เกี่ยวกับ

มูลนิธิแนบมหานีรานนท์

ตั้งอยู่เลขที่  84/1 หมู่ 2 ถ. พุทธมณฑลสาย 5

ต. บางกระทึก  อ. สามพราน  จ. นครปฐม  73210

โทร. 02-889-4417, 099-386-3119 (ไลน์ 099-386-3119)


ความเป็นมาของมูลนิธิแนบมหานีรานนท์

ศาลารัตนินที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา พระบรมสารีกธาตุ

และอัฐิอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์

          มูลนิธิแนบมหานีรานนท์ จัดตั้งขึ้นโดยบรรดาศิษยานุศิษย์ของอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์  เพื่อทดแทนพระคุณที่ได้รับความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาจากท่านเป็นอันมาก  โดยมีมติเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าหากจะตอบแทนพระคุณท่านด้วยอามิสบูชาใดๆ ก็คงไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับจากท่าน ดังนั้นจึงเห็นควรตอบแทนพระคุณท่านด้วยการช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาเถรวาท ทั้งในด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ดังที่อาจารย์ฯ ได้ปฏิบัติมาแล้วอย่างที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดชีวิตของท่าน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติตามพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคำสอนของครูอาจารย์จะต้องคล้อยตามลำดับคัมภีร์ขึ้นไป จะต้องถือเอาธรรมเป็นใหญ่ ตามคำของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ที่ได้กล่าวไว้ว่า “หากดิฉันผิดพลาดในการวิจัย ขอประทานอภัย และขอท่านได้บอก โดยคิดว่าเห็นแก่พระศาสนา ไม่ต้องเห็นแก่หน้า ขอให้ถือเอาธรรมเป็นใหญ่” (บันทึกประชุมธรรมวิจัย, พ.ศ. ๒๕๒๑, หน้า ๒)
          เนื่องในโอกาสที่บรรดาศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมกันจัดงานทำบุญอายุครบรอบ ๘๒ ปี ตรงกับวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๓ จึงได้ปรารภเรื่องจัดตั้งมูลนิธิแนบมหานีรานนท์ขึ้น และมีผู้ให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมาก
 

อาจารย์แนบ  มหานีรานนท์

การเริ่มจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ

          วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓ การรับบริจาคสมทบทุนมูลนิธิฯ เริ่มต้นเพื่อขอจดทะเบียนตั้งมูลนิธิแนบมหานีรานนท์ และเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้จัดการประชุมคณะผู้เริ่มก่อตั้งมูลนิธิแนบมหานีรานนท์ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่บ้านเลขที่ ๒๗/๕๙ บางขุนนนท์ บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร (บ้านของอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์) มีผู้ร่วมประชุม ๑๒ ท่าน คือ
  • พระอาจารย์ผล ยโสธโร
  • คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต
  • นายวรรณสิทธิ ไวทยะเสวี
  • นางวชิรา ภมรสุต
  • พ.อ.(พิเศษ) ประจญ กิตติประวัติ
  • นายไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์
  • นายสำเภา คลายบุตร
  • นายกรณี ปิยัมบุตร
  • นางยุพา ปิยัมบุตร
  • นางสารภี กปิลกาญจน์
  • น.ส. นันทนา เกตุทัต
  • นายปอ นราลักษณ์
          ที่ประชุมมีมติเลือก นายวรรณสิทธิ  ไวทยะเสวี  เป็นประธานกรรมการ พร้อมกับเลือก นายไชยวัฒน์  กปิลกาญจน์  เป็นรองประธาน  และให้ทั้ง ๒ ท่าน เชิญบุคคลที่เหมาะสมเป็นกรรมการดำเนินงานและที่ปรึกษาต่อไป
          วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้นำใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมหรือองค์การไปขอจัดตั้งมูลนิธิแนบมหานีรานนท์ เพื่อให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล จากกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือที่ มท. ๐๓๑๓/๑๙๒๔๒ ลว. วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ กรุงเทพมหานคร และได้รับการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิแนบมหานีรานนท์ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๓
 

อาจารย์วรรณสิทธิ  ไวทยะเสวี 

ประธานกรรมการแรกก่อตั้งมูลนิธิแนบมหานีรานนท์

การจัดพิมพ์วารสาร
          วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ จัดพิมพ์วารสารชื่อ “ปัญญาสาร” เผยแพร่คำบรรยายของอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์  และอาจารย์ท่านอื่นๆ แจกเป็นธรรมทาน ปีละ ๔ เล่ม ถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๐ จัดพิมพ์เผยแพร่ถึงเล่มที่ ๑๓๙

