ได้อธิบายมาแล้วนะคะก็ขอย้ำอีกทีว่า เห็นนาม เห็นรูป ความเข้าใจว่านามรูปอันนี้ คือ ที่รู้ว่า มีแต่นาม แต่รูปเท่านั้นเข้าใจนาม เข้าใจรูปได้, แล้วก็ไม่ได้เห็นด้วย การฟัง ไม่ใช่เห็นด้วย การคิดนึก ต้องเห็นด้วยการปฏิบัติวิปัสสนา ต้องเห็นด้วยภาวนาปัญญา นี่เป็นเรื่องของปฏิบัติ กำหนดนามและรูป จนกระทั่งได้รู้เห็นนามและรูปนั้นชัดเจนแล้ว แจ่มแจ้งแล้ว
กำหนดนามรูปนี้ ต้องมีความเข้าใจด้วยว่ากำหนดอย่างไร? อันนี้ท่านผู้ฟังก็คงทราบแล้ว เพราะว่าได้อธิบายกันมาแล้วนะคะว่า กำหนดอย่างไร? คือ กำหนดนามรูป ตามภูมิของวิปัสสนานั่นเอง กำหนดอย่างไร? กำหนดเป็นนาม เป็นรูปบ้าง กำหนดนามรูปเป็นขันธ์บ้าง กำหนดนามรูปเป็นอายตนะบ้าง กำหนดนามรูปเป็นธาตุบ้าง กำหนดนามรูปเป็นอินทรีย์บ้าง กำหนดนามรูปเป็นปฏิจจสมุปบาทบ้าง กำหนดนามรูปเป็นอริยสัจบ้าง ตามภูมิของวิปัสสนา ๖ ภูมินั่นแหละ นี่เป็นการปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้นามรูป ตามภูมิอย่างนี้นะค่ะ กำหนดจนเห็นเป็นนาม เป็นรูป ไปหมดทุกทวาร มีแต่นามกับรูป ไม่ใช่เรา อย่างนี้ก็เรียกว่า “นามรูปปริเฉทญาณ”
แล้วก็ในวิปัสสนาภูมินั้น ท่านทราบแล้วใช่ไหมคะเมื่อเรากำหนดรู้นามรูป คือ รู้จักแต่นามรูปเท่านั้นแหละ ก็ชื่อว่า รู้ทั้ง ๖ ภูมิเลย คือชื่อว่ารู้ขันธ์ด้วย รู้อายตนะ รู้ธาตุด้วย รู้อินทรีย์ด้วย รู้ปฏิจจสมุปบาทด้วย รู้อริยสัจด้วย ทั้งหมดนี่แหละค่ะ ก็ได้แก่ นามรูปเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น ก็ชื่อว่า รู้ทั้งหมดเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น รู้แต่นามกับรูป ๒ อย่างนี้ ก็ชื่อว่า รู้ในภูมิทั้ง ๖ เหมือนกัน ฉะนั้น ผู้มีปัญญาน้อย จะทำวิปัสสนาก็รู้แต่เพียงว่า นาม กับ รูป ก็พอแล้ว
ส่วนการกำหนดตามวิปัสสนาภูมินั้น ก็แล้วแต่อัธยาศัยปัญญาบารมีของใคร ศึกษามามากหรือน้อย มีความเข้าใจมามากหรือน้อย ถ้ามีความเข้าใจน้อย ก็กำหนดโดยย่อ ว่าอะไรเป็น นาม อะไรเป็น รูป เท่านั้นก็พอ
นาม ก็คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ธรรมชาติใดที่น้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้นแหละเป็น นาม อย่างนี้ก็ฟังยากนะ
สมมุติว่า “ต้นไม้” ต้นไม้นี่เป็นรูปหรือเป็นนาม? ก็เป็น รูป ใช่ไหมคะ
คราวนี้สมมุติ “คน” รูปร่างของคนนี่เป็นรูปชื่อของคนนี่เป็น นาม นี่ไม่ใช่อย่างนี้นะค่ะ นาม ในที่นี้หมายถึง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นามในที่นี้หมายถึงอย่างนี้ สำหรับจะนำมากำหนดทำวิปัสสนา
ส่วน รูป นั้นน่ะ คือ ธรรมชาติที่ต้องมีความเสื่อมสลายด้วยเย็นและร้อน ธรรมชาตินี้เป็นรูป ถ้าโดยย่อก็ถือเอาอย่างนี้
ที่เรียกว่า “รูป” เพราะเป็นธรรมชาติที่ต้องฉิบหายด้วยเย็นและร้อน เกิดจากมหาภูตรูป
ส่วนนามนี่เกิดจากมหาภูตรูปไหม? นามนี่เกิดจากเหตุปัจจัย หมายความว่า แม้ไม่มีมหาภูตรูปเลย นามก็เกิดได้ แต่ว่านามที่ต้องอาศัยรูปก็มี นามที่ไม่ต้องอาศัยรูปก็มี นามก็เกิดได้เหมือนกัน
ทีนี้ นามนี่ฉิบหายด้วยปัจจัย ไม่ใช่ว่าเพราะเย็นและร้อน แต่ส่วนรูปนี่ต้องฉิบหายด้วยเย็นและร้อน รูปเย็นและร้อนนี่ก็เกิดจากเหตุปัจจัยเหมือนกัน แต่ปัจจัยอื่น ที่ทำให้รูปฉิบหายนั้น ไม่ปรากฏชัดเหมือนเย็นและร้อน
เราลองระลึกถึงต้นไม้นี่ เกิดขึ้นด้วย อุตุ ใช่ไหม? อุตุ คือ ธาตุไฟ เย็นและร้อน ๒ อย่าง
อุตุนี่น่ะ ไม่ใช่เย็นและก็ไม่ใช่ร้อน เย็นทีเดียวต้นไม้เกิดได้ไหม? สัตว์ที่อาศัยอุตุก็เกิดไม่ได้ คนเรานี่บางทีก็อาศัยอุตุ นี่เราพูดเฉพาะรูป รูปทั้งหมดถึงแม้รูปคนนี่ก็ต้องอาศัยอุตุเหมือนกัน
ถ้าเย็นอย่างเดียวนะ เย็นเฉียบเหมือนกับน้ำแข็งอย่างนี้, สถานที่ที่เย็นอย่างน้ำแข็ง หรือในน้ำแข็งนี่ เกิดได้ไหม ต้นไม้? ไม่ได้ใช่ไหม? หรืออย่างในเปลวไฟนี่ เกิดได้ไหม ต้นไม้? ไม่ได้ ใช่ไหมคะ
ต้นไม้นี่ต้องเกิดได้ด้วยอุตุ อุตุนี่นะ ไม่ใช่เย็นทีเดียว ไม่ใช่ร้อนทีเดียวนะ คือว่า เย็นกับร้อนผสมกันเข้า เรียกว่า อุตุ คือ ความมีอุณภูมิพอดีที่สัตว์จะเกิดได้ ต้นไม้จะเกิดได้อย่างนี้ สัตว์ถึงจะเกิดได้ ต้นไม้จะเกิดได้
เพราะฉะนั้น ต้องพอดี แต่ถ้าหากว่าร้อนมากก็ตาย ก็วิบัติ ต้องสลาย เย็นมากก็ไม่ได้เหมือนกัน
ฉะนั้น รูปนี่จึงได้วิบัติด้วยเย็นและร้อน เพราะเกิดขึ้นด้วยเย็นและร้อน อุตุรวมกัน ความเย็นกับความร้อนผสมกันในส่วนพอดี ต้นไม้บางอย่างต้องการอุตุมาก บางอย่างต้องการค่อนข้างร้อนหน่อยหนึ่ง แต่ว่า ถือว่าพอดี
อุตุ หมายถึงว่า อุณภูมิพอดีที่จะเกิดธรรมชาติของรูปธรรมนั้นๆ ได้
เพราะฉะนั้น ในรูปธรรมนี่ บอกว่าเป็นธรรมชาติที่ต้องสลายไปด้วยความเย็นและร้อน ละก็ ธรรมชาตินั้นแหละ เป็น รูปธรรม
หรือจะกำหนดเป็นธาตุ ๔ อย่าง คือ กำหนดมหาภูตรูปนี่น่ะ ออกไปเป็นธาตุ ๔ อย่าง
ธาตุใดที่แข็ง เป็นปฐวี ธาตุใดที่เกาะกุม หรือทำให้ไหลไปได้ เป็นน้ำ
ธาตุใดที่ร้อนหรือเย็น เป็นไฟ ธาตุใดที่ทำให้หวั่นไหว นั่นเป็นธาตุลม
กำหนดอย่างนี้ก็ได้ สำหรับการกำหนดรูปนะ กำหนดเอาอย่างนี้ก็ได้
เวลานี้ท่านก็เรียนวิชาทางโลก และก็เคยทราบกันบ้างแล้วว่า ธาตุนี่มีกี่อย่าง? วิทยาศาสตร์แสดงเรื่องธาตุไว้กี่อย่าง? เคยทราบไหมคะ? มีมากมายก่ายกองใช่ไหม อย่างแร่ธาตุต่างๆ นี่ มีมากจนนับแทบไม่ถ้วน แต่ในพระพุทธศาสนาว่า มี ๔ อย่าง นี่ผิดไหม? ผิดซี่! เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์นี่เขารู้ธาตุมีมากตั้งเป็นกองสองกอง เขาเรียนพวกเคมี พวกสสาร อะไรต่างๆ นี่มี เยอะ มีจำนวนมากทีเดียว แล้วก็คิดดูซิว่า จะปรับลงกันได้ไหมกับ ๔ อย่างนี่น่ะ
คราวนี้เราก็ย้อนกลับมาว่า พระพุทธเจ้าแสดงธาตุดินด้วยลักษณะ แข็ง เท่านั้น
ธาตุสสารต่างๆนี้ พ้นไปจากลักษณะที่ แข็ง ไหม? พ้นไปไหม? เอาละ! แร่ธาตุต่างๆ ดีบุก ทองแดง นาก เงิน ทอง อะไรก็แล้วแต่จะมีสักกี่สิบร้อยอย่างก็ตามเถอะ แต่ว่ามีอยู่ในลักษณะแข็งไหม? ก็อยู่ในแข็งนี่แหละ เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่มีลักษณะแข็ง สงเคราะห์ลงธาตุดินหมด ถ้ามีลักษณะแข็งละก็เป็นธาตุดินหมด ถึงจะมีกี่สิบอย่าง ก็จะต้องเป็นเท่านี้แหละ
ไฟก็เหมือนกัน ไฟฟ้า ไฟตะเกียง ไฟอะไรก็แล้วแต่ จะมีสักกี่สิบอย่างก็ตาม ไฟเทียน ไฟไต้ ไม่รู้อะไรก็แล้วแต่เถอะ แต่ว่า พ้นไปจากลักษณะร้อนไหม? ไม่พ้น! อยู่ในร้อนนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ใครจะบัญญัติอะไร หรือรู้อย่างไร ไม่เกินเลยที่นอกจากพระพุทธศาสนาแสดงไว้
จะรู้เกินอำนาจของสัพพัญญุตญาณไปนั้นเป็นไม่มีเลย ไม่มีค่ะ ธาตุน้ำก็เหมือนกัน ธาตุไฟก็เหมือนกัน มีลักษณะ มีลักษณะอย่างไร ลมอะไรก็ตาม ก็จะต้องมีลักษณะทำให้หวั่นไหว ทำให้พองทำให้เคร่งตึง หรือทำให้เคลื่อนไหว ก็มีลักษณะกันอยู่เท่านี้แหละ
เพราะฉะนั้น อะไรเล่า ที่จะเกินความรู้ของพระสัพพัญญุตญาณไป ขอให้เรารู้เถอะ ที่แสดงนี้ แสดงด้วยความจริงของสภาวะ จะแยกออกไปบัญญัติเป็นอะไรๆก็ตาม จะเป็นทองแดง เป็นตะกั่วเป็นทองคำ ทองบุอะไรก็ตามเถอะ แต่ว่า อันนั้นแยกออกไปตามบัญญัติ
แต่ลักษณะของความจริงแล้ว อะไรๆ ก็ต้องมาลงที่สภาวะหมดเลย นี่ความจริงเป็นอย่างนั้นใครจะเรียกอย่างไรก็ได้ เช่น ความร้อนนั้นจะเรียกไปซี เรียกเป็นอะไรก็ได้ แต่ว่าลักษณะ ร้อน นี่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมของใคร
ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ไหน? ไฟที่ไหนที่ไม่ร้อน ดินที่ไหนที่ไม่แข็ง ไฟชาติไหนบ้างที่ไม่ร้อน ถ้ามีชาติที่ไฟไม่ร้อน เช่น ไฟชาติแขกไม่ร้อน นี่ไฟชาติแขกไม่เหมือนกับไฟชาติไทยใช่ไหม? หรือไฟชาติไทยก็ไม่ร้อนเหมือนไฟชาติฝรั่ง อะไรอย่างนี้ จะต้องมีอย่างนี้ใช่ไหมละ? ไม่มี! ไฟนี่ไม่มี ไม่เป็นชาติอะไรเลย มันเหมือนกันหมด ไม่เป็นชาติอะไรเลย มันเหมือนกันหมด ไม่เป็นชาติอะไร ถ้าเป็นชาตินั้น ชาตินี้ เราก็รู้ว่า มันไม่เหมือนกัน
แต่นี่มันร้อนเหมือนกันหมด มันไม่เป็นชาติอะไร,และไฟในศาสนาไหนก็ตาม ต้องร้อนเหมือนกันหมด?
เพราะฉะนั้น ไฟจะเป็นศาสนาอะไร เราบอกได้ไหม? ว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่เป็นศาสนาอะไรบอกได้ไหม? บอกไม่ได้ใช่ไหม? แล้วเป็นชาติอะไรบอกได้ไหม? ผู้หญิงหรือผู้ชาย บอกไม่ได้ทั้งนั้นใช่ไหม?
แล้วมันเป็นอะไร เราจะบอกได้ไหม? มันเป็นสากลธรรมชาติ นี่มันเป็นสภาวะ เป็นสากลศาสตร์ สากลธรรมชาติ
ฉะนั้น เมื่อคำสอนของพระพุทธองค์สอนตามสากลธรรมชาติ สอนตามความจริงในสากลธรรมชาตินี้ ใช่ไหมล่ะ?
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว พระพุทธศาสนาจะเป็นศาสนาอะไร ถ้าเราเข้าใจพระพุทธศาสนาแท้ๆ เราก็จะเข้าใจว่า พุทธศาสนานี่เป็นศาสนาอะไรกันแน่ เป็นสากลศาสนา ใช่ไหม?
โดยไม่ต้องมีใครบัญญัติ ให้เป็นสากลศาสนาใช่ไหม? มันเป็นเองใช่ไหม? เป็นเอง! คำสอนของท่านน่ะ เป็นสากลเอง
เพราะฉะนั้น อย่างน้อยเรานับถือพระพุทธศาสนา นี่ ขอให้รู้เถอะว่า พระพุทธศาสนาน่ะ คืออะไรกันแน่
จะปฏิบัติได้หรือไม่ได้ ทำไม่ได้นี่ยังไม่สำคัญหรอก แต่ว่า เมื่อนับถือพุทธศาสนาแล้ว ขอให้เข้าใจเหตุผลในพุทธศาสนานี่ให้แน่นอน เพราะฉะนั้น คำสอนของท่านก็เป็นสากล ท่านไม่ได้บันดาลขึ้นมาสอนใช่ไหม? เฉพาะพุทธศาสนานี่หรือที่อื่นมีไหม? ธรรมชาติที่เป็นคำสอนเหล่านี้ ก็มี และอะไรเล่าในโลกนี้ หรือในศาสนาใดๆ ก็ตาม นอกจากคำสอน นอกจากธรรมชาติ มีไหม? ไม่มีใช่ไหม?
แต่ว่า ธรรมชาติเดียวกันนั่นแหละ มีการเห็นกันคนละอย่างๆ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ว่า โดยลักษณะที่แท้จริงแล้วละก็ ต้องเหมือนกันนั่นเอง
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนานี่เป็นคำสอนที่จริง! ทำไมถึงจริง? เพราะออกมาจากความจริงใช่ไหม?
ถ้าความจริงยังคงที่ ยังเป็นไปอยู่ตราบใดแปลว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าก็คงยังดำรงอยู่ตราบนั้น,ใช่ไหม?
เพราะฉะนั้น แม้โลกนี้จะวิบัติไป สูญสิ้นหมดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้ายังอยู่ไหม ? ขอถามท่านนักศึกษา ที่ศึกษาพุทธศาสนาหน่อยเถอะ ยังอยู่ไหม? ต้องยังอยู่! พระพุทธเจ้าสอนความวิบัติของโลกด้วยใช่ไหม ? โลกจะสลายไปด้วยเหตุนั้นๆ
เพราะฉะนั้น เมื่อถึงคราวโลกสลาย สูญสิ้นสลายไปหมดแล้ว ก็แสดงว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วใช่ไหม? ขณะนั้นน่ะ นั่นซิ! คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่มีสูญเลย
โลกจะสลายไปแล้วก็ตาม โลกจะเกิดขึ้นใหม่ก็ตาม นี่เป็นคำสอนที่แท้จริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นี่คิดดูทีซิว่า เราน่าจะปลื้มใจไหม? พวกเราที่ได้มานับถือพระพุทธศาสนาน่ะ น่าปลื้มใจไหม? น่าปลื้มใจ และน่ารู้ไหม? น่ารู้ด้วย! แปลว่า ความปลื้มใจน่ะ ต้องรู้ก่อนนะ ถ้าไม่รู้ว่า ดีอย่างไร? ก็ไม่น่าจะปลื้มใจหรอก
ถ้าไม่รู้ก็จะหาว่า คนที่นับถือพระพุทธศาสนานี่ เป็นคนคร่ำครึ เป็นคนคลั่งศาสนา อะไรๆ ต่างๆนานา ตามที่เขาจะว่าไป แล้วศาสนานี่ ควรมีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะล้าสมัยแล้ว
พระพุทธเจ้าสอนว่า “ไฟนี่มีลักษณะร้อน” ล้าสมัยไหม? คำสอนของพระพุทธเจ้านี่ ล้าสมัยไหม? ไฟแต่ก่อนนี้ไม่ร้อนใช่ไหม? หรือไฟแต่ก่อนนี้ร้อน, เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังอยู่ เวลานั้นไฟมันร้อน เดี๋ยวนี้ไฟมันไม่ร้อนแล้วใช่ไหม? ใช่หรือไม่ใช่?
เมื่อก่อนไฟก็ร้อน แล้วเดี๋ยวนี้มันก็ร้อนพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ แล้วจะล้าสมัยที่ตรงไหน? มันมีล้าสมัยไหม? ไม่มีเลย, ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้น เราน่าปลื้มใจไหม? และน่าบูชาถ้ามิฉะนั้นละก็ เราจะไม่รู้จักคำว่า “พระพุทธศาสนาสอนเรื่องที่เป็นจริงนะ จริงอย่างไร?” เขาว่าดีน่ะดีอย่างไร ?เราก็ไม่รู้
แล้วเราก็จะไม่รู้ว่า ศาสนาอื่นเขา กับศาสนาพุทธ เรานี่ มันต่างกันที่ตรงไหน ? มันจะต่างกันที่ตรงไหน ?ไม่รู้อีกแหละ
เขาว่า ศาสนาทุกศาสนาสอนเหมือนกันหมด เคยได้ยินไหม เขาพูดอย่างนี้ ? ใช่ไหมล่ะ เคยได้ยินนี่! เขาว่าสอนให้ดีเหมือนกันหมดเลย ทีนี้เราที่นับถือนี่เราก็ไม่รู้ เราควรจะรู้ว่า ดีหรือไม่ดี เราไม่ต้องไปว่าของเราดีกว่าหรืออะไร แต่ว่า ขอให้มีความรู้ให้ถูกเถอะ จะดีหรือไม่น่ะ ถ้ามันดี มันก็มีผลดีของมันค่ะ เราไม่ต้องว่าดี ถึงจะดี
ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะรู้ว่า ดีหรือไม่เท่านี้แหละ นี่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้รู้
ฉะนั้น เมื่อกำหนดถึงธาตุทั้ง ๔ แล้วนะคะ กำหนดอย่างไหนก็ได้ ท่านก็เรียนแล้วทั้งสมถะและวิปัสสนา ถึงแม้กำหนดธาตุ ๔ เป็นสมถะก็ได้ อย่างกสิณนี่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทำกสิณเป็นสมถะก็ได้ แล้วทีนี้ทำวิปัสสนาก็ได้ กำหนดเป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลก็ได้ แต่ว่า วิธีกำหนดต้องเป็นคนละอย่าง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน
พอถามว่า กำหนดนามรูป เป็นสมถะ หรือ วิปัสสนาความจริงเป็นสมถะก็ได้ เป็นวิปัสสนาก็ได้
สมถะ กำหนดนามมีไหม? มีหรือไม่มี อากาสานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ นี่เป็นนามใช่ไหม? มี! ปฐวี อาโป เตโช วาโย กสิณทั้ง ๑๐ นั่นแหละ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โกฎฐาสบัญญัตินั่นแหละใช่ไหมล่ะคะ นี่แหละกำหนดนามรูปเป็นสมถะก็ได้เหมือนกันกับวิปัสสนา แต่ว่า วิธีกำหนดนั้นต่างกัน
เพราะว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรพ้นไปจากนามรูปละค่ะ ใครจะเอาอะไรไปทำอย่างไร ก็คือ เอานามรูปนั่นเองไป แต่ว่าวิธีทำเท่านั้นแหละต่างกัน
ทำขนมน่ะ มันก็เป็นแป้งกับน้ำตาลเท่านั้นแหละ แต่ว่า วิธีทำเท่านั้นแหละ มันจะเป็นขนมอะไรที่ต่างกันออกไป เพราะฉะนั้น ต่างกันด้วยวิธีทำ
ส่วนท่านที่เจริญวิปัสสนาล้วนๆ เรียกว่า ”วิปัสสนายานิกะ” หมายถึงว่า ไม่ต้องทำสมถะก่อน หรือไม่ต้องได้ฌานมาก่อน
ท่านเหล่านี้กำหนดรูปนามได้ จะกำหนดอิริยาบถก็ได้ สัมปชัญญะก็ได้ แล้วแต่ในบรรพะใดบรรพะหนึ่ง ตามที่วางไว้ในมหาสติปัฎฐานนะคะ
กำหนดกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ หรือธรรมก็ได้แล้วแต่ ตามแต่อารมณ์ที่ควรจะเป็นกรรมฐานของวิปัสสนานั้นๆ ก็กำหนดได้ทั้งนั้น
ส่วนผู้ที่ได้ฌานแล้วหรือผู้ที่เข้าฌาน ก็กำหนดอิริยาบถไม่ได้ เพราะการเข้าฌานต้องนั่งนิ่งๆ ใช่ไหม? ก็อิริยาบถและสัมปชัญญะนี่ พวกเข้าฌานกำหนดไม่ได้ สัมปชัญญะก็ไม่ได้
ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่า ผู้เข้าฌานต้องนั่งนิ่งๆ ฉะนั้น จะกำหนดอิริยาบถ การเคลื่อนไหวในอิริยาบถบรรพะของมหาสติปัฏฐาน หรือการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยอย่างนี้ พวกที่ได้ฌานทำไม่ได้ ใช่ไหม?
ท่านที่ได้ฌานต้องกำหนดองค์ฌาน ยกองค์ฌานขึ้นสู่วิปัสสนาเลย ก็ชื่อว่า กำหนดนามรูปเหมือนกัน ยกองค์ฌานขึ้น
เป็นนาม ก็ชื่อว่ากำหนดนามเหมือนกัน อย่างนี้เราก็จะรู้ได้ว่า การเป็นพระอรหันต์น่ะ จะต้องทำฌานให้ได้ฌานเสียก่อนทั้งหมดหรือ ไม่ต้องก็ได้ใช่ไหม? อย่างเช่นกำหนดอิริยาบถ ๔ และสัมปชัญญะนี่ ไม่ต้องก็ได้
นี่ทิฏฐิวิสุทธิ ก็หมายถึงว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ไม่มี สัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีเทวดา ไม่มีพระอินทร์ ไม่มีพระพรหม ไม่มีพระเจ้า ใช่ไหมคะ ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีอะไรทั้งหมดเลย ความเป็นจริงน่ะ ใน ๓๑ ภูมินี้ ก็มีแต่รูปกับนาม ๒ อย่างเท่านั้น นี่นามรูปปริจเฉทญาณนะคะ รู้อย่างนี้นะคะ ความเข้าใจอย่างนี้เป็นความเข้าใจที่ถูก ไม่เจือด้วยความเห็นผิด
ถูกอย่างไร? เหมือนอย่างที่ดิฉันยกปัญหาขึ้นถามท่าน เมื่อตะกี้นี้แล้วว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม น่ะ บัญญัติเป็นอะไรได้ไหม? ก็ตอบว่า ไม่ได้ ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อะไรทั้งหมด คือ การเห็นว่า ไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล อย่างนี้นะ เป็นความเห็นที่ตรงกับความจริง
เมื่อเราพิจารณาแล้ว เราก็จะรู้ว่า ไม่ใช่เหมือนกัน ไม่เจือด้วยความเห็นผิด อย่างนั้นแล้ว อย่างนี้ก็ชื่อว่า ”ทิฏฐิวิสุทธิ” ความเห็นถูกแล้ว
ความเห็นผิดที่สำคัญว่า เป็นตัว เป็นตน เป็นสัตว์ หรือเป็นบุคคล เป็นหญิง เป็นชาย ความรู้สึกอันนี้ก็อาศัยเกิดขึ้นไม่ได้ในที่นั้น ในขณะที่จิตเราเข้าไปตั้งอยู่ในทิฏฐิวิสุทธิ ความรู้สึกอันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้
ผู้ที่เข้าไปรู้สึกว่า เป็นนาม เป็นรูป ทุกๆอย่างแล้ว ความรู้สึกว่า เป็นตัว เป็นตน นั้นก็จะเข้าอาศัยเกิดขึ้นให้เรารู้สึกว่า เป็นตัว เป็นตน เป็นสัตว์ บุคคล นั้นไม่ได้เลย
เพราะความรู้สึกนั้นปฏิเสธสัตว์บุคคล
ฉะนั้น ความรู้สึกอย่างนี้ หรือความเห็นอย่างนี้ จึงชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ เพราะว่า ทิฏฐิวิสุทธินี้มีนามรูปเป็นกรรมฐาน หรือเป็นอารมณ์ แล้วกรรมฐานนี้ก็เกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ทำวิปัสสนานั้น
นี่เป็นเรื่องของปัญญาขั้นต้น จะต้องรู้อย่างนี้นะคะ ผู้ทำวิปัสสนาน่ะ
เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงคิดว่า ผู้ทำวิปัสสนานี่ ไม่ต้องละค่ะ ไม่ต้องไปดิ้นรนว่า วิปัสสนาจะเกิดหรือยัง อุทยัพพยญาณจะถึงหรือยัง อะไรต่ออะไรอย่างนี้ อย่าเลย อย่าไปทำจิตใจให้เป็นอย่างนั้น ผิด! แล้วจะเข้าถึง
วิสุทธิได้ยากที่สุดเลย
ถ้าเป็นแต่เพียงว่า ทำความเพียรไปให้ปัญญาที่รู้ว่าเป็นนาม เป็นรูป เกิดขึ้นเท่านั้น เท่านี้พอแล้ว แล้วต่อไปก็ไม่ต้องเดือดร้อนหรอกเพราะว่า เราเดินทางถูกแล้ว ต่อไปเดินไปก็ต้องถูกอีก
การรู้นามรูปนี้ ก็มี ๓ ขั้น ท่านก็ทราบแล้วนะคะ คือ รู้โดยการศึกษามา รู้ตามขั้นปริยัติ แล้วก็รู้ตามขั้นปฏิบัติ
รู้โดยการกำหนด รู้ในขณะปฏิบัติ
เมื่อกำหนดแล้ว ความรู้ว่า นามรูปนั้นด้วยวิปัสสนา แต่ว่า ความรู้ใน ๓ ขั้นนั้น ใน ๒ ขั้นแรกยังเข้าถึงทิฏฐิสุทธิไม่ได้ ต้องเข้าถึงขั้นภาวนาญาณจึงจะเข้าถึงทิฏฐิวิสุทธิได้
ที่ได้ย้ำตรงนี้ ก็เพื่ออะไร เพราะว่า ทิฏฐิวิสุทธิ กับ กังขาวิตรณวิสุทธิ ที่จะพูดกันต่อไปนี้น่ะมันเนื่องกัน
เพราะว่า กังขาวิตรณวิสุทธินี่น่ะ อารมณ์ของกังขาวิตรณวิสุทธินี่ มาจากทิฏฐิวิสุทธิ เพราะฉะนั้นจึงต้องย้ำทิฏฐิวิสุทธินี่ให้เข้าใจให้ชัดเจนแล้วจะได้รู้ว่า กังขาวิตรณวิสุทธินี่ มาจากทิฏฐิวิสุทธิอย่างไร?
เพราะฉะนั้น จึงได้ย้ำให้ท่านได้เข้าใจในทิฏฐิวิสุทธินี้เสียก่อน เพื่อบางท่านที่อาจจะลืมไปแล้วนึกไม่ออก เมื่อครั้งที่พูดถึงวิสุทธิน่ะ อาจจะนึกไม่ออกนะคะ ว่าทิฏฐิวิสุทธินี่รู้อะไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นให้กลับมาทำความเข้าใจในเวลาที่จะฟังกังขาวิตรณวิสุทธิ ต่อไปว่า :-
ทิฏฐิวิสุทธินั่นนะ คือ นามและรูป รู้นามรูปด้วยวิปัสสนาญาณ หรือวิปัสสนาปัญญา ไม่ใช่รู้ด้วยปริยัติ ไม่ใช่รู้ด้วยมนสิการ หรือคิดนึกเอาในขณะที่ปฎิบัติ ต้องรู้นามรูปจนชัดเจนบริสุทธิ์จนกระทั่งมิจฉาทิฏฐิ คือ ความสำคัญผิดว่า เป็นตัวเป็นตน เข้าครอบงำไม่ได้แล้ว
นี่ความรู้อันนี้ จึงเรียกว่า “ ทิฏฐิวิสุทธิ ”
ส่วนกังขาวิตรณวิสุทธินี่ เป็นวิสุทธิที่ต่อไปจากทิฏฐิวิสุทธิ ที่จะได้กังขาวิตรณวิสุทธินี้ จะต้องได้ทิฎฐิวิสุทธิ เสียก่อน
กังขาวิตรณวิสุทธิ นี้ แปลว่า อะไร? แปลว่า “หมดจดจากความสงสัย” สงสัยอย่างไร? สงสัยว่าในชาตินี้ การสงสัยในชาติที่แล้วมา หรือสงสัยในชาติหน้า นี่กังขาวิตรณวิสุทธิ
ความสงสัยว่า ตายแล้วนี่ จะเกิดอีกหรือไม่เกิดหนอ? เราตายแล้วนี่ จะเกิดอีกจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่า เมื่อคราวที่แล้วมา เราก็เกิดเหมือนกันแหละ, เราก็มีนามมีรูปเหมือนกันแหละ นามรูปที่ตายไปแล้วนะ มันจะมาเกิดเป็นไปในชาตินี้อีกใช่หรือไม่? นี่แหละก็มีความสงสัยอย่างนี้
นามรูปนี่มันเกิดมาจากอะไรกันแน่นะ รู้แล้วละว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มันมีแต่นามกับรูปเท่านั้นละ แล้วนามกับรูปนี่ มันเกิดมาจากไหนเล่า? ใครเป็นคนทำให้มันเกิดมา นี่ยังไม่รู้ แต่ว่ารู้ละว่า มันเป็นนาม เป็นรูป แล้วก็ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิด และจะเกิดเป็นคนอย่างนี้ หรือว่าตายไปแล้วจะไปเปลี่ยนรูปร่างเป็นอย่างไร? จะไปเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชายก็ไม่รู้ ความสงสัยที่เราเคยมีอยู่นี้มากมาย ยังมีตัวตนอยู่ในเบญจขันธ์อีก หรือว่าตัวตนนี้ไม่ตาย จิตนี้ไม่มีวันดับ เป็นต้น สงสัยอย่างนี้ก็อีกอย่างหนึ่งนะคะ
ทีนี้การสงสัยว่า ชาตินี้ ชาติหน้า มีหรือไม่มี รูปนามที่เราเห็นแล้วนี่น่ะ ตามในนามรูปปริจเฉทญาณนี้ มันเกิดจากอะไร? อันนี้ก็ยังไม่เป็นวิสุทธิในความเข้าใจ
เมื่อไม่มีตัว มีตนแล้ว แต่ว่านามรูปนี้มาจากไหนเล่า? จะต้องรู้อีกว่า นามรูปนี้มีอยู่จริงแต่ว่า สัตว์บุคคลนั้นไม่มีในโลกทั้ง ๓ นี้ จะเป็นกามโลก รูปโลก หรืออรูปโลกก็ตาม ในภพทั้ง ๓ นี้น่ะ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลแล้ว แต่มีแต่ รูปกับนาม ๒ อย่างนี้เท่านั้น ที่ปรากฎในทิฏฐิวิสุทธิ
แต่ว่ารูปนามที่ปรากฏในทิฎฐิวิสุทธินี้ มาจากไหน? ใครเป็นคนสร้างรูปนามนี้ขึ้นเล่า นี่อีกขั้นหนึ่งนะคะ จะต้องเป็นปัจจัยมาจากนามรูปนั้นเหมือนกัน
จะต้องเอานามรูปที่ได้ในทิฏฐิวิสุทธินั่นแหละมาพิจารณาจนรู้ว่า มันเกิดมาจากไหน เกิดมาจากไหน ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ อาจจะมีพระอินทร์พระพรหม หรือพระเจ้า หรือใครๆ ก็ได้ที่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ก็เลยสร้างนามรูปนี้ขึ้น
ความเข้าใจเหล่านี้ อาจจะไม่แจ่มแจ้ง เมื่อไม่แจ่มแจ้ง ก็สงสัยว่า รูปนามนี้มาจากไหน เป็นมาอย่างไร? ตัวตนแต่ก่อนนี้ เราจะมีหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่าเรามีเพียงชาตินี้ ส่วนชาติที่แล้วมาเราไม่มีและชาติหน้าก็ไม่มี รูปนามอันนี้เพิ่งจะมีในชาตินี้กระมัง?
