สังเขปความเป็นมาของคัมภีร์อรรถกถา

สังเขปความเป็นมาของคัมภีร์อรรถกถา

         คัมภีร์ “อรรถกถถา” ส่วนใหญ่  เป็นผลงานแปลจาก “มหาอรรถกถา” หรือ “มูลอรรถกถา” ภาษาสิงหล  มาเป็นภาษามคธหรือภาษาบาลี  ของพระพุทธโฆสมหาเถระ  ชาวอินเดีย  ในปีพุทธศักราช ๙๔๕  โดยมติของคณะสงฆ์สำนักมหาวิหาร  เมืองอนุราธปุระ  ประเทศศรีลังกา

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดกัลยาณีวิหาร ประเทศศรีลังกา
          ภาพพระพุทธโฆสมหาเถระ ถวายคัมภีร์วิสุทธิมรรค ที่ท่านรจนา ๓ ฉบับ  ให้แก่พระสังฆราชของคณะสงฆ์มหาวิหาร  ซึ่งเป็นบททดสอบก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้แปลคัมภีร์อรรถกถาภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี 

     “มหาอรรถกถา” หรือ “มูลอรรถกถา” นี้แต่เดิมเป็นภาษาบาลี  ซึ่งได้รับการสังคายนามาพร้อมกับพระไตรปิฎก ๓ ครั้ง  ต่อมาพระมหินทเถระ  พระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช  ได้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เกาะลังกา  หลังจากสังคายนาครั้งที่ ๓  พ.ศ. ๒๓๔  จึงได้แปลอรรถกถาภาษาบาลีเป็นเป็นภาษาสิงหลเพื่ออนุเคราะห์กุลบุตรชาวสิงหล  และอรรถกถานี้ท่านเรียกว่า “ปกิณณกเทศนา” ของพระพุทธเจ้า  ดังข้อความในหนังสือ “ประวัติคัมภีร์อรรถกถา” ว่า

          “…ในสมัยพุทธกาลก็มีอรรถาธิบายพระพุทธพจน์  เรียกว่า  ปกิณณกเทศนา  ซึ่งเป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงอธิบายหลักธรรมที่เข้าใจยากให้กระจ่างชัดเจนด้วยพระองค์เอง  ในสมัยสังคายนา  พระเถระผู้ร้อยกรองพระธรรมวินัย  มิได้สงเคราะห์เทศนานี้เข้าในพระไตรปิฎก  เพราะถือว่าเป็นคำอธิบายอีกทอดหนึ่ง  แต่ท่านได้สังคายนาปกิณณกเทศนา  เมื่อร้อยกรองพระไตรปิฎกเสร็จสิ้นลง  โดยเรียกว่า “มหาอรรถกถา” (วิ.อฏฺ.๑/๓, ๓/๕๗๑, ที.อฏฺ.๓/๒๖๗, ม.อฏฺ.๔/๒๕๙, สํ.อฏฺ.๓/๓๙๓ มจร.) นอกจากคัมภีร์มหาอรรถกถา  รวบรวมปกิณณกเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว  คัมภีร์นี้ยังกอปรด้วยคำอธิบายของพระสาวกมีพระสารีบุตรเป็นอาทิอีกด้วย…”[1]

          และอรรถกถานี้  ชื่อว่า “อาจริยวาท” ที่สมควรต่อพระพุทธพจน์  ดังข้อความว่า

          อาจริยวาโท  นาม  ธมฺมสงฺคาหเกหิ  ปญฺจหิ  อรหนฺตสเตหิ  ฐปิตา  

          ปาลิวินิมุตฺตา  โอกฺกนฺตวินิจฺฉยปวตฺตา อฏฺฐกถาตนฺติ. (วิ.อฏฺ. ๑/๒๔๓ มจร.)

          แปลความว่า  ที่ชื่อว่า  อาจริยวาท  ได้แก่  แบบอรรถกถา  ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยอันหยั่งลงด้วยญาณ  นอกจากพระบาลี  ที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์  ผู้เป็นธรรมสังคาหก (ผู้รวบรวมพระธรรมวินัย) ตั้งไว้.

          ยทิปิ ตตฺถ ตตฺถ ภควตา ปวตฺติตา ปกิณฺณกเทสนา อฏฺฐกถา. (สารตฺถ. ๒/๔๕ มจร.)

         แปลความว่า  อรรถกถา เป็นปกิณณกเทศนา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ในที่นั้นๆ (เมืองโน้น หมู่บ้านนี้)

          ในคัมภีร์มหาวงศ์ (พงศาวดารลังกา) ปริจเฉท ๓๗  คาถา ๒๒๘ – ๙  ยังได้กล่าวถึงพระมหินทเถระแปลอรรถกถาภาษาบาลีเป็นภาษาสิงหล และแสดงถึงอรรถกถาได้รับการสังคายนามาทั้ง ๓ ครั้งไว้ ดังนี้

                    สีหฬาฏฺฐกถา สุทฺธา    มหินฺเทน มตีมตา

                    สํคีติตฺตยมารุฬํ            สมฺมาสมฺพุทฺธเทสิตํ.

                    สาริปุตฺตาทิคีตญฺจ      กถามคฺคํ สเมกฺขิย

                    เอกา สีหฬภาสาย      สีหเฬสุ ปวตฺตติ.

          แปลความว่า  พระมหินทเถระผู้ทรงปัญญาได้ประพันธ์อรรถกถาสิงหลอันบริสุทธิ์ด้วยภาษาสิงหล  โดยรวบรวมพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง  และพระสารีบุตรเป็นอาทิกล่าวไว้  ซึ่งได้รับการสังคายนา ๓ ครั้ง  มีปรากฎอยู่ในลังกาทวีป[2]

[1] พระคันธสาราภิวงศ์, ประวัติคัมภีร์อรรถกถา ในอสีติกปูชา พระภัททันตธัมมานันทมหาเถระ, ๒๕๔๓, หน้า ๓๘๕.

[2] เรื่องเดียวกัน

ผลงานแปลอรรถกถาของพระพุทธโฆสาจารย์ ตามลิงก์นี้  https://th.wikipedia.org/wiki/