วารสาร “ปัญญาสาร” ฉบับ ๑๓๙ เล่มท้ายปี ๒๕๖๐

การจัดสัมมนาการปฏิบัติธรรม

          วันที่ ๒๐ ถึง ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๔  มีการจัดประชุมสัมมนาการปฏิบัติธรรม โดยมูลนิธิแนบมหานีรานนท์ เป็นครั้งแรกที่สำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย

การเปิดสอนพระอภิธรรม

          วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔  ได้เปิดสอนพระอภิธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ที่วิหารรังสี วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู เขตพระนคร ปัจจุบันได้ย้ายไปเปิดการเรียนการสอนที่วัดสามพระยา เขตพระนคร ตึกสุหัทรังสรรค์
          วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้เปิดสถานศึกษาพระอภิธรรมขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ที่ศาลาหม่อมอาบ ภายในบริเวณวิหารวัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท เขตพระโขนง ปัจจุบันเปิดสอนที่วิหารลิมปาภรณ์

การเผยแพรธรรมทางวิทยุ

          มูลนิธิแนบมหานีรานนท์ ได้จัดให้มีการเผยแพร่ธรรมแก่ประชาชน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิฯ ทางสถานีวิทยุยานเกราะ ๗๙๒ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้เผยแพร่ธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียง จส.เอ็ฟ เอ็ม. ๑๐๓

การจัดซื้อที่ดินที่ตั้งสำนักวิปัสสนาและสถานศึกษาพระอภิธรรม

         วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖ คณะกรรมการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน โฉนดเลขที่ ๑๗๕๕๕  ต.บางกระทึก  อ.สามพราน  จ.นครปฐม  เนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๑ งาน ๙๔ ตารางวา ในราคา ๒,๒๔๐,๐๐๐ (สองล้านสองแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) คิดเป็นราคาตารางวาละ ๒๐๐ จากนางไพเราะ พูลเกษม โดยมูลนิธิฯ ได้ชำระเงินในวันทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ จำนวน ๙๐๐,๐๐๐ บาท (เก้าแสนบาทถ้วน) ส่วนที่เหลือให้ตกลงให้แบ่งชำระเงินเป็น ๓ งวด ดังนี้ งวดแรก ๔๕๐,๐๐๐ บาท  ภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗  งวดที่สอง ๔๕๐,๐๐๐ บาท  ภายในวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗  และงวดที่สาม ๔๔๐,๐๐๐ บาท  ภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
          ที่ดินแปลงนี้  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักวิปัสสนา และโรงเรียนสอนพระอภิธรรมของมูลนิธิแนบมหานีรานนท์ และได้รับแรงศรัทธาจากบรรดาสาธุชน ในการช่วยซื้อที่ดินให้มูลนิธิฯ และได้ชำระเงินให้ผู้ขายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามสัญญาทุกประการ

การจัดสร้างเรือนกรรมฐานและการเปิดสำนักวิปัสสนา

          เมื่อสร้างเรือนกรรมฐานแล้วเสร็จ  ครั้งแรกจำนวน ๒๕ หลัง  จัดแบ่งเป็นฝ่ายหญิง ๑๕ หลัง  ฝ่ายชาย ๑๐ หลัง
          วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ (ตรงกับวันมาฆบูชา)  ได้เปิดสำนักปฏิบัติวิปัสสนาขึ้น รับผู้เข้าปฏิบัติธรรมเป็นครั้งแรก โดยมีพระอาจารย์ผล  ยโสธโร  เป็นพระอาจารย์ผู้ควบคุมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
          วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘  มีผู้มีจิตศรัทธา ขอสร้างเรือนกรรมฐานเพิ่มอีก ๔ หลัง และสร้างศาลาสอบอารมณ์ ๑ หลัง
          เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐ สร้างเรือนกรรมฐานเพิ่มอีก ๑๕ หลัง
          ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ สร้างเรืองกรรมฐานเพิ่มอีก ๕ หลัง
          และในปี ๒๕๖๐ คุณนลินพัณณ์  เอกภัควัฒน์ และคุณอภิชาต  แซ่โง้ว สร้างเรือนกรรมฐานเพิ่มอีก ๑ หลัง มูลค่า ๔๑๖,๕๐๐ บาท (สี่แสนหนึ่งหมื่นหกพันห้าร้อยบาทถ้วน) รวมเป็นเรือนกรรมฐานทั้งหมด ๖๑ หลัง  จัดแบ่งเป็นฝ่ายหญิง ๓๖ หลัง  ฝ่ายชาย ๒๕ หลัง
 