ความรู้สึกที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ยังไม่สามารถจะหมดจดได้ ความสงสัยที่จะหมดไปในทิฏฐิวิสุทธิก็ เฉพาะในเรื่องไม่มีตัวตนเท่านั้น
เพราะฉะนั้น จะต้องถึง กังขาวิตรณวิสุทธิแปลว่า อะไร? แปลว่า บริสุทธิ์หมดจดจากความสงสัยนะคะว่า รูปนามนี้เป็นมาอย่างไร? เกิดขึ้นอย่างไร? ถึงมีแต่รูป กับนาม และรูปนามนี้มาอย่างไร? เกิดขึ้นอย่างไร? ใครเป็นคนสร้างขึ้นอันนี้ยังไม่หมด ยังไม่แจ่มแจ้ง ยังไม่เข้าถึงกังขาวิตรณวิสุทธิได้
การที่จะหมดความสงสัยได้ เพราะเหตุอะไร? ก็เพราะเหตุว่า ต่อมาจากทิฏฐิวิสุทธินั้นเอง คือกำหนดนามรูปนั่นแหละ เมื่อกำหนดไปๆ ก็จะทราบว่า นามรูปนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้น จะทราบเหตุปัจจัยของนามรูปเพราะกำหนดอยู่ รูปอันใดเกิดขึ้น เราก็รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด นามอะไรเกิดขึ้น เราก็รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร? อย่างนี้เราก็จะรู้ได้ว่าการรู้ในกังขาวิตรณวิสุทธินี้ จะรู้มาก หรือรู้น้อยก็แล้วแต่
กังขาวิตรณวิสุทธินี้นะคะ คือ ปัญญาที่รู้ตัวปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นภูมิของวิปัสสนานั้น ปฏิจจสมุปบาท นี่อยู่ในภูมิของวิปัสสนาด้วยนะ นี่น่ะ คือตัวปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
แต่ว่า เราไม่มีปัญญาที่จะเข้าไปรู้ถ่องแท้ในปฏิจจสมุปบาทนั้นได้นะ เอาแต่เพียงว่า เมื่อได้กำหนดนามรูป รู้นามรูปแล้วใช่ไหมคะ จะรู้มากหรือรู้น้อยก็แล้วแต่ความเข้าใจ และบารมีของท่านที่อบรมมา
ผู้ที่แตกฉานในพระไตรปิฏก ก็สามารถจะรู้ปัจจัยของนามรูปได้มาก หรือรู้โดยวัฏฏะ มาจากกรรม มาจากกิเลส มาจากวิบาก นี่ก็อยู่ในกังขาวิตรณ-วิสุทธิเหมือนกันอันนี้ นี่รู้โดยย่ออย่างนี้ก็ได้
ที่นี้ถามว่า ทำไมกังขาวิตรณวิสุทธิ ความสงสัย อันนี้ว่า ใครเป็นผู้สร้างจะหมดไปได้ ความสงสัยอันนี้ว่า ความสงสัยอันนี้จะรู้แจ่มแจ้ง หมดความสงสัยอันนั้นได้ เพราะเหตุว่า มาจากทิฏฐิวิสุทธิ ที่รู้นามรูปอันนี้ก็ขอยกมาให้เห็นหน้าตาเสียหน่อยว่า:-
ในระหว่างที่เรากำหนด ที่เราเห็นได้ ที่เราพิสูจน์ได้ว่า เช่นอย่างว่า เรากำหนดทางหู เรากำหนดทางหูนี่ เรากำหนดนามที่ได้ยิน เวลาที่เรากำหนดการได้ยินนี่ เรารู้แล้วว่า การที่ได้ยินนี้เป็น นาม ลักษณะธรรมชาติที่ได้ยินนี่น่ะ เป็นนามธรรม
ฉะนั้น ในระหว่างที่เรากำหนดนั้น เราก็มีความรู้มาจาก ด้วยอำนาจนามรูปปริเฉทญาณก็กำหนดนามที่ได้ยิน
ในระหว่างที่เรากำหนดนามที่ได้ยิน คือ เมื่อนามที่ได้ยินเกิดขึ้นนี่ ในระหว่างที่กำหนดนั้น เราจะรู้ได้ทันทีว่า นามที่ได้ยินนั้นเกิดจากอะไร?
เพราะมีเสียงเกิดขึ้นเป็นปัจจัย เสียงซึ่งเป็น รูปธรรม ใช่ไหมคะ มาเป็นปัจจัยให้เกิด นามธรรม คือ การได้ยินเสียงนี้เกิดขึ้น
ถ้าหากว่า เสียงนี้ไม่มี ไม่มาปรากฎขึ้น ได้ยินจะเกิดได้ไหม? ได้ยินจะมีขึ้นได้ไหม? ไม่ได้! ใช่ไหม?
เพราะฉะนั้น ที่เรารู้อย่างนี้ เราก็รู้ซิว่า นามนี้เกิดขึ้น เพราะมีเสียงเป็นปัจจัย คือ มีรูปเป็นปัจจัยหรือทางตาก็ตามต้องมีสิ่งที่ถูกเห็นมากระทบ แล้วก็อาศัยอะไร? ต้องอาศัยแสงสว่าง ต้องอาศัยจักขุประสาท ต้องอาศัยมนสิการ แล้วก็ต้องมีรูปเป็นอารมณ์นั้นมายืนอยู่ด้วย
ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งแล้ว การเห็นนี่จะเกิดได้ไหม? จักขุปสาทพิการ จะเห็นได้ไหม? ไม่ได้ อยู่ในที่มืดเห็นได้ไหม การเห็นรูปนั้นจะเกิดขึ้นได้ไหม? ถ้าไม่มีจิต ไม่มีมนสิการเกิดได้ไหม? ไม่มีจิตอันนี้จะเห็นได้ไหม? อย่างคนตายนี่มีครบหมดเลย แต่ว่า จิตดับไปแล้ว ไม่มีแล้ว ไม่เกิดแล้ว ตาก็ยังมีอยู่ แสงสว่างก็ยังมีอยู่ แต่ว่าจะเห็นได้ไหม? ก็เห็นไม่ได้
ทางจมูกก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีกลิ่นมา จะรู้กลิ่นได้ไหม? ไม่ได้ รู้ไม่ได้ กลิ่นก็ปรากฏไม่ได้ ฆานปสาทเสียก็ไม่ได้ ไม่มีลมหายใจ กลั้นลมเสีย จะรู้กลิ่นไหม? ไม่รู้อีก
เพราะฉะนั้น กลิ่นนี่ก็ต้องอาศัยวาโย คือธาตุลมนี่เป็นปัจจัยด้วย การรู้กลิ่นจึงจะเกิดขึ้นได้
เมื่อเรากำหนดอย่างนี้แล้ว ความเข้าใจว่า จะเป็นใครสร้างหนอ การได้ยินนี้ใครสร้างขึ้นหนอ? เข้าใจว่า พระเจ้าสร้าง พระอินทร์สร้าง พระพรหมสร้าง จะมีไหม? ก็หมดไป
เพราะรู้แล้วนะว่า เมื่อมีเสียงมา การได้ยินถึงจะเกิด แล้วก็ต้องมีช่อง มีอากาศด้วย ถ้าหากว่าช่องอากาศนี่ไม่มีอุดหูเสียให้ตันให้หมด ได้ยินได้ไหม? ได้ยินเกิดได้ไหม? เกิดไม่ได้!
ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้แหละ การได้ยิน คือ นาม นี่ หรือการเห็น การรู้กลิ่น จึงเกิดขึ้นได้ใช่ไหม?
เพราะเวลาที่เรากำหนดนี่ เรารู้นี่ การได้ยินเกิดขึ้น เราก็รู้แล้วเพราะมีเสียงมากระทบเราก็รู้ ได้กลิ่นเราก็รู้
ทีนี้เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วว่า อ้อ! มันเกิดขึ้นเพราะอย่างนี้ ที่เรากำหนดนามรูปในทิฏฐิวิสุทธินั่นเอง นามรูปปริจเฉทญาณนั้นเอง เรากำหนดนาม กำหนดรูปอยู่ ทีนี้เราก็รู้ อ้อ! นามเกิด นามอันนี้เกิดเพราะเหตุนี้เป็นปัจจัย
เมื่อเรารู้อยู่อย่างนี้นะ ความเข้าใจว่า พระเจ้าสร้างนามได้ยินขึ้น พระอิศวร สร้างนามได้ยินขึ้น พระพรหม สร้างการได้ยินนี้ขึ้นนะ ความรู้สึกอย่างนี้จะมีได้ไหม? จะเกิดขึ้นได้ไหม? ไม่ได้ใช่ไหม? ก็เรารู้อยู่แล้วนี่ว่า เพราะเสียงนี่มากระทบ เป็นปัจจัยนามได้ยินจึงเกิดขึ้น
แต่ก่อนทำไมจึงไม่รู้ ทำไมถึงไม่รู้? เพราะไม่ได้กำหนดนามรูป ทิฏฐิวิ-สุทธิยังไม่มี ไม่เกิดเลย นี่นะ ทุกวันนี้กำหนดเมื่อไหร่ล่ะนามรูป แม้ได้ยินเราก็ไม่รู้ว่า ใครได้ยิน แล้วก็ไม่ได้ดูว่า ได้ยินนี่มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่? ขณะไหน? ไม่ได้ดูทั้งนั้น แล้วก็เมื่อไม่รู้ ใครได้ยิน เราได้ยินใช่ไหมละ เพราะเราไม่ได้กำหนดนามรูปที่เป็นทิฏฐิวิสุทธินั้น เราไม่ได้กำหนด เราเข้าไม่ถึง
เพราะฉะนั้น กังขาวิตรณวิสุทธินี้ ก็เกิดไม่ได้ทีนี้เมื่อเรารู้แน่ชัดอย่างนี้ อิริยาบถแต่ละอันๆถ้าไม่มีนาม ไม่มีจิตใจแล้ว จะมีอิริยาบถได้ไหม? ไม่ได้ ก็นี่แหละมีจิตใจอยู่ อยากนั่ง อยากนอน อยากยืน อยากเดิน ใจเราต้องการอย่างนี้ รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน จึงเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นเมื่อเรากำหนดอารมณ์ปัจจุบันอย่างนี้แล้ว ตามนามรูปปริจเฉทญาณ เราก็รู้แล้วว่า อ๋อ! นามรูปนี้มันเกิดมาจากอย่างนี้ แทนที่จะเข้าใจว่ามีคนสร้างขึ้น อันนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้
เมื่ออันนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ก็เข้าถึงกังขาวิตรณวิสุทธิ คือ ความสงสัยว่า จะมีคนสร้างหรืออะไรก็ไม่มี เกิดขึ้นไม่ได้ นี่นะคะ พอจะเข้าใจแล้วนะคะที่จริงแค่นี้ก็น่าจะเข้าถึงกังขาวิตรวิสุทธิแล้ว
การรู้ในกังขาวิตรณวิสุทธินี้ จะรู้มากหรือรู้น้อยก็แล้วแต่ความเข้าใจและบารมีของท่านที่อบรมมา ผู้ที่แตกฉานในพระไตรปิฎกก็สามารถจะมีความรู้ปัจจัยได้มาก หรือรู้โดยวัฏฏะว่า คนเรานี้เกิดมาก็เพราะมี กรรม เพราะมีกิเลสมาจากกิเลสจึงได้เกิดวิบากขึ้น คือ เกิดขันธ์ขึ้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน อย่างใด หรือไม่มีผู้ใดมาสร้าง มาบันดาลขึ้น หรือจะรู้ตามนัยของ ปฏิจจสมุปบาท
เพราะว่า ปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นภูมิของวิปัสสนา อย่างหนึ่ง สำหรับที่จะให้เข้าไปรู้ปัจจัยของนามรูป
ท่านที่แตกฉาน หรือท่านที่ศึกษามาก ทรงไว้ซึ่งปริยัติแตกฉาน ท่านก็สามารถที่จะรู้โดยนัยวิจิตรพิสดาร ทีเดียว อย่างน้อยของมหาปัฏฐานเป็นต้น
นี่! อันนี้ ในมหาปัฏฐานที่เราเรียนกันมี ปฏิจจสมุปบาท แล้วก็มหาปัฏฐาน ในปริจเฉทที่ ๘ ก็อยู่ในความรู้ ของกังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นปัญญาที่สงเคราะห์ลงได้ในกังขาวิตรณวิสุทธิ ปัญญาที่สงเคราะห์รู้อย่างนั้นแหละจึงสามารถกำจัดความสงสัย ที่ไม่รู้หรือที่ยังรู้ผิดอยู่ได้ หรือว่าจะรู้ตามนัยของ ปฏิจจสมุปบาทโดยย่อ ที่เพียงรู้ว่า กิเลส กรรม และวิบากก็ได้
ส่วนผู้ที่ศึกษาน้อย ก็ไม่ต้องกำหนดรู้ปัจจัยให้ได้อย่างนั้น เป็นแต่เพียงกำหนดรูป กำหนดนามไป หรือกำหนดอิริยาบถ เป็นต้น
เพราะว่า อย่างไรก็ตาม วัตถุที่เป็นวัตถุกรรมฐาน ที่ถูกกำหนดนี่ จะต้องอยู่ในขอบเขตของมหาสติปัฏฐาน
เพราะวิสุทธินี้ จะต้องเนื่องมาจากสติปัฏฐานเหมือนกัน การปฏิบัติให้หมดจด จะต้องปฏิบัติตามสติปัฏฐานนั่นเอง
สมมุติว่า อิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดินกำหนดไปๆ ในรูปนั่ง รูปนอน คือว่า จะกำหนดรูปนั่ง รูปนอนไปก่อน กำหนดรู้แค่นี้ก่อนว่า นั่ง นอน นั้นเป็นรูป ตอนหลังๆ นี้ก็จะรู้ได้ว่า รูปนั่ง รูปนอนนี้ เกิดขึ้นเพราะอะไร? ทำไมจึงรู้ว่า เกิดขึ้นเพราะอะไร? เพราะเมื่อเรารู้รูปนั่ง รูปนอนเกิดขึ้น เราก็สังเกต ไม่ใช่จะรู้แต่รูปเฉยๆ เพราะเราจะต้องสังเกตด้วยว่า นั่งเพราะเหตุอะไร? นอนเพราะเหตุอะไร?
ผู้ทำวิปัสสนาจะต้องเข้าถึงเหตุผลด้วย ไม่ใช่จะรู้แต่รูปนั่ง รูปนอนเฉยๆ ก็ต้องรู้เหตุผลด้วยว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร? เมื่อกำหนดไปๆ จิตนั้นละเอียดเข้าๆ แล้วนะคะ ผ่องใสขึ้นมากแล้วก็สามารถจะรู้ได้ว่า
ขณะจิตที่สั่งให้นั่ง ให้นอน ให้ยืน หรือให้เดินนี้ ก็รู้สึกขึ้นมาว่า อ้อ! รูปนั่ง นอน ยืน เดินนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีจิตต้องการ นี่จะรู้ได้
เพราะว่า จิตนั้นละเอียดเข้า ก็อาจจะรู้ได้ถึงนามเหมือนกัน
เพราะท่านบอกว่า กำหนดรูปนี้แหละ เมื่อกำหนดหนักเข้า มีความผ่องใสดีแล้ว ก็เห็นนามได้ จะรู้ถึงนามได้
ท่านอุปมาเหมือนกระจกเงา เมื่อขัดให้ดีแล้วผ่องใสแล้ว การกำหนดรูปนี่เหมือนเป็นการขัดชำระจิตให้ผ่องใส ให้สมาธินี้ดีขึ้น เมื่อจิตผ่องใสแล้วก็จะสามารถเห็นเงาในกระจก เงาที่เกิดขึ้นในกระจกนั้นจะปรากฏขึ้น เหมือนกับนามที่เป็นปัจจัยเกิดขึ้นกับรูป นี่ท่านอุปมาไว้อย่างนี้นะคะ
ขณะจิตที่สั่งให้นั่ง ให้นอน ให้ยืน นี้ ก็จะปรากฏขึ้นมาแก่ผู้กำหนดนามรูป ในทิฏฐิวิสุทธินั่นเองว่า รูปอิริยาบถทั้งหลายที่เกิดขึ้น ก็เพราะอำนาจของจิตใจนั่นเอง
จิตใจนี้แหละ ที่จะให้อิริยาบถทั้งหลายเป็นไปได้ และการที่เป็นไปได้ดังนั้น ก็หาใช่อื่นไม่เพราะว่าร่างกายนี้ประกอบไปด้วยธาตุทั้ง ๔ คือมหาภูตรูป
เพราะฉะนั้น เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้ ทำงานในเวลาเดิน ก็ธาตุนั่นเองทำงาน ธาตุอะไรทำงาน ในเวลานั่งธาตุอะไร เป็นหน้าที่ของธาตุอะไรทำงาน ธาตุอะไรทำงานในเวลายืน ก็จะรู้อย่างนี้
เพราะว่า ธาตุทั้ง ๔ นี้ ต้องทำงานปรุงแต่งต่างกัน อิริยาบทเหล่านั้น จึงเป็นไปต่างกันได้ และธาตุเหล่านั้น เกิดด้วยอำนาจของเจตนาของจิตในจิตนั้น
ที่เราจะทราบว่า จิตนี้สามารถจะเป็นปัจจัยให้ธาตุทั้ง ๔ เป็นไปได้ตามอำนาจของ เจตนา เช่นเจตนาจะนั่ง จิตก็ต้องการนั่งก่อนนะคะ เจตนาจะนั่งอย่างนี้ ธาตุทั้ง ๔ ก็ต้องปรุงให้สมกับเจตนาที่นั่ง จึงนั่งได้
แต่ในเวลาจะนั่ง หรือจะหย่อนเท้าลงก็ตามต้องการจะนั่งก็ดี หรือจะนอนก็ดี ในอาการเหล่านี้ ธาตุทั้ง ๔ ก็จะต้องเกิด ธาตุที่หนัก ธาตุอะไรเป็นธาตุที่หนัก ก็คือ ธาตุน้ำ กับ ธาตุดิน ต้องทำงานมากในที่นั้น เป็นหน้าที่ของธาตุน้ำ กับ ธาตุดินทำงาน ถ้าธาตุไฟ กับ ธาตุลม ทำงานมาก ในอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อจิตต้องการอย่างไร ธาตุที่เกิดด้วยจิตมีเจตนาอันนั้น ก็ต้องเกิดไปตามเจตนาอันนั้น เพราะรูปที่เกิดด้วยจิตนี้มีอยู่ ธาตุนั้นจะต้องเป็นอธิบดี ในธาตุไฟ กับ ธาตุลม เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้ จะต้องอยู่ร่วมกันเสมอ
น้ำ จะอยู่ต่างหาก ไม่เกี่ยวกับ ลม ไม่เกี่ยวกับ ไฟ ไม่ได้หรือ ไฟ จะไม่เกี่ยวกับ น้ำ ไม่เกี่ยวกับ ลม ไม่เกี่ยวกับ ดิน ก็ไม่ได้ ดิน ไม่เกี่ยวกับ น้ำ ไม่เกี่ยวกับ ไฟ ไม่เกี่ยวกับ ลม ก็ไม่ได้ ทุกอย่างนี้เป็นสหชาตปัจจัยเกิดพร้อมกัน เมื่อธาตุหนึ่งมีแล้วอีก ๓ ธาตุ ก็ต้องมีอยู่ เว้นแต่ธาตุไหนจะเป็นอธิบดีในที่นั้นเท่านั้นเอง แยกกันไม่ได้เลย
นี่ตามพระพุทธโฆษาจารย์นะคะ ได้เทศนาไว้ในวิสุทธิมรรค ท่านแสดงว่า “ทุกอย่างจะต้องเกิดตามความต้องการ ธาตุทั้ง ๔ นี้ ที่เกิดด้วยจิตหรือมีจิตเป็นสมุฎฐานนั้น จะต้องปรุงไปตามเจตนานั้น ๆ อาการนั้น ๆ ถึงจะเป็นไปได้” เช่น เราจะปรุงให้เป็นรูปอะไร ธาตุทั้ง ๔ ก็จะต้องปรุงไปตามนั้น ว่าจะนั่งหรือจะนอน จะยืนหรือจะเดิน
คล้ายกับเราจะทำขนมอะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็ปรุงส่วนสัดไปตามนั้น ขนมอย่างหนึ่งๆ ก็ปรุงไปคนละอย่าง อย่างหนึ่งก็ปรุงไปอย่างหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน เมื่อการปรุงในจิต ในอิริยาบถ ก็ต้องเป็นไปตามอำนาจจิตใจ เพราะจิตใจนี้ก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดรูปได้
ตามในวิสุทธิมรรคแสดงไว้ว่า เวลานั่ง เวลานอน ธาตุน้ำ กับธาตุดิน ต้องเป็นอธิบดี
ถ้าเวลายืน เวลาแกว่งแขน แกว่งขา เวลาวิ่งก็ต้องธาตุไฟ กับธาตุลม ที่เป็นธาตุเบา เป็นอธิบดี ธาตุเหล่านี้ก็เกิดขึ้นด้วยอำนาจของจิตใจ
แต่ว่า ถ้าท่านยังไม่ได้เรียนก็จะรู้สึกอย่างนั้นไม่ได้ว่า ขณะจิตนี้จะทำให้เกิดมหาภูตรูปได้อย่างไร ก็อาจจะยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงแค่นั้นได้
ถ้าหากว่า ท่านได้ศึกษาแล้วในวิถีจิต หรือจิตที่ขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ท่านก็จะทราบได้ตามหลักฐานที่ได้แสดงไว้ว่า :-
ในจิตขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้น มีรูปเกิดร่วมมาด้วยกับจิตเท่าไร, นี่ท่านศึกษาแล้วจะรู้ตามหลักปริยัติก่อนว่า
เวลาที่เรายกมือขึ้น หรือเรากวักมือ หรือเราวิ่งอย่างนี้ รูปจะเกิดเท่าไหร่ ถ้าท่านที่ศึกษาในปริยัติแล้ว ก็สามารถที่จะรู้ได้ รู้ได้ตามปริยัติก่อน แต่ว่าอำนาจที่รู้ตามปริยัตินั่นเอง
แต่ถ้าเวลากำหนดในรูปที่วิ่ง หรือที่นั่ง ที่นอนนี่แล้ว ปัจจัยที่รู้มาจากปริยัติน่ะ ก็สามารถจะให้ปรากฏขึ้นในขณะนั้นได้ ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นได้ในขณะนั้นว่า มีรูปอะไรเกิดขึ้นบ้าง คือว่า เราพิสูจน์ตามที่รู้ปริยัตินั่นแหละว่า
เมื่อเราจะยกมือขึ้น จะต้องมีรูปส่วนเบาถึงจะยกได้ ถ้าหากว่า มือนี่มันหนัก เราก็ยกไม่ได้มือนี่ก็ยกไม่ขึ้น เท้าก็เหมือนกัน คนที่มีธาตุไฟกับธาตุลมน้อยในเวลาเดิน คนนั้นก็จะเดิน คนนั้นก็จะเดินช้า เดินช้ากว่าจะยกขาได้ ก็เดินช้ากว่าจะยกขาได้ กว่าจะอะไรได้ ก็เดินอุ้ยอ้ายหน่อย ถ้าหนักมากๆ ก็ไม่ได้เลย
เหมือนอย่างคนที่เจ็บป่วยมาก นี่เพราะธาตุพิการ เมื่อธาตุพิการแล้ว จิตนี่จะมีอำนาจในธาตุได้ก็ต่อเมื่อธาตุนั้นสมบูรณ์ ยังดีอยู่ ก็สามารถเป็นไปตามความปรารถนาของเราได้ ธาตุนั้นจิตก็ยังปกครองได้อยู่ ก็ทำได้ตามปรารถนา
อันนี้ต้องให้เราพิสูจน์ดูว่า เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี่ จิตน่ะ จะมีอำนาจปกครองธาตุทั้ง ๔ ได้ต่อเมื่อธาตุธาตุทั้ง ๔ นี้ยังสมบูรณ์
ถ้าต่อไป ธาตุอันใดได้เสื่อมไม่สมบูรณ์แล้วก็ไม่อยู่ใต้อำนาจของจิตเหมือนกัน จิตใจก็บังคับไม่ได้ รูปนั้น ธาตุนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น แม้ใจปราถนาอยากจะได้ก็จริง รูปนั้นต้องการธาตุนั้นให้เกิดขึ้นอยากจะเดินก็เดินไม่ได้ ร่างกายไม่ยอมแล้ว ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของจิตใจแล้ว
เพราะฉะนั้น ธาตุไฟ กับ ธาตุลม ที่จะต้องทำให้รูปนั้นเกิดขึ้น ก็ไม่เกิด เพราะพิการ อย่างนี้ก็ยืนเดินไม่ได้เหมือนกัน เช่น อย่างคนอายุมากๆ นี้ความเสื่อมของธาตุมีมากแล้ว ก็ไม่เป็นไปตามอำนาจของจิตใจแล้ว ตอนนี้ไม่ขึ้นอยู่กับจิตใจ เพราะว่าเกิดวิปริตไปแล้ว คนแก่ก็ลำบาก จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็ต้องฝืนใจ ต้องเพียรพยายามเร่งกำลังใจ บางทีเร่งแล้วก็ไม่ไหว ลุกขึ้นไม่ไหวเหมือนกัน เพราะว่า ธาตุทั้ง ๔ นั้นเกิดไม่ได้ดังใจปรารถนา หรือตามอำนาจของจิต
ถ้าท่านที่ศึกษาแล้วในขณะจิตหนึ่ง รูปเกิดร่วมด้วยจิตนั้นเท่าไร มีมากมายตั้ง ๓๐ อย่างก็มี ๔๐ก็มี ถึง ๗๐ อย่างก็มี ในขณะหนึ่งๆ ที่จิตเกิดขึ้น รูปสามารถจะเกิดขึ้นได้พร้อมร่วมด้วยในขณะนั้น ถึง ๗๐ กว่า ก็ยังมี ตามนัยวิสุทธิมรรคแสดงไว้ จะเกิดมากหรือน้อยก็ตามเหตุที่ต้องการจะใช้ หรือที่จะต้องการจะให้เป็นไปในคราวนั้นครั้งนี้ก็แล้วแต่ เช่นอย่างว่า เราเดินไปเฉยๆ ธรรมดาก็เกิดอย่างหนึ่ง ถ้าเราพูด เราร้องเรียก เราตะโกนก็เกิดร่วมขึ้นมาอีกอย่างหนี่ง ในขณะที่เดินนั้นแหละรูปก็ต้องเกิดร่วมด้วย หรือในขณะที่เรากวักมือ หรือขณะที่เรารำละคร ร้องละครด้วย แล้วรำละครด้วย อันนี้รูปก็เกิดแยะ เกิดมากทีเดียวที่จะเกิดร่วมด้วย ในที่นั้นก็ต้องเกิดมาก แล้วแต่ว่าเราต้องการจะใช้อะไรหรือที่จะต้องเป็นไปในคราวนั้น, ครั้งนั้น ก็โปรดสังเกตอย่างนี้ เช่น
อย่างเด็กๆ ตัวเล็กๆ ร่างกายก็เล็กนิดเดียวเท่านั้น และก็จะขยายเติบโตขึ้นไปทุกทีๆ นี่ก็เพราะว่า ธาตุจะต้องเกิดมากขึ้นทุกทีๆ ใช่ไหมคะ นี่เพราะอะไร? ก็เพราะจิตเกิดมากขึ้น จิตเกิดตั้งแต่ปฏิสนธิ เป็นต้นมา แล้วก็เกิดเรื่อยๆมา รูปที่เกิดกับจิตนั้นก็เกิดเรื่อย มากขึ้นทุกทีๆ จิตเกิดตั้งแต่ปฏิสนธิแล้ว จิตก็เกิดเรื่อยไป เท่ากับที่เกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีรูปด้วย ในปัญจโวการภูมิแล้ว
จิตที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งรูปก็เกิดร่วมด้วย จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ต้องมีพร้อม
เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง ก็แปลว่าพร้อมทั้งขันธ์ ๕ ต้องเกิดพร้อม สัตว์ที่ปฏิสนธิในปัญจโวการภูมิ ที่มีขันธ์ ๕ แล้ว และจะต้องมีรูปที่เกิดตามขึ้นมาในขณะนั้นด้วย ท่านกล่าวไว้ละเอียดมากมายเหลือเกิน สำหรับผู้ที่มีปัญญามาก นะคะว่า จิตนี้นะ มี ๓ ขณะ คือ อุปปาทขณะ
ฐีติขณะ ภังคขณะ รูปไหนจะเกิดด้วยอุปาทขณะของจิตแรกเกิด รูปไหนจะเกิดด้วยฐีติขณะนั้น รูปอะไรจะเกิดอุปาทขณะดวงที่ ๒ รูปอะไรบ้างจะเกิดในจิตขณะที่ ๓ ท่านแสดงแจกไว้ละเอียดมาก แจกแจงเรื่องจิตของเรา เรื่องร่างกายของเรา ไม่ได้พูดเรื่องอื่น
หากว่าเด็กตัวเล็กๆ นั้น รูปก็ต้องเกิดตามจิตและจิตนั้นก็ต้องเกิดเรื่อยๆ ตั้งแต่ปฏิสนธิก็เกิดเรื่อยมา เกิดดับสืบต่อเป็นสายไป จนกระทั่งคนนั้นมีอายุเท่าไรก็ตาม หากว่า ไม่มีอุปสรรคอันใดจะมาตัดรอนให้ต้องตายไปเสียก่อนแล้วละก็ จิตก็จะเกิดดับอยู่เรื่อยไปตลอดกาล แล้วรูปก็จะเกิดอยู่เรื่อย จิตก็จะต้องรักษารูปที่เกิดนั้นอยู่เรื่อย หมดไปแล้วก็เกิดใหม่ ทะยอยกันเรื่อยไป แต่รูปนั้นดับช้ากว่าจิต
เพราะฉะนั้น รูปจึงจะมีปริมาณเพิ่มเติบโตขึ้นแต่รูปจะอยู่ได้ก็ต้องเพราะจิตเหมือนกัน จิตนี้เป็นผู้รักษาให้รูปอยู่ได้ ถ้าจิตดับแล้วรูปนี้ก็เป็นไปไม่ได้
ถ้าจิตไม่รักษาร่างกายก็เป็นไปไม่ได้ ร่างกายที่ปราศจากจิตแล้ว ก็คงมีอยู่ไม่ได้ เป็นอยู่ไม่ได้ก็เปื่อยเน่าไป ที่จิตมีอยู่นี่แหละ จึงรักษาไว้ได้ไม่ให้เปื่อย ไม่ให้เน่า ไม่ให้ผุพัง ทุกอย่างก็ยังใช้ได้ เคลื่อนได้ ไหวได้ เดินไปเดินมาก็ได้ นี่อาการเหล่านี้เป็นได้ด้วยอะไร? ก็ด้วยอำนาจของจิตนั้นเอง
ท่านเดินมาถึงที่นี่ได้ โดยใช้ให้ขาก้าวเดินมาได้ด้วยอะไร? ก็ต้องด้วยอำนาจของจิต เพราะต้องการจะมาที่นี่ ต้องการอย่างนั้น เพราะฉะนั้นร่างกายก็มาตามต้องการ มาถึงที่นี่ได้
ถ้าหากไม่ต้องการจะมาที่นี่ จะไปที่ไหน? ก็แล้วแต่อำนาจของจิต อิริยาบถนั้นๆ ก็เป็นไปตามอำนาจของจิตใจ ก็ไปตามที่นั้น ไปปรากฏในที่นั้นได้
ที่เราตั้งอยู่ได้นี้ ก็เพราะจิตเกิดอยู่เรื่อยสังขารร่างกายของเราจึงเป็นไปอยู่ได้ ถ้าหากว่าจิตนั้นดับลงไป ที่เรียกว่า “ตายแล้ว ร่างกายก็อยู่ไม่ได้ ต้องพินาศสลายไปด้วยเหมือนกัน เพราะไม่มีอำนาจจะรักษา”
โดยเหตุนี้ จิตจึงเป็นปัจจัยอันหนี่ง เรียกว่า “ปัจฉาชาตปัจจัยแก่รูป” จิตที่เป็นปัจจัยแก่รูปนี้ที่รักษารูปให้อยู่ได้นี่นะคะ ก็เรียกว่า “ปัจฉาชาตปัจจัย” ด้วยอำนาจของจิตที่รักษา และธาตุที่จะเกิดจากจิตนี้ก็อยู่ไม่ได้ ถ้าหากว่าจิตไม่มี ต้องถูกสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำลายพินาศไป จิตก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ร่างกายก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าร่างกายนี้พินาศไปเพราะสัตว์ที่มีขันธ์ ๕ นี่ รูป กับ นาม ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะเป็นไปได้ ถึงแม้ว่า จิตยังไม่ถึงคราวที่จะต้องตาย แปลว่า ยังไม่สิ้นอายุนะคะ อายุนี่ได้แก่ จิตด้วย
เพราะฉะนั้น จิตยังไม่สิ้นอายุละก็ ร่างกายก็อยู่ได้ยังไม่ตาย
เพราะฉะนั้น การตายนี่ ถ้าสิ้นอายุ จิตดับหมดอายุแล้ว ร่างกายก็จะต้องตายเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น อายุนี่ก็จะต้องเป็นไปตามกรรมเหมือนกัน จะอยู่ได้ช้าหรือเร็วเท่านั้น เพราะว่าการตายนี้ก็มี ๔ อย่าง ด้วยกันนะคะ
เมื่อจิตไม่มีอำนาจจะรักษา และเมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้ ก็เป็นปัจจัยให้จิตอยู่ได้ จิตก็ต้องอาศัยรูปด้วย แต่ที่นี้ถ้าธาตุทั้ง ๔ นี้ เกิดวิบัติวิกลวิการไป จิตก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ก็ถูกตัดรอนไป เหมือนดังอุปเฉทกมรณะ ตาย ก็ต้องตายไปด้วยกัน แล้วก็ตายอย่างชนิดอุบัติเหตุ ถูกอุปฆาตกรรมตัดรอนเสียให้ตายลง ในกายนี้แตกทำลายไป ก็ไม่ได้เหมือนกัน จิตก็เป็นอยู่ไม่ได้ ก็ต้องตายไป
เพราะฉะนั้น ธาตุที่จะเกิดกับจิต ก็เกิดไม่ได้ ไม่มี ใช่ไหมล่ะคะ ถ้าจิตดับก็เหมือนกัน
ส่วนจิตก็เหมือนกัน ต้องอาศัยร่างกายนี้เป็นไป ถ้าหากว่า ร่างกายนี้อยู่ไม่ได้ เพราะถูกสิ่งหนึ่งสิ่งใดทำลายไป จิตก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะสัตว์ที่มีขันธ์ ๕ แล้ว ต้องอาศัยกัน นามก็ต้องอาศัยรูป รูปก็ต้องอาศัยนาม เกิดขึ้นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ที่เข้าไปรู้อย่างนี้โดยแน่นอนจนหมดความสงสัย จึงเข้าถึง กังขาวิตรณวิสุทธิ ได้
การที่เราจะรู้ได้อย่างนี้แน่นอน หรือพิสูจน์ตามความจริงที่ปรากฏขึ้นแก่รางกายของเรา หรือสัตว์ทั่วไปก็ตาม ก็ต้องอาศัยปริยัติมาก่อน การได้ยิน ได้ฟังมาก่อนแล้ว ต้องพิสูจน์ตามว่าจะเป็นจริงไหม?
พิสูจน์ตาม ในขณะที่วัตถุนั้นกำลังเกิดขึ้นแล้วเราผู้ปฏิบัติก็ต้องกำหนด นามอะไรเกิดขึ้นก็ต้องรู้ แม้แต่จิตอะไรเกิดขึ้นก็ต้องรู้ รูปอะไรเกิดขึ้นก็ต้องรู้,สำหรับผู้ปฏิบัติวิปัสสนา
การที่ต้องรู้อย่างนี้นี่เอง จึงได้เลยรู้ปัจจัยของนามว่า นามเกิดขึ้นเพราะปัจจัยอะไร รูปอะไรเกิดขึ้นเพราะปัจจัยอะไร? ก็เป็นเหตุให้รู้ด้วย
เมื่อตามกำหนดอิริยาบถนี้เรื่อยไป ท่านก็จะรู้ว่า อิริยาบถแต่ละอิริยาบถที่เคลื่อนไหวไปนี้ ด้วยอำนาจปัจจัยนั่นเอง
นี่แหละรู้ปัจจัยของรูปอิริยาบถนะคะ
เพราะฉะนั้น ที่ก้าวไปด้วยอำนาจของธาตุลมกับอุตุเป็นอธิบดี ถ้าหากว่า ธาตุลมไม่เป็นอธิบดีแต่ธาตุน้ำกับธาตุดินเป็นอธิบดีแล้ว เราจะยกเท้าไม่ขึ้น, ยกไม่ได้ ทั้งที่อยากจะเดินก็ยกไม่ได้ไม่ขึ้น อย่างนี้เป็นไปด้วยอำนาจของธาตุลม จึงสั่งไปเคลื่อนไหวได้ มือและแขนกระดุกกระดิกได้ด้วยอำนาจของธาตุลม
เพราะท่านแสดงแล้วว่า ธาตุลมมีลักษณะทำให้หวั่นไหว ทำให้พองขึ้นอย่างนี้ ด้วยอำนาจของธาตุลมนะคะ
เพราะฉะนั้น การเคลื่อนไหวอิริยาบถในร่างกาย ต่างๆ นี้ ก็เป็นไปด้วยอำนาจของธาตุลม แล้วก็ด้วยอำนาจจิตทั้งนั้น แม้แขนจะแกว่งไปนิด, ยกมือขึ้นนิดหนึ่ง, หันหน้านิดหนึ่ง ก็ด้วยอำนาจจิตนะคะ แต่ว่าเรามีปัญญาน้อย เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ทันว่า จิตนั้นนะ สั่งให้รูปนั้นเกิดขึ้นเรารู้ไม่ทัน ถ้ายิ่งผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว ไม่ได้กำหนดแล้วก็ยิ่งจะรู้ได้ยาก หรือไม่สามารถจะรู้ได้เลย
แต่ผู้ปฏิบัติที่คอยกำหนดอยู่ ก็สามารถพอจะรู้ได้บ้างนะคะ
ต่อไปนี้ สำหรับผู้ที่กำหนดนามรูปได้ดีแล้วนะคะ จะรู้ว่ามีปัจจัยของนามรูป เช่น รูปนั่ง, รูปนอนจะเกิดขึ้นเพราะอะไรเราก็รู้
เพราะฉะนั้น ที่จิตเรานึกจะก้าวเท้าไป จะนั่ง จะนอน เราก็จะรู้เสียแล้ว เพราะว่าจิตละเอียดเข้า
โดยเหตุนี้ความละเอียดที่เรารู้นี่ เราจึงรู้ว่ารูปนั้นเกิดขึ้นเพราะจิตปรารถนาอย่างนั้นๆนี่ก็เป็นชื่อว่า “ปัจจัย”
บางท่านก็กำหนดตามอายตนะ คือกำหนดการเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น, รู้รส เป็นต้น คือว่าก็กำหนดนามเห็น นามได้ยิน รูปกลิ่น รูปรสโดยกำหนดนามบ้าง กำหนดรูปบ้างอายตนะนี่ก็เป็นภูมิของวิปัสสนาอันหนึ่งเหมือนกัน
เมื่อกำหนดไปๆ จะรู้ว่า นามนี้เกิดเพราะอะไร? นามนี้คืออะไร? คือการเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้ถูกต้องนะคะ นี่เกิดขึ้นเพระอะไร?
บางอย่างก็เกิดขึ้นเพราะรูปเป็นปัจจัย บางอย่างเพราะนามเป็นปัจจัยก็รู้ เช่น เรากำหนดการเห็น การได้ยิน เป็นต้น
เวลาเรากำหนด จิตจับอารมณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ พออะไรมากระทบจิตใจ เราก็รู้ เมื่อจิตใจเรานึกอย่างไร เราก็รู้ ตามมหาสติปัฏฐานว่า จิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นสมาธิ จิตไม่เป็นสมาธิ ท่านบอกว่าต้องให้คอยรู้อย่างนี้
การเห็น การได้ยิน เกิดขึ้นเพราะอะไร ก็รู้ทีนี้เมื่อกำหนดไปโดยละเอียดแล้ว พอเสียงมากระทบหู เป็นปัจจัยให้นามได้ยินปรากฏขึ้น เราก็รู้เสียแล้วว่า อ้อ! การได้ยินของเราที่เกิดขึ้นนี้เพราะอะไร? ก็เพราะว่า มีเสียงมาเป็นปัจจัย ถ้าเสียงไม่มีแล้วการได้ยินก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย นี่ผู้กำหนดก็สามารถ จะรู้ได้อย่างนี้นะคะ วิปัสสนานะต้องรู้ตามเหตุผลที่ถูกต้องโดยแท้จริง
การเห็นก็เหมือนกัน รูปารมณ์ต้องมีมาเป็นปัจจัยอยู่ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จะเห็นไม่ได้เลย ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็นมาเป็นปัจจัยและต้องอาศัยจักขุปสาท ต้องมีด้วย
ถ้านักเรียนอภิธรรม ก็ต้องทราบแล้วว่า การเห็นจะเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยปัจจัย ๔ อย่าง อันนี้สำหรับท่านนักศึกษาอภิธรรม คงทราบกันแล้วนะคะว่า การเห็น การได้ยิน จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัย ๔ อย่าง และอะไรบ้าง เช่น
การเห็นจะเกิดขึ้นได้ด้วยอะไร ? เกิดเพราะมีรูปารมณ์ มีจักขุปสาทดี มีแสงสว่าง มีจิตดวงก่อน และก็มีจักขุวิญญาณที่เห็นอย่างนี้นะคะ เมื่อรวมกันพร้อมด้วยปัจจัย ๔ อย่างนี้แล้วการเห็นก็เกิดขึ้น, คำว่า “เห็น” จึงมีขึ้นได้
ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งแล้ว การเห็นก็มีไม่ได้ นี่ขอให้เราพิจารณาดู เวลาที่การเห็นเกิดขึ้น
ทีนี้เราก็จะรู้ได้ซิว่า “เห็น” ที่เกิดขึ้นนี่นะ ไม่ใช่มีใครมาบันดาล ไม่ใช่มี พระอินทร์ พระพรหมมาสร้าง การ “เห็น” ขึ้นหรอก
การเห็นจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ดังที่ว่ามานี้เอง พูดอย่างนี้ก็จะเข้าใจ การเข้าใจอย่างนี้ก็จะเป็นเหตุให้เข้าถึง กังขาวิตรณวิสุทธิ”
ทางหูก็เหมือนกัน ต้องอาศัยปสาทหูดี อาศัยอากาศแล้วก็มีโสตวิญญาณเกิดขึ้นทำหน้าที่ได้ยินอย่างนี้ การได้ยินจึงเกิดได้ ถ้าปสาทหูเสียการได้ยินจะ เกิดขึ้นไม่ได้ ขาดเพียงอย่างเดียวก็เกิดไม่ได้ เสียงมากระทบ ปสาทหูก็ดี และก็ต้องมีอากาศซึ่งถ้ามีทั้งเสียง ทั้งหู แต่ถ้าเอาอะไรอุดรูหู ที่ช่องอากาศนี้ เราอุดเสียอากาศเข้าไม่ได้ อย่าให้มีอากาศเข้าไป เพราะท่านบอกว่าเราต้องอาศัยอากาศด้วย
ทีนี้เราก็พิสูจน์ซิว่า ถ้าไม่ต้องอาศัยอากาศ จะได้ยินไหม? แต่ว่า เราจะเอาอะไรอุดหูให้ตันเสีย ไม่มีอากาศเข้า การได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกัน นี่ก็เป็นความจริงใช่ไหม?
ที่นี้ในหูก็ดี ในเสียงก็ดี ท่านพิจารณาแล้วว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลใช่ไหม? ไม่มีใครสร้าง เสียง ที่จะมาให้ได้ยินก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวได้ยิน ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ประสาทหูก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และเสียงเองก็ไม่รู้ ไม่มีเจตนาที่ว่า จะให้หูได้ยินเสียงก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่มีเจตนาที่ว่า จะให้หูได้ยินเสียงก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่มีเจตนาด้วย ประสาทหูก็ไม่ใช่มีเจตนาว่าต้องการจะรับเสียง ว่าตัวนี่มีหน้าที่ต้องรับเสียง ไม่รู้! ประสาทก็ไม่รู้ใช่ไหมละ
ทีนี้วิญญาณก็เหมือนกัน ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวนะ มีหน้าที่อะไร? ก็ไม่รู้ และตัวนะเป็นอะไร? ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นสัตว์หรือบุคคล ก็ไม่เป็นทั้งนั้น
ทีนี้ผู้พิจารณานี่ก็รู้ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีใครบันดาล เกิดขึ้นด้วยเหตุด้วยปัจจัยนั่นเอง หรือที่ได้ยินก็ดี ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลทั้งนั้น ผัสสะทำหน้าที่กระทบอารมณ์ก็ไม่มีบุคคล ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย
เสียงก็ไม่ได้อยู่ที่หู หูก็ไม่ได้อยู่ที่เสียง แต่ว่า มาเป็นปัจจัยให้ปรากฏขึ้นได้
ได้ยินก็ไม่ได้อยู่ที่เสียง ได้ยินก็ไม่ได้อยู่ที่หู ท่านอุปามาเหมือนการตีกลอง ไม้กับกลองกระทบกันเสียงก็ปรากฏขึ้น
ถ้าจะถามว่า เสียงอยู่ที่ไหน? เสียงอยู่ที่ไม้หรือ? ไม่ใช่ เสียงอยู่ที่กลองหรือ? ก็ไม่ใช่อีก ไม่ใช่ทั้ง ๒ อย่าง
แต่ว่า อาศัย ๒ สิ่งกระทบกันเข้าแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เสียงเกิดขึ้น อย่างนี้ ใน ๓ อย่างนั้นจะไปหาสัตว์ หาบุคคลไม่มีเลย ในเสียงก็ไม่มี ในไม้ตีกลองก็ไม่มี และในกลองก็ไม่มี ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีผู้หญิง ไม่มีผู้ชาย ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ฉันใดก็ดี เหมือนกับอายตนะของเรานะคะ และสิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหมก็ไม่มี
นี่ผู้ที่ทราบเหตุปัจจัยอย่างนี้ ท่านก็แน่ใจว่าไม่มีใครสร้างรูปนี้ ไม่มีผู้สร้าง รูปนามทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัยนั่นเอง
เมื่อสิ้นเหตุ สิ้นปัจจัยแล้ว รูปนามนั้นก็จะสลายไป
เพราะฉะนั้น จิตของเราดวงหนึ่งๆ ก็เหมือนกัน ธาตุหนึ่งก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่า จิตนี้ได้ยินคราวนี้ ได้ยินครั้งที่ ๑ ได้ยินแล้วก็ดับไป ไม่ใช่เสียงที่มาใหม่นั้น เป็นเสียงที่ดับไปแล้ว แล้วก็กลับมาให้ได้ยินใหม่อีก ก็ไม่ใช่ และนั้นก็ไม่ใช่เสียงที่ได้ยินเมื่อคราวก่อน หรือเมื่อกี้นี้ และเกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่เลย
เสียงที่ได้ยินคราวก่อนก็หมดไปแล้ว ไม่มีอะไรที่จะติดตามมาเลย หากแต่ว่า เมื่อยังมีปัจจัยอยู่ก็เกิดขึ้นใหม่เท่านั้นเอง หรือเมื่อได้ปัจจัยใหม่ แต่ไม่ใช่อันเก่า
ได้ยินครั้งแรกกับได้ยินครั้งที่ ๒ ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน ได้ยินครั้งแรกก็ดับไปแล้ว ไม่เหลือเลยสิ้นเหตุสิ้นปัจจัยไปแล้ว แล้วเมื่อเหตุปัจจัยเกิดขึ้นได้ยินใหม่ ครั้งที่ ๒ ก็เกิดอีกอย่างนี้เรื่อยไป ตลอดภพตลอดชาติที่มีชีวิตตั้งอยู่
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นอย่างนี้แล้ว ต้องสามารถจะสละทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดได้ว่า ที่เราถือว่า อันนี้เมื่อตายแล้ว ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะต้องเกิดเป็นหญิง ถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องเกิดเป็นผู้ชาย นี่ที่เขามีความเห็นอย่างนี้ก็มี, มีอยู่คะ ตัวนี้ไม่หายไปไหนเลย ความรู้สึกอย่างนี้ หรือความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะหมดไปใช่ไหมคะ ในเมื่อเข้าใจถึงเหตุ ถึงปัจจัยแล้ว
ผู้ที่เข้าใจว่า ตายแล้วสูญ ไม่เกิดอีก แต่เมื่อเข้าไปรู้ว่า เหตุให้เกิดต้องมี ความเข้าใจว่าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ซึ่งเป็น อุจเฉททิฏฐิ ก็หมดไป เพราะเรารู้ว่ามันเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย และเหตุปัจจัยนั้นยังมีอยู่ แล้วก็ทำไมล่ะ เราถึงจะไม่เกิดขึ้นอีกได้ มันถึงจะไม่มีขึ้นอีกได้ มันก็ต้องมีขึ้นอีก
ตัวอย่างเช่น หูเราเคยได้ยินนี่ เหตุปัจจัยยังมีประสาทหูก็ดี ร่างกายเราก็ดี แล้วก็มีเสียงมามันก็ต้องเกิดได้ยินด้วย คราวที่ได้ยินที่แล้วมาก็ต้องอาศัยปัจจัยอย่างนี้ เวลาที่กำลังได้ยินอยู่ก็ต้องอาศัยปัจจัยอย่างนี้ และที่จะได้ยินต่อไปข้างหน้าอีก ก็ต้องอาศัยปัจจัยอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ความสงสัยจึงหมดไป ทั้ง ๓ กาล ทั้งปัจจุบัน อดีต และอนาคต นะคะ เพราะเหตุที่เข้ามาสู่ความจริงในปัจจุบันธรรม ที่สภาวธรรมนั้นปรากฏขึ้นนั่นเอง
ความเข้าใจว่า ไม่มีเหตุ ตายแล้วสูญก็หมดและก็ไม่มีความเข้าใจอย่างนั้นอีกแล้ว เพราะว่า ได้เข้าไปเห็นความจริง ที่ได้เข้าไปกำหนดทำวิปัสสนานั่นเอง
เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ความสงสัยว่า ตายไปแล้วข้างหน้า ชาติที่แล้วเราจะมีหรือเปล่าก็ไม่รู้นี่ อันนี้รู้ได้แล้วว่า ชาติที่แล้วเราจะมีไหม, มาด้วยอะไร? เราเกิดขึ้นเพราะอะไร? เพราะกิเลส เพราะกรรม เพราะวิบาก
ชาติที่แล้วเรามีกิเลสไหม? ถ้าชาติที่แล้วเราไม่มีกิเลส ชาตินี้เราก็ไม่มี, ถ้าชาตินี้เราไม่มีกิเลส ชาติหน้าเราก็ไม่มี ถ้าชาตินี้เรามีกิเลสจะรู้ได้แน่ชัดไหมว่าชาติหน้าเราก็ต้องมีภพชาติอีก
ถ้าเมื่อเราเข้าใจเหตุปัจจัยที่แน่นอนแล้วอย่างนี้ เราก็ต้องรู้ได้ พยากรณ์ตัวเองได้ว่า จะเกิดหรือไม่เกิด เราก็รู้ได้แน่นอน ทีนี้ถ้ามีความรู้ว่า เอ๊! จะมีหรือไม่มีก็ไม่รู้ ชาติที่แล้วมามีหรือเปล่า หรือมีแต่ชาตินี้ ชาติหน้าอาจจะไม่มี
ถ้าเรารู้ว่า การมีชาตินี้เพราะกิเลสเป็นปัจจัยอย่างนี้ เราก็รู้ว่า เวลานี้เรามีกิเลสนะ อ้อ! เวลานี้กิเลสเรายังมี ก็ไม่ต้องสงสัยหรอก ชาติหน้าก็ต้องมี เราก็ตัดสินได้นะคะ ถูก! ถูกต้องตามเหตุผล
ทีนี้ความไม่รู้อย่างนี้ก็หมดไป เพราะเหตุใด? บางท่านกำหนดด้วยปฏิจจสมุปบาท อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นี่ที่ท่านกำหนดมา นี่เป็นไปตามปฏิจจสมุปบาท
พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาแล้ว ก็ได้แสดงไว้ใน ปฏิจจสมุปบาท มีว่า นามรูปนี่เกิดจากเหตุปัจจัยทั้งนั้น ว่างเปล่าจากผู้สร้าง ว่างจากผู้บันดาลขึ้น อันนี้เพราะเห็น วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดรูปนาม นะคะ
สังขาร คืออะไร ? ทีนี้ท่านควรจะต้องเรียนนี่ ก็คือว่า “อวิชชา” น่ะไม่รู้อะไร? “สังขา” ได้แก่อะไร? ที่เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป วิญญาณนั้น คืออะไร? ให้เกิดนามรูปนี่ นามอะไร? รูปอะไร? เกิดขณะไหน?
ถ้าเข้าใจ อยากจะศึกษาให้เข้าใจให้แน่นอนก็ให้ทำความเข้าใจในเรื่องนี้
ปฏิจจสมุปบาทน่ะ ใครๆ ก็ทราบกันโดยมาก อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นี่ดูเหมือนแทบจะได้ยินกันแทบทุกคนเลย แต่ว่า “อวิชชา” น่ะ ไม่รู้อะไร? จึงให้เกิดสังขาร สังขารนั้นได้แก่อะไรบ้าง? แล้วสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ แล้ววิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปอีก นามรูปน่ะ นามอะไร? รูปอะไร? ถ้าอย่างนี้แล้วละก็ น้อยท่านที่จะได้รู้ ที่จะได้ศึกษานะคะ ถ้าเราไม่รู้จัก รู้ตามท่านนั้นแหละ ก็อาจจะพิจารณาพอจะได้ละมังว่า สังขารนี่เป็นอดีตก็พิจารณายากนะคะ แต่ว่าวิญญาณนี่เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ,พอจะตามได้ในปัจจุบันธรรม อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา นี่แหละบางทีก็อาจจะพิจารณาได้ ไม่รู้ละอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ชื่อว่า รู้ปัจจัยของนามนะคะ
อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร คืออะไร? อวิชชาเป็นตัวกิเลส สังขารเป็นตัวกรรม วิญญาณเป็นวิบาก
เมื่อย่อลงไปแล้วในปฏิจจสมุปบาท ก็ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก ๓ อันนี่เอง
กิเลส เป็นปัจจัยให้เกิด กรรม
กรรม เป็นปัจจัยให้เกิด วิบาก วิบาก ก็คือวิญญาณ ด้วยวัฏฏะ ๓ อย่างนี้เอง
เมื่อคนที่เข้าใจอย่างนี้ โดยแน่นอนแล้ว จะสงสัยไหมว่า อดีตนี้ไม่ใช่เป็นอย่างนี้ เมื่อชาติที่แล้วมาน่ะ วิญญาณ คือ การเห็น การได้ยินน่ะ ไม่ใช่เกิดเพราะปัจจัย อย่างนี้
เมื่อคนเข้าไปพิจารณาประสบเหตุผลตามความจริงในปัจจุบันธรรมแล้ว ของสภาวธรรมนั้น จะมีความรู้สึกใหม่ว่า ชาติที่แล้วมาน่ะ วิญญาณ คือการเห็น การได้ยิน นี่จะเกิดขึ้น เมื่อชาติที่แล้วมาไม่ต้องอาศัยปัจจัยอย่างนี้ จะมีได้ไหม? คนที่เข้าไปรู้ความจริงอย่างนี้แล้ว คงมีไม่ได้ ก็ต้องรู้ความจริงในอดีตด้วย และก็รู้ความจริงในอนาคตต่อไปด้วย เพราะเหตุที่รู้ในปัจจุบันธรรมนี้เอง ว่าอันนี้เป็นของจริง ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงว่า ชาติที่แล้วมาน่ะ รู้อย่างนี้จักขุวิญญาณ การเห็นเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง แล้วมาชาตินี้ จักขุวิญญาณก็ต้องอาศัยอีกอย่างหนึ่ง ชาติหน้าต่อไปอีก จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ก็ต้องอาศัยปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้น
เพราะอันนี้เป็นของจริง เป็นปรมัตธรรมไม่ใช่สัตว์บุคคลนะคะ นี่จะต้องเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย
เราจะเกิดอีกกี่ร้อยกี่พันชาติก็ตามเถอะ ก็จะต้องอาศัยปัจจัยอย่างนี้แหละเรื่อยมา ในสังสารวัฏฏ์ ไม่รู้กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านชาติ ก็ต้องเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไป
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะมีสงสัยไหมว่า อนาคตจะต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความสงสัยอย่างนี้จะไม่มีเกิดขึ้นเลยแก่ผู้ที่เข้าไปรู้ความจริง ที่กำลังปรากฏของนามรูปที่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยนั้นนะคะ
เพราะที่ได้ยินก็ต้องอาศัยปัจจัย การเห็นก็ต้องอาศัยปัจจัย ทุกอย่างเลยต้องอาศัยปัจจัยทั้งนั้น
อย่างเราที่เห็นกันอยู่นี้ ชาติที่แล้วมา ก็ต้องมีอย่างนี้ ทำไมจึงรู้ล่ะ? ทำไมเราจึงรู้ว่า ชาติที่แล้วเรามีล่ะ? ถ้าชาติที่แล้วเราไม่มี? เพราะกิเลสเรามี เมื่อกิเลสยังมี ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างหยาบ อย่างกลาง อาจจะไม่มี ความขุ่นข้องหมองใจมีไหม? กิเลสอย่างละเอียดมีไหม? อย่างนี้เราก็ต้องมี
ทีนี้เมื่อพืชยังมีอยู่ คล้ายๆ กับว่า “อนุสัย” นี่เป็นตัวพืช ยังมีอยู่ คือ ยังไม่ตาย ว่าอย่างนั้นเถอะก็เป็นปัจจัยให้เกิดต้นอีกได้ กรรมดี กรรมชั่ว ที่ทำด้วยกายบ้าง ทำด้วยวาจาบ้าง ทำด้วยใจบ้าง คิดดี คิดชั่ว ต้องมีใช่ไหม? ชาตินี้เราก็มีใช่ไหม? ฉะนั้น ธรรมชาติที่แล้วมาก็ต้องมี
ถ้าความคิดชั่วไม่มี ความคิดดีไม่มี อย่างพระอรหันต์ ต่อไปมีไหม? เพราะท่านไม่มี แต่นี่ของเรามี ชาติที่แล้วมาก็ต้องมี เมื่อชาตินี้ยังมีอยู่ชาติหน้าก็ต้องมี ใช่ไหมคะ?
การกระทำลงไปด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี บางอย่างก็ดี บางอย่างชั่ว ถ้ากิเลสมี กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ซึ่งเป็นหนทางของกรรมที่จะให้เกิดขึ้น ๓ ทวารนี้ต้องมี
เมื่อกรรมมีแล้ว วิบากก็ต้องมี เวลานี้วิบากของเรา คือเบญจขันธ์นั่นแหละ วิบาก คือเบญจขันธ์ก็มีอยู่ครบทุกอย่าง เบญจขันธ์นี่มาจากไหน? ท่านก็รู้แล้วว่า เมื่อชาติที่แล้วมา กิเลสของเราก็มี กรรมของเราก็มี วิบากของเราก็มี ชาตินี้กิเลสเราก็มี กรรมเราก็มี วิบากเราก็มี คือเบญจขันธ์ก็มีและไปชาติหน้าก็มีและชาติต่อไปก็มีอีกนั่นแหละ
ถ้ากิเลสเรายังมีอยู่ ชาติต่อไปก็ต้องเป็นอย่างนี้ไม่ต้องสงสัย นี่ผู้ที่เข้าใจในกังขาวิตรณวิสุทธิ
การที่ท่านไม่สงสัยในชาตินี้ ในชาติที่แล้วมา ในอดีตและในอนาคตนั้น ก็เพราะเหตุไร? เพราะท่านมารู้ปัจจุบันธรรมที่ถูกต้องนั่นเอง เข้าใจนามรูปในปัจจุบันธรรม เข้าใจในเหตุผลของนามรูปในปัจจุบันธรรมนั้นเอง
เมื่อเข้าใจปัจจุบันแล้ว ความเข้าใจนั้นๆ ก็เป็นความเข้าใจถูกไปถึงอดีตด้วย และเข้าใจถูกไปถึงอนาคตด้วย
เพราะว่า เมื่อปัจจุบันเรารู้อยู่อย่างนี้แล้ว อดีตที่แล้วมาก็ต้องเป็นอย่างนี้ อนาคตข้างหน้าก็ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ผู้ที่เข้าไปรู้ของจริงนะคะ ของจริงแล้วต้องรู้ตลอดไปหมดเชียว กี่ชาติๆ กี่กาลๆ ก็รู้เพราะของจริงสิ่งนั้นไม่เปลี่ยนแปลงต้องเป็นรู้อย่างนี้เหมือนกัน
อย่างดิฉันถาม ความรู้สึกของเรานี่แหละ ถ้าบางอย่างเท่าที่เราพอจะพิสูจน์ได้ว่า ตานี้มีหน้าที่เห็นรูป จักขุวิญญาณทำหน้าที่เห็น โสตวิญญาณทำหน้าที่ได้ยิน ฆานวิญญาณก็ทำหน้าที่รู้กลิ่น ชิวหาวิญญาณทำหน้าที่รู้รส
กายวิญญาณทำหน้าที่รู้ถูกต้อง ในวิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ จะขอยืมกันได้ไหม? ขอยืมกันใช้ได้หรือไม่ได้? ไม่ได้ใช่ไหม? ตาของฉันไม่มี ฉันขอยืมตาเธอ เหมือนอย่างกับเราขอยืมของกันอย่างนี้จะได้ไหม? ไม่ได้ใช่ไหมคะ? นี่อย่างนี้นะ จะขอยืมกันนี้ไม่ได้เลย เพราะต่างคนต่างเดินมาด้วยเหตุปัจจัยของใครคนนั้นก็สร้างปัจจัยขึ้นมาอย่างหนึ่ง เช่น ความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง นี่ก็เป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกายวิญญาณจะรู้ เพราะรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มากระทบนี่ก็เป็นอารมณ์ เป็นอารัมมณปัจจัยแก่จิต คือ กายวิญญาณที่ทำหน้าที่รู้ให้เกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ วิญญาณทางกายจึงจะต้องรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ได้ ทีนี้วิญญาณทางตา ทำหน้าที่เห็น จะเอาไปดูเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ได้ไหม ? เพราะว่าต่างคนต่างสร้างปัจจัย ของใครๆก็สร้าง ขอยืมกันไม่ได้ จะเอาไปดูเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ได้ไหม? ที่เราเข้าใจว่า “ได้” ก็เพราะเราจำได้ เช่น เขาคีบถ่านไฟแดงมาถามว่า นี่ร้อนหรือเย็น? เราเคยจำได้ว่าถ่านไฟแดงๆ นี่เราเคยถูกแล้ว รู้ว่าร้อน ทีนี้พอนัยน์ตาดู เราก็จำได้ว่า “ร้อน“ เราก็บอกได้ว่านี่ร้อนไม่ต้องการถูกละ!
แต่ที่จริงเราเคยถูกมาแล้ว และสัญญาที่จดจำเมื่อถูกนั่นแหละ รู้ว่ารูปร่างอย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้ สีสันอย่างนี้มันร้อน หรือมันเย็น เราเคยจำมันได้แล้วนะคะ แต่ว่าถึงอย่างนั้น ความเย็น ความร้อน ก็ไม่ปรากฏ ถึงตาจะรู้ว่า นี่มันร้อนหรือเย็น เช่นเห็นน้ำแข็งเข้า เราก็รู้ว่า เย็นเพราะเราจำได้ เราเคยถูกน้ำแข็งมาแล้วมันเย็น แต่ว่า เย็นไหม เวลาที่เห็นนั้น
ถึงแม้ตาจะรู้ล่ะว่า เย็น แต่ความเย็นจะเกิดได้ไหม ในเมื่อกายยังไม่ถูก? ไม่ได้!
เมื่อรู้ว่า เย็นร้อนที่กระทบนี้ เป็นอารมณ์เฉพาะของกายวิญญาณ ต้องถูกถึงจะรู้ได้นะคะ
กายวิญญาณที่ทำหน้าที่รู้ ต้องเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ วิญญาณทางกาย จึงจะรู้เย็น ร้อน, อ่อน แข็งได้
ทีนี้วิญญาณทางตา ทำหน้าที่เห็น จะเอาไปรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ไม่ได้ ที่เราเข้าใจว่าได้ ก็เพราะเราจำได้
แต่ถ้าเด็กๆ ที่ยังไม่เคยจำได้เลยว่า อันนี้มันร้อน หรือมันเย็นแล้ว เขาก็จะไม่รู้ อย่างไฟนี้ยังไม่รู้ว่า ร้อน เพราะยังไม่ได้เคยจับเล่น เพราะยังไม่รู้ ยังไม่เคย สัญญาที่จะจำว่า ร้อนในทางกายยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังไม่เคยถูกใช่ไหมคะ? หรือจะเอาหูไปฟัง ฟังว่า เย็นเป็นอย่างไร? จะรู้ได้ไหม? ก็จะรู้ไม่ได้เลย เอาหูไปฟังร้อน เพื่อต้องการจะรู้ว่า มันร้อน หรือไม่? ก็ไม่ได้เลย เพราะว่าหน้าที่คนละอย่าง
เพราะฉะนั้น ก็ขอยืมกันใช้ไม่ได้นะคะ เกิดขึ้นคนละอย่าง จะขอยืมอะไรมาใช้แทนกันไม่ได้ ถ้าหากว่า จิตนี้มีดวงเดียวอย่างที่หลายๆ ท่านเข้าใจกันละก็ ตาบอดก็จะแปลกอะไร ก็จิตมันมีดวงเดียว
เมื่อจิตมีดวงเดียว ไม่ทำหน้าที่ทางตา ก็ไปทำหน้าที่ทางหู จะเอาหูนี่แหละไปเห็นก็ได้ เพราะว่า จิตมีดวงเดียวนี่ ทำทางตา ทางหู น่ะ จิตดวงนั้นก็ไปทำหน้าที่ เห็น ทางหูก็ได้ใช่ไหม? เอาหูไปเห็นก็ได้ จะเป็นอะไรไป
แต่นี่ขอยืมกันใช้ไม่ได้ ของใครก็ต้องเป็นของใครทีเดียว จักขุวิญญาณก็ต้องอาศัยเกิดขึ้นด้วยรูปารมณ์ ทีนี้รูปารมณ์ คือ รูปร่างต่างๆ ของวัตถุในโลกนี้ จะเป็นรูปร่างอะไรก็ตาม เราเห็นได้ด้วยตา ถ้าตาไม่มี ถึงวิญญาณทางอื่นจะมีอยู่ เช่น ทางหู วิญญาณทางหูไม่ได้เกิดด้วยปัจจัย คือ รูปารมณ์ ก็ไม่สามารถจะทำหน้าที่ เห็น รูปารมณ์นั้นได้ ไม่สามรถจะเห็นรูปร่างได้ รูปร่างของวัตถุนั้น ๆ เห็นไม่ได้ หูมีก็จริง แต่ใช้เห็นไม่ได้ วิญญาณทางจมูกมีอยู่ ก็ใช้ดูรูปไม่ได้ เสียงก็เหมือนกัน จะใช้เอาไปดูไม่ได้เหมือนกัน ไม่ได้ทั้งนั้น
ทีนี้แล้วจะทำอย่างไร? นี่คิดดูซิว่า เราจะทำอย่างไร? ก็ต้องแล้วแต่ปัจจัย เพราะพวกนี้เป็นวิบากทั้งนั้น เกิดด้วยกรรมในอดีตเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไรได้ เราแก้ไขกันไม่ได้เลย ต้องแล้วแต่ปัจจัย ของแต่ละชนิดๆ ที่เป็นปัจจัย ด้วยอำนาจของ กรรม ก็มี เป็นปัจจัยด้วยอำนาจของ อุตุ ก็มี เช่น ตา หรือ จักขุปสาทนี้จะเสียไป ก็แล้วแต่กรรมหรืออุตุ เป็นต้น ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้ด้วยอำนาจอะไรก็แล้วแต่
เพราะฉะนั้น ตามที่อธิบายมานี้ เราก็จะพอเห็นกันได้ว่า ชาตินี้ วิญญาณนี้ เป็นตัวปรมัตถธรรมในชาตินี้นะคะ
การได้ยินก็เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่การได้ยินนั้นมีอยู่ เกิดด้วยปัจจัย แต่ก็ไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นปรมัตถธรรมเหมือนกันท่านเรียกว่า อันนี้เป็นปรมัตถธรรม หรือเป็นตัวอภิธรรม
ทีนี้ เสียง ก็เหมือนกัน เสียง ก็เป็นอภิธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แล้วก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในเสียงนั้น ไม่มีตัวตน และไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร ไม่มีใครสร้างให้เกิดขึ้น และไม่มีใครจะทำให้หมดไปได้ จะหมดได้ก็ด้วยเพราะหมดเหตุปัจจัย จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเหตุปัจจัย
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็เข้าใจแล้วว่าเบญจขันธ์นี้ หรือคนสัตว์ หรืออะไรก็ตาม ที่มีอายตนะแล้ว อายตนะที่ท่านกำหนดนี้ ท่านต้องรู้กำหนดโดยนัยของอายตนะเหมือนกัน ถ้าจะกำหนดอายตนะนะคะ ก็ต้องกำหนดด้วยนัยของอายตนะ
เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้เรียนภูมิวิปัสสนากัน เพราะว่า อายตนะเป็นภูมิของวิปัสสนาอันหนึ่ง เราก็เข้าใจแล้วว่า ชาตินี้เราเกิดมา ชาตินี้ต้องมีอย่างนี้แหละ ตาก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่ตัวตน หูก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่ตัวตน ได้ยินก็ไม่ใช่ตัวตน เสียงก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย เกิดขึ้นอย่างนี้ ตาทำหน้าที่เห็น หูทำหน้าที่ได้ยิน อย่างนี้
ท่านเคยนึกบ้างไหมว่า มันจะเปลี่ยนแปลงได้ มันจะล้าสมัยได้ นี่เป็นของจริง คือของจริงนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ใครจะเอาหูไปเห็นรูป หรือใครจะเอาตาไปฟังเสียงก็ไม่ได้เลย ใครจะเอาหูไปรู้รส ใครจะเอาตาไปรู้รส ก็ไม่ได้ ของจริงแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าไม่จริงแล้วก็เปลี่ยนแปลงได้ เอาหูไปเห็นก็ได้ เอาตาไปได้ยินก็ได้ เอาจมูกไปฟังเสียงก็ได้ เอากายไปรู้รสก็ได้ แต่ว่ากายนี้จะรู้รสไม่ได้ รู้ได้เฉพาะลิ้นใช่ไหม?
นี่นะคะ กังขาวิตรณวิสุทธิ พิจารณาตามความจริงอย่างนี้ จนกระทั่งหมดความสงสัยว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลสร้าง ถึงชาตินี้ ชาติหน้า ก็อย่างนี้เหมือนกัน
อันนี้ อยู่ในกังขาวิตรณวิสุทธิมาก ที่มากนี่ เพราะว่า แสดงโดยหลายนัยใช่ไหมคะ ภูมิของวิปัสสนาน่ะ บางท่านก็พิจารณาโดยขันธ์ บางท่านก็พิจารณาโดยอายตนะ โดยธาตุ โดยอินทรีย์อะไรอย่างนี้ นามรูปต่างๆ กัน
ถ้าโดยอายตนะก็พิจารณาอย่างนั้น โดยขันธ์ ก็พิจารณาอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่อัชฌาศัยของใครว่าจะถนัดภูมิไหน จะเป็นปัจจัยแก่ปัญญาของตนเคยอบรมมาในภูมิไหน เมื่อนำมาปฏิบัติในวิปัสสนาก็จะเข้าถึงภูมินั้นๆ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อะไรก็แล้วแต่
กังขาวิตรณวิสุทธิ จะเกิดได้ เพราะปัจจัยมาจากการพิจารณานามรูปปริเฉทญาณ และพิจารณานามรูปอย่างไร จึงจะไม่มีความสงสัยว่า มีตัว มีตน คือหมดความสงสัย จากการมีตัว มีตนในนามรูป ตลอดทั้งชาตินี้และชาติที่แล้วมา และชาติต่อไปอีกด้วย พิจารณาอย่างไร?