เรือนกรรมฐาน

เรือนกรรมฐาน

เรือนกรรมฐาน

เรือนกรรมฐาน

เรือนกรรมฐาน

การสร้างอาคารเรียนและการเปิดการเรียนการสอน

          วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙  สร้างอาคารเรียน คอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๗ เมตร  ราคาค่าก่อสร้าง เฉพาะตัวอาคารทั้งหมดเป็นเงิน ๑,๔๙๔,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสี่แสนเก้าหมื่นสี่พันบาทถ้วน)
          วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เปิดรับนักศึกษาพระภิกษุ สามเณร และแม่ชี
          พ.ศ. ๒๕๓๐ มีพระภิกษุ สามเณร และแม่ชี  มาสมัครเข้าศึกษาประมาณ ๕๐ รูป/ท่าน โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ แผนก คือ แผนกศึกษาพระอภิธรรมหลักสูตรประจำ ๒ ปี และแผนกศึกษาภาษาบาลี  สำหรับสามเณรให้ศึกษาภาษาบาลีควบคู่ไปกับพระอภิธรรม ส่วนพระภิกษุ และแม่ชีให้ศึกษาพระอภิธรรมกับการปฏิบัติวิปัสสนา
          วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ (วันวิสาขบูชา)  เปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรมหลักสูตรประจำ ๒ ปีขึ้นเป็นรุ่นที่ ๑
          และในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ปีเดียวกัน ได้เปิดอบรมวิปัสสนาระยะสั้น หลักสูตร ๑๒ วัน แก่ประชาชนทั่วไป เป็นรุ่นที่ ๑ โดยรับสมัครประชาชนผู้สนใจปฏิบัติธรรมทั่วประเทศ

อาคารเรียนและหอประชุม

 การก่อสร้างถาวรวัตถุอื่นๆ

          เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘  สร้างที่พักแม่ชีนักศึกษา เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น กว้าง ๕ เมตร ยาม ๑๔ เมตร
          พ.ศ. ๒๕๓๐  สร้างศาลาทรงไทย พื้นหินอ่อน ราคา ๓๕๐,๐๐๐ บาทเศษ  ที่เกาะกลางน้ำ  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา พระบรมสารีริกธาตุ และอัฐิอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์
          พ.ศ. ๒๕๓๑  สร้างเรือนพักพระอาจารย์
          พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๓๑  สร้างเรือนพักพระภิกษุ-สามเณรนักศึกษา เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น กว้าง ๘ เมตร ยาว ๓๐ เมตร  บรรจุเตียงพักได้ ๕๐ เตียง  แบ่งเป็นห้องพักพระภิกษุ ๓ ห้อง  ห้องพักสามเณร ๑ ห้อง  พร้อมห้องน้ำ และหลังอาคารพักได้สร้างห้องอาบน้ำขนาดใหญ่อีก ๑ หลัง  ค่าก่อสร้างเฉพาะตัวอาคาร ๑,๓๔๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสามแสนสี่หมื่นบาทถ้วน)  สร้างเสร็จทันการรับนักศึกษาหลักสูตรประจำ รุ่นที่ ๒ ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๑
          พ.ศ. ๒๕๓๑  สร้างอาคารพักแม่ชีนักศึกษาและห้องพักอาจารย์ อีก ๑ หลัง
          พ.ศ. ๒๕๓๓  สร้างเรือนพยาบาล ๑ หลัง มีห้องนอนแพทย์ พยาบาล ๑ ห้อง และห้องตรวจรักษาโรค ๑ ห้อง
          พ.ศ. ๒๕๓๕  สร้างห้องประชุมใหญ่  เพื่อใช้อบรมวิปัสสนาแก่ประชาชนทั่วไป และห้องพักคณาจารย์ ๓ ห้อง พร้อมห้องน้ำ ๘ ห้อง
          พ.ศ. ๒๕๓๗  สร้างเรือนทันตกรรม ๑ หลัง เครื่องทำฟัน ๑ เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ชุดทำฟันครบชุด เครื่องมือทำฟัน จำนวน ๑ ชุด
          พ.ศ. ๒๕๔๙  สร้างอาคารที่พำนักพระภิกษุ สามเณร ขึ้นอีก ๑ หลัง พื้นที่ประมาณกว่า ๒,๕๐๐ ตารางเมตร มี ๕ ชั้น ๗๐ ห้องนอน ๗๔ ห้องน้ำ แล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มูลค่าการก่อสร้างประมาณ ๑๘ ล้านบาท
          พ.ศ. ๒๕๕๔  สร้างโรงอุโบสถ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมของพระภิกษุนักศึกษา แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗
          พ.ศ. ๒๕๕๙  สร้างเขื่อนล้อมรอบสระน้ำใจกลางสำนักฯ งบประมาณ ๓,๑๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน) 
          ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๑ มูลนิธิแนบมหานีรานนท์ได้ดำเนินงานในการเผยแผ่และสืบทอดพระพุทธศาสนาเถรวาทมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ๓๘ ปี โดยการส่งเสริมธุระของพระศาสนา ๒ ประการ คือ คันถธุระ” ได้เปิดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกพระอภิธรรม หลักสูตรประจำ ๒ ปี หลักสูตรศึกษาธรรมระยะสั้นเป็นรายวิชาทั้งในสำนักวิปัสสนา มูลนิธิแนบฯ วัดสามพระยา และวัดธาตุทอง ตลอดจนการเผยแพร่ธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียง  และ วิปัสสนาธุระ” ได้เปิดการอบรมวิปัสสนากรรมฐานประจำปี หลักสูตร ๓ วัน และ ๗ วัน และยังเป็นสถานที่ของผู้ที่มีความรู้ด้านปรมัตถธรรมมาฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