เมื่อคราวที่แล้วมา ก็ได้อธิบายถึงการพิจารณาตามอายตนะใช่ไหมคะ นามรูปตามอายตนะ ตามความเป็นจริงของสภาวธรรม ที่เกิดเป็นอยู่ตามอายตนะ เช่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พร้อมด้วยการงานของรูปนามนั้น พร้อมด้วยลักษณะและการงานของรูปนามนั้น พร้อมด้วยลักษณะและการงานของนามรูปนั้น ความปรากฏขึ้นของวัตถุนั้นและเหตุที่ทำให้เกิดนามรูปนั้น
การที่ให้พิจารณาให้เข้าถึงเหตุ ดังกล่าวนี้เองกังขาวิตรณวิสุทธิ จึงเกิดขึ้น ความเห็นว่า ไม่มีตัวมีตนในนามรูปที่ได้อธิบาย พร้อมยกตัวอย่างให้ทราบแล้ว ใช่ไหมคะ? เช่น ทางตา มีปัจจัยในการเห็น รูปจะเกิดได้ต้องอาศัยแสงสว่าง ต้องอาศัยรูปารมณ์ ต้องอาศัยจักขุปสาท และต้องอาศัยจิต เป็นต้น ๔ อย่างนี้ เมื่อรวมกัน การเห็น หรือคำว่า เห็น จึงมีขึ้นได้ ที่อาศัยการพิจารณา รู้อย่างนี้นะคะ ตลอดจนกระทั่งถึงอิริยาบถด้วย ตามกรรมฐานของมหาสติปัฏฐานนั้น
เพราะว่า เมื่อพิจารณาแล้วว่า รูปารมณ์ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย จักขุปสาทก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ผู้หญิง ผู้ชาย แสงสว่างที่ต้องอาศัยให้การเห็นเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่สัตว์บุคคล ผู้หญิง ผู้ชาย ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้
จิต คือมนสิการที่เป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน เพราะจิตก็ไม่ใช่อัตตา วิญฺญฺาณํ อนตฺตา วิญญาณก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
ทางหูก็เช่นเดียวกัน ทางจมูกก็อย่างเดียวกัน อาศัยปัจจัยต่างๆ ให้เกิดขึ้น อาศัยประสาทต่างกัน อาศัยวิญญาณต่างกัน ที่เกิดขึ้นแต่ละทวาร ๆ ซึ่งได้แจกแจงมาแล้ว
การพิจารณาอย่างนี้ ได้มาจากนามรูปปริจเฉทญาณนี้เหมือนกัน เป็นปัจจัยมา
ทีนี้การที่พิจารณาเห็นปัจจัยที่ให้เกิด รูปและนาม หรือสภาวธรรม หรือวัตถุธรรมก็ตาม ว่าเกิดด้วยเหตุด้วยปัจจัยอย่างนี้ การพิจารณารู้อย่างนี้ด้วยปัญญานั่นเอง ความสงสัยที่ว่า ในโลกนี้หรือในนามรูปนี้ ในขันธ์ ๕ นี้ มีตัว มีตน มีคน มีสัตว์หรือมีผู้หญิง ผู้ชาย ในสภาวธรรมที่จัดขึ้นเป็นขันธ์เป็นอายตนะนั้นไม่มี
เมื่อหมดความสงสัย หรือไม่มีพระเจ้า ไม่มีพระอิศวร หรือพระพรหมมาบันดาลให้นามรูปหรือสภาวธรรมเหล่านั้น เกิดขึ้นก็ไม่มี ไม่มีใครเป็นผู้บันดาล
นี่ความสงสัยอย่างนี้ ความไม่เข้าใจอันนี้ก็หมดสิ้นไป จึงเข้าถึง กังขาวิตรณวิสุทธิ นะคะ
ไม่ใช่ว่า จะหมดสงสัยแต่ในขณะที่ตัวกำลังเป็นอยู่ในชาตินี้เท่านั้น ชาติที่แล้วๆ มาก็รู้ตลอดไปโดยไม่สงสัยด้วยว่า ชาติที่แล้วมาก็ไม่มีตัวตนคนสัตว์เหมือนกัน
ชาตินี้ที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ ก็อาศัยเป็นขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตนคนสัตว์อย่างชาติที่แล้วมาและชาติต่อไปอีก สภาวธรรมเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้น การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัส ใจรู้เรื่องอะไรที่เกิดขึ้นก็ตาม ก็เกิดด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ไม่มีตัวตนคนสัตว์ อย่างเช่นที่เห็นในปัจจุบันนี้เหมือนกัน ตลอดไปหมดทั้ง ๓ ชาติ เมื่อแจกออกไปแล้ว
ความสงสัยในอดีตชาติมีเท่าไร? ความสงสัยในปัจจุบันชาติมีเท่าไร? ความสงสัยในอนาคตชาติที่จะเกิดต่อไปมีอีกเท่าไร? รวมกันทั้งหมดนะ มีความสงสัย ๑๖ อย่างด้วยกัน แต่ว่านี่ไม่ได้นำมากล่าวนะคะ ทั้ง ๑๖ อย่าง เพราะว่ามาก เอาแต่เพียงพอให้เข้าใจความหมาย หรือเนื้อความเท่านั้น
จะมีอะไรก็ตามเถอะ แต่ว่า ความสงสัยที่ว่ามีตัวตนคนสัตว์ หรือว่า นามรูป สภาวธรรม โลกนี้มีผู้สร้างนั้นน่ะ หมดไปเท่านั้นเอง นี่จุดสำคัญอยู่ที่ตรงนี้
ความสงสัยนั้นน่ะ แล้วแต่ สงสัยอะไรมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่สำคัญนะคะ
ทีนี้ กังขาวิตรณวิสุทธินี่ ความสงสัยอันนั้นก็หมดไป
เพราะว่า สภาวธรรมอันนี้ เป็นความจริงอยู่อย่างนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ชาติที่แล้วมาก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยอย่างนี้ ชาตินี้ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยอย่างนี้เหมือนกัน ชาติหน้าต่อไปก็จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยอย่างนี้เหมือนกัน ธรรมอันใดที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยอย่างนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย
เพราะเหตุว่า เข้าไปรู้ความจริงอย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็เลยทำลายความสงสัยในสิ่งที่แล้วมา แล้วก็ในชาติหน้าต่อไปด้วย ความสงสัยจึงจะหมดจด
เมื่อหมดจดจากความสงสัยดังกล่าวแล้วก็เข้าถึงวิสุทธิที่ชื่อว่า “กังขาวิตรณวิสุทธิ” นี่ผู้ปฏิบัติจะต้องนำปัญญาเข้าถึงวิสุทธิอย่างนี้ด้วย ถึงจะเดินไป, แปลว่า วิสุทธิอันนี้น่ะ แน่นอน เป็นทางที่จะทำให้ถึงพระนิพพานได้แน่นอนทีเดียวแต่ละชนิดๆ
บางทีก็รู้ปัจจัยว่าเกิดขึ้นด้วยอำนาจของ กรรมหรือของกิเลส ของ วิบาก ก็แล้วแต่นะคะในเรื่องวัฎฎะนี้ มีหลายนัย ท่านแสดงไว้ในพระไตรปิฎกในปฏิจจสมุปบาท ทั้งโดยย่อโดยพิสดาร โดย ๒ ก็มี โดย ๓ ก็มี โดย ๔ โดย ๕ โดย ๑๐ และ ๒๐ อันนี้มีหลายนัยทีเดียว ในที่สุดก็เรื่องของวัฏฏะ เรื่องของความเวียนว่ายตายเกิดนี่เอง แสดงไว้มากทีเดียว
อันนี้ก็แล้วแต่ว่า ใครจะมีการศึกษามากน้อยแค่ไหน ในชาตินี้ วิญญาณนี่ เป็นตัวปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น การได้ยินนี้ ก็เป็นปรมัตรธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล อย่างเดียวกัน
ถ้าพูดถึงนัยของอายตนะ แม้แต่พิจารณาไปด้วยนัยของขันธ์ หรืออายตนะ ถ้าส่วนอายตนะก็ต้องกำหนดโดยนัยของอายตนะเหมือนกัน ถ้ากำหนดโดยขันธ์ ก็ยกขึ้นพิจารณาตามนัยของขันธ์อย่างหนึ่ง ๆ ก็ยกขึ้นมี ๑๑ อย่าง เช่น อย่างจักขุวิญญาณ ถ้าพิจารณาโดยขันธ์ก็พิจารณา ๑๑ อย่าง โสตวิญญาณ ๑๑ อย่าง ฆานวิญญาณ ๑๑ อย่าง ชิวหาวิญญาณ ๑๑ อย่าง กายวิญญาณ ๑๑ อย่าง มโนวิญญาณดวงหนึ่ง ๆ ๑๑ อย่าง
เพราะฉะนั้น วิญญาณขันธ์ มีประเภท ๘๙ อย่างย่อก็ต้อง ๘๙ กอง ๘๙ ขันธ์ นับเป็นขันธ์ได้ จิตแต่ละดวงๆ นับเป็นขันธ์ได้ทั้งนั้น การนับเป็นขันธ์ได้นี่ ต้องนับได้เฉพาะสภาวธรรมที่เป็นสังขารเท่านั้น ถ้าสภาวธรรมที่เป็นวิสังขาร ก็นับเป็นขันธ์ไม่ได้ เข้าใจไหมคะ เพราะว่าสภาวธรรมที่เป็น
วิสังขารนั้นน่ะ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีปัจจุบัน ไม่มีหยาบ ไม่มีละเอียด อย่างพระนิพพานนี้ไม่มี สภาวธรรมอันนั้นพ้นจากกาลแล้ว
ธรรมใดที่พ้นจากกาลแล้ว นับเป็นขันธ์ไม่ได้โปรดเข้าใจย่อๆ อย่างนี้
ธรรมใดที่นับเป็นขันธ์ได้ แปลว่า ธรรมนั้นยังอยู่ในกาล อยู่ในอดีต อยู่ในอนาคต หรืออยู่ในปัจจุบันก็แล้วแต่ใน ๓ อย่าง คือ อยู่ในกาลนี้ จึงนับเป็นขันธ์ได้
ถ้าธรรมใดพ้นจากกาลทั้ง ๓ นี้แล้ว ธรรมนั้นนับเป็นขันธ์ไม่ได้ คือ นับเป็นกองไม่ได้ กองในที่นี้มี ๑๑ อย่าง อย่างจักขุวิญญาณจิตดวงเดียวนี่เป็นขันธ์ ๑ มี ๑๑ อย่าง ท่านแจกไว้ละเอียดมากเหลือเกิน ใน ๑๑ อย่างนั้นน่ะ มีธรรมที่หยาบ หยาบอย่างไหน หยาบโดยภูมิหรือหยาบโดยบุคคล มีหลายประเภท ธรรมที่ละเอียดก็เหมือนกัน ละเอียดโดยภูมิ ละเอียดโดยบุคคล หรือละเอียดโดยสภาวะ ก็เพียงพอให้เข้าใจในการนับขันธ์ไว้ก่อนนะคะ ส่วนจะนับอย่างไรนั้นต้องอาศัยในรายละเอียดอีกที
ถ้าพิจารณาโดยนัยของอายตนะ ก็นับไปโดยนัยของอายตนะว่า สภาวะอันนั้น อย่างนั้นเป็นสภาวะอันใด
อายตนะนี่ แปลว่า เป็นเหตุ เหมือนกัน เป็นเหตุให้เกิดขึ้น ก็รู้ว่า อายตนะนั้น เป็นเหตุให้เกิดอย่างนั้น เช่นอย่างว่า รูปายตนะ เป็นอายตนะภายนอก เป็นเหตุให้เกิดอะไร? เป็นเหตุให้เกิดจักขุวิญญาณ เป็นเหตุให้เกิดเจตสิก เพราะอาศัยปัจจัยมาจากรูปารมณ์
เพราะฉะนั้น รูปารมณ์ จึงถือว่า เป็นอายตนะอันหนึ่ง เป็นเหตุหนึ่ง ที่จะให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น
จักขุปสาท ก็เป็นอายตนะ เพราะว่า เป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่จะให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเหมือนกันฉะนั้น จึงจัดเป็นอายตนะได้ เรียกว่า จักขวายตนะ เป็นที่อาศัยของจักขุวิญญาณ
ตัวจิตเอง ก็เป็นอายตนะ เพราะเป็นที่อาศัยให้เกิดเจตสิก ให้เกิดรูปเหมือนกัน ขอให้เข้าใจย่อๆ ไว้ก่อน ถ้ามากนักประเดี๋ยวจะฟั่นเฝือ ทำความเข้าใจไม่ไหว ก็ลืมหมด
ความจริงอันนี้ ท่านก็รู้อยู่แล้วนะคะว่า คำสอนในพระพุทธศาสนาน่ะ เป็นของจริง เมื่อเป็นของจริงแล้ว ก็ไม่มีการล้าสมัย เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
เมื่อไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว คำว่า ล้าสมัยในพระพุทธศาสนานี่ มีไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ไม่มีเหตุผล ที่จะเป็นไปได้อย่างนั้นเลย
ท่านที่เข้าใจปฏิบัติ ในหน้าที่ของกังขาวิตรณวิสุทธิ นี้แล้วนะคะ เมื่อท่านกำหนดๆ ไป ท่านจะรู้เหตุปัจจัยของธรรมเหล่านี้ได้โดยตรงทีเดียว
เพราะว่า กำหนดไปจากนามรูปปริจเฉทญาณ คือกำหนดนามรูป มาจากนามรูปปริจเฉทญาณนั่นเอง อันนั้นก็เป็นทิฏฐิวิสุทธิ ปัจจัยของกังขาวิตรณวิสุทธินี้ ก็มาจากนามรูปปริเฉทญาณก็จะรู้ได้ว่า ธรรมอันนั้นจะเกิดขึ้นเพราะเหตุใด จิตแต่ละดวงเกิดขึ้น เช่นอย่างโทสจิต เกิดขึ้นเพราะอะไร? เกิดขึ้นเพราะเห็นรูปไม่ดี ได้ยินเสียงไม่ดี เป็นต้น โทสจิตก็เกิดขึ้น อันนี้ก็เรื่องปัจจัยของนาม
เมื่อเวลาเห็นรูป หรือได้ยินเสียงดีๆ โทสจิตอยู่ที่ไหน? โทสจิตไม่มีแล้ว ต้องดับไป เพราะว่ารูปดีๆ เสียงดีๆ นี่ ไม่ใช่เป็นปัจจัยแก่โทสจิต เป็นปัจจัยแก่ราคะจิต
เพราะฉะนั้น จิตแต่ละดวง ก็ต้องมีปัจจัย ต้องได้ปัจจัยทุกดวงที่เกิดขึ้น แต่ละอย่างๆ ไม่ใช่เกิดได้เอง แต่ละครั้งก็เกิดขึ้นด้วยปัจจัย ไม่ใช่เกิดเพราะใครบันดาล เมื่อสิ้นสุดเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เหลือมาถึงจิตที่เกิดใหม่ เมื่อได้รับอารมณ์ใหม่
แต่ที่จริง นักศึกษาเข้าใจแต่เพียงว่า จิตนี่นะต้องมีอารมณ์เป็นปัจจัย โดยสาธารณะแล้ว ก็อารมณ์นี่แหละเป็นปัจจัย
เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว อารมณ์นี่ ก็มีทั้งรูปทั้งนาม เพราะฉะนั้น พูดแต่อารมณ์อย่างเดียวว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดนามก็ได้ รูปเป็นปัจจัยให้เกิดนามก็ได้ อารมณ์นี่ เป็นรูปก็มี เช่น สี เสียง กลิ่น รส เหล่านี้ เป็นรูปให้เกิดนามก็ได้เหมือนกัน ฉะนั้นจึงได้ทั้ง ๒ อย่าง นี่ แม้อารมณ์อย่างเดียว อารมณ์ที่เป็นปัจจัยอย่างเดียว ปัจจัยนั้นมีมาก มีตั้ง ๒๔ ปัจจัย ก็มีรูปบ้าง นามบ้าง นั่นเอง นามเป็นปัจจัยให้เกิดรูปบ้าง รูปเป็นปัจจัยให้เกิดนามบ้าง รูปนามเป็นปัจจัยให้เกิดนามบ้าง อะไรทั้ง ๒๔ อย่างนั้น ก็สับเปลี่ยนกันเป็นปัจจัยไป แต่ก็เป็นเรื่องของรูปนามทั้งนั้น เมื่อสิ้นเหตุสิ้นปัจจัยแล้วธรรมเหล่านั้นก็ดับไป ไม่เหลือมาถึงธรรมที่เกิดใหม่ แม้แต่จิตที่เกิดขึ้นทีหลังดวงหนึ่ง ก็ไม่ใช่จิตดวงที่ดับไปแล้วมาเกิดขึ้นใหม่ จะเป็นจิตดวงเดียวกันอย่างไรได้
อย่างเช่นโทสจิตเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยอารมณ์ที่ไม่ดี ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ โทสจิต จึงเกิด
ส่วนโลภจิตนั้น เกิดขึ้นด้วยอารมณ์ที่ดีอิฏฐารมณ์ โลภจิตจึงเกิด
เพราะฉะนั้น ได้ปัจจัย ได้กำเนิดมาต่างกัน จะเป็นคนเดียวกันอย่างไรได้ นามสกุลก็ต่างกัน ว่าอย่างนั้นเถอะ ก็จะเป็นคนเดียวกันไม่ได้ ชื่อกับนามสกุลก็ต่างกัน เหตุให้เกิด ที่อยู่ ที่เกิดต่างกัน ก็ต้องไม่ใช่คนเดียวกัน ไม่ใช่คนนั้นจะกลับมาเป็นคนนี้ได้นะคะ
ท่านอุปมาเหมือนกับเม็ดมะม่วง ที่ได้มาจากต้นมะม่วง ต้นมะม่วงนั้นแหละ เป็นพืชให้ออกเป็นเม็ด พืชในที่นี้ คำว่า พืช นี้ ท่านหมายถึงวิญญาณ
วิญญาณนี่ เป็นตัวพืช คล้ายๆ กับว่า เป็นเม็ดพืชอันหนึ่ง ส่วนกรรม เป็นที่ดิน ถ้าพืชนั้นเกิดเพราะที่ดิน ปลูกลงไปในที่ดินที่ดี ที่เป็นกุศลกรรม พืชนั้นก็งอกงามสมบูรณ์
ถ้าปลูกลงไปในที่ดินที่ไม่ดี ที่มีพืชไม่ดีอย่าง อกุศลกรรมอย่างนี้, เพราะเป็นเหตุให้เกิดวิบาก คือวิปากวิญญาณที่จะไปเกิดขึ้น พืชนั้นก็ไม่ดี ไม่งอกงาม ไม่สมบูรณ์ ก็ขาดตกบกพร่อง ถ้าเป็นคนบางทีตาไม่ดี หูไม่ดี อะไรอย่างนี้ เป็นต้น เพราะว่าที่ดินนั้นไม่ดี ต้นไม้มันก็ไม่งอกงาม อาจจะพิกลพิการไป ส่วนร่างกายเรานี่ ก็เหมือนกับต้นไม้ ท่านอุปมาไว้เหมือนกับเม็ดมะม่วง นะคะ ต้นมะม่วงนั้นไม่ได้มีอยู่ เอาเม็ดนั้นมาเพาะปลูก คือเอาเม็ดเก่ามาเพาะมะม่วง เพาะลงไป แล้วมะม่วงโตขึ้นจนออกลูก ก็เกิดเม็ดขึ้นมาใหม่
ทีนี้ เม็ดที่มาเกิดใหม่นี้ ไม่ใช่เม็ดเก่าที่เราเอาไปเพาะ แต่ว่าเม็ดใหม่เกิด เพราะอาศัยเหตุจากเม็ดเก่า
ถ้าไม่มีเม็ดเก่า เป็นปัจจัยให้เกิดเม็ดใหม่แล้ว เม็ดเก่าไม่มี เม็ดใหม่ก็เกิดไม่ได้เหมือนกัน
เหมือนกับจิตของเรานี่ จิตแต่ละดวงๆ เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันทุกดวง ดวงที่เกิดก่อนเป็นปัจจัยให้เกิดดวงหลังๆ คือ ดวงที่ ๑ เป็นปัจจัยให้เกิดดวงที่ ๒ ดวงที่ ๒ เป็นปัจจัยให้เกิดดวงที่ ๓ ดวงที่ ๓ เป็นปัจจัยให้เกิดดวงที่ ๔ ตามขณะๆ ที่เกิด ขณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ อะไรก็แล้วแต่ เกิดตามขณะหนึ่งๆ นี่แหละ ก็ต้องเป็นปัจจัยอยู่อย่างนี้เรื่อยไปในสังสารวัฏฏ์ กี่มหากัปก็ตาม กี่ภพ กี่ชาติก็ตาม ก็ต้องเป็นปัจจัยวนเวียนกันอยู่เรื่อยไป
แต่ว่าจะขาดปัจจัยลงเมื่อไร? คือว่า จิตดวงหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอีก แปลว่า ปัจจัยขาดแล้ว ไม่เกิดอีกแล้ว ไม่มีเม็ดที่จะเพาะอีกเลย เพราะว่า ต้นไม้นั้นไม่มีเม็ดออกแล้ว ไม่มีที่จะเพาะ ดับ เมื่อดวงนั้นดับไปแล้วเป็นอันสิ้นเหตุสิ้นปัจจัย ไม่มีดวงใหม่เกิดอีกแล้ว จิตดวงนั้นคือจิตดวงไหน? ได้แก่จิตอะไร? อยู่ที่ไหนคะ?
มีอยู่ขณะเดียว ดวงเดียว คือ จุติจิตของพระอรหันต์ จุติจิตของพระอรหันต์ นี่เป็นผู้ทำลายเหตุปัจจัยแล้ว สิ้นหมดแล้ว แต่ว่า จิตที่ประพฤติเป็นไปอยู่กับพระอรหันต์ที่ยังไม่จุติ แม้หมดยางแล้ว แต่จิตก็จะยังเกิดดับอยู่ เพราะอะไร? เพราะว่าจิตนี้ได้ปัจจัยมาจากอดีตชาติ ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ได้มาจากอดีตกรรม
เพราะฉะนั้น วิบากยังต้องเกิดอยู่เรื่อยไป ก็ต้องเป็นไปจนกว่าจะหมดอายุ หรือสิ้นกรรม สิ้นปัจจัยลงไปเมื่อไร จิตนั้นจึงดับ แล้วก็หมดสิ้นกัน
พอท่านชำระเหตุปัจจัย ที่จะให้เกิดอีกไม่มีแล้ว พอจุติจิตพระอรหันต์เกิดขึ้น อุปาทะ ฐีติ ภังคะ แล้วก็ดับไป พอดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตก็ไม่เกิดอีก จิตก็เป็นอันว่าหมด ดับสนิทไม่เหลือเลยในโลก ภพชาติดับสนิท ไม่มีเลย
พอปรินิพพานแล้ว ชาติไม่มีเกิดอีกแล้ว ปฏิสนธิจิตไม่เกิดต่ออีกเลย
แต่ถ้าตามธรรมดาของบุคคลที่ยังไม่สิ้นอาสวะ ที่ยังมีภพชาติอยู่ ที่เรียกว่า “สัมภเวสี” พวกเรานี่แหละ พวกสัมภเวสี คือ พวกที่ยังมีภพ มีชาติอยู่ถือว่าผู้ที่แสวงหาภพชาติอยู่แล้ว
พอจุติจิตเกิดขึ้น และจุติจิตดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิต จะต้องเกิดต่อทันทีทีเดียว เพราะภพชาติยังไม่หมด ปฏิสนธิก็เกิดต่อไป แล้วแต่ภูมิว่า เกิดในที่ไหน จิตดวงไหนในปวัตติกาล ตาเห็นรูปหรือหูได้ยินเสียง อะไรก็แล้ว แต่ว่าในภูมินั้น คือจิตที่จะไปเกิดในภูมินั้นได้เท่าไร ก็เกิดต่อเรื่อยไปแล้ว พอถึงจุติจิตแล้ว ปฏิสนธิก็เกิดต่อไปอย่างนี้ เวียนไปเวียนมาแล้วแต่ อาจจะไปปฏิสนธิในนรก ในอบายเป็นสัตว์ เดรัจฉานหรือเป็นเปรต เป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดา เป็นพรหม ได้ทั้งนั้น เกิดเป็นอะไรก็ได้ เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว ปฏิสนธิก็เกิดติดต่อกันเรื่อยไป เพราะฉะนั้นไม่มีที่จะขาดจากสังสารวัฏฏ์
เมื่อชาติยังมีอยู่ ปฏิสนธิจิตยังเกิดอยู่ตราบใด ตราบนั้น ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส ก็ตามเบียดเบียนไปเรื่อยไป ไม่มีล่ะที่จะหมดสิ้นได้
เพราะว่า ทุกข์เหล่านี้มาจากชาติเป็นเหตุเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า ความทุกข์ ความโศก ความร่ำไห้ นี้ เป็นอานิสงส์ ที่เกิดมาจากชาติ
เพราะฉะนั้น คนเรานี่ชาติหนึ่งๆ นับไม่ถ้วนแล้วว่า เกิดมากี่มหากัป กี่ร้อยล้านชาติ น้ำตาที่ต้องร้องไห้นี่ เกิดมาชาติใดก็ต้องร้องไห้ จะต้องได้พบกับ โสกะ ปริเทวะ ถึงแม้ไม่ประสบในสิ่งที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็ต้องเสียอกเสียใจ หรือประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ มาพบเข้าก็ต้องเสียใจอย่างนี้ แปลว่า เคยร้องไห้มาแล้วอย่างนี้ ถ้าหากว่าจะรองน้ำตาไว้ ของคนหนึ่งๆ น่ะ มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔
ดูซิ ! เห็นไหม ร้องไห้มามากมายจน อย่างเช่น นางปฏาจารา ที่ร้องไห้ลูกตายน่ะ ท่านก็อุปมาให้ฟังว่า นี่แหละ นางนี้ก็ร้องไห้มา ไม่ใช่แต่ภพชาตินี้, เมื่อเกิดมาทีไรๆ ก็มาร้องไห้ทุกที แล้วก็ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก นี่ก็ไม่รู้ว่า พลัดพรากมากี่หน กี่ครั้งแล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า ภพชาติยังไม่สิ้นสุดละก็ เราก็จะต้องร้องไห้กันอยู่อย่างนี้อีก ต้องประสบกับสิ่งที่พลัดพรากจากสิ่งที่รักอีก คิดอะไรไม่สมความปรารถนาอีก อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน ที่พบมาแล้วนี่ น้ำตานี่รองไว้ ได้มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ คนหนึ่งๆ น่ะ
กระดูกของคนหนึ่งน่ะ เกิดมาแล้วก็ตายไป กระดูกก็กองอยู่ เกิดมาแล้วก็ตาย กระดูกก็กองอยู่ ถ้ารวบรวมเข้าไว้แล้วใหญ่โตยิ่งกว่าเขาพระสุเมรุเห็นไหมคะ ใหญ่ยิ่งกว่าเขาพระสุเมรุอีก นี่คิดดูซิ! แล้วเรานี่น่ะ เราก็จะตายต่อไปอีก กระดูกเรานี่ไม่ใช่เพียงแค่นี้นะ เรายังไม่สิ้นภพชาตินี่ เกิดอีกก็ต้องตายอีก แล้วจะตายด้วยอะไรก็ไม่รู้ ถูกเขาฆ่าตายมาแล้วกี่หนก็ไม่รู้, ตายด้วยกินยาพิษตาย โสกะปริเทวะ มาแล้วกี่หนก็ไม่รู้
คราวนี้เราจะต้องตายอีก ข้างหน้านี่ เราไม่นึกกลัวกันบ้างรึ น่ากลัวไหม? อันนี้ซิ! น่ากลัว ภพชาติที่ผ่านมาแล้วน่ะ ไม่เป็นไร ก็นึกถึงซิว่าเราจะต้องไปเกิดข้างหน้าอีกนี่นับไม่ถ้วน ที่สุดของเรานี่ จะไปที่สุดลงเมื่อไร? ถ้าเราประมาท ผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาทละก็ ไม่มีที่สุดเลย
ท่านถือว่า สังสารวัฏฏ์นี่ เป็นตัวคุกใหญ่ทีเดียว ติดอยู่ในสังสารวัฏฏ์นี่ เวียนว่ายตายเกิดได้รับทุกข์อยู่ในสังสารวัฏฏ์นี่ ไม่มีละ ติดกันมาแล้วไม่รู้ว่าเท่าไร ๆ กี่ภพชาติ
แต่ว่า ความวิปลาสของเรานี้ มันไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ใช่ไหมล่ะ มันไม่อยากจะพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์นี่หรอก มันเสียดายที่สุดเลย อยากจะขออยู่ในคุกนี่ละ เพราะอะไร? เพราะเราไม่ได้เห็นว่าเป็นทุกข์ ใช่ไหมคะ เราไม่ได้เห็นว่า เป็นที่ขังให้ได้รับทุกข์ทรมาน เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น แต่เรากลับเห็นเป็นที่ให้ความสุข จะตายไปยังรู้สึกเสียดาย ไม่อยากเลื่อนไปจากแดนนี้ คุกนี่เขามีหลายแดน เลื่อนจากแดนกามาวจรนี่ใช่ไหม เลื่อนจากแดนอบายมา ขอให้มาอยู่มนุษย์เถอะ ก็อยู่ในคุกนั่นแหละ เลื่อนจากมนุษย์ ก็ขอให้เป็นเทวดาเถอะ ก็อยู่ในคุกอีกนั่นแหละ อยู่ในแดนนั้นอีกแหละ เลื่อนจากเทวดาไปแดนพรหม แต่ว่า คงอยู่ในคุกนั่นเอง มันมีหลายแดนนี่ โทษมาก โทษน้อย ทุกข์มากทุกข์น้อย
คิดดูซิคะนี่ เรามันไม่เห็นใช่ไหมคะ ทีนี้พระพุทธองค์แสดงอย่างนี้ นางปฏาจารา เป็นคนมีบุญบารมีมาก พอพระพุทธเจ้าแสดงเท่านั้นแหละ ทั้งๆ ที่เวลานั้นเสียสติเป็นบ้าอยู่ด้วย ไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว ลูกตาย ผัวตาย ใช่ไหม? พ่อตาย แม่ตาย หมดทั้งนั้น นั่นแหละ คิดดูซิว่า ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ต้องเสียใจร้องไห้จนกระทั่งเสียสตินะคะ
แต่กระนั้น ยังฟังเทศนา ของพระพุทธเจ้ารู้เรื่อง ยังเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ คิดดูซิ บารมีเขาต้องดีกว่าพวกเราแน่
พวกเรานี่ เป็นคนดีๆ กันทั้งนั้น ยังไม่ถึงกับวิปลาสจนเสียสติเลย แต่อย่างนั้นยังฟังอะไรไม่ค่อยจะรู้เรื่องเลย
นี่แหละค่ะ พระพุทธเจ้าแสดงเพียงแค่นี้เธอก็รู้ ก็สำเร็จได้อย่างเดียว ซึ่งก็ต้องผ่านวิสุทธิเหมือนกัน ต้องผ่านนี่ กังขาวิตรณวิสุทธิ ก็ต้องผ่านมา
พระพุทธเจ้านี่ พระองค์มีอุบายหลายอย่างให้เห็นว่า คนที่เกิดมาในโลกนี้ มีทุกข์ด้วยกันทุกคน ต้องตายทุกคน ต้องแก่ทุกคน ต้องเจ็บทุกคน ต้องร้องไห้ทุกคน ถ้าใครประสบเข้าแล้ว ก็ถือว่าไม่ใช่ของแปลก
เพราะฉะนั้น ของที่น่าควรคิดที่สุดของบุคคลที่ได้พบนะว่า ทำอย่างไร ถึงจะพ้นจากภพจากชาติอย่างนี้
ถ้าพระพุทธเจ้าไม่บังเกิดขึ้นในโลกนะคะ ไม่มีหวัง ไม่มีหวังละ หนทางที่จะออกจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ไม่มีหวังเลย
ถ้ากัปไหน พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกนั่นแหละ หนทางอันนี้แหละ จึงปรากฏขึ้นในโลก มีหนทางที่จะชี้ทางให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ได้
เพราะฉะนั้น คนสมัยก่อนนี้ฟังเทศน์พระพุทธเจ้าจบ เขาต้องประกาศความอัศจรรย์ในคำเทศนาของพระพุทธองค์ พอจบลงแล้วต้องประกาศความอัศจรรย์ ๔ อย่างทีเดียว พอฟังจบก็อุทานว่า “อัศจรรย์จริงพระเจ้าข้า สิ่งที่ไม่เคยมีก็มีขึ้นแล้วในโลก สิ่งที่ไม่เคยได้ยินก็ได้ยินขึ้น คำเทศนาของพระองค์นี่เหมือนกับหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดอยู่ ให้คนมีตาแลเห็นกันในที่นั้น เหมือนคนที่เดินหลงทาง ไม่รู้จะไปทางไหน เดินวนเวียนอยู่ เมื่อได้ฟังเทศนาของพระพุทธเจ้า คำเทศนาของพระองค์ เหมือนกับจุดไฟขึ้นให้แสงสว่าง สำหรับคนที่ตาจะแลเห็นทางออกได้” เขาสรรเสริญกันมาก คำเทศนาของพระพุทธเจ้านี่นะคะ
เพราะฉะนั้น เรานี่นับว่า เป็นผู้มีลาภที่สุดนะที่ได้เกิดมาในกัปที่มีพระพุทธศาสนา มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในกัปนี้ ที่เรากำลังเป็นอยู่นี้ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าบังเกิดถึง ๕ พระองค์ กัปนี้ ที่เรียกว่า “ภัทรกัป” นี่แหละ มีพระพุทธเจ้าเกิดมากที่สุด ไม่มีกัปไหนจะเกิดมากกว่ากัปนี้เลย ซึ่งบางกัปไม่เคยมีเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้ไปบังเกิด พระพุทธเจ้ากว่าจะเกิดได้แต่ละกัปนั้นยากนัก
พวกเรานี่ต้องนับว่า มีบุญที่ได้มาเกิดในกัปที่มีพระพุทธศาสนา แล้วมิหนำยังไม่ว่างจากมรรค ผล นิพพาน ยังไม่ได้ว่างนะ ยังสามารถที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงพระรัตนตรัยได้ด้วย ยังมีอยู่ในระหว่าง ๕๐๐๐ ปีนี้ เราก็อุตส่าห์มาเกิดในระหว่าง ๕๐๐๐ ปี ซึ่งเป็นระยะน้อยที่สุด ในระหว่างหลายร้อยล้านปีแล้วคิดดูซิ เราเป็นคนมีลาภไหม? แต่ว่า ถ้าเราไม่พบ ไม่รู้จักเลย เหตุผล ในคำสอนเป็นอย่างไร? มีประโยชน์อย่างไร? นำออกอย่างไร? ไม่รู้ไม่เข้าใจเลย ถึงแม้พระพุทธเจ้ายังอยู่ ก็ไม่ชื่อว่า พบพระพุทธเจ้ายังอยู่ ก็ไม่ชื่อว่าพบพระพุทธเจ้า ไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะว่า พบแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์ ไม่พบก็เหมือนกัน อย่างเดียวกันกับที่ไม่ได้พบ ใช่ไหม? ไม่ได้ทำประโยชน์ที่จะทำให้พ้นจากทุกข์ได้ ไม่เข้าใจ
เพราะฉะนั้น จึงถือว่า เป็นลาภ ผู้ที่ได้มาเกิดในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา และในกาลที่ศาสนายังอยู่ และได้ศึกษาให้เข้าใจในคำสอนได้เหตุผลที่ถูกต้องของพระศาสนาด้วย ว่าพระพุทธศาสนามีคำสอนพิเศษอย่างไร? มีเหตุผลที่น่าเลื่อมใสอย่างไร ?
เรามีความเข้าใจอย่างนี้ด้วย ก็นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีความเข้าใจในพระพุทธศาสนาดีแล้วนะคะ
ท่านนักศึกษา ท่านเท่านั้นที่จะมองเห็นว่า เวลานี้พระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร? ที่ล่วงมา ๒๕๐๐ กว่าปีแล้วนี่ เหตุผลในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร? ความเข้าใจในเหตุผลของพระพุทธศาสนานั้นแพร่หลายอย่างไร? อย่างไรถูก มีประเภทเท่าไร? ท่านจะมองเห็นได้ ท่านจะเข้าใจ และรู้ได้ทีเดียว ว่าเวลานี้ พระพุทธศาสนามีเหลืออยู่ในจิตใจของสัตว์ทั้งหลายที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนี้ มีมากน้อยเท่าไรในโลกนี้ ท่านจะรู้ได้
เพราะฉะนั้นละก็ อย่ามัวประมาทอยู่ ถ้าเราตายไปโดยเรายังไม่รู้เรื่องราวอะไร เกิดมาอีก ทีหลังนี้จะยิ่งขึ้นไปใหญ่เลย เราจะยิ่งไม่รู้ และหาความรู้ยากขึ้นทุกทีๆ ในที่สุดก็หมด ที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาหมด หมดเขตแล้ว คนที่จะได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ไม่มีแล้ว
ถ้าเรามาเกิดทีหลัง ถึงแม้เป็นมนุษย์ก็เถอะก็ยากนัก เพราะว่า กิเลสมันก็มากเข้าทุกทีๆ ปัจจัยก็สมกับที่เราดู เวลานี้ก็แล้วกันว่า เป็นอย่างไร?
พออ่านหนังสือพิมพ์เข้านี่ โอ้โฮ ! การเบียดเบียนกัน ที่เกิดด้วยอำนาจของอกุศลกรรม เวลานี้แหม! มากมายดาษดื่นเหลือเกิน เพราะฉะนั้นกุศลอย่างที่พูดกันนี้ จะเกิดได้อย่างไร ?
โอกาสของกุศลเวลานี้น้อยมาก ถ้าเราตายไปแล้ว เรามัวประมาทอยู่ เราก็เกิดขึ้นมาอีก โอ้โฮ! อกุศลก็จะยิ่งระบาดยิ่งกว่านี้อีก โอกาสที่จะมาศึกษาในพระพุทธศาสนานี้จะมีหรือ?
ถ้าโอกาสนั้นจะมีอยู่ ก็ยากที่จะรู้ได้ ที่จะเข้าถึงได้ก็ลำบากเต็มที่ ผู้ชี้แจงตลอดไปหมด แต่คงจะหายากไปด้วยกันทั้งนั้น
ที่ท่านอุปมาว่า เหมือนผลไม้ มีมะม่วงเป็นต้น อาศัยมาจากพืช เพราะฉะนั้น วิญญาณท่านจึงอุปมาเหมือนตัวพืช จึงมาเกิดได้ แต่ว่า ต้นมะม่วงต้นใหม่กับต้นเก่า เป็นคนละต้น ไม่ใช่ต้นเดียวกัน เพราะฉะนั้น คนที่เห็นว่า คนนี้ตายแล้ว คนนี้แหละไปเกิด เช่น ในพวกสัสสตทิฏฐินะคะ อันนี้ใช่ไหม? เพราะว่า เม็ดนั้นแหละที่เอาไปปลูก นั่นแหละ แล้วที่มันเกิดใหม่ คือ เม็ดที่ไปปลูกนั่นแหละ ที่เห็นอย่างนี้น่ะผิด นี่เป็นธรรมเนียมของพืชที่เรียกว่า “พีชนิยาม” ไม่ใช่ธรรมเนียมของกรรม แต่ว่า ธรรมเนียมของพืชเข้าใจอย่างนั้นก็ผิด ผิดจากเหตุผลธรรมชาติ เพราะเม็ดเก่าก็ไม่ใช่เม็ดใหม่ แต่ว่าเม็ดใหม่ก็ต้องอาศัยมาจากเม็ดเก่า พืชเก่าอาศัยกันเกิดขึ้น ต้นใหม่อาศัยต้นเก่า ทีนี้ ต้นใหม่ก็มาออกลูกอีก พอออกเป็นลูกอีก ก็ออกกันเรื่อยๆไปเหมือนกับสังสารวัฏฏ์ของเรานี่ค่ะ
แต่ว่า พีชนิยาม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มะม่วงก็คงเป็นมะม่วงอยู่นั่นเอง แต่ว่า คนเรา พืช คือ วิญญาณ นี่ ต้องมาจากกรรม ถ้ากรรมเปลี่ยนแปลง ก็พืชก็เปลี่ยนแปลง ธรรมเนียมของกรรมก็อย่างหนึ่ง ธรรมเนียมของพืชก็อีกอย่างหนึ่งนะคะ นี่เป็นธรรมเนียมของพืชที่ไม่เปลี่ยนแปลงนะคะ มะม่วงก็ออกเป็นมะม่วง เหมือนกับเม็ดมะม่วงเก่าที่เราเอามาเพาะ ลูกใหม่ก็ไม่ใช่ลูกเก่า ลูกเก่าที่เกิดก่อนก็ไม่มีเหลือติดตามมาอีกเลย แต่ก็เป็นปัจจัยแก่กัน เม็ดทำให้เกิดต้น ต้นทำให้เกิดเม็ด ก็เป็นปัจจัยวนเวียนกันอย่างนี้ตลอดมา
ทีนี้วิญญาณเรา ท่านอุปมาเหมือนกับพืช กรรมนี้เหมือนกับที่ดิน กิเลสตัณหานี่เหมือนกับยางในพืช ทางพระพุทธศาสนาที่อุปมาตัวเรานี่ เหมือนกับต้นไม้ ขันธ์ ๕ นี่เหมือนกับต้นไม้ วิญญาณนี่เหมือนกับพืช, กรรมนี่เหมือนกับดิน แล้วกิเลสตัณหานี่เหมือนกับยางในพืช
ถ้าพืชนั้นไม่มียาง ก็เกิดไม่ได้ เอาไปเพาะก็ไม่เป็นต้น ก็ไม่งอก หมดยางแล้วนะคะ เหมือนกับพระอรหันต์ที่หมดกิเลสแล้วนี่ ก็หมดยางแล้ว ในตัวพืช คือ วิญญาณนั้นไม่มียางแล้ว หมด! กรรมก็ไม่มี เกิดไม่ได้ คือ ไม่มีที่ดินที่จะเป็นเหตุให้ต้นนั้นงอกขึ้น ก็งอกอีกไม่ได้ ชาติก็มีอีกไม่ได้เหมือนกัน แล้ววิญญาณตัวพืชก็ไม่มีดับแล้ว ก็ไม่ทำให้งอกอีก
เหมือนเบญจขันธ์ของเรา ท่านอุปมาไว้นี่ ถ้าไม่มีกรรม อุปมาเหมือนไม่มีที่ดิน ต้นไม้ก็ขึ้นไม่ได้ งอกไม่ได้ ถ้าเราไม่อาศัยดินก็งอกไม่ได้ ถ้าดินมี เม็ดก็มี แต่ว่ายางในเม็ดไม่มี พืชนั้นถูกเผาเสียแล้ว ด้วยอำนาจภาวนา นี่เผากิเลสนะคะ หรือว่าเอาไปต้มเสียก่อน ยางในพืชหมดไปแล้ว พินาศไปแล้ว ถึงแม้จะมีที่ดิน หรือมีเม็ด เอาไปปลูกอีกก็ไม่ขึ้น เพราะไม่มียางแล้ว
เหมือนพระอรหันต์ ไม่งอกงามอีกแล้วเพราะอะไร เพราะพระอรหันต์นั้นท่านทำลายยางในพืช กิเลส ตัณหาที่เป็นยางอยู่ในพืช คือ ในจิตใจนั้นท่านทำลายเสียแล้ว
เพราะฉะนั้น เบญจขันธ์ของท่านก็ไม่มีอีกต่อไปแล้วนะคะ เมื่อขาดอันใดอันหนึ่งแล้ว ก็เกิดไม่ได้
ทีนี้ของเรานี้ยังมีอยู่ครบ แล้วเราจะเชื่อไหมว่า ข้างหน้าไม่ต้องเกิดอีก, เราจะเชื่อไหม? เมื่อเราเข้าถึงเหตุผลอย่างนี้แล้ว หรือเชื่อในเหตุผลที่ทรงแสดงอย่างนี้แล้ว เรารู้ไหมว่า ชาติหน้าเรามีไหม? ใครจะกล้ารับรองว่า ชาติหน้าไม่มี ถ้าคนไหนรับรองว่า ชาติหน้าไม่มี ฉันไม่เกิดอีก ก็แปลว่า คนนั้นต้องเป็นพระอรหันต์ใช่ไหม? ทีนี้เราทุกคนเรารู้เหตุผลอย่างนี้แล้ว เราก็ไม่กล้ารับรองว่าฉันจะไม่เกิดอีก เหมือนอย่างพระยามิลินทร์ ถามพระนาคเสน พระนาคเสนท่านแสดงถึงเหตุให้เกิดเพราะอะไร? มี กิเลส กรรม วิบาก อย่างนี้ พระยามิลินทร์ ก็ถามพระนาคเสนว่า “แล้วพระคุณเจ้าล่ะ ตายแล้วจะไปเกิดอีกไหม ? ชาติหน้าจะไปเกิดอีกไหม ?” หรือว่าตายแล้ว ท่านไม่เกิดอีก?
ตามธรรมดาพระอรหันต์ ท่านไม่บอกใครว่าท่านนี่น่ะ เป็นพระอรหันต์ใช่ไหมค่ะ? ถึงแม้จะบอกเป็นนัยๆ ท่านก็ไม่บอกแก่ปุถุชนที่ไม่รู้ ไม่บอกเลย
เมื่อถูกพระยามิลินทร์ ถามอย่างนั้นแล้ว พระนาคเสนนี่ ท่านเป็นพระอรหันต์ด้วย แต่ท่านก็ไม่ได้บอกโดยตรงกับพระยามิลินทร์ว่า ท่านน่ะเป็นพระอรหันต์ ตามที่พระยามิลินทร์ถามว่า “พระคุณเจ้าน่ะ ตายไปแล้ว ชาติหน้าจะเกิดอีกไหม?” พระนาคเสน ก็ตอบว่า “ถ้าอาตมายังมีกิเลสอยู่ ก็ต้องไปเกิดอีก” ท่านตอบอย่างนี้ ท่านให้พระยามิลินทร์เข้าใจเอาเอง คนมีปัญญาก็รู้ว่า ท่านเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า ท่านไม่ได้บอกกันโดยตรง เพราะว่า ตามพระวินัยท่านห้ามไว้ด้วยว่าไม่ให้บอก
อย่างเรานี่ เรารู้เหตุปัจจัยอย่างนี้แล้ว เราก็ไม่กล้า แล้วเราก็อย่าไปถามใครเขาว่า ท่านเป็นโสดาหรือเปล่า เป็นพระอนาคาหรือเปล่า เป็นพระอรหันต์หรือเปล่า อย่างนี้น่ะ อย่าไปถามเขา
เพราะว่า ถ้าคนที่เขาเป็นจริง ๆ แล้ว เขาก็ไม่บอก แต่ถ้าคนที่บอกว่า ฉันนี่น่ะเป็นสกิทาคา ฉันเป็นอนาคา หรือฉันหมดกิเลสแล้วเป็นพระอรหันต์ แปลว่า คนนั้นน่ะ ไม่ใช่หรอก ไม่ได้เป็นหรอก เพราะคนที่บอกจะไม่เป็น คนที่เป็นน่ะ เขาไม่บอก
เพราะฉะนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ ถามเขาก็ป่วยการ ไม่ต้องถามเขาหรอก นอกจากเราจะรู้ว่า พระโสดาน่ะ มีลักษณะอย่างไร? มีภูมิธรรมแค่ไหน? รู้ธรรมอะไร? ปฏิบัติอย่างไร ?
ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว เราก็รู้ว่า คนนี้ปฏิบัติถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะเป็นพระโสดาบันหรือเปล่า เป็นพระอริยะขั้นไหน แม้แต่โสดาก็ยังไม่รู้ว่า ท่านนี้เป็นสกิทาคาหรือเปล่า สกิทาคาก็ยังไม่รู้ว่า องค์นี้เป็นอนาคาหรือเปล่า แม้จะเดินตามไปด้วยกันแต่ก็ไม่รู้ เขาเดินไปถึงขั้นไหนก็ไม่รู้ เพียงแต่รู้ว่าไปทางเดียวกันนั่นแหละ แต่ไม่รู้ว่า เวลานี้เขาเดินไปถึงที่ตรงไหน แล้วที่ตรงนั้นน่ะ ตัวยังไม่เคยไปก็ยังไม่รู้ ก็ยังรู้ไม่ได้นะคะ นี้ก็เหมือนกัน ถ้าคนที่เขาเป็นพระอริยะจริงๆ เขาก็คงจะไม่บอก เพราะว่า บอกแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร คนถามนั้นก็ไม่รู้
ท่านจึงบอกว่า ถ้าจะรู้ว่าใคร คนไหนมีปัญญาถึงแค่ไหน มากน้อยอย่างไร ต้องสนทนากันก่อน ต้องพูดกันก่อน เดี๋ยวจะไปเห็นเขานั่งหลับตา ครองจีวรคล้ำๆ กินข้าวมื้อเดียว และอะไรๆ พิเศษอย่างนี้ อย่าเพิ่งไปทึกทักว่า เป็นพระอรหันต์นะ ทำคอตกๆ นั่งซึมๆ นึกว่า แหม! คนนี้มีศีลสำรวมดีจริงๆ กิเลสไม่มีแล้ว คงเป็นพระอรหันต์อะไรอย่างนี้ อย่าไปทึกทักเอา คุณธรรมอันนี้ที่เราเห็นนี่ อย่างดีก็แค่ ศีล เท่านั้นละ ที่เราเห็นนี่ยังไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เขามี สมาธิ แค่ไหน เขามี ปัญญา แค่ไหน ลักษณะที่เห็นน่ะ แค่ ศีล เท่านั้น เพราะฉะนั้น เราอย่าไปทึกทักเอา
ท่านจึงบอกว่า เราจะรู้ว่า คนนี้มี ปัญญา แค่ไหน นี่ต้องสนทนากันก่อน เพราะว่า เหตุผลนั้นจะไหลออกมาตามวจีวิญญัติของผู้ที่แสดง เมื่อเขามีเหตุผลแค่ไหน เขาก็จะแสดงออกมาทางวาจา หรือวจีวิญญัติออกมา
แต่ว่า คนที่จะฟังรู้ว่า แค่ไหน คนนั้นต้องมีเท่ากันนะ เช่นอยากจะรู้ว่า เขาเป็นโสดาหรือเปล่า คนนั้นก็ต้องเป็นโสดาด้วย เคยเดินมาแล้วที่ตรงนั้น แล้วทีนี้ คนนี้เขาก็เล่าถูกที่ตรงนั้น อย่างนั้นได้
ถ้ายังไม่เคยไปเลย เขาเล่าผิด ก็ไม่รู้ใช่ไหม? เขาเล่าถูก ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน ท่านจึงบอกว่า จะรู้ว่า ใครเป็นพระอรหันต์ละก็ คนนั้นจะต้องเป็นพระอรหันต์ด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ นี่ที่อุปมาให้ฟังนะคะ
โดยเหตุนี้ กังขาวิตรณวิสุทธิ แปลว่า หมดจดจากความสงสัยในชาตินี้และชาติหน้าว่า จะมีหรือไม่มีอย่างนี้
นี่ ที่จริงเราก็มีแล้วนะนี่ “เราไม่สงสัยแล้วใช่ไหม ?” ชาติหน้าเราจะมีหรือไม่มี น่าสงสัยไหม? ไม่สงสัยเลย ใช่ไหม? อันนี้ก็เข้าถึงกังขาวิตรณวิ-สุทธิแล้วนะ จะบอกให้ แต่ว่าเข้าถึงด้วยศรัทธานะ โดยสุตมยปัญญา ไม่ใช่เข้าถึงด้วยภาวนามยปัญญาที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เข้าโดยสุตมย-ปัญญา ก็ชื่อว่า เข้าถึงเหมือนกัน ขอให้วัดดูที่จิตใจของเรา
โดยเหตุนี้ กังขาวิตรณวิสุทธิน่ะ เข้าใจว่าหมดจดจากความสงสัย ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ตายแล้วจะสูญหรือไม่สูญ จะเกิดอีกหรือไม่เกิด นี่ไม่มีแล้ว ชาติก่อนนี้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเราก็ไม่สงสัย ใช่ไหม? เราไม่รู้ใช่ไหม? เราไม่รู้นี่อย่างหนึ่งนะ ไม่รู้กับไม่สงสัยนะ คนละอย่างกัน ไม่รู้แล้วสงสัย ความสงสัยมาจากความไม่รู้นะคะ และความไม่สงสัยมาจากความไม่รู้ก็ได้ ความสงสัยมาจากไม่รู้ก็ได้ ได้ทั้ง ๒ อย่าง
ทีนี้ เราสงสัยไหม? เอ ชาติหน้านี่ เราจะเป็นผู้หญิงหรือจะเป็นผู้ชายนะ อย่างนี้นะ แต่ดิฉันก็เชื่อว่า พวกเรานี่ ไม่สงสัยหรอก
เพราะเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย อะไรก็ช่าง มันก็ต้องเกิดเป็นอะไรอย่างหนึ่งละ อาจจะเป็นหมาเป็นแมว เป็นอะไรก็ได้ เป็นได้มาทุกอย่างเรารู้อย่างนี้ใช่ไหม?
เพราะฉะนั้น จะเป็นอะไรก็ไม่แปลก เราก็ไม่สงสัยละ มันต้องเป็นมาอย่างหนึ่ง จะเป็นอะไรก็แล้วแต่เถอะ มันต้องเป็นอยู่ในพวกนี้ อย่างนี้เราก็ไม่สงสัย ที่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องเข้าใจมาว่าชาติก่อนนี้ ชื่อก็ชื่อเดียวกันนี่เหมือนกัน นี่ สงสัยอย่างนี้ เอ๊! จะเป็นอย่างนี้ แน่หรือไม่แน่หนอ? เราจะเป็นผู้หญิงอย่างนี้ รูปร่างอย่างนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ชาติก่อนนี้อย่างนี้ นี่ถึงจะเกิดความสงสัยขึ้น
แต่อย่างเรานี่ เราไม่ได้สงสัย เราไม่รู้เท่านั้นแหละ ไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้ชาย จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร นี่เราไม่รู้
เพราะฉะนั้น ไม่รู้น่ะ อย่างหนึ่ง แต่เมื่อไม่รู้แล้วก็ไม่สงสัยด้วยว่า จะเป็นอะไรมา นี่อีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับไม่รู้นี่อย่างหนึ่ง แล้วก็มิจฉาทิฏฐิรู้ผิดอย่างหนึ่ง ไม่รู้กับรู้ผิด ไม่เหมือนกันนะคะ
ไม่รู้นี่ โมหะเป็นมูล รู้ผิดนี่ โลภะเป็นมูล ไม่เหมือนกัน ไม่รู้เสียก็ไม่เป็นไร ที่นี้ไปรู้ผิดเข้านี่ไม่รู้เป็นมูล แล้วก็เลยไปรู้ผิด บางคนไม่รู้ ไม่รู้ว่าตายแล้วเกิดไหม? เกิดหรือไม่เกิดก็ไม่รู้ ไม่รู้เลยนี่อย่างนี้ เขาไม่รู้เลย จะเกิดหรือไม่เกิด ก็แล้วแต่ เขาไม่ได้คิดถึง เขาไม่ได้ไปยึดถือว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิด นี่เพราะเขาไม่รู้ อันนี้อย่างหนึ่ง
บางคนมีความเห็นว่า ตายแล้ว เขาต้องเกิดอีก หรือว่า ชาตินี้ ฉันเกิดเป็นผู้หญิง ชาติหน้าฉันก็เกิดเป็นผู้หญิงอย่างนี้ ฉันจะต้องเกิดเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้อีก
บางคนก็เห็นว่า ตายแล้วไม่เกิด สูญเลย มันเกิดมีความเห็นขึ้นมาอย่างนั้น, ตายแล้วสูญเสีย ก็ไปยึดถือเอาความเห็นนั่นน่ะ เพราะความเห็นนี่ก็เป็นตัวอุปทานอันหนึ่ง ยึดว่า ตายแล้ว ฉันต้องสูญชาติหน้าไม่มี นี่มันไปยึดถือเอาความเห็นเข้าใจอย่างนี้เกิดขึ้น
แต่ว่า ส่วนโมหะน่ะ ไม่รู้ ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ไม่รู้ เกิดหรือไม่เกิดก็ไม่รู้ ไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้ยึดถืออะไร ไม่ได้เกิดความเห็นผิดไปเกาะอยู่ว่า จะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ ซึ่งผิดจากเหตุผล
เพราะฉะนั้น ไม่รู้นี่ แก้ง่ายนะ แก้ง่ายกว่าไปยึดถือเห็นผิด เพราะไม่รู้นี่ ยังไม่เข้าถึงอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตน ยังไม่เข้าถึง
เหมือนกับความสงสัยก็เหมือนกัน ไม่รู้กับสงสัยนี่ ไม่เหมือนกัน ไม่รู้ แล้วไม่สงสัยก็ได้ ไม่รู้ แล้วก็ไม่มีสงสัยว่า จะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่มีก็ได้นะคะ
อันนี้ก็อยู่ในกังขาวิตรณวิสุทธินะคะ มากมายที่สุด ที่มีความเห็นต่างกัน ว่าที่เราเกิดมาต่างๆ กันนี่ บางคนมีความเข้าใจว่า คนเรานี่ ต้องมีต่าง ๆ กัน ก็เพราะว่า อะไร ก็เพราะว่า จิตต่างกัน ความพอใจต่างๆกัน
บางคนก็ว่า ทำกรรมมาต่างกัน ทำทานด้วยกัน แต่ว่า จิตใจลักษณะที่ทำงานนี้ ก็ต่างกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดมาผลก็ต้องต่างกัน บางคนทำทานอยู่ด้วยกัน หรือจะร่วมทอดกฐินด้วยกัน รวมๆ กันอยู่อย่างนี้ แต่ที่นี้ จิตใจในเวลาที่มุ่งหรือตั้งใจ ต้องการอะไรๆ นี่ต่างกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน เหมือนกันทุกคน ทำทานด้วยกัน ทำบุญด้วยกัน ถือศีลด้วยกัน แต่มีความปรารถนาต่างๆ กัน
โดยเหตุนี้ คนจึงได้มีต่างๆ กัน หน้าตาก็ไม่เหมือนกัน เฉพาะกรรมต่างกัน จิตต่างกัน นี่ยังอยู่ในกังขาวิตรณวิสุทธินะคะ หลักสำคัญของกังขาวิตรณวิสุทธิ นี่น่ะ มากมายกว้างขวางเหลือเกิน ที่นำมาอธิบายนี้ ก็เป็นเพียงอย่างย่ออยู่แล้ว
กังขาวิตรณวิสุทธินี่ ขอให้เข้าใจหลักว่าวิสุทธิจากอะไร? ดิฉันขอถามสักคำเถอะว่า วิสุทธิอันนี้น่ะ หมดจดจากอะไร? หมดจดจากอะไรคะ? หมดจดจากความสงสัย “กังขา” นี่ หมายความว่าอะไรคะ? วิสุทธิจากกังขา หรือกังขาวิตรณวิสุทธิ คือ หมดจดจากความสงสัยนะคะ สงสัยว่าอะไร? สงสัยว่า รูปนามนี้ ใครเป็นผู้สร้างหนอ? อย่างนี้พระอินทร์ หรือพระพรหม หรือพระผู้เป็นเจ้าอะไรแล้วแต่ ที่เป็นผู้สร้างรูปนามนี้ขึ้น หรือว่ารูปนามนั้น มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรกัน? นี่ สงสัยอย่างนี้แหละ
เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าถึงเหตุผล จากการปฏิบัติต่อมาจากทิฏฐิวิสุทธิใช่ไหมคะ ก็เข้าถึงเหตุผลของนามรูปแล้ว รูปอันนั้น นามอันนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุนั้น อย่างนั้นแหละ ตนได้เข้าไปพบประจักขสิทธิด้วยการพิจารณานั่นแหละ จนกระทั่งรู้แน่อย่างนี้แล้ว ทีนี้ ความสงสัยอันนั้นก็หมดไป
เมื่อหมดไป ก็เข้าถึงกังขาวิตรณวิสุทธิ
เพราะฉะนั้น การที่เข้าไปรู้ว่า ปัจจัยของนามรูปนี่แหละ ก็รู้ว่า นามรูปนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะใครบันดาลหรือใครสร้างนี่อย่างนี้.
เพราะฉะนั้น ในกังขาวิตรณวิสุทธินี้ จึงมีความรู้มาก ถ้าพูดกันโดยละเอียดลออแล้ว กว้างขวางมากทีเดียว เพราะว่า ปัจจัยของนามรูปนี่ไม่ใช่น้อย ทั้งโลกเลย ทุกอย่าง เกิดด้วยเหตุปัจจัยทั้งนั้น แต่ว่า นี่ก็เอาใจความมาอย่างย่อๆ ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติบ้าง พิจารณา เอาแต่เรื่องที่เราจะพิจารณาเห็นกันได้ รู้กันได้เท่านั้น สำหรับพวกเราที่มีปัญญาน้อยๆ เช่นอย่างว่า ธรรมนี้เกิดจากอะไรอย่างนี้ละเกิดจาก กรรม แล้วกรรมเกิดจากอะไรเล่า? กรรม ก็เกิดจากกิเลสเป็นปัจจัยใช่ไหมคะ แล้ว กิเลส เล่า มีอะไรเป็นปัจจัย? ก็มี วิบาก เป็นปัจจัย อย่างนี้ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ กิเลสก็มาจากปัจจัยเหล่านี้ วิบากนี่น่ะความยินดี ความพอใจในวิบาก พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง แล้วแต่ นี่แหละ เป็นปัจจัย
แล้ว วิบาก ล่ะ มีอะไรเป็นปัจจัย ก็มีกรรมเป็นปัจจัย อย่างนี้ก็วนกันไป นี่อย่างย่อที่สุด ของวัฏฏะ ของปัจจัย ที่เป็นอย่างย่อที่สุด
คราวนี้ กรรมมีหน้าที่อะไรบ้าง ผู้ที่เข้าใจดีก็รู้จากเรียนแล้วว่า กรรม ได้แก่อะไร? กรรม ก็คือ การทำดี ทำชั่ว นี่แหละ เรายังมีอยู่ไหม? การทำดีด้วยกาย ทำชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
ถึงแม้กายไม่ทำ วาจาไม่กล่าวออกมา ไม่ล่วงออกมา แต่ว่า ใจนี่ ยังคิดอยู่นะ คิดอยากจะทำดี หรือบางครั้งอาจอยากจะทำชั่ว อย่างนี้ด้วยอำนาจของกิเลส เพราะว่า กิเลส เรามีไหม? มี! โลภ โกรธ หลง มีไหม? มี!
นี่แหละ ความโลภ โกรธ หลง ที่มีอยู่นี้แหละมันก็เป็นปัจจัยให้เราคิดจะทำดีบ้าง คิดจะทำชั่วบ้าง ตามโอกาสที่เราต้องการใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้น กิเลสนี่ มันเป็นปัจจัยให้ทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ เหมือนอย่าง อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญ-ชาภิสังขาร ให้เกิดบาปก็ได้ ให้เกิดบุญกุศลก็ได้ ให้เกิดฌานก็ได้ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ฌานนี้ก็เป็นกรรม เป็นมหัคตกุศลกรรม รูปาวจรกุศลกรรม อรูปาวจรกุศลกรรม
นี่เรียนมาอย่างนี้แล้ว ใช่ไหมคะ ทีนี้เราก็รู้แม้แต่กรรมมีหน้าที่อะไรบ้าง ผู้ศึกษาก็ต้องรู้อยู่แล้ว อุปภัมภกรรม หรืออุปปีฬิกกรรม เรามีกรรมอย่างไหนมามาก มีกรรมอุปถัมภ์มาก หรือมีกรรมที่เบียดเบียนมาก
อุปถัมภ์นี่ ก็มีทั้งกุศลและอกุศล กุศลอุปถัมภ์ก็ได้ อกุศลอุปถัมภ์ก็ได้ ถ้ากุศลอุปถัมภ์ ก็อุปถัมภ์ให้ความสุขที่มีอยู่น้อย ให้มีความสุขมาก และก็รักษาความสุขนั้นให้ตั้งมั่นอยู่ได้นาน ถ้าอกุศลอุปถัมภ์ที่มีความทุกข์น้อย ก็ทำให้มีความทุกข์มาก แล้วก็ความทุกข์นั้นตั้งอยู่ได้นาน บางทีทุกข์ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดก็มี
บางคนเมื่อเด็กๆ ก็มีทุกข์มาก แต่ว่าพอโตขึ้นก็ดี มีความสุข แหม ! เจริญรุ่งเรือง อย่างนี้ก็มี
เมื่อเด็กๆ ออกมา เขาเอาไปทิ้งเลย พ่อแม่ก็ไม่เลี้ยง เอาไปทิ้งน้ำ หรือเอาไปทิ้งไว้ริมถนน เขาเก็บเอาไปเลี้ยงกันก็มี อย่างนั้นนะคะ แล้วต่อไปก็ไปเป็นใหญ่ เป็นโต อย่างนี้ก็มีนะคะ
บางคนร่ำรวย เมื่อเด็กๆ มีความสุขเหลือเกินทีเดียว เชือกสายเปลทำด้วยทองคำ แล้วก็โตเป็นสาวเจริญรุ่งเรืองสุกใส พอเข้าวัยกลางคนยากจนลง พอใกล้จะตายไม่มีใครรู้จัก เลยนี่พอแก่เข้ากลายเป็นคนล้มละลายไปเลย ยากจนจะกินก็ไม่มี ต้องไปตายอยู่ที่ศาลาวัด อย่างนี้ก็มี
นี่แหละค่ะ มันมีหลายอย่าง แล้วแต่กรรมอันไหนทำมามาก บางคนพอแก่แล้วสบาย เด็กๆลำบาก อายุมากหน่อยก็มีความสุข อันนี้มันก็แล้วแต่ว่า ตอนไหน? บางคนตั้งแต่เกิดมาจนตายสบายเรื่อยไป อุปถัมภก-กรรมเขาดี บางคนตั้งแต่เกิดมาจนตาย ลำบากเรื่อย อย่างนี้ ก็แล้วแต่กรรมอะไรอุปปีฬิกกรรม หรืออุปถัมภกกรรม
อุปปีฬิกกรรมก็ตามไปเบียดเบียน แต่ว่าอุปปีฬิกกรรม หรืออุปถัมภกกรรม นี่ต้องเบียดเบียนหรือส่งเสริม เมื่อปฏิสนธิแล้ว ไม่ใช่ขณะปฏิสนธิจิต กรรมอย่างนี้นะไม่สามารถที่จะให้ปฏิสนธิได้
ถ้าหากว่า กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิได้ กรรมนั้นต้องเป็นชนกกรรม กรรมใดเข้าถึงชนกกรรม กรรมนั้นก็นำปฏิสนธิได้
ทีนี้ เมื่อปฏิสนธิแล้ว อุปถัมภกกรรม หรืออุปปีฬิกกรรม ก็รับหน้าที่ต่อไป
เหมือนกับสัตว์บางตัวนี้ ปฏิสนธิด้วยอกุศลชนกกรรม พอปฏิสนธิแล้ว แหม! กินไข่ไก่ กินนมสด กินเนื้อ เวลานอนมีมุ้ง มีที่นอนอย่างสบายนี่เห็นไหมคะ ปฎิสนธิชนกกรรมน่ะ เป็นอกุศลต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ใช่ไหมคะ? แต่ว่า กุศลอุปปีฬกกรรมก็ขึ้นมาเบียดเบียนอกุศลชนกกรรมนั้น ที่จะให้ได้รับความทุกข์ยากลำบากหมดไป ก็ได้รับความสุข นี่อย่างนี้ก็มี บางทีเกิดเป็นคนแท้ๆ ยังสู้ไม่ได้ ไม่ใช่จะมีแต่ครั้งนี้นะคะ ครั้งก่อนในครั้งพระพุทธกาลก็มีตามแต่ว่ากรรมไหนเบียดเบียน เมื่อเขาเกิดแล้วระหว่างที่เขามีเบญจขันธ์อยู่ ยังมีวิบากอยู่ แปลว่ายังมีวิบากอยู่ กรรมเหล่านี้ก็ให้ผลได้ คือ ยังมีเบญจขันธ์อยู่ ก็แล้วแต่โอกาสนะคะ ให้ผลได้
แต่ถ้าวิบากไม่มี ดับหมดแล้ว เบญจขันธ์ไม่มี กรรมเหล่านี้ก็เป็นอันว่า สูญ เป็นอโหสิกรรมไป
แต่ถ้ามีวิบากอยู่ เกิดขึ้นเมื่อไรละก็ สามารถจะตามเบียดเบียนได้ แล้วแต่โอกาสที่ต่อจากปฏิสนธิมา
ตั้งแต่เกิดเป็นเด็ก ตลอดจนเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็คอยให้ผลเรื่อยมา แล้วแต่โอกาสจะตามมาทันกันเมื่อไร ก็ให้ผลกันเรื่อยไปอย่างนี้
แล้วก็ที่มาทำกรรมใหม่กันขึ้นอีกนี่ บางทีเพราะกรรมเก่า อกุศลเบียดเบียนหนักๆ เข้า ทำกุศลต่อไปไม่ไหว อดอยาก ต้องอาศัยเลี้ยงชีพอยู่ด้วยอกุศล ก็ต้องทำอกุศลนั่นแหละเรื่อยไป แล้วอกุศลนั้นก็เป็นชนกกรรมต่อไปอีกเรื่อย
บางคนสร้างแต่กุศลเรื่อย ไม่มีโอกาสที่จะต้องทำอกุศล เขาก็มีชนกกรรมของเขาเป็นกุศล ถ้าเขาไปเกิดอีก เขาก็สบาย ก็ต้องวนเวียนกันอยู่อย่างนี้เรื่อยไป เว้นแต่วิบากไม่มีเท่านั้น
เพราะฉะนั้น การศึกษาของเราที่จะเข้าถึงกังขาวิตรณวิสุทธินี้ ก็ไม่ใช่ว่าง่ายนัก แต่ว่า เราฟังกันก็พอจะรู้นะคะว่า วิสุทธิอันนี้น่ะ เป็นอย่างไร หรือมาจากเหตุอะไร? และมีความเข้าใจอย่างไร? และหมดจดจากอะไร? คือหมดจดจากความสงสัยเท่าที่ได้ ที่อธิบายมาแล้วนี้ หมดจดจากความสงสัยต่างๆ ว่า การที่จะหมดจดจากความสงสัยได้นั้น ก็อย่าลืมว่า จะต้องเริ่มมาตั้งแต่ ทิฏฐิวิสุทธิ อันต้นที่ใกล้กันที่สุด คือ ทิฏฐิวิสุทธิ แล้วก็ขึ้นกังขาวิตรณวิสุทธิ อันนี้ก็ต้องมาจากทิฏฐิวิสุทธิ ไม่ใช่มาจากศีลวิสุทธิ ไม่ใช่มาจากจิตตวิสุทธิ คือ สมาธิวิสุทธิไม่ใช่ ต้องมาจากทิฏฐิวิสุทธิ เป็นปัญญาวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธินี่ ก็ปัญญาเหมือนกัน ต้องมาจากทิฏฐิวิสุทธิ ซึ่งเป็นตัวปัญญา ที่กำหนดนามรูปมาแล้วนั่นเอง ต้องได้นามรูปเสียก่อนนะคะ
ถ้าไม่ได้นามรูปมาก่อนแล้ว ปัจจัยของนามรูปก็จะไม่ทราบเลย ก็ไม่รู้ว่า นามรูปนี้เกิดมาด้วยอะไร? เกิดมาจากเหตุอะไร? เพราะว่าเราไม่ได้กำหนดนามรูป แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าการติดต่อเหตุ – ผลของเขามาจากไหน อย่างไรกันก็ไม่รู้ ก็จะไม่ทราบเลย และการที่จะทราบได้ ก็คือ กำหนดนามรูปอยู่ที่ปัจจุบัน
ถ้าไม่กำหนดนามรูปอยู่ที่ปัจจุบันแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่รู้ อะไรจะดับไปก็ไม่รู้ เหมือนอย่างพวกเราขันธ์ ๕ นี่ เราก็เรียนกันแล้ว นี่นั่งอยู่นี่ทั้งหมด ดิฉันเชื่อว่า ไม่มีใครที่จะเรียกชื่อขันธ์ ๕ ไม่ถูก ทุกคนเรียกชื่อว่า ถูกหมด ๕ ชื่อนี้ ขันธ์ ๕ มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรืออายตนะมี ๑๒ ภายใน ๖ ภายนอก ๖ ก็เรียกได้หมด ได้แก่อะไร เรียกชื่อได้หมด เรียกได้ถูกต้อง
แต่ว่า ตัวของอายตนะจริงๆ คือ สภาวะที่ถูก เรียกว่า อายตนะนี้นะ เป็นอย่างไร ?