โรงอุโบสถ

หอประชุมใหญ่

โรงอุโบสถและอาคารที่พำนักพระภิกษุสามเณรนักศึกษา

ห้องสอบอารามณ์กรรมฐาน

ห้องสมุด/วิชาการ

ศาลาอเนกประสงค์/ห้องธุรการ/ติดต่อสอบถาม

ศาลารัตนินที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา พระบรมสารีกธาตุ

และอัฐิอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์


รายชื่อคณะกรรมมูลนิธิแนบมหานีรานนท์

  • นางนิตยา ปรีชายุทธ ประธานกรรมการ
  • นายเทพฤทธิ์ สาธิตการมณี             รองประธานกรรมการ คนที่ 1
  • นายเธียรชัย ศรีสุขประเสริฐ            รองประธานกรรมการ คนที่ 2
  • นางสุดา ปิ่นทอง                          กรรมการ
  • นางบุญชื่น ลิ้มสุวรรณ์                    กรรมการ
  • นางสุรีย์ ตาบทิพย์วรรณ                 กรรมการ
  • นายสมทรง รัตติกาลสุขะ                กรรมการ
  • นายไพศาล จุ๊สมุทร                        กรรมการ
  • นายโอภาส เทียนเมธางกูร             กรรมการ
  • นางสาวอรวรรณ อัศววิชัย            กรรมการและเหรัญญิก
  • นางสุภาพร อัศวศิวะกุล                 กรรมการและเลขานุการ

ติดต่อสอบถามได้ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
โทรศัพท์: 02-889-4417
โทรศัพท์มือถือและไลน์: 099-386-3119
ที่อยู่อีเมล: nabfoundation@hotmail.com
เว็บไซต์/เพจชื่อภาษาไทย: มูลนิธิแนบมหานีรานนท์

ผู้มีจิตศรัทธาร่วมสนับสนุนมูลนิธิแนบฯ
สามารถบริจาคโดยการโอนเงินเข้าบัญชีดังนี้
ชื่อบัญชี “มูลนิธิแนบมหานีรานนท์”
ธนาคารกรุงไทย
สาขาถนนข้าวสาร
เลขที่บัญชี  027-1-22298-0  ประเภทออมทรัพย์
ชื่อบัญชี “มูลนิธิแนบมหานีรานนท์”
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสำนักเพลินจิต
บัญชีเลขที่ 001-9-38942-0 ประเภทออมทรัพย์
และโปรดส่งสำเนาการโอนเงินไปยังมูลนิธิแนบฯ
หรือทางไลน์หมายเลข 099-386-3119  

แผนที่สังเขป

Leave a Reply

*