ถ้าเราไม่รู้จักวัตถุหรือสภาวะอันนี้ได้แล้ว เราจะทำวิปัสสนาไม่ได้ แล้วก็จะรู้ปัจจัยไม่ได้ว่า อันนี้เกิดขึ้นด้วยอะไร
สมมุติจะถามว่า รูปขันธ์มาจากไหน? เราก็ไม่รู้ว่า เกิดมาจากเหตุปัจจัยอะไร? เราก็จะรู้แต่ว่าเขาสมมุติ เขาเรียกชื่อขึ้นว่า เป็นรูปขันธ์มันมีขึ้น ถ้าไม่เรียกชื่อ มันก็ไม่มี ถูกแล้ว มันไม่มีแต่ชื่อ แต่สภาวะของมันต้องมี ใช่ไหม?
เหมือนกับน้ำตาล มันหวาน ใครจะเรียก หรือไม่เรียก ก็ช่างเถอะ รสหวานนี่ ต้องมีแน่นอนเชียวอย่างนี้ เหตุผลของปัจจัยที่ให้เกิดความหวานน่ะอะไร? ไม่ใช่ว่า เรียกชื่อขึ้นถึงจะมีอย่างนั้นและคงจะเข้าใจอย่างนี้ แต่ถ้าเขาไม่เรียกก็ไม่มีอะไรหมดเลย
สมมุติว่า ท่านจะปรุงยาสักขนานหนึ่ง เครื่องยาทั้งหมด ท่านต้องรู้จักดี เช่น ดีปลี ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ เคยได้ยินไหม? ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ นี่เคยได้ยินใช่ไหม? แต่ว่า รูปร่างมันเป็นอย่างไร? คนที่ไม่รู้จัก ก็ไม่รู้ซิคะ ไปซื้อมาน่ะเขาหยิบถูกหรือเปล่า เขาหยิบให้เราถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ เขาอาจจะหยิบอะไรมาให้ก็ได้ เวลาไม่รู้จักเราก็เสี่ยงทายไป ถ้าเรารู้จักแล้ว แน่นอนเลย อ้อ รูปร่างข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ เป็นอย่างไร เราก็รู้ พิมเสน ชะมดเชียง หญ้าฝรั่น อย่างนี้ เครื่องยานี้ชะมดเชียง รู้จักไหม มันเป็นอย่างไร? รูปร่างเราก็ไม่รู้อีกแหละ แต่ว่า ชื่อน่ะ รู้จัก
ถ้าคนที่ชำนาญ อย่างร้านขายยานี่ เขาชำนาญ เขาเคยรู้จัก หรือคนที่เคยเป็นหมอด้วยล่ะก็รู้ และชะมดเชียงอย่างนี้ ดีหรือไม่ดี แท้หรือไม่แท้ พิมเสนอย่างนี้ แท้หรือไม่แท้ เรายังรู้อีก หญ้าฝรั่นมีลักษณะอย่างไร ? ท่านต้องรู้จักทั้งหมด เพราะว่าวัตถุทั้งหมดเหล่านี้ จะมารวมอยู่ในเวลาที่เราทำงาน
เพราะว่า เวลาทำงาน เรารู้แล้วว่า เครื่องยาเขาเจียดอย่างนี้ ชื่อน่ะ ยังอยู่ในตำรา แต่วัตถุน่ะไม่ได้อยู่ในตำรา แต่เวลาเราจะทำ เราต้องเอาวัตถุมาทำ พอเวลาจะทำก็ต้องเอาวัตถุที่มีชื่ออะไรบ้าง ชื่ออันนั้นได้แก่ วัตถุอะไร เราต้องหามา ต้องเอามาให้ครบในเวลาที่ทำงาน
เหมือนกันกับในเวลาที่เราปฏิบัติ ปริยัติวางไว้เยอะ ชื่อภูมิวิปัสสนาอะไรต่างๆ แต่เมื่อเวลาทำงาน เราต้องเอาภูมิของวิปัสสนา ต้องเอาวัตถุ ต้องเอาสภาวะที่วางไว้ เหมือนกับชื่อของเครื่องยา คือ เอาตัวสภาวะมาทำงานกับวิปัสสนา ไม่ใช่เราเอาชื่อมา
เพราะว่าวัตถุเหล่านี้เป็นตัวถูกกระทำงาน ที่เราจะทำยานี้ ก็ต้องรู้หมด ถ้าเราไม่รู้ เราไม่รู้จักว่าอะไร ชื่ออย่างนี้อะไร ก็ไม่รู้จัก ข้าวเย็นเหนือก็ไม่รู้ ข้าวเย็นใต้ก็ไม่รู้ โกฐทั้ง ๔ นี่ก็ไม่รู้ หรืออะไรๆ ก็ไม่รู้จักทั้งนั้น แล้วท่านจะทำยากินได้อย่างไร?
เหมือนกันกับผู้ที่ไม่รู้จักนามรูป ไม่รู้จักขันธ์หรือไม่รู้จักอายตนะ ไม่รู้จักธาตุ ท่านจะทำวิปัสสนาไม่ได้
นี่ท่านวางไว้ว่า การทำวิปัสสนานี่ ต้องเอาพวกนี้ ต้องเอาภูมิเหล่านี้ คือ ภูมิของขันธ์ ธาตุ อายตนะ พวกนี้มาทำ ท่านไม่ได้ให้เอาชื่อมาทำ เพราะฉะนั้น ถึงต้องเรียนกัน
ถ้าหากไม่รู้จักวัตถุเหล่านี้ ท่านก็ทำวิปัสสนาไม่ได้เหมือนกัน จะทำได้อย่างไร? เพราะว่าวิปัสสนาต้องใช้นามรูปเป็นตัวทำงาน เมื่อไม่รู้จักนามรูป ไม่รู้จักรูป ไม่รู้จักนามแล้ว ท่านจะทำได้อย่างไร ?
ถ้าจะนึกทำเอาเองละก็ได้ คือ นึกเอา นึกทำยาเอาเองนั่นแหละ ไม่มีวัตถุมาถูกทำงานนะคะ
แต่ทำจริงๆไม่ได้ เหมือนกับไม่มีไม้ อิฐ หิน ปูนทราย แล้วเราจะปลูกบ้านได้อย่างไร? ถ้านึกปลูกเอาก็ได้ แต่ว่า มันก็ไม่ได้บ้านอยู่จริงๆ นึกเอาว่า เป็นบ้านแบบนั้น รูปร่างอย่างนั้นๆ เวลานึกวาดภาพจะปลูกให้วิเศษสวยงามอย่างไรก็ได้ แต่ว่า บ้านจริงๆ นั้นมันไม่มี บ้านจริงๆ นั้นมันไม่มี มันเกิดขึ้นไม่ได้
เหมือนกับผู้ที่ทำวิปัสสนา เช่น อย่างท่านที่เข้าใจแล้วว่า ขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวลาที่ดิฉันพูดออกไปนี้ เสียงนี่เป็นรูปอันหนึ่ง รูปที่ทำให้เสียงออกไปก็อีกอย่างหนึ่ง มี ๒ อย่าง
ท่านได้ยินเสียงนี่แล้วทราบไหม? ว่า เป็นขันธ์อะไร? นี่นะ ท่านนักศึกษาที่เรียนแล้วก็รู้ ถ้าไม่ได้เรียนมาเลย เสียงนี่เป็นขันธ์อะไร? ถ้าไม่เรียนเลยก็ไม่รู้นะ
ในพุทธศาสนาเรานี้แหละค่ะ โดยมากเข้าใจว่า เสียงนี่เป็นนาม กลิ่นก็เป็นนาม รสก็เป็นนาม เอ๊ะ ทำไมเข้าใจอย่างนั้นล่ะ? เขาบอกว่า สิ่งที่เป็นรูปน่ะ เห็นได้เท่านั้นแหละ ถ้าอะไรที่เห็นไม่ได้ เขาไม่ยอมให้เป็นรูป นี่แหละดูซิ ชอบกล คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รูปนี่มันมีอยู่เฉพาะทางตาทางเดียว ที่ชื่อว่า รูป มี อยู่ทางตาอันเดียว สำหรับเห็นได้เท่านั้น แต่ว่า เสียง นี่ไม่ได้มีชื่อบอกว่า รูปชื่อว่า เสียง ต่างหาก กลิ่น ก็ชื่อว่า กลิ่น ไม่ได้ชื่อว่า รูป นี่อย่างนี้ รส ก็ชื่อว่า รส ไม่ได้ชื่อว่า รูป ก็เลยไม่ยอมให้พวกนี้เป็นรูป
นี่จะเอาแต่ชื่อ นี่เป็นเพราะอะไร ? เพราะคำว่า “รูป” ในที่นี้ หมายถึง รูปารมณ์อันเดียว รูปร่างที่ตาเห็นได้ หมายถึงรูปารมณ์อันเดียว รูปร่างที่ตาเห็นได้ หมายถึงเท่านั้น
ตา จะไปเห็นเสียงก็ไม่ได้ใช่ไหม? เห็นกลิ่นก็ไม่ได้ เห็นรสก็ไม่ได้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไม่เห็นทั้งนั้น ตาเห็นไม่ได้ใช่ไหม? เห็นได้แต่รูปร่างเท่านั้น
แต่ทีนี้เขาถามแต่ รูป เฉยๆ ถ้าเขาถาม รูปร่าง เสียหน่อยก็จะหายสงสัย
แต่ทีนี้รูปร่าง หรือ รูปารมณ์ กับรูปขันธ์นี่ คนละอย่างกัน รูปารมณ์ นี่ รูปร่างก็ได้แก่ สี วัณณะอันเดียว ที่สามารถมาเป็นอารมณ์ทางตาของเราได้ คือ ทำให้เป็นรูปเป็นร่างได้เฉพาะวัณณะเท่านั้นนะ
แต่ส่วนรูปขันธ์นี่ รูปที่พูดมานี้ เราหมายถึงรูปขันธ์ รูปขันธ์ รูปขันธ์มีถึง ๒๘ อย่าง เขาไม่เอาละ เขาเอาเฉพาะรูปารมณ์นี่ มาเป็นรูปขันธ์อันเดียวทีนี้รูปทั้ง ๒๘ นี่ไม่สนใจ รูปขันธ์นี่มี ๒๘ อย่างด้วยกัน อะไรบ้างก็ไม่สนใจ เอาแต่คำว่า “รูป” รูปก็คือสิ่งที่ตาเห็นได้ มีรูปารมณ์อันเดียว ถ้านอกจากคำว่ารูปแล้ว นอกนั้นเป็นนามหมด นี่พูดถึงรูปขันธ์ แล้วก็นามขันธ์
ทีนี้นามขันธ์นี่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เป็นนามขันธ์ ย่อนะคะ รูปขันธ์มี ๑ นามขันธ์มี ๔
ที่นี้นามขันธ์นี่ก็ไม่ใช่เสียง ถ้าว่าเสียงเป็นนามแล้ว ถามว่า เป็นนามอะไร? ก็หาไม่ได้ในที่สุดเป็น นาม คือ ชื่อ ที่ชื่อว่า เสียง ชื่อว่า กลิ่น ชื่อว่า รส ก็แล้วทำไมที่ชื่อว่า รูป ทำไมไม่ให้เป็นนามล่ะ รูปนี่มันก็เป็นชื่อเหมือนกันนี่
ส่วนชื่อ รูป นี่กลับไม่ให้เป็นนาม ชื่อนี้ไม่ได้เป็นนาม ชื่อนี้ไม่ให้เป็น รูป ก็แปลว่า แล้วแต่เถอะ แล้วแต่จะต้องการ เขาอยากจะเข้าใจอย่างไร เขาก็เข้าใจไป นี่อย่างนี้ มันจะตรงกับความหมายหรือหลักฐานของท่าน ตามอรรถเนื้อความหรือเปล่านี่ ก็ไม่สนใจกัน
เพราะฉะนั้น การที่เราได้ศึกษานี่ก็มีประโยชน์นะคะ เราก็ได้เปรียบ คล้ายๆกับว่า เราอ่านหนังสือออก ก็แปลว่า จะต้องดีกว่าคนที่อ่านหนังสือไม่ออก มันสะดวก ทำความเข้าใจให้เข้าใจได้สะดวก นี่เพราะได้อาศัยตัวหนังสือ
เพราะฉะนั้น ภาษาคำพูดนี่ จึงได้ลำบาก คนที่เข้าใจภาษาคำพูดนี่ ภาษานี้หมายความว่าอย่างไร? คำนี้ชื่ออย่างนี้ บัญญัติอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร อันนี้ ไม่ใช่ของง่ายนะคะ เป็นของยาก เป็นตัวปฏิสัมภิทานะ นี่เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทา ไม่ใช่ของง่ายๆ
เพราะฉะนั้น อรรถะและพยัญชนะ นี่ต้องตรงกัน พยัญชนะในที่นั้นหมายความว่าอย่างไรที่รู้ได้อย่างนี้
ทีนี้ท่านรู้ นิรุตติปฏิสัมภิทานี่ บัญญัติทั้งหลาย ภาษาทั้งหลายนี้ รู้ตั้งร้อยกว่าภาษา ภาษานั้นที่พูดอย่างนั้น หมายความถึงอะไร รู้มากนะคะท่านเป็นผู้แตกฉาน อันนี้เป็นตัวปฏิสัมภิทา ไม่ใช่ย่อย ๆ
เพราะฉะนั้น ที่เราเรียนกันนี่ เราก็เรียนพยัญชนะกัน แต่ว่า ต้องให้ถึงความหมายให้ตรงกันด้วยว่า พยัญชนะกล่าวว่าอย่างนี้ มีเนื้อความว่าอย่างไร? อรรถะความหมายนั้นว่ากระไร? ถ้าเรารู้ไม่ตรงกัน เราอาจจะเอาพยัญชนะนี่ไปใช้ผิดจากความหมายในที่นั้น จากเนื้อความอันนั้นได้หรือว่าเราเข้าใจเนื้อความ แต่เราไม่รู้พยัญชนะยกเอาขึ้นมาใส่ พยัญชนะผิดไป ก็ทำให้คนฟังเข้าใจผิดได้เหมือนกัน
ผู้ที่ไม่ศึกษาก็จะไม่รู้ว่า เป็นขันธ์อะไร? รูป เสียง กลิ่น รส นี่เป็นขันธ์อะไรบ้าง? ก็ไม่รู้ นี่พูดถึงผู้ที่จะกำหนดขันธ์ ท่านต้องเป็นผู้ที่มีการศึกษาดี จึงจะกำหนดขันธ์ได้ แต่กำหนด นามรูป นั้นง่ายที่สุด
เราก็ถือการเห็นนั้นเป็น นาม เอาง่ายๆ นะ สิ่งที่ถูกเห็นนั้นน่ะ เป็นรูป หรือจักขุปสาทเป็นปัจจัย นี่ถ้าเรากำหนด เราก็จะรู้ว่า จักขุปสาทนี่เป็นปัจจัย, อะไรเป็นปัจจัยในการเห็น? จักขุปสาทนี่ ก็เป็นรูป นี่เราก็กำหนดขันธ์ได้ ย่อเพียงแค่นี้ คือ รูปกับนามเท่านั้น รูปขันธ์กับนามขันธ์ ๒ อย่างนะคะหรือว่าอายตนะมี ๑๒ เสียงเป็นอายตนะอะไร ? หูเป็นอายตนะอะไร? ได้ยินเป็นอายตนะอะไร? ถ้ากำหนดเป็นอายตนะ ต้องกำหนดเป็นอายตนะหมดทั้ง ๓ อย่าง
เสียง เป็นสัททายตนะ ประสาทหู เป็นโสตายตนะ ได้ยิน เป็น
มนายตนะ นี่เราก็ต้องรู้ว่าอายตนะนี่ ต้องเกิดร่วมกัน ไม่ใช่อายตนะเดียวจะเกิดได้ ต้องร่วมกันทวารหนึ่งก็มี ๓ ถึงจะร่วมกันได้
ทีนี้เมื่ออายตนะครบ ๓ สมบูรณ์แล้ว อายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ ใช่ไหม ในปฏิจจสมุปบาทพออายตนะครบสมบูรณ์พร้อมแล้ว ทั้ง ๓ อย่าง ผัสสะก็เกิดได้ พอผัสสะเกิดแล้วก็เป็นปัจจัยแก่ เวทนา และก็เป็นปัจจัยต่อๆ กันไป เราก็ต้องรู้ ทำไม ให้รู้อย่างนี้มีประโยชน์อย่างไร?
ให้รู้ว่า เสียงก็เป็นอายตนะ เป็นเหตุ, จักขุปสาทก็เป็นเหตุ รูปารมณ์ก็เป็นเหตุ จักขุวิญญาณก็เป็นเหตุ
ถ้า (รูปารมณ์) ไม่มี จักขุวิญญาณก็เห็นไม่ได้ หรือมีแต่จักขุปสาทเสียพิการ ก็เห็นไม่ได้ จักขุวิญญาณ ก็เป็นเหตุ อายตนะนี่ หมายถึง เป็นเหตุ นะคะ
จักขุวิญญาณก็เป็นเหตุ เป็นเหตุอะไร? เป็นเหตุให้เกิดอะไร? เจตสิก เป็นเหตุให้เกิดธัมมายตนะ นี่แหละ ก็เป็นปัจจัยกันมา เรื่อยๆ กันไปในทุกๆ อายตนะ นี่กำหนดรู้อย่างนี้ เราก็ต้องรู้อย่างนี้ นี่บางทีเรารู้อายตนะ, ครั้นถามเวลาเห็นเข้าไม่รู้ แต่ว่าอายตนะมี ๑๒ เรียกชื่อได้หมด แต่ครั้นพอถามว่า เวลาเห็น นี่เป็นอายตนะอะไร? เป็นขันธ์อะไร? เป็นธาตุอะไร? เป็นอินทรีย์อะไร? อย่างนี้บางทีไม่รู้
เพราะฉะนั้น เรียนภูมิเสร็จแล้ว ถ้าจะให้เข้าใจดี ต้องมาหัดปรับอีกที ถึงจะเข้าใจ นี่นะคะนักเรียน นักศึกษาที่ศึกษาไปแล้วนี่ เอามาปรับกับตัวสภาวะที่กำลังมีอยู่ซิ ว่าเวลานั้น เขาเรียกขันธ์อะไร? อันนั้นเวลาเห็น นี่มีขันธ์อะไรเกิดบ้าง? อันนั้นเป็นขันธ์อะไร ในขณะที่เห็น นั้นน่ะ อย่างนี้ต้องมารวมกัน อันนั้นเป็นอายตนะอะไร? อันนี้เป็นรูปอะไร ? ก็ต้องมาเรียนปรับอีกที ทีนี้เวลาไปทำงานก็สะดวก เพราะว่า สภาวะวัตถุนั้นเข้าใจอยู่แล้วว่า วัตถุนั้นเป็นอายตนะนั้น เป็นขันธ์อันนี้
ทีนี้ปัจจัยของเราจะตกไปในอันไหน? ปัญญาของเราจะแล่นไปในภูมิไหน? ในภูมิขันธ์ ภูมิธาตุ หรือภูมิอายตนะ ก็ไปได้สะดวก หรืออย่างน้อยก็ รูปกับนาม ๒ อย่าง พอแล้วเหมือนกัน
เมื่อเราชำนาญดีแล้ว พอเรากำหนดลงไปเราก็รู้ว่า นี่เรากำหนดรูปอะไร กำหนดรูปหรือกำหนดนาม
ถ้ากำหนดรูป กำหนดรูปอะไร? กำหนดนาม กำหนดนามอะไร? อันนี้ก็รู้ได้ชัดเจน สะดวก
ถ้าผู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ดิฉันว่า ทำวิปัสสนานี่ง่าย ไม่ลำบากเลย
แต่ถ้าหากว่า วัตถุที่จะเอามาทำวิปัสสนานี้ไม่สะดวก คือ ยังไม่รู้จักล่ะก็ ลำบากค่ะ วิปัสสนานี่เกิดยากมากทีเดียว แล้วก็เอา ตัวตน ออกไม่ได้
ที่แสดงขันธ์ อายตนะ ธาตุ แต่ละอย่างๆ เพื่อประโยชน์อะไร ในเวลาเห็นน่ะ ก็เพื่อปฏิเสธสัตว์บุคคลจากการเห็น การได้ยินนั้นเอง
รูปก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จักขุปสาทก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล วิญญาณที่เห็นนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เท่านั้นเอง
นี่แหละ ประโยชน์อยู่แค่นั้นแหละ ที่แสดงเป็นภูมิต่างๆนี่ เมื่อเห็นว่าเป็นอย่างนั้นแล้ว การที่ว่าเราเห็น เราได้ยิน ก็หมดไปเท่านั้นเอง
ถ้าไม่อย่างนั้นเอาออกไม่ได้ ถ้ารู้ว่าเห็นน่ะอะไร เกิดด้วยเหตุอะไรอย่างนี้ ไม่รู้ก็ต้องอาศัยเอาเราเข้าไปทำงานอยู่เรื่อย
เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราถึงจะทำงานได้เราจะเอาแต่ชื่อไปทำงานน่ะไม่ได้
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติต้องพร้อมด้วย ปริยัติ คือ ต้องเข้าใจว่า ความหมายที่อาจารย์สอนมา ก็ต้องเข้าใจ ทีนี้เราเข้าใจยาก เพราะว่า เป็นคนละภาษา ภาษาบาลีนี่เราก็ไม่รู้ว่า ภาษาบาลีนี้ หมายถึงอะไร? เราก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด ง่ายที่สุด สำหรับคนไทยเรา ที่เข้าใจภาษาไทยดีอยู่แล้ว
ฉะนั้น การสอนธรรมะก็ดี หรือการสอนทำวิปัสสนาก็ดี ควรใช้ภาษาไทย ไม่จำเป็นแล้วไม่ต้องใช้เลย ภาษาบาลี
ถ้าใช้แต่ภาษาไทยแล้ว มันสะดวกแก่ผู้ที่จะรับฟัง ก็จะเข้าใจ ก็จะนำปัญญา เข้าถึงความหมายหรือเนื้อความอันนั้นๆ ได้
เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้ว่า เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน คือ ต้องพร้อมด้วยปริยัติ ต้องพร้อมด้วยปฏิบัติ จึงจะดำเนินไปให้ถึงวิสุทธิที่หมดจดได้
ปฏิเวธน่ะ แปลว่า ต้องสมบูรณ์แล้วทุกอย่างทั้งปริยัติก็สมบูรณ์ ทั้งปฏิบัติก็สมบูรณ์ แล้วปฏิเวธถึงจะบรรลุได้ ถึงจะแจ้งได้
ทีนี้วิสุทธินี้ทั้งหมดมีอยู่ ๗ อย่างเท่านั้น ที่พูดมาแล้วถึงวิสุทธิที่ ๔ นะคะ
วิสุทธิที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ก็ต้องไปจากวิสุทธิอันนี้ต่อๆ กันขึ้นไปเหมือนกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกันเรื่อยไป มิฉะนั้น จะไปถึงวิสุทธิที่ต่อๆ ไปจนสุดท้ายน่ะ ที่หมดจดจากกิเลสโดยสิ้นเชิงไม่ได้และใครเล่าจะเป็นผู้ไปถึง ใครเล่าเป็นผู้วิสุทธิเมื่อไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แล้วใครเล่าเป็นคนไปถึงวิสุทธิ? ถ้าเขาถามอย่างนี้ ใคร? ใครเป็นผู้ถึงกังขาวิตรณวิสุทธิ? หรือ? ต้องปัญญา นะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนะ อย่างนี้เราถึงจะเอาคนออกได้ บางทีเราเอาคนออกจากที่อื่น พอมาถึงที่ตรงนี้ คนก็ยังคงออกอยู่ ว่าเราเป็นผู้ถึงอย่างนี้ ใครเล่าเป็นผู้ถึงวิสุทธิ อย่างนี้?
ถ้าเราไม่รู้ ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ถึง แต่เรารู้ว่าขันธ์ ๕ นั้น ไม่มีตัวตนอย่างนี้ เราก็รู้ แต่เมื่อไม่ใช่ตัวตนแล้ว มันเป็นอะไร เมื่อเอาตัวตนออกเสียมันจะเหลือแต่อะไร? ถ้าเราไม่รู้ มันก็คงไม่รู้ต่อไปว่าไม่ใช่ตัวตนแล้ว มันเป็นอะไร?
อันนี้เป็นรูปขันธ์ อันนี้เป็นเวทนาขันธ์ อันนี้เป็นสัญญาขันธ์ อันนี้เป็นสังขารขันธ์ อันนี้เป็นวิญญาณขันธ์ นี่เราต้องรู้อย่างนี้ ถ้าเราไม่รู้อย่างนี้แล้ว เราก็ทำงานไม่ได้
เราต้องเอาขันธ์ ๕ มาเป็นเครื่องมือรับรองการกำหนด หรือเอานามรูปมารับรองการกำหนดก็ได้ นี่เป็นความสำคัญอย่างหนึ่งทีเดียว
ปริยัติจึงต้องมีความสำคัญมากนะคะ ถือว่าปริยัตินี้เป็นศาสนาอันหนึ่ง
พระพุทธศาสนานี้ มี ๓ คือ ปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา ปฏิเวธศาสนา ท่านสอนไว้ถึง ๓ ขั้น ปริยัติท่านสอนไว้ เรื่องราวต่าง ๆ เช่น มรรคมีเท่าไร? มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ เป็นต้น ก็ว่าไป นี่เป็นเรื่องของปริยัติ เราต้องรู้
ทีนี้วิธีเจริญมรรคนี่จะทำอย่างไร? อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติ ต้องเรียนต้องศึกษาอีกว่า วิธีเจริญมรรค ๘ นี่ ทำอย่างไร? ตอบได้ไหมคะ วิธีเจริญมรรค ๘ ทำอย่างไร? ลองตอบสักคำหนึ่งซิ ทำอย่างไร? วิธีทำมรรค ก็ต้อง เจริญสติปัฏฐาน
นี่ต้องดึงเอาธรรมทั้งหมวดนั้นหมวดนี้เข้ามารวมกันให้ได้ ไม่ใช่ว่า สติปัฏฐานต่างหาก มรรค ๘ ต่างหาก วิสุทธิต่างหาก วิปัสสนาต่างหาก ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ต้องมารวมกัน ต้องเอามารวมกันได้แล้วผลอันนี้ถึงจะเกิด จึงจะเข้าถึงปฏิเวธได้ มรรค ๘ เป็นเรื่องปริยัติ ทีนี้ทางปฏิบัติ วิธีเจริญมรรคทำอย่างไร? นี่ท่านสอนถึงวิธีปฏิบัติ
เมื่อเจริญมรรคไปแล้ว ผลที่เกิด คือ ปัญญาที่เข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงทีเดียวน่ะ อย่างไร?
รู้อะไร? เห็นอะไร? เห็นอย่างไร? นี่เป็นเรื่องของปฏิเวธ เพราะฉะนั้น เราผู้ปฏิบัตินี่ต้องมีทั้ง ๓ ต้องมีปริยัติ แล้วก็ต้องมีปฏิบัติ ทำอย่างไร ต้องเข้าใจ
ทำเสร็จแล้ว ผลที่เกิดจากการกระทำถูกต้องน่ะ อย่างไร? เพราะฉะนั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติถูก อย่างไร? ท่านวางของท่านไว้อย่างละเอียดละออเหลือเกิน
ถ้าเรามีแผนที่อย่างนี้แล้ว ผู้เดินทางมีหวังไหมคะ ที่จะเดินทางให้ถึงที่สุดของทางนั้นได้ ไม่มีผิดเลย
ทีนี้เราก็รู้ละว่า สติปัฏฐาน แล้วก็สติปัฏฐานนี่ ไม่ใช่ว่า มีอันเดียว สติปัฏฐานนี้ก็มีวิปัสสนาด้วย ในสติปัฏฐานนั้น ก็ต้องมีวิปัสสนาด้วย มีวิปัสสนาก็ไม่ใช่อย่างเดียว มีวิปัสสนาแล้วต้องมีวิสุทธิด้วย วิปัสสนานั้นเข้าถึงวิสุทธิหรือเปล่า ปัญญานั้นน่ะ
ถึงแม้จะเกิดวิปัสสนา แต่ว่าวิปัสสนาอันนั้นไม่ถึงวิสุทธ วิปัสสนาขั้นนั้น จะต้องเข้าถึงวิสุทธิขั้นนั้น เข้าถึงหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าถึง ก็อีกนั่นแหละ ไปไม่ได้อีกเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ศาสนานี่จึงมี ๓ ขั้น ใช่ไหมคะ แต่ทีนี้ธุระในพระศาสนา ท่านมี ๒ อย่างเท่านั้นละ มี ปริยัติ กับ ปฏิบัติ คือ คันถธุระ การศึกษาเล่าเรียน ได้แก่ ปริยัติและวิปัสสนาธุระ ได้แก่ การปฏิบัติวิปัสสนา
นี่แหละธุระที่สำคัญยิ่ง ที่เราจะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ศาสนาจะดำรงอยู่ได้ ก็เพราะธุระทั้ง ๒ อย่างนี้ ถ้าธุระอันใดอันหนึ่งไม่มี ไม่มีหวังเลยจะเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้
ส่วนปฏิเวธ ท่านไม่ถือว่าเป็นธุระ เพราะว่าอะไร? เพราะปฏิเวธมันเป็นผลมาจากการทำงานที่ศึกษามาดีแล้ว เข้าใจทำได้ดีแล้ว ปฏิเวธ ต้องได้เอง ไม่ใช่เป็นธุระที่เราจะเอาปฏิเวธมาทำงาน ไม่ใช่อย่างนั้น งานที่เราทำนี่ คือ การศึกษาเล่าเรียนและการปฏิบัติวิปัสสนา ๒ อย่าง
ธุระทั้ง ๒ อันนี้ หายหมด ไม่มี ศาสนาก็ไม่มี นี่แหละไม่มีใครรู้ ถึงมีก็ไม่มีใครรู้จัก ก็เหมือนไม่มีเหมือนกัน ไม่มีประโยชน์อะไรแก่โลก
ถ้ามีแต่ปริยัติอย่างเดียว จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ไหม? ไม่ได้ และถ้าจะไม่สนใจเลยปริยัติ จะปฏิบัติอย่างเดียวจะได้ไหม? ไม่ได้ ! ทำไมไม่ได้? ทำไม่ถูก ก็ไม่ถูกอีกแหละ ทำอย่างไร? ปฏิบัติไปๆ แล้วรู้ขึ้นมาเองอย่างนี้ ก็รู้ผิดได้ ทำไมจะรู้ผิดไม่ได้ ความรู้ความเข้าใจก็ทำให้ผิดได้ แต่ว่าเราไม่ได้ศึกษาในปริยัติเลย เราก็ไม่รู้อีกว่า การปฏิบัติที่เราเห็น เรารู้ นั่นมันถูกหรือเปล่า ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น จะต้องมีธุระทั้ง ๒ อย่างนี้ ทีนี้เราก็สังเกตดู และธุระทั้ง ๒ อย่างนี้ ต้องรวมกันนะ ไม่ใช่จับเอาปริยัติไว้ต่างหาก ปฏิบัติอยู่ต่างหากไม่ใช่อย่างนั้น ต้องรวมกัน
ถ้ามีทั้ง ๒ อย่างนั้น สมบูรณ์แล้ว ปฏิเวธศาสนานี่ ต้องถึงแน่ ปฏิเวธศาสนาน่ะอะไร? ปัญญาที่รู้อะไร? ปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอด เป็นชื่อของปัญญา รู้อะไร? รู้อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก็จะปรากฏขึ้นมา นั่นก็เข้าถึงพระพุทธ เข้าถึงพระธรรมและเข้าถึงพระสงฆ์ คือ เข้าถึงพระรัตนตรัย
นั่นแหละเป็นผู้เข้าถึงแล้วอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ถ้าธุระทั้ง ๒ อย่างนี้ไม่มีแล้วละก็ ยากมากที่จะเข้าถึงได้ทีนี้ไปรวมกันหมดเลย พอถึงปฏิเวธ แปลว่า สมบูรณ์แล้ว ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ทั้งปฏิเวธ
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมกันอยู่ที่นี่หมดแล้ว
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาก็มี ๓ ขั้นนะคะ ในขั้น ๓ นี้ ก็ต้องอยู่ในการศึกษาทั้งนั้น แปลว่าต้องรู้ทั้งนั้น
ขั้นแรกต้องศึกษาปริยัติ คือ เล่าเรียนตำรับตำราก่อน ทีนี้ตำรานี่ อย่าหมายเอาเฉพาะหนังสือนะ คนสอน คนพูดนี่ก็ตำรา นี่เหมือนอย่างที่เรามาศึาษากันนี่ ก็ตำราเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะแต่ตัวหนังสือเท่านั้น ต้องเล่าเรียนตำรับตำราก่อน แล้วจึงลงมือทำงาน เมื่อลงมือทำงานแล้ว ผล คือ ปฏิเวธนั้นจะต้องเกิดจากการเล่าเรียนที่ถูกต้อง และทำงานถูกด้วย ถ้าเรียนถูกและทำงานไม่ถูก ไม่ได้นะ ไม่ได้ผลเหมือนกัน ถ้าเล่าเรียนถูกต้อง แต่ทำงานไม่ถูกต้อง ก็เกิดผลไม่ได้ นี่ต้องเป็นปัจจัยกันดังที่กล่าวมานี้
ขอให้เข้าใจด้วยว่า ต้องเป็นปัจจัยกันทั้งหมดเลย วิสุทธิทั้งหมดจะต้องมีนามกับรูปตลอดไป อารมณ์ของวิสุทธินี่ จะต้องมีนามกับรูปตลอดไปนะคะ จนถึงวิสุทธิที่ ๗ วิสุทธินี้จะต้องมีอารมณ์เป็นนามรูป เพราะมรรคมีองค์ ๘ แต่จะต้องเกิดร่วมในอารมณ์เดียวกัน ในอารมณ์เดียวกันนะ ไม่ใช่ต่างคนต่างเกิด มรรคมีองค์ ๘ นี่ต้องเกิดร่วมในอารมณ์เดียวกัน เช่น อย่างเราเจริญสติปัฎฐานนี่ มีไหมศีล? มีหรือไม่มี? มีความเพียร มีสติ มีการสำรวมพิจารณาอย่างนี้ การล่วงศีล กายทุจริต มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เกิดได้ไหม? เกิดไม่ได้ กิจของศีลนี่ ห้ามกิเลสอย่างหยาบไม่ให้เกิดล่วงออกมา ทางกาย และวาจา พูดปดมดเท็จ หยาบคายได้ไหม? ไม่ได้ นี่ เห็นไหม? ศีลมีแล้วใช่ไหม? นี่เข้าร่วมกันแล้วในขณะที่เรากำหนดสติปัฏฐานนั่นเอง แล้วทีนี้วิริยะกับสติ ตัวสติกับความเพียรที่ทำงานนั่นเป็นองค์ของสมาธิ ขณะที่ตั้งอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันพิจารณากายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี นิวรณ์เกิดได้ไหม? ไม่ได้ใช่ไหม? นี่กิจของสมาธิที่ห้ามนิวรณ์
เพราะฉะนั้น ในขณะที่เรามีสติ มีความเพียรกำหนดอารมณ์ปัจจุบันอยู่นั้น นิวรณ์ก็เกิดไม่ได้ ใช่ไหม? การที่นิวรณ์เกิดไม่ได้นี่แหละ เป็นกิจของสมาธิ มีแล้ว ในที่นั้น สมาธิก็มีด้วย
แล้วถ้าเรากำหนดนามรูปตามสติปัฏฐานนี่ เรานี่รู้ความจริงในสติปัฏฐานนี้ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมว่า กายก็สักว่า กาย เวทนาก็สักว่าเวทนา จิตก็สักว่าจิต สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าวิญญาณ ไม่ใช่สัตว์บุคคล เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วนะ เป็น ปัญญา ใช่ไหม? ใช่! เกิดร่วมกันในวัตถุอันนั้นนั่นเอง ที่เป็นผู้สอนให้
เพราะฉะนั้น มรรคมีองค์ ๘ ก็เกิดพร้อมแล้ว ฉะนั้น วิสุทธิทั้ง ๗ นี้จึงถือว่า มีอารมณ์อันเดียวกัน คือ อารมณ์ของวิปัสสนานั่นเอง ไม่ใช่ถือศีลเสียก่อน แล้วจึงมาขึ้นอารมณ์กรรมฐาน คือ สมาธิ ไม่ใช่ทำสมาธิกรรมฐานในอารมณ์ของสมถะเสียก่อน แล้วจึงมาขึ้นอารมณ์ของวิปัสสนา ไม่ใช่อย่างนั้นทั้ง ๘ นี้ร่วมกันไปในอารมณ์เดียวกัน
นามรูปนี่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาใช่ไหมคะ? เพราะฉะนั้น มรรค ๘ นี่ ก็ต้องร่วมกันไปในอารมณ์นั้น
อันนี้มีกิจของศีล กิจของสมาธิ กิจของปัญญา เข้าร่วมแล้ว โดยกิจนะ เข้าร่วมนะ ถ้าแจกโดยองค์ก็มี ๘ องค์ของปัญญามี ๒ องค์ของศีลมี ๓ องค์ของสมาธิมี ๓ เป็น ๘ พอดี
นามรูปนี่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาด้วย แล้วก็เป็นอารมณ์ของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ด้วย
พระพุทธเจ้าไม่ได้รู้อะไรเลย ที่เป็นผู้แจ้งโลก สัพพัญญุตญาณนี่ ก็รู้นาม รู้รูป นี่ ในโลกนี้มีแต่นามกับรูป ใช่ไหม? ไม่มีอะไรที่นอกจากนามรูป แต่ว่า ท่านรู้กว้างขวางกว่าเรา ที่สุขุมคัมภีรภาพท่านก็รู้ และปัจจัยของนามรูปที่ละเอียดสุขุมมาก เราไม่สามารถจะรู้ได้มากกว่าท่าน
เพราะฉะนั้น ปัญญาเรา หรือแม้ของพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงไม่ใช่ สัพพัญญุตญาณ
สัพพัญญุตญาณ นี่ มีเฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียวนะ สาวกทั้งหลายก็มีไม่ได้ ถึงแม้พระสารีบุตรก็มีไม่ได้ แปลว่า รู้ทุกอย่างใช่ไหมสัพพัญญุตญาณแต่ดิฉันแปลว่า “สิ่งที่ไม่รู้ไม่มี” สัพพัญญุตญาณ นี่สิ่งที่ไม่รู้ไม่มี! ทุกอย่างน่ะ รู้หมดเข้าใจความจริงของนามรูป นี่พระองค์เข้าใจ แล้วก็โลกนี้ มีนามกับ รูป ๒ อย่างเท่านั้น แจ้งโลกก็ไม่ใช่แจ้งอะไร? ก็แจ้งนาม แจ้งรูป นั้นเองไม่ใช่อย่างอื่น
เพราะฉะนั้น นามรูปนี้ และจะเป็นเครื่องส่งความรู้ และปัญญาของท่านให้เข้าถึงวิสุทธิต่างๆ ได้
คำว่า วิสุทธิ ที่จะเข้าถึงธรรมที่วิสุทธิได้ต้องเข้าถึงวิสุทธิเสียก่อนนะคะ ถึงจะเป็นทางดำเนินไปถึงพระนิพพานได้ ต้องเข้าถึงวิสุทธิทุกขั้นไป เราจะทิ้งไม่ได้เลย ไม่ว่าวิสุทธิอันไหน
ฉะนั้น เราจะลงมือกำหนด จะลงมือทำงานหรือยังไม่ลงมือทำงาน ก็ไม่สำคัญ แต่ว่า เราจะต้องเรียนรู้นามรูปให้เข้าใจดีเสียก่อน อันนี้เป็นตัว ปริยัติ อันนี้สำคัญมาก เราต้องเข้าใจก่อนเหมือนกับเราเรียนหนังสือ เราต้องเข้าใจ อ่านหนังสือออกแล้ว เราจะอ่านหรือเราไม่อ่าน ก็ไม่สำคัญ เวลานี้เราอ่านหนังสือออกแล้วนี้นะ คนที่อ่านหนังสือออกแล้ว เวลาที่ไม่อ่านหนังสือ ก็เหมือนกับคนที่อ่านไม่ออกเหมือนกัน ไม่ผิดกันแต่ทีนี้มันเป็นประโยชน์อยู่ที่การมีหนังสือ พอเห็นหนังสือแล้วเขาอ่านออก คนอ่านไม่ออกนี่ เห็นหนังสือแล้วก็คงอ่านไม่ออก นี่มันผิดกันที่ตรงนี้
ถ้าเวลาไม่อ่าน ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่มาได้รับประโยชน์ในตอนที่อ่านหนังสือ หรือต้องการจะอ่านหนังสือ คนที่ไม่ได้เรียน ไม่รู้ ก็อ่านไม่ได้ จะไม่รู้เรื่องในหนังสือเลย แต่ว่า คนที่เรียนรู้แล้วก็อ่านได้ อย่างนี้ ประโยชน์ต่างกันที่ตรงนี้
เพราะการศึกษาเล่าเรียนนี้ ดิฉันก็อยากจะเรียนด้วยเหตุผลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเราก็เคยพูดกันอยู่เสมอแล้วว่า การศึกษานี้เป็นความสำคัญที่สุด ทั้งทางโลกและทางธรรมนะคะ ทางโลกก็เหมือนกัน คนที่มีการศึกษาสูงเรียนมาก ทางโลกก็นิยมกันว่าดีใช่ไหม? ผลของการศึกษานั้น ผู้นั้นก็ได้รับประโยชน์จากการศึกษามาก นี่ดีอย่างนี้ มีประโยชน์อย่างนี้
ทีนี้ทางพระพุทธศาสนา ก็เช่นเดียวกัน ทางพระพุทธศาสนา สุขุมคัมภีรภาพยิ่งกว่าทางโลกมากมายนัก เพราะอะไร? เพราะพระพุทธเจ้ากว่าจะได้มาตรัสรู้ กว่าจะได้สร้างปัญญาขึ้นมาสอนคน ไม่ใช่เวลาน้อยเลย แล้วก็มีองค์เดียวพระพุทธเจ้านี้ ล่วงแล้ว ๒๕๐๐ กว่าปีแล้วนี่ มีองค์เดียวเท่านั้น เพราะว่าไม่ใช่เป็นวิชาที่ง่าย เป็นวิชาที่ยากมาก
ด้วยเหตุนี้แหละ จึงต้องมีการศึกษา เมื่อการศึกษามีแล้ว หลักสูตรต้องมี เราก็ต้องศึกษาตามหลักสูตร การศึกษาเราจะอ่านหนังสือ เราต้องอ่านหนังสือตามหลักสูตร รูปร่างอย่างนี้อ่านว่าตัว “ก” ก็ต้องอ่านว่า “ก” รูปร่างอย่างนี้อ่านว่าตัว “ข” ก็ต้องอ่านว่า ตัว “ข” ตามโรงเรียนทุกโรงเรียน ก็ต้องอ่านตามนี้ทั้งหมดเหมือนกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความเห็นก็ไม่ขัดแย้งกัน คนหนึ่งจะมาบอกว่า ตัว “ก” รูปร่างอย่างนี้ ต้องมีหัวเหมือนตัว “ข” จะไม่พูดอย่างนี้เลย ปัญหาอย่างนี้ จะไม่มีแก่คนที่อ่านหนังสือออกเลยใช่ไหม? ไม่มี ไม่มีเถียงกันเลยใช่ไหม?
ถึงทางพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ถ้าเราเรียนกันจนเข้าใจดีแล้ว ก็ต้องไม่มีปัญหาถกเถียงอะไรกัน ไม่มีเถียงกันเลย เพราะเรารู้ลักษณะแล้วอย่างเดียวกัน เราก็ต้องเรียนตามหลักสูตร ฉันใดก็ดี พระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ยิ่งสุขุมคัมภีรภาพมากกว่าทางโลกอีก
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมเราถึงจะไม่ต้องศึกษาล่ะ? ท่านจึงได้วางหลักไว้ ๓ ขั้น
ปริยัติ มีความสำคัญในขั้นต้น
ปฏิบัติ มีความสำคัญในขั้นที่ ๒
ปฏิเวธ มีความสำคัญในขั้นที่ ๓ อันเป็นผลแห่งความสำเร็จ
เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงได้กล่าวว่า เราอย่าลืมความสำคัญในเรื่องนี้เสียทำไมจึงมีผู้ถือว่าไม่ต้องศึกษาก็ได้ เรียนเอาเองก็ได้ธรรมะนี้ อันนี้ดิฉันคิดว่า เข้าใจผิดมากทีเดียว ทางโลกยังต้องศึกษา แล้วทำไมธรรมะที่ละเอียดสุขุมกว่า จึงจะไม่ต้องศึกษาเล่า และพระองค์ก็ทรงยกย่องสรรเสริญ การศึกษาท่านบอกว่า ผู้ที่จะละมิจฉาทิฏฐิได้ ทั้ง ๖๒ อย่าง นะคะ ซึ่งพระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงแสดงมิจฉาทิฏฐิแต่ละอย่างๆ ที่เกิดแก่พรหม ผู้ได้สมาธิและสมาบัติ แล้วระลึกชาติได้คนพวก นี้มีปัญญา คนพวกนี้มีปัญญาถึงแค่นี้ มิจฉาทิฏฐิ ก็ยังมีได้ ยังละไม่ได้
แต่มิจฉาทิฏฐิที่เกิด ๖๒ อย่างนี้ เป็นมิจฉาทิฏฐิที่เกิดแก่พวกพรหม พวกที่เคยเป็นพรหมได้ฌานสมาบัติมาแล้วทั้งนั้น นี่รวมมี ๖๒ อย่าง พวกพรหมก็มีมากเหลือเกิน คือว่า พวกสมาธินี่ ทำให้มีมิจฉาทิฏฐิมาก นี่แสดงให้เห็นแล้วใช่ไหมว่า มิจฉาทิฏฐินี้ อำนาจของคุณธรรมของสมาธินี่ละไม่ได้ ละไม่ได้ จะทำสมาธิวิเศษอย่างไร ได้ถึงอรูปพรหม ได้อรูปฌานก็ไม่สามารถจะละมิจฉาทิฏฐิได้ ละมิจฉาทิฏฐิไม่ได้แล้ว ยังทำให้เกิดความเห็นผิดอีกด้วย ไม่สามารถจะป้องกันได้เลย นี่ท่านนักศึกษาโปรดเข้าใจด้วย ยิ่งพวกระลึกชาติได้ละก็ยิ่งเกิดมิจฉาทิฏฐิมากเหลือเกิน เพราะจะรู้ว่ามิจฉาทิฏฐิเกิดจากการระลึกชาติได้ เพราะว่า ไปเป็นอย่างนั้น ๆ ท่านวางไว้รวมทั้งหมดมี ๖๒ ระลึกชาติย้อนหลังๆ ไปได้ ไปถึง ๔๐ มหากัประลึกได้ ต่อไประลึกไม่ได้ เพราะสติปัญญาไม่พอ ไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ระลึกได้จนไม่จำกัด นับไม่ได้ อยากจะระลึกเท่าไหร่ๆ ๔๐ มหากัป ๘๐ มหากัป ๑๕๐ มหากัป ก็ระลึกได้
แต่ว่า มีปัญญาของปุถุชน ที่ได้อภิญญานี่อย่างมากระลึกได้เพียง ๔๐ มหากัปเท่านั้นแหละ ต่อไประลึกไม่ได้ ก็บอกว่า
อ๋อ ! คนเรานี่ เมื่อเกิดมาทีแรกนี่ มาจากตอนนั่นแหละ คนเราเมื่อแรกเกิด นี่ก็เกิดมาตรงตอนนั้น มหากัปนั้นเท่านั้นแหละ เพราะว่า ตัวระลึกไปอีกไม่ได้แล้ว ถ้าไปไม่ถึง ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นพรหม เมื่อไปเกิดเป็นพรหม หมดบุญก็จุติ
ส่วนพรหมที่มีอายุยืนกว่า ยังไม่ได้จุติลงมาพอทำฌานใหม่ จนได้ฌานอีก แล้วก็จุติไปเกิดเป็นพรหมอีก
พอเกิดขึ้น ก็ไปเห็นพรหมองค์นั้นยังอยู่อีกก็เลยเข้าใจว่า พรหมนี้อยู่มาก่อน นี่ พรหมที่อยู่มาก่อนนี่แหละ เป็นผู้สร้างโลกทั้งหมดเลย โลกทั้งหมดเกิดจากพรหมองค์นี้แหละ พรหมองค์นี้ไม่รู้จักตายหรอก เมื่อเวลาที่ตัวตายแล้ว มาเกิดใหม่พรหมองค์นี้ก็ยังอยู่
นี่ก็เพราะอานุภาพของฌานสมาบัติ ทำให้เกิดเห็นผิดอย่างนี้ได้ เพราะฉะนั้น พวกเราก็รู้นะคะ แต่ว่า สมาธิน่ะ ไม่มีรึ ไม่ต้องใช้รึ? ต้องใช้ ! ถ้าไม่มีสมาธิ ก็เกิดวิปัสสนาไม่ได้เหมือนกัน
แต่ว่า สมาธิในอารมณ์อะไร? สมาธินั้น ก็ต้องมีอารมณ์ที่ถูกต้องด้วย ก็ต้องมีในมหาสติปัฏฐาน ต้องร่วมกันไป ถึงจะใช้ได้
อันนี้ พวกเราน่าจะรู้เหมือนกัน ใช่ไหมคะ? เพราะ บางทีเราอาจจะตกอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ ๖๒ นี่ก็ได้นะ ท่านวางไว้หลายอย่าง เราก็ควรจะเอามาดูว่ามิจฉาทิฏฐิ ๖๒ นี่ มันมีอยู่ในเราบ้างไหม? เรามีความรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม? นี่ก็น่าจะรู้นะคะ ความรู้สึกของเราอาจติดอยู่ใน ๖๒ นี้ก็ได้เหมือนกัน
เมื่อพระพุทธองค์เทศนาพรหมชาลสูตร ว่า ด้วยทิฏฐิ ๖๒ นี้แล้ว พระอานนท์ก็ทูลถามว่า ทิฏฐิ ๖๒ นี้ พวกไหนจึงละได้? พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า “ตั้งแต่พระอริยะขั้นต่ำ ตั้งแต่พระโสดาบันละได้หมด ทิฏฐิทั้ง ๖๒ ไม่เหลือเลย หรือต่ำกว่าพระโสดาบัน ผู้เป็นพหูสูตร มีการศึกษามาก มีการได้ยิน ได้ฟังมาก ก็สามารถที่จะละมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๖๒ นี้ได้”
เพระฉะนั้น การศึกษานี้ พระพุทธเจ้า จึงสรรเสริญว่ามีประโยชน์มาก แล้วเคยได้พูดถึงศาสนา ๓ ประการนะคะ ก็หมายถึง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็ยังอยู่ในกังขาวิตรณวิสุทธิ ตามที่ดิฉันพยายามอธิบายช้า เพราะว่าอะไร? ไม่ใช่เฉพาะตัวบทเท่านั้น คือว่า พยายามดึงเอาเรื่องต่างๆ นะคะ ที่เอามาสงเคราะห์กัน เพื่อให้ท่านนักศึกษาจะได้เข้าใจเหตุผล และก็จะได้ดึงเอารวมกันได้ ในธรรมะที่มีมากมายด้วยกันเหมือนกับเรื่องสติปัฏฐานก็เหมือนกัน ถ้าขยายออกไปก็ต้องเยอะ
ฉะนั้น การศึกษาปริยัติ ก็หมายถึงการศึกษาเหตุและผลของสภาวธรรม หรือธรรมชาติที่เกิดอยู่ในโลกนี้ ที่เกิดที่เป็นไปอยู่ในโลกนี้ ถ้าหากว่าเราศึกษาเหตุผลดี ตามนัยของปริยัติแล้ว มิจฉาทิฏฐิก็เกิดไม่ได้จริงๆ เป็นสรณะจริงๆ ใครจะดึงไปในทางมิจฉาทิฏฐิไม่ได้เลย คือ หมายความว่า เมื่อเข้าใจเหตุผลแล้ว ปัญญาที่เข้าใจเหตุผลนี่แหละ จะเป็นสรณะที่พึ่ง จะเป็นที่พึ่งอย่างไร? ก็เป็นที่พึ่งได้โดยไม่ตกใจ ที่ใครจะพูดอย่างไร? ใครจะมาชักชวนไปให้ผิดต่อเหตุผลละก็ เป็นไม่ไป คือจิตใจไม่ตกไป เชื่อแน่นอนว่า ใครดึงไปไม่ได้
เพราะปัญญาอันนี้แหละ ผู้ที่เข้าถึงปัญญาอันนี้แล้ว ก็จะเป็นสรณะที่พึ่ง ไม่ใช่แต่จะเป็นชาตินี้เท่านั้นนะคะ ชาติหน้า ชาติต่อๆ ไป มีภพมีชาติเท่าไหร่ๆ ก็ตาม ปัญญาอันนี้แหละ จะตามปกครองไม่ให้ตกไปในความเห็นผิดได้ จะเป็นที่พึ่งตลอดจนกระทั่งดับขันธ์เข้าสู่นิพพานเมื่อไหร่ นั่นเป็นอันว่าหมดกัน ไม่ต้องใช้
เพราะฉะนั้น การศึกษา จึงเป็นความสำคัญอันหนึ่ง ถึงแม้ว่า จะไม่ได้เกิดมาในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา หรือจะไปเกิดในตระกูลที่มีมิจฉาทิฏฐิก็ตาม แต่ว่า อำนาจของปัจจัย คือสัมมาทิฏฐิ ที่มีความเข้าใจถูกนั่นแหละ ก็จะต้องดึงมา ต้องดึงมาพบในสิ่งที่ถูกจนได้
ในเรื่องนี้ก็ขอให้คิดถึงเรื่องเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกน่ะ คนที่เขาปฏิบัติอยู่ก่อนๆ พระพุทธเจ้าน่ะ สาวกของพระพุทธเจ้าน่ะ ล้วนแต่ปฏิบัติในศาสนาอื่น ในลัทธิอื่น ทั้งนั้นเลย มีศาสนาพราหมณ์ ศาสนาอะไรแล้วแต่ แม้ลัทธิไหว้พระอาทิตย์ พระจันทร์ กินข้าวหนเดียว ทรมานตน อัตตกิลมถานุโยค อันนี้ เขาปฏิบัติกันอยู่ในโลกเต็มไปหมดเลย
พอพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นเท่านั้นนั้นแหละ พวกที่ท่านมีบารมีอยู่ ที่ท่านมีปัจจัยอยู่ ที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็ได้มาพบพระพุทธเจ้า ก็ได้สำเร็จมรรคผลด้วยอำนาจของปัจจัยและบารมี ปัญญาบารมี คือความเข้าใจถูกนั่นแหละ ก็ได้มาพบพระพุทธเจ้า เขาก็ได้สำเร็จมรรคผล ล้วนแต่ผ่านศาสนาอื่นมา
อย่างพระสารีบุตรนี่ พ่อก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ แม่ก็เป็นมิจฉาทิฎฐิ ศาสนาพรหมณ์ไม่นับถือเลย จนกระทั่ง พระสารีบุตรจะเข้านิพพานแล้ว ถึงได้ไปโปรดมารดาท่านให้เป็นสัมมาทิฏฐิได้ แต่ว่าลูกๆท่านมีลูกผู้ชาย ๗ คน เป็นพระอรหันต์ทั้ง ๗ คน แต่ส่วนพ่อแม่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ คิดดูซิ เห็นไหมคะ แต่ว่า ลูกก็ยังไปโปรด พระสารีบุตรเมื่อตอนจะเข้าปรินิพพาน ก็ทูลลาพระพุทธเจ้า ไปที่บ้านมารดา แล้วไปทรมาน มารดาท่านให้เป็นสัมมาทิฏฐิสอนให้รู้ให้เข้าถึงการปฏิบัติ แล้วรู้ซาบซึ้งถึงเหตุผลเลย
ครั้งนั้น พระสารีบุตร ก็ยังไม่เชื่อ คือ มารดาท่านนับถือศาสนาพราหมณ์อยู่ พอแสดงธรรมในพระพุทธศาสนา ถึงเหตุผลให้ฟังแล้ว ก็มองแลเห็นจริงเชียว เชื่อเชียว ก็เพราะว่า พรหมณ์ที่มารดาท่านนับถือมากน่ะ ยังต้องมาไหว้พระสารีบุตร มีรัศมีสว่างมาในเรือน พระสารีบุตร จะเข้านิพพานแล้วพวกพรหม พวกเทวดา เหล่าต่างๆ ก็เข้ามาเฝ้า นั่นแหละ จะเป็นอำนาจพระสารีบุตรเชื้อเชิญหรือพรหมจะมาไหว้จริงๆ อันนี้เราก็รู้ไม่ได้นะ แต่ว่าท่านจะไปทรมาน มารดาที่นับถือพรหม มารดาก็ถามพระสารีบุตรว่า ใครที่ลงมา พระสารีบุตรก็บอกว่า พรหมชั้นนั้น พรหมชั้นนี้ ท้าวมหาพรหม อะไรต่ออะไร พระสารีบุตรก็สาธยาย
นี่แหละ ก็ทำให้มารดาท่านรู้สึกว่า แหม! สาวกของพระพุทธเจ้าในศาสนานี้ มีความสำคัญมาก แม้แต่พรหมที่เรานับถือนี่ เราก็ว่า ไม่มีใครจะสู้ได้แล้ว แต่อย่างนั้น ยังมาบูชา ยังมากราบสาวกของพระพุทธเจ้า คือ พระสารีบุตร ลูกท่าน
ทีนี้ก็รู้สึกว่า ความเลื่อมใสท้าวมหาพรหมก็น้อยลงไปแล้ว ชักเลื่อมใสทางนี้ ก็เกิดเลื่อมใสขึ้นใช่ไหมคะ
เมื่อพระสารีบุตรเห็นว่า มารดาเกิดเลื่อมใสแล้ว และพวกพรหมพากันไปแล้ว ท่านก็เทศนาโปรดมารดา สอนเหตุผลธรรมะให้ฟังทั้งการปฏิบัติ มารดาท่านก็ได้เป็นสัมมาทิฏฐิ และก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน
จึงประกาศบอกกับพระสารีบุตรว่า เดี๋ยวนี้ท่านนี่ คือมารดานี่ นับถือแล้ว ประกาศว่า “แม่เป็นผู้นับถือพระรัตนตรัย ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว”
เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ แม่ขอเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะแล้ว ก็ประกาศออกมา
พระสารีบุตรก็ยังไม่เชื่อว่า จะถึงจริงหรือเปล่าก็บอกกับมารดาว่า ถ้าท่านถึงพระรัตนตรัยจริงๆ แล้ว ขอให้พรรณนาพระคุณว่า คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์น่ะ ดีอย่างไร? แม่ท่านพรรณนาได้ถูกต้องเลย เห็นไหม ทั้งๆ ที่ไม่ศึกษาเล่าเรียน เหมือนอย่างกับเราที่มาเรียนกันนี่ อย่างเรานี่ ถ้าให้ไปพรรณนาคุณ บางทีอาจจะนึกไม่ออกแล้ว ลืมไปแล้ว พรรณนาไม่ได้
แต่ว่า มารดาท่านพระสารีบุตร ท่านพรรณนาได้ถูกต้องหมดเลย ในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์น่ะ ดูซิ เลื่อมใสเดี๋ยวนั้นแหละ
อันนี้ก็เป็นด้วยอำนาจที่ท่านเข้าถึงเหตุผลจริงๆ เห็นไหมคะ
พระสารีบุตรก็รู้แล้ว อ้อ! ท่านเป็นผู้รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริง พระสารีบุตรก็สาธุ!
นั่นแหละ พอมารดาท่าน กลับมาเป็นสัมมาทิฏฐิ พระสารีบุตรก็ปรินิพพาน
พระสารีบุตรปรินิพพานนี่ อายุของท่าน ๑๒๐ ปี คิดซิว่า แม่ท่านจะอายุเท่าไร? ต้องอายุมากกว่า ๑๒๐ ปีแน่ ดูซิ คนอายุตั้ง ๑๐๐ กว่า แล้วยังฟังรู้เรื่อง แล้วปฏิบัติตามได้ ดูซิ ยังฟังเข้าใจ ไม่หลง ไม่เลอะเลย
มีผู้ฟังถามว่า พระสารีบุตร ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ทำไมท่านไม่ทราบหรือว่า มารดาสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว?
ท่านอาจทราบค่ะ แต่เพื่อประกาศความเป็นสัมมาทิฏฐิของมารดา หรือบางที พระสารีบุตรท่านอาจไม่มีอภิญญาในเรื่องนี้ก็ได้นะคะ อันนี้ต้องรู้ได้ด้วยอภิญญา พระสารีบุตรท่านอาจจะไม่มีอภิญญาในเรื่องนี้ค่ะ
เพราะฉะนั้น ถึงได้บอกว่า สาวกของพระพุทธเจ้าน่ะ ล้วนแต่เป็นผู้บัญญัติในทางลัทธินอกศาสนามาก่อนทั้งนั้น แต่ว่า อำนาจบารมีนี่แหละที่เข้าใจเหตุผล ที่ได้ศึกษา ได้ยิน ได้ฟัง ก็มาพบพระพุทธเจ้า ก็ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน กันมากมาย
แต่ว่า ที่ไม่มีบารมีมาเลย อยู่กับพระพุทธเจ้าใกล้ ๆ กัน แม้แต่เป็นญาติกัน เป็นพ่อตา เป็นน้องภรรยา เป็นพี่ภรรยา อะไรก็ไม่ได้ ไม่ได้เลย
แล้วอาจารย์ต่างๆ ของพวกพระสาวกนี่ครูทั้ง ๖ คน คณะใหญ่ๆ ทั้งนั้น ไม่ได้เลย แม้แต่จะมาพบพระพุทธเจ้า ก็ยังไม่ยอมมาพบ นั่นน่ะ เพราะเรื่องอะไร ก็เพราะเรื่องไม่มีปัจจัยมา ไม่มีบารมีมา อำนาจของปัญญาอันนั้นก็ไม่เป็นสรณะ ก็ไม่สามารถจะมาถึงพระพุทธเจ้าได้
เพราะฉะนั้น พวกเรานี่ ไม่เป็นไร ถึงชาตินี้จะไม่สำเร็จ มรรคผลน่ะ ต่อไปข้างหน้า หากจะไปพบพระพุทธเจ้า หรือไปพบผู้ที่มีปัญญา ก็เพียรฟังธรรม เราก็อาจจะสำเร็จได้ เพราะได้ฟังมามาก
พวกพระอริยะที่ได้ปฏิสัมภิทามานี่ ก็ต้องศึกษาเล่าเรียนมา แล้วก็ต้องปฏิบัติด้วย ต้องปฏิบัติด้วย
ความเห็นถูกนี่แหละ ใครจะดึงไปมิจฉาทิฏฐิไม่ได้ ไม่ตกไปเลย ความเข้าใจอันนี้แหละป้องกัน เป็นสรณะ คือ คนที่อ่านหนังสือออก ถ้าใครเขียนหนังสือผิด เมื่อเราดูแล้ว เราก็จะรู้ได้ว่าคนนี้ยังไม่เข้าใจ ใช้ตัวสะกดผิด ใช้พยัญชนะก็ผิด เขาเขียนกันอย่างนี้ แต่กลับไปเขียนอย่างนั้น เช่นนี้ เป็นต้น ดิฉันยกตัวอย่างของจริง
หลานดิฉันมีอยู่คนหนึ่ง อายุ ๖ ขวบ ก็เป็นตัวอย่างในธรรมะอันหนึ่ง เขาดูโทรทัศน์รายการเพลินเพลง เขาเขียน “เพลินเพลง” ที่จอ แต่เด็กคนนั้นเขาอ่านว่า “เพ – ลิน เพ – ลง“ นี่อ่านถูกเหมือนกันนะ ไม่ใช่อ่านผิด แต่เขาไม่เข้าใจความหมายกันนะ ไม่ใช่อ่านผิด แต่เขาไม่เข้าใจความหมาย เขาอ่านถูกตัวเหมือนกัน แต่ว่าไม่ถูกกับความหมาย
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเรียนธรรมะ ก็อย่างเดียวกันนั่นแหละบางทีเขาเขียนหนังสือแล้ว เรารู้ว่าเขียนผิด ที่จริงความหมายอันนี้ ที่ถูกแล้วต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เราก็เข้าใจ ใช่ไหมคะ? เราก็รู้ผิด รู้ถูก เพราะเราเข้าใจเนื้อความ
เหมือนกันแหละที่ท่านนักศึกษาเรียนธรรมะก็อย่างเดียวกัน ตัวหนังสือ อ่านได้ แต่ว่าอ่านไม่ถูกอย่างนี้ เป็นต้น
พยัญชนะน่ะ อาจจะอ่านได้ถูก แต่ว่าความหมายนั่นใช้ไม่ได้ การเรียนธรรมะก็เหมือนกัน ยิ่งเรียนภาษาบาลี ยิ่งลำบากมาก แปลได้ แต่ว่าถูกความหมายหรือเปล่า อันนี้ก็ไม่รู้ คือ แปลตามศัพท์นั่นแหละ เด็กอ่านหนังสือ จะว่าอ่านผิดก็ไม่ได้ ถ้าเขาอ่านไม่ผิด ตัวพยัญชนะ จะถูกความหมายหรือเปล่า แต่เด็กนั้นก็ไม่รู้ เด็กก็อ่านไป เหมือนกับคนแปลบาลีนั่นแหละ แปลน่ะ แปลตามศัพท์ไปถูกแล้ว แต่จะถูกตรงกับเนื้อความหรือเปล่า ก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้น การศึกษานี่ เป็นความสำคัญในขั้นต้นทีเดียว มีอาจารย์ผู้หนึ่งให้สติไว้ดีมาก คือ บอกว่า “เราจะคิดในใจน่ะ ไม่ห้าม เราจะคิดผิด คิดถูก คิดอะไรก็คิดไปเถอะ ในใจของเราน่ะ มันไม่ออกมาข้างนอกน่ะนะ ไม่เป็นไร มันจะผิดอยู่ก็เรื่องของเรานั้นแหละ แต่ว่า ถ้าพูดออกมาแล้วไม่ได้ ต้องมีเหตุผล ถ้าพูดออกมาละก็ ต้องให้มีเหตุผล พูดเลอะเทอะไม่ได้ แต่ถ้าคิดละก็ คิดได้ไม่เป็นไร ของเราคนเดียว คิดอย่างไรก็คิดได้ แต่ถ้าพูดออกมาต้องมีหลักฐาน ต้องให้มีหลักสูตร ต้องให้ตรงกัน พูดตามใจไม่ได้
ถ้าคิดเอาเองในใจ ไม่มีใครว่า ผิดหรือถูกเพราะเขาไม่รู้ว่า เราคิดเลอะเทอะอย่างไร? ถ้าเราพูดออกมาประเดี๋ยวเกิดมีคนเชื่อ เราพูดเลอะเทอะแต่มีคนเขาเชื่อเรา เขาพลอยเลอะเทอะไปด้วย เราก็จะต้องเป็นผู้รับบาปรับกรรมนั้นด้วย เพราะเขาไม่รู้ ถ้าพูดดีก็ดีไป แต่ถ้าผิดก็เสียหาย”
เพราะฉะนั้น เมื่อพูดแล้ว ต้องให้ถูกด้วย เช่นออกเสียงมาว่า ตัว ก ต้องเขียนให้ถูก และพูดก็ถูกว่า ลักษณะอย่างไร ?
ฉะนั้น การศึกษาจึงเป็นประโยชน์มาก การที่จะดำเนินมาถึงขั้นกังขาวิตรณวิสุทธิอย่างนี้ ก็ต้องได้ปริยัติ โดยสมบูรณ์แล้ว อย่างน้อยเวลากำหนดรูป เวลานั้นกำหนดอะไร? อะไรเป็นนาม กำหนดนามอะไร? เวลานั้นอะไรเป็นรูป กำหนดอย่างไร กำหนดรูปอะไร? อันนี้แหละเราต้องเข้าใจ หมายถึงผู้ปฏิบัติ อย่างนี้เราต้องรู้ก่อน แล้วจึงถึงขั้นทำงาน นี่ต้องทำติดต่อเนื่องกัน
เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้งหมดที่พูดกับคนหลายคน ก็อาจจะพูดแยกแยะหลายอย่างออกไปอีกก็ได้ สำหรับคนฟังหลายคน บางทีพูดอย่างนี้ คนนี้ไม่เข้าใจ ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่ง เข้าใจ !
เหมือนอย่างในสติปัฏฐาน คำว่า “ไม่พูด” นี่ท่านใช้คำว่า “ไม่มีปาก” มีปากก็รู้ ไม่มีปากก็รู้ แล้วเราฟังเข้าใจไหม? ไม่มีปากน่ะ อะไร? อะไรมันไม่มีปาก แล้วอะไรมีปาก ไม่รู้ใช่ไหม? พวกเราก็ไม่รู้ แต่ว่า อีกพวกหนึ่ง พวกทางเหนือ พวกลาวน่ะ เขารู้ พอบอกว่า ไม่มีปาก เขารู้ว่า ไม่พูด ถ้าพูดแล้ว แปลว่า มีปาก
เพราะฉะนั้น ภาษาในธรรมะนี่ จึงมีมากมาย เพราะพระพุทธเจ้า ท่านเทศนากับคนมากมายหลายชั้น ความเข้าใจก็หลายขั้น ไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม เหมือนกับวิสุทธิทั้ง ๗ นี้ ก็เหมือนกัน วิสุทธิทั้ง ๗ นี้ ก็คือ ความบริสุทธิ์ของศีล สมาธิ ปัญญา และ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือ มรรค ๘ การเจริญ มรรค ๘ ก็คือ การปฏิบัติตาม มหาสติปัฏฐาน การกำหนด สติปัฏฐาน ก็คือกำหนด นามรูป การกำหนด นามรูป ก็คือ กำหนดรู้ทุกข์สัจจ์ นี่รวมกันหมดเลย เป็นอันเดียวกันทั้งนั้น
เท่าที่เรียนชี้แจงมาแล้ว ดิฉันก็คิดว่า คงจะพอนะคะ เผื่อท่านจะมีอะไรสงสัยบ้าง หรือยังไม่เข้าใจ ก็ลองถาม มีอะไรบ้างไหม ที่ยังไม่เข้าใจแล้วก็ขอให้สังเกตว่า ที่ดิฉันพูดมาแล้วทั้งหมด ตั้งแต่วิสุทธิต้นมา มีอะไรเป็นประธานคะ ของวิ-สุทธิ?
มี นามรูป นะ โปรดสังเกตนะ จะพูดอะไรก็ต้องมีนามรูป กำกับมาเรื่อยทีเดียว ไม่ว่าจะพูดอะไร ทำไมถึงได้พูดแต่นามรูปนี่เรื่อย ทุกวิสุทธิ เพราะว่า นามรูปน่ะ เป็นตัวถูกกระทำ ถ้าไม่มีนามรูป การงานก็มีไม่ได้ วิ-สุทธิก็มีไม่ได้ ศีลก็มีไม่ได้ สมาธิก็มีไม่ได้ ปัญญาก็มีไม่ได้ ต้องมีนามรูปเป็นประธาน
เพราะฉะนั้น พูดเรื่อยมานี่? จะต้องมีนามรูปกำกับมาเรื่อยทีเดียว อย่างอื่นไม่ได้นะคะ นี่ย่อลงไป
เหมือนอย่างมหาสติปัฏฐานก็เหมือนกัน เราพูดกันเมื่อตะกี้นี้ มีอะไรน่ะ ที่นอกจากมหาสติปัฏฐานนั้น ไม่มีเลย โพธิปักขิยธรรม มหาสติปัฏฐาน ๔ เป็นโพธิปักขิยธรรม ด้วย
ทีนี้ก็จะถามว่า โพธิปักขิยธรรมนี่ เป็นองค์ธรรมที่สำหรับตรัสรู้นะ แล้วก็มีสติปัฏฐานอยู่ในนั้น ทีนี้ถามว่า “ความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสนี่ เป็นโพธิปักขิยธรรมหรือเปล่า?”
เอ้า ! ตอบซิคะ เป็นโพธิปักขิยธรรมหรือเปล่า ?
จิตมีราคะ จิตมีโทสะ สติปัฏฐาน ว่าอย่างนี้ใช่ไหม? จิตมีโมหะ อย่างนี้ใช่ไหม? มีใช่ไหม? นิวรณ์ทั้ง ๕ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธ-นิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์, อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ฟุ้งซ่าน อะไรอย่างนี้
เพราะฉะนั้น อยากถามว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า เอ้าถามอย่างนี้ เป็นสติปัฏฐานไหม? มีไหมในสติปัฏฐาน? มีใช่ไหม? มีอยู่ในสติปัฏฐานนะ
เป็นโพธิปักขิยธรรมหรือเปล่า? นี่อันนี้ต้องเข้าใจนะ ว่าไงคะ? เป็นโพธิปักขิยธรรมหรือเปล่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่นะ?เออ! สงสัยว่า เป็นหรือไม่เป็น ใช่ไหม? โพธิปักขิยธรรมนี่เป็นกุศล ใช่ไหม? เออ เป็นกุศล นั่นซี คือว่า :-
ความโลภ โกรธ หลง นี่เป็นเครื่องมือ คือเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานใช่ไหม? เป็นอารมณ์ของสติและปัญญา อย่างนี้ นิวรณ์ กิเลส ปัญญา กุศล อกุศล อพยากตะน่ะ เป็นอารมณ์ของปัญญาได้ทั้งหมดเลย แต่ว่า เป็นตัวถูกกระทำงานใช่ไหมล่ะ?
แต่ส่วนสติปัฏฐาน นี่เป็นตัวทำงาน ใช่ไหม เข้าใจไหมค่ะ? เป็นตัวทำงานน่ะ สติปัฏฐานที่จัดขึ้นสู่โพธิปักขิยธรรมน่ะ เป็นตัวทำงาน ใช่ไหมล่ะ?
ตัวสติที่ถูกกำหนดรู้ในอารมณ์ทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ใน สติปัฏฐานทั้ง ๔ น่ะ นี่เป็นตัว โพธิปักขิยธรรม
สติปัฏฐานในโพธิปักขิยธรรม นี่เป็นตัวทำงาน ที่ว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา คือ มีความเพียรใช้สติและปัญญา กำจัดความยินดี ยินร้าย ที่เป็นตัวกิเลสนิวรณ์ให้หมดไป คือ สติปัฏฐาน ในโพธิปักขิยธรรม ที่เป็นตัวทำงาน ว่าอย่างนั้นเถอะ
ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ในสติปัฏฐานจริง แต่เป็นตัวถูกทำงาน เห็นไหมคะ?
ถึงพูดถึงว่า สติปัฏฐานนี้ เป็นตัวโพธิปักขิยธรรม ใช่ไหม? สติปัฏ-ฐานนี่ เป็นโพธิปักขิยธรรมนะคะ แต่ว่า มีกุศล มีอกุศล มีนิวรณ์ มีกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ในสติปัฏฐานใช่ไหมคะ?
เพราะฉะนั้น กิเลสพวกนี้ ก็เป็นโพธิปักขิยธรรมด้วยหรือ? ไม่ใช่ค่ะ ! ใช่ไหมละคะ แต่ว่าเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานตรงกันนะ
เพราะฉะนั้น โพธิปักขิยธรรม เกิดได้เพราะพวกนี้ เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลงที่เป็นเครื่องมือสำหรับให้มากำหนดรู้ ใช่ไหมล่ะ นี่อันนี้ละ ตัวทำงาน ตัวกำหนด ตัวพิจารณา เป็นโพธิปักขิยธรรม แต่ว่า อารมณ์นี้ ไม่ใช่เป็นตัวโพธิปักขิยธรรม นะคะ ขอให้เข้าใจอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ความโลภ ความโกรธ ความหลงน่ะ จะว่าดีหรือไม่ดี ก็เป็นประโยชน์เหมือนกันเอามาเป็นเครื่องรับรองให้สติปัฏฐานทำงานได้
ถ้าไม่มีพวกนี้ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็แทบไม่มีงานทำ ฉะนั้น พวกนี้จึงเป็นเพียงเครื่องมือนะคะ
อันนี้ขอให้เข้าใจ มันมีเหลื่อมอยู่นิดๆ หน่อยๆ ทีนี้ถ้าเราเข้าใจแล้วว่า ตัวโพธิปักขิยธรรม นี่เป็นตัวกุศลธรรมล้วนๆ ใช่ไหมล่ะ พวกอกุศลก็เข้าไม่ได้ แต่ว่า พวกนี้ก็อยู่ในสติปัฏฐานด้วย
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานที่ว่า มีทางเดียว ที่ประเสริฐมากที่สุด ก็หมายถึง สติที่กำหนดรู้อารมณ์เหล่านี้นะคะ
ทุกอย่างถ้าเราไม่ดู ก็ไม่เห็นนั่นแหละ ฉะนั้นวิสุทธิทั้ง ๗ ที่พูดกันมานี่ มีอะไรเป็นประโยชน์? ก็คือ มี นามรูป นั่นเอง ความรู้จักกิเลสนี่ก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน
โดยมากนะคะ คนที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานน่ะ กิเลสเกิดขึ้นก็ไม่ค่อยรู้ ว่าเวลานี้ โอ้โฮ เรากำลังโทสะเกิด เวลานี้เรากำลังโลภเกิด อะไรไปอย่างนี้ ไม่ค่อยรู้
คนที่ทำสติปัฏฐานนั่นแหละ ถึงจะรู้ เพราะว่าคอยพิจารณาอยู่ใช่ไหม? จิตประกอบด้วยอะไรเกิดขึ้นก็รู้ อย่างนี้ถึงจะรู้
เพราะฉะนั้น ถ้าเขามีคำถามว่า เรามีนิวรณ์เป็นอารมณ์นี้ ทำให้ไปนรก หรือไปสวรรค์ เขาถามอย่างนี้ เราดูนิวรณ์ มีกามฉันทนิวรณ์ มีพยาปาทนิวรณ์ เป็นอารมณ์อย่างนี้ ไปนรก หรือไปสวรรค์? คือว่าเวลานี้ กามฉันทนิวรณ์เกิดขึ้น พยาปาทนิวรณ์เกิดขึ้น เขาก็รู้ เราเอากามฉันทนิวรณ์ เอาพยาปาทนิวรณ์ที่เกิดขึ้น หรืออุทธัจจะ ถีนมิทธะ เกิดขึ้นแล้วเราก็กำหนดรู้ ใช่ไหมคะ? การที่เรากำหนดรู้นี่นะ แปลว่า เราไม่เป็นไปตามนั้นใช่ไหม? ใช่ไหมล่ะคะ?
จิตเราเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล? เป็นกุศลใช่ไหม คือ ตั้งอยู่ในมหาสติ-ปัฏฐานนะ
แต่ว่า เมื่อมีโลภ มีโกรธ มีหลง เป็นอารมณ์แล้ว ก็ได้นะ ไปนรกก็ได้ คือว่า เมื่อมันปรุงไป จิตก็เป็นไปตามนั้นด้วย ใช่ไหมล่ะ? มันไม่ใช่ชั่วแต่เป็นอารมณ์ มันอาจปรุงจิตเป็นโลภ อารมณ์ก็เป็นโลภ จิตก็ต้องโลภไปตามด้วย ก็ต้องเป็นไปตามนั้นเลย
แต่อันนี้ มันมีสติปัฏฐานอยู่นี่ เมื่อความโลภเกิดขึ้น จิตก็อยู่ในสติปัฏ-ฐานใช่ไหม? อย่างนี้มันไม่ได้เป็นไปตามความโลภ หรือความโกรธนั้นจิตก็เป็นกุศลได้
เพราะฉะนั้น มันเหลื่อมกันนิด ๆ เดียวเท่านั้นนะคะ มีความโลภเป็นอารมณ์ มันก็อยากได้โน่น อยากได้นี่ แต่ว่า สติปัฏฐานนี่ ทำลายความโลภ ทำลายความโกรธด้วย มันคนละอย่าง คนละนัยกัน อันนั้นเป็นไปกับความโลภ เป็นไปกับความโกรธ เพราะว่า ไม่มีสติปัฏฐาน เพราะไม่รู้นี่ ใช่ไหมล่ะ? ถ้ารู้ก็เป็นสติปัฏฐาน
ทีนี้ จะถามว่า การกำหนดรู้รูปนามนี่มีกี่ขั้น มีกี่นัย มีกี่นัยคะ? ไม่มีใครจำได้เลยหรือ?
ถ้าเรารู้ว่า มีกี่อย่างนี่ มีประโยชน์มากนะคะ ถ้าเรารู้ว่า มีกี่อย่างนี่, เวลาที่เราไปเจริญวิปัสสนานี่ เราก็ต้องกำหนดรู้นามรูปเหมือนกัน เราจะได้รู้ว่า ที่เรารู้นามรูปนี่ มันอยู่ในขั้นไหน? มันขั้นปริยัติ หรือขั้นปฏิบัติ หรือขั้นวิปัสสนา เรารู้นามรูปด้วยปริยัติ หรือรู้นามรูปด้วยการปฏิบัติ หรือรู้ด้วยวิปัสสนา ด้วยปัญญาแล้ว นี่ถ้าเราไม่รู้อย่างนี้ ที่นี้เราไปกำหนดรู้นามรูปนี่ อาจจะเข้าใจผิด อาจจะรู้เพียงขั้นปฏิบัติ หรือขั้นปริยัติ เท่านั้น และอาจจะไปเข้าใจรู้ว่า รู้ในขั้นวิปัสสนาก็ได้
นี้มี ๓ ขั้นนะ เกือบจะอธิบายทุกวิสุทธิเลย ดิฉันก็พยายามอธิบาย เพื่อจะได้ให้เข้าใจอันนี้
ทีนี้เราปฏิบัตินี่ เราก็เป็นประโยชน์ ผู้ที่จะสอนกรรมฐานก็เหมือนกัน เป็นประโยชน์ด้วย หากจะไปแนะนำสอนกรรมฐานคนอื่น เวลาเข้าปฏิบัติด้วยก็ได้ เพราะอะไร? เพราะว่า เราไปสอบกรรมฐาน หรือไปสอนกรรมฐานเขา ก็เรารู้นี่คะ
เมื่อไปสอบกรรมฐานเขา เขาบอกว่า เขาเห็นแล้วนามรูป หรือเขารู้นามรูปนี่ ผู้สอนจะต้องรู้ละเขารู้ขั้นไหน?
ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็ไม่รู้ว่า เขารู้ขั้นไหน ก็ไม่รู้ เมื่อเราไม่รู้ว่า เขารู้ขั้นไหน แล้วทำยังไง ก็อาจจะทำให้คนปฏิบัตินั้น เข้าใจผิดก็ได้
รู้รูปนามมี ๓ ขั้นนะคะ แหม ! ที่จริงพูดมาทุกวิสุทธิเลยไม่น่าจะลืม อันเป็นความสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่เรา แล้วเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย
อันนี้สำคัญมาก ผู้สอนกรรมฐานก็สำคัญ ผู้เข้ากรรมฐานก็สำคัญ
อ้อ นี่มีคำถามเหมือนกัน เขาถามว่า “นามรูปปริจเฉทญาณ เกิดขึ้นมีกี่นัยอะไรบ้าง ?”
ก็มี ๓ ขั้น หรือ ๓ นัยเหมือนกัน รู้ด้วยปริยัตินัยหนึ่ง รู้ด้วยปฏิบัตินัยหนึ่ง รู้ด้วยวิปัสสนาอีกนัยหนึ่ง รู้ด้วยปฏิบัตินัยหนึ่ง รู้ด้วยวิปัสสนาอีกนัยหนึ่ง แต่ถ้าเข้าถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ที่ท่านสงเคราะห์แล้ว ด้วย ทิฏฐิวิสุทธิ อันนี้ต้องเข้าถึงขั้นวิปัสสนาทีเดียว
มี ๓ นัย ปฏิบัติ เพื่อให้วิปัสสนาเกิด ปริยัติเล่าเรียนเพื่อเจริญวิปัสสนา หรือเพื่อลงมือปฏิบัติแล้ววิปัสสนาถึงจะเกิด
เพราะฉะนั้น การรู้นามรูปนี้ ก็ต้องรู้ตั้งแต่ปริยัตินัยหนึ่ง, รู้ชนิดปฏิบัติอีกนัยหนึ่ง แล้วก็รู้จากวิปัสสนาเกิดแล้วอีกนัยหนึ่ง เช่น อย่างนี้นะคะว่า :-
“เห็น” นี่เป็นรูปหรือเป็นนาม? เอ้า ตอบซิ รู้ด้วยปริยัติใช่ไหม ? ใช่ แล้วรู้ด้วยปฏิบัติล่ะ ปฏิบัตินี่รู้อย่างไร? รู้ด้วยปฏิบัตินี่ เราต้องเพียรทำงาน คือ ต้องกำหนดนี่ใช่ไหม? ทำความรู้สึกตัว กำหนดนามที่เห็นนี่ ที่เรากำหนดลงไปนั้นเราต้องทำความรู้สึกใช่ไหม? ต้องทำความรู้สึกด้วยสัมปชัญญะ นะ รู้ว่า “กำหนดนามที่เห็น” กำหนดนามที่ได้ยิน ก็นามที่กำลังได้ยิน แต่ว่าเรายังกำหนดอยู่ รู้ว่ากำหนดที่เห็น หรือกำหนดนามที่ได้ยิน
เพราะฉะนั้น การที่เรากำหนด เรากำหนดพิจารณาลงไปนั้น รู้ว่าพิจารณาอะไร รู้ว่าพิจารณานามอะไร หรือรูปอะไร? พิจารณารูปนั่ง หรือรูปนอน ใช่ไหม? ต้องมีความรู้สึกในขณะที่กำหนดนะคะ ว่ารูปอะไร นามอะไร? นี่แหละรู้ด้วยปฏิบัติ อันนี้รู้ด้วยปฏิบัติ เพราะเราต้องกำหนดนี่ใช่ไหม?
แล้วรู้ด้วยวิปัสสนานั้น รู้อย่างไรเล่า? รู้ด้วยวิปัสสนาน่ะ พอเกิดขึ้นปุ๊บ รู้ทันที เป็นนามหรือรูป โดยไม่ต้องกำหนดหรอกใช่ไหมค่ะเหมือนอย่างว่า พอเห็นเข้าก็รู้เชียวว่า เป็นใครไม่ต้องกำหนดว่าเป็นใคร พอเห็นเกิดขึ้นปุ๊บ ก็รู้ว่าเป็น นาม เห็นพอได้ยินเกิดขึ้นปุ๊บ ก็รู้ว่าเป็น นาม ได้ยินอย่างนี้
นั่ง นอน ยืน เดิน ในอิริยาบถนี่ ก็เช่นกันรู้สึกหมดว่า เป็นรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน ไม่ต้องกำหนดก็รู้ เพราะว่า เป็นรูปที่เกิดมาจากการกำหนด เพราะเวลากำหนดนะ ทำความรู้จักให้ชัดเจน เหมือนอย่างกับอ่านหนังสือนั่นแหละพอเห็นปุ๊บก็อ่านออกเลย ไม่ต้องไปคอยผสมตัวว่านี่ ก ไก่ สระอา แล้วอ่านว่า “กา” ไม่ต้องใช่ไหม? พอเห็นก็อ่านออกว่า “กา” เลย อ่านได้เลย แต่ว่า แรก ๆ เราต้องกำหนดใช่ไหม?
เพราะฉะนั้น การรู้นามรูปปริจเฉทญาณ นี้ต้องรู้ถึงขั้นนั้น ซึ่งเป็นผลจากการกำหนด
ถ้าหากว่า เราเรียนปริยัติรู้แต่นามรูป ก็เท่านั้นแหละ นามรูปนี่เรารู้แล้ว รู้ตอนเรียนปริยัติ แต่ว่า เวลาทำงานน่ะ ไม่ได้เอานามรูปไปทำงาน ไม่ได้เอานามรูปไปทำงานด้วย เช่น ไม่ได้เอาไปกำหนด แต่ว่า ถ้าถามก็ตอบได้ เพราะตอบตามปริยัติ เช่นถามว่า นั่งเป็นรูปหรือเป็นนาม ตอบได้ “เห็น” เป็นรูปหรือเป็นนาม ก็ตอบได้ นั่งเป็นรูป เห็นเป็นนาม ได้ยินเป็นนาม รู้ว่า นั่งเป็นนามตอบได้ คือ เรียนปริยัติมา
แต่ เวลาทำงาน คือ เวลากำหนดน่ะ ไม่มีรูปนาม รับรองการกำหนดของเรา คือ ไม่ได้เอารูปนามไปทำงานด้วย เห็นเฉยๆ เช่น เห็นหนอๆ ไม่มีนาม ไม่มีรูปเลย ที่เห็น น่ะไม่มี นามหรือรูปไม่มี ไม่ได้เอาไปเลย หรือนั่งหนอๆ รู้แต่ว่า นั่ง แต่ว่านั่งน่ะเป็นรูปหรือเป็นนาม? ไม่ได้อยู่ในความรู้สึกเลยว่าที่กำหนดนั่นนะ กำหนดรูปหรือกำหนดนาม ว่ารูปอะไร? หรือนามอะไร? ไม่มีความรู้สึกเลย ในเวลาที่ทำงานน่ะ ทำอะไร? ดูอะไร? ไม่มี
อันนี้แหละ สำคัญมากที่สุดเลย เมื่อไม่มีแล้วก็ ไม่มีนาม มีรูป นี่ แล้วนามรูปจะโผล่มาจากไหนล่ะ? เป็นนามรูปปริจเฉทญาณน่ะ ไม่มี โผล่ขึ้นมาแน่เลย เพราะเราไม่ได้เรียนมานี่ เราเรียนมาแต่ชื่อปริยัติ แต่ถึงเวลาที่ตัวจริงของมันเกิดขึ้นนะ ไม่ได้เรียน
ทีนี้เวลาปฏิบัตินี่ มันต้องเอาตัวไปทำงานเวลาเรียนปริยัติไม่ได้เอาตัวไปทำงาน ได้ยินแต่ชื่อแต่ทีนี้ถึงเวลาจะทำงานนี่ ต้องเอาวัตถุที่เรียนมาแล้ว วัตถุที่ชื่อนั้นน่ะ ก็ต้องเอามาทำงานด้วยเวลาเห็นก็ต้องเอานามที่เห็นนั่น
แหละมาทำงาน เป็นเครื่องรับรองการกำหนด แล้วต้องมีความรู้สึกด้วย ว่านี่นามอะไร รูปอะไร กำลังทำอะไรอยู่ ?
นี่เป็นความสำคัญมากนะคะ ถ้าขาดอันนี้แล้ววิปัสสนาน่ะ ไม่มีหวังเลยค่ะ ทีนี้หนักเข้าก็เป็น สมาธิ วิปัสสนาก็ไม่เกิด ทำสติถี่เข้าทำไปให้ถี่ ถี่เท่าไหร่ก็เป็นเรื่องของ สมาธิ ไป ไม่ใช่เรื่องของ ปัญญา ถี่เท่าไหร่ก็ถี่ไป ยิ่งสมาธิมีมากเข้า รูปนามก็จะหายไปเลย เลยไม่ได้กำหนดเลย ทีนี้ก็รู้อยู่เฉยๆ หนักเข้าๆ ก็บอกว่า เขารู้ เขาไม่ต้องกำหนด เขาก็รู้ เขารู้เฉยๆ เมื่อนั่งเขาก็รู้ เมื่อนอนเขาก็รู้ เห็นเขาก็รู้ ได้ยินเขาก็รู้ แต่ไม่รู้ว่า รู้อะไร? รู้นามอะไร รู้รูปอะไร? ก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้น ผู้เข้ากรรมฐานที่ไม่ค่อยได้ผลก็เพราะเหตุว่า นามรูปไม่ชำนาญ ที่จริงหลักฐานท่านบอกไว้แล้วต้องชำนาญ ต้องขึ้นใจ ถ้ามันขึ้นใจแล้ว เหมือนคนรู้จัก พอเห็นเข้าก็คุ้น รู้ทันทีว่าใคร ถ้ารู้จักไม่คุ้นหน่อย นานๆ เจอะกันทีละก็ต้องนึกเสียนาน ว่าใครหนอ! คนนี้ แหม นึกเสียนานเชียว เคยเห็นเหมือนกันนะ แต่มันนึกไม่ออกว่าใครนี่? ไม่รู้ว่าเป็นใคร ก็ไม่รู้นี่ว่า เป็นนาม หรือเป็นรูป นามอะไร รูปอะไรก็ไม่รู้ เพราะไม่คุ้น
เพราะฉะนั้น เวลาทำงานนี่ จะต้องเอาพวกนี้มาทำงานด้วย เอาเข้ามาทำงานร่วมด้วย ไม่ใช่จะเรียนไว้แต่เพียงปริยัติเท่านั้น ไม่ได้ เวลาทำงานต้องมีด้วย อันนี้แหละค่ะ เป็นความสำคัญมากทีเดียว
ถ้าไม่เอาอันนี้มาทำงานก็ไม่รู้ ทีนี้คนจะไปทำวิปัสสนานี่ใจเร็ว
เพราะฉะนั้น รูปนามที่ต้องชำนาญกรรมฐานนี่ ต้องขึ้นแล้วถึงจะเกิดวิปัสสนา พอเห็นนามรูป สักแต่ว่า นามรูปรู้หมดแล้ว ไม่มีแล้ว ตัวตนคน สัตว์ ไม่มีแล้วนะ เป็นนาม เป็นรูป ไปหมดแล้ว
ทีนี้กำหนดนามรูปนั่นแหละต่อไปอีก จึงจะเห็นว่า นาม รูปนั้น ไม่เที่ยง ถึงปรากฏลักษณะของนามรูปอีกทีว่า ไม่เที่ยง ว่าเป็นทุกข์ ว่าไม่ใช่ตัวตนอะไรอย่างนี้ อีกขั้นหนึ่งคะ แต่ว่าต้องได้นามรูปก่อน แต่ถ้ายังไม่ได้นามรูปแล้ว จะไปเห็นว่า นามรูปนี้เกิดดับไม่เที่ยงนะ ได้ไหม? เป็นไปได้ไหม? มันไม่ได้นะ มันไม่มีเหตุผลเลย นามรูป กำหนดนามอะไร กำหนดรูปอะไร? ก็ยังไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยจะชำนาญเลยใช่ไหมคะ? ทีนี้จะไปเห็น นามรูปนี้เกิดดับได้อย่างไร? อันนี้ขอให้เข้าใจเหตุผลไว้นะคะ ต้องเข้าใจ ต้องเข้าใจไว้ทีเดียว โดยเหตุผลน่ะ เป็นอย่างนี้!
บางที ที่เขาปฏิบัติกัน เขาไม่มีนาม ไม่มีรูปเลย เขาไม่ได้สอนเลย นามรูป เขาไม่ต้องสอนกันละ เข้าปฏิบัติไปเลยทีเดียว แล้วเขาก็บอกว่า “เขาเห็นรูปนามเกิดดับ” ทั้งๆ ที่ตัวเขาไม่ได้ดูนาม ไม่ได้ดูรูป ก็ไม่รู้ถามอะไร ก็ไม่รู้เรื่อง เขาไม่รู้ แต่ว่า เขาบอกว่าเห็นเกิดดับ อย่างนี้ แล้วถ้าเราถามว่า เห็นรูปอะไรเกิด-ดับ ? ถ้าอย่างนี้ละก็ลำบากละ แต่เขาก็ว่า เขาเห็น แต่ว่ามันก็ไม่มีเหตุผลที่เป็นไปได้ อย่างนั้นใช่ไหม? ก็ไม่ได้ดูนามรูปแล้วจะไปเห็นนามรูปเกิดดับได้อย่างไร? นี่ซิ ก็ต้องตามดูนามรูปซิ อย่างเร็ว ๗ วัน อย่างกลางต้องดูถึง ๗ เดือน อย่างช้าดูไปไม่เกิน ๗ ปี ต้องเห็น
ทีนี้ของเรานี่ มันจะอยู่ในขั้นไหนก็ไม่รู้ ปัญญาเรานี่ มันอยู่ในขั้น ๗ วัน ๗ เดือน หรือ ๗ ปี
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดว่า เอ๊อ! เรานี่คงไม่ได้แล้ว เข้ามาหลายหนแล้ว เข้าทีไรก็ไม่ได้เห็นซักทีนี่ ถามว่า ก็ถ้า ๗ วันไม่ได้ ก็ต้องอยู่ถึง ๗ เดือนซิเอ้า จะอยู่ได้ไหม? ๗ เดือน ก็ไม่ถึง มันต้องอยู่เสียก่อน ๗ เดือนนะ ถ้าไม่ได้แล้ว มันต้องอยู่ถึง ๗ ปีละก็ ถ้าไม่ได้ ก็ไม่แน่ แต่ท่านรับรองนะ ๗ ปีต้องได้
ทำไมถึงรับรอง? อันนี้มีเหตุผลอย่างไร ที่ท่านจะรับรองคนที่จะไม่ได้ ไม่มีหรือ? คนที่ไม่ได้นะ อยู่ไม่ได้หรอก ๗ ปีน่ะ สัทธาอ่อน วิริยะอ่อน ๗ ปีน่ะ อยู่ไม่ได้หรอก แต่แค่ ๗ เดือน ยังอยู่ไม่ได้แล้ว จะอยู่ได้ ๗ ปี จะได้อย่างไร? ทุกคนที่จะอยู่ได้ถึง ๗ ปี จะต้องมีสัทธาแข็งแรงแก่กล้าแล้วทุกสิ่งทุกอย่างใช่ไหม? ไม่มีอื่นสำคัญกว่าแล้ว เขาถือว่า อันนี้เป็นสรณะ เขาเชื่อแน่นอนนะคะ เขาถึงอยู่ได้นะ ที่จริง ถ้าคนอยู่ได้ถึง ๗ ปีนี่ ดิฉันเชื่อนะ ถ้าอยู่ได้จนบรรลุ มรรค ผล ละก็
แต่ว่า เวลานี้อย่าไปหาเลย ๗ ปี นี่ อย่าถามเลย ๗ เดือน ยังพอมีบ้างนะ ในร้อยหนึ่งจะมีสัก ๗ คน แต่ว่า ๗ ปี นี่ยากเต็มทีทีเดียว บางคนเขาเอาอย่างนี้ เขาเข้าหลายๆ หน แล้วเขาก็ทบกันเข้าไว้ ปีนั้นเขาเข้า ๒ เดือน แล้วเลื่อนไปอีกปีเข้าอีก ๒ เดือน ไปอีกปีหนึ่ง เข้าอีก ๓ เดือน เมื่อมารวมกันเข้า เขาจะนับให้เป็น ๗ เดือน
เพราะฉะนั้น ปริยัตินี่สำคัญ ต้องเรียนรู้ก่อนนะคะว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ทีนี้เวลาปฏิบัติ ก็ลงมือกำหนดรูปนาม ถ้าไม่รู้รูปนามเสียก่อนก็กำหนดไม่ได้
พระภิกษุสมัยก่อนนี้ เขายกเรื่องมาว่า พระภิกษุสมัยก่อนนี้ ท่านฟังเทศน์ พอพระพุทธเจ้าเทศน์จบ ทำไมท่านจึงสำเร็จ เพราะท่านเรียนมามาก เช่นอย่างว่า ท่านบอกว่า ให้กำหนดรูป กำหนดอันนั้นลงไป เขาก็รู้ทันที เขากำหนดตามแล้วกำหนดถูกด้วย แล้วภาษาก็เป็นภาษาเดียวกัน อย่างของเรานี่ ดูซิเวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง เอ! เวทนานี่ดูอะไรนะ ดูเวทนานี่ดูอะไรกัน อย่างนี้ใช่ไหม เราก็งง ไม่รู้จะดูอะไร ?
ของท่านน่ะ พอบอกว่า ดูเวทนา ท่านรู้แล้วเวทนา ได้แก่อะไร ดูสังขาร ดูวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง วิญญาณนะ ดูตรงไหน ดูอะไรกัน เราคนละภาษานี่ วิญญาณ
เพราะฉะนั้น สอนคนละภาษาก็ยิ่งลำบากใหญ่ ของท่านภาษาเดียวกัน ท่านไม่ต้องแปลอีกที แล้วก็มีบารมีมามาก พอเทศน์ก็เข้าใจ กำหนดได้เดี๋ยวนั้นทีเดียว พอบอกให้ดูนาม ก็กำหนดนามเดี๋ยวนั้นแหละ ก็เห็นเดี๋ยวนั้นเหมือนกัน พอกำหนดก็เห็น
เพราะว่า มีบารมีมามาก ศรัทธาก็แก่กล้าแข็งแรง อิทธิบาทท่านก็มีมาก พอกำหนดลงไปท่านก็เห็น ท่านก็เห็นเดี่ยวนั้นเลย อย่างสอนพระปัญจวัคคีย์น่ะว่า รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูเดี่ยวนั้นเลย ไม่ใช่นึกก่อนนะ ดูก่อนแล้วจึงตอบต่างหาก นั่นแหละ ท่านให้พระปัญจวัคคีย์เกิดวิปัสสนาให้แก่กล้าขึ้น ทีแรกได้แค่โสดา ฟังอริยสัจน่ะ แล้วก็มาแสดง อนัตตลักขณะสูตร ดูกร ปัญจวัคคีย์ รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง แล้วพระปัญจ-วัคคีย์ ก็ตอบ ที่ตอบน่ะดูแล้ว ท่านพอเห็นรูปไม่เที่ยงก็ตอบ เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูเวทนาอีก พอเห็นเวทนาดับก็ตอบว่า ไม่เที่ยง ดูสัญญาอีก ดูสังขารอีก เที่ยงหรือไม่เที่ยง อย่างนี้ ดูจนกระทั่งถึงวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ก็ตอบ ดูแล้วก็ตอบ ดูแล้วก็ตอบ พอวิปัสสนาเกิด ก็เห็นแจ่มแจ้งทั้งหมด ไม่มีสัตว์ บุคคล ไม่มีตัวตน หมดทุกอย่าง ไม่เที่ยง พอดูจนหมดแล้ว จบ ก็ร้องขึ้นมา
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ
สิ่งใดมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีความดับเป็นธรรมดา
ท่านก็ประกาศออกมาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบ อ้อ ปัญจ-วัคคีย์ เธอนี่รู้แล้วหนอ รู้ทีเดียวว่า พระปัญจวัคคีย์ นี่รู้แล้ว
ของเรานี่ พอเห็นแล้วก็ แหม! ยิ่งคนละภาษาด้วย ก็เลยไม่รู้ว่าอะไร ? หมายถึงอะไรก็ไม่รู้ เพราะท่านฟังแล้วรู้จนสำเร็จ ของเราฟังแล้วเกิดความไม่รู้ขึ้นมา ตอนที่ยังไม่ได้ฟัง ไม่รู้ก็ยังไม่เกิด พอไปฟังเข้าแล้วเกิดไม่รู้ขึ้นมา แทนที่จะเกิดความรู้กลับเกิดความไม่รู้ขึ้นมานี่ แล้วจะเอาสำเร็จได้ที่ไหน ?
เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ทุกองค์น่ะ นี่เราเข้าใจกันแน่นอนแล้วใช่ไหมคะ ต้องพิจารณานามรูปทั้งนั้น ถ้าไม่ได้พิจารณานามรูป ก็ไม่มีหวังค่ะ
เพราะฉะนั้น ในวิสุทธิมรรคนี่ ท่านบอกว่า ขันธ์ ๕ นามรูป หรืออายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ นี่เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่บังเกิดขึ้นในโลก ไม่มีใครเคยได้ยิน เพราะไม่มีใครสอน ไม่มีใครจำแนกออกไปเพื่อทำลายฆนสัญญา เพื่อพิจารณาให้เห็นว่า ไม่มีตัว มีตน ไม่มีใครสอนเลย
ฉะนั้นสัพพัญญุตณาญ รู้อะไร สัพพัญญุตณาญ นี่ ธรรมที่ควรแก่พระสัพพัญญุตณาญน่ะอะไร สำหรับปัญญาท่านจะรู้นะ เญยฺยธมฺม ๕ อย่าง ได้แก่ รู้จัก สังขาร วิการ ลักษณะ บัญญัติ นิพพาน
ท่านต้องเข้าใจอีกอย่างหนึ่งนะคะ พอเขาพูดถึงลักษณะนี้ มี ๒ อย่าง คือ สามัญลักษณะ วิเสสลักษณะ
สามัญลักษณะน่ะ มี ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่สามัญลักษณะทั่วไปหมดเลยในโลกนี้ ทุกอย่างต้องมีสามัญลักษณะประจำอยู่หมดเชียว แล้วก็ วิเสสลักษณะ เป็นลักษณะพิเศษ ไม่ใช่สามัญ เช่นว่า
ความโลภ มีลักษณะอย่างไร? มีกิจอย่างไร? ผลของความโลภอย่างไร? เหตุให้เกิดความโลภคืออะไร นี่เรียกว่า วิเสสลักษณะ
เพราะฉะนั้น เป็นลักษณะของสภาวะแต่ละอันๆ ความโลภมีลักษณะอย่างหนึ่ง ความโกรธมีลักษณะอย่างหนึ่ง ความหลงมีลักษณะอย่างหนึ่ง จักขุวิญญาณมีลักษณะอย่างหนึ่ง จักขุปสาทมีลักษณะอย่างหนึ่ง โสตวิญญาณมีลักษณะอย่างหนึ่ง โสตปสาทมีลักษณะอย่างหนึ่ง มีคนละอย่างๆ ลักษณะพิเศษ เหตุให้เกิดอย่างนี้ แต่ละอันๆ นี่ผลปรากฏคนละอย่าง เจตสิกแต่ละอันก็มีลักษณะ ๔ อย่าง พิเศษประจำตัวเลย สัทธาก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง สติก็อย่างหนึ่ง ไม่รู้ละใน ๕๒ อย่าง ก็มีลักษณะคนละอย่างๆ และมีกิจของเขาแต่ละอย่าง เจตสิกอย่างนั้น มีกิจอย่างนั้น คนละอย่างๆ มีผล อย่างนั้น มีเหตุให้เกิดอย่างนั้น อันนี้เรียกว่า วิเสสลักษณะ
ส่วนสามัญลักษณะนั่นทั้งหมดเลย จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ก็ตาม เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ มีสามัญลักษณะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เหมือนกันหมดเลย ไม่มีพิเศษ ผู้ทำวิปัสสนาต้องการให้เข้าถึงสามัญ ถ้าใครยังมีพิเศษอยู่ละก็ ก็แปลว่า ปัญญายังไม่เข้าถึงสามัญ พิเศษอย่างไร? คือ อันนี้ไม่ชอบ ชอบอันนี้อะไรทำนองนี้ ธรรมะอันนี้ไม่ชอบ ชอบสงบ ฟุ้งไม่ชอบ หรือสงบไม่ชอบ แปลว่าอย่างนี้พิเศษใช่ไหม? ไม่เข้าหรอกสามัญ
แต่วิปัสสนาที่ต้องการให้เข้าถึงสามัญค่ะ
พอทีนะคะ กังขาวิตรณวิสุทธินี่น่ะ คิดว่าได้พยายามพูดมามากพอสมควรแก่การทำความเข้าใจได้แล้วนะคะ
สวัสดีคะ